แซฟโฟแห่งเลสบอส (Sappho Of Lesbos ) ที่มาของคำว่า ‘เลสเบี้ยน’ กับบทกวีรักจากสาวถึงสาว
ย้อนกลับไปในสมัยกรีกโบราณ ความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันถือเป็นเรื่องปกติในหมู่ชายชนชั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นเหล่านักปรัชญาชื่อดังอย่างเพลโต, อริสโตเติล, พลูทาร์ก หรือแม้กระทั่งผู้นำทางการทหารอย่างซีโนโฟน ก็เคยมีความสัมพันธ์ระหว่างชายกับชายอย่างเปิดเผยทั้งสิ้น เพราะกิจกรรมทางเพศได้ถูกเชื่อมโยงเข้ากับกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้และความเป็นชายให้แก่กันและกัน ผ่านรูปแบบการสอนสั่งเหมือนศิษย์-อาจารย์ ที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่าระบบ ‘เปเรดัสตี (Pederasty)’
คำว่า ‘เปเรดัสตี (Pederasty)’ มีความหมายว่า ‘ผู้รักเด็กชาย’ เป็นระบบที่ได้รับการยอมรับให้ปฏิบัติได้อย่างชอบธรรมในกรุงเอเธนส์ มาตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาล โดยอนุญาตให้ชายหนุ่มอายุระหว่าง 20 - 40 ปี สามารถจับคู่มีความสัมพันธ์กับเด็กชายอายุ 12 -18 ปีได้ เพื่อคอยให้คำปรึกษา ถ่ายทอดความรู้ และแนะนำวิธีการดำเนินชีวิตในทุก ๆ ด้าน รวมถึงเรื่องเพศด้วย
ในระบบนี้ คนที่เป็นผู้ใหญ่กว่า จะถูกนับให้เป็นฝ่ายมอบความรัก และถูกเรียกว่า ‘อีราสเตส (Erastes)’ ส่วนเด็กชายที่เป็นฝ่ายถูกให้ความรัก จะเรียกว่า ‘อีโรเมนอส (Eromenos)’ และในอนาคต เมื่อฝ่ายอีโรเมนอสเติบโตขึ้นจนก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ พวกเขาก็สามารถเปลี่ยนบทบาทตัวเองไปเป็นอีราสเตสและรับเด็กชายมาเลี้ยงดูเป็นอีโรเมนอสของตัวเองได้เช่นกัน
ส่วนเหตุผลที่พวกเขาจับคู่กันแบบนี้ เพราะชาวกรีกโบราณมีความเชื่อว่า ความเป็นชายสามารถส่งต่อได้ผ่านอวัยวะเพศและอสุจิ การสอนเรื่องเพศสัมพันธ์และมีกิจกรรมทางเพศร่วมกัน (ไม่จำเป็นต้องสอดใส่) จะสามารถส่งต่อความเป็นชายจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างแท้จริง และหลังจากผ่านระบบนี้ไปแล้ว พวกเขาก็ยังต้องแต่งงานมีลูกสืบสกุลตามปกติต่อไป และไม่ว่าจะมีความสัมพันธ์ใดก็ตาม ความสัมพันธ์เหล่านั้นจะต้องไม่ขัดขวางการมีทายาทสืบสกุล
