‘อยู่ในโลกเธอ’ เบื้องหลัง ‘The Little Mermaid’ คือเรื่องรักเศร้าที่ไม่สมหวังของผู้แต่งชาว LGBTQ+
When’s it my turn? Wouldn’t I love, love to explore that shore up above? Wouldn’t I love, love to explore that shore up above? Out of the sea Wish I could be Part of that world
ในวันที่ ฮาเวิร์ด แอชแมน ผู้แต่งบทเพลง‘Part of Your World’ ได้จากโลกนี้ไป น้ำหนักตัวของเขาเหลือเพียง 36 กิโลกรัม ตาของเขาบอดสนิท และแทบไม่สามารถพูดได้ และเขาก็จากโลกนี้ไปโดยที่ไม่มีโอกาสได้รับรู้ว่า เขาจะกลายเป็นผู้ป่วยเอดส์คนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัลออสการ์ตัวที่สองจากผลงานการแต่งเพลงในแอนิเมชัน Beauty And the Beast (1992) ร่วมกับเพื่อนร่วมงานและเพื่อนในชีวิตจริงอย่าง อลัน เมนเคน หลังจากที่ทั้งคู่เคยไปคว้าออสการ์ในสาขาเดียวกันนี้มาแล้วด้วยบทเพลง Under the Sea จากหนังแอนิเมชัน The Little Mermaid (1990) โดยผู้ที่ขึ้นไปรับรางวัลแทนแอชแมนในวันนั้นก็คือ บิล เลาช์ คู่ชีวิตของแอชแมนที่อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่ปี 1984 จนถึงวันที่แอชแมนจากไปในปี 1991
ย้อนกลับไปในตอนที่ฮาเวิร์ดเริ่มต้นโปรเจกต์หนังแอนิเมชันเงือกน้อย มันหาได้เป็นแค่ผลงานที่จะเปิดศักราชยุคทองยุคใหม่ของดิสนีย์ (หลายคนเรียกว่ายุค ‘Disney Renaissance’) แต่สำหรับฮาเวิร์ดแล้ว เรื่องราวความรักของเงือกสาวที่ได้แต่มองโลกมนุษย์จากไกล ๆ ยังมีความสำคัญต่อเขาเป็นการส่วนตัว เพราะสถานะของเงือกน้อยที่รู้สึกทั้งแปลกแยกและโหยหาที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมมนุษย์ ยังเป็นภาพสะท้อนของการเป็นเกย์ที่ต้องแอบซ่อนชีวิตส่วนตัว ในวันที่สังคมยังไม่เปิดรับความหลากหลายทางเพศมากนัก โดยเฉพาะในองค์กรดิสนีย์ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างคอนเทนต์เป็นมิตรกับเด็ก ๆ ที่แอชแมนต้องทำงานภายใต้ความหวาดหวั่นว่าจะถูกไล่ออกตลอดเวลา และกว่าที่เขาจะเปิดใจกับเพื่อนอย่างเมนเคน ก็คือหลังจากที่พบว่าตัวเองติดเชื้อเอชไอวี และอาจจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน
ด้วยเหตุนี้ แอชแมนจึงทุ่มเททั้งชีวิตให้กับโปรเจกต์ The Little Mermaid โดยเมนเคนได้เผยในภายหลังว่า แอชแมนไม่เพียงรับหน้าที่เป็นคนทำเพลง แต่เขาแทบจะเป็นคนคุมโปรเจกต์ทั้งหมด ตั้งแต่การดูภาพรวมในแง่คอนเซปต์อาร์ต ไปจนถึงการคะยั้นคะยอให้คนวาดภาพต้นแบบดึงแรงบันดาลใจในการสร้างตัวละครเออร์ซูลาจากคาแรกเตอร์แดร็กควีน ‘ดิไวน์’ ในหนัง Pink Flamingo (อ่านเพิ่มเติมที่ t.ly/jfGD) และการใส่กลิ่นอายความเล่นใหญ่เป็นละครบรอดเวย์ของชาวเควียร์เข้าไป
และเมื่อดิสนีย์ต้องการจะตัดเพลง Part of Your World ออกไปจากหนัง เพราะลองเอาไปสกรีนเทสต์กับผู้ชมเด็ก ๆ แล้วได้รับผลตอบรับที่ไม่ดีนัก แอชแมนก็ยืนหยัดหัวชนฝาว่าต้องคงเพลงนี้ไว้ แม้ว่าผู้บริหารดิสนีย์ในยุคนั้นขู่จะไล่เขาออกก็ตาม เพราะเขามองว่า บทเพลงสะท้อนความปรารถนาที่จะได้มีตัวตน และสุดท้ายก็ได้รับการยอมรับและเป็นที่รัก คือหัวใจทั้งหมดหนัง และเพราะมันอาจจะเป็นข้อความสุดท้ายที่ชาว LGBTQ+ อย่างเขาจะฝากบอกต่อไปยังเด็ก ๆ ให้ซื่อสัตย์กับสิ่งที่ใจปรารถนา เนื่องจากในตอนที่เริ่มทำโปรเจกต์นี้ไปได้ครึ่งทาง แอชแมนก็รู้ตัวแล้วว่าเขาติดเชื้อเอชไอวี
