'ความรักและฝันร้าย' สำรวจตำนานแห่งความรักและศิลปะแห่งฝันร้ายใน MV Cool With You ของ NewJeans
ฉันไม่สนว่าคนอื่นจะพูดว่ายังไง อย่าไปเลยนะ ฝันถึงกันและกันต่อไปเถอะ
‘Cupid and Psyche’ คือชื่อผลงานศิลปะจากยุคโรแมนติกโดยศิลปินชาวฝรั่งเศส ฟรังซัวส์-เอดัวร์ ปีโกต์ (François-Édouard Picot) ที่มาปรากฏตัวเป็นฉากสำคัญในเอ็มวี Cool With You ของวงนมผงแห่งชาติ NewJeans และยังทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ที่ช่วยตอกย้ำเรื่องราวความรักในความลับระหว่างคิวปิดสาวที่วันดีคืนดีก็ดันแผลงศรรักปักอกตัวเอง จนทำให้เธอเลือกที่จะละทิ้งความเป็นเทพ เพื่อมาครองคู่กับชายคนรัก
แต่นอกจากผลงานศิลปะเล่าเรื่องราวของ ‘อีรอส’ และ ‘ไซคี’ ที่ถูกผู้สร้างเอ็มวีหยิบมาใส่ไว้ในฉากแบบเต็ม ๆ เพื่อช่วยขยายเรื่องราวในเอ็มวีแบบชัด ๆ เราแอบคิดว่ายังมีงานศิละและเรื่องราวจากตำนานเทพกรีกที่น่าจะถูกสอดแทรกอยู่ในเอ็มวีนี้อีกมากมาย ซึ่งเรฟงานศิลปะและตำนานที่ถูกหยิบมาใส่ไว้ก็เพิ่มความซับซ้อนให้เรื่องราวในเอ็มวี และขับเน้นประเด็นเรื่องความหลงใหลจนแทบจะกลายเป็นหมกมุ่นที่อยู่ในเนื้อหาของเพลง (“You may be on my mind. Everyday baby, say you're mine”) ซึ่งทำให้เรื่องราวความรักอันงดงามตรึงใจของคิวปิดสาวกับชายหนุ่ม เริ่มมีเค้าลางของเงามืดแห่งความปรารถนา ความหลงใหล ความต้องการที่จะครอบครอง ซึ่งทั้งหมดนี้คืออีกด้านหนึ่งของความรัก ที่สามารถพลิกภาพฝันอันงดงามของความรักให้กลายเป็นภาพแห่งฝันร้ายที่เผยตัวของตัวตนด้านมืดที่ซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา!
มีงานศิลปะและตำนานใดที่ซ่อนอยู่อีกบ้าง? และสาว ๆ NewJeans จะทำให้ฝันรักจะกลายเป็นฝันร้ายได้อย่างไร? ไปหาคำตอบร่วมกันได้เลย
คิวปิดหญิงกับด้านมืดของความรัก
อย่างที่บันนี่หลาย ๆ คนได้พูดถึงไปมากแล้ว การปรากฏตัวของงานศิลปะที่ชื่อว่า ‘Cupid and Psyche’ (1817) ของ ฟรังซัวส์-เอดัวร์ ปีโกต์ ก็เป็นการบอกอย่างชัดเจนแล้วว่าเรื่องราวในเอ็มวีจะเป็นการบอกเล่าความรักต้องห้ามระหว่างคิวปิดสาวและชายหนุ่มผู้เป็นมนุษย์ธรรมดา โดยฉากในลิฟต์ที่นำเสนอภาพนักแสดงสาว ช็องโฮย็อน ผู้มีอานุภาพในการบันดาลให้คนตกอยู่ในห้วงรัก รวมไปถึงตำแหน่งของนักแสดงหญิง ช็องโฮย็อน และนักแสดงหนุ่ม มิกอล เวลา ที่ยืนอยู่หน้าภาพ Cupid and Psyche ก็เป็นการสะท้อนให้เห็นการสลับเพศจากตำนานเดิม โดยในเอ็มวีนี้ กามเทพแห่งความรักจะเป็นเพศหญิงแทน
อย่างไรก็ตาม ในเอ็มวีก็มีหลายฉากที่บอกเป็นนัยถึงเส้นทางความรักที่ไม่สวยหรูของคิวปิดสาวและชายหนุ่ม ซึ่งด้านที่ไม่สวยงามของความรักนั้นก็หาใช่แค่ความรักต้องห้ามต่างสถานะระหว่างเทพกับมนุษย์ แต่ยังมีนัยของความรักที่กลายเป็นความหลงใหลหมกมุ่น จนนำมาสู่การเปิดโปงด้านมืดของความรักที่เป็นฝันร้ายและอำนาจของสิ่งที่ซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึกของคน!
