เบื้องหลังรูปปั้น ‘มนุษย์เงือก’ ของ Parada Wiratsawee กับภาพสะท้อนชีวิตอันไร้ทางเลือกของสัตว์ในกรง
เชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะคุ้นหน้าคุ้นตากับข่าว ‘มนุษย์เงือก’ หรือ ‘มนุษย์ดุกอุย’ ที่กลายเป็นไวรัลดังในต่างประเทศ จนเรียกเสียงฮาให้กับชาวเน็ตกันได้อยู่บ้าง เพราะแท้จริงแล้วเจ้ามนุษย์ประหลาดที่ว่านั่น คือผลงานธีสิสของ ไมค์ - ภาราดา วิรัสวีร์ ศิลปินอิสระ ผู้เคยจัดแสดงงานไว้ใน ‘นิทรรศการศิลปนิพนธ์ PI R2 Art Thesis Exhibition’ ร่วมกับเพื่อน ๆ เมื่อปี 2018
แต่เห็นขำ ๆ กันแบบนี้ พอลองค้นลึกลงไปถึงความหมายของชิ้นงาน ก็จะพบกับความหมายและการตั้งคำถามอันแสนลึกซึ้งของศิลปิน เพราะประติมากรรมสุดสมจริงชิ้นนี้ เป็นหนึ่งในผลงานชุด ‘สิ่งมีชีวิตภายใต้การกำหนดของมนุษย์’ ที่ต้องการนำเสนอเรื่องราวของสัตว์ที่ถูกมนุษย์กำหนดหน้าที่ให้อย่างไม่มีทางเลี่ยง ผ่านการออกแบบประติมากรรมให้มีความสมจริงชนิดแค่เห็นภาพก็ได้กลิ่น เพื่อกระตุ้นให้คนดูอย่างเรา ๆ ได้ตั้งคำถามถึงคุณค่าของชีวิต ว่าแท้จริงแล้วเรามีอำนาจแค่ไหนในการกำหนดคุณค่าให้กับสิ่งมีชีวิตอื่น
และเมื่อเราได้พูดคุยกับภาราดาอย่างเป็นทางการ เขาก็ยังบอกเราอีกว่า นอกเหนือจากมนุษย์ปลาดุกสุดไอคอนิกชิ้นนี้แล้ว เขายังทำผลงานมนุษย์ประหลาดตัวอื่น ๆ ไว้อีกหลายเวอร์ชันมาก ๆ ให้เราได้ลองตามไปชมกัน
ภาราดาเริ่มเท้าความให้เราเห็นถึงที่มาของสไตล์การปั้นสัตว์ประหลาดสุดเหนือจริง ด้วยการเล่าถึงความทรงจำในวัยเด็กว่า “ผมกับพี่ชายชอบปั้นดินน้ำมันเป็นรูปสัตว์ประหลาดกันมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งความชอบนี้ก็ได้ติดตัวมาถึงตอนโตจนทำให้ผมชอบปั้นรูปร่างของสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีอยู่จริงตามไปด้วย และทุกครั้งที่สร้างสรรค์ ผมจะพยายามสร้างให้มันดูมีชีวิตจิตใจจริง ๆ ให้ได้มากที่สุด”
“อย่างเจ้ามนุษย์ปลาดุกที่เป็นไวรัลอยู่ตอนนี้ ผมก็ได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตในวัยเด็กที่คุ้นเคยกับภาพบรรยากาศในร้านขายปลาสด เเละเกิดเป็นความหลงใหลในความงามของปลาหลากหลายชนิดที่มีรูปลักษณ์ลวดลายที่น่าสนใจ รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ค้าขายที่มีสีสัน พื้นผิว เเละรูปทรงต่าง ๆ ในเเผงร้านขายปลาสดด้วย ผมเลยเอาภาพจำนี้มาสร้างเป็นผลงาน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวและจินตนาการที่ได้เเรงบันดาลใจจากร้านขายปลาสด”
“เเต่จุดที่ทำให้ผมเลือกเอาคนกับปลามาผสมกัน มาจากการสังเกตว่า คนเรามักจะรู้สึกกลัวตอนเห็นภาพคดีฆาตกรรมหรือฉากการผ่าตัด แต่พอเป็นฉากการเเล่ปลาเรากลับเฉย ๆ กัน ทั้งที่พวกมันเองก็เป็นสิ่งมีชีวิตไม่ต่างจากเรา ผมเลยสร้างปลาให้มีรูปลักษณ์คล้ายคนเพื่อทดสอบว่า ถ้ามันมีรูปลักษณ์เหมือนคนมากขึ้น เราจะยังกล้าฆ่าหรือกินปลาอยู่ไหม” ภาราดาขยายความถึงเบื้องหลังของชิ้นงาน