ในทางตรงกันข้าม ความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิงกลับไม่สามารถกระทำอย่างเปิดเผยแบบผู้ชายได้ และยังไม่มีกฎเกณฑ์หรือจารีตทางสังคมมารองรับการร่วมเพศกันอย่างอิสระแบบเพศชายอีกด้วย ดังนั้นการค้นหาเรื่องราวความรักระหว่างผู้หญิงด้วยกันของคนในยุคนี้ จึงเป็นเรื่องท้าทาย และเป็นหัวข้อหลักที่เราจะพาทุกคนไปสำรวจเรื่องราวของพวกเธอพร้อม ๆ กันในบทความนี้ เพราะถึงแม้ว่าความรักระหว่างหญิง-หญิงจะทำได้ยากเพียงใด แต่ยุคสมัยนี้ก็ยังเป็นต้นกำเนิดของคำว่า ‘เลสเบี้ยน’ กับยอดนักกวีหญิงผู้กล้าแหวกขนบอย่าง ‘แซฟโฟ’
แต่ก่อนที่เราจะไปรู้จักเรื่องราวของเธอ เราอยากขยายความเพิ่มเติมก่อนว่า เพราะอะไรเพศหญิงในสมัยกรีกโบราณถึงไม่สามารถมีความสัมพันธ์ทางเพศได้อิสระเท่ากับเพศชาย คำตอบก็คือ พวกเธอถูกจำกัดบทบาทให้มีอำนาจอยู่ภายในรั้วบ้านเท่านั้นนั่นเอง
ดังที่หลายคนน่าจะทราบกันดีว่า สมัยกรีกโบราณเป็นจุดเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตย และมีระบบการเมืองที่ ‘Citizen’ หรือ ‘พลเมือง’ ทุกคนมีสิทธิ์โหวตและมีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ทางการเมือง เพื่อบริหารอาณาจักรให้มีความก้าวหน้า ทว่าคำว่า ‘Citizen’ ในที่นี้ กลับนับรวมเฉพาะเพศชายเท่านั้น ส่วนเด็ก ผู้หญิง และทาส จะไม่ถูกนับรวมในสมการนี้ และไม่มีสิทธิ์มีเสียงใด ๆ ในสภาการเมือง หรือการโหวตทั้งสิ้น
กล่าวคือ ในวัยเด็กพวกเธอจะต้องอยู่ภายใต้การปกครองของพ่อ เมื่อเข้าสู่วัยแต่งงาน พวกเธอจะต้องแต่งงานกับสามีที่มีอายุมากกว่าอย่างน้อย 10 ปี และจำเป็นต้องให้กำเนิดทายาทเพศชายให้ได้ เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับวงศ์ตระกูลของสามีและตัวเธอเองด้วย ส่วนเรื่องเสรีภาพทางเพศในการมีคนอื่นนอกเหนือจากสามี ถือว่าไม่มีสิทธิ์ (ส่วนเพศชายสามารถมีได้) เพราะถ้าถูกจับได้ว่ามีชู้ เธอจะต้องหย่าขาดจากสามี ส่วนชู้ก็จะถูกสังหารได้อย่างชอบธรรมทันทีตามกฎหมาย
สิทธิของสตรีในยุคนั้น จึงแตกต่างจากเพศชายที่สามารถเลี้ยงดูอีโรเมนอสและสามารถมีนางบำเรอได้หลายคน ตราบใดที่ความสัมพันธ์เหล่านั้นไม่กระทบต่อการมีบุตรสืบทอดตระกูล ด้วยเหตุนี้ ผู้หญิงจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเดินตามขนบที่มี หากในระหว่างนั้นพวกเธอแอบมีความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันจริง ก็คงไม่สามารถเปิดเผยออกมาได้อย่างอิสระ
อย่างไรก็ตาม ‘แซฟโฟ’ ตัวเอกของพวกเราในบทความนี้ คือตัวอย่างของผู้หญิงที่ไม่จำกัดตัวเองให้อยู่ในกรอบที่ว่ามา อย่างน้อย ๆ เธอก็กล้าที่จะลงมือทำในสิ่งที่แปลกแยกออกไปจากเดิม และเหตุผลที่เธอสามารถฝืนชะตาได้ ก็อาจจะเป็นเพราะมีโอกาสได้เติบโตขึ้นมาในครอบครัวชนชั้นสูง และได้รับการศึกษา จึงมีทางเลือกมากกว่าคนอื่น ๆ
