ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา
จาก 14 ตุลาคม 2516 ถึงปัจจุบัน... สิทธิแรงงานไทยก้าวมาไกลแค่ไหนภายใต้อำนาจของคน 1%

ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา จาก 14 ตุลาคม 2516 ถึงปัจจุบัน... สิทธิแรงงานไทยก้าวมาไกลแค่ไหนภายใต้อำนาจของคน 1%

ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา จาก 14 ตุลาคม 2516 ถึงปัจจุบัน... สิทธิแรงงานไทยก้าวมาไกลแค่ไหนภายใต้อำนาจของคน 1%

สำหรับใครที่เคยติดตามรายการ Self-Quarantour SS2 EP. The Beatles Footsteps อาจจะจดจำชื่อของ อาจารย์ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา ในฐานะไกด์ทัวร์คนพิเศษที่พาเราออกสำรวจเรื่องราวของหนุ่ม ๆ สี่เต่าทองไปพร้อมกับลูกสาว ป่าน-juli baker and summer แต่นอกจากจะเป็นแฟนเพลงตัวยงของ The Beatles แล้ว อีกด้านหนึ่ง อาจารย์ศักดินายังเป็นอาจารย์และนักวิชาการอิสระที่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานมาตลอดหลายสิบปี อีกทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย พิพิธภัณฑ์แห่งแรกในประเทศไทยที่รวบรวมข้อมูลและบอกเล่าเรื่องราวของชนชั้นกรรมาชีพไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ในที่เดียว

อย่างไรก็ดี เมื่อมองย้อนกลับไปก็จะพบว่า อาจารย์ศักดินาในอดีตไม่เคยตั้งใจจะเดินในสายวิชาการมาตั้งแต่แรก (แถมยังเคยใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักดนตรีอาชีพเสียด้วยซ้ำ) แต่เป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 วันสำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงตัวตนและความเชื่อในเสียงของประชาชนคนส่วนใหญ่ของอาจารย์ศักดินาไปตลอดกาล

ในวาระครบรอบ 48 ปี 14 ตุลาคม 2516 วันมหาวิปโยคที่เป็นเหมือนตัวแทนชัยชนะบนคราบเลือดของประชาชนในยุคแห่งการเรียกร้องประชาธิปไตยและความเสมอภาคทางชนชั้นที่กำลังเรืองรอง GroundControl สัปดาห์นี้จึงชวนอาจารย์ศักดินามาร่วมพูดคุยถึงประเด็นการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนคนส่วนใหญ่ 99% ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิจากกลุ่มคน 1% ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่มีมากกว่าแค่ข้อเรียกร้องทางการเมือง แต่ยังรวมไปถึงสิทธิแรงงานและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

14 ตุลาฯ จุดเปลี่ยนชีวิตสู่ขบวนการเรียกร้องเพื่อสิทธิแรงงาน

ด้วยพื้นเพที่เกิดมาในครอบครัวศิลปินที่ค่อนข้างใกล้ชิดกับวงการภาพยนตร์และสื่อบันเทิงมาโดยตลอด ทำให้อาจารย์ศักดินาในวัยเด็กไม่เคยคิดจะเข้ามาเดินบนถนนสายวิชาการแบบในปัจจุบันเลยแม้แต่น้อย แต่กลับใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักดนตรีอาชีพจนถึงขั้นเคยคิดจะขอลาออกจากโรงเรียนเพื่อออกไปทำดนตรีจริงจัง แต่วันหนึ่งจุดเปลี่ยนของชีวิตก็มาถึง เมื่ออาจารย์ได้เข้าไปร่วมชุมนุมในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ที่หลาย ๆ คนเรียกว่าเป็น ‘วันมหาวิปโยค’ ของหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ไม่อาจลืมเลือน

อาจารย์ศักดินา: “จุดเปลี่ยนของผมคือการได้มีโอกาสเข้าร่วมเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ตอนนั้นผมยังเป็นนักเรียนอยู่ ช่วงนั้นที่โรงเรียนเขาเดินไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กันทั้งโรงเรียนเลย แล้วหลังจากนั้นผมกับเพื่อนติดใจก็เลยไปธรรมศาสตร์กันเรื่อย ๆ ตอนวันที่ 13 เราก็ไปค้างคืนกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งช่วงกลางคืนเขาก็เดินออกมาอยู่ถนนราชดำเนิน ตัวผมก็ไปอยู่หน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลผ่านฟ้าฯ กับเพื่อนอีก 2 คน แล้วมันมีช่วงหนึ่งตอนเช้ามืดที่ผมไปทานข้าว พอกลับมาก็ไม่เจอเพื่อน เกิดพลัดหลงกันตอนนั้น ซึ่งตอนที่ผมออกมานี่เข้าใจว่ายังไม่เจอจุดปะทะ แต่ว่าเพื่อนเขายังอยู่ต่อ โดยที่ผมมาทราบทีหลังว่า เขาเสียชีวิตตอนประมาณเที่ยง ๆ ของวันที่ 14 หลังเหตุการณ์นั้น มันก็เลยเป็นจุดพลิกผันที่ทำให้ผมหันมาสนใจเรื่องการเมือง เพราะว่ามันดึงเราเข้าไปสนใจ และเราก็เข้าไปมีส่วนร่วมในเหตุการณ์โดยตรงด้วย

