อร ทองไทย
“Pockets Full of Rainbows” เพราะสายรุ้งจะปรากฏหลังฝนตกเสมอ

อร ทองไทย “Pockets Full of Rainbows” เพราะสายรุ้งจะปรากฏหลังฝนตกเสมอ

อร ทองไทย “Pockets Full of Rainbows” เพราะสายรุ้งจะปรากฏหลังฝนตกเสมอ

ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลาย ๆ คน คงมีโอกาสได้เห็นผลงานจากนิทรรศการของ ‘อร ทองไทย’ ศิลปินคอนเซ็ปต์ชวลที่มีผลงานสุดอารมณ์ดีกันมาไม่น้อย แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่เธอ ในฐานะศิลปิน LGBTQ+ เอง จะมาปลดเปลื้องตัวตนและบอกเล่าเรื่องราวที่ซุกซ่อนไว้ในระหว่างแถบสีรุ้งใน ‘Pockets Full of Rainbows’ นิทรรศการครั้งใหม่ที่ตั้งใจอุทิศให้กับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะ 

แม้จะเติบโตมาในครอบครัวของนักธุรกิจ แต่อร ทองไทยก็ยึดมั่นในเส้นทางศิลปะ และทำงานในแวดวงนี้มาอย่างต่อเนื่องจนได้รับการยอมรับในวงกว้าง ด้วยบุคลิกนิสัยส่วนตัวของเธอที่มีความซุกซนและชอบทดลองอะไรใหม่ ๆ ทำให้เธอมักจะถูกจดจำจากผลงานสื่อผสมแสนขี้เล่นทั้งในรูปแบบสองมิติและสามมิติ โดยผลงานของเธอที่เราคุ้นตามากที่สุดคงจะหนี้ไม่พ้นผลงานสองมิติที่เกิดจากการรวมรูปภาพเข้ากับข้อความภาษาอังกฤษ ที่แม้จะมีความยาวสั้น ๆ แต่ก็มีเนื้อหาโดนใจผู้ชมเข้าอย่างจัง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ล้วนแล้วแต่เกิดมาจากการชีวิตและตัวตนที่เธอค่อย ๆ สั่งสมจากหนังสือ บทกลอน และดนตรีที่เธอชอบนั่นเอง แม้ในนิทรรศการครั้งนี้ เธอจะหวนย้อนกลับมาทำงานในประเด็นที่ใกล้ชิดกับตัวตนของเธอที่สุดอย่างเรื่องเพศสภาพที่ค่อนข้างมีความอ่อนไหว แต่สไตล์และอารมณ์ขันในผลงานของเธอก็ยังคงเด่นชัดไม่จางหาย 

โดยนอกจากจะมีการจัดแสดงผลงานภาพพิมพ์หลากเทคนิคนับสิบ ๆ ชิ้นแล้ว นิทรรศการครั้งนี้ยังถูกจัดแสดงในช่วงเดือนมิถุนายนซึ่งถือเป็น Pride Month ที่มีการเฉลิมฉลองของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมทั้งยังถูกจัดแสดงขึ้นที่ Bodhisattava LGBTQ+ Gallery แกลเลอรี่ที่ถูกก่อตั้งโดยศิลปิน LGBTQ+ อย่าง ‘โอ๊ต มณเฑียร’ โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะให้แก่เหล่าศิลปิน LGBTQ+ โดยเฉพาะอีกด้วย

จุดเริ่มต้นของนิทรรศการเพื่อ LGBTQ+ โดย LGBTQ+

อาจจะด้วยความที่นิทรรศการ Pockets Full of Rainbows ถูกจัดขึ้นที่ Bodhisattava LGBTQ+ Gallery ซึ่งเป็นแกลเลอรี่สำหรับศิลปิน LGBTQ+ โดยเฉพาะที่แรกของเมืองไทย แถมยังจัดแสดงในช่วงเดือนมิถุนายนซึ่งถือเป็น Pride Month ทำให้เราแอบคิดว่า อร ทองไทยคงจะตั้งใจทำงานในประเด็นความหลากหลายทางเพศขึ้นมาเพื่อเฉลิมฉลอง Pride Month โดยเฉพาะ แต่ความจริงแล้วปีนี้เป็นปีที่เธอตั้งใจจะหยุดพักแสดงผลงานศิลปะหลังจากจัดนิทรรศการเดี่ยวอย่างต่อเนื่องมาหลายงานเพื่อกลับมาโฟกัสที่การพัฒนาผลงานศิลปะของตัวเองต่อไป แต่เนื่องจากโอ๊ต มณเฑียร ศิลปินและผู้ก่อตั้ง Bodhisattava LGBTQ+ Gallery ซึ่งรักใคร่และสนิทสนมกับเธอมาหลายปีมาชวนจัดนิทรรศการขึ้น จึงเกิดเป็นนิทรรศการครั้งนี้

