เหลืออีกเพียงสัปดาห์กว่า ๆ งานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติครั้งยิ่งใหญ่ของเมืองไทยอย่าง ‘Thailand Biennale, Chiang Rai 2023’ ก็จะได้ฤกษ์เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว พร้อมเริ่มต้นให้ทุกคนเข้าไปชมผลงานศิลปะต่าง ๆ ทั่วเชียงราย ในระหว่างท่องเที่ยวรับลมหนาวกันได้อย่างจุใจ โดยในปีนี้ก็ได้มีศิลปินทั้งไทยและต่างประเทศขนทัพมาร่วมงานกันมากถึง 60 ราย ที่การันตีได้ถึงความหลากหลายของผลงานศิลปะที่รอคอยทุกคนอยู่

เหลืออีกเพียงสัปดาห์กว่า ๆ งานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติครั้งยิ่งใหญ่ของเมืองไทยอย่าง ‘Thailand Biennale, Chiang Rai 2023’ ก็จะได้ฤกษ์เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว พร้อมเริ่มต้นให้ทุกคนเข้าไปชมผลงานศิลปะต่าง ๆ ทั่วเชียงราย ในระหว่างท่องเที่ยวรับลมหนาวกันได้อย่างจุใจ โดยในปีนี้ก็ได้มีศิลปินทั้งไทยและต่างประเทศขนทัพมาร่วมงานกันมากถึง 60 ราย ที่การันตีได้ถึงความหลากหลายของผลงานศิลปะที่รอคอยทุกคนอยู่

แนะนำ 7 ศิลปินที่น่าสนใจจาก Thailand Biennale, Chiang Rai 2023

เหลืออีกเพียงสัปดาห์กว่า ๆ งานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติครั้งยิ่งใหญ่ของเมืองไทยอย่าง ‘Thailand Biennale, Chiang Rai 2023’ ก็จะได้ฤกษ์เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว พร้อมเริ่มต้นให้ทุกคนเข้าไปชมผลงานศิลปะต่าง ๆ ทั่วเชียงราย ในระหว่างท่องเที่ยวรับลมหนาวกันได้อย่างจุใจ โดยในปีนี้ก็ได้มีศิลปินทั้งไทยและต่างประเทศขนทัพมาร่วมงานกันมากถึง 60 ราย ที่การันตีได้ถึงความหลากหลายของผลงานศิลปะที่รอคอยทุกคนอยู่

สำหรับรูปแบบการทำงานศิลปะในงานมหกรรมฯ ครั้งนี้ นอกจากศิลปินแต่ละคนเขาจะใส่ความเป็นตัวเองลงไปในผลงานแล้ว พวกเขายังมีการลงพื้นที่และศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นเชียงราย บริบทของเมืองในแง่มุมมต่าง ๆ รวมถึงการทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมความเป็นเชียงรายที่มีความเป็นพหุวัฒนธรรมสูงด้วย จากนั้นก็นำปัจจัยที่ค้นพบมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นใหม่ให้สอดคล้องกับตัวตนและพื้นที่จัดแสดง เพื่อสะท้อนภาพความเป็นเชียงรายในมุมมองของตัวเองออกมาให้เราได้ชมกัน

แต่ก่อนที่ทุกคนจะลงสนามไปดูงานจริงกันในวันที่ 9 ธันวาคม 2566 - 30 เมษายน 2567 ที่จะถึงนี้ GroundControl ก็ขอชวนมาชิมข้อมูลเบา ๆ เรียกน้ำย่อย ผ่านการทำความรู้จักกับ 7 ศิลปินร่วมสมัยใน ‘Thailand Biennale, Chiang Rai 2023’ ที่เราคัดเลือกมาแล้วว่าน่าจับตามองสุด ๆ ให้ทุกคนได้ลองเก็บข้อมูลเข้าไกด์บุ๊คส่วนตัว แล้วตามรอยไปชมผลงานของแต่ละคนด้วยตัวเองกันในอนาคตอันใกล้นี้กันได้เลย!

