Gongkan กันตภณ เมธีกุล “The Tip of the Iceberg Exhibition” เพราะปัญหายังถูกซ่อนอยู่ใต้ผืนน้ำ
เชื่อว่าหลายคนที่ตามวงการศิลปะร่วมสมัยในไทยมาตลอดอาจจะคุ้นหน้าคุ้นตาดีกับผลงานของ ‘ก้อง-กันตภณ เมธีกุล’ หรือที่รู้กันดีในชื่อ ก้องกาน (Gongkan) ศิลปินป็อปอาร์ตรุ่นใหม่ที่มีลายเส้นและรูปแบบผลงานอันเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะรูปวงรี ‘Teleport’ ที่เป็นเหมือนประตูมิติเชื่อมตัวตนของเขาเข้ากับโลกใบอื่น
ซึ่งแม้จะผ่านการแสดงงานศิลปะมานับครั้งไม่ถ้วนทั้งในไทยและต่างประเทศ แต่ครั้งนี้ก้องกานกลับมาพร้อมกับนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกที่แกลเลอรี่ Over the Influence เมืองลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ในชื่อ “The Tip of the Iceberg” ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม - 13 มิถุนายน ในงานนิทรรศการนี้ นอกจากเราจะได้เห็นงานภาพวาดของเขาที่เราคุ้นเคยแล้ว เรายังจะได้เห็นงานประติมากรรม และงานอนิเมชั่นฟิล์มของเขา ที่จะพาเราไปร่วมสำรวจประเด็นสังคมที่ยังถูกซุกซ่อนไว้ใต้ผืนน้ำผ่านผลงานศิลปะของเขา ทั้งประเด็นเรื่องเพศ สีผิว ระบบทุนนิยม เสรีภาพทางการเมือง และปัญหาสิ่งแวดล้อม
GroundControl เลยถือโอกาสพาทุกคนไปร่วมพูดคุยกับศิลปินคนนี้ถึงตัวตน ความคิด และผลงานศิลปะชุดใหม่ที่กำลังจะถูกจัดแสดงในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า มาพร้อมกับความท้าทายทั้งในเชิงรูปแบบและวิธีคิด ที่จะพาตัวตนของเขาในฐานะศิลปินไปไกลยิ่งกว่าเดิม ภายใต้ผลงานศิลปะที่ดูสวยงาม แต่แฝงด้วยประเด็นสังคมที่รอให้เราเข้าไปร่วมสำรวจและตั้งคำถามไปพร้อม ๆ กัน
ตัวตนและผลงานก่อนจะมาเป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในลอสแอนเจลิส
“เราชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็ก เรารู้สึกว่าทำสิ่งนี้แล้วมันเป็นตัวเราที่สุดก็เลยทำมาตลอด จนได้ไปใช้ชีวิตที่นิวยอร์คและเริ่้มทำงานสตรีทอาร์ตที่นั่น เราเริ่มพบแนวทางการทำงานศิลปะในแบบของเรา ซึ่งส่วนใหญ่จะพูดถึงอิสรภาพ แต่ก็ยังสอดแทรกประเด็นสังคม ความเป็นอยู่ และชีวิตของเราที่ผ่านมาเข้าไปด้วย ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราก็ทดลองรูปแบบและวิธีการใหม่ ๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นผ้าใบ โมเดล ทอย รูปปั้น อนิเมชั่น ฟิล์ม ฯลฯ เราทำงานศิลปะมาเรื่อย ๆ ทั้งโปรเจ็คส่วนตัว งานร่วมกับแบรนด์ต่าง ๆ และก็มีงานนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะอยู่เป็นระยะ ๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ
