คุยกับ ‘วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร’ ศิลปินผู้ชวน ‘นกแก้ว’ มาร่วมทำงานศิลปะ และการเปิดเสียง ‘ประยุทธ์’ ให้นกแก้วฟัง
คงไม่ใช่เรื่องแปลกหากเวลาที่ ‘ศิลปิน’ เจอเหตุการณ์สะเทือนใจแล้วระบายมันออกมาผ่านฝีแปรงรุนแรงในภาพวาด แต่ต้องยอมรับว่าอดแปลกใจไม่ได้จริง ๆ พอได้รู้ว่าศิลปินที่เรียกตัวเองว่า “ลูกสาวพ่อ” ต่อสู้กับอารมณ์เศร้า เคว้ง มึนงง และโมโหอันมาจากการสูญเสียพ่อไป ด้วยการรีเสิร์ชเรื่องนกแก้ว แล้วนำมาสร้างเป็นศิลปะเยียวยาตัวเอง ในแบบของตัวเอง
พอได้มาคุยกับ อาจารย์อบเชย – วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร เราถึงเข้าใจว่า เมื่อโลกใบหนึ่งที่เคยมั่นคงมีความหมาย แตกสลายไปเสียเฉย ๆ จนทำ (ความเข้า) ใจได้ยาก การเพ่งมองโลกอีกใบผ่านสายตาของสัตว์ จึงอาจทำให้อะไร ๆ เป็นเหตุเป็นผลขึ้นมาบ้าง
วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร คืออาจารย์ศิลปะจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และศิลปินหญิงที่ทำงานกับประเด็นทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และนิเวศวิทยาการเมือง ด้วยผลงานสื่อศิลปะไม่จำกัดประเภท ซึ่งจัดแสดงผลงานมาแล้วหลากหลายประเทศตั้งแต่ Galeri Nasional ที่อินโดนีเซีย, Museo MACRO ที่อาร์เจนตินา, National Museum of Modern and Contemporary Art (MMCA) ที่เกาหลีใต้, Kyoto Art Center ที่ญี่ปุ่น และล่าสุด ที่ The Jim Thompson Art Center ซึ่งเรามานั่งคุยกับเธอวันนี้ รวมไปถึง Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 งานใหญ่ประจำปีของวงการศิลปะไทย
เราไม่อยากใช้คำยาก ๆ อย่างภววิทยา (Ontology – การคิดเรื่องความจริงและการดำรงอยู่) แต่ก็อดไม่ได้จริง ๆ ที่จะคิดถึงคำนี้ เพราะการเดินทางของอาจารย์อบเชยและเจ้า ‘บอยส์’ (Beuys จากชื่อของ โยเซฟ บอยส์ ศิลปินชาวเยอรมันผู้ทรงอิทธิพลจากยุคหลังสงคราม) นกแก้ว (สาว) และเพื่อนศิลปินของเธอ เป็นการเปิดพรมแดนไปหาโลกใหม่ ๆ ที่ทำให้ความเป็นจริงเดิม ๆ ที่มนุษย์เป็นศูนย์กลางต้องสั่นสะเทือนจริง ๆ
“เราชอบคิดว่าภาษาเป็นของมนุษย์ แต่จริง ๆ สัตว์หลายชนิดก็มีภาษาของเขาที่เราไม่เข้าใจ อย่างนกก็มีการร้องหรือการเรียกเข้าฝูง แต่พอ Beuys สามารถรู้ภาษาคนได้ก็เลยพอจะเข้าใจกัน” อาจารย์อบเชยเล่า “พี่สัญญาว่าพี่จะไม่ฝึกเขาแบบสัตว์เลี้ยง ฉะนั้นจะเป็นธรรมชาติของตัวเขาเอง ก็จะมีบางครั้งอยู่ดี ๆ เขาพูด Everyone is a [con]temporary แต่ถ่ายไม่ทัน ไม่รู้จะพูดเมื่อไร ก็ต้องคว้าอะไรมาถ่ายได้ก็เอาไปก่อน”
เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อาจารย์อบเชยได้พาผลงานของเธอไปเข้าร่วม Frieze London เทศกาลศิลปะร่วมสมัยที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยผลงานนั้นก็มีชื่อว่า ‘People Say Nothing Is Impossible, but Beuys Does Nothing Everyday’ โดยเป็นผลงานของเธอกับ Beuys ทั้งหมด
ในบทสัมภาษณ์นี้ เธอเล่าถึงการทำงานศิลปะกับสัตว์ที่ได้รับไอเดียมาจากศิลปินเยอรมันในตำนานอย่าง โยเซฟ บอยส์ และบอกเหตุผลว่าทำไมจริง ๆ แล้วเธอไม่ได้ชอบเขาเลย รวมทั้งแง่มุมทางการเมืองในงานศิลปะของเธอที่ยังคงสำคัญ แม้จะผ่านยุคประยุทธ์มาแล้ว (?)