แต่ก่อนที่จะไปสำรวจการเผยด้านมืดใน Cool With You เราย้อนกลับไปทบทวนเรื่องราวของคิวปิด หรือ ‘อีรอส’ กับ ‘ไซคี’ ในปกรณัมกันก่อน
อีรอสเป็นบุตรนอกสมรสที่เกิดจากนาง ‘อโฟไดที’ (วีนัส) เทพแห่งความงาม และ ‘แอรีส’ (มาร์ส) เทพแห่งสงคราม โดยอีรอสเป็นบุตรชายคนโต ผู้มีธนูและลูกดอกเป็นอาวุธ ซึ่งหากอีรอสยิงลูกศรไปปักอกผู้ใดแล้ว ผู้นั้นจะตกอยู่ในวังวนแห่งความรักในทันที
ขณะที่นาง ‘ไซคี’ (มีความหมายว่า จิตใจหรือวิญญาณ) เป็นสตรีผู้มีรูปโฉมงดงามเป็นที่เลื่องลือ จนทำให้ผู้คนของเมืองที่นางอาศัยอยู่ต่างพากันละเลยการบูชาอโฟไดที นำมาซึ่งความไม่พอใจแก่เทพีแห่งความงามเป็นอย่างยิ่ง พระนางจึงบัญชาให้อีรอสไปหลอกล่อให้นางไซคีไปหลงรักสัตว์เดียรัจฉานตนไหนก็ได้ เพื่อที่จะเกิดความอัปยศอดสูจนผู้คนเลิกหลงใหลในความงามของนางไซคีตลอดไป
อีรอสรับคำบัญชาของพระมารดา เตรียมวางแผนใช้ธนูของตนยิงลูกศรใส่นางไซคีให้ได้ผลที่คิดไว้ แต่กลายเป็นว่าทันทีที่กามเทพหนุ่มเจอเข้ากับหญิงสาวเป้าหมายแบบไม่ทันตั้งตัว เขากลับตกตะลึงในความงามของไซคีเข้าอย่างจัง จนพลาดท่าทำลูกศรแห่งความรักปักเข้ากลางใจตนเองแทน ทำให้อีรอสตกหลุมรักนางไซคีนับตั้งแต่นั้น
แต่ด้วยอีรอสรู้ดีว่าคนที่ตนรัก (เพราะโดนลูกศรของตัวเอง) นั้นเป็นคนที่แม่ชิงชัง จึงได้แต่เก็บซ่อนความรักลับ ๆ ครั้งนี้เอาไว้ แล้วไปขอความช่วยเหลือเทพองค์ต่าง ๆ ให้ขัดขวางชายทุกคนมิให้ใครมาสู่ขอนางไซคีเป็นภรรยา จนนางไซคีเองเริ่มวิตกกังวลว่าชีวิตนี้จะไร้ซึ่งคู่ครองเป็นแน่แท้ จึงไปอ้อนวอนกับเทพ ‘อะพอลโล’ ผู้เป็นเทพแห่งดวงอาทิตย์ ซึ่งสุริยะเทพก็ได้แจ้งแก่นางว่า คู่ครองของนางไซคีมิใช่มนุษย์ และจะรอคอยนางที่ยอดเขา แต่มีข้อแม้ว่าเวลาเจอกัน ห้ามหันหน้ามามองดูคู่ครองของนางเป็นอันขาด นางไซคีได้ยินดังนั้นจึงเดินทางไปยังยอดเขาตามคำทำนาย เมื่อมาถึงก็พบปราสาทงดงามที่อีรอสเนรมิตเอาไว้ พอตกกลางคืนกามเทพได้ปรากฏตัวขึ้นต่อนางไซคี ทั้งสองร่วมรักกันอย่างมีความสุข ภายใต้ข้อแม้ที่เทพอะพอลโลแจ้งแก่นางไซคีไว้
แต่ผ่านไปไม่นาน ความสงสัยของนางไซคีก็มีมากขึ้นว่าคู่ครองของตนเองนั้นแท้จริงหน้าเป็นอย่างไร จึงวางแผนจะแอบหน้าตาของกามเทพขณะที่เขาเผลอหลับ เมื่อถึงเวลา นางไซคีจึงจุดตะเกียงเพื่อส่องดูหน้าตาของคนรัก และพบว่าคนที่ตนอยู่ด้วยทุกคืนนั้นเป็นชายผู้มีรูปโฉมงดงาม ทันใดนั้น น้ำมันตะเกียงได้ตกลงบนร่างกายของอีรอสจนเขาสะดุ้งตื่น เมื่อพบว่าคนรักของตนละเมิดสัญญา อีรอสจึงประกาศกร้าวว่า “ความรักไม่อาจคงอยู่ได้ หากปราศจากความไว้ใจ” พร้อมบินจากไปต่อหน้าต่อตานางไซคี
นางไซคีเสียใจมากกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงเดินทางออกจากบ้านเกิดเพื่อออกตามหากามเทพผู้เป็นที่รัก และได้รับคำแนะนำจากดีมิเตอร์เทพีแห่งพืชผล ให้เดินทางไปยังวิหารของอโฟไดทีเพื่อขออภัยโทษ
แต่แรงริษยาที่เทพีแห่งความงามต่อนางไซคีนั้นยังแรงอยู่มาก พระนางจึงหาทางแกล้งนางไซคีสารพัดด้วยการมอบภารกิจเสี่ยงตายต่างๆ นา ตั้งแต่ แยกเมล็ดข้าวให้นกพิราบกินภายในหนึ่งวัน แอบไปขโมยขนแกะทองคำ จนถึงไปขอเครื่องประทินผิวจากพระนางเพอร์ซิโฟเน่ มเหสีของฮาเดสจากยมโลก ซึ่งทุกภารกิจล้วนแล้วแต่เหนือกำลังปุถุชนธรรมดาจะทำได้ แต่นางไซคีก็สามารถผ่านภารกิจทั้งหมดทุกครั้ง ด้วยความช่วยเหลือ (อย่างลับ ๆ) ของอีรอสนั่นเอง
อีรอสเห็นความพยายามของนางไซคีที่ต้องการจะไถ่โทษเช่นนี้ สุดท้ายก็ยอมใจอ่อนให้กับคนรักในที่สุด จึงอ้อนวอนให้เทพซุสเกลี้ยกล่อมให้อโฟไดทียอมคลายความริษยาที่มีต่อนางไซคี และยังประทานความเป็นอมตะให้กับนาง นับแต่นั้นอีรอสและไซคีจึงอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
โดยฉากจากตำนานที่ปรากฏในผลงานของศิลปินปีโกต์ ก็คือฉากที่อีรอสลุกจากเตียงของนางไซคีเมื่อรุ่งอรุณมาเยือน เพื่อป้องกันไม่ให้ไซคีเห็นหน้าและตัวตนที่แท้จริงของเขานั่นเอง
The Nightmare ฝันร้ายของความรัก และความดำมืดที่ซ่อนอยู่ในจิตใต้สำนึก
คุณอยู่ในห้วงความคิดของฉันตลอดเวลา พูดสิ ว่าคุณเป็นของฉัน You may be on my mind พูดสิ ว่าคุณเป็นของฉัน You may be on my mind Everyday baby, say you're mine
นอกจากภาพ Cupid and Psyche ของปีโกต์แล้ว ที่จริงยังมีอีกหนึ่งงานศิลปะที่น่าจะถูกแอบใส่ไว้ในฉากหนึ่งของเอ็มวี แม้ว่าจะไม่ปรากฏออกมาเป็นตัวเป็นตนแบบผลงานของปีโกต์ แต่ฉากที่คิวปิดช็องโฮย็อนในชุดหนังสีดำแอบคลานขึ้นไปบนเตียงของชายหนุ่มผู้กำลังหลับใหล และจ้องมองเขาอยู่เนิ่นนาน ก็ทำให้เราอดนึกถึงอีกหนึ่งงานศิละชื่อดังอย่าง The Nightmare ของศิลปินชาวสวิส เฮนรี ฟูเซลี ไม่ได้
เฮนรี ฟูเซลี เป็นศิลปินที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งการสำรวจฝันร้าย ผลงานของเขามักถ่ายทอดภาพของฝันร้าย หรือขณะที่คนกำลังหลับฝัน สิ่งที่เขาหลงใหลเป็นพิเศษก็คือปรากฏการณ์ที่คน ‘รู้ตัว’ เวลาฝันโดยเขาเชื่อมโยงปรากฏการณ์นี้กับตำนานพื้นบ้านของเยอรมันที่เล่าถึงปีศาจและแม่มดที่เข้าสิงร่างของคนที่นอนคนเดียว