อร ทองไทย : “คือจริง ๆ เราเป็นเลสเบียนอยู่แล้ว เราไม่เคยปิดซ่อน คนรู้จักเราก็จะรู้หมด แต่ว่าเวลาเขียน CV เราจะใช้คำว่า ‘Thai female artist’ มาโดยตลอด เพราะเรามองว่าเราไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับ LGBTQ+ และไม่ชอบแปะป้ายตัวเองด้วย ซึ่งในโชว์นี้ มันก็ไม่ได้เริ่มต้นมาจากการที่เราอยากทำงานเพื่อรวบรวมแสดงงานในช่วง Pride Month ด้วยซ้ำ แต่มันเริ่มต้นมาจากปีที่แล้ว C.A.P Studio ที่เชียงใหม่ที่เราเคยทำงานร่วมกันหลายครั้งแล้ว เขาเชิญเราขึ้นไปทำงานด้วยกัน เราเลยตัดสินใจทำเรื่อง LGBTQ+ เป็นผลงานส่วนตัวเก็บไว้

ตอนหลังจากที่โอ๊ตเปิด Bodhisattava LGBTQ+ Gallery เขาก็โทรมาชวนมาเราทำนิทรรศการ เราก็เลยบอกให้เขาลองมาดูงานที่สตูดิโอเราก่อน ซึ่งวันนั้นก็ไม่ได้บอกโอ๊ตเลยนะว่าเรามีงานเกี่ยวกับ LGBTQ+ อยู่ ซึ่งพอเขามาเห็นงานภาพพิมพ์ชุดนี้ก็กรี้ดมาก เลยตัดสินใจรวบรวมงานภาพพิมพ์มาจัดแสดง ซึ่งจริง ๆ โชว์นี้ก็เป็นโชว์แรกที่โอ๊ตเขารับหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์เองด้วย”

เสน่ห์ของงานภาพพิมพ์คือการได้ทดลอง

อร ทองไทยมักจะถูกจดจำในฐานะศิลปินคอนเซ็ปต์ชวลที่มักเล่นสนุกกับการผสมผสานสื่อต่าง ๆ ในงาน ทั้งในรูปแบบสองมิติ และสามมิติ โดยเธอเริ่มสนใจศาสตร์ของภาพพิมพ์จากการทำภาพพิมพ์ตะแกรงไหม (Silk Screen) ในนิทรรศการตั้งแต่ปี 2008 จากเสน่ห์ของมันที่มีกระบวนการทำงานที่ต้องมีการลองผิดลองถูก และยังสามารถผลิตงานได้หลาย edition จากนั้นเธอจึงค่อย ๆ ขยับขยายมาศึกษาเทคนิคภาพพิมพ์อื่น ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เธอก็ได้ร่วมงานกับเหล่า print maker มากฝีมือมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาพพิมพ์โลหะ (Etching) กับ C.A.P Studio, Silk Screen กับ The Archivist และ JOJO KOBE, Risograph กับ Witti Studio และ Haptic Editions

อร ทองไทย : “ที่นิทรรศการของเรา ผลงานแต่ละชิ้นจะมี QR Code ให้ฟังสิ่งที่ print maker แต่ละแขนงเขาพูดถึงงานแต่ละเทคนิค ซึ่งเขาก็จะบอกเราเสมอว่า เรามักจะผลักดันให้เขาได้ลองทำในสิ่งที่คนอื่นไม่เคยทำมาก่อน แต่ในความรู้สึกเรา เราไม่ได้ตั้งใจจะผลักดันให้เขาต้องทำในสิ่งที่ไม่เคยทำหรอก เราเพียงแค่มีสิ่งนี้ในหัว และอยากทำมันออกมา โดยไม่รู้ว่าเราต้องทำยังไง เราเลยคิดแบบไม่มีกรอบอะไรเลย ซึ่ง print maker ทั้งหลายเขาก็น่ารักมาก พยายามจะทดลองไปพร้อม ๆ กับเรา ดังนั้น เราบอกได้เลยว่า งานแต่ละชิ้นที่ได้ออกมามันผ่านการลองผิดลองถูกมาเยอะมาก”

