ณฐพล บุญประกอบ คนในอยากบอก คนนอกอยากรู้ เบื้องหลังก่อนจะมาเป็นภาพยนตร์สารคดี เอหิปัสสิโก (COME AND SEE)
“เอหิปัสสิโก ท่านทั้งหลายจงมาดู มาพิสูจน์เถิด” นี่อาจจะเป็นประโยคสั้น ๆ ที่สามารถบรรยายใจความสำคัญของภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ไว้ได้อย่างครบถ้วนที่สุด เมื่อความจริงของเราอาจจะไม่ใช่ความจริงของคนอื่น
‘ไก่-ณฐพล บุญประกอบ’ ผู้กำกับที่เคยฝากฝีไม้ลายมือไว้ในภาพยนตร์สารคดี ‘2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว’ กลับมาอีกครั้งกับภาพยนตร์สารคดีเรื่องใหม่ที่จะพาเราไปสำรวจทุกแง่มุมที่มีต่อกรณีพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายที่ถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จนนำไปสู่เหตุการณ์ในภาพข่าวที่สร้างความตื่นตะลึงในสังคมไทย ทั้งการนำกำลังเจ้าหน้าที่รัฐปิดล้อมวัด และการนั่งสมาธิปิดทางเข้าออกวัดของเหล่าศิษยานุศิษย์
เอหิปัสสิโก (COME AND SEE) นำเสนอการเผชิญหน้าทางความเชื่อจากทั้งผู้มีจิตศรัทธาในตัวพระธัมมชโย และกลุ่มคนต่อต้านวัดพระธรรมกาย โดยไม่เลือกข้างวางให้ใครเป็นฝ่ายถูกหรือผิด และยังพาเราไปสำรวจมุมมองและข้อสังเกตของเหล่านักวิชาการที่มีต่อปรากฎการณ์นี้ ว่าศาสนา รัฐ และสังคมไทยมีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกันอย่างไรบ้าง
ดังนั้น คำว่าเอหิปัสสิโกในที่นี้อาจเป็นได้ทั้งกระบวนการทำสารคดีที่ต้องเข้าไปเจอและพิสูจน์ด้วยตาตัวเองก่อนจะนำมาถ่ายทอดต่อ และอาจยังหมายถึงการเชื้อเชิญของคนในวัดที่อยากให้บุคคลภายนอกได้เข้ามาพิสูจน์ข้อเท็จจริง ไม่ต่างกับการที่ฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐก็พยายามนำตัวพระธัมมชโยมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ผ่านกระบวนการ ‘ยุติธรรม’ เช่นเดียวกัน
GroundControl ขอพาทุกคนไปร่วมพูดคุยกับผู้กำกับท่านนี้ เพื่อร่วมแบ่งปันเรื่องราวเบื้องหลังการทำภาพยนตร์ ไปจนถึงการแลกเปลี่ยนมุมมองของเขาที่มีต่อเหตุการณ์กรณีพิพาธของวัดพระธรรมกายกับรัฐในครั้งนี้ที่รับรองว่าไปไกลกว่าแค่เรื่องศาสนาแน่นอน
จุดเริ่มต้นก่อนจะเป็นเอหิปัสสิโก
“เราเติบโตมาด้วยการมองพุทธศาสนาเป็นวิธีคิดเชิงปรัชญาและจิตวิญญาณ แต่ไม่ได้ให้ความสนใจกับมันในส่วนเรื่องเล่า สำหรับเรา มันไม่สำคัญว่าพระพุทธเจ้าเกิดมาแล้วเดินกี่ก้าว ตรัสรู้ใต้ต้นอะไร ตายแล้วต้องไปขึ้นสวรรค์หรือลงนรก นั่นไม่ใช่สาระสำคัญของศาสนา มันมีหน้าที่เป็นสัญลักษณ์และเครื่องมือยึดโยงผู้คนและคำสอนเพื่อถ่ายทอดคำสอนและวิธีคิดซึ่งเป็นใจความสำคัญของแต่ละศาสนามากกว่า ดังนั้น พุทธศาสนาในสายตาเราเป็นแนวทางปรัชญาการใช้ชีวิตเท่านั้น