ผลงานที่โด่งดังที่สุดของฟูเซลีย่อมหนีไม่พ้น The Nightmare (1781) ที่นำเสนอภาพของหญิงสาวผู้กำลังนอนระทดระทวยดูอ่อนแรงอยู่บนเตียง โดยที่ศีรษะและแขนของเธอพาดออกมาที่ริมเตียง และที่นั่งทับอยู่บนหน้าอกของเธอก็คือสิ่งมีชีวิตหน้าตาอัปลักษณ์ที่หันมาสบตากับคนดูด้วยดวงตาดำกล่ำ ซึ่งคนดูสามารถอนุมานได้ทันทีว่าเป็นปีศาจ ‘อินคิวบัส’ อสุรกายในตำนานพื้นบ้านของโลกตะวันตกที่ขึ้นชื่อเรื่องการแอบลักลอบร่วมเพศกับหญิงสาวขณะหลับใหล
ความเป็นที่เลื่องลือของ The Nightmare ไม่ได้อยู่ที่การนำเสนอภาพปีศาจอันน่าขนลุกเท่านั้น แต่ด้วยบริบทเบื้องหลังในขณะที่ผลงานชิ้นนี้ถูกสร้างขึ้นมา รวมไปถึงการตีความและสร้างความหมายของนักวิชาการในแต่ละยุค ก็ทำให้มันถูกยกเป็นหนึ่งในงานศิลปะที่นำเสนอประเด็นเรื่องจิตวิเคราะห์ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความฝัน จิตใต้สำนึก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องเพศได้อย่างคมคาย
ย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 18 ที่ The Nightmare ได้ถือกำเนิดขึ้น สังคมตะวันตกกำลังอยู่ในช่วง ‘ตื่นรู้’ ทางปัญญา จนถูกเรียกว่าเป็นยุค ‘Age of Reason’ หรือยุคที่คนให้ความสำคัญกับการใช้ ‘เหตุผล’ และการใคร่ครวญถึงสิ่งต่าง ๆ โดยใช้ตรรกะและปัญญา จนทำให้เรื่องราวของตำนานพื้นบ้านและความเชื่อต่าง ๆ ถูกมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระงมงาย
การมาถึงของ The Nightmare ที่ไม่ได้ถ่ายทอดภาพเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ หรือแม้กระทั่งถ่ายทอดฉากจากไบเบิล แต่กลับนำเสนอภาพจากตำนานและเหตุการณ์ที่ศิลปินจินตนาการขึ้นมา จึงทำให้ผลงานชิ้นนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางไปตามระเบียบ
แต่คนที่รักผลงานที่นำเสนอจินตนาการซึ่งเปิดช่องว่างให้การตีความนี้ กลับเป็นที่ถูกใจของชายคนหนึ่งเป็นอย่างมาก ซึ่งเขาก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นบิดาแห่งศาสตร์จิตวิเคราะห์อย่าง ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ที่ถึงกับแขวนภาพฉบับก็อปปี้ของผลงานชิ้นนี้ไว้ในห้องทำงานของเขาเลยทีเดียว