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล (Apichatpong Weerasethakul)

เจ้ย - อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เป็นศิลปินไทยที่เติบโตขึ้นมาในจังหวัดขอนแก่น เราทุกคนต่างรู้จักเขากันดีในฐานะของผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยมากความสามารถ ที่เคยคว้ารางวัลอันทรงเกียรติอย่าง ‘Prix du Jury’ ไว้ได้หลายครั้งจากภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาด! (พ.ศ. 2547) และ Memoria (พ.ศ. 2565) รวมถึงรางวัลปาล์มทองคําในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์จากเรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (พ.ศ. 2553) และรางวัล Un Certain Regard จากภาพยนตร์เรื่อง สุดเสน่หา (พ.ศ. 2545) ด้วย

ในแง่ของสไตล์การทำงาน อภิชาติพงศ์มักจะใช้ศิลปะภาพยนตร์ในการเล่าเรื่องแบบไม่เป็นเส้นตรง (nonlinear) และมักเกี่ยวเนื่องกับแสง เวลา ความฝัน ความทรงจําส่วนตัว และความทรงจําทางสังคมสังเกตได้จากการนำเอาสิ่งเหล่านี้มาใช้ในภาพยนตร์ทุกเรื่องของเขา

นอกเหนือจากฐานะของผู้กำกับภาพยนตร์ระดับรางวัล เขาก็ยังได้รับการยอมรับในฐานะของศิลปินร่วมสมัยในระดับแนวหน้า ที่เคยมีโอกาสได้จัดแสดงงานในพิพิธภัณฑ์ศิลปะระดับโลกอย่าง Tate Modern ณ กรุงลอนดอน ในปีพ.ศ. 2559 ที่ทำการจัดฉายผลงานภาพยนตร์ของเขาทุกเรื่อง และในปีเดียวกันนี้เขายังได้รับรางวัล Prince Claus ที่เนเธอร์แลนด์ในฐานะศิลปินที่ประสบความสําเร็จในการสร้างผลงานอย่างเยี่ยมยอด รวมถึงในปี พ.ศ. 2562 ก็ได้รับรางวัล Artes Mundi ซึ่งเป็นรางวัลศิลปะร่วมสมัยระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักรด้วย

สำหรับเทศกาลศิลปะนานาชาติเบียนนาเล่นั้น เขาก็เคยเข้าร่วมมาแล้วมากมายหลายครั้ง จากหลากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Aichi Triennale (พ.ศ. 2565), Okayama Art Summit (พ.ศ. 2565), Sharjah Biennial (พ.ศ. 2556), Documenta 13 (พ.ศ. 2555) และ Singapore Biennale (พ.ศ. 2551) เป็นต้น โดย ‘Thailand Biennale, Chiang Rai 2023’ ถือว่าเป็นเทศกาลเบียนนาเล่ครั้งล่าสุดที่เขาจะมาเข้าร่วมงานด้วย เพราะฉะนั้นถ้าใครชื่นชอบผลงานของศิลปินดังระดับโลกคนนี้ และอยากชมผลงานจริงของเขาด้วยตาตัวเองแบบสด ๆ สักครั้ง ก็สามารถมาเจอกันได้ที่เชียงราย ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2566 - 30 เมษายน 2567 ที่จะถึงนี้

(ภาพจาก Bangkok CityCity Gallery)

บู้ซือ อาจอ (Busui Ajaw)

บู้ซือ อาจอ เป็นจิตรกรชาวอาข่าที่พำนักอยู่ในจังหวัดเชียงรายที่เรียนรู้ศิลปะด้วยตนเอง เดิมทีเธออาศัยอยู่ในภูเขาอันห่างไกลของเมียนมา และมาจากครอบครัวช่างฝีมือ แต่ถูกบังคับให้ต้องหลบหนีตั้งแต่ยังเด็กพร้อมกับครอบครัว เนื่องจากการรุกรานของทหาร และได้อพยพมายังจังหวัดเชียงรายของไทย ที่ซึ่งเธอได้เริ่มทำงานศิลปะ โดยนำเอาประสบการณ์ที่พบเจอ ตำนานพื้นเมือง และวัฒนธรรมของชาวอาข่า มาบอกเล่าในชิ้นงานด้วย

