เต้-ภาวิต พิเชียรรังสรรค์
“Nowhere Special” สถานที่และความทรงจำในฝีแปรง

เต้-ภาวิต พิเชียรรังสรรค์ “Nowhere Special” สถานที่และความทรงจำในฝีแปรง

เต้-ภาวิต พิเชียรรังสรรค์ “Nowhere Special” สถานที่และความทรงจำในฝีแปรง

‘เต้-ภาวิต พิเชียรรังสรรค์’ คือศิลปินรุ่นใหม่ไฟแรงที่มีผลงานในแวดวงศิลปะร่วมสมัยมาอย่างต่อเนื่อง ผลงานของเขามีตั้งแต่จิตรกรรมแบบนามธรรมที่เกิดจากการด้นสดไปจนถึงงาน Installation Art ที่แผ่ขยายไปทั่วพื้นที่แกลเลอรี่ โดยผลงานของเขามักจะพูดถึงตัวตน โลกภายนอก และประสบการณ์ส่วนตัวที่เข้ามามีอิทธิพลต่อความคิดและวิธีการแสดงออกในเชิงศิลปะของเขา

แม้จะผ่านการจัดแสดงผลงานศิลปะทั้งเดี่ยวและกลุ่มมาหลายครั้ง แต่ในครั้งนี้เต้-ภาวิตกลับมาพร้อมกับผลงานจิตรกรรมภูมิทัศน์แบบจัดเต็มเป็นครั้งแรกในนิทรรศการเดี่ยวครั้งใหม่ที่มีชื่อว่า “Nowhere Special” ซึ่งจะถูกจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม - 4 กรกฎาคม 2564 โดยนับเป็นความร่วมมืออีกครั้งของเขากับ BANGKOK CITYCITY GALLERY ที่ในครั้งนี้ผู้ชมจะได้เห็นการเดินทางผ่านฝีแปรงอันเป็นเอกลักษณ์ รวมถึงความรู้สึกและความทรงจำของเขาที่มีต่อสถานที่นั้น ๆ ด้วย

เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทางแกลเลอรี่จึงมีความจำเป็นต้องเปิดให้เข้าชมผลงานตามการนัดหมายล่วงหน้าและจำกัดจำนวนผู้เข้าชมในแต่ละรอบเท่านั้น GroundControl ไม่อยากให้ทุกคนพลาดนิทรรศการดี ๆ แบบนี้ไป เราจึงขออาสารับหน้าที่พาทุกคนไปเยี่ยมชมผลงานในนิทรรศการครั้งใหม่ของเขา รวมถึงเจาะลึกถึงที่มาและแนวคิดของผลงานแต่ละชิ้นว่าจะมีความน่าสนใจยังไงบ้าง

จุดเริ่มต้นในแวดวงศิลปะ

“เราเริ่มทำงานศิลปะจริงจังครั้งแรกตอนอายุประมาณ 19 - 20 ปี เป็นช่วงปี 2 ตอนที่ยังเรียน Graphic Design ที่เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ตอนนั้นเราเริ่มต้นจากการเพนต์กำแพงทำงาน Street Art ก่อน แล้วค่อย ๆ ขยับไปทำงานสิ่งพิมพ์อื่น ๆ มีทั้งหนังสือทำมือ ซีน (Zine) และเสื้อยืดสกรีนต่าง ๆ พอกลับมาอยู่ที่ประเทศไทย เราก็ยังทำงานภาพพิมพ์สกรีนอยู่ และเริ่มทำงานเพนต์ที่จริงจังขึ้นจนสามารถแสดงงานได้”

ฝีแปรงที่เคลื่อนไหวอย่างอิสระ

“จริง ๆ สไตล์งานของเรามันก็เกิดจากการผสมผสานหลายอย่างมากเลย เทคนิคที่เราใช้ในงานจะไม่เคยหยุดนิ่ง ผ่านการทดลองอะไรใหม่ ๆ มามาก ทั้งสื่อที่ใช้และวิธีการ พอทำไปเรื่อย ๆ เราก็จะเริ่มรู้จักตัวเองมากขึ้นและสามารถจับจุดได้ว่าอะไรคือสิ่งที่แข็งแรงที่สุดในงานของเรา แล้วค่อย ๆ ขยายมันต่อไปจากจุดนั้น

ซึ่งวิธีการทำงานของเราก็ค่อนข้างที่จะอาศัยวิธีการด้นสดเยอะมาก ๆ บางครั้งมันอาจจะเริ่มต้นจากอะไรก็ไม่รู้ แต่เราก็ต่อยอดด้วยการแสดงออกอย่างอิสระต่อ เช่น การเลือกใช้สีก็ไม่ได้มีการวางแผนหรือเหตุผลอะไรมากมายว่าทำไมต้องใช้สีนี้ เราแค่จุ่มสีแล้วก็เริ่มเพนต์เลย หลังจากนั้นมันก็จะไปต่อตามอารมณ์และจังหวะของมันเอง”