ตามข้อมูลที่หลงเหลืออยู่พบว่า แซฟโฟเกิดและเติบโตขึ้นมาในครอบครัวชนชั้นสูง และอาศัยอยู่ในเกาะเลสบอส (Lesbos) เมื่อประมาณ 620 ปีก่อนคริสตกาล ครอบครัวของเธอประกอบธุรกิจค้าไวน์ และยังมีพี่น้องร่วมสายเลือดอีก 3 คน โดยเธอมีชื่อเสียงในฐานะของยอดนักวีที่แต่งเนื้อหาแบบ ‘Lyric Poetry’ หรือบทกวีที่เน้นพรรณนาถึงเรื่องราวความรักอย่างลึกซึ้งกินใจ นอกจากนี้เธอยังทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนหนังสือและวรรณกรรมให้กับเด็กผู้หญิงที่ยังไม่ออกเรือนในเกาะเลสบอสด้วย
ส่วนเหตุผลที่เธอถูกสันนิษฐานว่านิยมชมชอบในสตรีด้วยกัน ก็มาจากการที่นักประวัติศาตร์วรรณกรรม และนักวิชาการทั้งหลาย ตีความเนื้อหาในบทกวีของเธอว่า น่าจะเป็นบทกวีที่สื่อถึงความรักระหว่างเธอกับหญิงสาวคนหนึ่ง โดยจะโฟกัสไปที่เรื่องความงามของสตรี ชีวิตประจำวันของสาว ๆ และการแสดงออกถึงความรักที่เธอมีให้กับพวกนาง เช่น ในบทกวี ‘Ode to Aphrodite’ เธอก็ได้เล่าถึงเรื่องราวของหญิงสาวนางหนึ่ง ผู้กำลังอ้อนวอนขอพรต่อเทพีอโฟรไดท์ เพื่อให้พระนางช่วยดลบันดาลให้เธอสมหวังในความรักกับหญิงสาวที่เธอหลงใหล โดยมีท่อนหนึ่งในบทกวีเขียนไว้ว่า
“She that fain would fly, she shall quickly follow, She that now rejects, yet with gifts shall woo thee, She that heeds thee not, soon shall love to madness, Love thee, the loth one!”
“เธอผู้ยินดีจะโบยบิน เธอจะเร่งรีบตามไป เธอคนนั้นจะปฏิเสธในทันใด แต่ด้วยของกำนัลนั้นไซร้จะเกี้ยวพาราสีเธอ เธอผู้ไม่เชื่อฟังใคร ในไม่ช้าจะคลั่งรัก รักเธอ อย่างไม่อาจขืน!”
บทกวีนี้ ทำให้เหล่านักวิชาการมองว่าน่าจะเป็นการบรรยายถึงความรักระหว่างหญิง - หญิงของแซฟโฟ ทว่าก็ยังมีความคิดเห็นอีกหลายกระแสที่เห็นต่างออกไป เพราะสามารถตีความไปในทางอื่นได้ด้วย และบางคนก็สันนิษฐานว่า ‘แซฟโฟ’ ไม่ได้ชอบผู้หญิงเพียงอย่างเดียว กับผู้ชายเองเธอก็ชอบเช่นกัน อีกทั้งยังอาจจะเคยถึงขั้นแต่งงานกับผู้ชายด้วย (เพราะเป็นเรื่องยากที่ผู้หญิงในยุคนั้นจะหลีกหนีการแต่งงานได้ ) ดังนั้นนอกจากตัวแทนของการเป็นหญิงรักหญิงแล้ว เธอก็ยังเป็นหนึ่งในไอคอนของไบเซ็กชวลด้วยเช่นกัน
ด้วยความคลุมเครือของบทกวีที่แซฟโฟแต่ง บวกกับสถานะทางเพศที่ไม่ชัดเจนของเธอ ส่งผลให้ในช่วงยุคกลางที่ศาสนาคริสต์รุ่งเรือง บทกวีของเธอก็กลายเป็นเรื่องต้องห้ามและได้ถูกทำลายทิ้งไปเกือบหมด จนปัจจุบันหลงเหลือฉบับสมบูรณ์อยู่เพียงไม่กี่ชิ้นเท่านั้น ทำให้บทกวีส่วนใหญ่ของเธอที่เราได้รู้จักกันในทุกวันนี้ เป็นฉบับคัดลอกที่นักกวีคนอื่น ๆ อ้างอิงมาแต่งเป็นแรงบันดาลใจ
