Deadline Always Exists
“Journey To The Moon” การเดินทางสู่ดวงจันทร์ของคนมีฝัน

Deadline Always Exists “Journey To The Moon” การเดินทางสู่ดวงจันทร์ของคนมีฝัน

Deadline Always Exists “Journey To The Moon” การเดินทางสู่ดวงจันทร์ของคนมีฝัน

ภาพจำของเด็ก Gen Z ในสื่อโฆษณามักจะถูกถ่ายทอดออกมาในลักษณะของคนรุ่นใหม่ที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง อยากออกไปซ่า ไปบ้า ไปกล้า ไปพิสูจน์ความฝันของตัวเองต่อโลกภายนอก แต่ใครจะรู้ว่าอีกด้านหนึ่ง เด็ก Gen Z กลับเป็นช่วงวัยที่เต็มไปด้วยความเศร้า ความสับสน และมักจะตั้งคำถามกับการมีอยู่ของตัวเองอยู่เสมอ

การรวมตัวกันสร้างเอเจนซี่โฆษณาและสื่อ Interactive ของกลุ่มคน Gen Z ในนาม Deadline Always Exists ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการต่อยอดผลงานศิลปนิพนธ์ของหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง จึงเป็นเหมือนตัวแทนการทำงานที่สะท้อนภาพของคน Gen Z โดย คน Gen Z ที่แท้จริง และด้วยเหตุนี้เอง ผลงานการเล่าเรื่องในรูปแบบ Interactive ของพวกเขาในหลาย ๆ โปรเจกต์จึงเป็นที่ฮอตฮิตโดนใจกลุ่มคนรุ่นใหม่เสมอมา

และในโปรเจกต์ Journey To The Next Chapter ที่มีเป้าหมายเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามาค้นหา เรียนรู้และรู้จักตัวตน @TK Park อุทยานการเรียนรู้ ก็ได้จับมือกับ @Deadline Always Exists ในการสร้างสรรค์สื่อ Online Interactive เพื่อเป็นแรงใจให้คนมีความฝันและความตั้งใจได้กลับมาพูดคุยกับตัวเองในวันที่ท้อถอย ผ่านเรื่องราวของการปั่นจักรยานสู่ดวงจันทร์ ที่แม้ยากเย็นและทำให้เราเหนื่อยล้าแค่ไหน แต่เมื่อเราได้ย้อนกลับไปมองระหว่างทางก็ยังมีเรื่องราวดี ๆ มากมายให้ได้นึกถึง

สัปดาห์นี้ GroundControl จึงชวนตัวแทนจากทีม Deadline Always Exists อย่าง มินนี่-เมธาวจี สาระคุณ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งมาร่วมพูดคุยเรื่องราวเบื้องหลังโปรเจกต์คุณภาพในครั้งนี้ รวมทั้งแลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็นทั้งด้านตัวตน ความฝัน รวมไปถึงสังคมผ่านมุมของคน Gen Z เพื่อคน Gen Z

เป้าหมายของคนมีฝันและการเดินทางสู่ดวงจันทร์

หลังจากได้รับโจทย์จากทาง TK Park และ GroundControl ที่ต้องการเห็น Interactive Website ที่พูดถึงการเดินทางในการค้นหาและพัฒนาตัวเอง ทางทีม Deadline Always Exists จึงเริ่มกลับมาทบทวนถึงมุมมองและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่ TK Park จะใช้สื่อสารออกไปในฐานะอุทยานการเรียนรู้

