Eyedropper Fill
“Journey Within You” การเดินทางย้อนกลับไปสำรวจตัวเองของฝุ่นละอองในอวกาศ

Eyedropper Fill “Journey Within You” การเดินทางย้อนกลับไปสำรวจตัวเองของฝุ่นละอองในอวกาศ

Eyedropper Fill “Journey Within You” การเดินทางย้อนกลับไปสำรวจตัวเองของฝุ่นละอองในอวกาศ

ในวันที่สถานการณ์แวดล้อมรอบตัวมีแต่ความสับสนวุ่นวาย สภาวะภายในจิตใจของคนก็เกิดความสับสนและหลงทางไม่ต่างกัน โดยเฉพาะกับเหล่ามนุษย์ Gen Z ที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่กำลังขับเคลื่อนสังคมไปในทิศทางที่มีหลากหลายในทุก ๆ มิติมากยิ่งขึ้น

ครั้งนี้ TK Park อุทยานการเรียนรู้ และกลุ่มนักออกแบบ Multi-Disciplinary Design อย่าง Eyedropper Fill จึงร่วมกันจับมือกันสร้างนิทรรศการออนไลน์ “Journey Within You” ที่ทำให้เราสามารถแวะพักและร่วมย้อนกลับไปสำรวจภายในจิตใจของตัวเองได้ง่าย ๆ จากที่บ้าน เพื่อเป็นการสร้างประสบการณ์รูปแบบใหม่ต้อนรับการกลับมาเปิดให้บริการของ TK Park อีกครั้ง รวมทั้งยังเป็นการแนะนำหนังสือที่เหมาะกับคนในแต่ละกลุ่มที่มีความต้องการแตกต่างกันไป โดยอาศัยความชำนาญในการออกแบบและการผสมผสานศาสตร์หลายสื่อหลายแขนงของ Eyedropper Fill มาสร้างประสบการณ์และการตระหนักรู้บางอย่างให้กับผู้เข้าร่วม

ด้วยความเชี่ยวชาญในการผสมผสานศาสตร์แห่งการรับรู้ของมนุษย์ทั้ง 5 ประสาทสัมผัส ที่ผ่านมาเราจึงมักจะคุ้นเคยกับ Eyedropper Fill ในฐานะคนทำงานสร้างสรรค์ที่ลงไปแตะงานในหลายรูปแบบ ทั้งงานมัลติมีเดีย งานออกแบบสเปซหรืออีเวนต์ งาน Interactive Installation หรือแม้แต่งานภาพยนตร์ แต่งานนิทรรศการออนไลน์ในครั้งนี้ก็ยังมีอีกหลายเรื่องให้พวกเขาต้องเผชิญกับความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นความละเอียดอ่อนของทฤษฎีการสำรวจจิตใจ หรือการทำงานร่วมกับ TK Park เพื่อผสมผสานศาสตร์แห่งการอ่านหนังสือเข้ากับการออกแบบประสบการณ์ในรูปแบบ Interactive

สัปดาห์นี้ GroundControl ถือโอกาสดึงตัว เบสท์-วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย และ นัท-นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล สองหนุ่มผู้ร่วมก่อตั้ง Eyedropper Fill มาร่วมพูดคุยแบ่งปันเรื่องราวของการทำงานในโปรเจกต์นี้ว่าจะมีแนวคิดและกระบวนการเบื้องหลังอย่างไรบ้าง

จุดเริ่มต้นและกระบวนการทำงานของโปรเจกต์ Journey Within You

ก่อนจะออกมาเป็นผลงานนิทรรศการออนไลน์ Journey Within You ในครั้งนี้ ทางทีม Eyedropper Fill ต้องผ่านกระบวนการวางแผนร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในหลายส่วน โดยเฉพาะความท้าทายในการศึกษาหาข้อมูลในส่วนทฤษฎีการสำรวจจิตใจที่มีความละเอียดอ่อนสูง และการผนวกองค์ความรู้และศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อนำเสนอหนังสือที่เหมาะกับคนแต่ละกลุ่มที่มีความคิดและสภาวะทางอารมณ์แตกต่างกันออกไป