สำหรับการใช้คำว่า ‘เลสเบี้ยน’ และ ‘แซฟฟิค’ เพื่อสื่อถึงความรักระหว่างหญิง-หญิง ที่แพร่หลายมาถึงปัจจุบัน ไม่ได้ถูกนิยามขึ้นมาในยุคสมัยของแซฟโฟ เพราะเดิมทีคนในยุคนั้นจะใช้คำว่า ‘เลสเบี้ยน’ เพื่อสื่อถึงหญิงที่มาจากเกาะเลสบอส หรือไม่ก็สื่อถึงชื่อไวน์ และยังมีความหมายสื่อถึงโสเภณีได้ด้วย เนื่องจากเกาะเลสบอสเป็นแหล่งค้ากามเลื่องชื่อในยุคนั้น จนกระทั่งช่วงศตวรรษที่ 19 เมื่อเรื่องราวและบทกวีของ ‘แซฟโฟ’ เริ่มโด่งดังในหมู่ศิลปินและนักคิดนักเขียนมากขึ้น คำว่า ‘เลสเบี้ยน’ ก็เริ่มถูกใช้ในความหมายอื่น
ดังที่ปรากฏในช่วงปี 1870 คำว่า ‘Lesbianism’ ได้ถูกใช้เพื่ออธิบายถึงเรื่องราวอีโรติก ความรัก และกิจกรรมทางเพศระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิงแล้ว รวมไปถึงในวงการวรรณกรรมเองก็มีการใช้คำนี้เพื่ออธิบายถึงรูปแบบความรักระหว่างหญิงสาวเช่นกัน อย่างในงานเขียนของ จอร์จ ไซน์สบิวรี่ (George Saintsbury) นักวิจารณ์และนักประวัติศาสตร์วรรณกรรมชื่อดังผู้มีอิทธิพลในยุคนั้น ก็ได้วิเคราะห์ถึงสองบทกวีของ ชาร์ล โบดแลร์ (Charles Baudelaire) เรื่อง ‘the passion of Delphine’ และ ‘Lesbos’ ว่าอยู่ในหมวดของ ‘Lesbian studies’
หรือในช่วงปี 1890 วงการแพทย์ก็ได้นำเอาคำคำนี้มานิยามถึงความสัมพันธ์ และท่าทางระหว่างประกอบกิจกรรมทางเพศของผู้หญิงด้วยเหมือนกัน และนอกจากคำว่า ‘Lesbian’ แล้ว อีกหนึ่งคำที่ถูกใช้เพื่อสื่อถึงความสัมพันธ์ประเภทนี้ ก็คือ ‘แซฟฟิค (Shapphic)’ ที่แปลงมาจากชื่อของ ‘แซฟโฟ’ จนกระทั่งช่วงศตวรรษที่ 20 ทั้งสองคำนี้ก็ถูกใช้เป็นวงกว้าง มาจนถึงปัจจุบัน
นอกเหนือจากวงการแพทย์และวรรณกรรม อีกหนึ่งวงการที่ช่วยผลักดันให้คำว่าเลสเบี้ยนถูกใช้อย่างแพร่หลาย ก็คือวงการศิลปะ ซึ่งภาพเกี่ยวกับเรื่องราวของแซฟโฟที่ได้รับการพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง คือผลงานของไซเมียน โซโลมอน (Simeon Solomon) ศิลปินคนสำคัญแห่งยุค Pre-Raphaelites เพราะภาพที่เขาวาดได้สะท้อนถึงชีวิตและความเจ็บปวดจากการเป็นคนรักเพศเดียวกันของเขาออกมาด้วย
ภาพที่เขาวาดขึ้น ชื่อว่า ‘Sappho and Erinna in a Garden at Mytilene’ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากบทกวีของแซฟโฟ ที่เล่าถึงหญิงสาวคนหนึ่ง (ตัวนางเอง) ผู้อ้อนวอนขอพรต่อเทพีอโฟรไดท์ ให้ช่วยดลบันดาลความรักระหว่างเธอกับหญิงสาวที่เธอรักให้สมหวัง โดยศิลปินได้จินตนาการฉากนี้ขึ้นมาและแทนที่หญิงสาวทั้งสองคนเป็นแซฟโฟกับอิรินา ในท่าทางของการโอบกอดแนบชิด พร้อมจุมพิตอันแผ่วเบา
