เยเมนส์–ศิววุฒิ เสวตานนท์ : The Secret Life of Assistant Director ชีวิตนอกจอของผู้ช่วยผู้กำกับ ผู้ที่ช่วยกำกับความเป็นไปนอกจอ
ตั้งคำถามอย่างง่ายที่สุด คิดว่าผู้ช่วยผู้กำกับจะรู้สึกเป็นเจ้าของหนังเท่าผู้กำกับไหม
สำหรับเรา แค่ความสงสัยนี้ก็เพียงพอแล้วให้บทสนทนาระหว่าง ‘เยเมนส์–ศิววุฒิ เสวตานนท์’ กับ GroundControl เริ่มต้นขึ้น เพราะในฐานะผู้ช่วยผู้กำกับมือดีที่ผ่านงานหนังมาแล้วหลายเรื่องรวมถึงล่าสุดอย่างร่างทรง เราเชื่อว่ามุมมองของเยเมนส์มีน้ำหนักพอในการตอบคำถามเป็นแน่
แต่ที่มากกว่านั้น อะไรกันล่ะคือสิ่งที่ทำให้นักศึกษาฟิล์มคนหนึ่งอย่างเขาเลือกเดินเส้นทางสายนี้มากกว่าการเป็นผู้กำกับอย่างที่หลายคนนึกเดา นี่เป็นอีกหนึ่งคำถามที่เราเตรียมไว้ เพื่อสำรวจรายทางชีวิตของเยเมนส์ก่อนก้าวมาสู่จุดที่ยืนอยู่ในปัจจุบัน
และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาเริ่มกันเลยดีกว่า เยเมนส์พร้อม GroundControl พร้อม บทสนทนาพร้อม และ แอกชั่น!
แม้ไม่ได้เนิร์ดหนัง แต่ใช้ความสนุกนำทาง
ถ้าจะว่ากันถึงก้าวแรกในสายงานการเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ เยเมนส์บอกเราว่าคงต้องย้อนความกันไปไกลถึงช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย ในเวลานั้นเยเมนส์เป็นเพียงเด็กใต้ในจังหวัดสงขลาที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ภาพยนตร์เองก็เป็นแค่ความบันเทิงหนึ่งเท่านั้น แต่จุดเปลี่ยนสำคัญคือในวันธรรมดาวันหนึ่งที่คุณลุงของเขายื่นหนังสือมาให้
เยเมนส์–ศิววุฒิ : “พอเข้าสู่ช่วงที่ต้องเข้ามหาวิทยาลัย รุ่นเราเป็นการสอบเอนทรานซ์ปีสุดท้ายที่สามารถยื่นเลือกคณะได้สองรอบ ด้วยความที่รอบแรกเรายังคิดไม่ออก เราเลยเลือกวิศวะไปตามค่านิยมในสมัยนั้น แต่พอช่วงต้องเลือกรอบที่สอง วันหนึ่งคุณลุงเราที่เป็นอาจารย์ก็ยื่นหนังสือเล่มหนึ่งมาให้ มันเป็นหนังสือที่ชื่อว่า ‘นิเทศศาสตร์เบื้องต้น’
“อาจเพราะเขาเห็นว่าเราชอบทำกิจกรรมก็ได้ คุณลุงเลยแนะนำเราว่าน่าไปเรียนคณะนี้ ซึ่งสารภาพว่าตอนนั้นด้วยสังคมที่อยู่มันทำให้เราไม่รู้จักคณะนิเทศศาสตร์มาก่อน พ่อแม่เข้าใจว่าเรียนไปเป็นดาราด้วยซ้ำ แต่พอลองอ่านและหาข้อมูลเพิ่มเติม เราถึงได้พบว่าแท้จริงแล้วการเรียนนิเทศศาสตร์สามารถเป็นได้หลายอย่าง และที่สำคัญคือมันดูน่าสนุกและน่าสนใจ เราเลยเบนเข็มมาเลือกทางนี้ในการยื่นรอบที่สอง โดยที่ยังไม่มีเป้าหมายแน่ชัดหรอกว่าจบไปจะทำอะไร