จนเราไปเรียนต่อปริญญาโทด้านสารคดีที่สหรัฐอเมริกาแล้วต้องทำธีสิสจบ ตอนแรกก็ไม่ได้สนใจประเด็นศาสนาเลย ตั้งใจจะทำเรื่องอื่นด้วยซ้ำ แต่พอกลับมาประเทศไทยช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนก็เห็นข่าวเหตุการณ์กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ปิดล้อมวัดพระธรรมกาย มีเหล่าศิษยานุศิษย์มานั่งสมาธิขวางตำรวจ เราก็เกิดความสนใจว่า อะไรคือปมความขัดแย้งที่นำไปสู่เหตุการณ์นี้ เพราะมันเป็นส่วนประกอบที่ดูเป็นขั้วตรงข้ามกันมาก ๆ สำหรับเรา ก็เลยตัดสินใจศึกษาและทำหนังเรื่องนี้
ซึ่งตอนแรกที่เริ่มถ่ายทำ เราก็ไปสัมภาษณ์เหล่าศิษยานุศิษย์ของวัดพระธรรมกายเพื่อถ่ายทอดภาพความศรัทธาอันแรงกล้าจนเกินกว่าความเข้าใจของคนข้างนอกวัด แต่พอเราต้องทำหนังให้ฝรั่งดูมันก็มีความจำเป็นต้องทำให้เห็นภาพความขัดแย้งระหว่างคนในวัดกับคนนอกวัดให้คนดูต่างชาติสามารถเข้าใจถึงบริบทของสังคมและวัฒนธรรมมากขึ้น เราก็เลยต้องไปสำรวจฝั่งต่อต้านวัด ทั้งอดีตลูกศิษย์ อดีตพระในวัด ถึงเหตุผลและประสบการณ์ของเขาด้วย และสิ่งเหล่านี้เอง นำมาซึ่งการไปสัมภาษณ์บุคคลที่ 3 ซึ่งก็คือมุมมองของนักวิชาการที่มีต่อปรากฏการณ์วัดพระธรรมกายที่เกิดขึ้น เพื่อปูพื้นฐานความเข้าใจต่อบริบทสังคมและความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนาและสังคมไทยประกอบไป”
วัดพระธรรมกายกับมุมมองที่หลากหลาย
“พอต้องเริ่มเข้าไปพูดคุยเพื่อสำรวจมุมมองความคิดที่แตกต่าง คนที่ต่อต้านวัดเราก็เลือกจากคนที่อยู่ในสื่ออยู่แล้ว โดยเริ่มจากหมอมโน (ดร.นพ.มโน เลาหวณิช) ก่อน เขาเป็นตัวตั้งตัวตีในการสร้างเครือข่ายกลุ่มต่อต้านวัดพระธรรมกายและเป็นคนเชื่อมต่อไพบูลย์ นิติตะวัน และพี่สาว ซึ่งเป็นลูกศิษย์เก่าของวัดให้เราอีกที
ส่วนเหล่าศิษยานุศิษย์ วัดเป็นคนเลือกและจัดหาให้ทั้งหมด ซึ่งตอนแรกเราก็ไม่แน่ใจว่าการที่วัดอำนวยความสะดวกให้ทุกอย่าง ทั้งติดต่อประสานงานและเลือกคนมาให้สัมภาษณ์ทั้งหมดจะเป็นเรื่องดีไหม มองในมุมหนึ่งมันก็คือการเซ็นเซอร์ แต่พอมองในอีกมุมหนึ่งมันก็เป็นข้อดี เพราะเราต้องการให้เขานำเสนอคนที่จะบอกเล่าความเป็นวัดได้ดีที่สุด โดยที่เขาจะได้ไม่มีข้อโต้แย้งว่านี่ไม่ใช่คนที่จะเป็นตัวแทนของวัด แต่ระหว่างการถ่ายทำ ทางวัดก็ไม่ได้เข้ามากรองคำถามเราก่อนว่าอันนี้ห้ามถาม อันนี้ถามได้ เขาก็ปล่อยให้เรามีอิสระในการถ่ายทำ ตัวบุคคลที่เราสัมภาษณ์เขาก็ตอบตามสิ่งที่เขาเชื่อและรับรู้อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งเรามองว่าเขาค่อนข้างจริงใจในสิ่งที่เขาเชื่อ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าสิ่งที่เราถามไม่ได้มีเจตนาจะไปเปิดโปงหรือทำให้เขาอับอายเขา เพราะจุดประสงค์ของการทำหนังเรื่องนี้ไม่ได้พยายามให้ความสนใจที่จุดนั้น แต่สำหรับเราใจความสำคัญของหนังอยู่ที่อะไรคือสิ่งที่ทำให้เขายังอยู่ในเส้นทางนี้แม้วัดพระธรรมกายจะมีข้อครหามากมายจากบุคคลภายนอกแต่ก็ยังตัดสินใจที่จะอยู่และศรัทธาต่อไปมากกว่า”
