เบียร์-วีระพล สิงห์น้อย
นักถ่ายภาพตึก ผู้บันทึกความเป็นไปของสังคมผ่านสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น

เบียร์-วีระพล สิงห์น้อย นักถ่ายภาพตึก ผู้บันทึกความเป็นไปของสังคมผ่านสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น

เบียร์-วีระพล สิงห์น้อย นักถ่ายภาพตึก ผู้บันทึกความเป็นไปของสังคมผ่านสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น

‘เบียร์-วีระพล สิงห์น้อย’ คือช่างภาพสถาปัตยกรรมผู้มีงานอดิเรกคือการบันทึกภาพตึกและอาคารยุคโมเดิร์นทั่วประเทศเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว ผู้คนรู้จักเขาในฐานะผู้ก่อตั้งเพจ Foto_momo เพจภาพถ่ายที่รวบรวมเรื่องราวของสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นในประเทศไทย ที่ไม่เพียงแสดงให้เห็นความสวยงามทางสถาปัตยกรรมสุดล้ำ ฝืมืองานโครงสร้างแสนมหัศจรรย์ และทึ่งไปกับความสามารถของเหล่าสถาปนิกไทยแล้ว หลายครั้งที่ภาพถ่ายของวีระพลเปรียบเสมือนบันทึกหน้าสำคัญของสถาปัตยกรรมสุดล้ำจากอดีต เพราะปัจจุบันส่วนใหญ่อาคารโมเดิร์นเหล่านั้นต่างเปลี่ยนรูปแบบไปหรือไม่ก็ถูกทำลายแล้ว รวมถึงการเป็น “นักสังเกตการณ์” เฝ้ามองพลวัตของสถาปัตยกรรมโมเดิร์นที่ความหมายและการใช้งานเปลี่ยนไปตามการรับใช้ผู้คนในมิติต่างๆ ผู้มีความเห็นว่าคุณค่าของสถาปัตยกรรมนั้นควรมีความลื่นไหล หลากหลาย แปรผันไปตามสังคมที่เปลี่ยนไป ไม่ควรผูกขาดเอาไว้เพียงคุณค่าเดียว

คอลัมน์ IN FOCUS ในสัปดาห์นี้ GroundControl จึงชวนพี่เบียร์มาพูดคุยถึงที่มาที่ไปของความหลงใหลในอาคารหน้าตาสุดล้ำสมัย ที่นำพาตัวเขาเข้าไปสู่โลกแห่งสถาปัตยกรรมโมเดิร์นเมืองไทย จนกลายเป็นหนึ่งในผู้บันทึกประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของอาคารเหล่านี้ พร้อมพูดคุยถึงมุมมองของรัฐที่มีต่อการจัดการคุณค่าของสถาปัตยกรรมโมเดิร์นในปัจจุบัน และเรื่องราวหลังปรากฏการณ์ ‘ลาสกาลา’ ที่นับว่าเป็นกรณีศึกษาทางสถาปัตยกรรมครั้งสำคัญของสังคมไทยที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา

จากอดีตนักเรียนสถาปัตย์ไทยสู่ความหลงใหลในโมเดิร์น

“จริง ๆ ตอนเรียนเราเป็นคนชอบประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมอยู่แล้ว แต่ในช่วงเวลานั้นที่เราสนใจจริง ๆ จะเป็นเรื่องของสถาปัตยกรรมไทย ก็จะเป็นพวกวัด วัง ต่างๆ และเราก็สนใจที่จะทำงานด้านอนุรักษ์ด้วย เป้าหมายของเราหลังเรียนจบเลยอยากจะทำงานสถาปนิกด้านงานอนุรักษ์ ซึ่งตอนนั้นคนทำงานด้านนี้มีอยู่น้อย กระแสงานด้านอนุรักษ์ยังไม่เป็นที่รู้จักเหมือนอย่างทุกวันนี้ พูดได้เลยว่าตอนนั้นเราไม่ได้มีพื้นฐานหรือความสนใจในเรื่องงานโมเดิร์นอย่างทุกวันนี้เลย”

