ชิ้นส่วนรถบรรทุก ยูนิฟอร์มลูกเสือ และกงล้อธรรมจักร คือสิ่งที่เห็นได้ใน ‘Chaos Mandala: National Coloration Complex’ โดย ศิลปินข้ามศาสตร์สายซิ่ง ‘ธนัช ธีระดากร’ Tanat Teeradakorn นิทรรศการที่อาจเรียกได้ว่าเป็นการจำลองความทรงจำร่วมทางสังคม ความโกลาหล ที่หลายสัญญะทางวัฒนธรรม เเสง สี เสียงดนตรีในเมืองไทยและโลก มาบรรจบกันอยู่ในพื้นที่แกลเลอรีของ BANGKOK CITYCITY GALLERY

ชิ้นส่วนรถบรรทุก ยูนิฟอร์มลูกเสือ และกงล้อธรรมจักร คือสิ่งที่เห็นได้ใน ‘Chaos Mandala: National Coloration Complex’ โดย ศิลปินข้ามศาสตร์สายซิ่ง ‘ธนัช ธีระดากร’ Tanat Teeradakorn นิทรรศการที่อาจเรียกได้ว่าเป็นการจำลองความทรงจำร่วมทางสังคม ความโกลาหล ที่หลายสัญญะทางวัฒนธรรม เเสง สี เสียงดนตรีในเมืองไทยและโลก มาบรรจบกันอยู่ในพื้นที่แกลเลอรีของ BANGKOK CITYCITY GALLERY

ธนัช ธีระดากร : เขียนประวัติศาสตร์ใหม่ให้ถึงราก กับนักลักลอบเก็บสะสมในร่างศิลปิน

ชิ้นส่วนรถบรรทุก ยูนิฟอร์มลูกเสือ และกงล้อธรรมจักร คือสิ่งที่เห็นได้ใน ‘Chaos Mandala: National Coloration Complex’ นิทรรศการที่อาจเรียกได้ว่าเป็นการจำลองความทรงจำร่วมทางสังคม ความโกลาหล ที่หลายสัญญะทางวัฒนธรรม เเสง สี เสียงดนตรีในเมืองไทยและโลก มาบรรจบกันอยู่ในพื้นที่แกลเลอรีของ BANGKOK CITYCITY GALLERY

วัฒนธรรมรอง วัฒนธรรมหลัก วัฒนธรรมป๊อป วัฒนธรรมแห่งชาติ ล้วนถูกจับโยนมาผสมผสานจนทะลักล้น ท่วมท้นไปยังทุกโสตประสาทของคนดูอย่างเรา จนการประมวลสิ่งที่อยู่ตรงหน้านั้นดูแทบจะเหนือความเป็นไปได้ แต่เรายังอยากขอให้ทุกคนหายใจลึก ๆ ตั้งสติเพื่อตั้งใจดูความวุ่นวายเหล่านี้ก่อน เพราะภายใต้วิชวลและบรรยากาศสุดเค้นอารมณ์ เราจะได้พบกับประสบการณ์รับชมงานศิลปะที่รุนแรงถึงขั้วหัวใจ

ตั้งแต่ศิลปะแห่งการตัดแปะ ศิลปะแห่งการผสมผสาน การสร้างประสบการณ์ที่สั่นไปถึงอวัยวะข้างใน และเปลี่ยนเลนส์การมองโลกให้เราใหม่หลังกะเทาะเปลือกเลนส์เก่าจนเห็นเปลือก “ประวัติศาสตร์กระแสหลักใครเป็นคนสร้างขึ้น มันถูกสร้างมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร ถูกเรียบเรียงมาอย่างไร” ศิลปินข้ามศาสตร์สายซิ่ง ‘ธนัช ธีระดากร’ เอ่ยขึ้นกับเราในช่วงหนึ่งของบทสนทนา ท่ามกลางบทความวิชาการและชิ้นส่วนรถบรรทุกพ่นลายหนูแฮมทาโร่ของเขา

