พอได้เห็นฉาก ‘พระอินทร์’ ผู้มีฤทธิ์ ลอยลงมาแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5  ด้วยการดูดฝุ่นแล้ว เชื่อว่าหลาย ๆ คนจะต้องอยากรู้จักกับคนวาดเหมือนเราอย่างแน่นอน เพราะนอกจากความสร้างสรรค์แบบเต็มขั้น เรายังเห็นความตลกร้ายชวนปวดใจจี๊ด ๆ ซ่อนอยู่ในงานของเขาด้วย ซึ่งเจ้าของผลงานที่ว่านั้นก็คือ เสมา - สุบรรณกริช ไกรคุ้ม  ศิลปินผู้ชอบต่อยอดงานจิตรกรรมไทยให้เข้ากับสังคมร่วมสมัยมากขึ้น

พอได้เห็นฉาก ‘พระอินทร์’ ผู้มีฤทธิ์ ลอยลงมาแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ด้วยการดูดฝุ่นแล้ว เชื่อว่าหลาย ๆ คนจะต้องอยากรู้จักกับคนวาดเหมือนเราอย่างแน่นอน เพราะนอกจากความสร้างสรรค์แบบเต็มขั้น เรายังเห็นความตลกร้ายชวนปวดใจจี๊ด ๆ ซ่อนอยู่ในงานของเขาด้วย ซึ่งเจ้าของผลงานที่ว่านั้นก็คือ เสมา - สุบรรณกริช ไกรคุ้ม ศิลปินผู้ชอบต่อยอดงานจิตรกรรมไทยให้เข้ากับสังคมร่วมสมัยมากขึ้น

เปลี่ยนฝุ่นควันให้เป็นลายศิลป์ไปกับ Subannakrit Krikum

พอได้เห็นฉาก ‘พระอินทร์’ ผู้มีฤทธิ์ ลอยลงมาแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ด้วยการดูดฝุ่นแล้ว เชื่อว่าหลาย ๆ คนจะต้องอยากรู้จักกับคนวาดเหมือนเราอย่างแน่นอน เพราะนอกจากความสร้างสรรค์แบบเต็มขั้น เรายังเห็นความตลกร้ายชวนปวดใจจี๊ด ๆ ซ่อนอยู่ในงานของเขาด้วย ซึ่งเจ้าของผลงานที่ว่านั้นก็คือ เสมา - สุบรรณกริช ไกรคุ้ม ศิลปินผู้ชอบต่อยอดงานจิตรกรรมไทยให้เข้ากับสังคมร่วมสมัยมากขึ้น

เมื่อเริ่มพูดคุยกัน ศิลปินก็ไม่รอช้าและเล่าถึงเบื้องหลังภาพวาดที่สั่นสะเทือนไปถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ให้เราฟังทันทีว่า “ภาพนี้เป็นมุมมองจากกระจกเครื่องบินที่ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพถ่ายที่เป็นไวรัลในโลกออนไลน์ครับ ตอนนั้นบรรยากาศบนน่านฟ้าเมืองไทยมีแค่สีฟ้ากับเทา มองไม่เห็นเมืองด้านล่างเลย เพราะถูกฝุ่น pm2.5 บดบังเอาไว้หมด”

“ส่วนการเอาพระอินทร์มาดูดฝุ่น ก็ได้ไอเดียมาจากผู้นำคนก่อนของเราที่ให้แก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยธรรมะและการขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผมจึงใช้พระอินทร์เป็นตัวละครหลัก เพราะพระอินทร์มีหน้าดูแลสวรรค์ให้สงบสุข เปรียบเสมือนนายกในประเทศไทย ซึ่งมีอำนาจที่สุดในการแก้ไขปัญหา แต่แก้ไม่เคยตรงจุดเสียที”