“ความสนใจในงานโมเดิร์นมันเริ่มจากตอนที่เราหันเหเส้นทางจากสถาปนิกมาสู่วงการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม งานแรก ๆ ก็จะเป็นงานถ่ายภาพตึกสถานทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ตอนนั้นทางสถานทูตติดต่อให้เราไปถ่ายอาคารเพื่อไปใช้ในปฏิทิน ตอนทำงานเราก็เลยได้ทราบจากคนที่เกี่ยวข้องว่าตัวอาคารจะทุบทิ้งในอีกไม่กี่ปีนี้แล้ว พอได้ยินอย่างนั้นเราก็รู้สึกว่าทำไมเขาคิดจะทุบตึกแล้วล่ะ ทั้ง ๆ ที่มันยังแข็งแรงสวยงามดีอยู่ เราก็รู้สึกว่ามันเป็นคำถามที่ค้างคาใจ พอไปศึกษาข้อมูลก็พบว่าตึกในยุคเดียวกันกับสถานทูตในบ้านเรามีเยอะ และมันก็มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมในแบบของมันเหมือนกัน เราก็เริ่มหลงใหลในเสน่ห์ของมันมากขึ้น หลังจากนั้น เวลาไปไหนมาไหนก็เริ่มสังเกตตึกพวกนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ ”

Foto_momo

“เรามีโอกาสได้ไปถ่ายภาพตึกฟักทอง ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับสมาคมสถาปนิกสยาม เพื่อเอาภาพไปใช้ในนิทรรศการรางวัลอาคารอนุรักษ์ของทางสมาคมฯ พอเราไปเห็นตึกนี้ของจริงก็รู้สึกชอบมาก เพราะไม่เคยเห็นตึกที่มีรูปร่างไซไฟอย่างนี้มาก่อน แล้วมันก็เป็นแรงบันดาลใจให้เราตามหาว่าผลงานออกแบบของคุณสถาปนิกคนนี้ ที่ชื่อ ‘อมร ศรีวงศ์’ นั้นมีที่ไหนอีก เราก็เริ่มสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญหรืออาจารย์ที่ศึกษาอาคารพวกนี้ ก็เลยได้รู้ว่าคุณอมรเป็นคนวางผังให้มหาวิทยาลัยและออกแบบอาคารในม.อ.เอาไว้เยอะ ก็เลยเริ่มไปตามถ่ายรูปอาคารกลุ่มนี้เก็บเอาไว้เล่น ๆ จนขยับขยายไปตามถ่ายตึกหลังอื่น ๆ ของเขาที่อื่นด้วย อย่างที่ ม.มหิดล ม.เชียงใหม่ ม.ขอนแก่น จนได้ซีรี่ส์อาคารประมาณ 10 หลัง ก็เลยปล่อยงานออกมา คนก็สนใจกันเยอะมาก

เราคิดว่าพอมันเห็นความหลากหลายของอาคารที่น่าตื่นตา เห็นหน้าตาของตึกประหลาด ๆ ในยุคนั้น คนก็เลยประทับใจกัน เหตุการณ์ตอนนั้นมันเลยกลายเป็นแรงบันดาลใจของการทำงานที่เราต้องเริ่มสังเกตและเก็บข้อมูลตึกในยุคนี้ให้มากขึ้น ก็กลายเป็นเพจ @Foto_momo ขึ้นมา เหมือนเป็นที่เก็บคอลเลกชั่นของตึกเหล่านี้เอาไว้”