ซึ่งคนก็พากันสันนิษฐานว่า การวาดฉากนี้ขึ้นมาเพราะโซโลมอนต้องการเติมเต็มความปราถนาที่ไม่สามารถแสดงออกมาในชีวิตจริงได้ อย่างฉากการจูบแก้มที่ปรากฏในภาพ ก็เหมือนศิลปินกำลังต้องการนำเสนอว่า ความรักของทั้งคู่ไม่ใช่เรื่องแปลก สามารถแสดงออกได้อย่างเปิดเผย ต่างจากตัวเขา และเรื่องราวก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ เพราะทันทีที่เขาถูกจับได้ว่าชอบเพศเดียวกัน เขาก็ถูกคุมขังในข้อหารักร่วมเพศ เมื่อออกจากคุกมาได้ ก็ถูกทุกคนตัดขาด และต้องจบชีวิตอย่างโดดเดี่ยวริมถนน
พอเห็นชะตากรรมของโซโลมอนที่จบลงแบบนั้น ก็ยังสอดคล้องกับบั้นปลายของแซฟโฟด้วยเช่นกัน เพราะถึงแม้ว่าเราจะไม่อาจทราบถึงวาระสุดท้ายที่แน่ชัดของเธอได้ ว่าสรุปแล้วเธอเลือกฆ่าตัวตาย หรือตายด้วยวิธีการอื่น แต่ผลงานที่หลงเหลืออยู่ของนักวีคนนี้ ก็ทำให้เราเห็นอีกมุมหนึ่งของความรักจากปลายปากกาของสตรี ที่กล้าจะลุกขึ้นมาอยู่เหนือขนบกฎเกณฑ์ และกล้าที่จะปลดปล่อยตัวเองออกมาจากรั้วบ้าน และยังเป็นต้นตำรับ LGBTQ+ ผู้กล้าแสดงออกอย่างกล้าหาญ ท่ามกลางการต่อต้านที่ยากจะเปิดเผย
อ้างอิง
- “ข้อจำกัดและสิทธิเสรีภาพของผัว-เมีย ในสังคมกรีกโบราณ”. ศิลปวัฒนธรรม. 23 มิถุนายน 2566. https://www.silpa-mag.com/history/article_74864.
อัศวัตถามา. 2565. “เปเดรัสตี (Pederasty) ระบบอุปถัมภ์แบบกรีกที่ผู้ชายมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับเด็กหนุ่ม?”. ศิลปวัฒนธรรม. 23 มิถุนายน 2566. https://www.silpa-mag.com/history/article_92718.
Colette Hemingway. 2004. “Women in Classical Greece”. The Met. June 23, 2023. https://www.metmuseum.org/toah/hd/wmna/hd_wmna.htm.
Ioanna Zikakou. 2015. “Lesbos: The Sex Tourism Capital of Ancient Greece”. Greek Reporter. June 23, 2023.https://greekreporter.com/2015/04/26/lesbos-the-sex-tourism-capital-of-ancient-greece/.
Joshua J. Mark. 2021. “Sappho of Lesbos”. World History Encyclopedia. June 23, 2023. https://www.worldhistory.org/Sappho_of_Lesbos/
“Democracy (Ancient Greece)”. National Geographic. June 23, 2023. https://education.nationalgeographic.org/resource/democracy-ancient-greece/.