มินนี่-เมธาวจี : “จริง ๆ แล้วในความเป็นอุทยานการเรียนรู้ของ TK Park สิ่งที่เป็นแนวคิดของเขาจริง ๆ คือความเชื่อมั่นที่ว่า มนุษย์มีศักยภาพไม่สิ้นสุด ซึ่งในเชิงจิตวิทยามันคือเรื่องของการหาอัตมโนทัศน์ (Self-Concept) และการพัฒนาตัวเอง หลังจากนั้น เราก็เริ่มลงไปพูดคุยกับเด็ก Gen Z ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของเราถึงเรื่องความเชื่อมั่นในตัวเองและเป้าหมายในชีวิตของเขา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองมันก็ทำให้เราค้นพบว่า เด็กหลาย ๆ คนเขามีความฝันและเป้าหมายที่ชัดเจน แต่ในหลาย ๆ ครั้ง สภาพสังคม เศรษฐกิจหรือแม้แต่ครอบครัวของเขาเองต่างหากที่เป็นตัวบังคับทำให้เขาต้องล้มเลิกความฝันตรงนี้ไป ไอเดียในการทำงานครั้งนี้ของเราจึงมีเป้าหมายว่า เราจะทำยังไงให้คน ๆ หนึ่งไม่ยอมแพ้กับความฝันและความตั้งใจของตัวเอง โดยนำจุดเริ่มต้นตรงนี้มาพัฒนาต่อยอดเป็น Interactive Website ที่จะเป็นกำลังใจและทำให้ทุกคนสามารถก้าวเดินและไปต่อสู่สิ่งที่เขาอยากทำจริง ๆ”

ผู้ใหญ่ชอบมองว่าเด็ก Gen Z ทุกคนต้องออกไปซ่า ออกไปกล้า แต่ Gen Z คือช่วงวัยที่เต็มไปด้วยความเศร้าและความรู้สึกขัดข้องบางอย่างในใจ รวมทั้งมีความฝันที่แตกต่างจากจากคนในช่วงวัยอื่น ๆ Gen Z แทบทุกคนมักจะมีความคิดที่ว่า ทำไมฉันไม่ Productive? ทำไมฉันไม่ซ่าเหมือนที่เขาบอกกัน? ทำไมฉันเป็นคน Introvert? ซึ่งความจริงสิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่เรื่องผิดเลย แต่มันผิดที่สื่อโฆษณาต่าง ๆ มักจะเป็นตัวกำหนดการใช้ชีวิตของเราให้ออกมาในรูปแบบนั้น

คือถ้าเราย้อนกลับไปดูไทม์ไลน์การใช้ชีวิตของ Gen Z ก็จะเห็นว่า ไทม์ไลน์ชีวิตของเราเกิดมาพร้อมกับความพังพินาศของทั้งสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และภัยธรรมชาติต่าง ๆ ดังนั้น คนในช่วงวัยนี้จึงมักจะสนใจความเป็นไปของเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศอยู่เสมอ เพราะตั้งแต่เราเกิดและเติบโตขึ้นมา สิ่งเหล่านี้มันไม่เคยพัฒนาขึ้นเลยในสายตาเรา ไม่แปลกเลยที่ Gen Z มันจะมีความเศร้า ความทะเยอทะยาน หรือความฝันบางอย่างที่ต่างจากคนในช่วงวัยอื่น เราไม่ได้คาดหวังว่าเราจะประสบความสำเร็จเหมือน Bill Gates แต่เราคาดหวังเพียงแค่ว่า เราอยากจะมีความสุขสักครั้งในชีวิต และฝันอยากจะเห็นสังคมที่ดีกว่าเท่านั้นเอง”

การเติบโตและการเยียวยาใจตัวเองไปพร้อม ๆ กัน

จากที่ได้เฝ้าสังเกตผลงานของทีม Deadline Always Exists มาสักพัก เราจึงได้เห็นว่า โปรเจกต์ที่ผ่านมาของพวกเขามักจะเป็นการสื่อสารและพูดคุยกับสภาวะภายในใจของตัวเองมาโดยตลอด แต่อย่างไรก็ดี มินนี่-เมธาวจีก็ยืนว่า ผลงานที่ผ่านมาของพวกเขาไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การเยียวยาคนอื่น แต่กลับเป็นการช่วยเยียวยาจิตใจของทีมงานกันเอง เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้นในผลงานล้วนแล้วแต่เป็นตัวตนของพวกเขาจริง ๆ ที่ต้องการจะสะท้อนความเจ็บปวดหรือทัศนคติในการมองโลกออกมาในนั้น โดยขบถกับขนบของการเล่าเรื่องแบบเก่าที่เราจะต้องไปต่อและไม่ยอมแพ้ งานของพวกเขาคอยเปิดโอกาสให้ทุกคนไม่ต้องรู้สึกผิดที่จะยอมแพ้