หลังจากนั้นผมก็หันมาสนใจเรื่องการเมืองอย่างจริงจังมากขึ้น ผมเริ่มไปร่วมกับการเคลื่อนไหวของนักศึกษาช่วงหลัง 14 ตุลาคม ซึ่งประเด็นที่นักศึกษาในตอนนั้นสนใจก็คือปัญหาของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ตอนนั้นเรากำลังสนใจแนวความคิดแบบสังคมนิยมที่ว่าด้วยเรื่องของผู้ใช้แรงงานด้วย มันก็เลยกลายเป็นภารกิจหลักที่ทำให้เราหันไปติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหว การชุมนุมของแรงงาน รวมไปถึงการนัดหยุดงานของคนงานในหลาย ๆ โรงงานด้วย ในเวลานั้นเราคิดว่า เราสนใจประเด็นประชาธิปไตยที่ว่าด้วยเรื่องของคนส่วนใหญ่ ถ้าจะให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย เราต้องทำให้คนงานที่เป็นคนส่วนใหญ่เขามีสิทธิ์มีเสียงก่อน แต่ถ้าผู้ใช้แรงงานไม่มีสิทธิ์ ไม่มีเสียง มันก็ยากที่จะไปถึงจุดที่จะสร้างประชาธิปไตยได้ และประเทศประชาธิปไตยในโลกส่วนใหญ่ก็เป็นประเทศที่เขามีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง ถ้าเราไปดูในแถบยุโรปโดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบประเทศสแกนดิเนเวียทั้งหลาย สหภาพแรงงานเขาเข้มแข็งมาก มีคนเป็นสมาชิกสหภาพในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงมาก แล้วสิ่งที่ตามมาคือบ้านเมืองที่เป็นประชาธิปไตย แล้วมันก็มีความยุติธรรมและความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ซึ่งหลายประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการก็ล้วนแล้วแต่เป็นผลมาจากการเรียกร้องของฝ่ายแรงงาน โดยมีสหภาพแรงงานช่วยผลักดันมันถึงเกิดขึ้นจริง”

มายาคติที่มาพร้อมกับคำว่า ‘แรงงาน’

แม้จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในหลาย ๆ ครั้งที่คำว่า ‘แรงงาน’ กลับมักมาคู่กับทัศนคติในแง่ลบที่พร้อมจะผลักไสให้คนกลุ่มนี้ออกไปจากขบวน แต่แท้จริงแล้ว ใครบ้างที่ถือว่าเป็นแรงงาน? และคนกลุ่มนี้ ‘ต่ำ’ จริงหรือ?

อาจารย์ศักดินา: “ในภาษาอังกฤษมันมีคำว่า ‘Worker’, ‘Labor’ และ ‘Employee’ ทั้ง 3 คำนี้สามารถพูดถึงคนที่ทำงานทั่ว ๆ ไป แต่ว่าในบ้านเรานั้นมันมีคำที่หลากหลายมาก มีทั้งคำว่า ‘กรรมกร’, ‘ผู้ใช้แรงงาน’, ‘พนักงาน’, ‘ลูกจ้าง’ มีอยู่หลายคำ แล้วคนก็ให้ความหมายกับแต่ละคำแตกต่างกัน โดยคำเหล่านั้นมันจะแยกคนออกเป็นส่วน ๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเราจะใช้คำว่าลูกจ้างในกฎหมายแรงงาน แต่ปัญหาคือคำว่าลูกจ้างและนายจ้างมันสะท้อนถึงความไม่เท่ากัน มันมีสถานะที่แตกต่างกันด้วยคำที่กดทับอยู่ อย่างบ้านเราก็จะชอบมองคนที่หัวนอนปลายเท้า ถ้าคนมีหัวนอนปลายเท้าที่ดี เขาก็จะเคารพนับถือ แล้วเนื่องจากว่า ประวัติศาสตร์บ้านเราเขียนด้วยคนส่วนน้อยก็เลยมักจะยกย่องคนชั้นสูง โดยที่ไม่ได้พูดถึงคุณูปการที่คนงานเขาสร้างสรรค์ให้กับสังคมมาโดยตลอด ดังนั้น พอประวัติศาสตร์ไม่ได้ยกย่อง ทุกคนก็ไม่ได้นับถือคนงาน คนงานเองก็ไม่ค่อยภาคภูมิใจในสถานะที่ดูต่ำ ผมมีเพื่อนที่เคยทำงานเป็นกรรมกร แต่ตอนหลังเขามาเป็นดร. และทำงานเป็นผู้อำนวยการในองค์กรที่เยอรมัน เขาสามารถพูดอย่างภาคภูมิใจได้ว่า ผมเป็นกรรมกร แต่ในบ้านเรากลับไม่มีใครภาคภูมิใจที่จะบอกว่าเป็นกรรมกร คำเหล่านี้มันมีปัญหาพอสมควร เราอยากจะทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นพวกเดียวกันด้วยคำว่าแรงงาน แต่คนส่วนใหญ่กลับไม่ได้มองว่าเขาเป็นแรงงาน

มันมีคำ ๆ หนึ่งที่เราค้นพบและพยายามผลักดันก็คือคำว่า ‘คนทำงาน’ ทุกคนเป็นคนทำงาน ใคร ๆ ก็เป็นคนทำงาน คนหลายคนปฏิเสธไม่ใช่กรรมกร คนหลายคนปฏิเสธไม่ใช้แรงงาน แต่ไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่า เขาไม่ใช่คนทำงาน เราล้วนเป็นพวกเดียวกันหมด แม้กระทั่งคนที่ทำงานบ้าน แม่บ้าน คนที่เป็นภรรยาดูแลลูก เขาก็ทำงานเหมือนกัน ถึงไม่ได้มีค่าตอบแทน แต่ถ้าไม่มีเขา สังคมจะอยู่อย่างไร คำนี้เป็นคำที่เราค้นพบว่า มันอาจจะเป็นคำที่จะทำให้ผู้ใช้แรงงานมารวมกันได้ แล้วทำให้มีพลังอำนาจ ที่ผ่านมาเราพบว่า กลุ่มแรงงานที่มีมากถึง 99% และเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศกลับมีอำนาจน้อย เพราะว่าเขาอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย แต่ถ้าเขาสามารถรวมตัวกันได้ เสียงเขาก็จะดัง ความเหลื่อมล้ำมันก็จะมีน้อยลง คนส่วน 1% ก็จะไม่สามารถเอาทรัพย์สินทั้งหมดไปกองเป็นของตัวเองทั้งหมดได้อีก”