ในภายหลัง The Nightmare มักถูกหยิบยกขึ้นมาวิเคราะห์และตีความในฐานะผลงานที่นำเสนอกลไกการเกิดขึ้นของ ‘ฝันร้าย’ หรือ Nightrmare ซึ่งในช่วงเวลาแห่งฝันร้ายนี้เองที่สิ่งดำมืดที่หลับใหลอยู่ในพื้นที่จิตใต้สำนึกของเราได้ถูกผลักดันให้ปรากฏออกมาในรูปของฉากฝัน ไม่ว่าจะเป็นความกลัว ความเกลียดชัง ไปจนถึงความหลงใหลคลั่งไคล้ ความปรารถนาที่มืดหม่นเกินกว่าที่จะปรากฏในชีวิตปกติของเรา แม้ว่าจะมีฝ่ายที่พยายามเชื่อมโยงสัตว์ประหลาดหน้าขนที่นั่งทับอกหญิงสาวเข้ากับคำว่า ‘mare’ หรือม้าตัวเมียที่อยู่ในคำว่า ‘Nightmare’ ที่เป็นชื่อภาพ แต่ก็มีนักวิชาการที่ออกมาโต้ว่ารากศัพท์ของคำว่า Nightmare มาจาก ‘Mara’ ชื่อปิศาจเพศหญิงในตำนานแถบสแกนดิเนเวีย ซึ่งจะปรากฏตัวในยามค่ำคืนและทรมานผู้ที่หลับใหลให้หายใจไม่ออก หรือที่เรียกว่า ‘ผีอำ’ นั่นเอง
หากลองนำบริบทและความหมายโดยรวมของ The Nightmare อันว่าด้วยช่วงเวลาแห่งความฝันที่ความชั่วร้ายและอารมณ์อันดำมืดของมนุษย์ปรากฏตัว ฉากที่ช็องโฮย็อนหรือคิวปิดสาวค่อย ๆ คืบคลานทาบทับร่างของชายหนุ่มยามหลับใหล ก็อาจเป็นการนำเสนอภาพการปรากฏตัวของอารมณ์ปรารถนาดำมืด และด้านมืดของความรักที่เป็นเรื่องของการหมกมุ่น หลงใหล และมุ่งหมายที่จะครอบครอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมองจากการตีความภาพ The Nightmare ของนักวิชาการในยุคหลัง ที่เชื่อว่า The Nightmare เป็นผลงานที่นำเสนอภาพของหญิงสาวขณะที่ตกอยู่ในห้วงอารมณ์ปรารถนาจนถึงจุดสุดยอด โดยนักวิชาการที่เชื่อในทฤษฎีนี้ก็มีหลักฐานสนับสนุนเป็นเรื่องราวข้างหลังภาพ ที่ฟูเซลีวาดภาพนี้ขึ้นมาหลังจากที่เขาตกหลุมรักหญิงสาวคนหนึ่งจนถึงกับเก็บไปฝันว่าได้ร่วมรักกับเธออย่างเร่าร้อน ซึ่งเขาได้เขียนจดหมายถึงเพื่อนคนหนึ่งเพื่อเล่าความฝันนั้น “เมื่อคืน ฉันฝันว่าได้เธอมาร่วมเตียงกับฉัน เรากอดรัดกันจนผ้าปูเตียงหลุดลุ่ย มือที่ร้อนผ่าวของฉันจับมือเธอเอาไว้ ร่างและวิญญาณของเธอหลอมรวมกับฉัน และฉันก็เติมวิญญาณ ลมหายใจ และความแข็งแกร่งเข้าไปในร่างของเธอ ใครก็ตามที่แตะต้องเธอนับจากนี้ไป ถือว่าได้ทำการล่วงประเวณีกับเมียของชายอื่น! เธอเป็นของฉัน ฉันเป็นของเธอ และฉันจะต้องได้เธอมาให้ได้”
ฟูเซลีวาดภาพ The Nightmare หลังจากที่คำขอแต่งงานของเขาถูกครอบครัวของหญิงสาวปฏิเสธ นักวิชาการหลายคนจึงเชื่อว่า The Nighmare คือผลงานที่สะท้อนความปรารถนาที่ไม่ได้รับการเติมเต็มของฟูเซลี อารมณ์รักและความหลงใหลคลั่งไคล้อันรุนแรงที่ถูกนำเสนอผ่านภาพ The Nightmare จึงอาจสะท้อนความหลงใหลและความปรารถนาที่คิวปิดสาวช็องโฮย็อนมีต่อมนุษย์หนุ่ม ซึ่งความปรารถนานี้ก็รุนแรงจนทำให้เธอตัดสินใจทำสิ่งที่แหกกฎสวรรค์อย่างการสละความเป็นเทพ สู่การเป็นมนุษย์
