พูด - Pud
เสียงพูดของรุ่นใหม่ที่เชื่อในพลังของแรงงานและประชาธิปไตยในที่ทำงาน

พูด - Pud เสียงพูดของรุ่นใหม่ที่เชื่อในพลังของแรงงานและประชาธิปไตยในที่ทำงาน

พูด - Pud เสียงพูดของรุ่นใหม่ที่เชื่อในพลังของแรงงานและประชาธิปไตยในที่ทำงาน

ด้วยเสน่ห์ของเนื้อหาที่ตั้งคำถามกับสังคมอย่างเผ็ดร้อน เสียงพากย์กวน ๆ แต่ชวนฟัง มีมสุดปั่น รวมถึงการตัดต่อและงานอนิเมชั่นแสนประณีตบรรจง ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘พูด’ คือหนึ่งในทีมผู้ผลิตวิดีโอคอนเทนต์หน้าใหม่ที่น่าจับตามองที่สุดในหมู่มวล ‘นักสร้างสรรค์’ ที่ถือกำเนิดขึ้นมามากมายในโลกอินเตอร์เน็ตยุคปัจจุบัน แม้จะเพิ่งก่อร่างสร้างตัวมาได้เพียงปีกว่า ๆ เท่านั้น

‘พูด’ เริ่มต้นขึ้นจากการรวมตัวกันของเพื่อนนักเรียนศิลปะ 2 คนที่ต้องการนำความถนัดด้านการเล่าเรื่องของ ภาณุ นาครทรรพ และการทำอนิเมชั่นของ แนน-ธนภรณ์ อัญมณีเจริญ มาสร้างสรรค์เป็นผลงานวิดีโอคอนเทนต์สบาย ๆ ตามสไตล์ของพวกเขา ก่อนจะได้ แชมป์-ฉัตรชัย พุ่มพวง และ เอม-ตวิษา หิรัณยากร เพื่อนร่วมคณะมาช่วยเสริมทัพด้านการวางแผนสื่อและตัดต่อวิดีโอตามลำดับ โดยในช่วงแรก พวกเขาทั้งสี่คนหวังเพียงจะผลิตวิดีโอเพื่อขอทุนจากโครงการของรัฐบาลเท่านั้น โดยยังไม่ทันได้คิดไกลไปถึงการสร้างบริษัทที่เป็นรูปเป็นร่างแบบในปัจจุบันด้วยซ้ำ แต่หลังจากที่ไม่ได้รับทุนดังกล่าว เนื้อหาการถ่ายทอดเรื่องราวของ ‘พูด’ จึงค่อย ๆ ก้าวข้ามจากเพียงการเล่าเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยภายในวงการศิลปะและสังคมในภาพรวมมาสู่การเป็นสื่อที่นำเสนอเรื่องสังคมและการเมืองอย่างเข้มข้นจริงจัง แต่ก็เต็มไปด้วยความเกรียนที่ไม่เหมือนใคร (และไม่มีใครเหมือน) พร้อม ๆ กับการมาถึงของ ภาวิชช นาครทรรพ น้องชายของภาณุที่เข้ามาช่วยดูแลเรื่องงานระบบหลังบ้านให้มีความพร้อมมากขึ้นด้วย

ในปัจจุบัน นอกจากจะผลิตวิดีโอคอนเทนต์และปล่อยพอดแคสต์ในระบบสตรีมมิ่งออกมาเป็นระยะ ๆ แล้ว ‘พูด’ ยังเป็นสื่อที่เป็นกระบอกเสียงสำคัญของขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานและประชาธิปไตยในระบบเศรษฐกิจ เห็นได้จากการแอบสอดแทรกมุมมองเรื่องรัฐสวัสดิการและตัวอย่างของสหภาพแรงงานในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกลงในวิดีโอมากมายของพวกเขา วันนี้ GroundControl จึงถือโอกาสเชิญภาณุและแชมป์-ฉัตรชัย สองตัวแทนจากทีม ‘พูด’ มาร่วมพูดคุยถึงประเด็นดังกล่าว... ประชาธิปไตยในที่ทำงานมีจริงไหม? และทำไมอำนาจสูงสุดถึงเป็นของประชาชนจริง ๆ ?

จุดเริ่มต้นความสนใจในประวัติศาสตร์ การเมือง และประเด็นทางสังคมของทีม ‘พูด’

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ก่อนที่ ‘พูด’ จะลุกขึ้นมาทำสื่อที่พูดถึงประเด็นทางสังคมและพลวัตในโลกสมัยใหม่ อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนรุ่นใหม่อย่างพวกเขาหันมาสนใจการเมืองและแง่มุมต่าง ๆ ของสังคมเหล่านี้ ภาณุเล่าย้อนให้เราฟังว่า เขาเริ่มสนใจการเมืองไทยมาตั้งแต่ช่วงมัธยม แม้ในเวลานั้นเขาจะยังไม่เข้าใจมันอย่างถ่องแท้ แต่มันก็จุดเริ่มต้นความสนใจแรก ๆ ของเขา จนกระทั่งการมาถึงของเหตุการณ์สังหารหมู่คนเสื้อแดงที่สร้างความเจ็บปวดให้กับเขาเป็นอย่างมาก เพราะเขาไม่เคยคาดคิดเลยว่า การสังหารคนในชาติอย่างเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 14 ตุลา หรือ 6 ตุลายังคงเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในสังคม ด้วยความผิดหวังและความรู้สึกรับไม่ได้กับความเป็นไปของซีนการเมืองไทย ภาณุจึงหันไปศึกษาซีนการเมืองโลก โดยเฉพาะจากฝั่งมหาอำนาจอย่างสหรัฐแทน