ประเด็นความหลากหลายทางเพศในแง่มุมสบาย ๆ

สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้จากผลงานในทุกนิทรรศการของอร ทองไทยคือความขี้เล่น อารมณ์ดี แม้ในครั้งนี้เธอจะพูดถึงประเด็นที่มีความอ่อนไหวอย่างเรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่กลิ่นอายความซุกซน สนุกสนานนี้ก็ยังไม่จางหายไปไหน

อร ทองไทย : “เอาเข้าจริง ๆ แล้วชีวิตเราก็ไม่ได้มีแต่เรื่องดี ๆ ไปซะหมด แต่ตั้งแต่ทำงานศิลปะมาเราตั้งใจทำงานให้ผลงานของเรามันสามารถส่งต่อพลังงานบวกให้กับคนดูได้ คือเรารู้สึกว่า ชีวิตคนเรามันก็มีความทุกข์เยอะอยู่แล้ว ถ้าคนดูเข้ามาดูงานเราแล้วมันทำให้เขายิ้มหรือขำได้ ก็อาจจะเป็นกระบวนการทำงานที่ตลกดี ไม่รู้ว่าอันนี้ก็ถือเป็นความคอนเซ็ปต์ชวลด้วยรึเปล่านะ (หัวเราะ)

มันมีความกดดันเยอะมากเลยทางเพศสภาพ การที่เราทำงานเชิงบวกกับชีวิตก็เหมือนเป็นการบำบัดตัวเองด้วยเหมือนกัน คือชีวิตคนเราก็มีทั้งทุกข์ทั้งสุขอยู่แล้ว เหมือนเราพยายามจะไปโฟกัสในด้านที่ดี และไม่ไปโฟกัสที่ความทุกข์ด้วย”

สายรุ้งในมุมมองของอร ทองไทย

แม้เราจะเห็นธง Pride ที่มีแถบสีรุ้ง 6 แถบจนชินตา แต่คงจะมีไม่กี่คนที่รู้ความหมายของสีต่าง ๆ ในธงเหล่านี้ว่าหมายถึงอะไร

อร ทองไทย : “ปกติงานของเราก็ไม่ได้ใช้สีรุ้งตรง ๆ แต่ในโชว์รอบนี้เราตั้งใจใช้สีรุ้งที่สื่อความหมายแทนกลุ่ม LGBTQ+ อย่างตรงไปตรงมา เพราะเราอยากจะถ่ายทอดและสื่อสารประเด็นนี้ออกไปแบบไม่ผิดเพี้ยน ซึ่งก่อนจะเริ่มทำงานชุดนี้เราก็ค้นคว้าหนักมากเหมือนกันว่าแต่ละสีมีความหมายว่าอะไร พอได้หาข้อมูลลึกขึ้นถึงได้รู้ว่า จริง ๆ มันมีไม่ได้มีแค่ธงหกสี แต่มันยังมีธงอื่น ๆ อีกมากที่ใช้เป็นตัวแทนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น ธงเลสเบียน ธงทรานส์ หรือแม้แต่ธง ally ซึ่งอย่างงาน ‘THANK YOU’ ของเราในโชว์รอบนี้ก็เกิดมาจากการที่เราอยากจะขอบคุณเหล่า ally แต่เรามองว่าเราไม่จำต้องใช้สีขาวดำที่เป็นสีของ heterosexual ในงานตรง ๆ ก็ได้ พอเราใช้สี 6 สีหยดรอบ ๆ มันก็ดูกลาง ๆ ในการขอบคุณทุกคน ไม่ต้องไปแปะป้ายหรือแบ่งแยกอะไรอีกแล้ว โดยในฐานะ LGBTQ+ มันก็เหมือนเป็นการขอบคุณตัวเราเอง ขอบคุณคนที่เป็น LGBTQ+ เหมือนกัน และขอบคุณเหล่า ally ที่คอยสนับสนุนเรา”

