เปิดหนังสือ ‘ประวัติศาสตร์ศิลปะกรีก’ จากศิลปะ สู่คำตอบของวัฒนธรรมและเบื้องหลังความเป็นกรีก
รูปปั้นกรีกเป็นสีขาวล้วนมาแต่แรกหรือไม่? เพราะอะไรถึงชอบเปลือยกายกันจัง? แล้วเจ้าคำว่า ‘Roman copy after a Greek original’ ที่พ่วงท้ายงานศิลปะกรีกแต่ละชิ้นมันหมายถึงอะไร หรือจะสื่อว่าเป็นของก๊อปหรือเปล่า?
คำถามสามข้อที่เราได้ยกตัวอย่างมาข้างต้น น่าจะเป็นคำถามยอดฮิตที่ติดค้างอยู่ในใจทุกคนไม่ต่างกัน เมื่อได้มองงานประติมากรรมกรีกสีขาวโพลน กับร่างที่เปลือยกายล่อนจ้อนจนดูเป็นเรื่องปกติของคนในยุคนั้น และที่สำคัญก็คือคำว่า ‘โรมัน’ กับ ‘คัดลอก’ ที่ชวนให้เรานึกตงิด ๆ อยู่ในใจว่า ถ้าสิ่งที่เราเห็นอยู่กับตาตอนนี้เป็นสิ่งที่คัดลอกมา แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าศิลปะกรีกนั้นเป็นแบบนี้จริง ๆ
คำตอบของคำถามทั้งหมดนี้ ได้ถูกร้อยเรียงไว้เป็นอย่างดีในหนังสือ ‘ประวัติศาสตร์ศิลปะกรีก’ ที่เขียนโดย ‘เอกสุดา สิงห์ลำพอง’ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร หนังสือเล่มแรกจากชุดประวัติศาสตร์ศิลปะ ‘Long Live Art History’ ของสำนักพิมพ์น้องใหม่แกะกล่องอย่าง ‘readtherunes’ ผู้อยากชวนให้ทุกคนสงสัยในทุกสิ่งและตั้งคำถามกับทุกอย่าง เพื่อเปิดประตูสู่การเรียนรู้ที่ไม่มีสิ้นสุดและไม่จำกัดขอบเขตของตัวเอง
ในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนได้พาเราย้อนกลับไปยังโลกยุคกรีกโบราณ ที่ซึ่งเทพปกรณัมทั้งหลายไม่ได้เป็นเพียงเรื่องราวในนิยายปรัมปรา แต่ผู้คนต่างเชื่อว่าพวกเขาดำรงอยู่จริง และสักการะอ้อนวอนอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เหมือนดั่งที่เราไหว้พระ หรือเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในปัจจุบัน และพวกเขายังนำเอาแนวคิดและความเชื่อเหล่านั้นมาพัฒนาจนกลายเป็นงานศิลปะ จนกลายเป็นหลักฐานทางโบราณคดี ให้เราได้ศึกษาย้อนกลับไปถึงต้นกำเนิดของสิ่งเหล่านั้น และได้รู้จักกับวัฒนธรรมโบราณ ที่แม้จะอยู่ห่างไกลกับเราเป็นพัน ๆ ปี แต่กลับส่งอิทธิพลต่อโลกในปัจจุบันได้มากกว่าที่คิด
ผู้เขียนได้แบ่งการเล่าเรื่องต่าง ๆ ออกเป็นหกบทใหญ่ ได้แก่ บทนำ ที่จะพูดถึงเรื่องปฐมกาลของโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะกรีก กับเรื่องของอารยธรรมสมัยสำริดในประเทศกรีซโดยสังเขป, บทศิลปะกรีก 1 จะพูดถึงศิลปะกรีกสมัยเรขาคณิต, บทศิลปะกรีก 2 พูดถึงศิลปะกรีกสมัยอาเขก, บทศิลปะกรีก 3 พูดถึงศิลปะกรีกสมัยคลาสสิก, บทศิลปะกรีก 4 พูดถึงศิลปะกรีกสมัยเฮลเลนิสติก และบทส่งท้าย ที่ว่าด้วยเรื่องของการรับวัฒนธรรมจากกรีกสู่โรมัน
จากนั้นผู้เขียนก็ปิดท้ายด้วยภาคผนวก ที่อธิบายถึงประเภทของปกรณัมต่าง ๆ และรวบรวมความรู้เกี่ยวกับเทพในปกรณัมมาให้เราได้รู้จักกันอย่างละเอียด ทั้งปฐมเทวา เหล่ายักษ์ไททัน และเหล่าเทพโอลิมปัส ซึ่งถ้าใครกังวลว่าตัวเองไม่แม่นเรื่องปกรณัมกรีกโบราณแล้วจะไม่เข้าใจประวัติศาสตร์กรีก ก็สามารถมาลองปูพื้นเบา ๆ ด้วยการอ่านภาคผนวกก่อนเป็นอันดับแรก ก็น่าจะทำให้อ่านบทหลักสนุกและเข้าใจความเป็นไปต่าง ๆ ได้มากขึ้น
สำหรับความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ ต้องยกให้ช่วงบทนำเป็นพิเศษ เพราะผู้เขียนไม่ได้ดึงเราเข้าไปในโลกของศิลปะกรีกทันที เพื่อบอกว่าสิ่งนี้คืออะไร มีที่มาอย่างไร แล้วทำหน้าที่อะไรบ้าง แต่เริ่มเปิดประเด็นทั้งหมดด้วยการพาเราวนอยู่รอบนอกก่อนว่า เพราะเหตุใดกันเราถึงมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ประวัติศาสตร์กรีก’ ให้ได้ศึกษา และเป็นองค์ความรู้สูตรกึ่งสำเร็จรูปอย่างทุกวันนี้ (ที่ขอเรียกว่ากึ่งเพราะการศึกษาประวัติศาสตร์นั้นมีหลายระนาบและข้อมูลอีกมากที่ยังไขไม่ได้)