ซึ่งการผันตัวมาเป็นจิตรกรของหญิงสาวชาวอาข่าคนหนึ่ง ถือว่าเป็นเรื่องท้าทายพอสมควร ด้วยวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าที่ไม่จดบันทึก แต่อาศัยเพียงการเล่าปากเปล่าเท่านั้น การฝึกสร้างภาพเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับเธอ อีกทั้งในปัจจุบันเธอยังเริ่มนำประติมากรรมไม้มารวมเข้ากับภาษาภาพของเธอ รวมทั้งทำงานเกี่ยวกับการจัดวางเพิ่มด้วย

การได้ชมงานศิลปะจากมุมมองของบู้ซือ จึงเป็นอีกเช็กลิสต์หนึ่งที่ดึงดูดใจให้อยากออกเดินทางไปเยือน ‘Thailand Biennale, Chiang Rai 2023’ ในปีนี้สักครั้ง เพราะชียงรายนั้นเป็นเมืองแห่งพหุวัฒนธรรม ทว่าเราคนนอกกลับไม่ค่อยได้พบเห็นงานศิลปะที่มาจากมุมมองของกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ สักเท่าไร บางทีการได้ดูงานของเธอในครั้งนี้ เราอาจจะมองเห็นเชียงรายในอีกแง่มุมผ่านสายตาของบู้ซือก็เป็นได้

เอิร์นเนสโต เนโต (Ernesto Neto)

เอิร์นเนสโต เนโต (Ernesto Neto) เป็นศิลปินชาวบราซิล ผู้พำนักและทำงานอยู่ในเมืองรีโอเดจาเนโร (Rio de Janeiro) เนโตได้รับการจับตามองในฐานะศิลปินร่วมสมัยระดับแนวหน้าของบราซิล ด้วยรูปแบบการสร้างงานศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์ ที่ท้าทายสายตาและตั้งคำถามถึงขอบเขตระหว่างงานศิลปะกับผู้ชม สิ่งมีชีวิตและสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น โลกธรรมชาติ จิตวิญญาณ และสังคมอยู่เสมอ เพราะเขามักนำรูปทรงและอินทรียวัตถุหลาย ๆ อย่าง เช่น เครื่องเทศ ทราย และเปลือกหอยมามีส่วนร่วมกับประสาทสัมผัสทั้งห้า ซึ่งเป็นประสบการณ์พิเศษที่ผู้ชมจะได้รับเมื่อรับชมหรือก้าวเข้าไปในงานของเนโต

ในช่วงยุค 90 รูปแบบการทำงานของเขาก็เริ่มขยายขอบเขตมากขึ้น โดยเขาได้เริ่มผลิตผลงานที่ได้รับอิทธิพลมาจากการออกสำรวจพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก จนนำมาสู่ประเด็นความสนใจในเรื่องการสร้างพื้นที่ทางสังคมและโลกธรรมชาติ จากนั้นก็นำมาสร้างเป็นผลงานศิลปะที่เชิญชวนให้ผู้ชมเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพและประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสร่วมกัน เช่น การวาดภาพจากรูปทรงของสิ่งมีชีวิต และสร้างสรรค์ประติมากรรมแบบมินิมัลลิสต์ เป็นต้น