“แต่ทีนี้พอเข้ามาเรียนในคณะ ด้วยความที่มาจากโรงเรียนตัวคนเดียวและไม่มีเพื่อน ช่วงแรกเราเลยใช้วิธีทำกิจกรรมให้เยอะเข้าว่า ใครเรียกให้ไปช่วยอะไรก็ไป เราเลยได้ทำทั้งหนังสือ โฆษณา ละครเวที ไปจนถึงภาพยนตร์ จนพอเข้าช่วงปี 3 ที่ต้องเลือกภาคเรียน รุ่นพี่และเพื่อนที่สนิทเรียนฟิล์มกันหมด เราจึงเลือกเรียนฟิล์มเหมือนพวกเขา เพราะจากที่ลองทำมาหลายอย่าง เราสนใจในการทำภาพยนตร์มากที่สุดด้วย แม้ไม่ได้เป็นเนิร์ดหนัง แต่ก็อยากลองดู
“ซึ่งตอนที่เลือกก็ยังไม่รู้หรอกนะ ว่าจบมาอยากทำอะไรในวงการ รู้แค่ว่าอยากเรียนภาคนี้ เพราะมันน่าสนุกดีเท่านั้นเอง”
สิ่ง SuckSeed มีจริง
แม้เยเมนส์จะใช้ความสนุกและความชอบนำชีวิตจนพาตัวเองมาสู่การเป็นเด็กฟิล์ม แต่หลังจากนั้นเส้นทางการเข้าสู่วงการภาพยนตร์ของเขาจะเรียกว่าเป็นจังหวะและโอกาสที่เกิดจากความพยายามก็ว่าได้ เพราะหลังจากเรียนจบมาไม่นานเขาก็ได้เริ่มต้นงานแรกทันที เพียงแต่งานที่ว่ากลับเป็นงานใหม่ที่เขาไม่เคยทำมาก่อนเลยตลอดเวลาที่ได้ร่ำเรียนในคณะ
เยเมนส์–ศิววุฒิ : “มาย้อนคิดดู เราว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราเลือกฟิล์มคือบรรยากาศของการสร้างหนังนะ เราชอบออกกอง เพราะชอบเจอคนและเดินทางไปในสถานที่ใหม่ๆ ยิ่งช่วยมหาวิทยาลัยมีเพื่อนทำงานด้วยก็ยิ่งสนุก แต่ทีนี้ด้วยความที่เป็นงานระดับนิสิตนักศึกษา ช่วงทำงานตอนเรียนตำแหน่งผู้ช่วยผู้กำกับจึงยังไม่มี เราเลยไม่มีประสบการณ์ตรงนี้ อาจเคยเห็นบ้างจากการฝึกงานในหนังเรื่อง ‘โปรแกรมหน้า วิญญาณอาฆาต’ แต่ก็แค่ผิวเผินเท่านั้น
“ทีนี้ช่วงเรียนจบ คงเป็นความโชคดีที่เราทำหนังสั้นตัวจบเป็นเรื่อง SuckSeed ภาค 3 ต่อจาก SuckSeed ภาค 2 ที่พี่ใหม่ (ปนายุ คุณวัลลี) ทำ และ SuckSeed ภาคแรกที่พี่หมู (ชยนพ บุญประกอบ) เริ่มไว้ ซึ่งพอเอาไปฉายในงานกางจอ พี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) ที่มาดูงานทุกปีเขาก็สงสัยว่าทำไมไอ้เรื่องราวของวงดนตรีห่วยๆ นี้มีแฟนคลับและทำต่อมาถึง 3 ภาคแล้ว พี่เก้งเลยชวนผู้กำกับทั้ง 3 คนไปคุยพร้อมคนที่เกี่ยวข้องอย่างพี่เป็ด (ทศพล ทิพย์ทินกร) และไก่ (ณฐพล บุญประกอบ) เรื่องการทำ SuckSeed เป็นหนังใหญ่ นั่นเองเป็นจุดแรกเริ่มที่เราได้เข้ามาในวงการภาพยนตร์คือการได้เป็นหนึ่งในทีมเขียนบทเรื่อง SuckSeed
