‘กล้วย’ ผลไม้สารพัดประโยชน์ ที่ซึมลึกอยู่ในทุกอณูรูขุมขนของวัฒนธรรมไทย ไล่ยาวมาตั้งแต่เครื่องคาว เครื่องหวาน ของเล่นเด็ก ไปจนถึงวัสดุหลักของกระทง และเครื่องบูชาในพิธีกรรมต่าง ๆ เมื่อประกอบเข้ากับฐานะพืชเศรษฐกิจและรูปลักษณ์ที่ถอดเปลือกโลกทุนนิยมได้อย่างแจ่มชัด กล้วยเลยกลายเป็นหนึ่งในวัตถุดิบยอดฮิต ที่ศิลปินหลายคนมักหยิบมาปรุงแต่งเป็นงานศิลป์ เพื่อสะท้อนภาพสังคมที่หุ้มด้วยเปลือกแห่งบริโภคนิยมได้อย่างเมามันส์

‘กล้วย’ ผลไม้สารพัดประโยชน์ ที่ซึมลึกอยู่ในทุกอณูรูขุมขนของวัฒนธรรมไทย ไล่ยาวมาตั้งแต่เครื่องคาว เครื่องหวาน ของเล่นเด็ก ไปจนถึงวัสดุหลักของกระทง และเครื่องบูชาในพิธีกรรมต่าง ๆ เมื่อประกอบเข้ากับฐานะพืชเศรษฐกิจและรูปลักษณ์ที่ถอดเปลือกโลกทุนนิยมได้อย่างแจ่มชัด กล้วยเลยกลายเป็นหนึ่งในวัตถุดิบยอดฮิต ที่ศิลปินหลายคนมักหยิบมาปรุงแต่งเป็นงานศิลป์ เพื่อสะท้อนภาพสังคมที่หุ้มด้วยเปลือกแห่งบริโภคนิยมได้อย่างเมามันส์

Szack กับงานศิลปะแบบกล้วย ๆ ในโลกที่รุ่มรวยไปด้วยบริโภคนิยม

‘กล้วย’ ผลไม้สารพัดประโยชน์ ที่ซึมลึกอยู่ในทุกอณูรูขุมขนของวัฒนธรรมไทย ไล่ยาวมาตั้งแต่เครื่องคาว เครื่องหวาน ของเล่นเด็ก ไปจนถึงวัสดุหลักของกระทง และเครื่องบูชาในพิธีกรรมต่าง ๆ เมื่อประกอบเข้ากับฐานะพืชเศรษฐกิจและรูปลักษณ์ที่ถอดเปลือกโลกทุนนิยมได้อย่างแจ่มชัด กล้วยเลยกลายเป็นหนึ่งในวัตถุดิบยอดฮิต ที่ศิลปินหลายคนมักหยิบมาปรุงแต่งเป็นงานศิลป์ เพื่อสะท้อนภาพสังคมที่หุ้มด้วยเปลือกแห่งบริโภคนิยมได้อย่างเมามันส์

Szack เองก็เป็นหนึ่งในศิลปินไทยร่วมสมัย ที่นำกล้วยมาปั้นเป็นงานประติมากรรม โดยใช้เทคนิคการวาดลงไปบนดินญี่ปุ่นที่ปั้นมือเองทุกชิ้น แต่ละชิ้นจึงมีความเป็นเอกลักษณ์และไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งพอเราถามว่าทำไมต้องเป็น ‘กล้วย’ ด้วย ศิลปินแห่งสังกัด 333gallery คนนี้ก็ตอบกลับมาอย่างติดตลกว่า “คนจะได้จำผมง่าย ๆ”

แน่นอนว่านั่นเป็นเพียงเวอร์ชันชงมุก เพราะในเวอร์ชันจริงจัง Szack ได้อธิบายไว้ว่า “จริง ๆ แล้วจุดเริ่มต้นของกล้วย มาจากอาหารหนึ่งมื้อที่ชาวบ้านเอามาให้ทาน ตอนผมไปทำงานเขียนภาพฝาผนัง ที่วัดป่าหนองสองพี่น้อง อ.เขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี”