จิตวิญญาณความปรารถนาที่จะมีตัวตนและได้รับการยอมรับ ซึ่งแอชแมนพยายามสะท้อนออกมาใน The Little Mermaid ฉบับแอนิเมชันนั้น ยังมีรากฐานมาจากเรื่องราวของผู้แต่งนิทาน The Little Mermaid ต้นฉบับอย่าง ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน ผู้ยืนหยัดแต่ง ‘เรื่องเล่น ๆ ของเด็ก ๆ’ จนโด่งดังกลายเป็นวรรณกรรมคลาสสิกของโลกตะวันตก แม้ว่าเขาจะเคยถูกครหาว่าเป็นเพียงนักเขียนบทละครและกวีพื้นบ้านที่ไม่มีใครเห็นค่าในผลงานก็ตาม
และอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้แอชแมนรู้สึกเชื่อมโยงกับเรื่องราวของเงือกน้อย ก็เพราะเรื่องราวเบื้องหลังโศกนาฏกรรมความรักของนางเงือกต้นฉบับ ซึ่งมีรากฐานมาจากชีวิตรักแสนเศร้าของแฮนเดอร์เซนกับเพื่อนชายคนสนิทของเขา ที่ไม่ได้มีบทลงเอยงดงามเหมือนในเงือกน้อยฉบับดิสนีย์
แม้ว่าแอนเดอร์เซนจะไม่เคยยืนยันถึงรสนิยมทางเพศของตัวเอง แต่นักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาชีวิตและผลงานของแอนเดอร์เซนค่อนข้างเห็นพ้องต้องกันว่าแอนเดอร์เซนน่าจะชอบผู้ชาย และค่อนข้างแน่ชัดว่า The Little Mermaid ถือกำเนิดขึ้นจากความไม่สมหวังในความรักของแอนเดอร์เซนถึงสองครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่แอนเดอร์เซนแต่ง The Little Mermaid ที่จบลงด้วยการที่เงือกสาวตัดสินใจเลือกที่จะกลายเป็นฟองคลื่น แทนที่จะปลิดชีพเจ้าชายเพื่อกลับไปเป็นเงือกและได้กลับไปอยู่กับครอบครัวใต้ท้องทะเล
ความสัมพันธ์แรกที่นำมาซึ่งเรื่องราวของเงือกสาวผู้ไม่สมหวังในความรัก คือความสัมพันธ์ระหว่างแอนเดอร์เซนกับเพื่อนที่สนิทกันมานานอย่าง เอ็ดเวิร์ด คอลลิน โดยมีหลักฐานเป็นจดหมายที่ทั้งคู่โต้ตอบกัน และในฉบับหนึ่ง แอนเดอร์เซนได้เขียนถึงคอลลินว่า “‘มิตรภาพ’ ของเราก็เหมือนเรื่องลึกลับ ที่ไม่ควรถูกนำมาตีความวินิจฉัย” และ “ผมโหยหาคุณราวกับว่าคุณเป็นสาวงามจากแคว้นคาลาเบรียน”
และเมื่อคอลลินตัดสินใจเข้าพิธีแต่งงาน เมื่อนั้นเองที่แอนเดอร์เซนเริ่มลงมือแต่งเรื่องรักอันขื่นขมของเงือกสาวผู้สูญเสียเจ้าชายให้กับมนุษย์ผู้หญิง
อีกหนึ่งความสัมพันธ์ที่นักประวัติศาสตร์คาดว่าน่าจะส่งอิทธิพลให้กับ The Little Mermaid ก็คือความสัมพันธ์ระหว่างแอนเดอร์เซนกับ คาร์ล เอากุสท์ แกรนด์ดยุกรัชทายาทแห่งซัคเซิน-ไวมาร์-ไอเซอนัค ซึ่งทั้งคู่ได้พบกันที่โรงละครแห่งไวมาร์ในปี 1844 และได้ใช้เวลาด้วยกันในเอตเตอร์สบรูกเป็นเวลาสามอาทิตย์ และแม้ว่าจะความฝันในหน้าร้อนจะจบลง แต่ทั้งคู่ยังถวิลหาถึงโมงยามเหล่านั้น และหลังจากสงครามสิ้นสุดลง ทั้งคู่มักนัดพบเพื่อใช้เวลาสั้น ๆ ในฤดูร้อนด้วยกันเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 1854 - 1857 และยังคงเขียนจดหมายถึงกันจนกระทั่งแอนเดอร์เซนเสียชีวิต
นักประวัติศาสตร์และนักวิเคราะห์วรรณกรรมต่างตีความว่า แอนเดอร์เซนได้แต่งให้เงือกสาวเป็นใบ้ เพื่อสะท้อนถึงการที่แอนเดอร์เซนไม่สามารถบอกให้โลกรับรู้ถึงเรื่องราวความรักของเขาได้ โดยเฉพาะความรักซ่อนระหว่างเขากับแกรนด์ดยุก ผู้ซึ่งแอนเดอร์เซนเคยเขียนถึงในจดหมายว่า “ฝ่าบาทคือผู้ครอบครองจิตวิญญาณแห่งกวีของกระหม่อม และยิ่งไปกว่านั้น จิตวิญญาณของกระหม่อมในฐานะมนุษย์ จดหมายของฝ่าบาทคือหนึ่งในสมบัติที่กระหม่อมหวงแหนเหนือสิ่งใด”
อ้างอิง The Pink News Rictor Norton Book Riot CBC