“แต่กลายเป็นว่าพอเขียนบทเสร็จ พี่สุยที่เป็นโปรดิวเซอร์ของหนังก็เข้ามาถามเราว่าสนใจเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ 3 ไหม ตอนนั้นแม้ยังไม่รู้ว่าจบมาอยากทำอะไร แต่เราตอบตกลงกับพี่สุยไปก่อนแบบไม่ต้องคิด เพราะในเมื่อเราเป็นส่วนหนึ่งที่เขียนบทขึ้นมา เราก็อยากมีส่วนร่วมต่ออยู่แล้ว แม้ยังไม่รู้ว่าตำแหน่งผู้ช่วยผู้กำกับ 3 ต้องทำอะไรบ้างก็ตาม”
เริ่มต้นด้วยน้ำตา จบด้วยวันเวลาแห่งรอยยิ้ม
เมื่อได้โอกาสและคว้าไว้ เยเมนส์ค่อยๆ เรียนรู้งานผู้ช่วยผู้กำกับจากผู้ช่วยผู้กำกับ 1 และ 2 ตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงการออกกองถ่ายทำ แต่ถึงแม้จะมีคนที่เปรียบดั่งครูคอยสอนอยู่ใกล้ๆ ด้วยประสบการณ์ที่ยังน้อยก็ทำให้ระหว่างทางมีจุดสะดุด จนความทรงจำแรกในฐานะผู้ช่วยผู้กำกับของเขามีน้ำตาเป็นองค์ประกอบ
เยเมนส์–ศิววุฒิ : “ช่วงก่อนออกกอง หน้าที่เราคือการซัพพอร์ตพี่ผู้ช่วยผู้กำกับ 2 เป็นหลัก ซึ่งเราได้ทำทั้งการแคสติ้งและงานเอกสาร แต่พอเวลาผ่านไปจนถึงวันที่ใกล้ออกกอง เราก็ยังไม่รู้ชัดเจนนะ ว่าจริงๆ แล้วหน้าที่ของผู้ช่วยผู้กำกับ 3 ในวันออกกองต้องทำอะไรบ้าง
“เรายังจำโมเมนต์คืนก่อนออกกองคิวแรกได้อยู่เลย ตอนนั้นเป็นช่วงที่พ่อแม่ขึ้นมาหาพอดี จำได้ว่าเรากอดแม่ ทั้งที่บ้านเราไม่ใช่บ้านที่กอดกันบ่อย แต่สาเหตุเป็นเพราะเรากดดันมากว่าจะทำได้ไหม เรารู้สึกแบบนั้นจนถึงวันรุ่นขึ้น และในวันแรก สุดท้ายเราก็ทำพลาดเข้าจริงๆ
“จำได้ว่าตอนนั้นเราดันปล่อยน้องฝึกงานให้ไปอยู่หน้าเซ็ต ทั้งที่หน้าที่นี้ควรเป็นเรา พี่ผู้ช่วยผู้กำกับ 1 จึงเตือนขึ้นมาว่า ‘โห ถ้าปล่อยให้น้องฝึกงานมาอยู่แทนแบบนี้ ผู้ช่วยผู้กำกับก็ไม่ต้องมีก็ได้มั้ง’ ซึ่งเราเข้าใจว่านั่นไม่ใช่การดุนะ แต่เป็นการบอกให้เราตามงานของตัวเอง เพียงแต่ด้วยความกดดัน วันนั้นเรากลับบ้านแล้วร้องไห้เลย คิดกับตัวเองว่าทำไมทำได้ไม่ดี แต่ในอีกมุมนี่ก็เป็นแรงผลักดันให้เราเหมือนกัน ที่ทำให้ในวันต่อๆ มาเราค่อยๆ เรียนรู้ ซึ่งโชคดีที่ SuckSeed คืองานที่เพื่อนๆ และพี่ๆ ที่คุ้นเคยร่วมกันสร้าง ความผ่อนคลายจึงมากขึ้น จนสุดท้าย SuckSeed ก็กลายเป็นเป็นประสบการณ์การทำหนังเรื่องแรกที่ถือว่าดีสำหรับเรานะ และเราก็ค่อยๆ เข้าใจแล้วว่าหน้าที่ผู้ช่วยผู้กำกับต้องทำอะไรบ้าง”
เมื่อจังหวะและเวลา ทำให้รู้ว่าตรงไหนคือที่ของเรา