ภาณุ: “มันมีช่วงหนึ่งที่เรารู้สึกเป็นปฏิปักษ์และไม่อยากมีศาสนา เราเลยไปหาข้อมูลที่จะมาแย้งกับกับสิ่งนี้ ซึ่งเราก็ไปเจอช่องหนึ่งใน YouTube ชื่อ ‘Secular Talk’ เป็นช่องที่ด่าคนคลั่งศาสนาคริสต์ในสหรัฐที่ชอบทำอะไรที่มันบ้าคลั่งมาก เช่น วางระเบิดคลินิกทำแท้ง หรือไปประท้วงไม่ให้คนมั่วสุมทางเพศ อะไรประมาณนั้น ประเด็นก็คือ พวกคริสเตียนที่คลั่งศาสนาในสหรัฐส่วนใหญ่จะเป็นพวกขวาจัด เลยกลายเป็นว่าเราได้รับความรู้ของการเมืองฝั่งซ้ายจากตัวพิธีกรที่เชื่อในรัฐสวัสดิการไปด้วย ทั้งที่ตอนแรกเราจะไปดูเพื่อที่จะเอาข้อมูลไปหักล้างศาสนา แต่กลายเป็นว่าดู ๆ ไป มันก็จะแทรกแนวคิดของการเมืองฝั่งซ้ายมาด้วย เราก็เลยเริ่มกลับมาสนใจการเมืองอีกครั้ง แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ยังไม่กลับมาสนใจการเมืองไทยอยู่ดี เพราะเรารู้สึกว่า การสนใจการเมืองสหรัฐมันเป็นการหนีความจริงจากความน่าผิดหวังของการเมืองไทย เรารู้สึกว่า เราไปสนใจการเมืองคนอื่นดีกว่า จะได้ไม่เจ็บปวด

แต่ตั้งแต่มันเริ่มมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองสามนิ้วรอบนี้ แล้วมันเริ่มมีคนพูดถึงรัฐสวัสดิการ มีคนพูดถึงประเด็นแรงงาน มีคนพูดถึงความก้าวหน้าทางสังคม เรื่อง LGBT อะไรอย่างนี้ มันก็ทำให้เรารู้สึกกลับมาอินการเมืองไทยเป็นครั้งแรก เพราะแรงผลักดันมันเปลี่ยนไปแล้ว เราเลยรู้สึกว่า อยากเอาเรื่องที่เก็บเกี่ยวมาตลอดหลายปีอย่างเรื่องแรงงานหรือสวัสดิการมาพูดถึงหรือประยุกต์ใช้ด้วยว่า มันเป็นไปได้ไหมที่จะมีของพวกนี้ในประเทศไทย เพราะเรารู้สึกว่า มันยังไม่ค่อยมีคนพูดถึงความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจหรือสิทธิแรงงานเยอะ รวมถึงการวิเคราะห์ขยายผลจริงจังเรื่องรัฐสวัสดิการว่า เราจะไปถึงจุดนั้นได้ด้วยวิธีไหน มันมีข้อเสียข้อดีข้อเสียยังไง มันทำให้เรารู้สึกว่าอยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะมาพูดเรื่องนี้ในสังคม”

ส่วนตัวแชมป์-ฉัตรชัยเองก็มีจุดเริ่มต้นความสนใจในการเมืองไม่ต่างจากภาณุมาก เขาเติบโตมากับคุณพ่อที่เป็นเสื้อแดงและเชื่อในระบบประชาธิปไตยมาโดยตลอด แต่ด้วยเงื่อนไขกำแพงทางภาษา เขาจึงรู้สึกอินกับการเมืองและประวัติศาสตร์ไทยมากกว่า ตั้งแต่ช่วงมัธยมปลาย เขาเริ่มอ่านหนังสือจากสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน และหนังสือที่เกี่ยวข้องกับคนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรา 112 เริ่มดูช่อง Voice TV และรายการเจาะข่าวตื้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ค่อย ๆ สะสมเพิ่มพูนจนทำให้เขาเริ่มตั้งคำถามถึงความไม่สมเหตุสมผลในสังคมไทยหลาย ๆ อย่าง จนมาพีคช่วงเรียนมหาวิทยาลัยที่มีการรวมกลุ่มของ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) และเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 ที่ทำให้เขาหันกลับมาสนใจการเมืองมากยิ่งขึ้นไปอีก

แชมป์-ฉัตรชัย: “อันนั้นคือเรื่องราวการ ‘ตาสว่างทางการเมือง’ แต่ทีนี้มันมีอีกครั้งที่เราเริ่มทำงานประจำแล้ว เราได้ยินภาณุพูดประโยคหนึ่งคือคำว่า ‘ประชาธิปไตยในที่ทำงาน’ ซึ่งตอนนั้นกระบวนการต่อสู้ทางประชาธิปไตยรอบล่าสุดนี้ก็เริ่มจุดติด มีคนเสื้อดำออกมาชุมนุมกันแล้ว ตอนนั้นภาณุถามเราว่า ถ้าเราชนะแล้วได้ประชาธิปไตย แต่เราต้องกลับไปทำงานในบริษัทที่เป็นเผด็จการมันจะมีประโยชน์อะไร ซึ่งคำนี้มัน Trigger มาก เพราะว่า ตอนนั้นก็ทำงานประจำอยู่ แล้วมันทำให้เก็ทว่า เฮ้ย! จริง ๆ ในที่ทำงานก็เป็นเผด็จการเหมือนกัน ตั้งแต่เรื่องการใช้อำนาจบริหารสั่งการเชิงนโยบาย การฟังเสียงคนทำงาน ไปจนถึงเรื่องการแบ่งผลกำไรที่เจ้าของบริษัทเอาเปรียบคนทำงาน และได้ผลประโยชน์เกือบทั้งหมดไปฝ่ายเดียว ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นการ ‘ตาสว่างจากทุนนิยม’ ของเราเลย