โมเดิร์นที่ดึงดูด

“สิ่งแรกที่ประทับใจเราที่สุดคือรูปทรง อย่างตอนที่ไปเห็นตึกฟักทองครั้งแรก ในใจเราคือ “ทำไมตึกมันหน้าตาประหลาดขนาดนั้น” ซึ่งพอเราไปศึกษาข้อมูลเพิ่ม ก็พบว่านอกจากความประหลาดในหน้าตา มันยังซ่อนเหตุผลและความสำคัญในเรื่องของการออกแบบก่อสร้าง สะท้อนถึงเทคโนโลยีทางสถาปัตยกรรมในยุคนั้น อย่าง ‘คุรุสัมมาคาร’ ที่นครราชสีมา อาคารนี้ก็สร้างจากแนวคิดของสูตรคณิตศาสตร์ไฮเปอร์โบลิกพาราโบลอยด์ ซึ่งเป็นเทรนการออกแบบในสมัยนั้นที่สถาปนิกไทยได้รับมาจากต่างประเทศแล้วนำมาใช้ในบ้านเรา มันจะเน้นโชว์ทำคอนกรีตให้บาง สร้างอาคารโดยไม่ใช้เสารองรับน้ำหนัก ผสมกับการคำนวณจากสมการทางคณิตศาสตร์ หรืออย่างเบื้องหลังของคุณอมร ศรีวงศ์ ที่เราไปค้นคว้ามาแล้วพบว่าท่านไม่ได้เรียนจบด้านสถาปัตย์มา มันทำให้เรายิ่งทึ่งไปอีกว่าท่านออกแบบอาคารเหล่านั้นทั้งหมดได้ยังไง ความเบื้องหลังอะไรแบบนี้มันเลยยิ่งสนุกในการค้นหาข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น”

Modernize

“สำหรับเรางานโมเดิร์นในยุคนั้นเหมือนมันเป็นตัวแทนการเข้าสู่ยุคใหม่ของสังคม ตอนนั้นถือว่ามันมีบทบาทต่อกระแสทางสถาปัตยกรรมของบ้านเราพอสมควรนะ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เลยคืออาคารรัฐสภาหลังเก่า ซึ่งเป็นงานโมเดิร์นที่ความคล้ายคลึงกับงานยุคเดียวกันในละตินอเมริกา ลองจินตนาการถึงความหัวก้าวหน้าสถาปนิกเมื่อ 40-50 ปีก่อน ที่กล้านำงานโมเดิร์นเข้ามาใช้กับอาคารที่เป็นสถานที่ราชการที่สำคัญที่สุด แสดงว่าสถาปัตยกรรมโมเดิร์นในยุคนั้นถือได้ว่าเป็นความโก้ เท่ หรือเป็นสัญลักษณ์การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของบ้านเราในสมัยนั้นอยู่เหมือนกัน”

“ตอนที่เราเริ่มทำ Foto_momo กระแสการทุบตึกทุบอาคารยุคโมเดิร์นก็เริ่มมีขึ้นมาแล้ว ตั้งแต่สถานทูตออสเตรเลีย โรงพยาบาลบางรัก ตึกโชคชัย หรือแม้กระทั่งสกาลาช่วงนั้นก็มีข่าวลือมาบ้าง เราเลยเริ่มสังเกตว่า ตึกในยุคนี้เอาเข้าจริงแปปเดียวมันก็ถูกทุบทิ้งไปเยอะมากเหมือนกันในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา ซึ่งสถานการณ์ของอาคารเหล่านี้ก็สุ่มเสี่ยงที่จะหายไปมากขึ้นเรื่อย ๆ เลยรู้สึกว่าต้องรวบรวมข้อมูลของอาคารเหล่านี้เก็บเอาไว้ ซึ่งต่อมามันได้กลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้เราสนใจสถาปัตยกรรมโมเดิร์นในบ้านเรา ความสุ่มเสี่ยงของอาคารเหล่านี้ที่จะทุบทิ้งหรือเปลี่ยนสภาพไปตามกาลเวลา เป็นสิ่งที่เราต้องคอยสังเกตดูให้มากขึ้น

เอาจริง ๆ เรื่องการทุบทิ้งอาคารโมเดิร์นไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นแค่ในไทย แต่มันเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งเหตุผลของการปรับเปลี่ยนสภาพอาคารเหล่านี้ที่เหมือนกัน คือเรื่องการที่อาคารพวกนี้ไม่ตอบโจทย์ด้านสภาพสังคมและเศรษฐกิจของยุคปัจจุบันอีกแล้ว มันมีความต้องการนำพื้นที่เหล่านั้นไปสร้างเป็นอาคารใหม่ที่ตอบโจทย์มากกว่า กับอีกประเด็นหนึ่งก็จะเป็นเรื่องความไม่มั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างอาคารที่เสื่อมสภาพไปตามเวลา”

