ลูกคนเดียวที่เพิ่งได้วาดแม่ หลานชายผู้ตั้งคำถามกับความยั่งยืน และเด็กอายุ 16 ผู้ไล่จับรอยยิ้มน้องชาย เจ้าของรางวัล Italthai Portrait Prize 2023
ความสนุกอย่างหนึ่งของการดูภาพพอร์ตเทรตหรือภาพบุคคล คือเรื่องราวที่หลากหลายของ ‘Sitter’ หรือผู้มานั่งเป็นแบบให้ศิลปินวาด และเรื่องราวของศิลปินผู้วาดเองที่อาจแฝงเข้าไปเนียน ๆ ด้วย สำหรับรางวัลพอร์ตเทรตระดับชาติ Italthai Portrait Prize 2023 ที่เพิ่งประกาศรางวัลไป ก็มีเรื่องราวที่พาซึ้ง ชวนคิด และเรียกรอยยิ้ม ของ 3 ศิลปินผู้คว้ารางวัล ที่เราอยากแนะนำให้รู้จักในบทสัมภาษณ์นี้ รวมทั้งผลงานของเหล่าศิลปินฝีมือดี ที่จัดแสดงอยู่ที่ @RiverCityBangkok ตอนนี้เหมือนกัน
ทำไมศิลปินถึงวาดคุณแม่ของเขาทั้งที่อยู่ในชุดนอน แสงเงาในภาพคนจะสื่อถึงปรัชญาได้อย่างไร และทำไมภาพวาดของลูกพี่ลูกน้องตัวน้อย ถึงเป็นเหมือนภาพวาดของตัวศิลปินวัย 16 ปีเองด้วย GroundControl หาคำตอบมาให้แล้วในบทสัมภาษณ์นี้ แล้วไปทำความรู้จักพวกเขาและผู้คนอีกมากมายได้ในนิทรรศการ Italthai Portrait Prize 2023
ยังมีศิลปินฝีมือดีอีกมากที่ยังคงวาดภาพอยู่ตลอดเวลา นิทรรศการนี้ก็เหมือนเป็นเวทีโชว์ของที่น่าตื่นเต้น เพราะเป็นงานที่พาศิลปินคนโปรดคนใหม่มาแนะนำให้เราติดตาม และยังเล่าเรื่องราวส่วนตัวของผู้คนให้เราเข้าใจกันอีกด้วย ไปดูผลงานของพวกเขาและร่วมโหวตภาพโปรดไปลุ้นรางวัล People’s Choice Prize กันได้ ในนิทรรศการ Italthai Portrait Prize 2023 วันนี้ - 12 พฤศจิกายนนี้ ที่ RCB Photographers’ Gallery และ RCB Galleria 4 ชั้น 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก
ศิลปินลูกคนเดียว ที่เพิ่งได้วาดภาพแม่สักที
‘แม่’ คือนิยามของความสุขสำหรับหลายคน ส่วน ‘แมว’ ก็เป็นความสุขทั้งของเราและแม่ ๆ ทั้งหลายเหมือนกัน เมื่อได้ข่าวว่าจะมีงานประกวด Italthai Portrait Prize 2023 ศิลปินพอร์ตเทรต เทพพร ปริกเพ็ชร จึงใช้โอกาสนี้วาดภาพ ‘สุขใจ’ ถ่ายทอดโมเมนต์พิเศษของคุณแม่ฟองแก้วและเจ้าแมวหลง ที่ทำให้บรรยากาศดงกล้วยดูเบาสบายไปหมด สมกับที่เป็นภาพเจ้าของรางวัล Portrait Prize ประจำปีนี้
“ผมคิดมานานแล้วว่าอยากวาดรูปแม่ แต่ผ่านไปเป็น 10 ก็ยังไม่ได้วาด ด้วยภาระงานที่เราทำอยู่ พอมีรายการนี้เกิดขึ้นก็เลยวาดรูปแม่ดีกว่า ถ้าไม่ได้รางวัลยังไงก็ได้รูปแม่เก็บ