จาก 14 ตุลาฯ ถึง 6 ตุลาฯ ยุคทองของภาคประชาชน

แม้จะกินระยะเวลายาวนานไม่กี่ปี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ช่วงระหว่างปี 2516 ถึงปี 2519 ถือว่าเป็นยุคทองของกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานอย่างแท้จริง ในเวลานั้น มีการรวมตัวกันของประชาชนในหลายภาคส่วน ทั้งนักศึกษา กรรมกร และชาวไร่ชาวนา หรือที่รู้จักในนาม ‘ขบวนการสามประสาน’ ที่มาร่วมกันขับเคลื่อนและเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่ใช่เฉพาะกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

อาจารย์ศักดินา: “ถ้าคนที่ติดตามประวัติศาสตร์แรงงานก็ต้องบอกว่า ช่วงระหว่างปี 2516 ถึงปี 2519 ถือว่าเป็นยุคทองของกระบวนการแรงงาน เป็นยุคที่คนทำงานเขามีสิทธิ์มีเสียงมากขึ้น แต่ถามว่ามันได้มาด้วยอะไร ก็ต้องบอกว่าประเทศไทยจริง ๆ มันมีหลายช่วงที่กระบวนการแรงงานเติบโต อาจจะมีช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แล้วก็มีช่วงหลังของสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นช่วงเฟื่องฟูของกระบวนการแรงงาน แต่มันแค่สั้นมาก เพียงแค่ประมาณปีกว่า ๆ ช่วง 2489 - 2490 แล้วเกิดรัฐประหารวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 หลังจากนั้นขบวนการแรงงานก็ถูกปลด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในวันที่ 20 ตุลาคม 2501 เขาก็แบนเลยว่าไม่ให้มีการรวมตัวกัน กฎหมายแรงงานที่เราประกาศใช้ปี 2499 ก็ถูกยกเลิก การรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานกลายเป็นสิ่งเป็นการผิดกฎหมาย ยุคของจอมพลสฤษดิ์ถือเป็นช่วงที่ประเทศเราส่งเสริมการทุน เราเชื่อความคิดแบบเสรีนิยมในระบบตลาดสุดโต่ง ซึ่งความเชื่อแบบนั้นมันก็ไปกดคนงานไม่ให้รวมตัวกัน แล้วเขาเห็นว่า สหภาพแรงงานมันทำให้ตลาดทำงานไม่ได้ เขาก็เลยลิดรอนสิทธิตรงนี้ไป โดยที่ช่วงจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจ ผู้นำแรงงานที่สำคัญหลายคนถูกจับหมด โดยเฉพาะเหล่าปัญญาชนฝั่งซ้ายที่สนับสนุนแรงงานอย่างจิตร ภูมิศักดิ์ก็ถูกคุมขังหมด” .

อาจารย์ศักดินา: “แล้วช่วงเวลาจากปี 2501 เรื่อยมา มันกลายเป็นว่า ประเทศไทยเป็นสวรรค์ของนักลงทุน ส่งเสริมให้สิทธิพิเศษทุกอย่าง กดให้ค่าแรงต่ำ เพื่อให้ธุรกิจได้ประโยชน์สูงสุด และสามารถที่จะเรียกร้องให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนได้ ถือเป็นการเติบโตของอุตสาหกรรมที่กดขี่ เอารัดเอาเปรียบแรงงานมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งปี 2515 รัฐบาลไทยถูกกดดันโดยนานาประเทศอย่างหนัก เพราะมันมีการลิดรอนสิทธิของแรงงานเยอะมาก จนสุดท้ายต้องออกกฎหมายที่ชื่อว่า ‘ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 103’ ที่ยอมรับสิทธิในการรวมตัวของคนงานอีกครั้ง และสามารถจัดตั้งเป็นสมาคมได้ ทำให้ลูกจ้างเริ่มมีการรวมตัวกันใหม่ ซึ่งมันเป็นจังหวะเดียวกับที่ขบวนการนักศึกษากำลังก่อตัวขึ้นในช่วงปี 2513 - 2515 มีคนที่เป็นนักศึกษาสนใจในประเด็นแรงงานเพิ่มมากขึ้น เขาไปจับมือกับแรงงานที่เริ่มรวมตัวกัน โดยที่ในปี 2516 มีการนัดหยุดงานมากถึง 500 กว่าครั้ง ซึ่งถือว่าเยอะมาก เพราะว่าคนถูกกด ถูกเอารัดเอาเปรียบมายาวนาน เมื่อวันหนึ่งเขามีสิทธิ์ที่จะรวมตัวกันได้ แล้วกฎหมายรองรับ เขาก็เลยขึ้นมาต่อสู้เรียกร้อง เป็นกระแสพร้อมๆ กับการเติบโตของกระบวนการประชาธิปไตยที่นำโดยนักศึกษา