ในยุคสมัยที่ประวัติศาสตร์ขนาดยักษ์เริ่มไม่น่าเกรงขาม และประสบการณ์กะจ้อยร่อยเริ่มเผยตัวออกมาจากมุมมืด ธนัช “เขียนประวัติศาสตร์” ขึ้นมาใหม่ด้วยวัตถุหลักฐานและชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่เขาเก็บมาจากโลก (ออนไลน์และออฟไลน์) ของเขา โดยมีความแหลมคมอยู่ที่การเรียบเรียงเรื่องราวในแบบที่ขัดใจนักจัดระเบียบแน่นอน

แม้หูของเรายังแว่วเสียงที่ดังก้องจากนิทรรศการของเขา แต่บอกได้เลยว่าบทสัมภาษณ์เงียบ ๆ ใน Bookshop Library ที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY นี้ ก็เต็มไปด้วยความคิดทางประวัติศาสตร์ ศาสนาพุทธ ที่เชื่อมโยงกับเรื่องกลไกของสื่อและเทคโนโลยีร่วมสมัย จนสั่นความเชื่อข้างในเราได้ไม่แพ้กัน

จักรวาลวิทยาของอินเทอร์เน็ต

หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ก็คงเป็นการมาถึงของโลกอินเทอร์เน็ตนี่เอง ที่ดูจะเปลี่ยนโฉมหน้าของโลกของเรา ทั้งโลกในเชิงกายภาพ และโลกในความคิด ซึ่งธนัชเองก็เป็นคนหนึ่งที่จับประสบการณ์แห่งการไหลทะลักของข้อมูลนี้ มาเชื่อมต่อกับอีกโลกขั้วของทางพุทธ ที่เคย (หรือยังคงเป็น) เป็นกรอบคิดหลักของสังคมไทย แล้วมุ่งสำรวจไปยังวิธีมองโลกที่ค่อย ๆ เปลี่ยนไปของคนรุ่นปัจจุบัน

“ผมมาจากพื้นหลังทางกราฟิกดีไซน์ แล้วยุคผมเป็นยุคที่คาบเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต เพราะฉะนั้นการทำงานหลัก ๆ หลายส่วนจึงเป็นการเข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์ แต่ก็ยังเจอโลกออฟไลน์ด้วย” ในฐานะศิลปินผู้เนรมิตนิทรรศการนี้ เราอดถามไม่ได้ว่าเขามีพื้นหลังแบบไหน ถึงได้เจอและเลือกสิ่งของทั้งหลายในห้องนี้เข้ามา แต่หัวใจจริง ๆ อาจอยู่ที่การออกแบบวิธีการรีเสิร์ช ที่ก่อร่างความคิดของเขาให้เป็นรูปขึ้นมา

“ผมจะตั้งประเด็นหนึ่งมาแล้วค่อยไปรีเสิร์ช แล้วพอทำไปเรื่อย ๆ มันจะไปเจออย่างอื่น แล้วก็เริ่มกระจาย แต่ว่าหลัก ๆ ในประเด็นส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเรื่องสื่อกับเทคโนโลยีของป็อปคัลเจอร์หรือซับคัลเจอร์ เราสนใจที่มันส่งผลต่อโครงสร้างสังคม วัฒนธรรม การเมืองรวมไปถึงเศรษฐกิจด้วย

“จะมีแพล็ตฟอร์มอันหนึ่งชื่อ Are.Na ผมใช้มันเก็บ เก็บ เก็บ ไปเรื่อย ๆ ทำให้เราคิดว่าในโปรเจกต์ต่อไป ก็อยากทำงานเป็นแบบนี้ ใช้เทคนิคนี้ แล้วจะเกี่ยวกับอะไร พูดถึงอะไร เล่าอย่างไร แล้วก็ใส่ข้อมูลที่มันเกี่ยวกันลงไป