แม้เริ่มต้นโดยการเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ 3 แต่ SuckSeed ก็ทำให้เยเมนส์ได้เห็นขอบเขตงานของการเป็นผู้ช่วยผู้กำกับคร่าวๆ ทั้งหมด ถึงบรรทัดนี้หลายคนน่าจะเดาได้ว่่าประสบการณ์ตรงนั้นน่าจะทำให้เยเมนส์เจอที่ทางของตัวเองแล้ว แต่ในความเป็นจริงนั้นเปล่าเลย จังหวะและเวลาต่างหากที่ทำให้เขาพบ
เยเมนส์–ศิววุฒิ : “หลังจบ SuckSeed พี่สุย (โปรดิวเซอร์) ก็มาถามเราว่าอยากทำงานผู้ช่วยผู้กำกับต่อไหม ตอนนั้นเราตอบกลับไปแบบไม่ต้องคิดว่า ‘ไม่อยากครับ’ (หัวเราะ)
“ถึงยังไม่รู้แน่ชัดว่าตัวเองอยากทำอะไร แต่เราก็มีคิดไว้คร่าวๆ ว่าคงทำงานในตำแหน่งที่ได้ออกกองนั่นแหละ เพียงแต่ประสบการณ์ครั้งแรกกับงานผู้ช่วยผู้กำกับใน SuckSeed มันทำให้เห็นว่าผู้ช่วยผู้กำกับมีงานเอกสารที่ต้องทำเยอะมาก ซึ่งเราไม่อยากทำ ดังนั้นเราเลยคิดต่อแบบง่ายๆ ว่างั้นงานนี้คงไม่ใช่ตัวเรามั้ง
“แต่หลังจากนั้นไม่นานระหว่างที่รับงานอื่นไปเรื่อยๆ พี่หมูก็ติดต่อมาให้เราไปเป็นผู้ช่วยผู้กำกับในงานโฆษณางานหนึ่ง ด้วยความที่สนิทกับพี่หมูอยู่แล้วเราจึงตกลง ซึ่งครั้งนี้แหละที่เราเริ่มเห็นความสนุกในงานผู้ช่วยผู้กำกับเข้าให้แล้ว
“งานโฆษณาครั้งนั้นเราได้เดินทางไปป่าชายเลนและได้เจอคนจากการประสานงานต่างๆ มากมาย มันเลยทำให้เราได้ย้อนคิดว่าที่จริงแล้วการที่เราชอบการออกกองถ่ายก็เพราะเหตุผลนี้ไม่ใช่เหรอ รวมถึงงานเอกสารที่เคยคิดว่าคงไม่ชอบ แต่พอได้ลองทำแล้วทำได้ เรากลับยิ่งสนุก จนความรู้สึกดีทั้งหมดนี้มันค่อยๆ เปลี่ยนตัวเราทีละนิด ทำให้เราเริ่มถามตัวเองว่าหรือนี่เป็นที่ของเรานะ ประจวบเหมาะกับที่พี่สุยกลับมาชวนเราไปเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ 2 ในหนังเรื่อง ‘รัก 7 ปีดี 7 หน’ พอดี ครั้งนี้เราเลยตอบตกลงไป ซึ่งพอได้ทำอย่างจริงจังอีกครั้ง เราก็เริ่มแน่ใจแล้วว่าที่ของเราคงเป็นตรงนี้แหละ”
สายซัพที่เชื่อมผู้กำกับกับทุกฝ่าย
ถ้ามองจากในมุมคนนอก หลายคนน่าจะเข้าใจขอบเขตการทำงานของผู้ช่วยผู้กำกับตามความหมายแบบตรงตัว นั่นคือการ ‘ช่วย’ ผู้กำกับไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้วนี่เป็นแค่ส่วนเล็กๆ ของงานทั้งหมด เพราะผู้ช่วยผู้กำกับต้องทำหลายอย่างกว่านั้นมาก แถมผู้ช่วยผู้กำกับ 1, 2 หรือ 3 ก็มีหน้าที่ที่แตกต่างกันไปด้วย
เยเมนส์–ศิววุฒิ : “ต้องเกริ่นไว้ก่อนว่านี่คือรูปแบบการทำงานในมุมของเรานะ ซึ่งเราจะขอแจงเป็นสองขั้นตอน นั่นคือการเตรียมงานก่อนถ่ายทำและการออกกอง