“วาดรูปแม่น่าจะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ทุกอย่างก็เต็มที่ ค่อย ๆ ไปทีละนิด” เราอาจคิดว่าเขาต้องเกร็งแน่ ๆ ที่ต้องวาดคนสำคัญในชีวิตขนาดนี้ แต่เขาบอกว่าจุดที่ยากที่สุดในภาพนี้คือใบกล้วย ไม่ใช่คุณแม่ ซึ่งก็คงเป็นข้อดีของการเลือกคนใกล้ชิดมาเป็นแบบ
“ผมกับแม่เราสนิทกันครับ เพราะผมเป็นลูกคนเดียว” เขาตอบยิ้ม ๆ “ภาพนี้ก็อยากเน้นความธรรมชาติ แบบบ้าน ๆ ในภาพนี้เป็นชุดนอนแม่ แต่เป็นชุดเก่าของอีกคน เขาใส่นอนแทบทุกวัน แม่ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยดูแลอะไรเท่าไร เสื้อผ้าแกก็ใส่บ้าน ๆ ของแกอย่างนี้แหละ” นอกจากภาพวาดของคุณแม่ และรางวัลชนะเลิศ Portrait Prizeแล้ว สิ่งที่เขาได้จากการเข้าร่วมงานประกวดนี้คือโอกาสในการสังเกตตัวตนของคนใกล้ชิด ที่คงต้องใช้เวลามองเท่านั้น ถึงจะเห็นจริง ๆ
“แม่ผมเป็นคนที่ค่อนข้างจะแข็งแรง แล้วก็สู้งานทุกอย่าง แกทำงานการเกษตร
ส่วนแมวตัวนี้ชื่อไอ้หลง มันตามมาขอกินแม่ก็เลยอุ้มขึ้นมา มันน่ารักดีนะ สร้างบรรยากาศความสุขของแม่ได้ดี”
ไม่มีอะไรที่ยั่งยืนเลย สำหรับศิลปินผู้เฝ้ามองวันเวลาผ่านไป
“เขาพูดแหย่เล่นกับผมว่าวาดมาเหมือนผีเลย” จักรกฤษณ์ ศรีสงคราม ศิลปินและหลานชายของคุณป้าศรีอรุณในภาพ ‘ป้าผู้เป็นที่รักกับสังขารที่ร่วงโรย’ ที่แฝงปรัชญาแห่งการร่วงโรยไว้ในเทคนิคแบบนามธรรมที่เขาแฝงไว้ จนได้รางวัล Packing Room Prize ปีนี้ไป
“ผมอยู่กับคุณป้าอีกสองคนตั้งแต่เด็กครับ เขาส่งผมเล่าเรียนจนจบการศึกษาแล้วก็ทำงาน ก่อนจะมีงาน Portrait Prize ป้าผมคนหนึ่งได้เสียชีวิตลง ผมกับป้าเราเลยเหลือกันอยู่สองคน เราเลยเห็นความเปลี่ยนแปลงของเขา ความแก่ชรา ความร่วงโรย แล้วก็ความคิดถึงพี่สาวอยู่”
“เวลามองตาเขาผมจะรู้สึกว่าเขาคิดถึงพี่สาวอยู่” เขาเล่า “จะเห็นว่างานไม่ได้ใช้เทคนิคอะไรที่ซับซ้อนเลยครับ ถ่ายทอดด้วยแสงเงากับสายตาเป็นหลัก อยากให้ความรู้สึกเหมือนกับป้าเขากำลังคิดอะไรอยู่
ผมอยู่กับเขาก็เห็นทุกอิริยาบถ เลยเข้าใจที่สุด ว่าป้าเขารู้สึกยังไงในวันที่พี่สาวเขาไม่อยู่แล้ว”
จุดเด่นอย่างหนึ่งของภาพนี้คือเนื้อสีที่ไหลเป็นเส้นนามธรรม ดูตัดกับอีกส่วนของภาพที่เป็นภาพของคุณป้าแบบสมจริง ซึ่งเขาสร้างจากการเอาฟ็อกกี้ฉีดน้ำให้ไหลแล้วเอียงเฟรมให้ไหล “ผมสื่อถึงความร่วงโรย เสื่อมสภาพ ความเป็นนามธรรม ความร่วงโรย ที่ไม่ใช่รูปธรรม” เขาอธิบาย