“พอแพล็ตฟอร์มนี้มันเป็นระบบ Cloud-Based ที่มีระบบท็อปปิก มีแฮชแท็กในการจัดการและจำแนกข้อมูล ข้อมูลพวกนั้นมันก็ไหลไปมา เป็นโลกออนไลน์ที่ไม่ถูกรบกวนเท่าไร”

ในระหว่างที่เล่า ธนัชก็หยิบกองกระดาษมากางให้เราดู ซึ่งประกอบด้วยเอกสารทั้งหมดที่ก่อร่างจนกลายมาเป็นคอนเซปต์ของนิทรรศการนี้ ตั้งแต่งานประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม งานศึกษาทวิตเตอร์กับวัฒนธรรมเคป็อป ที่กลายมาเป็นพื้นที่ทางการเมือง หรือหนังสือวิเคราะห์โลกยุคทุนนิยมที่เต็มไปด้วยวิกฤติทุกด้าน

“รีเสิร์ชของผมผมคิดว่ามันก็มีความวิชาการ แต่เวลาทำออกมาเป็นงานผมก็ต้องคิดว่าสิ่งที่อ่านเป็นแบบนี้ จะนำมาสื่อสารอย่างไรได้บ้าง จะเล่นกับการรับรู้ของคนอย่างไร

“ถ้าเรามีถ้อยคำชัด ๆ เราพูดไปในงานเขียนก็ได้ แต่ศิลปะมันจะทำงานในระดับแอ็บสแตร็ก มันมีความเพี้ยนได้ ผมเลยพยายามหาศักยภาพในการทำให้มันเพี้ยนมากขึ้น ในทางศิลปะ ในโลกที่เราอยู่นี้ ถ้าขับรถไปเจอไฟแดง เราก็ต้องหยุด เพราะมันคือระเบียบ (Order) ที่ต้องทำตาม แต่ผมคิดว่า ศิลปะสามารถสะท้อนโลกแห่งความโกลาหล (Chaos) ได้”

การเมืองของการเรียง ‘เวลา’ และประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ในงานศิลปะ

“งานนี้ผมพูดเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างความทรงจำร่วม (Collective Memory) กับสิ่งที่มันเป็นเรื่องส่วนตัว แล้วหาจุดที่มันทับซ้อนกัน” ธนัชเกริ่นไอเดียของงานนี้คร่าว ๆ ก่อนจะเริ่มเจาะเข้าไปน่าสนใจขึ้นเรื่อย ๆ

“ประวัติศาสตร์กระแสหลักที่คนหมู่มากเชื่อ หรือ Mass History กลายเป็นความทรงจำส่วนรวม แล้วทำให้เราเข้าใจกันไปว่า ตัวตนของเราถูกหล่อหลอมมาแบบนี้ แต่การเมืองในตัวมันก็ทำให้เราตั้งคำถาม ว่าแล้วประวัติศาสตร์กระแสหลักเนี่ย ใครเป็นคนสร้างขึ้น? มันถูกสร้างมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร? ถูกเรียบเรียงมาอย่างไร? เพราะประวัติศาสตร์มันเกี่ยวข้องกับเรื่องเล่า เกี่ยวข้องกับการเรียบเรียง การทำให้เป็นความต่อเนื่องเชิงเวลา”

นิทรรศการที่เต็มไปด้วยข้อมูลล้นทะลักนี้ เลยมี ‘เวลา’ หลากหลายรูปแบบ ทั้งเวลาที่ดำเนินเป็นเส้นตรง เวลาที่แตกกระจายไม่ต่อเนื่องกัน (Fragment) และเวลาที่เป็นวงจรวัฏจักรด้วย