สำหรับคนรักสัตว์ นี่เป็นบทสัมภาษณ์ที่คงให้ภาพเกี่ยวกับศิลปะและสัตว์ได้ชัดเจนขึ้น หรือถ้าใครสนใจมนุษย์เป็นหลัก นี่ก็เป็นโอกาสที่ดีในการมองหาไอเดียใหม่ ๆ ที่เกินไปจากสมองเราจะคิดได้
Joseph Beuys เป็นศิลปินอันดับหนึ่งในใจหลาย ๆ คนเหมือนกัน แต่ถึงจะชอบอย่างไรก็ยังไม่เห็นใครเอาชื่อ Beuys มาตั้งเป็นชื่อสัตว์เลี้ยง พี่ชอบหรือรู้สึกอย่างไรกับเขาถึงได้เอามาตั้งเป็นชื่อนกเลย
“ไม่เลย พี่ไม่ได้ปลื้มบอยส์เลย รู้สึกเฉย ๆ แต่ว่ารู้ว่าเขาทรงอิทธิพล เข้าใจว่าทำไมเขาถึงดัง เพราะดูจากวิธีการที่เขาเล่นกับสื่อ เพียงแต่จุดเริ่มต้นคือพยายามหาจุดเชื่อมโยงมากกว่า ว่าเราจะเริ่มต้นอย่างไรดีกับโปรเจ็กต์ คือมันก็ต้องย้อนว่าทำไมอยู่ดี ๆ พี่ถึงอยากมาทำงานกับบอยส์จุดเริ่มต้นเนี่ยเหมือนมันจากที่พ่อพี่เสีย
“ความสัมพันธ์ของพ่อกับพี่นี่คือดีมาก ใช้คำว่าลูกสาวพ่อเลยเนอะ แล้วพอพ่อพี่เสียเนี่ยก็ทำเป็นนิทรรศการ (dis)continuity ประเด็นที่ทำตรงนั้นก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ว่ามันยังมีความไม่เต็มตรงนั้น โอเคเรารู้แหละว่าเรากำลังต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมกันกับสภาพเศรษฐกิจ แต่ว่ามันก็ยังมีอันนึงที่เรายังสงสัยยังติดอยู่ในใจ คือความไม่แน่นอนของชีวิต
“เหมือนสมอง ความรู้สึก หรืออารมณ์มันจดจ่อกับการที่คน ๆ นึงมันหายไป มันคืออะไรทำไมมันถึงกลายเป็นแบบนี้ มันก็อาจจะเป็นจังหวะเหมาะสมมั้ง คือมันก็เหี่ยวนะข้างในมันก็เฉา พี่ก็ตัดสินใจไปเที่ยวสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ทีนี้มันมีสวนนกแล้วมันก็มีทางออก ตอนเข้าก็ไม่ได้อะไร เดินวน ๆ แล้วก็เดินออก พอเดินออกมันมีเสียงนกทักมันพูดว่า ‘สวัสดีจ้า ฮัลโหล’ อะไรแบบนี้