“ในภาพจะไม่ได้มีแค่ความเหี่ยวเฉาของใบหน้าป้าเขาอย่างเดียว อาจจะเป็นเรื่องของใบไม้ที่เหี่ยว หรือว่าต้นไม้ ก้อนหิน ที่พยายามจะถ่ายทอดเรื่องของเวลา เรื่องพื้นผิวที่มันกัดกร่อนหรือว่าเสื่อมลง”
“อยากให้เราไม่ลืมเรื่องของสังขารนะครับ ทำอะไรก็ตามไม่อยากให้เราลืมว่ามันต้องเปลี่ยนแปลง มันไม่คงที่ ไม่ถาวรยั่งยืน ผมคิดอย่างนั้นว่าจะอะไรก็ตามมันก็ต้องอยู่กับสิ่งนี้ กระทั่งแสงที่มันสาดมาข้างหน้าเดี๋ยวมันก็เปลี่ยน ไม่มีอะไรที่ยั่งยืนเลย”
หยิบรอยยิ้มของวัยซนกับศิลปินรุ่นเยาว์
ผู้ใหญ่จำนวนมากฝังความสุขความสดใสไว้ในความทรงจำของวัยเด็ก เวลาที่ผ่านไปเรื่อย ๆ ก็อาจทำให้ภาพรอยยิ้มของหลายคนจางลงไปทุก ๆ วัน เราขอแนะนำให้รู้จัก น้ององศา ลูกพี่ลูกน้องตัวน้อยของศุภกร ปัญญาสงค์ ศิลปินวัย 16 ปี ผู้บันทึกแก่นแท้ของวัยไร้เดียงสาไว้ได้งดงาม สมกับที่เป็นศิลปินรุ่นเยาว์ เจ้าของรางวัล Youth Prize ประจำปีนี้
“ภาพนี้ได้แบบเป็นลูกพี่ลูกน้องครับ เห็นน้องเขานั่งอยู่ที่บ้านยายก็นึกถึงตัวเองในวัยเด็ก เลยได้แรงบันดาลใจมา” เขาเล่า
ถึงจะบอกว่านี่เป็นภาพของลูกพี่ลูกน้องตัวเล็กกับเจ้าโชคเพื่อนซี้ของเขา แต่ก็คงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่าศิลปินรุ่นเยาว์คนนี้แฝงตัวตนของตัวเองทับลงไปในภาพด้วย . “พอได้วาดภาพน้อง ก็รู้สึกถึงอารมณ์ความอบอุ่น ความสุข ความสนุก ทำให้เห็นรอยยิ้มความน่ารักของน้อง แล้วเหมือนเห็นตัวเองตอนเด็กด้วย ตอนเด็กผมก็มีหมาสีดำ”
แต่พอเลือกแบบเป็นลูกพี่ลูกน้องวัยเด็กและเจ้าหมาของเขา สิ่งที่มาคู่กันด้วยคืออาการอยู่ไม่นิ่งที่ท้าทายศิลปินหน้าใหม่สุด ๆ
“เหมือนเราต้องพัฒนาจับจุด เพราะว่าน้องยังเด็ก เลยมีความดื้อนิดนึง เดินไปโน่นไปนี่ไม่สามารถอยู่นิ่ง ๆ ได้ ก็ต้องรีบจับอารมณ์ของสีหน้าที่ยิ้มให้ได้ ใช้ตาหัดดูเยอะ ๆ สังเกตเยอะ ๆ จะได้จับการเคลื่อนไหวเวลาขยับได้ ไม่ให้ภาพแข็ง ๆ ทื่อ ๆ” เขาเล่า
อีกหนึ่งเทคนิคที่น่าสนใจคือการเลือกสีพื้นหลังให้เป็นไปตามอารมณ์ที่ตั้งใจสื่อ มากกว่าจะให้เหมือนกับความเป็นจริง “ผมคิดว่าต้นไม้ไม่จำเป็นต้องเป็นสีเขียวก็ได้ครับ ผมก็เลยเอาสีที่ผมชอบ คือสีม่วงที่เป็นสีของความอบอุ่น เป็นความสุขของน้องผม มาใช้ในภาพ
“หลังจากนี้ผมจะฝึกตัวเองต่อ จากโรงเรียนไปมหาวิทยาลัยแล้วก็มาพัฒนาประเทศชาติ ใช้ศิลปะให้เป็นประโยชน์ ก็ฝันว่าจะเป็นศิลปินระดับโลก
“แค่อยากให้คนมองภาพนี้แล้วยิ้มได้” เขาปิดท้ายสั้น ๆ และเราอยากยืนยันว่าภาพนี้มองแล้วต้องยิ้มตามจริง ๆ