“เวลาเราพยายามพูดหรือเรียบเรียงเรื่องอะไรก็ตามเพื่อสื่อสารออกไป เราต้องสร้างระเบียบ (Order) ให้มัน แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่เรียกว่าระเบียบก็ทำให้สิ่งต่าง ๆ กลายเป็นเด็ดขาดจริงแท้ (Absolute) แต่ตัวผมยังไม่แน่ใจในความเชื่อต่อสิ่งที่ Absolute เลยพยายามสร้างโพลขึ้นมา เป็นโพลทางความคิด โพลทางโครงสร้าง ทั้งโพลแบบ Order และโพลแบบ Chaos แล้วก็โพลที่เป็นวัฏจักร เล่นกับการมองเวลา อดีต ปัจจุบัน อนาคต ดนตรีกับเสียงเองก็เป็นศิลปะ Time-Based ที่เป็นเรื่องของเวลา และเป็นการรับรู้ของเรากับคนอื่น ๆ ที่แชร์ประสบการณ์ร่วมกัน”

คอนเซปต์เรื่องเวลาเป็นเหมือนกาวที่นำมาใช้ประกอบชิ้นส่วนทั้งหลายที่เขาสะสมเอาไว้จนกลายเป็นรูปร่าง เป็นเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ และในขณะเดียวกัน คอนเซปต์เรื่องเวลาก็เป็นใจกลางความคิดที่เขาใช้ท้าทายการเมืองที่แฝงอยู่ในวิธีการจัดระเบียบร้อยเรียงข้อมูลแบบก่อน ๆ ด้วยการแปลงมันเป็นนิทรรศการที่สร้างประสบการณ์ตรง ให้ผู้ชม สัมผัสกับเวลาที่เป็นวัฏจักรและเวลาที่แตกกระจาย

“เสียงในงานจะแบ่งเป็นสี่ช่วง แทนแนวคิดเรื่องกงล้อของเวลาในแบบพุทธ ซึ่งก็จะวนเป็นลูปทั้งวัน ซ้ำ ๆ อย่างนี้ แต่ในช่วงที่สามจะมีเสียงที่เป็นชิ้นส่วน (Fragment) เข้ามาแทรกด้วย มาผสมกัน สร้างเป็นคอมโพซิชั่นดนตรีแบบใหม่ ซึ่งเสียงในส่วนที่สามนี้จะเป็นแค่ชิ้นส่วนย่อย ๆ ไม่ได้เล่นตามเวลาที่ตั้งเอาไว้ แต่จะเล่นตามเซนเซอร์ที่จับคนที่เดินเข้าไปแล้วก็สุ่มเสียงออกมา

“กงล้อเวลาอันนี้สำหรับผมคือแพลตฟอร์มในการรองรับเรื่องเล่า ความหมายเดิมของกงล้อคือการเวียนว่ายตายเกิดสี่ช่วง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป และกลับชาติมาใหม่ ผมก็เอามาใช้ในแง่เดียวกัน

“ที่ต่างประเทศเขาก็จะมีวิธีการมองเวลาแบบหนึ่ง เป็นอดีต ปัจจุบัน อนาคต และมีเรื่องของความเจริญก้าวหน้า (Progess) ที่เชื่อมโยงกับทุนนิยมด้วย ผมเลยสนใจว่าเรามีทางเลือก (Alternative) อะไรได้บ้างในการมองเวลา

“ผมคิดว่าการเล่าประวัติศาสตร์แบบกงล้อมันไม่ถูกนับรวมเข้าไปในมหาประวัติศาสตร์ (Metahistory) ระดับโลก แต่อาจจะมีบทบาทในพื้นที่ประเทศไทยหรือเอเชีย แล้วพอประวัติศาสตร์มันเป็นเรื่องของเจตนารมณ์ทางอำนาจ ผมคิดว่าการมองเวลาก็เป็นสิ่งที่ถูกผูกขาด (Monopoly) เป็นแบบตะวันตกไปหมด แล้วเราจะเอาวิธีการมองเวลาอย่างอื่นเข้าไปอย่างไรได้บ้าง เลยเป็นที่มาของงานนี้”