จุดเริ่มของงาน “The Tip of the Iceberg” ก็มาจากที่เจ้าของแกลเลอรี่ Over the Influence (OTI) ได้เห็นผลงานเราแล้วสนใจ เลยติดต่อให้มาร่วมกันทำนิทรรศการด้วยกันที่ลอสแอนเจลิส ซึ่งตัว OTI เองก็เป็นแกลเลอรี่ที่น่าเชื่อถือ ที่นี่ก็เคยแสดงผลงานของศิลปินนานาชาติที่มีชื่อเสียง และเป็นคนที่เราชื่นชอบหลายคน เราก็สนใจที่จะร่วมงานด้วย เพราะนอกจากมันจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ไปแสดงงานเดี่ยวในต่างประเทศ เราว่ามันก็เป็นโอกาสดีที่จะได้เรียนรู้การทำงานกับมืออาชีพ หาประสบการณ์ใหม่ ๆ ขยายโลกและมุมมองของเราให้กว้างขึ้นด้วย”
ความน่าสนใจในยอดน้ำแข็ง
“ปกติเราวาดรูปวงรีเป็นประตูมิติที่เราเรียกเองว่า ‘Teleport’ เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงอิสรภาพหรือการผ่านพ้นอะไรไปได้ งานครั้งนี้เราก็ยังสอดแทรกรูปแบบวงรีอันนี้อยู่ ยังเป็นการวาร์ป การโผล่ขึ้นมาในมิติใหม่ แต่ในครั้งนี้เราจะพูดถึงสิ่งที่มันโผล่ออกมาจากโลกที่เราไม่เคยไปสนใจและสัมผัสมันอย่างจริงใจมาก่อน อย่าง เรื่องของความเหลื่อมล้ำ ระบบทุนนิยม ความเท่าเทียมทางเพศ การเหยียดสีผิว สิทธิเสรีภาพทางการเมือง เรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจจะเป็นเรื่องที่คนในสังคมบางกลุ่มอาจจะมองไม่เห็นหรือรู้สึกว่าไกลตัว เราเลยค่อย ๆ พัฒนารูปแบบงานโดยหวังว่าคนดูจะเกิดคำถามว่า ภายใต้ผืนน้ำนั้นมันคืออะไร มันสื่อถึงอะไร หรือเขามีปัญหาอะไรที่ยังจมอยู่ในนั้นรึเปล่า อยากให้เขาได้คิดต่อจากงานและเห็นว่ามันยังมีปัญหาอีกมากที่ยังที่ไม่ถูกพูดถึงอย่างตรงไปตรงมากันในสังคมไทย
แนวคิดนี้มันก็ไปตรงกับสำนวนภาษาอังกฤษ “The Tip of the Iceberg” พอดี ซึ่งสำนวนนี้หมายถึง การที่เราเห็นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็งแค่ส่วนเดียว โดยไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วใต้ภูเขาน้ำแข็งนั้นยังมีปัญหามากกว่ายอดที่เรามองเห็นอีกเป็นร้อยเท่าซ่อนอยู่ เหมือนเรือไททานิคที่จมเพราะชนแค่เสี้ยวของยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น”
ความจริงอีก 99% ที่ยังถูกซ่อนอยู่ใต้ผืนน้ำ
“ก้อนปัญหาที่เราเห็นเป็นแค่ 1% ที่โผล่อยู่เหนือผิวน้ำ มันยังมีอีก 99% ที่ซ่อนอยู่ใต้ผิวน้ำที่เรายังไม่เคยได้ไปสำรวจอีก คนบางกลุ่มก็จะเพิกเฉยเพราะคิดว่าไม่ใช่ปัญหาของเขา งานนิทรรศการครั้งนี้เราแค่อยากบอกว่าปัญหาพวกนี้จริง ๆ มันใกล้ตัวและกระทบกับชีวิตทุกคนนะ ปัญหาพวกนี้มีรากที่หยั่งลึกมาก แต่เรามองมันเป็นแค่เรื่องเล็ก ๆ ที่ไกลตัว
อย่างเรื่องความเหลื่อมล้ำหรือความแตกต่างระหว่างชนชั้นที่เกิดจากระบบทุนนิยม ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง แต่มากดให้คนจำนวนมากต้องลำบาก เราต่างรู้ดีว่า 99% ของประชากรไทยคือคนจน ที่ผ่านมาเราทำเป็นเห็นใจ แต่จริง ๆ เรากลับไม่เคยเข้าไปรับรู้หรือลงมือแก้ไขอย่างจริงใจด้วยซ้ำ เพราะเราคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องของเรา มันแค่เป็นโลกคู่ขนานในโลก 1% ของประชากรที่สุขสบาย เราไม่เคยได้ตระหนักถึงปัญหาอย่างแท้จริง เหมือนฐานของก้อนภูเขาน้ำหน้าแข็งที่ยิ่งใหญ่ เราก็ไม่เคยคิดจะไปแตะตรงนั้น”