นักสังเกตการณ์ทางสถาปัตยกรรม

“งานนี้เหมือนก็กลายเป็นเหมือนหมวกอีกใบหนึ่งของเราไปแล้ว (หัวเราะ) เวลาใครได้ยินเรื่องตึกไหนจะถูกทุบก็จะมีอินบ๊อกซ์เข้ามาในเพจว่าตึกนี้จะถูกทุบแล้ว อยากให้ไปถ่ายรูปเก็บเอาไว้หน่อย อะไรทำนองนี้ เหมือนเป็นหน้าที่โดยปริยายที่เราเองก็ไม่ได้ลำบากใจนะ มันทำไปด้วยความหลงใหลล่ะมั้ง เราคิดว่าตัวเองเป็นเหมือนนักสังเกตการณ์ สิ่งที่เราทำก็คือการบันทึกประวัติศาสตร์ของสถาปัตยกรรมเหล่านั้น อยากให้ภาพถ่ายของตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ เหมือนเวลาเราเข้าไปค้นข้อมูลภาพถ่ายเก่าที่หอจดหมายเหตุ แล้วเห็นภาพของเราบันทึกสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นเหล่านี้เอาไว้ อย่างน้อยให้คนได้รู้ว่าอาคารเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อประเทศ ซึ่งเราอยากให้งานของเราได้ทำหน้าที่ตรงนี้กับสังคมด้วย อย่างน้อยมันก็เป็นสิ่งที่เราพอจะทำได้ในการรวบรวมหลักฐานเหล่านี้เอาไว้”

คุณค่าสถาปัตยกรรมจากการสร้าง-รักษา-ทำลาย

“เอาจริงๆ เรายอมรับได้นะ ถ้าวันหนึ่งอาคารโมเดิร์นจะถูกทำลายเนื่องจากมันไม่ตอบโจทย์การใช้งานอีกแล้ว เพราะสำหรับเราสถาปัตยกรรมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นมา มันมีสิทธิ์ที่จะถูกสร้างขึ้นและทำลายได้เป็นธรรมดา ซึ่งความเปลี่ยนแปลงบางครั้งมันก็ไม่ใช่เรื่องที่คอขาดบาดตายขนาดนั้น แต่เราปฏิเสธไม่ได้ที่ควรจะอนุรักษ์เอาไว้ด้วย เพราะสถาปัตยกรรมทุกยุคทุกสมัย ทุกสไตล์ทุกรูปแบบ ก็มีคุณค่าหนึ่งในแง่ที่เป็นรากเหง้าหรือร่องรอยทางวัฒนธรรมด้วยเหมือนกัน

คือเรามองว่าการทุบอาคารที่มีคุณค่าก็คือเป็นการทำลายหลักฐานทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง เพราะว่าตัวสถาปัตยกรรมมันก็เป็นงานศิลปะที่มีอายุค่อนข้างยาวนาน มันเลยเป็นสิ่งแสดงถึงศิลปะวัฒนธรรมของผู้คนในยุคหนึ่งได้ ซึ่งเราคิดว่าประเด็นสำคัญที่สมควรต้องมีการถกเถียงกัน คือเรื่องการให้คุณค่ากับอาคารเหล่านี้ ว่าอาคารหลังหนึ่งนั้นมีเหตุผลใดที่ควรทำลายหรือควรเก็บรักษาเอาไว้ เพราะมันก็จะมีอาคารบางกลุ่มได้รับการอนุรักษ์มากเสียจนไม่มีการไปแตะต้องตัวมันเลย ซึ่งการที่ไม่ไปแตะต้องมันเลยเนี่ยอาจเป็นการทำให้อาคารแห้งตายไปจากสังคม เพราะสุดท้ายแล้วสถาปัตยกรรมมันต้องสัมพันธ์กับผู้คน ไม่อย่างนั้นมันก็จะกลายเป็นซากอิฐซากปูน ถ้ามันไม่ได้ถูกใช้งาน มันควรจะได้มีเปลี่ยนแปลงไปตามแต่วิถีทางของมัน ส่วนจะคลี่คลายไปแบบไหน ก็จะโยงกลับไปเรื่องที่เราบอกว่าสมควรให้มีการถกเถียงกันของคนในเรื่องคุณค่าของมันนี่แหละ”