“พอนึกออกไหม คือทุกคนรู้อยู่แล้วว่านกมันพูดได้มัน แต่ว่าก่อนหน้านี้ไม่ได้สนใจ พอมันเกิดโมเมนต์นั้นมันเป็นวินาทีที่ Space and Time มันมาชนกันทันที เสียงของมันทำให้พี่รู้สึก เหมือนเกือบจะ Sublime เลยนะ อยู่ดี ๆ ก็รู้สึกสนใจมาก อยากทำงานกับสิ่งมีชีวิตอื่น แล้วมันน่าสนใจอีกหลาย ๆ อย่าง เช่นคำถามเรื่องปรัชญาชีวิต เรารู้ว่าจะต้องตาย แล้วเราจะเกิดมาทำไม? ทำไมชีวิตมันเปราะบาง? ทำไมอยู่ ๆ บางคนก็หายไป คือไม่ได้กลัวตายนะ มันเยอะแยะแล้วมันสงสัย แล้วก็โมโห”
โมโหด้วยหรอครับ
“โมโหสิ อยู่ดี ๆ ก็มาเอาคนที่เรารักที่สุดในชีวิตไป มันมีความรู้สึกอย่างนั้นอยู่ มันเศร้า เราจะไปหาเขาก็ไม่ได้ เขาจะกลับมาหาเราก็ไม่ได้ มันมีอะไรหลายอย่างมันรุมมันทับกันอย่างนี้
“พอเราเจอแบบนั้นเราอาจจะเปลี่ยนมุมมองนะ ไปเจออย่างอื่นเผื่อจะได้ตอบคำถามในชีวิตของเราได้ พี่ก็เลยกลับไปศึกษานกแก้ว อยากเลี้ยงนกแก้ว จะหาทางเลี้ยงนกแก้ว ก็คิดแบบง่าย ๆ นะ ก็เลยเริ่มรีเสิร์ช”
ทีนี้ความสัมพันธ์ของพี่กับบอยส์มันมากระทบความสัมพันธ์ของพี่กับพ่ออย่างไร
“เขามาช่วยเติมเต็มให้รูโหว่ มันอาจจะไม่ดีนะ เพราะว่าเราควรจะรู้สึกเติมเต็มได้ด้วยตัวเอง แต่บางอย่างเราก็ไม่ได้แข็งแกร่งพอขนาดนั้น แต่ก็แน่นอนมันมีการดีลระหว่างกัน พี่คิดว่าบอยส์เองตอนนี้ก็ยึดโยงกับพี่ แต่พี่ก็พยายามไม่ให้เขามาขึ้นอยู่กับพี่มากเกินไป ถ้าพี่ตายไปแล้วเขาจะอยู่ไม่ได้เหมือนกัน มันก็ต้องคิดบาลานซ์กันไง
“คือเป็น Emotional Support ของแท้เลย ทำหน้าที่แบบนั้นโดยไม่รู้ตัว บางทีเขาก็กวนประสาทเราด้วย เขาพยายามที่จะครอบงำพี่อยู่นะ คือด้วยสัญชาตญาณเขาชอบบินมาเกาะหัวแล้วก็มาจิกบังคับให้พี่ทำอย่างนู่นอย่างนี้ คือบางทีพี่ใส่แว่น แต่เขาไม่ชอบ เขามากัดเลยนะ ใส่หน้ากากไม่ชอบ หรือว่าแบบเดินผ่านเล่นกับหมาก็กัด พอหายโมโหแล้วก็มาจูบทีหลัง”
ฟังแล้วเหมือนเด็กหกขวบจริง ๆ นะ
“ใช่ ๆ ไม่ยอม เป็นเรื่องการเมืองประมาณหนึ่งนะ ที่เราจะต้องดีลกัน”
เหมือนการทำงานกับบอยส์ (นก) คือการไปสร้างบทสนทนากับศิลปิน Joseph Beuys หรือเปล่า?