“สำหรับช่วงเตรียมงาน ผู้ช่วยผู้กำกับ 1 จะมีหน้าที่หลักๆ ในการเป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้กำกับและฝ่ายอื่นๆ ดังนั้นผู้ช่วยผู้กำกับ 1 จึงต้องเข้าใจความต้องการของผู้กำกับเพื่อนำไปสื่อสารต่อ รวมถึงยังต้องถอดบทหนังออกมาเป็น Scene List เพื่อวางแผนการถ่ายทำในแต่ละวัน เอาแค่ตรงนี้ก็เต็มไปด้วยรายละเอียดมากมายแล้วที่ต้องบรีฟกับแต่ละฝ่าย เช่น ผู้กำกับอยากได้โลเคชั่นยังไง แล้วโลเคชั่นนั้นมีข้อจำกัดอะไรไหม ต้องใกล้กับโลเคชั่นก่อนหน้าหรือเปล่า ผู้ช่วยผู้กำกับ 1 ต้องรู้ข้อมูลตรงนี้ทั้งหมด ซึ่งผู้ช่วยผู้กำกับ 2 และ 3 ก็มีหน้าที่ช่วยซัพพอร์ตตามแต่ที่ผู้ช่วยผู้กำกับ 1 จะแจกแจงงานมา อาจเป็นงานเอกสารหรืองานเตรียมของในฉาก แล้วแต่หนังที่เรียกร้องแตกต่างกันไปในแต่ละเรื่อง
“ส่วนในวันออกกอง ภาพที่ทุกคนคุ้นชินคือการที่ผู้ช่วยผู้กำกับ 1 เป็นคนสั่งแอกชั่น แต่เบื้องหลังของงานนั้นคือการที่เขาต้องทำหน้าที่เป็นคนรันกองถ่ายนั่นเอง อธิบายให้เข้าใจง่ายคือผู้ช่วยผู้กำกับ 1 ต้องทำให้แผนงานที่เตรียมมาเกิดขึ้นให้ได้ตามกำหนด ต้องเช็กความเรียบร้อยทุกอย่างจากทุกแผนก ถ้าเกิดปัญหาก็ต้องรู้ทางแก้ ส่วนผู้ช่วยผู้กำกับ 2 จะทำงานหลังบ้านเพื่อให้งานหน้าเซ็ตที่ผู้ช่วยผู้กำกับ 1 ทำอยู่เกิดขึ้นจริง เช่น การดูว่านักแสดง stand by พร้อมหรือเปล่า หรืออุปกรณ์พิเศษที่ต้องใช้ในฉากถัดไปเตรียมไว้หรือยัง และสุดท้ายคือผู้ช่วยผู้กำกับ 3 ที่ตามปกติจะประจำการอยู่หน้าเซ็ตเพื่อช่วยผู้ช่วยผู้กำกับ 1 โดยเฉพาะ แต่ทั้งหมดนี้อาจมีการสลับสับเปลี่ยนกันได้ แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละกอง
“แต่อย่างล่าสุดกับ ‘ร่างทรง’ นี่คืองานที่แตกต่างจากเดิมพอสมควร เพราะในฐานะผู้ช่วยผู้กำกับ 1 เราได้เริ่มทำงานตั้งแต่การรีเซิร์ซหาข้อมูลทำบท จนต่อเนื่องมาได้เขียนบทกับพี่โต้งและพี่เต๋อ (ฉันทวิชช์ ธนะเสวี) ทำให้พอมาถึงขั้นตอนเตรียมงานที่ตามปกติเราต้องเข้าใจหนังในมุมมองผู้กำกับ แต่เรื่องนี้เราลดขั้นตอนไปเยอะ เพราะทำมาด้วยกันกับพี่โต้งตั้งแต่เริ่มแล้ว เหมือนได้ช่วยเติมแต่งกันมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ต้นจนถึงออกกอง ซึ่งนี่ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆ ต้องขอบคุณพี่โต้งที่ให้โอกาสจนเราได้เปิดมิติใหม่ในการเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ 1 ในเรื่องที่ตัวเองร่วมเขียนบทแบบนี้”