อร ทองไทย : “เราเป็นคนชอบค้นหาความหมายของคำและรากคำศัพท์ เพราะเราใช้ข้อความเยอะในการทำงานศิลปะ อย่างคำว่า ‘gay’ จริง ๆ ในพจนานุกรมสมัยก่อนจะแปลว่า lightheart, carefree, happy ซึ่งเราว่านั่นน่าจะเป็นที่มาของการเรียกกลุ่มเพศทางเลือกว่าเกย์ ซึ่งในโชว์นี้ ตอนโอ๊ตให้เราเขียน artist statement เขาก็ถามเราเหมือนกันว่า สายรุ้งสำหรับเราคืออะไร เราก็รู้สึกว่าการที่เป็น LGBTQ+ ในประเทศไทยก็ไม่ได้ง่าย ชีวิตมันต้องผ่านการดิ้นรนและพิสูจน์ตัวเองหลายอย่าง ถึงจะเป็น LGBTQ+ ที่ได้รับการยอมรับในสังคม แต่ก็ต้องยอมรับว่าในประเทศไทยมันก็ยังรู้สึกว่าเราแตกต่าง ชีวิตของเรามันไม่เหมือน heterosexual เขาไม่ต้องมีการ come out ไม่ต้องมีการแปะป้ายตัวเอง ซึ่งต่อไปในอนาคต เราก็หวังว่าคนที่เป็น LGBTQ+ ก็ไม่น่าจะต้องเรียกตัวเองว่าเพศที่สามแล้ว”

อร ทองไทย : “ในอนาคตมันควรจะให้อิสระ ใครจะเป็นอะไรก็เป็นไป แต่อย่างเมืองไทยปัจจุบันก็ต้องยอมรับว่ามันยังไม่มีความเท่าเทียมเพศ โดยเฉพาะมุมมองของพ่อแม่ที่เกิดในยุค Baby Boomer เขาก็จะมีมุมมองเรื่อง homosexual อีกแบบหนึ่ง ซึ่งนั่นก็จะเป็นความยากของคนในเจนเราเหมือนกันในการจะไปบอกเขา แล้วเขาจะยอมรับไหม แล้วเราจะยอมรับตัวเองยังไง อย่างตัวเราก็โชคดีหน่อยที่บอกแล้วเขาโอเค แต่มันยากมากเลยนะสำหรับคน ๆ หนึ่ง เราได้มีโอกาสคุยกับเพื่อนหลาย ๆ คนที่ต้อง come out กับพ่อแม่ ในยุคเราคือมันไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับใครเลยสักคน มันจะมีความไม่มั่นคงมาก ๆ เลยนะในช่วงเวลานั้น บอกเสร็จแล้วจะเป็นยังไง เขาจะรับได้ไหม จนทุกวันนี้ก็ยังมีเพื่อนบางคนที่ยังไม่บอกพ่อแม่ด้วยซ้ำ หรือบางคนที่บอกแล้วแต่เขาไม่ยอมรับและโดนไล่ออกจากบ้านก็มี ซึ่งฟังแล้วมันเจ็บปวดมากนะ

สุดท้ายแล้ว เราก็เลยคิดว่า สายรุ้งสำหรับเรามันก็คือสิ่งที่จะปรากฏขึ้นหลังฝนตก และเป็นตัวแทนของเกย์ ซึ่งในความหมายของเราคือความสุข เมื่อเราเห็นสายรุ้งที่ปรากฏขึ้นมาแล้วก็จะชื่นใจว่า This is my happy moment!”

การเติบโตและใช้ชีวิตในฐานะเลสเบียนในสังคมไทย

เห็นเธอเป็นคนสดใสแบบนี้ แต่จริง ๆ เพศก็สร้างผลกระทบในชีวิตและจิตใจของเธอหลายอย่าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ heterosexual ไม่เคยต้องมาประสบ และรู้สึกเก็บกดหรือกดดันจากการต้อง come out ด้วยซ้ำ

อร ทองไทย : “เหมือนเขาเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามแบบที่สังคมต้องการ แต่เราเป็นสิ่งที่แปลก ซึ่งเราเองรู้ตัวว่าเราก็ไม่ได้ทำผิดอะไร แต่มันก็เสียใจนะเวลาเห็นคนมีปฏิกิริยาที่แตกต่างออกไป อย่างบางคนก็เห็นเราแล้วเขาดูไม่ออกว่าเราเป็นเลสเบียนเยอะมาก แต่พอเขารู้ บางครั้งถึงมันจะไม่ใช่ปฏิกิริยาเชิงลบตลอด แต่การที่เขาทำหน้าเหวอ ๆ แบบเซอไพรส์มันก็ทำให้เรารู้สึกเหมือนกัน ซึ่งจากที่เราพบเจอแล้วรู้สึกมากที่สุดน่าจะเป็นเหล่า Baby Boomer ที่หลายคนเขามักจะมีความ homophobia โดยไม่รู้ตัว”