“ผลงานอีกชิ้นหนึ่งในชุดนี้ที่ผมอยากพูดถึง คือการทำเกี่ยวกับช้าง เพราะถึงแม้ว่ามันจะไม่ได้เป็นอาหารของเรา แต่มนุษย์ก็ยังเอาความเป็นคนที่ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบใส่ลงไปในตัวมัน และทำให้มันมีสถานะเป็นสัตว์พาหนะอย่างไม่มีทางเลือก มันเลยต้องมีหน้าที่เป็นพาหนะ แถมยังต้องคอยสร้างความบันเทิงในการเเสดงโชว์ต่าง ๆ เพื่อเเลกอาหารจากมนุษย์เรา ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ช้างเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในป่าได้อย่างอิสระ ไม่จำเป็นต้องมีงานเเละหน้าที่เหมือนกับมนุษย์เลย”
“สิ่งที่ผมอยากให้ผู้ชมเห็น ก็เลยเป็นเรื่องคุณค่าของชีวิต เพราะคนมักจะมองว่าการกระทำที่มนุษย์มีต่อสัตว์ ดูไม่รุนเเรงเท่ากับการที่มนุษย์ทำร้ายและฆ่ากันเอง เราจึงไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าชีวิตของมนุษย์มีคุณค่ามากกว่าสัตว์ ดังนั้นผมเลยนำเสนอสัตว์ให้มีความเป็นคนมากขึ้น จะได้ดึงสายตาและความคิดให้เห็นถึงคุณค่าชีวิตของสัตว์ที่มีเหมือนกับเรา”
นอกจากงานธีสิสที่เป็นไวรัลแล้ว หลังจากเรียนจบภาราดาก็ยังเดินหน้าสู่เส้นทางศิลปินอย่างเต็มตัว และได้เข้าร่วมงาน ‘Mango Art Festival 2023 ’ ที่เพิ่งผ่านมาด้วย ทำให้เราอยากทราบความรู้สึกของเขามาก ๆ ว่า จากนักศึกษาศิลปะสู่การเป็นศิลปินเต็มตัวนั้นมีอุปสรรคอะไรบ้าง และรู้สึกอย่างไรที่ได้ก้าวเข้าสู่อาชีพนี้
ซึ่งภาราดาก็ได้เล่าถึงชีวิตหลังเรียนจบให้ฟังว่า “ตอนนจบ ป.ตรี ใหม่ ๆ ผมอยากจะทำนิทรรศการเดี่ยวเพื่อต่อยอดจากผลงานชุด ‘สิ่งมีชีวิตภายใต้การกำหนดของมนุษย์’ ที่เคยทำไว้ เเต่อีกใจหนึ่งก็อยากเรียนต่อในระดับป.โท ผมจึงตัดสินใจใช้เงินที่ได้จากรางวัลการประกวดมาใช้ในการเรียนต่อ เเละคาดว่าน่าจะใช้เวลาเรียนต่อเพียงสองปีจบ”
“เเต่ด้วยความที่การเรียนป.โทที่ศิลปากร ในสาขาประติมากรรม จะจริงจังเรื่องเอกสารและงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์มากกว่าภาคปฏิบัติ ผมจึงต้องหาข้อมูลต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่ถนัดเลย จากนั้นความฝันในการเเสดงนิทรรศการเดี่ยวของผมที่คิดว่าจะทำควบคู่ไปพร้อมกับการเรียน ป.โท ก็เริ่มเลือนหายไป”
“นอกจากการเรียนที่ยากลำบากเเล้ว ผมยังต้องเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ผมขายงานศิลปะได้น้อยลง ซึ่งตามปกติผมจะนำรายได้เหล่านี้มาใช้ในชีวิตประจำวันเเละจ่ายเป็นค่าเทอมได้ แต่ถึงอย่างนั้นความฝันที่อยากจะเเสดงนิทรรศการเดี่ยวสักครั้งก็ยังคงอยู่ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผมจะได้โอกาสจากหอศิลป์ให้จัดแสดงงานได้ ทว่าผมยังมีปัจจัยไม่เพียงพอที่จะทำงานเเสดงเดี่ยว”