“คือโปรเจ็กต์กับบอยส์ที่จะไปแสดงที่ Frieze นี้มันแบ่งได้เป็นสองส่วน มีจุดเปลี่ยนคือช่วงแรกที่ใช้โยเซฟ บอยส์ เป็นเครื่องมือในการสร้าง อย่าง ‘Neon Felt Suit’ ที่ทำมาจากชุดเก็บอึนก ที่เล่นกับงาน Felt Suit (ชุดสูทสักหลาดที่ตั้งคำถามกับความเป็นศิลปินและศิลปะ) ของบอยส์ แต่พอมาชิ้นหลัง ๆ อย่างงานขนนกหรือ Making the Unknown Known จะเห็นเลยว่าเกี่ยวกับตัวนกบอยส์ล้วน ๆ
“แต่อย่าเรียกว่าพี่เอางานไปสร้างบทสนทนากับบอยส์ แต่เป็นการนำงานของ Beuys มาสร้างบทสนทนากับนกแก้ว Beuys มากกว่า
“หมายความว่าพอมีเขาแล้วพี่ก็คิดว่าจะทำกิจกรรมอะไรดีนะที่จะสร้างความสัมพันธ์กับเขา จะเล่นกับเขาดี เหมือนเล่นกับเด็กบอยส์ (ศิลปิน) เลยมาเป็นเครื่องมือให้เราสานสัมพันธ์กับนก
“ชื่อเขาก็มาจากการรีเสิร์ชว่าในโลกศิลปะมีใครทำงานกับสัตว์บ้าง มันก็มีหลายคนที่ใช้สัตว์สตัฟฟ์บ้าง สัตว์จริงบ้าง พวกศิลปินอิตาลี หรือศิลปะช่วง 70-80s ก็มีอะไรอย่างนี้ ซึ่งบอยส์ก็จะเป็นคนที่เด่นขึ้นมา
“ทีนี้พี่เกิดคำถามขึ้นมาว่าเวลาศิลปินเอาสัตว์มาทำงาน แล้วหลังจากนั้นล่ะ? นึกถึงหนังเรื่อง Turin Horse มันเล่าเรื่องม้าของท่านผู้นำตัวนี้ แล้วพอเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ขึ้นม้าแก่ก็ไปอยู่กับชาวนา พี่ก็คิดต่อว่าสัตว์จากงานศิลปะดัง ๆ พวกนั้นไปไหน หมาป่าไคโยตี้ที่บอยส์ไปอยู่ด้วยกันเจ็ดวันจนสร้างความสัมพันธ์กัน แต่เสร็จแล้วหมาตัวนั้นไปไหน นี่คือสิ่งที่พี่บอกว่าไม่ได้ชื่นชมเขามาก แต่ในเชิงประวัติศาสตร์งานของเขามันทรงพลัง จริง ๆ ที่พี่ตั้งชื่อเขาว่าบอยส์ก็มาจากสีขนของเขาที่มันเทา ๆ คล้ายกับสักหลาดที่บอยส์ชอบใช้ แล้วบอยส์ (นกแก้ว) ก็มีตูดแดงด้วย เป็นสีที่บอยส์ (ศิลปิน) ชอบใช้เหมือนกัน”
การทำงานกับ Beuys เป็นอย่างไรบ้าง
“ชิ้นแรกที่ทำจริง ๆ คือพี่ก็ปล่อยเขาเดินเลย คือการทำงานกับ Beuys (นกแก้ว) พี่ไม่ได้มีแผนอะไร มันเป็นความบังเอิญทั้งหมด หมายความว่าก็คือเล่น ๆ กับเขาแล้วคิดได้ หรือเขาทำให้เราคิดอะไรอย่างนี้
“ก่อนหน้านี้ก็มีครั้งหนึ่งเขาไปแย่งเล่นของเล่นของหลานพี่ เขาไปเล่นแล้วไปหยิบกระต่าย มันก็ทำให้เรานึกถึงบอยส์ (ศิลปิน) ขึ้นมา ชิ้นที่เขาเล่นกับกระต่าย (How to Explain Pictures to a Dead Hare)
“งาน Felt Suit จริง ๆ ก็มาจากชุดเก็บอึนก โดยมาจากงาน Felt Suit ของ Beuys (ศิลปิน) คือตามธรรมชาตินกจะอึทุก 15 นาที พี่ก็ใช้แพทเทิร์นนั้นมาตัด แต่บอยส์ (นก) ไม่ชอบเลย ใส่แล้วหงุดหงิดมาก