ภูเขาน้ำแข็งกับความเท่าเทียมทางเพศ
“ส่วนตัวเราทำงานเกี่ยวกับเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและประเด็น LGBTQ+ มาสักระยะแล้ว ซึ่งเรามองว่าประเด็นนี้มันถูกพูดถึงกันมานานมากแล้ว แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง การเป็นเกย์ยังคงเป็นเรื่องแปลกในสังคม ทั้งในแง่ครอบครัว สังคม หรือศาสนา บางคนเชื่อว่าการเป็นเกย์ถือเป็นการที่เราไม่ได้ทำตามสิ่งที่พระเจ้าสร้าง ทางเดียวคือเราจะต้องตกนรก หรือจะต้องภาวนาหรือขอพรจากพระเจ้าจนเปลี่ยนเป็นผู้ชาย คือในมุมมองของคนบางกลุ่มแค่เป็นเกย์ก็ผิดเลย ยังไม่ทันเริ่มทำอะไรก็โดนตัดสินแล้ว”
“หรืออย่างในนิทรรศการครั้งนี้จะมีรูปหนึ่ง เป็นรูปผู้หญิงจับพระพุทธรูป บางคนก็มองว่ามันไม่เหมาะสม เพราะเขามองว่าผู้หญิงเป็นขั้วตรงข้ามของพระ ผู้หญิงมีประจำเดือน เป็นของสกปรก หรือแม้แต่มองว่าผู้หญิงจะทำให้พระตะบะแตก เรามองว่า ถ้าเปลี่ยนรูปนี้เป็นรูปผู้ชายจับพระคนก็คงจะเฉย ๆ ไม่ได้มองว่าแปลกหรือไม่เหมาะสมอะไร ทั้งที่จริง ๆ ผู้หญิงคนนี้อาจจะกำลังทำความสะอาดพระ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเลื่อมใสก็ได้ เรายังไม่ได้เห็นเต็ม ๆ ด้วยซ้ำว่าเขาทำอะไรอยู่ใต้น้ำ เรายังไม่เห็นเค้าทั้งหมดแต่กลับไปตัดสินและตีความไปเองแล้ว”
การขับเคลื่อนบ้านเมืองไปข้างหน้าในมุมมองของศิลปินร่วมสมัย
“งานศิลปะที่ผ่านมาของเรามักจะพูดถึงเรื่องตัวตนและชีวิตของตัวเอง แต่ครั้งนี้เราอยากพูดถึงสิ่งรอบตัวเรามากขึ้น เพราะเรารู้สึกว่า ศิลปะก็เป็นกระบอกเสียงช่องทางสื่อสารและแสดงออกความคิดของเรา ศิลปินมีสิทธิ์ที่จะมีความคิดเห็นและสามารถแสดงออกเกี่ยวกับสังคมได้ แต่ถึงแม้ปัญหาที่เราจะสื่อในงานจะมีความรุนแรงหรืออ่อนไหว แต่งานศิลปะของเราไม่มีเป้าหมายไปยุยงให้เกิดความเกลียดชังหรือความรุนแรง เรามองว่ามันเป็นการสะท้อนมุมมองของคน ๆ หนึ่งที่อยากบอกเล่าปัญหาและสร้างการตระหนักรู้ในสังคมให้ดีขึ้นเท่านั้น
อย่างงานที่เราทำในนิทรรศการครั้งนี้ เราไม่ได้ตั้งใจจะสื่อถึงแค่คนที่อยู่ในก้อนน้ำแข็งเพียงอย่างเดียว เราต้องการสื่อไปถึงคนที่ทำให้เกิดปัญหาในก้อนน้ำแข็งเหล่านั้นด้วย เราหวังว่า เมื่อเขาได้มาดูงานครั้งนี้แล้ว เขาจะกลับไปตั้งคำถามกับตัวเองสักนิด
เราเชื่อว่า มนุษย์ไม่ได้เกิดมาดีพร้อม แต่สังคมมันจะดีขึ้นถ้าเราไม่โลภและไม่เห็นแก่ตัว เราเคยได้ยินคำพูดที่ว่า โลกนี้มันมีทรัพยากรพอสำหรับทุกคน แต่มันมีไม่พอสำหรับคนโลภแค่คนเดียว อย่างเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นที่เหมือนเป็นยอดน้ำแข็งที่โผล่มาแค่นิดเดียวให้เราได้รับรู้ แต่จริง ๆ มันไม่ได้โปร่งใสและยังถูกปกปิดอยู่ภายใต้ผืนน้ำอีกมาก ส่วนตัวแล้ว ปัจจุบันเราไม่กล้าหวังถึงประเทศที่ไม่มีการทุจริตคอรัปชั่นเลย มันเหมือนกลายเป็นฝันลม ๆ แล้ง ๆ ไปแล้ว แต่อย่างน้อยเราอยากให้คนกลุ่มนี้มีจิตสำนึกและนึกถึงคนที่เขามีเลือดเนื้อมีลมหายใจ ให้เขาได้มีสิทธิ์ลืมตาอ้าปากบ้าง จรรยาบรรณและความเอื้อเฟื้อต่อเพื่อนมนุษย์มันต้องมี”