ไม่มีสูตรสำเร็จในการเป็นผู้ช่วยผู้กำกับหรอก
หลังจากชัดเจนในทางที่จะไป ด้วยผลงานก็ทำให้เยเมนส์ได้รับโอกาสเป็นผู้ช่วยผู้กำกับในภาพยนตร์เรื่องต่างๆ จากผู้ช่วยผู้กำกับ 2 เขาก็ได้รับโอกาสเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ 1 ครั้งแรกในหนังเรื่องแฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว ก่อนที่จะต่อเนื่องในอีกหลายเรื่องถัดมา ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้เองที่ทำให้เขาตกตะกอนให้เราฟังได้ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญในอาชีพนี้
เยเมนส์–ศิววุฒิ : “เพื่อให้กองถ่ายดำเนินไปตามแผน เราว่าสิ่งที่ยากมากๆ ในการเป็นผู้ช่วยผู้กำกับคือการประเมินสถานการณ์และจิตวิทยาในกองถ่าย
“ตั้งแต่เราทำงานมา การจัดการเรื่องนี้ไม่เคยมีสูตรตายตัว เพราะในหนังแต่ละเรื่องล้วนมีเงื่อนไขและบรรยากาศของคนทำงานที่ต่างกัน ผู้กำกับแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นวิธีการในการทำงานแต่ละครั้งจึงไม่มีทางเหมือนเดิมได้ เช่นล่าสุดกับร่างทรง การบรีฟตากล้องอย่างพี่สีบาน (นฤพล โชคคณาพิทักษ์) เราก็ต้องอาศัยวิธีการอธิบายแบบคลุมเครือเพื่อให้ได้ภาพสมจริงแบบสารคดี ตรงกันข้ามกับเรื่องอื่นที่เราต้องอธิบายพี่สีบานแบบชัดเจนที่สุด จะเห็นว่าแค่เรื่องนี้ก็ไม่มีวิธีที่สำเร็จตายตัวแล้ว ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นหน้างานจึงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยมาก แต่เราก็เชื่อว่าทั้งหมดบรรเทาได้โดยการเตรียมงานที่ดีนะ
“การเตรียมงานเป็นขั้นตอนที่เราให้ความสำคัญที่สุด เพราะเวลาออกกอง ร้อยทั้งร้อยจะมีเรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นแน่ๆ แต่ถ้าเตรียมงานมาได้ดีพอ ไม่ว่าจะเกิดอะไรเราจะแก้และทำงานต่อไปได้ อีกทั้งการเตรียมงานที่ดีสามารถช่วยให้เกิดการสื่อสารกันอย่างเข้าใจ ส่งผลต่อบรรยากาศในกองถ่ายที่ก็จะออกมาดีตาม ซึ่งอาวุธที่จะทำให้ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นคือเอกสารที่จะแจกให้ทีมงานทุกคนก่อนเริ่มวันนั่นเอง เราจึงซีเรียสกับมันมากเพราะถ้าในเอกสารมีรายละเอียดครบถ้วนพอ ทุกคนจะเห็นภาพเดียวกันในที่สุด