คนส่วนใหญ่จะบอกว่าตัวเองอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย เชื่อเรื่องคนก็เท่ากัน แต่พอเป็นเรื่องปากท้องหรือเรื่องเศรษฐกิจกลับมีข้อยกเว้นเสมอ กลายเป็นว่า เราจะต้องเปิดบริษัทเป็นเจ้าคนนายคนถึงรวยได้ ซึ่งพอเราทบทวนคำที่ภานุทัก แล้วเอามาเทียบกับสถานการณ์การโดนเอาเปรียบในที่ทำงานของตัวเอง มันก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราตัดสินใจออกไปเคลื่อนไหวด้วย มันทำให้รู้สึกว่า เราต้องออกไปพูดเรื่องนี้ คือขบวนการประชาธิปไตยในตอนนี้มันอาจจะเริ่มมีคนพยายามพูดเรื่องนี้เยอะมากขึ้น เกิดขบวนการหรือองค์กรอย่างสภาพคนทำงานขึ้นมา แต่ว่าในเวลานั้นยังไม่มี มันมีแค่สิ่งที่เรียกว่า ความก้าวหน้าทางสังคม เราพูดถึงเรื่องเจ้า เราพูดถึงเรื่อง LGBT ความเท่าเทียมทางเพศ ความหลากหลายทางชาติพันธ์ ศาสนา มีคนพูดเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว ซึ่งเป็นความก้าวหน้าทางสังคมพวกนี้เราซื้ออยู่แล้ว แต่เราว่ามันยังไม่พอ มันขาดเรื่องนี้ พูดสั้น ๆ ก็คือ ถ้าคุณตาสว่างจากเจ้าแล้ว คุณก็ต้องตาสว่างจากทุนด้วย”

ประชาธิปไตยในที่ทำงานในวันที่ต้องลุกมาทำบริษัทของตัวเอง

เมื่อถึงคราวที่พวกเขาต้องมารวมกลุ่มกันทำงานร่วมกัน ประชาธิปไตยในที่ทำงานของ ‘พูด’ ก็เริ่มปรากฏชัดขึ้น โดยทีมงานทั้ง 5 คนจะถือหุ้นเท่ากัน ได้ส่วนแบ่งรายได้เท่ากัน ไม่มีใครเป็นเจ้านายใคร การตัดสินใจทุก ๆ อย่างภายในทีมจะต้องใช้วิธีการโหวตทั้งหมด ซึ่งบางครั้งทุกคนก็เห็นตรงกันหมด แต่บางครั้งที่ทุกคนก็เห็นไม่ตรงกันก็จะใช้การพูดคุยต่อหน้าเพื่อหาข้อสรุป

ภาณุ: “มันมีคำหนึ่งที่แชมป์มันเพิ่งพูดเมื่อวาน คือมันบอกว่า ประชาธิปไตยมันเหนื่อย แต่มันคุ้ม คือหมายถึงว่า การที่บางทีเราต้องมาโหวตจนทำให้ทะเลาะกัน โดยเฉพาะการตัดสินใจสำคัญที่เกี่ยวกับอนาคตหรือทิศทางของเพจที่ทำให้เราต้องมาเถียงและชั่งน้ำหนักกันเยอะ แต่ว่าสุดท้ายมันเวิร์ค เพราะว่ามันทำให้ทุกคนมีเสียงเท่ากัน แล้วมันไม่มีใครเป็นเจ้านายที่นี่ ซึ่งมันก็ดีตรงที่ว่า สุขภาพจิตมันดีขึ้นมาก ๆ แล้วทุกคนก็มีความรับผิดชอบในการทำงานร่วมกันโดยไม่ต้องมีใครมาสั่ง แน่นอนว่า ถ้าเราทำงานไม่ทันมันก็จะมีแรงกดดันจากเพื่อนแหละ แต่มันไม่ต้องไปสั่งกัน เพราะทุกคนรู้และพร้อมจะรับผิดชอบตัวเอง มันมีงานวิจัยที่ไปศึกษาคนที่ทำงานร่วมกันในโครงสร้างบริษัทที่แบนราบเป็นประชาธิปไตยที่ไม่มีใครเป็นเจ้านาย มันกลับกลายเป็นว่า พนักงานบริษัทในระบบนี้ทำงานได้เยอะกว่าแบบที่มีลำดับขั้น เพราะเขารู้สึกอินกับมันมากกว่า รู้สึกว่านี่เป็นความรับผิดชอบของเขาจริง ๆ เขาไม่ใช่ฟันเฟืองตัวหนึ่งที่แค่ต้องทำตามเจ้านาย นี่คือธุรกิจของเขาจริง ๆ ซึ่งเราว่า มันก็รู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ นะ พอโครงสร้างมันเป็นประชาธิปไตยในที่ทำงาน”

แชมป์-ฉัตรชัย: “เอาจริง ๆ แต่ก่อนเราเป็นคนไม่ค่อยมั่นใจในทักษะของตัวเอง แต่ก็ทำงานมาเยอะจนมันทำได้หลายอย่าง แล้วพอมาทำที่นี่คือเราทำหน้าที่เป็น Media Planner ต้องยิง Ads ต้องดูแลเรื่องการลงวิดีโอ บางครั้งเราก็เป็นคนตัดวิดีโอ แล้วก็ทำภาพทำปกด้วย คือหลาย ๆ อย่างพอไม่มีหัวหน้า ไม่มีอำนาจที่สูงกว่า มันก็ทำให้เราได้ทดลองได้เต็มที่ ซึ่งนอกจากมันจะสนุกมาก ๆ แล้วมันก็เวิร์คจนน่าตกใจว่า เราเก่งขนาดนี้เลยหรอวะ! เราไม่เคยรู้มาก่อนเลย ซึ่งภานุนี่แหละเป็นคนบอกว่า มึงเพิ่งรู้ตอนนี้ เพราะเมื่อก่อนมึงต้องทำงานภายใต้กรอบหรือโจทย์หรืออำนาจของคนอื่น แต่ที่นี่มันไม่มี มันเลยได้ทดลอง รวมถึงการยิง Ads ด้วย เราก็ได้ค้นพบสูตรใหม่ที่ไม่มีใครทำ พอเป็นอย่างนั้น มันก็เลยเป็นเหตุผลยืนยันว่า ประชาธิปไตยที่ทำงานมันดีต่อสุขภาพจิตจริง ๆ แล้วมันก็แก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำด้วย มันไม่มีใครเอาเงินทั้งหมดที่ทุกคนหาได้ไปเพียงคนเดียวอีกแล้ว เราแชร์เท่ากัน โตไปด้วยกัน อันนี้คือโตไปด้วยกันแบบ 100% ไม่ใช่โตไปด้วยกันแบบแค่เลี้ยงพิซซ่า (หัวเราะ)”