ให้ความทรงจำและความรู้สึกต่อสถานที่เป็นตัวเล่าเรื่อง

“นิทรรศการก่อนหน้านี้พูดถึงเรื่องที่บ้าน เราก็จะหยิบอะไรหลาย ๆ อย่างจากในบ้านหรือของรอบ ๆ ตัวมาใช้ พอมาคราวนี้ก็เลยอยากออกไปที่อื่นบ้าง ประกอบกับว่าช่วงที่ทำซีรีส์นี้ เราก็มีโอกาสได้เดินทางไปหลาย ๆ ที่ด้วย นิทรรศการครั้งนี้เลยมีเรื่องราวของสถานที่เข้ามาเกี่ยวข้องเยอะมาก เราอยากจะเล่าถึงเอกลักษณ์ของสถานที่ที่ไปมา รวมถึงบรรยากาศหรือประวัติศาสตร์ของสถานที่นั้น ๆ ด้วย มีบางรูปเหมือนกันที่เราวาดสด ๆ ในสถานที่จริงเลย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการกลับมาเพนต์ที่บ้านจากรูปถ่าย มันเลยมีเรื่องของความทรงจำและความรู้สึกของเราที่มีต่อสถานที่นั้น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

แต่มันก็ยังมีหลายสิ่งที่เราสร้างขึ้นเองโดยไม่ได้อ้างอิงจากสถานที่จริง ๆ ด้วย แม้ว่าผลงานของเราจะมีภูเขา ทะเล และวิวอื่น ๆ เป็นตัวหลักในการเล่าเรื่อง แต่จริง ๆ เราใช้ภูมิทัศน์หล่านี้เป็นเพียงแค่เลเยอร์ที่ซ้อนเป็นพื้นหลังของตัวผลงาน ยังมีองค์ประกอบอีกหลายอย่างมาซ้อนทับปะปนอยู่ด้านบน เราเอาความรู้สึกของตัวเราเองจากสถานที่อื่นที่ไม่ใช่สถานที่ที่เรากำลังเพนต์มาใส่โรยหน้าเข้าไปด้วย เราแค่ใช้มันเป็นหัวข้อหลักในการถ่ายทอดสิ่งที่เราต้องการจะพูด”

ความเหมือนและความแตกต่างเมื่อเทียบกับผลงานที่ผ่านมา

“ในเชิงรูปแบบและแนวคิดในงาน งานของเราตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันค่อนข้างใกล้เคียงกันมากและมักจะมีจุดเชื่อมโยงกันเสมอ ถ้าย้อนกลับไปช่วงเริ่มแรก ผลงานส่วนใหญ่ที่ทำมักจะใช้คาแรคเตอร์คนมาเป็นตัวถ่ายทอดเรื่องราว เราเอาร่างกายและท่าทางของคนมาวางอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ ที่เราสร้างขึ้นเพื่อเป็นการเชื่อมโยงและอ้างอิงจากสภาพแวดล้อมและประสบการณ์โดยตรงของตัวเอง ดังนั้น ผลงานในแต่ละชิ้นก็จะเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาว่าตอนนี้เจอใครและผ่านเหตุการณ์อะไรมาบ้าง ซึ่งพอมาถึงนิทรรศการครั้งนี้ เราก็เปลี่ยนจากภาพคาแรคเตอร์คนมาเป็นภาพภูมิทัศน์แบบนามธรรมมมาเป็นตัวสื่อสารและแสดงออกแทน”

งานภูมิทัศน์กับสีสันที่จัดจ้าน

“นิทรรศการครั้งที่แล้วจะมีความเป็นงาน Installation Art มาก ๆ แต่ครั้งนี้เรามีความตั้งใจอยากให้วิธีติดตั้งผลงานดูเบาและน้อยลง ประกอบกับว่าเราให้เวลากับการทำงานเพนต์เยอะ ดังนั้น ถ้าเทียบกับรอบที่แล้วก็จะได้เห็นงานเพนต์มากขึ้น รวมถึงมีพื้นที่การจัดวางผลงานที่เอื้อเฝื้อต่อการดูมากกว่าเดิมด้วย