ผลกระทบที่สุดท้ายก็ไม่มีใครจะหนีพ้น
“เราไม่ได้บอกว่าเราเป็นคนดี แต่การทำงานในนิทรรศการครั้งนี้ก็มาเตือนสติเราในหลาย ๆ เรื่องเหมือนกัน อย่างเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เราทุกคนต่างรู้ดีว่าโลกกำลังประสบกับปัญหาขยะล้นโลก แต่ในบางครั้ง ตัวเราก็ยังขี้เกียจหิ้วกระติกน้ำ เราคิดอย่างมักง่ายว่าซื้อน้ำขวดใหม่ง่ายกว่าเยอะ ให้คนอื่นแก้ปัญหาเอา มันไม่ใช่ปัญหาของเราแล้ว เราจะมีเหตุผลเหล่านี้มาสนับสนุนความคิดของเราให้เราลืม ๆ เรื่องนี้ไป เพราะปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมมันยังไม่ได้มากระทบถึงตัวเราในวันนี้
ประเด็นสำคัญเลยคือการที่ไม่ว่าเราจะอยู่รอดจากผลกระทบทางธรรมชาติเหล่านี้ไปได้นานแค่ไหน แต่ในท้ายที่สุดเราก็จะชนกับภูเขาน้ำแข็งก้อนนั้นเองเข้าสักวัน เพราะทุกอย่างเป็นวงจร ในระยะสั้นไม่กี่ปีเราอาจจะลอยตัวรอดจากผลกระทบอยู่คนเดียว อาจจะรอดตายก่อนคนที่อยู่ล่างสุดของภูเขาน้ำแข็ง แต่ในระยะยาวเราไม่มีทางอยู่รอดในโลกที่มันเน่าเฟะไม่มีอะไรดีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนทรัพยากร มลพิษ หรือโรคระบาด อย่างรูปที่คนนั่งทับซ้อนกันเป็นชั้น ๆ คนที่รอดจากการจมน้ำเขานั่งทับคนอื่นไปกี่คนแล้ว แล้วใต้น้ำมีอีกกี่คน ซึ่งแม้ว่าคนบนยอดจะรอดตายก่อน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คนบนยอดจะไม่มีวันจมน้ำไปด้วยเลย เราอยากให้คนตระหนักถึงปัญหาเชิงโครงสร้างตรงนี้” .
งานศิลปะกลิ่นอายไทยในประเด็นสากล
“ถึงแม้จะเป็นงานนิทรรศการในต่างประเทศ แต่เราก็ยังอยากเล่าเรื่องที่มีกลิ่นอายความเป็นไทย เป็นการเล่าผ่านมุมมองของเราที่เติบโตและใช้ชีวิตในประเทศนี้ ถึงแม้ว่าก้อนน้ำแข็งในงานครั้งนี้อิงมาจากสังคมไทยเป็นหลัก แต่เราคิดว่าสิ่งที่เราเจอมันก็ไม่ได้แปลกซะจนชาวต่างชาติจะไม่สามารถจินตนาการร่วมกันกับเราได้ บางปัญหามันก็ไม่ได้มีแค่ที่ไทย แต่เป็นปัญหาของทั้งโลก เป็นประเด็นสากลที่ทุกคนน่าจะสามารถเชื่อมโยงกับตัวเองได้ ยังมีหลายประเทศที่ต้องเผชิญกับปัญหาความยากไร้ การทุจริตคอรัปชั่น ความเหลื่อมล้ำทางเพศ การเหยียดสีผิว การอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมผูกขาด การไม่ได้รับอิสรภาพทางความคิด ฯลฯ หรือแม้แต่ว่าบางอย่างถึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับเราโดยตรง แต่เรากลับอินเพราะมันมีความเป็นมนุษย์อยู่ในนั้น เราในฐานะศิลปินแค่ต้องการนำเสนอประเด็นเหล่านั้นออกมาในรูปแบบของเราผ่านกลิ่นอายแบบไทย ๆ ทั้งในแง่สไตล์และสัญลักษณ์บางอย่างที่ใส่เข้าไปในงาน ซึ่งเราว่าผลงานของเราย่อยง่ายอยู่แล้ว ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคต่อความเข้าใจของชาวต่างชาติ”
ติดตามผลงานของ Gongkan ได้ที่เพจ Facebook และอินสตาแกรม @gongkan_