นัท-นันทวัฒน์ : ด้วยความที่ TK Park เป็นห้องสมุด ที่กำลังจะกลับมาเปิดให้บริการใหม่หลังจากปิดปรับปรุง ทาง GroundControl แม่งานของเราก็ได้ตั้งโจทย์ขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนและนักอ่านทั่วไปได้กลับมาสานสัมพันธ์กับห้องสมุดแห่งนี้อีกครั้ง เกิดเป็นไอเดียที่จะให้ทุกคนได้ค้นหาหนังสืออะไรที่เหมาะกับตัวเอง รวมทั้งยังเป็นการทำความเข้าใจร่วมกับคนรุ่นใหม่ที่กำลังค้นหาเส้นทางการเรียนรู้ของตัวเอง โดยอาจจะยังหาสิ่งที่ชอบไม่เจอหรือไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหนดี สุดท้ายแล้ว มันเลยกลายเป็นโจทย์ท้าทายให้พวกเราสร้างโปรเจกต์ Journey within You ขึ้นมา ซึ่งศาสตร์ของการที่จำแนกประเภทคนที่เราคุ้นชินก็คงหนีไม่พ้นแบบทดสอบ MBTI หรือ 16 Personalities แต่ทีมเราสนใจทฤษฎีต้นกำเนิดของแบบทดสอบ MBTI อย่าง Cognitive Function ที่ถูกคิดค้นโดยคาร์ล ยุง (Carl Jung) ซึ่งตามความเข้าใจและตีความของทีมงาน มันคือการแบ่งประเภทคนจากกระบวนการคิดและการตัดสินใจ โดยไม่ตัดสินคนว่าเรา ‘เป็น’ คนแบบไหน แต่จะบอกว่าเรา ‘ถนัด’ ใช้การตัดสินใจแบบไหนมากกว่า

เบสท์-วรรจธนภูมิ : เราเลยเลือกที่จะสร้างแบบทดสอบตัวนี้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในการเปิดพื้นที่สำรวจจิตใจอย่างคุณสนัด (ณัฐพงษ์ โสธรวัฒนา จาก Muchimore) มาเป็นเรื่องราวการสร้างตัวตนของฝุ่นละอองในอวกาศที่ผ่านการเดินทางและการตัดสินใจมากมายกว่าจะมาเป็นดวงดาวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผลลัพธ์ที่เป็นดวงดาวทั้ง 16 ดวงก็อ้างอิงมาจากทฤษฎี Cognitive Function และการคำนวณแบบ MBTI แต่เราจะไม่บอกเป็นผลลัพธ์ผ่านตัวอักษร 4 ตัวอย่างที่ทุก ๆ คนคุ้นชินกัน เพราะงานชิ้นนี้ถือเป็นบททดสอบที่วัดการตัดสินใจตามเนื้อเรื่องนี้เท่านั้น ไม่สามารถใช้การตอบคำถามครั้งนี้มาวัดว่าใครเป็นคนแบบไหนได้ 100% ซึ่งสุดท้ายแล้ว การยกประสบการณ์ Journey within You ไปไว้ในมือทุก ๆ คนได้ ก็เกิดจากการทำงานร่วมกับ Inside the Sandbox บริษัทของคน Gen Z ที่สร้างประสบการณ์ให้ทุก ๆ คนได้มาร่วมเรียนรู้และเพลิดเพลินกัน ทั้งโปรเจกต์อย่าง ‘Deadline Aways Exists’ และ ‘วิชาชีวิต’ รอบนี้ก็มาร่วมทดลองสร้างนิทรรศการออนไลน์ Journey within You ให้สามารถเล่นได้ผ่าน 2 อุปกรณ์ เพื่อเพิ่มอรรถรสและพัฒนาประสบการณ์ที่ได้จากงานครั้งนี้ให้มากขึ้นด้วย