ศรัทธาอันแรงกล้าของเหล่าศิษยานุศิษย์
“พอมันเป็นเรื่องศาสนาซึ่งเป็นประเด็นที่เฉพาะตัวบุคคลมาก ๆ สำหรับเรามองว่าสิ่งที่คนในหนังแต่ละคนพูด ไม่ว่าจะมาจากฝั่งไหน ก็เป็นความคิดเห็นที่พิสูจน์ได้ยากทั้งนั้น ดังนั้น ทุกคนอาจจะพูดความจริงหมด หรืออาจจะไม่มีใครพูดความจริงเลยก็ได้ มันน่าสนใจมากที่คน ๆ หนึ่งจะถูกมองด้วยสายตาที่แตกต่างกันได้ขนาดนี้ พระธัมมชโยคนเดียวถูกมองว่ามองว่าชั่วร้ายในสายตาคนกลุ่มหนึ่ง ในขณะที่สำหรับคนอีกกลุ่มหนึ่งกลับศรัทธาจนถึงขั้นยอมสละชีวิตให้ได้
ซึ่งหลายคนอาจจะตกใจที่มีคนศรัทธาถึงขั้นนั้น แต่พอมองด้วยสายตาคนกำกับหรือเขียนบทหนัง เราว่าตัวละครที่มีความหลงใหลกับอะไรสักอย่างอย่างแรงกล้ามักจะเป็นตัวละครที่น่าสนใจเสมอ ไม่ว่าจะเป็นคนที่ยอมสละชีวิตให้หลวงพ่อ เด็กแข่งดีดลูกแก้ว นักกีฬา หรือนักดนตรี มันน่าสนใจว่าเมื่อตัวละครเหล่านี้ต้องเจออุปสรรค เขาจะก้าวข้ามหรือเปลี่ยนแปลงมันยังไง ซึ่งเมื่อเรามามองในมุมของผู้ศรัทธาวัดพระธรรมกาย เราก็เลยสนใจว่าอะไรที่ทำให้เขาต้องทำขนาดนั้น โดยที่ไม่ได้ไปว่าหรือตัดสินเขา เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดามากที่หลายคนจะคิดว่าเขามีจะอิสระก็ต่อเมื่อเขาได้รับใช้สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง เป็นมุมมองที่ใช้ได้กับทุกเรื่อง ทั้งชาติ ศาสนา หรือแม้กระทั่งทีมฟุตบอล”
ที่ทางของคนทำสารคดีในประเด็นอ่อนไหว
“คนมักจะมองว่าสารคดีที่ดีต้องไม่มีความคิดเห็นส่วนตัวในนั้น แต่สำหรับเรา แม้แต่คนทำสารคดีก็ย่อมมีความคิดเห็นส่วนตัวในใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่ความคิดเห็นส่วนตัวนั้นเราจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว จะถูกนำไปใช้ไปในทิศทางไหน และเพื่ออะไรมากกว่า การจะทำสารคดีสักเรื่อง มันผ่านตัวเลือกมหาศาล จะเล่าเรื่องอะไร ถ่ายอะไร สัมภาษณ์ใคร เอาประโยคไหนมาใช้ ตัดต่อกับเพลงแบบไหน ใช้กล้องอะไร เลนส์แบบไหน ภาพถ่ายมุมไหน แสงแบบไหน มันคือการเลือกของคนทำทั้งหมด
ในส่วนของเรา เราทำหนังเรื่องนี้ด้วยความสงสัย เปรียบเทียบเหมือนทีมฟุตบอล เราเป็นผู้เล่นทีมหนึ่งไปเตะกับอีกทีมหนึ่ง ตอนแรกเราก็ย่อมอยากรู้ว่าทีมนั้นเขาเตะกันยังไง แต่เมื่อเตะกันไปสักพักเรากลับเริ่มค้นพบคำถามใหม่ ๆ เหมือนเราได้ลอยสูงขึ้นจากสนาม ได้เห็นภาพกว้างและเกิดข้อสงสัยว่าทำไมสนามถึงเป็นรูปทรงนี้ ทำไมลูกบอลถึงกลม ทำไมถึงต้องมีสองประตู ใครเขียนกฎนี้ขึ้นมา และทำไมเราต้องเรียกเกมนี้ว่าฟุตบอล มันเกิดคำถามใหม่ ๆ ขึ้นเรื่อย ๆ ในระหว่างระยะเวลาที่เราทำหนังเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นการวางตัวของเรามันไม่ใช่การวางตัวว่าเราจะอยู่ฝ่ายไหน แต่เป็นการวางตัวเป็นคนขี้สงสัยและอยู่นอกในเกมนี้มากกว่า คนชอบมองว่าถ้าเราไม่อยู่ทีม A ก็ต้องอยู่ทีม B คือถ้าไม่ชอบวัดพระธรรมกายก็ต้องเกลียดเลย แต่จริง ๆ ชีวิตเรามันไม่จำเป็นต้องเลือกแบบนั้น เราไม่จำเป็นต้องอยู่ในเกมเสมอไป แค่ไปเดินอยู่ในสนามเท่านั้นเอง”