“มาย้อนคิดก็ตลกดีเหมือนกันเนอะ ตอนแรกไม่อยากทำเพราะงานเอกสาร แต่ตอนนี้กลายเป็นให้ความสำคัญกับมันมากๆ ซะงั้น (ยิ้ม)"
ผู้ช่วยผู้กำกับที่ดีคืออะไร งานของเราอยู่ตรงไหน
แม้ปัจจุบันเยเมนส์จะตกตะกอนความเชื่อจากการทำงานเป็นผู้ช่วยผู้กำกับมาอย่างชัดเจนแล้ว แต่เขาก็บอกกับเราว่าหลักคิดทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาเองตั้งแต่ต้น แต่ละอย่างล้วนสั่งสมและประกอบสร้างมาจากการทำงานทั้งสิ้น และกว่าที่จะออกมาสมดุลขนาดนี้ เยเมนส์เองก็เคยเจอคำถามจนเกือบเลิกเป็นผู้ช่วยผู้กำกับอยู่เหมือนกัน
เยเมนส์–ศิววุฒิ : “ช่วงที่เราไปเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ 2 ในกองพี่มาก..พระโขนง นั่นเป็นช่วงที่เราตั้งคำถามกับตัวเองมากที่สุดแล้ว ตอนนั้นเหมือนเราทำงานมาสักพักหนึ่งจนเริ่มสงสัยในตัวเองว่าเราเป็นผู้ช่วยผู้กำกับที่ดีหรือเปล่า เพราะภาพผู้ช่วยผู้กำกับที่ดีที่หลายคนเข้าใจต้องเป็นคนดุและเฮี๊ยบ ซึ่งตอนนั้นเรามองตัวเองที่เป็นแบบนั้นไม่ออกเลย เราจึงตั้งคำถามกับตัวเองว่าแล้วจะเป็นผู้ช่วยผู้กำกับที่ดีได้จริงๆ เหรอ
“ประกอบกับตอนนั้นเป็นช่วงที่เราจบมาได้ 3-4 ปีพอดี เพื่อนๆ เราเริ่มมีชิ้นงานออกมา ด้วยความดาวน์ที่ผสมกันอยู่มันเลยทำให้เราเอาตัวเองไปเทียบคนอื่น เราเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่ตัวเองทำว่าแล้วงานของเราคืออะไร Showreel ของเยเมนส์คืองานไหน หนังที่เราเข้าไปเป็นผู้ช่วยผู้กำกับคืองานของเราจริงๆ เหรอ หรือมันเป็นงานของผู้กำกับล่ะ นี่เรายังไม่มีอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันเลยนี่นา
“แล้วสุดท้ายเราเหมาะกับภาพยนตร์จริงๆ ใช่ไหม
“เราคิดวนเวียนอยู่อย่างนี้ประมาณครึ่งปีเลยนะ จนวันหนึ่งเราก็ได้คำตอบจากการได้คุยกับพี่สีบานและพี่อั้ม (ฤทัยวรรณ วงศ์สิรสวัสดิ์) ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่เราเคารพ
“ในครั้งนั้นพี่ทั้งสองคนเปรียบเปรยให้เราเห็นว่ารูปแบบการทำงานของพวกเรามีความเป็นศิลปะพอๆ กับงานที่เราทำ ดังนั้นใครจะใช้วิธีการไหนก็เป็นเรื่องของคนนั้น ทุกคนมีสไตล์ของตัวเอง วิธีการที่คนอื่นทำแล้วได้ผลลัพธ์ที่ดี เราอาจทำไม่เหมือนเขาก็ได้ แค่หาและใช้วิธีการที่เป็นแบบของเราไป ซึ่งไอ้วิธีการในแบบของเรานี่แหละที่สร้างองค์ประกอบหนึ่งขึ้นมา และการที่หนังเป็นอย่างที่คนดูเห็นได้มันก็มาจากการที่มีองค์ประกอบนั้นไปผสม แปลว่าหนังมีเราอยู่ในนั้นแน่ๆ ซึ่งพอคิดได้แบบนี้เราก็เริ่มมองงานของตัวเองใหม่ จนเราได้เจอตัวเองในหนังที่เคยทำมากขึ้น เช่น การที่ซีนออกมาเป็นแบบนี้เพราะเกิดจากการวางคิวถ่ายของเรายังไงล่ะ เหมือนเราค่อยๆ ก้าวผ่านความสงสัยตรงนี้ไป จนกลับมาสนุกกับงานผู้ช่วยผู้กำกับอีกครั้งจนถึงตอนนี้”