และหากนำเรื่องราวของอีรอสกับไซคีและเรื่องราวของปีศาจยามราตรีมาวางต่อกัน เรื่องราวในเอ็มวี Cool With You ก็อาจเป็นการสำรวจทั้งด้านสว่างและด้านมืดของความรัก จากฉากการตกหลุมรักที่เป็นเหมือนภาพฝันอันงดงาม ถึงฉากที่นำเสนออารมณ์ด้านมืดของความรัก ความปรารถนา ความหลงใหลคลั่งไคล้ และความมุ่งมั่นที่จะครอบครอง
Apollo and his muses การคิดด้วยเหตุผลและจุดจบของภาพฝันแห่งความรักที่เป็นไปไม่ได้
การปรากฏตัวของอีกหนึ่งซุปตาร์ชาวเอเชียอย่างแดดดี้ เหลียงเฉาเหว่ย นอกจากจะทำให้บันนี่รุ่นวายทูเคกรี๊ดแตกไปตาม ๆ กัน ยังนำมาสู่ความสนุกในการนั่งอ่านทฤษฎีการตีความตัวตนของแดดดี้เหลียง ซึ่งในโลกของการตีความ ทุกอย่างเป็นไปได้ และเราก็อยากขอกระโจนเข้าร่วมนำเสนออีกหนึ่งทฤษฎี
แม้ว่าบันนี่หลายคนจะเสนอว่าแดดดี้เหลียงคืออะโฟรไดทีในภาคผู้ชาย เช่นเดียวกับที่อีรอสถูกสลับเพศในเอ็มวีนี้ให้เป็นผู้หญิง แต่เราอยากขอนำเสนออีกทฤษฎีหนึ่ง ว่าเหลียงเฉาเหว่ยเป็นหนึ่งในเทพที่เป็นศัตรูคนสำคัญของอีรอส นั่นก็คือ เทพอะพอลโลนั่นเอง
ก่อนจะไปเล่าเรื่องราวความบาดหมางระหว่างอีรอสและอะพอลโลที่มีชนวนเหตุมาจากความรัก เราขอเท้าความเรื่องราวความเป็นมาของเทพอะพอลโลเสียก่อน อะพอลโลเป็นเทพแห่งดวงอาทิตย์ ศิลปะวิทยาการ และตรรกะหรือการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล เขามีคู่แฝดเป็น อาร์ทีมีส เทพีแห่งดวงจันทร์และการล่าสัตว์
และด้วยความที่เขาเป็นเทพแห่งศิลปะวิทยาการนี่แหละ ในปกรณัมกรีกหลายเวอร์ชัน จึงระบุว่าอะพอลโลเป็นผู้นำของ ‘Muses’ หรือเหล่าเทพีแห่งบทกวี ศิลปะและแรงบันดาลใจนั่นเอง! โดยบางเวอร์ชันก็ว่าเหล่ามิวส์คือบริวารของอะพอลโล และยังมีหลายเวอร์ชันที่ระบุว่าอะพอลโลมีลูกกับมิวส์บางนางด้วย
ในเอ็มวี Cool With You สาว ๆ NewJeans ทั้งห้าก็รับบทเป็นเทพีแห่งแรงบันดาลใจหรือมิวส์ ที่คอยเฝ้ามองและบอกเล่าเรื่องราวโศกนาฏกรรมของความรัก ดังเช่นในบทกวีกรีกโบราณ และในการแสดงละครยุคกรีกโบราณ ที่มักจะใช้ตัวละครมิวส์เป็นผู้บอกเล่าเรื่องราว (ดังที่เราเห็นกันในหนังแอนิเมชัน Hercules ของดิสนีย์ที่เหล่ามิวส์ทั้งห้ามาปรากฏตัวในฐานะผู้เล่าเรื่องผ่านบทเพลงแจ๊ซ) ซึ่งหากมองว่ามิวส์คือบริวารของเทพอะพอลโลแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ว่าสาว ๆ นี่แหละที่นำเรื่องราวการแหกกฏของคิวปิดสาวผู้สละสถานะเทพเพื่อครองรักกับมนุษย์ ไปบอกเทพผู้อาวุโสกว่าอย่างอะพอลโล!