“พอดีบอยส์ (นก) เกิดช่วงปี 2013 ด้วย คาบเกี่ยวกับช่วงการเมืองไทยไม่สงบ พอ 2014 ก็เกิดรัฐประหาร ก็นำมาสู่งานชุด Freeze TV (ผลงานที่เธอเปิดเสียงประยุทธ์ให้บอยส์ (นก) ในกรงฟัง) แต่จริง ๆ งานทั้งหมดนี้มันคายเกี่ยวกันไปหมด ไม่สามารถลำดับได้ ระหว่างช่วงเดียวกันนั้น บอยส์อยู่บ้านพี่ได้ 3 - 4 เดือนพี่ก็เปิดเพลงที่โยเซฟ บอยส์ ร้อง ให้บอยส์ (นก) ฟัง บอยส์เกลียดมากเลย หาว แล้วก็หลับ ปกติถ้าเขาชอบเขาจะร้องคลอ อันนี้คือเขาเบื่อ แล้วก็เปิดงานเสียง ja ja ja ne ne ne (ของโยเซฟ บอยส์) แต่ไม่ไหว สงสารลูก เลยเปลี่ยน”
ทำไมถึงคิดจะเปิดประยุทธ์ให้บอยส์ (นก) ดูใน Freeze TV
“Freeze TV มาจาก Felt TV ของโยเซฟ บอยส์ ที่เขาเพอร์ฟอร์มกับทีวีที่หน้าจอถูกปิดด้วยสักหลาด แต่บทสนทนาในงานนั้นเป็นเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องบริโภคนิยม วิจารณ์เรื่องนู้นนี้ เรื่องสื่อในแง่ข่าวสาร ถ้าไม่เห็นภาพมีแต่เสียงมันจะสื่อสารได้ไหม อย่างไร แต่พี่เล่นกลับกัน เอาช่วงเวลาที่เกิดการเมืองมาให้บอยส์อยู่ในกรงแล้วดูปฏิกิริยาว่าตอนประกาศรัฐประหารเขาทำอย่างไร ชื่อ Freeze TV ก็มาจากที่ทีวีมันถูกแช่แข็งช่วงนั้น ไม่ต้องดูรายการอะไรกัน ดูอย่างเดียวทั้งวันเช้ายันเย็น”
Beuys แหกกรงด้วย
“ใช่ คือเห็นเลยว่าขนาดเขายังไม่ทน”
ผมสงสัยตรงนี้ อย่างงาน ja ja ja เขาก็ยังพูดตามสิ่งที่ได้ยิน แต่พอเป็นอันนี้เขารำคาญ
“บอยส์ (นก) ไม่ได้พูดตามไปเรื่อยอย่างนั้น มันเหมือนเรา Earworm เวลาได้ยินเพลงโฆษณาแล้วจำมาร้องได้ พี่ว่ามันเกิดจากการฟังซ้ำ อย่างตอนเขาดูการ์ตูนญี่ปุ่นเขาก็จำมาพูด แต่มันมีความหมาย มีครั้งหนึ่งเขาพูดไอชิเตะ ๆ เราก็ไม่เข้าใจแต่มันฟังดูเป็นภาษาญี่ปุ่น พอดีเพื่อนมาบ้านเขาก็บอกว่าคงเป็น “ไอชิเตรุ” ที่แปลว่าฉันรักเธอ นางก็เงียบไปเลย แล้วอีก 3 วันต่อมาค่อยพูดว่าไอชิเตรุ
“มันมีงานวิจัยอยู่ว่านกแก้วมีการทบทวนกิจกรรมทั้งหมดในแต่ละวัน ว่าฉันทำดีแล้วหรือยัง วันนี้ฉันร้องเพลงเพราะหรือยัง เขาทบทวนและซ้อมระหว่างฝัน คือเขาเก็บไปก่อน เวลาเขาชอบคำไหน สนใจคำไหน เหมือนเวลาเขาเรียกเราว่าอยากกินข้าวหรืออยากไปเที่ยว ‘บอยส์สวยนะ’ เขาก็เคยพูด เขารู้ความหมายนะ แต่ละคำที่ได้ยิน”
ถ้าพูดถึง Freeze TV วันนี้เราเหมือนจะอยู่ในยุค Post-คสช. ไปแล้ว เลยยุคประยุทธ์กันแล้ว งานชิ้นนี้จะยังมีความหมายอย่างไรอยู่ไหม