เขาเล่าต่อ “ผมจำได้ว่าตอนเปิดฝาชีออกมา ก็เกิดความรู้สึกประหลาดใจในแง่บวก แบบว้าวมาก ๆ เพราะทั้งสำรับมันเต็มไปด้วยเมนูจากกล้วยทั้งนั้นเลย ไม่ว่าจะเป็นแกงอ่อมไก่ใส่หยวกกล้วย ห่อหมกกบใส่หัวปลี ข้าวต้มมัดไส้กล้วย กล้วยทอด กล้วยห่าม และอีกสารพัดอย่าง จนผมทึ่งกับความสามารถคนไทยที่เอากล้วยมาทำได้ทุกส่วนขนาดนี้”

“พอดีตอนนั้นผมกำลังรู้สึกกดดันจากสิ่งเร้าภายนอก และกำลังพยายามค้นหาตัวเองอยู่พอดี ก็เลยมานั่งคิดว่า มีหลายครั้งเหลือเกินที่เราพยายามจะเป็นในสิ่งที่คนอื่นกดดันให้เป็น หรือเป็นในสิ่งที่ครอบครัวหรือสังคมคาดหวัง เพราะเราอยากได้รับความรัก และอยากได้รับการยอมรับ จนต้องหาทางไขว่คว้ามันมาให้ได้ ถึงขนาดต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองไปเป็นคนในแบบที่ไม่ใช่เรา ซึ่งพอทำแบบนั้นมันก็ส่งผลกระทบด้านลบต่อตัวเองและคนอื่น ๆ ไปด้วย มันทำให้ผมเห็นว่า เรากำลังเอาความรู้สึกเหล่านี้มาครอบทับตัวตน แล้วเอามาห่อหุ้มเป็นเปลือกนอกของตัวเอง จนลืมคุณค่าและความสามารถจริง ๆ ที่อยู่ภายในตัวตนของเรา”

“ผมก็เลยเลือกกล้วยน้ำว้ามาใช้ในงาน เพราะมันเป็นพืชที่มีประโยชน์เยอะ สามารถทำอะไรได้หลายอย่าง เลยเปรียบเหมือนกับคนเราที่จะเป็นอะไรก็ได้ ตราบใดที่ไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อตนเองหรือบุคคลอื่น และตราบเท่าที่เรามองเห็นและรู้จักคุณค่าของตัวเอง ไม่ใช่แค่เปลือกนอก”

เห็นได้เลยว่า อาหารมื้อนั้นได้ทำให้ศิลปินตาเบิกเนตร และมองเห็นเปลือกนอกที่ห่อหุ้มตัวเขาเอาไว้ แถมเขายังรู้ด้วยว่าเปลือกชิ้นนั้น ไม่ได้ห่อเราไว้เพื่อปกป้อง แต่มันกำลังขัดขวาง ลวงตา และกระตุ้นเราให้อยากเป็นคนอื่นอยู่ตลอดเวลาตามกระแสธารของทุนนิยม ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วเราจะไม่มีวันรู้จักความจริงแท้ภายในตัวเองได้เลย หากยังหลงอยู่ในเปลือกนอกเหล่านั้น

เพื่อถ่ายทอดสิ่งนี้ออกมา เราเลยสังเกตได้ว่า ในผลงานของศิลปินจะต้องมีการ ‘ปอกเปลือก’ เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการถอดรูปสิ่งลวงตาให้เรามองเข้าไปยังเนื้อข้างในอยู่เสมอ และที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือศิลปินยังเลือกที่จะรังสรรค์ทุกอย่างในรูปแบบศิลปะสไตล์ Pop-art ที่ล้อเลียนสังคมแบบบริโภคนิยมในยุคปัจจุบัน และเน้นย้ำเรื่องราวที่ศิลปินตั้งใจจะเล่าได้ชัดเจนขึ้น