“คำถามหนึ่งที่ผมสนใจ คือเรื่อง Historical Metafiction ในความเข้าใจผมคือการเอาเรื่องราวต่าง ๆ มาเรียบเรียงให้เป็นเรื่องเล่า (Fiction) และเป็นประวัติศาสตร์ ซึ่งเราแต่ละคนก็กำลังทำได้เอง และเป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจตัวเอง สังคม และสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว

“ในงานก็จะมีพวกผ้าที่ผมทำเป็นลายพราง กับพวกสิ่งที่ผมเห็นในโลกกายภาพ ในงานผ้ามันเลยเป็นการชนกันระหว่างข้อมูลจากโลกดิจิทัลและโลกกายภาพ กับเรื่องของการแสดงภาพแทน (Representation) ของข้อมูลและของประวัติศาสตร์ ในงานเลยมีองค์ประกอบทับไปชั้นอีกชั้นหนึ่ง ที่ปิดบางส่วนเอาไว้”

นอกจากผลงานที่จัดแสดงในนิทรรศการ ธนัชมีแฟล็ชไดรฟ์ ‘Chaos Mandala: Procession Of Ghost Voice’ ที่บรรจุผลงานเสียงภายในนิทรรศการของเขาและไฟล์ Open Source ที่สามารถหยิบไปใช้ผลิตงานต่อได้แบบไม่มีลิขสิทธิ์อีกกว่าร้อยไฟล์ แต่ทำไมเขาถึงใส่มาให้อย่างนั้น?

“เวลาผมทำงานทั้งทำเพลง ศิลปะ ทำแพทเทิร์นพวกนี้ หลัก ๆ ผมสนใจเรื่องวัฒนธรรมการ Bootleg (การลักลอบผลิตหรือเผยแพร่ผลงานต่าง ๆ) หรือวัฒนธรรม Pirate (การเผยแพร่ผลงานโดยไม่ผ่านลิขสิทธิ์)” เขาตอบ

“สิ่งที่เกิดขึ้นในงานศิลปะมันคือการอ้างอิงถึงกัน แล้วผมคิดว่าในมุมหนึ่ง มันเป็นเรื่องการสร้างหลักฐานร่องรอยของมนุษย์ มันไม่มีอะไรบริสุทธิ์หรอก ถูกแปดเปื้อนด้วยสิ่งที่คนอื่นสร้างมาก่อนหน้า ผมคิดว่ามันคือแหล่งทรัพยากรข้อมูลที่ควรทำให้เป็นประชาธิปไตย (Democratize) ให้ถูกหมุนเวียนเอามาใช้สร้างสรรค์ได้ ซึ่งจะมีเรื่องการแสวงหากำไรอะไรก็เป็นประเด็นที่คุยกันได้”

ในแง่หนึ่ง ผลงานชิ้นเล็ก ๆ นี้ก็ทำหน้าที่คล้ายกับตัวนิทรรศการ ที่หยิบคอนเซ็ปต์เรื่องเวลาและประวัติศาสตร์มาทำให้เป็นประสบการณ์ที่จับต้องได้

“ผมสนใจเรื่อง Open Source ในแง่วัฏจักรของข้อมูลด้วย การไหลเวียนของมัน การแปรผัน ปรับเปลี่ยน การตายและเกิดใหม่ของมัน เป็นอุปมาเหมือนเรื่องของเวลาด้วย เราทำก็เป็นข้อมูลให้คนใช้เรียบเรียงสิ่งที่คิดได้

“ปัจจุบันในวัฒนธรรม Bootleg ก็มีเพลงเยอะแยะเลย เช่นธรณีกันแสงก็ถูกเอาไปทำเป็นสายย่อ เป็นรีมิกซ์หลาย ๆ แบบ หรือที่ไปเอาเพลงป๊อปมา สำหรับผมมันคือการสร้างความหมายใหม่”

นิทรรศการ Chaos Mandala: National Coloration Complex โดย ธนัช ธีระดากร (Tanat Teeradakorn) จัดแสดงที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY ตั้งแต่วันนี้ - 19 สิงหาคม 2566