“ประยุทธ์เป็นเหมือนคำสรรพนาม พี่คิดว่ามันเทียบเคียงได้กับหลาย ๆ ประเทศ และที่พี่เกิดมาตั้งแต่ประถมก็ได้ยินคำว่ารัฐประหารไม่รู้ตั้งกี่รอบ อีก 3 วัน 5 วันข้างหน้าเราจะรู้ได้ไง มันอาจจะมีรัฐประหารอีก แล้ว Freeze TV ก็ยิ่งมีความหมายขึ้นมาอีก แล้วรัฐประหารแต่ละครั้งก็เหมือนกัน ยึดสถานีทีวีก่อน
“ถ้าไม่บอกว่ามันประยุทธ์แล้วมันจะเป็นอะไรได้อีก เพราะมันก็ไม่ได้เห็นหน้าประยุทธ์ตรงนั้น งานชิ้นนี้มันพูดถึงสถานการณ์มากกว่า ไม่ใช่ตัวบุคคล เหตุการณ์รัฐประหารเกิดขึ้นไปแล้ว ณ ตอนนี้ Freeze TV ก็เป็นบันทึกประวัติศาสตร์แบบ Post-คสช. แต่ใครจะไปรู้ว่ามันอาจจะเป็นงาน in-between ระหว่างเหตุการณ์อะไร หรือเป็น Pre- ของอะไรสักอย่างก็ได้”
มีอีกชิ้นที่บอยส์ (นก) ก็พูดประโยค Everybody is an artist ผมดูทีแรกก็รู้สึกว่านี่กำลังเสียดสีคนในวงการศิลปะหรือเปล่านะ ที่พูดประโยคนี้ไปงั้น ๆ
“จริง ๆ ประโยคนั้นก็มาจากประโยค “Everyone is an artist.” ของโยเซฟ บอยส์ ตอนแรกพี่จะลองให้เขาพูดดู แต่อยู่ดี ๆ บอยส์ (นก) เขาพูดอะไร ‘เท้ม-ปะ-ร่อล’ (Temporal) เรื่อย ๆ เราก็งงมันแปลว่าอะไรวะ เหมือนเขาคิดศัพท์ขึ้นมาเอง แต่มีความหมายของเขาเอง พอมีคิวเรเตอร์คุยกันเขาบอกให้พี่ลองทำงานวิดีโอมาแสดงดู แต่ก็ยังคิดว่าอาจจะไม่ได้ เพราะบอยส์นี่บังคับหลอกล่ออะไรไม่ได้เลย อย่างเด็กเรายังขอให้ทำอะไรแลกไอติมได้ แต่นี่เราถามว่าขอแลกกับถั่วไหมลูก เขาก็มองหน้าเฉยเลยถ้าไม่อยากกิน
“พี่สัญญาว่าพี่จะไม่ฝึกเขาแบบสัตว์เลี้ยง ฉะนั้นจะเป็นธรรมชาติของตัวเขาเอง ก็จะมีบางครั้งอยู่ดี ๆ เขาพูด Everyone is a [con]temporary แต่ถ่ายไม่ทัน ไม่รู้จะพูดเมื่อไร ก็ต้องคว้าอะไรมาถ่ายได้ก็เอาไปก่อน
ในแง่นี้ Beuys เป็นศิลปินด้วยใช่ไหมหรือเป็นนักแสดง
“เขาเป็น Collaborate Artist (ศิลปินที่ทำงานด้วยกัน)
คือเรียกว่าเป็นศิลปิน?
“ใช่ ๆ เขาอาจจะเป็น Contemperary หรือไม่ก็ได้แล้วแต่เขา คือเขาอาจจะไม่ได้แคร์หรอกมันเป็นศิลปะแต่ว่าพี่ว่ามันเป็นสายสัมพันธ์ที่เราเล่นเกมกัน ในขณะที่พี่จะให้เขาคืน คือพี่คือ Observer เขาคือ Creator แต่ว่าพี่ก็มาประสานอีกทีหนึ่งก็คือ Collaborate เราก็ทำกัน”
ในงานที่จะไปแสดงที่ Frieze นี้มีชิ้นหนึ่งที่เป็นประติมากรรมด้วย
“มันมาจากครั้งหนึ่งพี่จะทำงานเกี่ยวกับป่า ก็คิดว่าจะต้องทำยังไง เลยกลับมาสนใจที่ตัวบอยส์ (นก) เอง ในฐานะที่เขาเป็นสิ่งมีชีวิตหนึ่งที่ตั้งคำถามได้หลายอย่าง เขาถามเราโดยไม่ต้องถามเรา แล้วตอนที่พี่เห็นขนนกเขา มันสะเทือนใจมาก เขาผลัดขนทั้งปีทุกปี พี่ก็เก็บขนเขาทุกอันนะ ทิ้งไม่ลงเลย นั่งมองว่ามันพูดอะไรกับเราบ้าง แต่พี่หาคำอธิบายไม่ได้ มันเป็นความรู้สึกบางอย่าง เวลาเราดูวัตถุหนึ่ง