มินนี่-เมธาวจี : “สิ่งหนึ่งที่รู้สึกขอบคุณตัวเองหลังจากที่ได้ทำโปรเจกต์ในนาม Deadline Always Exists คือการที่มันทำให้เราได้พูดคุยกับคนมากมาย และยังได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่างจากคนเหล่านี้ มีอยู่ครั้งหนึ่ง คนที่เราสัมภาษณ์ถามเรากลับมาว่า แล้วมินนี่ล่ะ มีความสุขกับอะไรในชีวิต? เรารู้สึกว่ามันเป็นคำถามง่าย ๆ ที่ตอบยากมาก สิ่งเหล่านี้มันทำให้เราหยุดสัมภาษณ์ไปช่วงหนึ่งเลย เพราะไม่สามารถตอบตัวเองได้ว่า ถ้าเราไม่ต้องคิดว่าเราเคยเป็นใครมาก่อนในอดีต ไม่ต้องคาดหวังกับเรื่องในอนาคต สิ่งที่เราต้องการจริง ๆ คืออะไรกันแน่ ซึ่งนี่น่าจะเป็นสิ่งที่เราได้รับมากที่สุดจากการทำงานแบบนี้ มันคือการที่เราได้คุยกับคนหลากหลายจนค่อย ๆ ตกตะกอนกับชีวิตของตัวเอง

เราไม่เชื่อว่า การตกตะกอนชีวิตควรจะเกิดขึ้นตอนอายุมากแล้วเท่านั้น ชีวิตมันง่ายกว่านั้นมาก มันคือการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด ขนาดเด็ก 5 ขวบยังสามารถบอกได้เลยว่า ข้อคิดของนิทานอีสปคืออะไร แล้วทำไมผู้ใหญ่จะบอกไม่ได้ว่าชีวิตเราสอนอะไรมาบ้าง แล้วคำสอนนั้นไม่ก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นความจริงแท้ตลอดไปด้วย สุดท้ายแล้วมันก็จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตามการเติบโตของเรา มันเป็นคำสอนที่มีแค่ตัวเราคนเดียวเท่านั้นที่สามารถสร้างขึ้นมาได้”

ความฝันที่ยิ่งใหญ่ของคนตัวเล็ก

ความฝันที่อยากจะเห็นโลกที่ดีกว่านี้ของมินนี่-เมธาวจี อาจดูเพ้อฝันในความคิดของใครหลาย ๆ คน แต่เธอก็หวังจะได้เห็นว่าผลงานของ Deadline Always Exists ไปหว่านเมล็ดพันธุ์ความเชื่อในใจใครหลาย ๆ คนจนค่อย ๆ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ดีขั้น แม้ว่ามันอาจจะต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปีก็ตาม