ปัจจุบันผลงานของเนโตอยู่ในชุดสะสมของพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ และแกลเลอรีระดับนานาชาติหลายแห่งทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ในนิวยอร์ก, พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์ในฮูสตัน, หอศิลป์เทตในลอนดอน, พิพิธภัณฑ์โซโลมอน อาร์. กุกเกนไฮม์ในนิวยอร์ก, พิพิธภัณฑ์ศิลปะคาร์เนกีในพิตส์เบิร์ก พิพิธภัณฑ์ Boijmans van Beuningen ในร็อตเตอร์ดัม, Centre Pompidou ในปารีส, Hara Museum ในโตเกียว, Contemporary Art Center of Inhotim ในบราซิล, พิพิธภัณฑ์ Hirshhorn และสวนประติมากรรมในวอชิงตัน ดี.ซี., พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Milwaukee, พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยในลอสแองเจลิส และอื่น ๆ อีกมากมาย

น่าจับตามองว่าในงาน ‘Thailand Biennale, Chiang Rai 2023’ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 9 ธันวาคม 2566 - 30 เมษายน 2567 ที่จะถึงนี้ เนโตจะผสานสไตล์การทำงานของตัวเองเข้ากับอระบบนิเวศน์ทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรมของเชียงรายอย่างไร และจะมีงานสุดท้าทายสายตาและประสาทสัมผัสทั้งห้าแบบไหนรอคอยให้เราไปค้นหาคำตอบกันบ้าง ต้องลองตามไปดูด้วยตาตัวเองกัน

แฮกู ยาง (Haegue Yang)

แฮกู ยาง (Haegue Yang) เป็นศิลปินชาวเกาหลีใต้ผู้เกิดที่กรุงโซล ก่อนจะย้ายไปพำนักและทำงานอยู่ที่เมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี และในปัจจุบัน เธอได้ดำรงตำแหน่งรองอธิการแห่ง Städelschule แฟรงก์เฟิร์ต

สำหรับรูปแบบการทำงานศิลปะของแฮกู ยาง จะพุ่งความสนใจไปที่การเชื่อมโยงประวัติศาสตร์และประเพณีที่มีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก รวมถึงความหมายแฝงทางวัฒนธรรมของวัสดุต่าง ๆ ที่เธอนำมาใช้ในการสร้างงานศิลปะ ผ่านเทคนิคภาพปะติด งานประติมากรรมจลนศาสตร์ (Kinetic Sculpture) ที่เคลื่อนไหวได้ และงานจัดวางตามขนาดพื้นที่ห้อง โดยเธอมุ่งหมายที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เรียกร้องให้ผู้ชมต้องใช้ประสาทสัมผัสอื่น ๆ นอกเหนือจากการมองเห็นในการรับชม เพื่อสัมผัสประสบการณ์ร่วมในประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน การย้ายถิ่นฐาน และการพลัดถิ่น

ยาง ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมพาวิลเลียนประจำชาติเกาหลีในงาน เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 53 (พ.ศ. 2552) อีกทั้งผลงานของเธอได้รับการนำไปจัดแสดงตามพิพิธภัณฑ์ชื่อดังมากมายทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น พิพิธภัณฑ์ศิลปะเฮลซิงกิ (พ.ศ. 2566), Pinacoteca de São Paulo (พ.ศ. 2566) พิพิธภัณฑ์ Statens Kunst, โคเปนเฮเกน (พ.ศ. 2565), หอศิลป์แห่งออนแทรีโอ โตรอนโต (พ.ศ. 2563), Tate St. Ives สหราชอาณาจักร (พ.ศ. 2563), พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัยแห่งชาติ เกาหลี (พ.ศ. 2563), พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ นิวยอร์ก (พ.ศ. 2562), พิพิธภัณฑ์ลุดวิก โคโลญจน์ (พ.ศ. 2561), Centre George Pompidou, ปารีส (พ.ศ. 2559), พิพิธภัณฑ์ศิลปะลีอุม โซล (พ.ศ. 2558) และ Haus der Kunst, มิวนิค (พ.ศ. 2555) เป็นต้น