ความ(ไม่)เท่าเทียมของคุณค่าสถาปัตยกรรมไทย

“ถ้าอยู่ดี ๆ มีคนมาบอกว่าอาคารโมเดิร์นหลังนี้ต้องทุบทำลายทิ้งเพราะไม่ตอบโจทย์การใช้งานในยุคปัจจุบันแล้ว เราอยากชวนคิดต่อไปว่า แล้วถ้าเป็นอาคารอย่างพวกโบสถ์ หอระฆัง หอกลอง หอพระไตรปิฏกล่ะ อาคารเหล่านี้มันตอบโจทย์การใช้งานยุคปัจจุบันไหม ซึ่งถ้าถามเรา เราก็จะบอกว่าบางอย่างมันไม่ตอบโจทย์แล้ว แต่ว่าทำไมอาคารเหล่านี้ยังจำเป็นต้องมีอยู่ล่ะ เพราะว่ามันมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมไง หากวันหนึ่งเจ้าอาวาสอยากปรับเปลี่ยนโบสถ์ให้ติดแอร์ได้ เวลาใช้งานจะได้ไม่ร้อน สังคมก็อาจจะมีคำถามว่าทำได้ไหม ทำได้มากน้อยขนาดไหน แต่ทำไมเรากลับไม่มีชุดคำถามหรือชุดความคิดการประเมินคุณค่าทางสถาปัตยกรรมแบบนี้กับงานโมเดิร์นในไทยเลย”

“จริงๆ หน่วยงานของรัฐบาลเองก็เป็นตัวละครสำคัญของประเด็นนี้นะ เพราะเขามีเครื่องมือในการควบคุมหรือกำหนดกรอบการประเมินคุณค่าทางสถาปัตยกรรมของอาคารในประเทศไทยเอาไว้ แต่ทำไมกรอบหรือเครื่องมือที่ว่าไม่เคยนำบริบทของสถาปัตยกรรมโมเดิร์นเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเลย อย่าง สกาลา ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์แบบสแตนอโลน โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์น ซึ่งคนทั่วไปอาจจะมองว่าถ้าจะทุบตึกก็ทุบไปเพราะมันเป็นที่ของเขา แต่อยากให้เราลองมองเรื่องนี้ด้วยกรอบเดียวกัน สมมุติถ้าวัดแห่งหนึ่งจะมีการทุบโบสถ์หรือหอระฆังเก่าทิ้ง เราก็จะปล่อยให้วัดทุบไปใช่ไหมเพราะมันเป็นที่ของวัด ซึ่งในความเป็นจริงมันทำไม่ได้ไง เพราะมันมีหน่วยงานที่คอยกำกับเรื่องนี้ของวัดอยู่ มันน่าเศร้าที่ไม่เกิดกระบวนการดังกล่าวกับสถาปัตยกรรมโมเดิร์นเลย เหมือนมันไม่มีความเท่าเทียมกันในโลกของคุณค่าทางสถาปัตยกรรมในบ้านเรา”

“เพราะฉะนั้นเวลาเรามาถกเถียงกันเรื่องคุณค่าของทางสถาปัตยกรรม เราก็ต้องระลึกไว้ด้วยว่ามันมีมิติต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่มาก ไม่มีคำว่าของเก่าของใหม่อะไรดีกว่า เราต้องถกเถียงกันเป็นเรื่อง ๆ ไป หากเราจะคุยกันด้วยเรื่องการใช้งานของอาคารหลังนี้ว่ามีการใช้งานที่ครอบคลุมเหมาะสมกับผู้ใช้หรือไม่ ก็ต้องยอมรับว่า อาคารโมเดิร์นหลายแห่งก็ไม่ได้ตอบโจทย์ในประเด็นนี้ แต่ในขณะเดียวกัน อาคารในสถาปัตยกรรมไทยประเพณีหลายแบบก็ไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องการใช้งานอย่างครอบคลุมเช่นเดียวกัน แต่พอเอาเรื่องของศิลปะเข้ามาเกี่ยวข้อง คุณค่าทางศิลปะของอาคารยุคไทยประเพณีก็จะโดดเด่นขึ้นจนมาแทบจะเป็นเหตุผลที่อาคารหลังนั้นจะอยู่รอดหรือได้รับการอนุรักษ์ไว้ ส่วนงานโมเดิร์นก็แทบจะหลุดออกไปจากระบบการประเมินคุณค่าทางสถาปัตยกรรมโดยรัฐไปเลย เพียงเพราะว่างานโมเดิร์นอาจไม่ใช่สิ่งที่รัฐใช้เป็นไม้บรรทัดวัดคุณค่าทางศิลปะในประเทศหรือเปล่า”