ความหวังที่จะได้เห็นสังคมแห่งการยอมรับในอนาคต

ขึ้นชื่อว่าเป็นเพศทางเลือกย่อมมาพร้อมกับการถูกตัดสินและเหมารวมจากสังคม สิ่งที่อร ทองไทยอยากเห็นต่อไปคือสังคมที่เปิดใจยอมรับความหลากหลายและลื่นไหลทางเพศ หยุดการแบ่งแยก และแปะป้ายคน

อร ทองไทย : “ขนาด LGBTQ+ ยังมีการแบ่งอีกว่าเป็นเลสเบียนแบบไหน เกย์แบบไหน ทรานส์แบบไหน เราว่ามันไม่มีความจำเป็นจะต้องมาแปะป้ายกันแบบนี้แล้ว อีกอย่างหนึ่งคือเราอยากให้เลิกส่งต่อความเข้าใจผิด ๆ ที่มีมายาวนานต่อกลุ่ม LGBTQ+ อย่างพวกเรื่องเซ็กซ์ เรื่องโรคติดต่อทางเพศ เรื่องเอดส์ อะไรแบบนี้ ซึ่งเรื่องนี้เรามองว่าของเกย์เขาน่าจะโดนเยอะยิ่งกว่าเลสเบียนซะอีก

อีกอย่างหนึ่งคือ ในอนาคตเราหวังว่า เรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ แต่นั่นคือเรื่องใหญ่มาก เป็นเรื่องที่ต้องผ่านกฎหมายรัฐบาล แต่อย่างน้อยเราหวังว่าประเทศไทยจะมีเรื่องนี้ออกมาอย่างเท่าเทียมกันโดยแท้จริง ไม่ใช่แค่พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งตอนนั้นที่มันมีข่าวพ.ร.บ.คู่ชีวิตออกมา ถามว่าเราดีใจไหม เราดีใจนะ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ร้องไห้เพราะเสียใจหนักมากเลยเหมือนกัน คือเหมือนมันจะผ่าน แต่สุดท้ายก็ให้ไม่เท่ากัน ใช้คำไม่เหมือนกัน แล้วไปอยู่ใต้กฎหมายอีกอันหนึ่ง ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายครอบครัวด้วยซ้ำ”

การนิยามตัวเองในฐานะศิลปิน LGBTQ+

แม้จะเคยได้ยินว่ามีหลาย ๆ คนที่ได้รับอุปสรรคในวงการศิลปะเพราะเป็นเพศทางเลือก แต่ก็เป็นความโชคดีที่สิ่งเหล่านี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นกับอร ทองไทย ในทางกลับกัน บางคนเคยบอกให้เธอนำความเป็นศิลปินเลสเบียนมาใช้เป็นจุดขายในการทำงานศิลปะด้วยซ้ำ แต่คำตอบของเธอคือไม่

อร ทองไทย : “เราไม่ได้ปิดบัง แต่เราแค่รู้สึกว่า ทำไมเราต้องแปะป้ายนิยามตัวเองเพื่อให้เป็นจุดขาย เราอยากทำอย่างนั้นจริง ๆ เหรอ ถ้าเราอยากทำเราทำได้นะ แต่เราไม่อยากทำ ถึงบอกว่าที่ผ่านมาเราใช้คำว่า Thai female artist มาตลอด ซึ่งโชว์นี้ก็เป็นโชว์แรกที่โอ๊ตบอกว่าเราต้องใช้ว่าเป็น Thai lesbian artist แล้วแหละ เราก็มองว่าใช้ได้ เพราะว่ามันเป็นแกลอรีที่เฉพาะทางมาก แต่นี่เราเองก็เพิ่งเล่าให้โอ๊ตฟังไปก่อนเปิดโชว์ว่า ตั้งแต่วันที่เราต้องเริ่มใช้คำว่า Thai lesbian artist ข้างในเรามันสั่นมากเลยนะ ขนาดมันคือตัวตนของเราเองแต่มันก็ยังไม่ชิน เราเริ่มคิดแล้วว่า คนในครอบครัวเราอ่านแล้วเขาจะโอเคไหม คือมันไม่ได้คิดถึงแค่ตัวเอง มันเริ่มคิดถึงคนที่เราแคร์รอบ ๆ ตัวด้วย