สิ่งที่ตกผลึกได้ระหว่างการถ่ายทำ
“เราค่อนข้างเห็นด้วยกับสิ่งที่เหล่านักวิชาการพูดในหนังที่ว่า คนไทยต่างเติบโตมาในรัฐที่ปลูกฝังให้บูชาพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติและเป็นตัวแทนของความดีทั้งมวล แล้วพอมันมีปรากฏการณ์วัดพระธรรมกายเกิดขึ้น มันก็เลยกลายเป็นสิ่งที่แปลกและแตกต่างเกินกว่าความคุ้นเคยของเราจะเข้าใจ ทำให้วัดกลายเป็นตัวตลกในสังคม ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ถ้าเรามองจากตำราหรือแก่นการสอนจริง ๆ มันอาจจะมีบางอย่างที่คล้ายคลึงกับพุทธศาสนากระแสหลักที่เราคุ้นเคย เช่น การทำบุญบริจาคแล้วคาดหวังผลลัพธ์ที่ดีจากการกระทำนั้น ๆ ซึ่งแน่นอนมันอาจจะไม่สามารถทาบทับกันได้ทั้งหมด เพราะวัดพระธรรมกายอาจจะมีการเน้นย้ำบางจุดที่ค่อนข้างสุดขั้ว แต่ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของวัด อย่างน้อย ๆ ศาสนามันควรจะเป็นประเด็นที่สามารถถกเถียงและแลกเปลี่ยนกันในสังคมได้ ไม่ควรมีใครถูกทำร้ายหรือทำให้เป็นตัวตลกเพียงเพราะเรื่องศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมของคนรุ่นใหม่ที่เริ่มตื่นตัวกับเรื่องการบูลลี่คนอื่น ไม่ว่าจะด้วยรูปลักษณ์ เชื้อชาติ เพศสภาพ หรือความเชื่อ
นอกจากนี้ เรายังเชื่อว่า ศาสนาจำเป็นต้องปรับตัวและอยู่รอดให้ได้ในสังคมรัฐสมัยใหม่ (Modern State) โดยที่รัฐไม่ควรจะไปอุ้มชูหรือสนับสนุนศาสนาใดศาสนาหนึ่งมากเกินไป เมื่อมองศาสนาผ่านมุมมองของตลาดแบบเศรษฐศาสตร์ ถ้าคุณปรับตัวได้และมีหน้าที่จำเป็นกับสังคมปัจจุบันจริง ๆ ย่อมเฟื่องฟูและไปต่อได้ เราอยากให้ตลาดเป็นตัวตัดสิน ซึ่งตลาดในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการซื้อขาย แต่หมายถึงการให้เสรีภาพในการเลือกศรัทธาได้ด้วยตัวเองโดยที่ไม่ต้องถูกปลูกฝังโดยรัฐ ไม่ว่าจะด้วย Hard Power หรือ Soft Power ก็ตาม เรารู้สึกว่าปัญหามากมายมักเกิดขึ้นในนามของความดีและความถูกต้องด้วยบรรทัดฐานของศาสนาแทบทั้งนั้น ไม่ใช่แค่พุทธศาสนา แต่เกิดขึ้นกับทุกศาสนา มันคือสิ่งสากลที่มีทั่วโลก”
ผลตอบรับจากต่างประเทศในบริบทสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่าง