เมื่อปริมาณอาจจะไม่ได้มีความสำคัญเท่าคุณภาพ

นอกจาก ‘พูด’ จะเชื่อในระบบประชาธิปไตยในที่ทำงานแล้ว พวกเขายังมีวิธีคิดในการผลิตผลงานที่ไม่เน้นหว่านแหสร้างคอนเทนต์ปริมาณมาก ๆ แต่เน้นโฟกัสที่คุณภาพและผลตอบรับที่คนดูจะได้ไปมากกว่า อย่างในช่วงแรก พวกเขาเคยแก้ปัญหาความล่าช้าของการผลิตคอนเทนต์วิดีโอที่มีกระบวนการมากมาย ทั้งการเขียนบท ตัดต่อ ทำอนิเมชั่น รวมถึงลงเสียงพากย์ ด้วยการเขียนบทความลงหน้าเพจคั่นระหว่างรอวิดีโอคลิปใหม่ อย่างไรก็ดี พวกเขาพบว่า ลูกเพจหลาย ๆ คนรอคอยจะ ‘ดู’ วิดีโอของพวกเขามากกว่า ‘อ่าน’

ภาณุ: “จำได้ว่าตอนนั้นมีลูกเพจพิมพ์มาด่าว่า ชื่อเพจอ่านเหรอ ชื่อเพจเขียนเหรอ สรุปคือไม่มีใครสนใจ ทุกคนจะรอดูวิดีโอมากกว่า เราเลยคิดได้ว่า เวลาเราจะเขียนบทความก็ต้องค้นคว้าหาข้อมูล แล้วทำไมเราไม่เขียนบทความ แล้วก็แค่เอาบทความนั้นไปใช้เป็นบทพากย์ แค่นี้ก็ได้วิดีโอแล้วไง แล้วอย่างที่บอกว่า พอเปลี่ยนโมเดลจากการขอทุนมาเป็นการเอาตัวรอดในตลาดด้วยตนเองแล้วเนี่ย แชมป์ก็เริ่มตัดสิ่งที่เรียกว่า ‘พูด Mini’ ซึ่งมันก็คือ ‘พูด’ นี่แหละแค่มีวิธีตัดที่จะง่ายกว่า เกรียนกว่า กวนตีนกว่า มีความเป็นมีมกว่า แต่มีประสิทธิภาพในการเล่าเรื่องไม่แพ้เดิม ไม่มีอะไรยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แค่อาจจะเหมาะกับคอนเทนต์และโทนเรื่องคนละแบบ ซึ่งพอมีแชมป์มาตัดด้วยแล้วก็เลยทำให้การปล่อยวิดีโอเร็วขึ้น แล้วตอนนี้ทีมเราก็เริ่มจับจุดได้ อย่างตัวเราก็เริ่มพากย์เสียงเร็วขึ้น สามารถผลิตวิดีโอได้เร็วขึ้นเป็น 2 เท่า เราก็เลยเริ่มรู้สึกว่า การทำบทความมันไม่คุ้มก็เลยเลิกไป เสียทรัพยากรบุคคลเปล่า ๆ”

แชมป์-ฉัตรชัย: “จากที่แต่ก่อนลงวิดีโอได้แค่เดือนละ 2 คลิป ตอนนี้ก็เป็น 4 คลิป ตกอาทิตย์ละ 1 คลิปมาตลอดทำมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว เพราะว่าคนมีแค่นี้ ซึ่งทำไปทำมามันก็กลายเป็นจุดขายที่เราเพิ่งรู้ด้วย ‘พูด’ มีความแตกต่างจากทุกเพจ ๆ เลย นั่นคือมันมีกรอบเวลาของการดูสถิติคือ 1 สัปดาห์ ถ้าเป็นเพจอื่นเขาคงมีเป็นสิบเป็นร้อยคอนเทนต์ แต่เรามีแค่คอนเทนต์เดียวต่ออาทิตย์ แต่คอนเทนต์เดียวของเราก็มีสถิติทัดเทียมหรือมากกว่าของบางเพจอีก อันนี้ที่พูดมาทั้งหมด เพื่อที่จะบอกว่า เราค้นพบตัวตนด้วยว่า ‘พูด’ จะเป็นอะไร จะอธิบายคนอื่นอย่างไร เราคือโอมากาเสะคอนเทนต์ เรามีน้อย แต่มีคุณภาพ ซึ่งตอนทำงานประจำเราไม่มีทางได้ทำแบบนี้ เพราะในวันเดียวเราต้องทำหลายคอนเทนต์มาก ๆ ซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่า เดี๋ยวมันก็จะหายไป กลายเป็นขยะ ไม่มีใครสนใจอีก แต่ว่าถ้าสังเกตเนื้อหาของพูดวิดีโอทุกอัน จะเห็นเลยว่าแทบไม่มีวิดีโอที่ทำตามสถานการณ์เลย มีแค่คลิปเลือกตั้งสหรัฐกับ ‘การเมืองวัคซีน’ นอกนั้นไม่มีเลย อยากทำเรื่องอะไรก็ทำเลย”