ด้วยเหตุนี้เราเลยได้ทำความเข้าใจกับความคลั่งไคล้ในศิลปะกรีกของชาวโรมัน ทั้ง ๆ ที่เป็นศัตรูคู่แค้นกันมานาน ได้รู้จักกับชาวเรอเนสซองสที่หวนกลับมานิยมศิลปะกรีกอีกครั้ง ได้รู้จักกับการจัด ‘แกรนด์ทัวร์’ ในช่วงศตวรรษที่ 16 อันเกิดจากการตื่นรู้ครั้งใหญ่ของหนุ่มสาวชาวตะวันตกผู้มีฐานะ ที่นิยมออกเดินทางท่องเที่ยวเพื่อชมงานศิลปกรรมกรีกโบราณเก่า ๆ ตามแถบยุโรป และที่สำคัญคือได้รู้จักกับ ‘โยฮัน โยเซฟ วิงเคลแมน’ ผู้วางรากฐานของการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะ และ ‘ไฮน์ริช ชลีแมนน์’ ผู้ไม่ย่อท้อต่อการออกตามหากรุงทรอยในตำนาน และกลายเป็นคนที่วางระบบการขุดค้นทางโบราณคดีให้เป็นระเบียบมากขึ้น
หลังจากอ่านบทนำจบแล้ว ในส่วนของเนื้อหาหลักก็เต็มไปด้วยความรู้เกี่ยวกับศิลปะกรีกแบบเข้มข้น ที่ต่างจากการศึกษาประวัติศาสตร์สายตรงที่มุ่งทำความรู้จักเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านบุคคลสำคัญ ชื่อเมือง สงคราม หรือปีที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ เพราะในหนังสือเล่มนี้ เราจะค่อย ๆ แกะรอยประวัติศาสตร์กรีกโบราณไปทีละสเต็ปผ่านกลุ่มงานศิลปะหลากหลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็นงานประติมากรรม งานจิตรกรรมที่ปรากกฏบนภาชนะต่าง ๆ งานสถาปัตยกรรมจำพวกวิหารและพื้นที่สำคัญมากมายในนครรัฐของกรีก ซึ่งทางผู้เขียนก็ได้ไล่เลียงให้เราเข้าใจกันแบบง่าย ๆ ตามไทม์ไลน์ทางประวัติศาตร์ เริ่มตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุคสำริด ยุคเรขาคณิต ยุคอาเขก ยุคคลาสสิก ไปจนถึงจุดสิ้นสุดอย่างยุคเฮลเลนิสติก และส่งต่อให้กรุงโรม
การเล่าแบบนี้ นอกจากจะทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์แล้ว ยังช่วยให้เราเข้าใจเบื้องหลังของความเป็นกรีกได้อย่างแจ่มชัด ทั้งสภาพสังคม บทบาททางเพศระหว่างชายหญิง ความเชื่อทางการเมือง ปรัชญาที่ชาวกรีกยึดถือ และทัศนคติของชาวกรีกในแต่ละยุคสมัย ที่หล่อหลอมจนกลายมาเป็นคอนเซปต์ของงานศิลปะแต่ละชิ้น
ดังนั้น หนังสือเล่มนี้จึงไม่ได้ตอบเราแค่ว่า ประวัติศาสตร์ศิลปะกรีกเป็นมาอย่างไร และชาวกรีกคือใคร แต่ยังทำให้เราเข้าใจสภาพสังคมของพวกเขาจากหลักฐานที่มี และความเข้าใจนั้นจะพาเราไปสู่คำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมรูปปั้นกรีกถึงมีสีขาว ทำไมต้องเปลือยกาย ทำไมโรมันถึงชอบทำตาม และอีกมากมายอีกหลายสิบคำถามที่จะทำให้เรารู้จักกับชาวกรีกได้ดีกว่าเดิม
ถ้าใครกำลังมองหาหนังสือที่จะพาเราดำดิ่งไปสู่มหาสมุทรแห่งความสงสัย ที่มาพร้อมกับกุญแจดอกใหญ่ที่จะช่วยคลายปริศนาของประวัติศาสตร์ศิลปะกรีกให้กระจ่างขึ้น เราก็คงต้องบอกว่าหนังสือ ‘ประวัติศาสตร์ศิลปะกรีก’ เล่มนี้ คงจะเป็นประตูบานสำคัญที่จะพาคุณไปยังสถานที่แห่งนั้นได้และไม่ควรพลาดจริง ๆ
หากสนใจสามารถติดตามรายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มเติมได้ทางสำนักพิมพ์ readtherunes และสามารถหาหนังสือ 'ประวัติศาสตร์ศิลปะกรีก' ได้ตามร้านขายหนังสือทั่วไปได้เลย
สามารถทดลองอ่านก่อนได้ที่: https://www.yumpu.com/xx/document/view/68358531