และนี่ก็อาจจะเป็นการเปิดโอกาสให้อะพอลโลได้ชำระแค้นที่รอวันสะสางมานาน…
ตามตำนานเทพกรีก ความบาดหมางระหว่างเทพแห่งศิลปวิทยาและเทพแห่งความรักเริ่มต้นมาจากเมื่ออะพอลโลสามารถปราบอสุรกายไพธอนที่ยึดครองวิหารเดลฟีมาเนิ่นนานได้สำเร็จ ความกระหยิ่มยิ้มย่องในชัยชนะของตัวเองทำให้อะพอลโลหันไปแขวะอีรอส (ผู้มีศักดิ์เป็นหลานของตัวเอง) ว่าเด็กหนุ่มที่อ่อนหัดอย่างอีรอสไม่ควรครอบครองอาวุธที่มาจากอาวุธสงครามอย่างคันธนูและลูกศร ทางที่ดีอีรอสก็ควรจะมอบธนูให้กับตน (ตัวอะพอลโลนั้นมีอาวุธประจำกลายเป็นพิณ) แล้วยกหน้าที่การบันดาลให้ผู้คนตกหลุมรักกันให้เป็นของผู้อื่นไปเสียจะดีกว่า
อีรอสได้ยินดังนั้นก็โกรธจัด และได้ทำการแก้แค้นด้วยการยิงลูกธนูออกไปสองดอก ธนูดอกหนึ่งเป็นธนูแหลมที่ปักเข้าตรงกลางใจของเทพอะพอลโล ส่วนอีกลูกที่มีปลายทู่ ถูกยิงใส่นางไม้รูปงามนามว่า ดาฟเน่ ผลจากการแผลงศรทั้งสองครั้งทำให้อะพอลโลตกหลุมรักดาฟเน่หัวปักหัวปำ แต่ดาฟเน่กลับไม่มีใจให้อะพอลโลเลย และเมื่ออะพอลโลพยายามวิ่งไล่จับดาฟเน่เพื่อให้เธอยอมรับรัก เธอก็วิ่งหนีสุดแรงเกิด จนสุดท้ายเธอได้ไปขอความช่วยเหลือจากพ่อผู้เป็นเทพแห่งแม่น้ำ ซึ่งพ่อของเธอก็ได้แปลงกายเธอให้เป็นต้นลอเรล หรือต้นกระวาน และนับตั้งแต่นั้น อะพอลโลก็ได้กำหนดให้ใบกระวานเป็นสัญลักษณ์ของกวี
เมื่อมองผ่านตำนานความแค้นระหว่างอีรอสกับอะพอลโล ก็อาจเป็นไปได้ว่าตัวละครของเหลียงเฉาเหว่ยคือเทพอะพอลโลที่ลงมายังโลกเพื่อแก้แค้นคิวปิด ผู้เคยทำให้เขาต้องตกหลุมรัก แล้วก็ต้องผิดหวังกับความรักในครั้งนั้น การดลบันดาลให้มนุษย์เพศชายที่คิวปิดสาวตกหลุมรักไปตกหลุมรักหญิงอื่น จึงดูเหมือนจะเป็นการแก้แค้นที่สาสมของเทพอะพอลโล