เชียงรายก็เป็นอีกหนึ่งเมืองที่มีเรื่องราวของแรงงานและการพลัดถิ่นเกิดขึ้น และเป็นหัวข้อที่เธอเชี่ยวชาญและตรงกับความสนใจ แฮกู ยาง จึงเป็นศิลปินระดับโลกอีกหนึ่งคนที่น่าตามรอยไปชมผลงาน เพื่อดูว่าเธอจะผสานเรื่องราวทางสังคมที่พบเจอในเชียงรายให้เข้ากับสไตล์การทำงานของตัวเองได้อย่างไร

ชิมาบุกุ (Shimabuku)

ชิมาบุกุ (Shimabuku) คือศิลปินชาวญี่ปุ่นที่เริ่มสร้างงานศิลปะมาตั้งแต่ยุค 90 และมักออกเดินทางออกไปสำรวจยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกอยู่เสมอ งานศิลปะของเขาจะพูดถึงวัฒนธรรมต่าง ๆ และสิ่งที่เราสามารถพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน แล้วนำมาบอกเล่าผ่านการสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะจัดวาง ประติมากรรม ภาพยนตร์ และภาพถ่าย อันเต็มไปด้วยความรู้สึกเชิงกวีและอารมณ์ขัน ที่อุดมไปด้วยชั้นเชิงของการเล่าเรื่องแบบอุปมาอุปไมย

ชิมาบุกุเป็นศิลปินอีกคนหนึ่งที่น่าสนใจมาก ๆ ใน ‘Thailand Biennale, Chiang Rai 2023’ ครั้งนี้ เพราะรูปแบบงานศิลปะของเขาที่บอกเล่าเรื่องราวของผู้คนได้อย่างน่าสนใจ และยังคงสะท้อนเอกลักษณ์ของผู้คนประจำพื้นที่นั้น ๆ อย่างก่อนที่จะเปิดม่าน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 อย่างเป็นทางการ ชิมาบุกุก็ได้จัดทำเวิร์กชอปที่ชวนคนเชียงรายและผู้สนใจศิลปะมาร่วมกันประดิษฐ์ว่าวรูปตัวเอง แล้วนำว่าวเหล่านั้นไปบินบนท้องฟ้า เพื่อพาผู้คนขึ้นไปท่องลอยอยู่บนท้องฟ้าเหนือเมืองเชียงราย

Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 จึงเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ล่าสุดที่ชิมาบุกุจะนำความคิดสร้างสรรค์ตามแบบฉบับของตัวเองมาสร้างให้เป็นงานศิลปะรูปแบบใหม่ ที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมความเป็นเชียงรายในสายตาของเขา ดังนั้นถ้าใครชื่นชอบงานศิลปะที่บอกเล่าเรื่องราวทั้งในแง่ของบทกวี หรือเรื่องราวเปี่ยมอารมณ์ขัน ก็สามารถตามไปชมผลงานของเขาได้ในวันที่ 9 ธันวาคม 2566 - 30 เมษายน 2567 ที่จะถึงนี้

โทมัส ซาราเซโน (Tomás Saraceno)

โทมัส ซาราเซโน (Tomás Saraceno) เป็นศิลปินและนักวิจัยชาวอาร์เจนตินาผู้เกิดและเติบโตในเมืองซานมิเกลเดตูกูมัน ประเทศอาร์เจนตินา ก่อนจะย้ายมาพำนักและทำงานอยู่ที่เมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

ผลงานของซาราเซโนมักเป็นผสานงานศิลปะเข้ากับศาสตร์แห่งวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม ทำให้ผลงานของเขามีลักษณะคล้ายกับการทดลองศิลปะและวิทยาศาสตร์ ยกตัวอย่างเช่น ‘Particular Matter(s)’ ผลงานประติมากรรมโครงข่ายใยแมงมุมขนาดยักษ์กลางอากาศ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับงานได้ ผ่านการปีนป่ายและฟังเสียงจักรวาล โดยจุดประสงค์ของศิลปินก็คือการสะท้อนภาพของ ‘โครงสร้างของสิ่งมีชีวิต’ ที่ทุกอย่างพาดทับและเชื่อมโยงกันจนกลายเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ในธรรมชาติ และการที่ผู้ชมพากันปีนขึ้นไป ก็เท่ากับพวกเขาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการเติมเต็มโครงสร้างของสิ่งมีชีวิตจนสมบูรณ์