ความสนใจที่หลายหลากสู่คอนเทนต์มากแง่มุม

ด้วยความที่ตอนแรก ‘พูด’ ถือกำเนิดขึ้นจากความตั้งใจของพวกเขาที่จะไปขอทุนรัฐบาล ทำให้เนื้อหาในช่วงแรกของเพจจะเน้นไปที่เกร็ดสาระน่ารู้สบาย ๆ ทั้งด้านศิลปะและวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อทราบผลว่าพวกเขาไม่ได้รับทุนดังกล่าว จึงตัดสินใจขยับไปไกลกว่าเดิมด้วยเนื้อหาที่หนักและจริงจังตามความสนใจของคนในทีมมากขึ้น แม้จะเป็นประเด็นที่สังคมอาจจะยังไม่ได้ให้ความสนใจมากนักก็ตาม

ภาณุ: “เราเป็นคนสนใจอะไรไปเรื่อย ไม่เป็นหลักเป็นแหล่ง เช่น วันนี้เปิดไปดูคลิปหนึ่งที่พูดเรื่องวิทยาศาสตร์ ทำไมคนเราถึงไม่มีขนเหมือนลิง เราก็อินไปเลย หรือช่วงหนึ่งเราไปดูคลิปภาษา เราก็จะไปหาข้อมูลเรื่องนั้นไปเรื่อย ๆ จนลึกมาก แต่ทีนี้มันจะมีคนถามว่า ถ้าทำเรื่องตามใจตัวเองมันจะไม่มีผลต่อยอดวิวเหรอ ซึ่งตอนแรกเราทำตามใจตัวเอง 100% เลย หลังจากนั้น มันก็เริ่มมีช่วงที่เราคิดว่า เราต้องทำอะไรที่คนจะชอบ แต่สุดท้ายแล้วมันทำไม่ได้ เพราะว่าถ้าเราไม่อิน เราก็เขียนบทไม่ได้

แต่มันมีอย่างหนึ่งที่เราเรียนรู้ระหว่างทาง คือจริง ๆ เราทำเรื่องตามใจได้ ตราบใดที่เราหาวิธีเฟรมเรื่องให้มันน่าสนใจได้ เช่น เราสนใจเรื่องการทดลองสร้างสังคมที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในโรจาวา แต่ถ้าเราตั้งชื่อวีดีโอว่า ชาวเคิร์ดในโรจาวา โอ้โห! ไม่มีคนดูแน่นอน เราก็เลยตั้งชื่อวิดีโอว่า ‘สังคมที่ไม่มีตำรวจ หรือแม้แต่ประมุข’ เพราะมันไม่มีตำรวจและประมุขจริง ๆ คือคีย์เวิร์ดคำว่า ไม่มีตำรวจกับประมุข มันสามารถเชื่อมโยงกับสถานการณ์บ้านเมืองเราได้มากกว่า หรืออย่างวิดีโอล่าสุด ‘ประเทศที่คนมีลูกไม่ได้’ เนื้อหาจริง ๆ คือเล่าว่า ทำไมเราต้องมีสวัสดิการเด็กถ้วนหน้าได้แล้ว เพราะว่าความยากจนและความเหลื่อมล้ำทำให้คนมันเลี้ยงลูกไม่ได้จริง ๆ บางคนถึงกับต้องยอมติดคุก แต่ถ้าเราตั้งชื่อเรื่องว่า ‘สวัสดิการเด็ก’ แน่นอน มันก็ไม่น่าสนใจ แต่เรารู้สึกว่ามันมีคนหลายคนที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในสภาวะเศรษฐกิจที่ค่าครองชีพมันสูงขึ้นเรื่อย ๆ ถึงจะอยากมีลูก แต่ก็ไม่มีทางมีแบบเจนฯพ่อแม่ได้แล้ว เราก็ตั้งชื่อเรื่องว่า ‘ประเทศที่คนมีลูกไม่ได้’ เพราะว่ามันน่าจะดึงดูดความคิดคนได้ดี พูดง่าย ๆ คือ ปรัชญาในการทำงานของเราคือตามใจตัวเอง 100% แต่ต้องเฟรมเรื่องให้ดี คือคิดกับวิธีตั้งชื่อเรื่องให้เยอะ เราเชื่อว่าทุกเรื่องมันก็น่าสนใจได้หมด ตอนหลัง พอเราได้หัวข้อแล้ว เราเลยใช้วิธีคิดชื่อปัง ๆ ให้ได้ก่อนแล้วค่อยเริ่มต้นเขียนบทต่อ”

เพราะสิทธิแรงงานคือสิ่งที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ

สิ่งหนึ่งเลยที่เราเห็นสอดแทรกอยู่ในเนื้อหาของ ‘พูด’ เป็นประจำคือเรื่องสิทธิแรงงาน พวกเขาอยากจะผลักดันเรื่องนี้ให้กลายเป็นกระแสหลักที่จะเริ่มทำให้คนในบริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ ได้เริ่มต้นตั้งคำถามกับความชอบธรรมของโครงสร้างบริษัทตัวเองมากขึ้น