ลา สกาลา: บทเรียนครั้งสำคัญของคุณค่าสถาปัตยกรรมโมเดิร์นในไทย

“เราไปที่สกาลาวันสุดท้ายในฐานะผู้สังเกตการณ์ ไปเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ เราจำได้ว่ามีเพื่อนเราคนหนึ่งพูดถึงเหตุการณ์นี้ได้ตลกร้ายมาก เขาบอกว่า “เหมือนคนป่วยไอซียูที่ใกล้ตายเพียงแค่รอถอดสายออกซิเจน แต่ก็ยังมีคนมาขอถ่ายรูปกับคนใกล้ตายคนนี้อยู่” ซึ่งก็ต้องยอมรับกันตรง ๆ ว่า แม้คนจำนวนไม่น้อยที่มาในวันสุดท้ายของสกาลาจะมาถ่ายรูปเพื่อรำลึกความหลังจนเกิดเป็นกระแส ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่ดีนะ แต่ถ้าเราพูดในแง่ของพลังประชาชนที่รวมกันต่อสู้เพื่อรักษาที่นี่ไว้ ก็คือน่าเสียดายที่มันเกิดขึ้นในวันที่สายไปแล้ว เพราะแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีความพยายามของกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยที่เกี่ยวข้องจากทางวงการสถาปัตยกรรมและทางวงการภาพยนตร์เพื่อหาทางรักษาสกาลาไว้ก็ตาม แต่สุดท้ายมันไม่แรงพอ จนมันเดินทางมาถึงวันสุดท้ายที่เราทำได้แค่ร่วมอำลาที่นี่อย่างที่ทุกคนเห็นกัน”

“สกาลาเป็นเคสที่เรารู้สึกว่าชัดเจนที่สุดในเรื่องการประเมินคุณค่าสถาปัตยกรรมโดยรัฐ เราเสียดายที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ไม่ได้ลงมาดูแลอย่างจริงจัง น่าเศร้ากว่าคือเขากลับมองมันด้วยมิติเพียงแค่ว่าสถานะอาคารสมควรที่จะเป็นโบราณสถานหรือไม่ ทั้งที่สกาลามันสะท้อนมิติทางวัฒนธรรมที่มากกว่าแค่เรื่องอายุอาคารไว้มาก หากเราจะบอกว่าประเพณีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากพุทธศาสนา เป็นวัฒนธรรมที่สมควรได้รับการอนุรักษ์ แล้วการดูหนังในโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนนั้นสมควรถือว่าเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของสังคมเราได้หรือเปล่า มันเป็นตัวแทนภาพของสังคมยุคหนึ่งในบ้านเราได้หรือเปล่า ซึ่งสกาลาคือตัวอย่างของสถาปัตยกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมนั้นโดยตรง เราไม่ควรใช้แค่เกณฑ์ของอายุสถาปัตยกรรมมาตัดสินคุณค่า เพราะมันไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะตัดสินใจได้ว่าสถาปัตยกรรมนั้นมีคุณค่าหรือไม่”