นิทรรศการนี้เราก็เพิ่งลองเปลี่ยนมาใช้สีน้ำมันด้วย ทำให้สีสันในผลงานครั้งนี้จะสดและจัดจ้านขึ้น และด้วยคุณสมบัติของสีน้ำมันที่แห้งช้าก็ทำให้การทำงานในแต่ละขั้นตอนต้องใช้เวลาเยอะมากขึ้น แต่ละชั้นของสีน้ำมันต้องรอทิ้งไว้เป็นวัน ๆ ทำให้เราต้องใช้เวลาอยู่กับงานชิ้นหนึ่งนานมากกว่าจะเสร็จ ต่างจากปกติที่เคยทำงานกับสีอะครีลิคที่ใช้เวลาแห้งเร็วมาก ถ้าเปลี่ยนใจก็สามารถทาทับได้เรื่อย ๆ ซึ่งพอเปลี่ยนเป็นสีน้ำมัน มันก็มีเวลาให้เราได้กลับไปทบทวนและคิดอะไรกับมันมากขึ้น”

ความเคลื่อนไหวในภาพนิ่ง

“ด้วยฝีแปรงที่มีความชัดเจนรุนแรงและการใช้สถานที่หรือภูมิทัศน์ในธรรมชาติเป็นตัวกลางในการเล่าเรื่อง ทำให้เราสามารถรู้สึกได้ถึงมวลของลมในผลงานครั้งนี้ มันเป็นเหมือนความแรงของลมพายุที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ในผลงานทุก ๆ ชิ้น หลาย ๆ งานเราก็เลยเอาแนวคิดมาจากขั้นตอนการทำอนิเมชั่นที่ถูกแบ่งเป็นเฟรม ๆ มาร้อยเรียงต่อกัน แต่เปลี่ยนจากการทำงานในคอมพิวเตอร์มาเป็นบนเฟรมที่เป็นการด้นสดแทน จะเห็นได้ว่างานหลาย ๆ ชิ้นจะเป็นภาพเดียวกัน จากสถานที่เดียวกัน แต่ถูกถ่ายทอดผ่านคนละช่วงเวลา แม้จะถูกวาดซ้ำ ๆ กัน แต่ในแต่ละชิ้นก็ไม่ได้ออกมาหน้าตาเหมือนกันเป๊ะ ๆ หรือในบางชิ้นก็อาจจะเป็นภาพซูมของอีกภาพหนึ่งก็ได้ ซึ่งวิธีการออกแบบการนำเสนอแบบนี้ทำให้ผลงานเหล่านี้จะมีความต่อเนื่องและการเคลื่อนไหว ถึงจะแยกผลงานแต่ละชิ้นออกจากกัน มันก็ยังมีตัวตนและคุณค่าในแบบของมันเอง”

ความแตกต่างของภูมิทัศน์ในวงการศิลปะไทยและออสเตรเลีย

“แวดวงศิลปะในไทยกับที่ออสเตรเลียก็แตกต่างกันอยู่หลายส่วน แม้เราอาจจะไม่ใช่คนที่รู้ลึกมาก เพราะช่วงที่อยู่เมลเบิร์น เราอยู่ในโลกของวงการ Street Art มากกว่าโลกของศิลปะร่วมสมัยในแกลเลอรี่จริงจัง แต่ถ้าพูดถึงเรื่อง Street Art ที่เมลเบิร์นก็ถือว่าเป็นอะไรที่โตมาก ๆ เดินไปทุกที่ก็จะมีงานพวกนี้หมด ตั้งแต่งานเพนต์กำแพง หรือขายเสื้อสกรีน ซึ่งเรามองว่า มันเป็นที่ ๆ มีงานพาณิชย์ศิลป์ที่คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายมาก คนที่สนใจก็สามารถทำงานศิลปะเป็นอาชีพได้ไม่ยาก”

ความท้าทายในฐานะศิลปินไทย

“ด้วยความชอบส่วนตัว เราก็เลยรู้สึกว่าการทำงานศิลปะมันไม่ใช่เรื่องลำบากอะไร แต่จริง ๆ ถ้าถามว่ายากไหม มันก็มีความยากในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการที่เราจะเอาผลงานเราออกไปให้คนอื่น ๆ ได้เห็นมันอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องความเข้าใจ แต่อาจจะเป็นเรื่องของการเห็นมูลค่าของงานศิลปะมากกว่า

แต่เราก็คิดว่าตอนนี้กำลังเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของอะไรหลาย ๆ อย่าง เราคิดว่าถ้าคอมมิวนิตี้ศิลปะได้ขยายตัวกว้างขึ้นและมีตัวเลือกของความคิดที่หลากหลายรูปแบบมากขึ้นก็คงจะน่าสนใจดี เพราะว่าทุกคนที่ทำงานในสายศิลปะหรือสายครีเอทีฟก็คงจะมีไอเดียหรือแนวทางเป็นของตนเองหมด ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยกับแนวทางนั้น ๆ แต่ถ้าเรามีคอมมิวนิตี้ที่กว้างขึ้นก็คงจะมีพื้นที่สำหรับโอกาสให้หลาย ๆ คนมากขึ้น”