ภาณุ: “ในระบบทุนนิยม คนอำนาจต่อรองของแต่ละคนย่อมมีไม่เท่ากัน คนที่มีเงินย่อมมีอำนาจต่อรองมากกว่าคนที่ไม่มีเงิน วิธีคิดง่าย ๆ ของสหภาพแรงงานก็คือ ถ้าคนที่มีอำนาจต่อรองน้อยมารวมตัวกัน มันจะทำให้อำนาจต่อรองของเขาทัดเทียมกับคนที่มีทุนได้ ซึ่งมันจะทำให้ระบบมันเป็นธรรมมากขึ้น อย่างในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย มันจะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘Union Default’ หมายถึงว่า มาถึงคุณต้องเข้าไปอยู่ในสหภาพโดยอัตโนมัติเลย ยกเว้นแต่คุณเลือกที่จะไม่อยู่ในสหภาพเอง แล้วมันทำให้เกือบทุกคนเกิน 60 % ของประชากรเขาอยู่ในสหภาพหมด สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาคือการต่อรองของเขาดีมาก บางทีพอเราพูดถึงรัฐสวัสดิการ เราจะคิดแค่ง่าย ๆ ว่า ถ้าเราได้รับการรักษาฟรี เรียนฟรี แล้วก็มีเงินช่วยเหลือ เงินเยียวยาก็เพียงพอแล้ว แต่อันนั้นมันเป็นการแปะพลาสเตอร์ ที่บางคนต้องการเงินเยียวยา ที่บางคนต้องการสวัสดิการมาช่วย เพราะว่าเขาถูกกดทับ เขาไม่ได้เงินเดือนที่เขาควรจะได้ ในประเทศที่มีอัตราคนในสหภาพสูงมาก สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ตัวประชาชนเขาสามารถต่อรองด้วยตนเองได้ แล้วเขาก็ได้ค่าแรงที่เหมาะสมตั้งแต่ต้น แล้วบนความเป็นธรรมของการต่อรองนั้น เขาค่อยมีรัฐสวัสดิการอีกทีหนึ่ง ประเทศเขามันเลยเจริญ ซึ่งบางทีเวลาเราพูดกันเรื่องรัฐสวัสดิการ เราจะพูดกันแค่มิติเดียวว่า รัฐบาลแค่ต้องแจกเงิน ซึ่งใช่ รัฐบาลต้องแจกเงินด้วย แต่ถ้าเกิดว่าคุณไม่ไปแก้ไขความเหลื่อมล้ำในการต่อรองหรืออำนาจในระบบ คุณแค่แจกเงินไป มันก็ไม่ช่วยอะไร มันแค่เอาพลาสเตอร์ไปอุดเขื่อนที่มันกำลังจะระเบิดเท่านั้น”

แชมป์-ฉัตรชัย: “จำนวนคนทำงานที่อยู่ในสหภาพในประเทศแถบสแกนดิเนเวียมีมากกว่า 60% ในขณะที่ประเทศไทยมีแค่ 1.6% แล้วถามว่าเราได้อะไร เราได้ประยุทธ์ เราได้เป็นหนึ่งในประเทศที่เหลื่อมล้ำที่สุดในโลก แล้วเขาได้อะไร เขาได้ค่าแรงที่เป็นธรรมกว่าจนหลายคนในบ้านเราอยากย้ายประเทศไปอยู่ที่นั่น เขาได้วันหยุดที่มากกว่า และเขาได้รัฐสวัสดิการที่ดี ทั้งหมดนี้มันมาจากคุณูปการของขบวนการต่อสู้ของแรงงานและสหภาพแรงงานทั้งสิ้น”

ภาณุ: “แล้วในสวัสดิการอันน้อยนิดที่บ้านเราพอจะยังมีให้อย่างประกันสังคม เงินเยียวยาเด็ก เบี้ยคนชรา สิทธิ์ลาคลอด หรือแม้แต่สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เรามองข้ามไปก็ล้วนได้มาจากขบวนการแรงงานทั้งหมด เพียงแต่เราถูกทำให้หยุดการต่อสู้ไปหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา แล้วเราก็ไม่สามารถกลับไปต่อสู้เรียกร้องเท่าเดิมได้อีกเลย ประเทศไทยไม่มีสหภาพแรงงานระดับชาติมา 46 ปีแล้ว เราอยากจะเน้นย้ำอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งอันนี้เป็นวิธีคิดที่ไม่ใช่แค่ฝั่งขวาในไทยคิด แต่ฝั่งซ้ายบางคนก็เป็น คือเขาแค่อยากได้คนดีคนเก่งมาบริหารประเทศ ถ้าฝั่งขวาจะบอกว่าอยากได้คนดี ส่วนฝั่งซ้ายบางคนอยากได้คนเก่ง วิธีการคิดแบบนี้มันคือการผลักภาระทั้งหมดให้กับนักการเมืองสักคนในจินตนาการ เชื่อว่าเขาจะสามารถแก้ไขทุกอย่างได้ อยากให้มีทักษิณคนที่ 2 ที่จะมาแก้ปัญหาทุกอย่าง แต่ความจริงคือมันไม่ได้ ถ้าเราไม่เพิ่มอำนาจให้กับแรงงาน หรือประชาชน นักการเมืองเขาไม่ทำหรอก”

แชมป์-ฉัตรชัย: “หลังจากที่เราเริ่มเคลื่อนไหวเรื่องแรงงานแล้ว มันก็ได้ข้อสรุปว่า จริง ๆ แล้วอำนาจสูงสุดมันเป็นของประชาชนจริง ๆ แต่เป็นในแง่ที่ว่า ทุกคนต้องรู้ก่อนว่า เราทุกคนมีคุณค่า เราทุกคนคือคนที่สำคัญที่สุดในประเทศนี้ เราคือคนที่ทำให้สังคมและเศรษฐกิจดำเนินไปได้ ไม่ใช่คนที่เสมือนว่าสำคัญอย่างเจ้าสัว นายพล เจ้า หรือใครก็ตามที่เป็นคน 1% ของประเทศที่ไม่ต้องทำงานอีกแล้ว แต่เราเป็นคนทำงาน เราหยุดทำงานไม่ได้ ไม่ใช่เพราะว่าเราจะไม่มีกินเท่านั้น แต่เราหยุดไม่ได้ เพราะเราสำคัญ ส่วนคนพวกนั้นสามารถหยุดได้หลายวัน หลายเดือน หลายปี หรือแม้แต่หยุดทั้งชีวิตเขาก็ยังทำได้ ไม่ใช่แค่เพราะเขารวย แต่เพราะพวกเขาไม่สำคัญหรือเปล่า ถ้าประชาชนจินตนาการออกว่า เราสำคัญต่อสังคมและอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนแค่ไหน สิ่งเหล่านี้มันถึงจะเป็นจริงขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม”