แต่ท้ายที่สุดชัยชนะของนักศึกษาและประชาชนในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ก็เหมือนกับเป็นประตูบานใหญ่ ที่เปิดให้ประชาชนได้เข้าถึงสิทธิเสรีภาพในกลุ่มต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะนักศึกษา แต่ว่ารวมไปถึงกรรมกร และชาวไร่ชาวนา หรือที่เราเรียกว่า ‘ขบวนการสามประสาน’ โดยที่เขาไม่ได้สนใจเฉพาะปัญหาของตัวเองแล้ว แต่หันมาให้ความสนใจกับปัญหาส่วนรวมอื่น ๆ ด้วย ซึ่งการที่เขาลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิตรงนี้ก็ทำให้เสียงของคนต่าง ๆ ในสังคมก็เติบโตและดังขึ้น เพราะฉะนั้น ช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 2516 จนถึง 2519 จึงเป็นช่วงของประชาธิปไตยที่เบ่งบาน ในขณะเดียวกันพอถึงปี 2518 ขบวนการฝ่ายขวาเขาก็เริ่มโต้กลับ เขาเริ่มไม่พอใจและไม่สบายใจกับสภาพที่มันจะเปลี่ยนไป เพราะว่าคนส่วนน้อยที่เคยได้ประโยชน์ เขาเริ่มที่จะกังวลแล้วว่า เขาจะสูญเสียประโยชน์ไป เขาจึงต้องหาทางที่จะสกัดกั้นไม่ให้กระบวนการของภาคประชาชนเติบโตขึ้น มันก็เลยนำไปสู่การสร้างขบวนการฝ่ายขวาจัดขึ้นมาภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ ที่จะเอาประเทศไทยไปสู่ระบบเผด็จการที่ปิดหูปิดตาประชาชน ไม่ให้ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงอีกครั้งหนึ่ง โดยที่สิ่งเหล่านี้ก็นำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ด้วย

อาจารย์ศักดินา: “ซึ่งก่อนหน้านั้นมันมีกฎหมายออกมาฉบับหนึ่ง เรียกว่า ‘กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ปี 2518’ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ด้านหนึ่งมันก็รับรองสิทธิในการรวมตัวกัน อนุญาตให้มีสหภาพแรงงาน เจรจาต่อรอง และการนัดหยุดงาน โดยถือเป็นสิ่งที่ทำได้ตามกฎหมายทั้งหมด แต่อีกด้านหนึ่งกฎหมายฉบับนี้ มันได้กีดกันคนออกจากสหภาพจำนวนมาก เพราะในกฎหมายได้กำหนดไว้ว่า ถ้าคนจะมารวมตัวกันจัดตั้งหรือเป็นสมาชิกสหภาพต้องมีสถานะเป็นลูกจ้างเท่านั้น หมายความว่า ต้องเป็นคนที่มีนายจ้าง แล้วก็มารวมตัวกันเป็นสหภาพ โดยอนุญาตให้รวมตัวกันได้เป็น 2 แบบ คือ สหภาพสถานประกอบการ และสหภาพอุตสาหกรรม แต่จริง ๆ แล้วการรวมตัวกันของคนงานเป็นสิทธิเสรีภาพของเขาอยู่แล้ว อนุสัญญาหลักองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 ได้กำหนดว่า เราจะรวมกันอย่างไรก็ได้ เป็นสิทธิของคนทำงาน แต่ว่ากฎหมายนี้ดันไปจำกัดให้รวมกันได้ 2 แบบเท่านั้น

จริง ๆ แล้วก่อนหน้านั้น คนทำงานเขามีการรวมกันในหลากหลายรูปแบบ มันมีสิ่งที่เขาเรียกว่าเป็นสหภาพแรงงานทั่วไป (General Union) ก็คือใครก็ได้ที่เป็นคนทำงานสามารถมารวมกัน เราจึงเห็นองค์กรแบบที่เรียกว่า ‘ศูนย์ประสานงานกรรมกรแห่งชาติ’ ที่มีประธานเป็นคนงานโรงแรมดุสิตอย่างคุณเทิดภูมิ ใจดี แต่มีเลขาธิการของศูนย์คือเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ซึ่งเป็นอดีตผู้นำนักศึกษาในยุคนั้น ทำให้มันมีองค์ประกอบที่หลากหลาย แล้วมันทำให้ขบวนการแรงงานยิ่งใหญ่ แต่ว่าพอกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ขึ้นมา มันกลับพยายามที่จะลิดรอนจำกัดสิทธิคนที่จะเข้าไปสู่ขบวนการแรงงาน แล้วกฎหมายฉบับนี้มันมีผลบังคับจริง ๆ คือหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แล้วรัฐก็เข้มงวดกับกฎหมายฉบับนี้มาก มันทำให้คนจำนวนมากหลุดออกไปจากสหภาพแรงงาน แล้วคนที่ร่วมในสหภาพแรงงานที่เขาต่อสู้ เขาอยากจะเห็นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ก็ถูกปราบปรามในเหตุการณ์ 6 ตุลาคมไปเยอะ จนทำให้คนจำนวนมากต้องเข้าป่า เพราะเขาสิ้นหวังกับการต่อสู้ในวิถีทางในระบอบรัฐสภา ซึ่งมันไม่ใช่เฉพาะนักศึกษา มันมีทั้งชาวไร่ชาวนา และผู้นำแรงงานจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจเข้าป่าด้วย อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ขบวนการแรงงานหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มันแผ่วเบาลง ไม่คึกคักเหมือนเดิม เพราะว่ากฎหมายไปกีดกันคนจำนวนหนึ่งออกไป มีข้อจำกัดมากมายเหลือเกินที่รัฐเข้ามาบีบรัด โดยที่เขาพยายามที่จะทำให้สภาพแรงงานไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แล้วเอาสหภาพแรงงานนี้ไปขังไว้ในรั้วโรงงาน ให้ทำเฉพาะเรื่องข้อเรียกร้อง เจรจา ต่อรองค่าจ้างสวัสดิการเกี่ยวกับแรงงาน แต่ว่าออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบก่อนหน้านี้ไม่ได้”