การค้นหาตัวเองในฐานะคนทำงานสร้างสรรค์

หลังจากได้มองย้อนกลับไปตลอดระยะเวลาหลายปีของการรวมกลุ่มก่อตั้ง การทำงานในฐานะ Eyedropper Fill เองก็อาจจะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการค้นหาตัวเองอยู่เหมือนกัน

เบสท์-วรรจธนภูมิ : เราแบ่งเรื่องนี้เป็น 2 ปัจจัย อย่างแรกคือปัจจัยภายใน จากการเดินทางทำงานในฐานะ Eyedropper Fill มันก็มีงานหลายชิ้นที่เกิดจากความสงสัยเป็นโจทย์ส่วนตัวของเรา โดยที่มันก็เหมือนเป็นการใช้กระบวนการทำงานเป็นการหาคำตอบส่วนตัว ซึ่งผลลัพธ์สุดท้ายของการทำกิจกรรมโครงการ Connext Klongtoey หรือการทำหนังสารคดี School Town King มันก็ทำให้เราเข้าใจทั้งตัวเราเอง เข้าใจโลก และเข้าใจสังคมที่เราอยู่มากขึ้น

และอีกส่วนหนึ่งคือปัจจัยภายนอก เช่น ผลกระทบทางการเมือง หรือแม้แต่โควิด-19 เอง เรารู้สึกว่า แรงเสียดทานภายนอกเหล่านี้ทำให้เราต้องประคับประคองบริษัทให้อยู่รอดไปให้ได้ ทำให้เราจำเป็นจะต้องดึงศักยภาพของตัวเองออกมาอย่างสูงสุดเลยเหมือนกัน เรามองว่า โปรเจกต์นี้ก็เป็นเหมือนกระจกที่สะท้อนกลับออกมาสู่ตัวเราเองไม่ต่างจากคนอื่น ๆ ที่เข้ามาเล่น ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายในหรือปัจจัยภายนอกที่เข้ามาขัดขวางเรา สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดทั้งมวลก็ถือเป็นการหาค้นตัวเองเหมือนกัน มันไม่ใช่เฉพาะ Gen Z แล้ว ในสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะวัยอะไรก็รู้สึกสิ้นหวังไม่ต่างกัน

สำคัญของการค้นหาตัวเอง

ในยุคสมัยที่อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว ผู้คนมากมายสามารถจะมีหรือเป็นอะไรก็ได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว การค้นหาตัวเองจะยังถือเป็นเรื่องสำคัญของมนุษย์อย่างเราอีกต่อไปไหม

เบสท์-วรรจธนภูมิ : เราเชื่อว่า ไม่ว่ามนุษย์บนโลกใบนี้จะทำอะไร มันก็เกิดเป็นผลกระทบต่อกันทั้งหมด ซึ่งโดยพื้นฐานแล้ว มนุษย์มีบางอย่างเชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความโกรธ ความหลงใหล ความเศร้า หรือความอ่อนแอ ดังนั้นการอยู่ร่วมกันของความหลากหลายในสังคมบนโลกใบนี้มันต้องอาศัยความสามารถในการที่เข้าใจถึงความแตกต่างของผู้อื่นโดยไม่ไปตัดสินหรือดูถูกเขา ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของเพศ ค่านิยม ความเชื่อทางการเมือง หรือแม้แต่การทำความเข้าใจคนชายขอบ หรือคนที่อยู่ในความเหลื่อมล้ำของสังคมที่มีเส้นแบ่งอยู่เต็มไปหมด เราเลยมักจะตั้งคำถามว่า เราจะอยู่ร่วมกันได้ยังไงโดยไม่ทิ้งเขาไว้ข้างหลัง ซึ่งการที่เราจะเข้าใจเขา อย่างแรกเลย เราก็ต้องเข้าใจตัวเองก่อนว่าเราเป็นแบบนี้เพราะอะไร เรารู้สึกแบบนี้เพราะอะไร สิ่งนี้มันจะทำให้เราสามารถเข้าใจและเชื่อมโยงกับผู้อื่นได้มากขึ้น พูดง่าย ๆ ว่า ความเข้าใจซึ่งกันและกันมันต้องเริ่มต้นจากตัวเราเองก่อน แล้วถึงจะไปสู่การเข้าใจผู้อื่นอย่างแท้จริง เรามองว่า มันควรจะทำควบคู่ไปพร้อม ๆ กัน