รัฐสวัสดิการไม่ใช่การช่วยเหลือของภาครัฐ แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะได้ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง

แม้คนไทยหลาย ๆ คนจะยังมองรัฐสวัสดิการเป็นความพยายาม ‘ช่วยเหลือ’ จากภาครัฐที่มีให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนจนที่ไม่สามารถเข้าถึงโอกาสและสิทธิขั้นพื้นฐานได้ อย่างไรก็ดี ทั้งคู่มองว่า วิธีการมองรัฐสวัสดิการควรจะเปลี่ยนแปลงไปได้แล้ว

ภาณุ: “มุมมองที่มีต่อเรื่องสวัสดิการส่วนใหญ่คือมันเป็นแค่การเยียวยา คุณมาช่วยเรา เพราะเราต้องการความช่วยเหลือ แต่ความจริงแล้วมันไม่ใช่ ประชาชนเป็นคนสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและทำให้ประเทศเดินต่อไปได้ ดังนั้น วิธีคิดมันควรจะเป็นว่า เงินตรงนี้เรา ‘ต้อง’ ได้ เพราะเราเป็นคนสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศนี้ วิธีการมองรัฐสวัสดิการมันจะต้องเปลี่ยนไป”

แชมป์-ฉัตรชัย: “อย่างประเทศในยุโรปเองก็ตาม เขาก็ยังเป็นทุนนิยมอยู่ คือในระบบเศรษฐกิจคนส่วนน้อยยังได้เงินทั้งหมดไป ในขณะที่คนทำงานคนส่วนใหญ่ในบริษัทได้ส่วนแบ่งแค่พอกิน ซึ่งถ้าคุณไม่มีประชาธิปไตยในที่ทำงานแบบเต็มใบ ไอ้รัฐสวัสดิการนี่แหละที่จะมาคืนสิทธิ์นั้นกลับไปให้ประชาชน ถือเป็นการกระจายความมั่งคั่งในสังคม เพราะคนที่สำคัญที่สุดในบริษัทก็คือคนทำงานทุกคน ไม่ใช่เจ้าของ ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นเนาะ ไม่ใช่นายทุน”

ข้อมูลแน่นปึ๊กแต่ก็ยังไม่วายโดนวิจารณ์

คอนเทนต์ของ ‘พูด’ ไม่เพียงได้รับเสียงชื่นชมจากการจุดประกายความคิดของคนในสังคมเท่านั้น แต่ในหลาย ๆ ครั้ง พวกเขายังเข้าไปแตะประเด็นที่ขัดต่อความเชื่อของคนส่วนใหญ่ (แม้จะมีข้อมูลและหลักฐานอ้างอิง) จนโดน ‘ทัวร์ลง’ แบบไม่ทันตั้งตัว

ภาณุ: “วิดีโอแรกที่เจอผลตอบรับที่ไม่คาดฝันคือ ‘ทำไมกุหลาบเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับเผด็จการ?’ เราโดนทัวร์สลิ่มลงเยอะมาก คือเขาเห็นปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ได้เลยถึงแม้จะมาแค่ 2 วินาทีก็ตาม แต่เอาจริง ๆ ถ้าเทียบกับ ‘พม่าไม่ได้เผากรุงศรี’ แล้ว วิดีโอกุหลาบคือถือว่าเบาไปเลย ซึ่งวิดีโออย่างพม่าไม่ได้เผากรุงศรีมันก็ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า มันมีข้อผิดพลาดจริง ๆ แหละ แต่ไม่ใช่ข้อมูลที่ผิด ปัญหาอยู่ที่เราไม่ได้พูดถึงแหล่งอ้างอิงเยอะมากพอ เพราะตอนนั้นเราไม่รู้ว่ามันจะไวรัลขนาดนั้น (ในปัจจุบันมียอดเข้าชมในเฟซบุคกว่า 16 ล้านครั้ง) ซึ่งหลังจากเหตุการณ์นั้น วิดีโอที่ออกตามมาอย่าง ‘ไทยไม่เคยเสียเอกราชจริงหรอ?’ เราก็พยายามที่จะเขียนบทให้มันพูดถึงแหล่งอ้างอิงเยอะขึ้น เพราะเราเข้าใจว่า สำหรับคนบางคน ถ้าเขาเสียตำนานการสร้างชาติเหล่านี้ไปคือตาย เขาเชื่อเรื่องนี้มากจนถึงขั้นว่า มันนึกไม่ออกว่าเรื่องนี้จะไม่เป็นความจริงได้อย่างไร เหมือนเด็กคนหนึ่งที่โตมาแล้วเพิ่งรู้ว่า ซานตาคลอสไม่มีอยู่จริง

การที่เราไปบอกคน ๆ หนึ่งที่ถูกหล่อหลอมโดยระบบการศึกษาไทยว่า คุณรู้หรือเปล่าว่าชาติไทยอายุแค่ 100 ปี ก่อนหน้านั้นมันไม่มีคำว่าชาติไทย คนบางระจันเขาไม่ได้รู้สึกว่าเขาเป็นคนไทย ไม่มีแผนที่ประเทศไทยอยู่จริง ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็เป็นระบบใหม่ แต่ก่อนมันเป็นระบบศักดินาแบบยุคกลาง คือหลายคนเขาตามไม่ทัน แล้วมันช็อค เพราะฉะนั้นบางทีผลตอบรับพวกนี้มันก็ทำให้เราเรียนรู้ว่า เราต้องทำให้ตัวเองน่าเชื่อถือขึ้น แต่สุดท้ายแล้วมันก็ไม่ได้ช่วยอะไรเท่าไหร่ (หัวเราะ) เพราะคนก็ยังมาแสดงความคิดเห็นใต้คลิปอยู่ดีว่า มึงเกิดทันเหรอ?”