ข้อเรียกร้องในอดีตที่นำมาสู่สิทธิขั้นพื้นฐานในปัจจุบัน

ด้วยระยะเวลาอันสั้น จึงทำให้ข้อเรียกร้องหลาย ๆ อย่างของคนเดือนตุลาในยุคนั้นยังไม่อาจสัมฤทธิ์ผลได้ในทันที แต่อย่างน้อยเสียงเรียกร้องของคนตัวเล็ก ๆ เหล่านี้ก็เป็นเหมือนประกายไฟแห่งความหวังที่ก่อให้เกิดการผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมในอีกหลายปีต่อมา

อาจารย์ศักดินา: “ช่วงนั้นผมว่ามันมีอุดมการณ์ร่วมกันบางอย่าง คนเริ่มหันมาสนใจประเด็นของสังคมนิยม พูดถึงส่วนรวม พูดถึงเรื่องของรัฐสวัสดิการบ้างแล้วในเวลานั้น แล้วมันก็มีพรรคการเมืองที่เขาประกาศอุดมการณ์เป็นพรรคตัวแทนของคนยากคนจนไม่ต่ำกว่า 3 พรรค ทั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย พรรคแนวร่วมสังคมนิยม และพรรคพลังใหม่ ที่ประกาศแนวความคิดต้องการจะสร้างรัฐสวัสดิการ ผมคิดว่ามันเป็นเหมือนอุดมการณ์ร่วมกันที่เกิดขึ้นแล้วผลักไป แค่ว่าช่วงเวลานั้นมันยังสั้นเกินกว่าที่จะเกิดผลขึ้นมาชัดเจน อย่างประกันสังคมก็ยังไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงนั้น แค่เริ่มมีความคิดกันแล้ว ต้องบอกว่า การต่อสู้ในยุคนั้น มันเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างกระแสขึ้นมา แต่เวลายังไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดผลจริง ๆ แล้วดันเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคมเสียก่อน คนที่เคยร่วมต่อสู้ก็ต้องตัดสินใจเข้าป่าไป คนที่ยังอยู่ในเส้นทางการต่อสู้ต่อก็ต้องทำงานอย่างลำบากยากเย็นมากขึ้น เพราะว่าบรรยากาศทางการเมืองที่มันเปลี่ยนแปลงไป ทำให้การแสดงออกความคิดเห็นอะไรต่าง ๆ ก็เป็นไปได้ยากมากขึ้น

แต่ไม่ได้หมายความว่า หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคมแล้ว กระบวนการแรงงานจะหายไป ไม่ได้มีบทบาทอะไรเลย คือมันก็ยังมีอยู่ ยังสามารถผลักดันหลายเรื่องสำเร็จ เช่น ปี 2533 สามารถผลักดันให้เกิดกฎหมายประกันสังคมขึ้นมา ซึ่งก็เป็นข้อเรียกร้องจากขบวนการแรงงานนั่นแหละ เขาต่อสู้กันมานานหลายสิบปีแล้วถึงมาเกิดผลในช่วงนั้น หรือการต่อสู้เรียกร้องให้แรงงานสตรีสามารถลาคลอดและได้เงินค่าตอบแทน 90 วัน หรือการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการดูแลเรื่องสวัสดิการ เรื่องความปลอดภัยในการทำงาน เหล่านี้ก็เป็นความสำเร็จของการเคลื่อนไหว ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่เกิดมาจากการที่เรามีสหภาพแรงงาน แม้ว่าสหภาพแรงงานหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จะไม่ได้เข้มแข็งแบบเดิม แต่อย่างน้อยสหภาพก็ได้ทำหน้าที่เป็นหัวหอกในการผลักดันและเรียกร้องให้กับสิทธิของคนทำงาน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมนี้”

ชีวิตดี ๆ ในสแกนดิเนเวียกับความเสมอภาคของทุกคน

เวลาพูดถึงประเด็นรัฐสวัสดิการหรือคุณภาพชีวิตดี ๆ ที่ประชาชนในประเทศพึงได้รับ เราก็อดไม่ได้ที่จะนึกถึงแถบประเทศสแกนดิเนเวียอย่าง สวีเดน นอร์เวย์ และเดนมาร์ก ที่เป็นตัวอย่างอันดีให้ทั่วโลกได้เห็นถึงการบริหารจัดการภาษีเพื่อนำกลับมาใช้เป็นรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าให้กับประชาชนในหลายด้าน ทั้งการศึกษา การรักษาพยาบาล การขนส่งสาธารณะ และอื่น ๆ อีกมากมาย อย่างไรก็ดี หลาย ๆ คนก็เชื่อว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงโลกในฝันที่ประเทศไทยไม่มีวันเดินตามรอย เพราะเรา ‘จน’ เกินกว่าทำให้เป็นจริงได้ แต่คำถามคือ เราจนขนาดนั้นจริง ๆ หรือ?