Szack ได้แชร์ถึงมุมมองการ ‘ปอกเปลือก’ กล้วยเหล่านี้ว่า “ถ้าสังเกตจะเห็นว่ากล้วยน้ำว้าในงานของผมล้วนถูกปอกเปลือกนอกออกจนเห็นเนื้อใน แต่ไม่ใช่ทั้งลูกนะ และแม้ว่ากล้วยแต่ละลูกจะถูกปอกเปลือกเหมือนกัน แต่งานของผมจะมีแนวคิดแยกกันออกไปคนละเรื่องเลย ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน”

“เช่น บางชิ้นผมก็เอาไอเดียตั้งต้นมาจากสำนวนไทยคำว่า ‘ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก’ ทำอะไรก็ง่ายไปหมด แต่บางงานผมก็หยิบเอาสำนวนฝรั่งคำว่า ‘Go bananas’ มาใช้ ซึ่งหมายถึงเป็นบ้า ลุ่มหลง คลุ้มคลั่ง ขาดสติในการยั้งคิดถึงเหตุผลของความเป็นจริง”

Szack สรุปทิ้งท้ายไว้ว่า “โดยรวมแล้วงานของผมจะพูดถึงคุณค่าของคนหรือเนื้อแท้ความจริงว่ามันอยู่ข้างในภายใต้เปลือก ถ้าอยากให้คนเห็นคุณค่า เราก็ต้องเห็นคุณค่าในตัวเองก่อน ในบางครั้งกระแสของคนในสังคมมันก็ยากเกินต้าน แต่ก็อย่าลืมเดินให้ช้าลงและหยุดคิดพิจารณาถึงข้อเท็จจริงด้วยครับ”

“ช่วงวิกฤติการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้เกิดประเด็นการนำวัคซีนมาใช้ในแง่ต่าง ๆ จนคนไม่ได้นึกถึงประเด็นหลักของวัคซีนว่ามันใช้ทำอะไร แน่นอนว่าวัคซีนช่วยลดความเสี่ยงของอัตราการเสียชีวิต ถ้ามองในแง่แค่ประเทศเราเอง ก็จะเห็นว่าวัคซีนถูกใช้ไปทางการเมืองเยอะมาก รวมถึงการแบ่งชนชั้นช่องว่างตามชนิดยี่ห้อและราคาของวัคซีนได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น การต่อคิวซื้อขายวัคซีนเพื่อทำกำไร การคอร์รัปชันวัคซีน และการอวดชนิดของวัคซีนตามโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ซึ่งสุดท้ายแล้ว ประเด็นเนื้อแท้ของวัคซีนมันใช้ทำอะไรกันแน่?”

“ชิ้นนี้เป็นการย้อนกลับไปมองเหตการณ์ตอนมีโอกาสได้ไปชมภาพโมนาลิซ่าของจริงในพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ ในห้องนั้นมีผู้คนอัดแน่นอยู่อย่างคราครั่ง กับภาพโมนาลิซ่าที่ครอบไว้ด้วยกระจกกันกระสุน พร้อมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหลายคนคอยดูแลและห้ามคนไม่ให้เข้าไปดูผลงานในระยะประชิด แล้วก็มีที่กั้นเอาไว้อีกที ซึ่งผมก็เข้าใจได้ว่าที่คนเยอะนั้นเป็นเพราะมันมีชื่อเสียง และถูกเล่าลือซ้ำ ๆ บนหน้าสื่อ จนไม่ต่างจากโฆษณาชวนเชื่อที่ฉายภาพวนซ้ำ ๆ”

“แต่จะมีสักกี่คนกันที่รู้เรื่องราวลึกกว่าสิ่งที่เห็นจริง ๆ หรือเพราะเราแค่อยากตามกระแส อยากเป็นส่วนหนึ่งของภาพผลงาน ทั้ง ๆ ที่รอบข้างก็ยังมีงานศิลปะที่ละเอียดดี ๆ เยอะมาก ๆ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจเท่าภาพนี้ ไม่ใช่ว่างานโมนาลิซ่าไม่ดี แต่แค่งานอื่น ๆ ไม่ได้ดังเท่าแค่นั้น”