มินนี่-เมธาวจี : “นอกจากการสื่อสารกับผู้คนอย่างชัดเจนและตรงประเด็นแล้ว สิ่งที่เราต้องใส่ลงไปด้วยคือสิ่งที่เราเชื่อในฐานะนักเล่าเรื่องด้วย เราต้องเชื่อว่า เราเป็นศิลปินที่กำลังจะทำงานศิลปะบางอย่างผ่านความคิดและการเล่าเรื่องของเราออกมาสู่วงกว้างให้ทุกคนได้เห็น อย่างตัวเราโตมากับโฆษณา Nike ที่คอยบอกเราว่าทุกอย่างมันเป็นไปได้แค่เราต้องลองลงมือทำ แล้วถ้าโฆษณา Nike ในวันนั้นมันสามารถสร้างตัวเราในอีก 10 ปีข้างหน้าให้กลายเป็นคนที่มีความฝันอยากเปลี่ยนแปลงโลกได้ เราเองก็อยากจะทำงานที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของใครหลาย ๆ คนได้เช่นกัน เราอยากทำงานที่ไปจุดประกายให้เกิดโลกที่ดีขึ้น เป็นสังคมที่ลูกสาวเราสามารถเดินกลับบ้านเมื่อไหร่ก็ได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครมาทำร้าย เขาสามารถแต่งตัวยังไงก็ได้โดยไม่ต้องมีคนมาตัดสินเขา เป็นสังคมที่ลูกชายเราสามารถร้องไห้ได้โดยไม่มีใครมาบอกว่ามันไม่เป็นลูกผู้ชาย เขาสามารถได้รับการยอมรับในฐานะมนุษย์คนหนึ่งโดยไม่ถูกตัดสิน

ซึ่งสภาพสังคมในปัจจุบันมันกลับกลายเป็นว่า สังคมเองนั่นแหละที่เป็นตัวหยุดยั้งศักยภาพและการเติบโตของประชาชน เพราะเราอยู่ในสังคมแบบนี้ เพราะเรามีฐานะทางเศรษฐกิจแบบนี้ มันเลยทำให้เราไม่สามารถไปได้ไกลกว่านี้ เราไม่ชอบคำว่า เด็กรุ่นใหม่คือความหวัง เรามองว่า เพราะคนรุ่นเก่าไม่สามารถจบมันในรุ่นของตัวเองได้ไงเลยต้องมาฝากความหวังไว้กับเด็กรุ่นใหม่ คือโลกใบนี้มันถูกขับเคลื่อนไปพร้อมกับปัญหาใหม่ ๆ ตลอดเวลา ดังนั้น ควรให้เด็กได้โฟกัสกับปัญหาในปัจจุบันมากกว่า”

อย่าให้ความกลัวมาหยุดยั้งความตั้งใจ

ถึง Journey To The Moon จะเป็นโปรเจกต์ที่พูดถึงความฝันและความตั้งใจ แต่ทีม Deadline Always Exists เองก็ไม่ได้มองว่า เป้าหมายหรือความฝันในชีวิตเป็นสิ่งที่ทุกคนจำเป็นต้องมีและไขว่คว้ามา เพราะพวกเขาเชื่อว่า สักวันจังหวะของชีวิตก็จะเหวี่ยงสิ่งเหล่านี้เข้ามาในชีวิตเองโดยที่เราไม่จำเป็นรีบร้อน และเมื่อวันนั้นมาถึง เราก็จะรู้สึกเองว่า สิ่งนี้คือสิ่งที่อยากทำและเป็นเป้าหมายของชีวิต แต่ถ้าวันไหนที่สิ่งเหล่านี้มันไม่ตอบโจทย์เราอีกต่อไปแล้วก็แค่โยนมันทิ้งไป

มินนี่-เมธาวจี : “สำหรับเรามันก็แค่การตื่นมาถามตัวเองทุกวันว่า เรายังอยากทำสิ่งนี้อยู่ไหม? แล้วมันมีค่าพอจะให้เราทำไหม? แล้วถ้าวันนี้คำตอบคือใช่ เราก็แค่ออกไปทำมันต่อไป อย่างงานโปรเจกต์นี้มันก็เกิดขึ้นมาด้วยความที่ในหลาย ๆ ครั้งที่เราเหนื่อยและท้อใจมาก ๆ เราจะจำไม่ได้เลยว่าทำไมเราถึงตัดสินใจที่จะทำสิ่งนี้ตั้งแต่แรก เว็บนี้จึงเป็นเหมือนพื้นที่ให้ทุกคนได้ลองกลับไปพูดคุยกับตัวเองในวันที่เคยอยากทำสิ่งนี้มาก ๆ และได้ย้อนกลับไปสำรวจความพยายามและความตั้งใจในวันนั้น แต่อย่างไรก็ดี ถ้าวันไหนที่คำตอบคือไม่ใช่ ฉันไม่ได้อยากทำมันอีกแล้ว เราก็แค่หยุดพอแค่นั้น เราก็ต้องเคารพตัวเองด้วยเหมือนกันว่า ตัวเราในวันนี้ก็สามารถเติบโตและเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ดังนั้น ถึงเราจะเลือกไม่ไปต่อก็ไม่ผิดอะไร