นัท-นันทวัฒน์ : การค้นหาตัวเองเป็นภารกิจของคน ๆ หนึ่ง แล้วตอนนี้ที่โลกมันเกิดสิ่งใหม่ขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คนเราไม่สามารถจะดึงทัศนคติแบบเดิมที่เคยมีตั้งแต่เด็กมาใช้ได้ตลอดไป เพราะตอนนี้ที่มันมีอะไรใหม่ที่เราควรเข้าใจอีกเยอะมาก แล้วการที่เราจะเข้าใจสิ่งเหล่านั้น เราต้องเข้าใจตนเองก่อนว่า เราชอบสิ่งนั้นไหม และรู้สึกยังไงกับมัน โอกาสต่าง ๆ มันเกิดขึ้นได้ก็เพราะว่าเรามองเห็นถึงความแตกต่าง มันจึงเกิดการพัฒนาต่อให้ดียิ่งขึ้น แต่ถ้าเราไม่เข้าใจความแตกต่าง เราก็จะไม่ได้เอาตัวเราลงไปอยู่ในความแตกต่างนั้นจนกลายเป็นช่วงวัยที่หลงทาง ซึ่งตรงนี้เองก็เลยทำให้เราคิดว่า การค้นหาตัวเองมันสำคัญจนถือเป็นภารกิจหนึ่งที่ทุกคนต้องทำ ไม่ใช่แค่เฉพาะแค่วัยรุ่นเท่านั้น

เครื่องมือที่มีส่วนช่วยจุดประกายใจ

ถึงในโปรเจกต์ครั้งนี้ พวกเขาจะทำงานในฐานะนักออกแบบประสบการณ์ แต่ทั้งคู่ก็ไม่เชื่อว่า คนเราจะสามารถรู้จักตัวเองได้จากการตอบแบบทดสอบเพียงไม่กี่ข้อเท่านั้น

เบสท์-วรรจธนภูมิ : เรามองว่า มนุษย์เรามันมีความลื่นไหลตลอดเวลา ดังนั้นเราไม่สามารถที่จะรู้จักตัวเองได้ทั้งหมดจากการตอบแบบทดสอบเพียงแค่ไม่กี่คำถาม แต่สุดท้ายแล้ว การที่มนุษย์คนหนึ่งได้มีประสบการณ์พิเศษใหม่ ๆ ที่อาจจะไม่ค่อยได้พบเจอในชีวิตประจำวัน แล้วประสบการณ์นี้มันเข้าไปฝังอยู่ในความทรงจำของเขา เราว่าตรงจุดนี้มันสำคัญ เพราะบางคนเขาไม่เคยมีแม้แต่เวลาที่จะได้นั่งคุยกับตัวเองเลยด้วยซ้ำ ซึ่งการมอบประสบการณ์ตรงนี้ให้เขา ตัวเราเองก็ไม่รู้ว่าหลังจากนั้นเขาจะไปจัดการทำยังไงกับชีวิตเขาต่อเหมือนกัน แต่เราคิดว่า สิ่งที่งานนี้พอจะมอบให้เขาได้คือการทำหน้าที่เป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีส่วนช่วยจุดประกายใจ เป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ให้เขาพบเจอกับเส้นทางที่เหมาะกับเขามากขึ้นมากกว่า