ซึ่งก็มีคนถามว่า แล้วในอนาคตจะใช้คำนี้ต่อไปไหม เราก็ตอบตรง ๆ ว่าเราไม่รู้ ก็อาจจะ หรืออาจจะไม่ก็ได้ เราอยากทำแบบที่ตัวเองสบายใจมากกว่า ไม่รู้ว่าจะแปะป้ายตัวเองให้ไม่สบายใจไปทำไม เพราะคติของเราคือ ไม่ว่าจะทำอะไร แต่เราก็ต้องพร้อมรับผลของการกระทำนั้น เพราะฉะนั้นอะไรที่เราไม่สบายใจเราก็จะไม่ทำ แต่อย่างโชว์นี้เราสบายใจก็เลยโอเค”

เป็นตัวของตัวเองโดยไม่ต้องรู้สึกขอโทษกับสิ่งที่เป็น

สิ่งที่เธออยากฝากถึงศิลปินผู้มีความหลากหลายทางเพศคือการเป็นตัวของตัวเองโดยไม่ต้องรู้สึกขอโทษกับสิ่งที่เป็น ไม่จำเป็นต้องรู้สึกว่ามีหน้าที่ต้องทำงานตามกรอบของเพศเท่านั้น เธอมองว่า ถ้าเป็นศิลปิน LGBTQ+ แล้วอยากทำงานเรื่อง LGBTQ+ เธอก็จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าใครสามารถทำให้เกิดเป็นการขับเคลื่อนทางสังคมบางอย่างได้ก็ยิ่งดี แต่สิ่งนี้ก็ควรจะเป็นสิ่งที่อยากทำจริง ๆ ไม่ใช่แค่ต้องทำเพราะถูกกรอบด้วยเพศ

อร ทองไทย : “ถึงคุณเป็น LGBTQ+ แล้วคุณทำงานศิลปะ คุณอยากทำงานเรื่องไหนก็ทำเลย จะอยากพูดเรื่องดอกไม้หรือเรื่องการเมืองก็ได้ ไม่ใช่ว่าต้องมาตีกรอบว่าต้องมาทำงานเกี่ยวกับ LGBTQ+ เท่านั้น เราว่ามันผิดประเด็น เสียงของคุณคืออะไร คุณอยากพูดเรื่องอะไร นอกเหนือจากตัวตน เครื่องมือ และวิธีการแล้ว เราว่าศิลปินทำงานออกมาทุกชิ้นทุกโชว์มันมีเสียงในสิ่งเหล่านั้นอยู่ อยากให้ทุกอย่างมันเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ อย่างเราก็เป็นศิลปิน LGBTQ+ คนหนึ่งที่ไม่เคยพูดเรื่องนี้เลย จนเพิ่งมาโชว์นี้เองที่เรามาทำประเด็นนี้ ซึ่งเราเองก็รู้สึกดีด้วย ยังพูดกับโอ๊ตเลยว่าขอบคุณนะ รู้สึกว่า Pride Month ปีนี้ได้ทำอะไรกลับคืนให้กลุ่มบ้าง แล้วยิ่งวันเปิดงานมีพวกพี่ ๆ activist มาร่วมงาน เราก็ยิ่งรู้สึกซาบซึ้งและขอบคุณเขาน้ำตาจะไหล เพราะเขาต่อสู้กับสิ่งนี้มาไม่รู้ตั้งเท่าไหร่ คือเรามาหลังพวกเขามาก”

อร ทองไทย : “ซึ่งเราก็ต้องให้เครดิตโอ๊ตมาก ๆ เลยนะที่เขาทำแกลอรีนี้ขึ้นมา เพราะมันเป็นแกลเลอรี่สำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะที่แรกของเมืองไทย เราเห็นทุกคนมาแล้วเขาซาบซึ้งและรู้สึกว่าที่นี่เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เขาสามารถเป็นตัวเองได้ อย่างเราเคยมีโอกาสได้จัดโชว์มาในหลาย ๆ ครั้ง และมีเพื่อนเป็นเพศทางเลือกเยอะ เราก็เห็นได้เลยว่ารอบนี้มันแตกต่างกัน ซึ่งเราว่ามันน่าจะดีมากเลยสำหรับศิลปิน LGBTQ+ คนต่อ ๆ ไปที่จะมาทำ มันเหมือนเป็นการตอกย้ำและปักหมุดจุดยืนอะไรบางอย่างเหมือนกันนะที่โอ๊ตสามารถทำได้ จากสิ่งมันยังไม่เคยมี เขาก็ทำให้มันเกิดขึ้นได้ ซึ่งเราภูมิใจในตัวเขามาก เขาเก่งมากเลยนะ”