“ช่วงศตวรรษที่17-18 ล็อบสเตอร์เคยเป็นอาหารคนชนชั้นแรงงาน คนพื้นเมือง และมีไว้เพื่อใช้เป็นปุ๋ยกับเหยื่อตกปลา จนกระทั่งศตวรรษที่ 19 ด้วยการมาถึงของระบบทุนนิยม ที่ให้ค่าใหม่กับอาหารชนิดนี้ ส่งผลให้ล็อบสเตอร์ดีดตัวจากอาหารของชนชั้นล่าง สู่อาหารของชนชั้นสูงผู้มีอันจะกิน จริง ๆ แล้วล็อบสเตอร์คงไม่ได้ดีใจที่มันสามารถผันตัวเองมาสู่ความเป็นผู้ดีได้ แต่เพราะมนุษย์เป็นคนกำหนดเองว่าจะให้ค่าสิ่งใดและสิ่งใดที่ไม่ควรให้ค่า”

“แต่เดิมถ้าย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน ก่อนการมาของมือถือระบบสมาร์ทโฟนแบบในปัจจุบัน เราเคยใช้มือถือแบบระบบฟีเจอร์โฟน (Feature) และระบบซิมเบี้ยน (Symbian) ในช่วงนั้นถ้าใครเข้าห้องน้ำสาธารณะทั้งในมหาวิทยาลัยและที่ไหนก็ตามแถบจะทุกที่ของผนังห้องน้ำ(และบางทีก็เลยมาถึงชักโครก)จะมีการขีดเขียนบันทึกเรื่องราว ระบายสิ่งที่อัดอั้นอยู่ในจิตใจต่าง ๆ ออกมาผ่านตัวอักษร ห้องน้ำก็คงสมควรเป็นที่ปลดทุกข์จริง ๆ? แต่พอมาถึงยุคของสมาร์ทโฟนและไฮสปีดอินเทอร์เน็ต สิ่งเหล่านี้ก็หายไปเหลือแต่ภาพจำและประวัติศาสตร์ที่มันเคยตั้งอยู่”

เปลือกของกล้วย คือภาพวาดกำเนิดการสร้างอดัมของศิลปินไมเคิลแองเจโล ในโบสถ์น้อยซิสทีน ที่เมืองวาติกัน ผมเอาภาพนี้มาเล่นเพราะมันสื่อถึงศาสนาและความเชื่อในภาพรวมของมนุษย์ได้ ผมมองว่ามีหลายครั้งเลยที่เรายึดติดอยู่กับความเชื่อบางอย่างจนมองไม่เห็นแก่นแท้และความหมายที่มันต้องการจะสื่อจริง ๆ และกลับไปลุ่มหลงในสิ่งอื่น จนเชื่อว่าสิ่งที่เราเชื่อคือสิ่งที่ถูกและไม่ยอมรับหรือเปิดใจให้กับสิ่งอื่น ๆ เลย แถมเรายังใช้มันหาผลประโยชน์เข้าตัวเอง ล่อหลอกคนให้เชื่อจนเป็นการทำลายซึ่งกันและกันแม้กระทั่งชีวิตคนอื่นหรือสิ่งมีชีวิตอื่น การมีความเชื่อเป็นเรื่องที่ดีแต่ไม่ใช่ติดอยู่แค่เปลือกแต่ควรมองลึกถึงแก่นแท้ของมันด้วย”

เห็นมีแต่กล้วย ๆ แบบนี้ แต่เบื้องหลังความคิดกลับไม่กล้วยเลย และกว่าจะปอกเปลือกลอกเนื้อในของแต่ละเหตุการณ์มาโชว์ให้เราเห็นได้ ก็จำเป็นต้องอาศัยพลังงานและความทุ่มเทในการค้นคว้า รวมถึงเทคนิคในการปั้นมากทีเดียว เพราะฉะนั้นถ้าใครสนใจอยากส่องศิลปะกล้วย ๆ ที่สะท้อนภาพสังคมแบบบริโภคนิยมอันแสบ ๆ คัน ๆ ก็ตามไปชมงานประติมากรรมเหล่านี้ได้ที่ Instagram: https://www.instagram.com/szackkcazs/?fbclid=IwAR2ovsOFLV4-UH2vJqDB8bKSrJ77l-FMuSH-XhGzRmd-ure9bLgmYSGItTE