“ช่วงที่จะผลัดเยอะ ๆ เป็นช่วงใกล้วันเกิดเขาในเดือนสิงหา ปีนี้ บอยส์ครบสิบขวบพอดีด้วย”
มันมีประโยคยอดฮิตหนึ่งที่คนมักพูดกันเกี่ยวกับการทำงานกับสัตว์ ของ สืบ นาคะเสถียร ว่าเขาพูดในนามของสัตว์ เพราะว่าสัตว์พูดไม่ได้ มันเป็นโจทย์ที่น่าสนใจเหมือนกันว่าการทำงานศิลปะของเรามันจะไปพูดแทนสัตว์หรือเปล่า เราจะเข้าใจสิ่งที่เขาอยากพูดแต่พูดไม่ได้ยังไง
“เราพูดแทนเขาไม่ได้หรอก เพราะว่าเรามีสายตามนุษย์ตลอดเวลา พี่คิดว่าเขาให้ความรู้พี่ และพี่เรียนรู้จากเขามากกว่า เขาสามารถเป็นตัวแทนกับสิ่งมีชีวิตอื่นได้ แต่สำหรับมนุษย์ที่อยู่ในสังคมมนุษย์เป็นใหญ่ เราไม่สามารถพูดแทนกัน
“บอยส์เขายังพูดได้ เช่นเวลาเขาเห็นพี่ก็เรียก “ถั่วปะ” หรือเวลาอยากออกก็บอก “มา ๆ เร็ว ๆ” “ไม่ช่วยหรอ” “บอย์เบื่อ เซ็งจัง” คือเขาเรียนรู้ เราชอบคิดว่าภาษาเป็นของมนุษย์ แต่จริง ๆ สัตว์หลายชนิดก็มีภาษาของเขาที่เราไม่เข้าใจ อย่างนกก็มีการร้องหรือการเรียกเข้าฝูง แต่พอบอยส์สามารถรู้ภาษาคนได้ ก็เลยพอจะเข้าใจกัน
“ในโลกของสัตว์ เขามีภาษาของเขา มีลำดับชั้นของเขา พี่เชื่อว่าในสมองของเขา (สัตว์) เขามีความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ แล้วก็มีชีวิตในแบบของเขา (สัตว์) ที่ดูง่าย ๆ และมีความสุขกว่าเรา
“ช่วงที่พี่ได้เขามาประมาณเดือนสองเดือนแรก แล้วพี่ไปอยู่ที่อื่น พี่ก็สไกป์กับที่บ้าน แล้วสิ่งที่เขาทำคือไปคาบอาหารมาแล้วพยายามป้อนพี่ผ่านหน้าจอคอม บอกกลัวมามี๊ตาย กับอีกครั้งที่พี่ป่วยแล้วนอนซม เขาก็บินมา มาคาบเรา พยายามให้เราลุก เพราะกฎของนกคือห้ามป่วยเลย ถ้าในฝูงมีตัวใดป่วยฝูงจะทิ้งเลย แล้วก็เตรียมตายได้เลย เพราะนกเป็นสัตว์สังคม
“พวกนี้มันเป็นสิ่งที่เรียนรู้ คือเมื่อก่อนอาจจะเริ่มจากอยากทำงานแล้วอยากเรียนรู้ แต่ตอนหลังงานศิลปะคือของแถมแล้ว มันเป็นความสุขที่เราได้เรียนรู้จากเขามากกว่า”
พูดได้ไหมว่ามันคือภววิทยา (Ontology: การคิดเรื่องความจริงและการดำรงอยู่) ที่มันต่างกัน เป็นความพ้นมนุษย์ที่หลายคนพูดถึงกัน
“แน่นอน มุมมองวิถีชีวิตเราค่อนข้างต่างกันเลยบอยส์ (นก) มาเปิดประสบการณ์พี่ให้เห็นชีวิตอื่น ๆ แคร์สิ่งอื่น ๆ ที่พี่ไม่เคยแคร์ คนอย่างเรา ๆ ก็ตื่นมาหาตังค์กินข้าวรอวันตาย อาจจะได้รักใครบ้างนิดหน่อย แต่สิ่งที่บอยส์ทำไม่ใช่แค่มนุษย์กับมนุษย์แล้ว มันทำให้พี่มองกระทั่งต้นไม้ หรือผักตบชวา ที่เขาอยู่ของเขาแล้วเราเอามาทำให้แพร่หลาย มันเป็นการเมืองทั้งหมด ทำให้พี่สนใจการเมืองระหว่างมนุษย์กับสัตว์หรือสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