แต่นอกเหนือจากการใช้พระอินทร์มาเป็นตัวแทนของผู้มีอำนาจในบ้านเมืองแล้ว ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของภาพชุดนี้ก็คือการใช้ ‘สีฝุ่น’ ที่ทำจากฝุ่น PM2.5 จริง ๆ มาระบายสีบนงาน

“ผมชื่นชอบในการวาดและทำ ‘สีฝุ่น’ ซึ่งเป็นกรรมวิธีแบบจิตรกรรมไทยโบราณอยู่ก่อนแล้วครับ สำหรับวิธีการทำสีประเภทนี้ คือการนำวัตถุดิบในธรรมชาติ เช่น ดิน หิน แร่ เปลือกหอย และพืชมาสกัดครับ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาและความพิถีพิถันเป็นอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันสีฝุ่นที่ปรากฏออกมาในงาน ก็จะให้เอฟเฟ็กต์ที่สวยงามเฉพาะตัว โดยผมได้รับความรู้เหล่านี้มาจากอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร กับการเข้าร่วมเวิร์กช็อปกับเหล่านักวิชาการในไทยและต่างประเทศ รวมถึงการอ่านหนังสือและดูวิธีการจากสื่อต่าง ๆ เพื่อนำมาพัฒนาผลงานในทุก ๆ มิติ”

เสมาเริ่มเล่าถึงความคิดแรกที่อยากลองทำสีฝุ่นที่สกัดจากฝุ่น PM2.5 ว่า “ส่วนจุดเริ่มต้นของการทำสีฝุ่น PM2.5 มาจากการมองลงมาจากคอนโด แล้วเห็นแต่หมอกฝุ่นปกคลุมทั่ว จึงคิดเล่น ๆ ว่าจะเอา ‘ฝุ่น’ มาทำสีฝุ่น พอคิดได้แบบนั้นก็เริ่มทำการทดลองเลยครับ โดยใช้ความรู้ในการผลิตสีโบราณผสมกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ สมัยที่เรียนจบสายวิทย์-คณิตมา ซึ่งเป็นเรื่องของอนุภาค ดังนั้น ฝุ่นที่ละเอียดอยู่แล้ว น่าจะทำสีได้แน่ ๆ”

“ผมเลยเริ่มดูดฝุ่นจากอากาศตรง ๆ และจากตัวกรองของเครื่องฟอกอากาศ จากนั้นก็นำฝุ่นมาผ่านกระบวนการกรองต่าง ๆ จนได้เป็นสีเทา สีเขม่า เหมือนฝุ่น ถ้าเปียกจะเป็นสีดำ มีเท็กเจอร์พิเศษเป็นคราบ ๆ ตรงนี้เป็นเสน่ห์ของธรรมชาติ”

แน่นอนว่าการนำสีจากฝุ่นของจริงมาพูดเรื่องฝุ่น ย่อมเสริมให้ความหมายของงานเด่นชัดมากขึ้นตามไปด้วย ในส่วนนี้ศิลปินเลยขยายความเพิ่มว่า “สำหรับความหมายของการใช้สีฝุ่นของจริง ก็เพราะว่าภาพของผมกำลังบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปีพ.ศ. 2566 เอาไว้ เปรียบเสมือนกับงานจิตรกรรมฝาผนังเอง ก็บันทึกประวัติศาสตร์สำคัญ ๆ เอาไว้ในภาพเหมือนกันครับ”

เสมายังแชร์ให้เราฟังถึงวิธีการเลือกตัวละครต่าง ๆ มาใช้ในแต่ละเรื่องราวด้วย เพราะนอกเหนือจากภาพ ‘พระอินทร์ vs ฝุ่น PM2.5’ แล้ว ผลงานอื่น ๆ ของเขายังมีการใช้ตัวละครอื่น ๆ มาใช้ในภาพด้วย ซึ่งแต่ละตัวก็จะมีความหมายและบริบทแตกต่างกันออกไป