“ผ่านมา 5 ปีแล้ว ตอนนี้ผมเพิ่งเรียนจบป.โท และกำลังทดลองทำผลงานประติมากรรมขนาดเล็ก (Mini sculpture) ที่ได้รูปเเบบมาจากผลงานที่ผมเคยทำช่วงสมัยเรียนป.ตรี แล้วนำมาสร้างในขนาดเล็ก ๆ เพื่อให้นักสะสมสามารถนำไปสะสมได้บ้าง เเละผมก็ยังได้นำผลงานชุดนี้ไปเปิดจองเเละจำหน่ายในงาน Mango Art Festival 2023 เพื่อสะสมทุนในการเเสดงเดี่ยวสักครั้งในไม่ช้าอีกด้วย”
ภาราดายังแชร์ถึงแผนการของตัวเองในอนาคตไว้ด้วยว่า “ในส่วนของอนาคตผมวางเเผนไว้ว่าจะย้ายกลับไปอยู่จังหวัดชลบุรี ผมอยากกลับไปพักอยู่กับพ่อเเม่เเละสร้างสตูดิโอไว้ทำงานศิลปะ เเต่ถ้ามีโอกาสได้สอนศิลปะในจังหวัดชลบุรีผมก็จะสอนศิลปะไปด้วยครับ”
“ผลงานชุดนี้เป็นผลงานโปรเจกต์ป.โท ผมต้องการทำให้ผลงานชุดนี้เป็นเหมือนข้อความเเละทัศนคติ ที่มีต่อเรื่องราวระหว่างมนุษย์กับสัตว์ในประเด็นต่าง ๆ เช่น การใช้สัตว์เป็นวัตถุในการเเสดงอำนาจเเละสถานะ โดยผมได้ศึกษาลงไปถึงความเชื่อเกี่ยวกับสัตว์มงคลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สังเกตได้จากการที่มนุษย์มักเชื่อว่าการได้ครอบครองสัตว์ป่าหรืออวัยวะสัตว์ป่าจะเป็นการเสริมความมงคลเเละอำนาจบารมี เเต่ด้วยความหมายมงคลในด้านดีกลับทำให้สัตว์มีสถานะเป็นวัตถุจากการถูกล่าเเละฆ่าเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุเสริมอำนาจให้เเก่มนุษย์”
“ผมได้ถ่ายทอดประเด็นนี้ ผ่านประติมากรรมรูปเเบบเสมือนจริง ความน่าสนใจของผลงานชุดนี้ คือการได้เเรงบันดาลใจเเละนำรูปเเบบการทำสตัฟฟ์สัตว์ ( Taxidermy) มาปรับใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน ผลงานชุดนี้จึงมีการทำลูกตาปลอม การปักขน การทำเขาสัตว์ ผสมผสานกันภายในผลงานครับ”
“ผลงาน ‘Kinky’ เป็นผลงานที่ผมนำเสนอเรื่องราวในวัยเด็กที่เคยถูกมองเป็นตัวประหลาดในสายตาเพื่อน ๆ และคุณครูบางคน เพียงเพราะอาชีพทางบ้านที่ขายไก่ย่าง ผมจึงมีฉายาในโรงเรียนว่า ไอ้ไก่ย่าง , ไอ้ไก่เน่า หรือคำพูดบางประโยชน์ เช่น “เหม็นควันไก่ย่างอย่าเข้ามาใกล้” ซึ่งทำให้ผมไม่กล้าเข้าหาเพื่อน หรือแม้กระทั่งปรึกษาคุณครู คำพูดดังกล่าวทำให้ผมเกิดความรู้สึกและความคิดว่าตัวเองเป็นเสมือนตัวประหลาด เมื่อเราถูกเรียกในชื่อที่เราไม่ได้พึงพอใจ ในทุก ๆ ครั้ง ความรู้สึกจึงเหมือนการถูกทำร้ายด้วยคำพูด”
“ผมเห็นถึงปัญหาของการทำร้ายกันด้วยคำพูด หรือ Verbal Bullying ซึ่งเป็นการกลั่นแกล้งทางวาจา เช่น การเรียกชื่อหรือตั้งฉายาที่ทำให้ฝ่ายผู้ถูกกระทำไม่ได้พึงพอใจ ซึ่งเป็นปัญหาที่หลายคนเคยเป็นผู้ถูกกระทำ หรืออาจเคยเป็นฝ่ายกระทำ ผมจึงต้องการนำเสนอประเด็น การทำร้ายกันด้วยคำพูด มาสร้างสรรค์เป็นผลงานที่มีเป้าหมายให้ผลงานศิลปะเป็นเหมือนสื่อกลาง ที่ต้องการให้บุคคลที่เคยถูกกระทำได้แสดงความรู้สึกนึกคิด จากการถูกทำร้ายด้วยคำพูด และในขณะเดียวกัน ผมยังต้องการให้ผลงานเป็นสื่อกลางกับฝ่ายผู้ที่กระทำ ได้แสดงคำขอโทษ ที่อาจเคยทำร้ายคนอื่นด้วยคำพูด ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ได้เจตนา ผ่านการเขียนข้อความ แสดงความคิดเห็นบนกำแพง”