โปรเจกต์ซาราเซโนยังมักเกี่ยวข้องกับการศึกษารูปแบบของชีวิตและการสร้างชีวิตในยุค Capitalocene (ยุคที่ระบบทุนนิยมไม่เพียงแต่มีฐานะบทบาทในระบบเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นแนวทางในการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติอีกด้วย) ซาราเซโนมุ่งมั่นกับการทำงานศิลปะในหัวข้อนี้และใช้เวลากว่าสองทศวรรษในการทำสิ่งนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม เช่น การทำโครงการ Arachnophilia ที่มุ่งสร้างสังคมที่ปราศจากการปล่อยก๊าซคาร์บอน เพื่อความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมไปถึงมูลนิธิ Aerocene Foundation (พ.ศ. 2558) และ โครงการ Museo Aero Solar (พ.ศ. 2550) ซึ่งเพิ่งเปิดเวิร์กชอปที่เชียงราย ด้วยการชวนชาวเชียงรายมาร่วมกันสร้างบอลลูนยักษ์จากขยะพลาสติก เพื่อจะพาบอลลูนนั้นลอยขึ้นฟ้า เป็นดังพิพิธภัณฑ์ลอยได้ที่สะท้อนเรื่องราวและความร่วมมือร่วมใจของชาวเชียงราย ลอยอยู่บนท้องฟ้าเหนือเมืองศิลปะแห่งภาคเหนือของไทยแห่งนี้

อุบัติสัตย์

อุบัติสัตย์ (Ubatsat) คือศิลปินแนวคอนเซปต์ชวลจากจังหวัดเชียงใหม่ผู้ให้ความสำคัญกับการเมือง ปัญหาสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อม และตำนานพื้นถิ่น โดยผลงานของเขามักจะอ้างถึงปัจจัยหลายอย่าง เช่น เวลา บริบท และเงื่อนไข ด้วยความตั้งใจที่จะสื่อสารและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตและผู้คน ผ่านการทำงานศิลปะแบบนามธรรม กึ่งนามธรรม ประติมากรรม การพิมพ์ และงานศิลปะเฉพาะที่ด้วย นอกจากนี้เขายังสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยการส่งเสริมการผลิตงานศิลปะ และการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ

หนึ่งในนิทรรศการของเขาที่ทำให้การเข้าร่วม ‘Thailand Biennale, Chiang Rai 2023’ มีความน่าสนใจ คือนิทรรศการ ‘ปลาไหลเผือกลี้ภัยยามฟ้าสาง’ หรือ ‘white eel in the dawn of the exile’ ที่ว่าด้วยเรื่องของความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงหลังจากเกิดการสร้างเขื่อนในประเทศจีนเกิดขึ้น โดยเขาได้ผนวกหัวข้อนี้เข้ากับตำนานท้องถิ่นภาคเหนือได้อย่างแยบยล

ซึ่งจังหวัดเชียงรายเอง ก็เป็นหนึ่งในจังหวัดที่อยู่ติดกับแม่น้ำโขงและมีวิถีชีวิตที่ผูกพันธ์กับสายน้ำแห่งนี้เช่นกัน จึงน่าสนใจว่าใน ‘Thailand Biennale, Chiang Rai 2023’ เขาจะเลือกเล่าเรื่องใดให้เราฟังผ่านผลงานของเขาอีกครั้ง และนำเอาความรู้เรื่องตำนานพื้นถิ่น ประวัติศาสตร์ และสังคมของเชียงรายมาใช้อย่างไร เพื่อทำให้ผู้ชมอย่างเราเข้าถึงเรื่องราวได้ง่ายขึ้น