ในงาน Making the Unknown Known ที่โชว์อยู่ที่ The Jim Thompson Art Center ตอนนี้ก็พูดถึงประเด็นที่มนุษย์กับสัตว์นิยามต่างกันอย่างเรื่องอาณาเขต
“สัตว์มีอาณาเขตของมัน แต่ไม่เหมือนเขตของมนุษย์ เส้นเขตแดนของมนุษย์เนี่ยสัตว์มันไม่แคร์หรอก แต่ก็ได้รับผลกระทบด้วย โดนล่า หรือว่าโดนผลกระทบจากสงครามระหว่างมนุษย์กันเองด้วย
“ล่าสุดที่ไปเชียงรายก็พบว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องเขตแดนนะ การทำสงครามระหว่างประเทศมันมีเรื่องวางกับระเบิด แล้วสัตว์ก็เลยโดนไปด้วย เราคิดว่าสงครามมันมีแต่คนประเทศเรากับประเทศเขา แต่จริง ๆ มันมีสัตว์อื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งเรื่องอาณาเขตที่เขาไม่ได้รับรู้ด้วยเลย
“อย่างที่แม่น้ำโขงมันก็มีการลุกล้ำพื้นที่ของคนอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราเห็นคือสัตว์ก็ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างทางการเมืองด้วย ถ้าย้อนไปก็มีเช่นช่วงกรุงศรีฯ ที่ช้างเผือกเป็นข้ออ้างทำสงครามได้เลย หรือใช้เป็นเครื่องมือในการทำสงครามด้วยซ้ำ”
ถ้ามีคนที่ไม่ได้สนใจเรื่องสัตว์เรื่องสิ่งแวดล้อมเลยมาถามว่าทำไมต้องสนใจด้วยจะตอบอย่างไร
“พี่ว่าทุกอย่างมันสามารถถามว่า “แล้วไง” ได้หมดเลยนะ ซึ่งพี่ก็ไม่ได้มีหน้าที่ตอบว่าแล้วไง พี่แค่บอกว่าพี่เห็นอะไร แล้วโยนมันออกมาว่าใครอยากรู้อยากคุยกับมันไหม แน่นอนศิลปะมันก็มีความงี่เง่าเนอะ มันเป็นภาษาที่อยากคุยกับทุกคนแต่ก็ไม่ได้คุยง่าย ๆ
“พี่อยากให้เห็นว่ามุมมองที่มันเป็นอยู่หรือสิ่งที่เรามองข้ามมันเป็นอย่างไร ตั้งคำถามว่าการที่สัตว์ตัวหนึ่งตายแล้วถูกนำมาใช้ในสงครามมันเป็นอย่างไร พี่คิดว่าผลกระทบมันเยอะอยู่ที่เราจะมองมุมไหน อย่างสงคราม จริง ๆ มันก็ไม่เวิร์คทั้งนั้นไม่ว่าจะกับคนหรือสัตว์
“พี่เคยตั้งคำถามนะว่าจริง ๆ ตอนที่เขาปราบม็อบหรือยิงกันเนี่ย นกพิราบไปไหนวะ หมา แมว สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ไปอยู่ไหนวะ จริง ๆ เขามองว่าเราทำอะไรกันอยู่ แค่นี้แหละที่พี่รู้สึก”
มันเหมือนหลาย ๆ เรื่องอยู่ตรงนั้นเสมอแต่ไม่เห็น จนกว่าจะตั้งใจ
“ใช่ แล้วสังคมเรามันเป็นแบบนี้หมดเลยนะ แต่แผ่ออกบนโต๊ะมีทุกเรื่องเลยนะ แต่ที่เราไม่พูดถึงมันเพราะว่ามองว่ามันไม่สำคัญแล้วก็เก็บไปก่อน มันสะท้อนถึงสภาวะของสังคมที่เราอยู่เหมือนกัน”