“ผมมักจะหยิบเอาตัวละครในไตรภูมิ วรรณคดี และจิตรกรรมฝาผนังมาใช้ เพราะตัวละครเหล่านี้จะพ่วงมาด้วยเรื่องราวเสมอทำให้ผู้ชมได้สนุกกับการเชื่อมโยงจากความรู้และประสบการณ์ของแต่ละคนครับ ยกตัวอย่างเช่น ผมมักจะใช้ ‘พระอินทร์’ แทน ตัวผู้มีอำนาจในสังคม และมักเอามาเล่นคำต่อเป็น ‘พระไม่อิน’ แทนกลุ่มอิกนอร์แรนซ์ (ignorance) หรือ พวกไม่อินเหตุการณ์บ้านเมือง และใช้คำว่า ‘พระอินเกิ๊น’ กับเหล่าคนที่จดจ่อและสนใจกับเรื่องอะไรมาก ๆ”

“ยังมีตัวละคร ‘สังข์ทอง’ ในวัยเด็ก มาแทนการแสดงออกของเด็กเมื่ออยู่ลับหลังผู้ปกครอง ใช้ ‘พระราม’ กับ ‘สีดา’ เพื่อแทนเรื่องราวของความรัก และใช้ ‘ทศกัณฐ์’ แทนมนุษย์ออฟฟิศที่ยุ่งกับการทำงานมาก ๆเหมือนมีสิบแขนก็ไม่พอ เป็นต้น”

“และนอกจากเทพในตำนานแล้ว ผมยังต่อยอดและสร้างเทพของตัวเองขึ้นมาใหม่เพื่อพูดถึงสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของเราในชีวิตประจำวันด้วย เช่น God of Coffee, God of Bacon, God of Game และ God of Cat ด้วยนะครับ”

หลังจากได้ฟังแนวคิดของศิลปินพร้อมกับชมผลงานอื่น ๆ ก็เห็นได้ชัดเลยว่าเอกลักษณ์ของศิลปิน คือการบันทึกประวัติศาสตร์และถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ในรูปแบบของงานจิตรกรรมไทยขนาดเล็ก (Thai miniature painting) ไปพร้อม ๆ กับการนำเอาตัวละครจากวรรณคดี ไตรภูมิ หรือตำนานโบราณต่าง ๆ มาลองใช้ชีวิตอยู่ในโลกยุคปัจจุบันแบบเรา ๆ ดู เพื่อหยอกล้อ สะท้อนสังคม และเปรียบเทียบให้ผู้ชมมองเห็นถึงวิถีชีวิตใหม่ ที่ผู้คนในสังคมไทยต้องเผชิญหน้าและเอาตัวรอดอยู่ทุกวี่วัน อีกทั้งศิลปินยังสอดแทรกสัญลักษณ์และปรัชญาต่าง ๆ ให้ผู้ชมได้ลองตีความกันเองอีกด้วย

“ผลงานชิ้นนี้พูดถึงการละเล่นของเด็กไทยในปัจจุบัน โดยนำเสนอเป็นภาพของสตรีมเมอร์ตัวน้อย ที่หาเงินได้จากการเล่นเกมและการแข่งขันอีสปอร์ต เพื่อทำให้เห็นว่าสามารถประกอบเป็นอาชีพได้ และผู้ใหญ่ควรสนับสนุนมากกว่าปิดกั้น เลิกอคติแบบเดิม ๆ ว่าเกมทำให้เด็กเสียคน อย่าให้เด็กต้องทำสิ่งที่เขารักแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ เหมือนพระสังข์ ที่ต้องหลบเข้าหอยอีกเลย”

“ภาพนี้วาดจากประสบการณ์ในวัยเด็กของตัวเองที่ทางบ้านห้ามเล่นเกม แต่ก็แอบไปทุกเล่นทุกครั้งอยู่ดีเพราะเป็นสิ่งที่ชอบ ชิ้นนี้จึงสร้างขึ้นเพื่อสื่อสาร ให้เห็นข้อดีของการเล่นเกมครับ”