ความต้องการมักจะมาพร้อมกับความกลัว มันมีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า Big Magic (เขียนโดย Elizabeth Gilbert) เป็นหนังสือที่เราชอบมาก ในหนังสือเล่มนี้เขาพูดไว้ว่า ทุกคนต่างก็มีทั้งความกลัวและความต้องการ ซึ่งสิ่งที่เราต้องทำไม่ใช่การขจัดความกลัวออกไป เพราะความกลัวคือเครื่องมือที่จะปกป้องเราจากอันตรายต่าง ๆ ที่จะเข้ามาจู่โจมในชีวิตเรา ถ้าเปรียบเทียบกับการขับรถ สิ่งที่เราต้องทำคือการบอกตัวเองว่า เราจะเป็นคนจับพวงมาลัยไปพร้อม ๆ กับแรงบันดาลใจ โดยมีความกลัวนั่งไปด้วยกันได้ แต่ไม่มีสิทธิ์จับพวงมาลัย หลาย ๆ ครั้งสิ่งที่ยากที่สุดคือการพูดคุยกับความกลัวของตัวเองนี่แหละ สุดท้ายแล้ว ถ้าความกลัวจะหยุดเราระหว่างทางก็อย่าโกรธตัวเอง บางครั้งเวลาที่เราทำอะไรบางอย่างไม่สำเร็จก็หันไปโกรธสังคม หันไปโกรธโลกใบนี้บ้างก็ได้ที่ไม่เปิดโอกาสให้มนุษย์คนหนึ่งได้ทำตามความฝัน อย่าโกรธและโทษตัวเองในทุก ๆ เรื่องเลย เพราะว่าสิ่งที่มันผิดจริง ๆ คือการที่คน ๆ หนึ่งเกิดมาแล้วไม่สามารถมีความฝันที่เท่าเทียมกับคนอื่นได้มากกว่า”

จดหมายจากตัวเราในอดีตถึงตัวเราในอนาคต

ในวันที่ไฟในใจกำลังมอด Journey To The Moon จะเป็นจดหมายจากตัวเราในอดีตถึงตัวเราในอนาคตให้ได้ย้อนกลับไปทบทวนความพยายามและความตั้งใจที่มีมาตลอดการเดินทาง

มินนี่-เมธาวจี : “เว็บไซต์นี้เหมาะกับคนที่กำลังตั้งใจทำอะไรบางอย่าง เราอยากให้มันเป็นจดหมายฉบับหนึ่งที่จะถูกเปิดอีกครั้งเมื่อคุณมีเป้าหมายและต้องการทำอะไรบางอย่าง ถ้าในวันนี้คุณยังไม่พร้อมที่จะเปิดจดหมายฉบับนี้ก็ไม่เป็นไร เก็บจดหมายฉบับนี้ไว้ และในวันที่คุณมีความตั้งใจบางอย่างเข้ามาในชีวิตคุณก็ค่อยนำจดหมายอันนี้ออกมาเปิดอ่าน เราจะไม่บอกว่าคุณจะได้อะไรจากงานนี้ แต่เราอยากจะบอกว่า งานนี้คือทั้งหมดของวัย 23 ปีของเราที่พอจะเล่าออกมาได้ และนี่คือความรู้สึกทั้งหมดที่เรามีต่อความฝัน อยากให้ทุกคนเอ็นจอยกับเรื่องราวการเดินทางในครั้งนี้ไปพร้อม ๆ กัน”

ออกเดินทางสู่ดวงจันทร์ไปพร้อม ๆ กันได้ที่ : journeytothemoon