เพราะการทำความเข้าใจตัวเองคือภารกิจของคนทุกช่วงวัย

แม้ว่าโจทย์ตั้งต้นของนิทรรศออนไลน์ Journey Within You ในครั้งนี้จะมีกลุ่มเป้าหมายเป็นคน Gen Z แต่บุคคลในช่วงวัยอื่น ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งสมการของสังคมที่ไม่ควรมองข้าม แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว การเริ่มออกค้นหาตัวตนในวัยผู้ใหญ่จะถือว่าเป็นเรื่องที่สายเกินไปไหม

นัท-นันทวัฒน์ : การทำความเข้าใจตัวเองมันถือเป็นภารกิจของคนทุกช่วงวัยอยู่แล้ว ยิ่งตอนนี้ที่มีประเด็นเรื่องความหมางกันระหว่างผู้ใหญ่ที่ไม่เข้าใจเด็ก หรือเด็กที่ไม่เข้าใจผู้ใหญ่ เรามองว่า มันสามารถที่จะแก้ปัญหาด้วยการค้นหาหรือสังเกตตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก มันจำเป็นต้องทำสิ่งนี้ไม่อย่างนั้นคนที่ไม่เข้าใจตัวเองก็จะกลายมันเป็นรั้วที่ไม่เปิดรับที่จะเข้าใจใครเลย ดังนั้น เมล็ดพันธุ์ของความเข้าใจมันเลยต้องเริ่มต้นที่การเข้าใจตัวเองก่อน

เบสท์-วรรจธนภูมิ : เราคิดว่ามันไม่สายเกินไปหรอก อย่างเราสนิทกับแม่มาก เราก็จะพยายามมองไปในมุมของเขาตลอดว่าตอนนี้เขาเป็นยังไง รู้สึกอะไรอยู่ มันไม่มีอะไรที่จำเป็นจะต้องถูกตัดทิ้งหรือเอาออกไปเพียงเพราะเป็นเรื่องของอายุ แต่เรากลับต้องหาทางคุยเพื่อเชื่อมโยงกันระหว่างช่วงวัยมากกว่า ซึ่งถึงแม้ว่ากระแสของคนรุ่นใหม่จะมาแรงมากในยุคปัจจุบัน แต่บางครั้งมันก็อาจทำให้ผู้ใหญ่บางคนรู้สึกว่าเขากำลังโดนทอดทิ้งไปอยู่เหมือนกัน ซึ่งความจริงแล้ว คนแต่ละเจนฯ ก็มีอาวุธที่แข็งแรงของตัวเองอยู่ในมือ มันจะดีมากถ้าทั้งสองฝั่งสามารถเปิดกว้างที่จะเรียนรู้เข้าใจตนเอง และพยายามเข้าใจฝ่ายตรงข้ามด้วย แล้วความพยายามเข้าใจตรงนี้เอง มันก็จะทำให้เรารู้วิธีที่อยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งเรามองว่า สำหรับผู้ใหญ่เอง มันไม่ถือว่าสายเกินไปหรอกที่เขาจะเข้ามานั่งทำความเข้าใจในส่วนนี้

การเข้าใจตัวเองคือจุดเริ่มต้นของความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

บางครั้ง การย้อนกลับมาพูดคุยและสำรวจตัวเองอาจไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่เป็นช่องทางสื่อสารเพื่อเข้าใจตัวเราเองเท่านั้น แต่มันอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าใจคนอื่นในสังคม และการเรียนรู้ที่จะเคารพถึงความหลากหลายด้วย