อาจารย์ศักดินา: “หลายคนแต่ก่อนไม่เชื่อเลยว่า มันจะสามารถเกิดขึ้นในประเทศไทยได้จริง ซึ่งเรื่องนี้ผมชมเชยอาจารย์ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดีมากที่สามารถทำให้เห็นว่า จริง ๆ แล้ว ถ้าเราสามารถจัดสรรงบประมาณต่าง ๆ ที่มีอยู่ให้ชัดเจน และบ้านเมืองมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้ เราก็จะสามารถมีรัฐสวัสดิการได้แบบที่ประเทศในแถบสแกนดิเนเวียเขามีกัน เพราะความมั่งคั่งของเรามีไม่น้อยไปกว่าเขาเลย เพียงแต่ว่ามันกระจุกอยู่กับคนส่วนน้อยที่เรียกว่าคน 1% เท่านั้น ฉะนั้น ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่รวมตัวกัน และยังกระจัดกระจายกันอยู่อย่างนี้ เสียงมันก็จะไม่ดังพอ อำนาจในการกำหนดสิ่งต่าง ๆ ก็จะอยู่กับคนส่วนน้อยเช่นเดิม”

อาจารย์ศักดินา: “ในประเทศแถบสแกนดิเนเวียทั้งหมด เขามีคนเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานอยู่ในสัดส่วนที่สูง ประเทศไทยมีคนเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานแค่ประมาณ 1.5% ซึ่งถือว่าน้อยมาก ในขณะที่ในแถบสแกนดิเนเวีย ประเทศที่มีสมาชิกสหภาพคนงานน้อยที่สุดคือนอร์เวย์ก็ยังมีถืง 54% และในประเทศอื่น ๆ ก็ขึ้นไปสูงถึง 70% หรือบางช่วงก็มากถึง 90% ด้วยซ้ำ ถ้าเราอยากจะเห็นรัฐสวัสดิการเกิดขึ้นจริง มันก็จะต้องทำให้คนส่วนใหญ่รวมตัวกันแล้วเข้าไปกำหนดสิทธิเพื่อคนส่วนรวม เพราะจริง ๆ อำนาจอยู่กับเราที่เป็นเจ้าของประเทศตัวจริง แชมป์ (ฉัตรชัย พุ่มพวง จากเพจ ‘พูด’) เขาพูดอยู่บ่อย ๆ ว่า ถ้านายทุนหยุดทำงานไม่มีปัญหาหรอก แต่ถ้าแรงงานหยุดงานประเทศพัง ฉะนั้น ถ้าฝันอยากเห็นประชาธิปไตย อยากเห็นรัฐสวัสดิการในไทย มันไม่มีทางอ้อม มันจะต้องรวมตัวกันให้แข็งแกร่ง แล้วเราถึงจะมีเสียงพอที่จะกำหนดตรงนี้ได้

ผมลองทำตารางเปรียบเทียบการจัดลำดับของประเทศต่าง ๆ ในโลกก็เลยพบว่า ประเทศที่มีสมาชิกสหภาพมากอันดับ 1 ถึง 12 กับประเทศที่เป็นประชาธิปไตยสูงที่สุด ประเทศที่มีความยุติธรรมที่สุด ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำน้อยที่สุด มันไปในทิศทางเดียวกันหมดเลย ซึ่งเวลาเราพูดถึงประชาธิปไตย เราหมายถึงสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democracy) ซึ่งก็คือประชาธิปไตยที่คำนึงถึงความยุติธรรมของสังคมด้วย ในยุโรปประชาธิปไตยแบบนี้มันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนส่วนใหญ่รวมตัวกัน แล้วมีอำนาจต่อรอง ถ้าคนส่วนใหญ่มีอำนาจก็จะดึงให้แบ่งปันกับนายทุนได้น้อยลงหน่อย แต่ไม่ได้หมายความว่าระบบเศรษฐกิจจะพังไป ถึงประเทศในสแกนดิเนเวียจะเก็บภาษีสูง แต่เศรษฐกิจก็ยังดีอยู่ เป็นประเทศที่ทั้งประสบความสำเร็จ และคุณภาพชีวิตของประชาชนก็ดีด้วย คนไม่ต้องทำงานวันหนึ่งหลายชั่วโมง อย่างบ้านเราตอนนี้คนงานต้องทำงานวันละ 10 ชั่วโมง 12 ชั่วโมง เพราะว่าคนไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจ มันเลยทำให้สภาพมันเป็นไปตามที่นายทุนเขาอยากได้ประโยชน์สูงสุด ถ้าคนงานอยากจะได้เงินที่เพียงพอที่จะมีชีวิตที่สุขสบายก็ต้องยอมใช้เวลาทำงานให้มากขึ้น และก็ต้องอยู่กับความสุ่มเสี่ยงมากมายที่จะตามมา”

อาเซียน… ภูมิภาคแห่งการกดทับ

ถึงแม้ว่ารัฐสวัสดิการและสิทธิแรงงานในฝั่งสแกนดิเนเวียจะก้าวไปไกลมากแล้ว แต่เมื่อหันมองย้อนกลับมาดูการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานในแถบประเทศเพื่อนบ้านของเราแล้วก็จะพบว่าแต่ละประเทศมีชะตากรรมไม่ต่างจากบ้านเรามากนัก

อาจารย์ศักดินา: “ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตกอยู่ภายใต้วัฒนธรรมแบบอุปถัมภ์ มันเป็นสังคมที่เรายอมรับในเรื่องของความเหลื่อมล้ำ มีทั้งอิทธิพลของอินเดียและลัทธิขงจื๊อ มันหล่อหลอมให้เรายอมรับในความไม่เสมอภาคเท่าเทียมกัน ซึ่งสิ่งนี้เป็นเงื่อนไขอันหนึ่งที่ทำให้สหภาพแรงงานในภูมิภาคนี้เติบโตยาก