“ตอนที่เราทำหนังเสร็จและเอาไปเสนอคณะกรรมการตรวจธีสิสที่สหรัฐอเมริกา เขาก็ชื่นชมและให้ความสนใจ เพราะประเด็นของวัดพระธรรมกายมีความแปลกใหม่สำหรับเขา ซึ่งถึงแม้ว่าเขาจะสามารถเชื่อมโยงกับประเด็นความเชื่อในบ้านเขาอย่างแนวคิดของ Scientology หรือคริสต์ Mormon ที่มีเคสใกล้เคียงกันได้บางส่วน แต่มันก็ไม่สามารถเทียบเคียงกันได้ทั้งหมด เพราะบริบททางสังคมและความเชื่อมันต่างกันจนยากที่จะทำความเข้าใจ อย่างวิธีคิดเรื่องบุญ-บาปของพุทธศาสนาก็เป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนและห่างไกลจากวิธีคิดที่เขามี ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องที่ผิดหรือถูก เพียงแต่ต้องอาศัยการอธิบายทำความเข้าใจให้เขามากขึ้น
อย่างตอนที่เราเอาหนังไปฉายที่เทศกาล Busan International Film Festival เมื่อปี 2562 ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ เราได้ฉาย 3 รอบ ก็มีคนดูจำนวนหนึ่ง ซึ่งสำหรับเรามองว่ามีปฏิกิริยาไม่ต่างจากฝรั่งเท่าไหร่ คือเขาสามารถเข้าใจและเชื่อมโยงกับประเด็นนี้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้เข้าใจลึกซึ้งถึงบริบททางสังคม การเมือง และวัฒนธรรม สังเกตได้จากคำถามที่จะไม่ได้ลงลึกเจาะจงแบบคนไทย จะเป็นคำถามกลางๆ เช่น มุมมองที่เรามีต่อเหตุการณ์นี้ หรือพระธัมมชโยไปไหน แต่เราก็ดีใจที่ได้รวบรวมภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมเราแล้วถ่ายทอดให้คนต่างชาติต่างสังคมวัฒนธรรมได้เห็นได้เข้าใจ เผื่อว่ามันจะใช้เทียบเคียงกับบริบทในสังคมเขาได้ในวันหนึ่ง”
จากหนังที่ตั้งใจจะฉายแค่วงเล็ก ๆ สู่สายตาสาธารณชน และการมาถึงของกองเซ็นเซอร์
“แม้ว่าหนังเรื่องนี้จะทำเสร็จตั้งแต่ช่วงปี 2560 ก่อนเราจะไปทำหนังสารคดี ‘2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว’ ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ในปี 2561 แต่ด้วยความอ่อนไหวของประเด็นศาสนา ก่อนหน้านี้เราจึงตั้งใจจะฉายแค่ในวงเล็ก ๆ โดยที่เราไม่มีความคิดที่จะเอามันมาฉายวงกว้างในประเทศไทยเลย จนกระทั่งเราคุยกันในทีมว่าอยากเช่าโรงหนังเพื่อฉายให้เพื่อน ทีมงาน และคนที่คอยให้ความช่วยเหลือในการสร้างหนังเรื่องนี้ได้ดู เราเลยติดต่อไปที่โรงหนัง HOUSE SAMYAN เพื่อจะขอเช่าโรง ตอนนั้นเราได้คุยกับพี่จ๋อง (พงศ์นรินทร์ อุลิศ) ที่เป็นหุ้นส่วน พอเขาได้ดูก็ชอบและแนะนำให้เอามาฉายวงกว้าง เพราะถึงจะฉายแบบเช่าโรงก็ต้องส่งหนังไปให้กองเซ็นเซอร์ตรวจสอบก่อนอยู่ดี เราก็เลยตัดสินใจส่งไปให้เขาตรวจสอบแบบเงียบ ๆ
หลังจากนั้น เราก็ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่กองเซ็นเซอร์ว่าเขามีความกังวลเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ โดยรอบแรกเขาแจ้งแค่ว่าคดียังไม่จบ กลัวว่าหนังจะไปสร้างความวุ่นวายและแปลกแยกในสังคม แต่พอรอบสองเขากลับแจ้งว่าได้มีการเชิญคนจากกรมศาสนามาตรวจสอบในส่วนเนื้อหาคำสอนของวัดพระธรรมกาย สุดท้ายเราเลยไม่แน่ใจว่าความกังวลของเขาคือส่วนไหนกันแน่