เบสท์-วรรจธนภูมิ : เราค้นพบว่าการเข้าใจตนเองมันสำคัญมาก ๆ คือไม่ว่าจะเป็นวัยไหน แต่มนุษย์มันมีอะไรบางอย่างร่วมกันอยู่ ซึ่งพอเราไม่หนีความเศร้า ความโกรธ หรือความห่วยแตกของตนเอง และเริ่มเข้าใจตัวเองในส่วนนี้มากขึ้น มันกลับสามารถมองทะลุเข้าไปในสภาวะความรู้สึกของคนอื่น และหาวิธีที่จะจัดการหรือสื่อสารเชื่อมโยงตัวเรากับเขาได้ดีขึ้น ซึ่งสิ่งนี้เองก็ทำให้เราเกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจกับบุคคลอื่นในสังคมได้มากขึ้น นึกภาพว่า ถ้าเราพยายามทำความเข้าใจทั้งกับตัวเองและคนอื่นในสังคมร่วมกันไปทั้งคู่ มันจะทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกันด้วยความหลากหลายและสื่อสารกันได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งจริง ๆ แล้วชื่อโปรเจกต์ Journey within You ในที่นี้เอง คำว่า ‘You’ ก็เป็นได้ทั้งตัวเราและคนอื่นในสังคมเช่นกัน

ประสบการณ์แห่งความเพลิดเพลินที่ได้แวะพักสำรวจตัวเองอย่างไม่เร่งรีบ

สิ่งที่จะได้กลับไปจากการร่วมกิจกรรมการเดินทางสำรวจตัวเองกับ Journey Within You ในครั้งนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ประสบการณ์แห่งความเพลิดเพลินเท่านั้น แต่ยังเป็นการแวะพักอารมณ์จากความวุ่นวาย และได้หยุดนิ่งตั้งคำถามกับตัวเองอย่างไม่รีบร้อนด้วย นอกจากนั้น หลังเราออกเดินทางเสร็จสิ้นแล้ว ทุกคนก็ยังจะได้ลิสต์หนังสือที่เหมาะสมกับความต้องการในแต่ละรูปแบบกลับไปด้วย ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นดวงดาวหรือกลุ่มดาวแบบไหนก็จะมีลิสต์หนังสือที่ถูกคัดสรรมาให้ตามลักษณะดาวนั้น ๆ โดยเฉพาะ

นัท-นันทวัฒน์ : จุดมุ่งหมายของงานของเราก็คืออยากให้ทุก ๆ คนได้มีเวลาเล็ก ๆ น้อย ๆ ในหนึ่งวันที่จะได้สำรวจตัวเองและตัดสินใจอย่างช้า ๆ ไม่เร่งรีบ เหมือนได้เข้าไปนั่งดูหนังเรื่องหนึ่งที่เราเป็นคนกำกับและตัดสินตอนจบเอง โดยสิ่งที่เราตัดสินใจไปก็จะเป็นตัวบอกเองว่าเรามีสภาวะอารมณ์หรือวิธีคิดประมาณไหน ซึ่งพอเล่นจบแล้ว ทุกคนก็ยังจะได้รับลิสต์หนังสือควรอ่านที่เหมาะกับสภาวะอารมณ์ขณะนั้นของแต่ละคน โดยทุกคนสามารถเข้าไปค้นหาและทำความรู้จักหนังสือในลิสต์เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของ TK Park อีกด้วย เรียกได้ว่า ครบวงจรประสบการณ์เลย

เบสท์-วรรจธนภูมิ : พวกเราอยากเชิญชวนทุกคนมาลองใช้การเดินทางครั้งนี้เพื่อสำรวจตัวเองและตรึกตรองการตัดสินใจอย่างไม่เร่งรีบ รวมถึงได้รู้สึกเพลิดเพลินไปกับแสง สี เสียงที่เราตั้งใจออกแบบให้เหมือนกับยกงานนิทรรศการนี้ไปไว้ที่บ้านของทุกคน ซึ่งถ้าใครมีโอกาสได้ร่วมสนุกกับแบบทดสอบนี้แล้วก็สามารถร่วมกันแบ่งปันภาพการเดินทางครั้งนี้มาได้ที่ #JourneyWithinYou

ออกเดินทางสำรวจตัวเองไปพร้อม ๆ กันได้ที่ : journeywithinyou