อีกอย่างคือ ช่วง 40 - 50 ปีที่แล้ว ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มันเป็นภูมิภาคที่เป็นสมรภูมิของสงครามเย็น แล้วมหาอำนาจของโลก ทั้งฝ่ายคอมมิวนิสต์ และฝ่ายทุนนิยม ก็เข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาค และมีส่วนทำให้เกิดรัฐเผด็จการเยอะพอสมควร เรียกได้ว่า อเมริกาเข้ามาที่ไหน ที่นั่นเป็นรัฐบาลทหาร เป็นเผด็จการหมด ดังนั้น ภูมิหลังที่อยู่ภายใต้เผด็จการเสมอมาก็เป็นอุปสรรคของการสร้างขบวนการสหภาพแรงงานพอสมควร หลายประเทศที่หลังสงครามอินโดจีนจบแล้วเปลี่ยนไปเป็นประเทศเผด็จการคอมมิวนิสต์เขาก็ไม่ได้ส่งเสริมสหภาพแรงงานที่เป็นอิสระ เพราะสหภาพแรงงานก็ยังต้องขึ้นตรงอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์เป็นหลัก ดังนั้น โดยภาพรวมแล้ว ขบวนการแรงงานในภูมิภาคถือว่ายังนี้ไม่เข้มแข็ง”

อาจารย์ศักดินา: “ตอนนี้ที่น่าสนใจคือประเทศพม่าเพิ่งฟื้นประชาธิปไตย แต่โชคร้ายที่เกิดการรัฐประหารเสียก่อน แต่เราก็ได้เห็นพลังของสหภาพแรงงานที่มีเพิ่มมากขึ้น และอีกประเทศที่น่าสนใจคืออินโดนีเซีย การปฏิรูปทางการเมืองของเขาถือว่าได้ผลทีเดียว แล้วมันทำให้ขบวนการแรงงานเริ่มที่จะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น แต่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ ผมมองว่า ยังมีข้อจำกัดอีกมาก ในเวียดนาม ในลาว แม้จะมีสมาชิกเยอะ แต่ว่าสหภาพไม่ได้มีบทบาทมากนัก ในสิงคโปร์ สหภาพแรงงานก็ค่อนข้างจะใกล้ชิดกับพรรคการเมืองของรัฐบาลที่ผูกขาดการปกครองมายาวนาน ในมาเลเซียก็เหมือนกัน สภา MTUC (Malaysian Trades Union Congress) ก็ใกล้ชิดกับพรรคอัมโน และไม่เป็นอิสระเท่าไหร่ รัฐบาลทั้งในมาเลเซียกับสิงคโปร์ เขาค่อนข้างจะไปควบคุมแทรกแซงสหภาพแรงงาน ดังนั้น โดยภาพรวมแล้ว ภูมิภาคนี้ยังมีอุปสรรคต่อการสร้างขบวนการแรงงานที่เข้มแข็ง และการเชื่อมร้อยกันของกระบวนการในภูมิภาคก็ถือว่าต่ำ ถ้าเราไปดูในลาตินอเมริกาหรือในยุโรป เราจะพบว่าขบวนการแรงงานของเขาเชื่อมร้อยกัน และคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกันเสมอ แต่ว่าของเราไม่ได้มีการเชื่อมร้อยกันแบบนั้น เราจะมีก็แต่องค์กรระดับภูมิภาคที่เป็นองค์กรระดับโลกแบบ Top-down จากที่อื่นเข้ามาเท่านั้น

ตอนนี้ผมสนใจการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในฮ่องกงที่พยายามจะสร้าง ‘Milk Tea Alliance’ หรือ ‘พันธมิตรชานม’ ขึ้นมาร่วมกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งมันน่าสนใจว่า ถ้าพันธมิตรชานมสามารถสร้างขบวนการจัดตั้งของคนงาน ผมว่ามันจะมีความแข็งแกร่งของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้นกว่านี้ เพราะคนงานและสหภาพแรงงานมีอำนาจต่อรองที่สำคัญมากทีเดียว ด้วยระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ถ้าเราจับมือกัน เราจะสามารถสร้างเครือข่ายการรณรงค์เพื่อสร้างอำนาจต่อรองไปกดดันทุน ซึ่งจะไปกดดันรัฐบาลต่ออีกทีได้ดีทีเดียว”

สิทธิแรงงานไทยในปัจจุบันที่ไม่ว่าจะเดินมาไกลแค่ไหนแต่ก็ยังต้องไปต่อ

หลังจากภาคประชาชนรวมพลังกันออกเดินทางต่อสู้มาตลอดหลายสิบปี สิทธิแรงงานไทยก็ก้าวมาไกลจากจุดออกสตาร์ทอยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ดี ความคุ้มครองหลาย ๆ อย่างก็ยังไม่เพียงพอต่อความเป็นอยู่ที่ดีของคนทำงานทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากความล้าสมัยของกฎหมายที่ยังเคลื่อนตัวไปไม่ทันกับโลกโลกาภิวัตน์ที่หมุนไปไวยิ่งขึ้นทุกวัน