ซึ่งพอเรื่องนี้กลายเป็นกระแสในโลกโซเชียล มีคนแชร์ข่าวว่าหนังจะโดนแบนไปร่วมหมื่นคน ทำให้หนังกลายเป็นที่สนใจขึ้นมา มันทำให้เราเห็นว่ามีคนสนใจสิ่งนี้อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน ถึงแม้จะมีการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อด้วยการใช้กฎหมายมาควบคุม แต่เรามองว่าทุกวันนี้คนในสังคมมีความพร้อมในการถกเถียงอย่างเปิดกว้างมากขึ้น เรามองว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราจะท้าทายตัวเองด้วยการเอาหนังขึ้นมาพูดในวงกว้างให้คนทั่วไปได้ดูและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน”
4 ปีผ่านไป ประเด็นเดิม ๆ ยิ่งชัดเจนมากขึ้น
“พอหนังมันถูกนำมาฉายหลังจากถ่ายทำเสร็จร่วม 4 ปี ในมุมมองของปัจจุบัน ประเด็นหลาย ๆ อย่างในหนังก็ยิ่งชัดเจนขึ้น อย่างแรกคือเรื่องความสัมพันธ์ของปัจเจกบุคคลกับสถาบันทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นศาสนาหรือสถาบันทางการเมืองอื่น ๆ ที่เมื่อเกิดเหตุการณ์บางอย่าง เช่น มีการฆ่าตัวตายเพื่อประท้วงรัฐบาล หรือมีคนตายเพราะถูกเจ้าหน้าที่ปิดกั้นอยู่ในวัด แต่ท้ายที่สุดกลับไม่มีใครประกาศตัวรับผิดชอบต่อสิ่งเหล่านี้เลย สุดท้ายแล้วการที่เราเอาตัวเองไปยึดโยงกับสถาบันที่ใหญ่กว่ามาก ๆ แล้วในท้ายที่สุดเขากลับไม่รับผิดชอบหรือรองรับเราเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งก็ไม่รู้จะไปโทษใคร เหตุการณ์เหล่านี้มันเป็นประเด็นที่สากลมากและเกิดขึ้นในทุกยุคทุกสมัย
หรืออย่างเรื่องการใช้อำนาจรัฐในการจัดการกับวัดพระธรรมกายในกรณีนี้ เมื่อเวลาผ่านไป 4 ปี สิ่งนี้ยิ่งเห็นชัดเจนมากขึ้น คนที่ได้ดูหลาย ๆ คนก็คิดตรงกันว่าหนังมันถูกฉายถูกที่ถูกเวลา เพราะทุกวันนี้คนเริ่มมองเห็นรูปแบบของรัฐที่จะกระทำต่อกลุ่มผู้เห็นต่าง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นศาสนาหรือการเมืองก็ตาม”
เพราะการถกเถียงจะพาสังคมไปได้ไกลกว่าเดิม
“สุดท้ายหนังเรื่องนี้อาจจะไม่ได้เปลี่ยนใจหรือสร้างความเข้าใจใหม่ให้ใครเลยก็ได้ แต่เรามุ่งหวังให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นบางอย่างในสังคม ไม่ว่าจะรักหรือเกลียด แต่มันจะพาข้อถกเถียงนี้ไปข้างหน้าได้ไกลกว่าเดิม อยากให้หนังเรื่องนี้เป็นตัวจุดประเด็นให้เกิดบรรทัดฐานใหม่ว่าวุฒิภาวะในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของสังคมเราเป็นยังไง ไม่ว่าจะเป็นที่ทางของความเชื่อที่แตกต่าง หรือความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับรัฐ มันจะถูกนำมาพูดถึงอีกครั้ง และหวังว่ามันจะถูกมองด้วยมุมมองและคำตอบใหม่ ๆ ที่อาจจะไปไกลกว่าแค่ประเด็นศาสนา”