“ความฝันของเด็กไทยในยุคนี้คงหนีไม่พ้นการเป็น Idol หรือ Girl Group ที่โด่งดังระดับโลกแบบ พี่ลิซ่า Black Pink แน่นอน เด็กต่างจังหวัดกลุ่มนี้เลยฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อทำตามความฝัน แม้สภาพแวดล้อมที่พวกเขาเกิดมาอาจดูไม่เป็นใจก็ตาม อนาคตที่เด็ก ๆ เฝ้ามองหาล้วนเป็นภาพฝันที่หอมหวาน หากแต่บนโลกแห่งความเป็นจริงไม่ง่ายดายอย่างที่คิดเลย”

“ชิ้นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากกลุ่ม ‘เด็กเซาะกราว’ ครีเอเตอร์ผู้นำเสนอชีวิตชนบทของอีสานผ่านวัฒนธรรม K-pop”

“คนไทยนิยมไปคาเฟ่ ซึ่งผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น จึงได้สร้างคาเฟ่ในอุดมคติขึ้นมาโดยใช้ตัวละครจากวรรณคดีไทยเรื่องรามเกียรติ์ มาแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ที่คนในคาเฟ่มักจะทำกัน เช่น การถ่ายภาพลงโซเชียล, การขนงานจำนวนมากมาทำ, การถ่าย Vlog และการทำคอนเทนต์ ฯลฯ ซึ่งผมได้แรงบันดาลใจมาจากการไปรีเสิร์ชในหลาย ๆ ร้านกาแฟ เพื่อสังเกตผู้คนที่ไปใช้บริการ หน้าตาอาหารเครื่องดื่ม รวมถึงการจัดตกแต่งร้าน ถือเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ความนิยมของคนในยุคนี้ว่ามีวิถีชีวิตอย่างไร”

“ผลงานในชุดนี้ได้แรงบันดาลใจจากความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้คน ซึ่งเป็นเรื่องแสนธรรมดาที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจให้คนคนหนึ่งมีแรงที่จะสู้ชีวิตต่อไป เช่น การได้กินของอร่อย ๆ การไปเที่ยวหรือทำในสิ่งที่ชื่นชอบ ผมจึงได้เอาเรื่องราวเหล่านี้มาถ่ายทอดในรูปแบบที่คล้ายรูปเคารพของเทพในหลายศาสนา มาจินตนาการใหม่เป็น ‘เทพที่กำเนิดมาจากความธรรมดา’”

“ชีวิตวัยทำงานที่ต้องซื้อรถ ผ่อนคอนโด ทำให้ผมรู้สึกว่าวิถีชีวิตของเราหมดไปกับการหาเงิน กิน นอน และทำอะไรแบบซ้ำ ๆ เดิม ๆ ดูเป็นแพทเทิร์น เหมือนเกมที่เราเคยเล่นตอนเด็ก ๆ อย่างเกม THE SIMS”

“ภาพนี้เลยเป็นภาพแทนของเซฟโซนแห่งความสุข ที่ต่อให้มีขนาดเพียง 30 ตารางเมตร แต่ขอแค่ได้อยู่กับคนที่เรารัก ทำงานอดิเรกที่ชอบ เล่นเกม ทำอาหาร ปลูกต้นไม้เล็ก ๆ เล่นกับสัตว์เลี้ยง จัดห้องให้สวย ๆ ก็เป็นการชาร์จแบตให้กับร่างกายและจิตใจของเราได้อย่างเต็มที่ และพร้อมออกไปสู้กับทุกภารกิจที่ต้องเจอในแต่ละวัน”

สามารถตามไปชมการสู้ชีวิตของเหล่าตัวละครผู้มีฤทธิ์ในตำนานกันได้ที่: Facebook:https://www.facebook.com/subannakrit Instragram:https://www.instagram.com/Suban_nakrit/?fbclid=IwAR1W8IocjHHeVqEQt3_XybVyUqOIppdfc99hqf-9yyfhCqkEYMoy1mGIpGY