อาจารย์ศักดินา: “ผมมองว่า กฎหมายสิทธิแรงงานบ้านเราในปัจจุบันยังไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองที่เพียงพอ การรวมตัวเจรจาต่อรองถือว่าเป็นประตูบานแรกที่จะพาเข้าไปสู่สิทธิอื่น ๆ ถ้าเรารวมตัวกันและเจรจาต่อรองร่วมกันไม่ได้ สิทธิอื่น ๆ ก็จะถูกละเมิดลิดรอนไป อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้บ้านเราคนงานก็อยู่กันตามยถากรรม กฎหมายไม่ได้ลงไปคุ้มครอง แล้วกฎหมายแรงงานฉบับสำคัญ ๆ มันถูกสร้างในโลกยุค 2.0 คือการผลิตยังอยู่ในระบบสายพาน แต่ในยุค 4.0 โลกมันเปลี่ยนไปเยอะมาก กฎหมายปัจจุบันมันไม่ทันกับรูปแบบการจ้างงานสมัยใหม่ ตอนนี้เรามีการจ้างงานบนแพลตฟอร์ม ซึ่งมีความสลับซับซ้อน มีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มกับคนที่ทำงานให้ อย่างไรเดอร์หรืออะไรต่าง ๆ เหล่านี้ มันไม่มีสถานภาพความสัมพันธ์ทางการจ้างงานที่ชัดเจน แล้วคนเหล่านี้หลุดจากการคุ้มครองโดยกฎหมาย และกลายป็นรูปแบบการจ้างงานที่เอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายทุนมาเอาประโยชน์จากคนทำงานแทน”

และการสร้างกฎหมายแรงงานที่เป็น Social Law ในบ้านเรามันไม่ค่อยเวิร์ค เพราะเราไม่ยอมรับการมีส่วนร่วมของคน กฎหมายที่กระทบกับคนส่วนใหญ่ มันต้องเป็นกฎหมายที่คนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในการยกร่างด้วย แต่กฎหมายส่วนใหญ่กลับถูกร่างโดยหน่วยราชการก็เลยมองไม่เห็นปัญหาในองค์รวม พอระบบราชการถูกแยกเป็นส่วน ๆ แต่ละกระทรวงก็จะออกกฎหมายของเขาเองออกมา มันเลยไม่ครอบคลุม ไม่เท่าทันกับสถานการณ์ และไม่สามารถสะท้อนตรงกับประเด็นของปัญหาของคนที่ได้รับผลกระทบ คนที่เขาเป็นคนทำงานเหล่านี้เขามีเสียงน้อยมากในการที่จะไปนำเสนอประเด็นปัญหา ตอนหลังในบ้านเรา เวลาทำจะกฎหมายก็จะบอกให้ไปทำประชาพิจารณ์ แต่ก็ทำเป็นเหมือนพิธีกรรมเฉย ๆ พอคนเสนอไป มันก็แทบจะไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร”

ความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อประเด็นสิทธิแรงงาน

หากย้อนเวลากลับไปแค่ 6 - 7 ปีก่อนหน้านี้ เราก็จะพบว่า ประเด็นสิทธิแรงงานดูจะเป็นของแปลกใหม่ในความสนใจของคนรุ่นใหม่ทั่ว ๆ ไปอยู่ไม่น้อย แต่ที่น่าสนใจคือ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เรื่องราวของรัฐสวัสดิการและความเป็นอยู่ที่ดีของพี่น้องแรงงานกลับขยายตัวและเคลื่อนมาอยู่ในความสนใจกระแสหลักของคนรุ่นใหม่ได้อย่างไม่น่าเชื่อ สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงเข้ามาปลูกฝังความคิดที่ต้องการจะสร้างสังคมที่ดีเพื่อคนส่วนใหญ่เท่านั้น แต่ยังมาพร้อมกับการเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นด้วย

อาจารย์ศักดินา: “ในปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่หันมาสนใจเรื่องสหภาพแรงงาน ซึ่งผมมองว่า มันเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นและทำให้มีความหวังมาก ๆ เพราะต้องยอมรับว่า สหภาพแรงงานในช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคมไปแล้ว มันถูกทำให้กลายเป็นสหภาพแรงงานเฉพาะในรั้วโรงงานเท่านั้น ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่เรื่องที่คนหนุ่มคนสาวจะให้ความสนใจมากนัก แต่ว่าในช่วง 1 - 2 ปีนี้ มันเกิดกระแสที่พูดถึงเรื่องรัฐสวัสดิการมากขึ้น โดยท้ายที่สุด เวลาเราพูดถึงเรื่องรัฐสวัสดิการ เป้าหมายของมันคือการปกป้องสิทธิ ของคนส่วนใหญ่ที่เป็นวัยทำงาน เพื่อที่จะดึงเอาส่วนที่เกินไปสำหรับคนที่มั่งคั่งมาช่วยเจือจุนให้คนสามารถได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกัน

ตอนนี้มันมีคนที่ร่วมกันจัดตั้งสหภาพคนทำงาน ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลาย รวมไปถึงคนหนุ่มสาวจากหลายแวดวงด้วย ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ไม่ได้เกิดขึ้นมานานแล้วในประเทศนี้ แต่วันนี้คนเริ่มกลับมา ซึ่งการรักษาโมเมนตัมนี้ไว้ก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ มันต้องดูจากประสบการณ์ในประเทศอื่น ๆ ด้วย ถ้าเราสามารถรักษาให้คนส่วนใหญ่รวมตัวกันและมีอำนาจต่อรองไว้ได้แล้ว เราย่อมพิทักษ์ผลประโยชน์ให้กับส่วนรวมได้ดีกว่า การที่เราจะไปหวังพึ่งคนจำนวนน้อย 1% เป็นไปได้ยากมาก”

ขอบคุณภาพประกอบบทความจาก juli baker and summer: Facebook & Instagram