แชมป์-ฉัตรชัย: “ซึ่งเราก็จะถามกลับไปว่า แล้วมึงเกิดทันเหรอ? กูก็ไม่ทัน มึงก็ไม่ทัน (หัวเราะ) หลายคนชอบมาพิมพ์ว่า “อ้าว! ไม่ได้เผาแล้วมันจะเข้าไปได้ยังไง มันเผา เขาก็มีบอกในตำรา” คือในมโนทัศน์ของคนไทย ถ้าพูดว่าพม่าเผากรุงศรี ในจินตนาการของเขาคือเหมือนในละครเลย พม่าต้องเผาราบทั้งกรุงศรี แต่ในความเป็นจริงแล้ว เขาไม่ได้เผาทั้งเมือง เขาเผารากกำแพง เผาวังที่เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ ซึ่งหลายคนรับความจริงตรงนี้ไม่ได้ แม้มันจะมีหลักฐานมากมายที่บอกว่า มันไม่ได้เป็นแบบที่เราเข้าใจในละครก็ตาม”

ภาณุ: “อีกอย่างคือเวลาเราพูดถึงเรื่องรัฐสวัสดิการในวิดีโอแม้แต่นิดเดียว มันจะชอบมีคนมาแสดงความคิดเห็นว่า “แต่ประเทศอื่นเขาเสียภาษีเยอะกว่าเรา”, “คุณจะยอมจ่ายภาษีแพง ๆ เหรอ” หรือแม้แต่ “ประเทศอื่นเขาเสียภาษีมากกว่ารายได้” เอามาจากไหนก่อน ล่าสุดเราก็เลยทำวิดีโอคลิปใหม่ที่จะมาลบล้างความเชื่อนี้ว่า ทำไมเสียภาษีสูงขึ้นมันก็ยังคุ้มสำหรับอยู่ดี”

สังคมไทยในแบบที่ ‘พูด’ อยากเห็น

แน่นอนว่าพูดเรื่องแรงงานมามากมายขนาดนี้ สิ่งที่ ‘พูด’ อยากจะเห็นสังคมไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องสหภาพและสิทธิแรงงานที่สังคมควรจะตื่นตัวและให้ความสำคัญมากขึ้น

ภาณุ: “เราขอยกตัวอย่างเรื่องหนึ่ง คือในวงการทำหนัง ทุกคนรู้ดีว่ามันมีการเอาเปรียบแรงงานมาตลอด การออกกองครั้งหนึ่งคือทุกคนต้องทำงานหนักมาก สมมุติว่าฉากนี้ยังถ่ายไม่เสร็จก็ต้องทำงานเกินเวลา ทีนี้ ในสหรัฐเขามีการรวมตัวภาคีผู้ทำภาพยนตร์ ซึ่งมันทำให้เกิดอำนาจการต่อรองที่เป็นธรรมกับแรงงานมากขึ้น ถ้าถึงเวลาเลิกกองแล้วผู้กำกับยังสั่งให้ทำงานต่อ ทุกคนจะพร้อมใจกันกลับหมดกองเลย มันคือจิตสำนึกของความเป็นแรงงานว่า เฮ้ย! เราทำงานแค่เท่ากับที่คุณจ่ายเงินตอบแทนให้พอ แต่ในบ้านเรามันยังไม่มีจิตสำนึกตรงนี้ ซึ่งที่เรายกตัวอย่างเรื่องนี้ก็เพราะเราอยากขยายไปยังภาพใหญ่ว่า ถ้าเกิดวันหนึ่งทุกคนในสังคมไทยเลิกคิดแบบเกรงใจเจ้านาย แต่หันมาคิดแบบเกรงใจตัวเอง เมื่อนั้นทุกอย่างจะดีขึ้น”

แชมป์-ฉัตรชัย: “มันคือการเกรงใจตัวเองและเกรงใจเพื่อนร่วมงาน การที่คุณกลับบ้านไม่ตรงเวลามันเป็นการเอาเปรียบคนอื่น เพราะคุณได้สร้างบรรทัดฐานที่มันแย่ขึ้นมาแล้วทำให้คนอื่นลำบากไปด้วย เพราะฉะนั้น สรุปง่าย ๆ สังคมไทยที่เราอยากเห็นคือสังคมไทยที่มีจิตสำนึกทางชนชั้น และความเป็นแรงงานที่สูงกว่านี้ หรือถ้ามีปัญหาคำว่า ‘แรงงาน’ จะใช้คำว่า ‘คนทำงาน’ แทนก็ได้

หลายคนมองว่า แรงงานมันดูเหมือนกรรมกรแบกหาม ดูไม่ดี ดูจน ทั้งที่จริง ๆ ไม่ใช่นะ ทุกคนก็เป็นแรงงานกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะทำงานในออฟฟิศ ทำงานเป็นกราฟฟิกดีไซเนอร์ หรือเป็นอะไรก็ตามแต่ที่รู้สึกว่าไม่ใช่แรงงาน แต่ความจริงก็ใช้แรงเหมือนกัน ในขณะเดียวกัน คนที่เขาทำงานแบกหาม สร้างบ้าน กวาดขยะบนถนน คนทำงานที่หลายคนรู้สึกว่าใช้แรงอย่างเดียว จริง ๆ เขาก็ใช้สมองเหมือนกัน เพราะเราเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไร ทุกคนต้องใช้ทั้งแรงและสมองไม่ต่างกัน”

ติดตามผลงานของ ‘พูด’ ได้ที่: Facebook , Youtube , Spotify และ Blockdit