“หากรัฐยอมรับว่าโรงหนังสแตนอโลนเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของบ้านเราได้ สกาลาก็จะกลายเป็นสถานที่สำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งของวัฒนธรรมการดูหนังบ้านเราได้เลย เพราะมันก็คือสถานที่ซึ่งยังรักษาคุณค่าทั้งหมดเอาไว้อย่างครบถ้วน เราเห็นด้วยกับฟิลิป แจบลอน (Philp Jablon) (นักวิจัยอิสระด้านการอนุรักษ์โรงภาพยนตร์สแตนอโลนในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน The Southeast Asia Movie Theater Project) ที่เคยพูดว่า ไม่มีโรงภาพยนตร์สแตนอโลนที่ไหนในประเทศไทยที่มีชีวิตอย่างสมบูรณ์ได้เทียบเท่าสกาลาอีกแล้ว หรือแม้กระทั่งนักวิชาการหลายท่านที่ทำงานด้านนี้ ก็พูดว่าสกาลามันไม่ได้เป็นแค่โรงหนังสแตนอโลนแล้ว แต่มันคือ มูฟวี่พาเลส (Movie Palace) มันเป็นโรงหนังที่มีการออกแบบทางสถาปัตยกรรมให้โดดเด่นในความสวยงาม วิจิตรตระการตา แต่น่าเสียดายที่มันกลับไม่ถูกชื้ให้เห็นคุณค่าอย่างชัดเจน”

หลัง “ลา สกาลา”

“จริงๆ ตอนจบงานลาสกาลาแล้วก็มีการเจรจากันอยู่นะ ในเรื่องที่อยากจะให้รักษาตัวอาคารโดยเฉพาะส่วนที่เป็นโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมเอาไว้ แต่เราเองก็ตอบไม่ได้หรอกว่ามันจะจบลงตรงไหนเพราะเราก็ไม่ได้เป็นในวงการโดยตรง แต่ที่เราเดินสำรวจและพอรู้มาบ้างก็คือทางสวนนงนุชซึ่งเป็นเจ้าของเดียวกันกับบริษัทเอเพ็กซ์ผู้ดำเนินกิจการฉายหนังที่สกาลา ก็เอาส่วนประกอบอาคาร พวก โคมระย้า ดาวเพดาน ฉากด้านหลังที่ขายตั๋ว งานปูนปั้นในห้องอาหาร กลับไปเก็บดูแลไว้ที่สวนนงนุชพัทยาหมดแล้ว ก็คงเดาว่าสุดท้ายสกาลาน่าจะเหลือแต่โครงสร้างอาคารอย่างเดียวจริง ๆ ซึ่งถ้าจะปลอบใจตัวเองให้กับเรื่องนี้หน่อย ก็คงจะเป็นอย่างน้อยเหลือแค่โครงเสาไว้นะ (หัวเราะ)”

“เราคิดว่ามันยังมีความเป็นไปได้นะที่สกาลาจะสามารถชุบชีวิตได้ใหม่ไปเป็นแบบที่โรงหนังลิโดเปลี่ยนไปเป็น Lido Connect เพราะมันก็คือตัวอย่างของการคลี่คลายรูปแบบการใช้งานของสถาปัตยกรรมโมเดิร์นที่เปลี่ยนแปลงไปตามสมัย ซึ่งหากสกาลามันเปลี่ยนไปในทิศทางนั้นจริง ก็ขอให้คงโครงสร้างหลักของอาคารไว้อยู่เพื่อคุณค่าทางสถาปัตยกรรมนะ แต่ก็ไม่รู้ว่าสุดท้ายมันจะกลายเป็นแบบนั้นหรือเปล่าอยู่ดี”

“ลึก ๆ เราแอบฝันว่าเรื่องสกาลามันยังไม่จบเสียทีเดียว อาจเพราะด้วยกระแสสังคมที่เกิดขึ้นในกลางปีที่แล้ว ที่ทำให้ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของมันอาจจะเปลี่ยนไปเพราะสังคมจับตามองอยู่ แต่สุดท้ายแล้วมันก็มีความเป็นไปได้สูงเหมือนกันที่อนาคตสกาลาอาจจะถูกแทนที่ด้วยอาคารที่ตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งมันก็คือหนึ่งในเหตุผลหลัก ๆ ที่ทำให้สถาปัตยกรรมโมเดิร์นจำนวนมากในประเทศไทยต้องถูกทุบทำลายไปนั่นแหละ”

ขอขอบคุณรูปภาพประกอบบทสัมภาษณ์จากเพจ Foto_momo