“ผลงานชิ้นนี้ได้จัดเเสดง ณ New Gen Space Space For All Generation โดย มูลนิธิเอสซีจี ชั้น 3 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ( BACC ) ผลงานนี้เป็นผลงาน interactive Art ที่สามารถให้ผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมกับผลงานโดยการเขียนข้อความเเสดงความเห็นบนกำเเพงผลงาน โต๊ะเรียน”
“ผลงานชุดนี้ ผมได้รับแรงบันดาลใจมาจากกายวิภาคของมนุษย์และสัตว์ ผมเลือกใช้กระดูกสัตว์แทนสัญลักษณ์ของการสูญเสียและความตาย พร้อมนำเสนอมโนทัศน์เกี่ยวกับความตายว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เป็นความเปลี่ยนแปลง และเป็นเรื่องที่อยู่เหนือจากการควบคุม ซึ่งแม้เรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่มนุษย์เข้าใจ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความพยายามที่จะควบคุมมันให้ได้” . “ในนิทรรศการ “Beauty, Now or Later” นี้ ผมเลือกนำเสนอเรื่องความงามกาลเวลา ผ่านเทคนิคการทำผลึกสารส้ม กระบวนการการตกผลึกนั้นต้องใช้เวลา เเละความเข้าใจในปฏิกิริยาการเกิดผลึก ผมต้องการแสดงให้เห็นถึงความงามที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงการควบคุมไม่ได้ของรูปทรงเเละรายละเอียดทั้งหมด ผมมีความสนใจในเรื่องของการ ตกผลึก การใช้เวลาในการสร้างความงามที่ควบคุมไม่ได้ ความงามที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา การตกผลึกที่ก่อตัวเป็นรูปร่างนั้น ถึงเราจะพยายามควบคุมโครงสร้างเเต่เราก็ไม่สามารถควบคุมรายละเอียดได้ทั้งหมด ในการเเสดงงานชุดนี้ ผมมีความประทับใจงานจากการได้ลองทำงานในรูปเเบบใหม่ ๆ งานที่เราไม่สามารถควบคุมรายละเอียดความงามได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับผลงานที่เคยได้สร้างสรรค์มาตลอด”
ผลงานใน Mango Art Festival 2023 เป็นผลงานที่ทำเเล้วผมมีความสนุกกับผลงานมากที่สุดชุดนึง เป็นการทำงานเเล้วรู้สึกเหมือนตอนที่ผมได้เล่นของเล่นในวัยเด็ก พอชิ้นนึงเสร็จ ผมก็อยากทำต่ออีกหลาย ๆ ชิ้นเเละมีเป้าหมายว่าจะทำไปเรื่อย ๆ ครับ
ปัจจุบันศิลปินได้มีการนำหนึ่งในผลงานชุด ‘สิ่งมีชีวิตภายใต้การกำหนดของมนุษย์’ ไปจัดแสดงที่ ‘นิทรรศการทุนศิลปะอีสาน 2566’ ณ หอศิลป์กาฬสินธุ์ ให้เราสามารถตามไปชมของจริงกันได้ และยังมีการทำงานประติมากรรมขนาดเล็กอีกหลายชิ้นให้ผู้ที่สนใจได้ลองเก็บมาสะสมกัน หรือถ้าใครสนใจเสื้อยืด ทางศิลปินก็ยังมีการทำเสื้อยืดชุด ‘พบเทอที่เมกา’ เพื่อล้อเลียนข่าวสุดไวรัลที่ชาวต่างชาตินำงานศิลปะของเขาไปโม้ว่าเป็นมนุษย์เงือกตัวจริงอีกด้วย
หากใครสนใจอยากชมผลงานประติมากรรมสุดสมจริงชิ้นอื่น ๆ เพิ่มเติม และอุดหนุนเสื้อยืดกับชิ้นงานของศิลปินเข้าคลังสะสม ก็สามารถติดตาม Parada Wiratsawee ได้ที่: Facebook: https://www.facebook.com/mike.allstyle Instragram: https://www.instagram.com/pattarakunpreeda/?fbclid=IwAR2cVOESnCAbbMGOB9iud3wLD3hpiz6l7_pqcaZKc3_3t9mXjYDyZZ1Rg74