ความสำเร็จของผู้ช่วยผู้กำกับเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนถ่ายทำแล้ว
นอกจากงานผู้ช่วยผู้กำกับ ปัจจุบันเยเมนส์มีโอกาสไปเป็นผู้กำกับในงานต่างๆ บ้างแล้ว แต่เขาก็ยืนยันกับเราว่ายังคงรู้สึกดีกับงานผู้ช่วยผู้กำกับอยู่เหมือนเดิม ดังนั้นถ้ายังหาสมดุลในการทำงานได้ เขาก็อยากทำทั้งสองอย่างควบคู่กันไป เพราะสุดท้ายงานผู้ช่วยผู้กำกับก็ให้บางอย่างกับเขาในแบบที่ไม่มีงานไหนในโลกนี้จะให้ได้เหมือนกัน
เยเมนส์–ศิววุฒิ : “ทุกวันนี้เวลาเราดูผลงานของตัวเองในโรงภาพยนตร์ นอกจากแว่นของคนดู เราก็มีแว่นของผู้ช่วยผู้กำกับที่ทำให้เราเห็นภาพตรงหน้าเป็นผลลัพธ์นะ เหมือนเราจะนึกออกว่าในแต่ละซีนมันเกิดจากการวางแผนงานของเราอย่างไรบ้าง มันออกมาสำเร็จแบบนี้ได้ยังไง ซึ่งสำหรับเรานี่แหละคือรางวัลในการเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ
“และนอกเหนือจากตรงนั้นที่เป็นความรับผิดชอบอยู่แล้ว เราว่าสิ่งที่มีค่าสำหรับเราอีกอย่างหนึ่งคือบรรยากาศการทำงานที่ดี นี่เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมาก เพราะเรามองว่าการที่เราเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยวางแผนและสื่อสารจนทุกคนรู้สึกเป็นทีมเดียว มันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากเลย และถ้าทำได้ เราก็เชื่อว่ามันจะนำมาซึ่งงานที่ดีโดยที่ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของมันร่วมกันด้วย
“แต่ย้ำอีกทีนะว่านี่เป็นวิธีการทำงานในแบบของเรา ถ้าคนอื่นจะใช้วิธีอื่นก็ไม่มีใครถูกหรือผิดกว่ากัน ทุกคนมีแนวทางเป็นของตัวเอง แต่ถ้าจะให้แนะนำอะไรสักอย่างกับคนที่สนใจมาทำงานด้านนี้ เราว่าอย่างน้อยก็ต้องเป็นคนที่สื่อสารกับคนอื่นได้ เพราะมันเป็นทักษะสำคัญที่อาชีพนี้เรียกร้อง ส่วนอย่างอื่นก็แล้วแต่คาแรกเตอร์หรือนิสัยของคุณ คุณจะเป็นผู้ช่วยผู้กำกับแบบไหน เราว่าคุณลองทำดูเดี๋ยวก็จะรู้เองแหละ
“ประสบการณ์จะสอนคุณเอง ว่าสุดท้ายคุณชอบงานนี้หรือเปล่า เหมือนกับที่เราเองก็เคยผ่านมา” .