เกาะติดเบื้องหลังการติดตั้งงาน ‘บทสนทนากับดวงอาทิตย์’ ของเจ้ย - อภิชาติพงศ์ พร้อมสำรวจการทำงานของทีมผู้อยู่เบื้องหลัง
ก่อนที่เราจะได้ไปชม ‘บทสนทนากับดวงอาทิตย์’ รอบปฐมทัศน์ของ เจ้ย - อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล กันในวันที่ 25 มกราคมนี้ ณ ห้องประชุมคชสาร จังหวัดเชียงราย GroundControl ก็ได้มีโอกาสแหวกม่านการแสดงเข้าไปเก็บภาพเบื้องหลังการติดตั้งงานแบบเอ็กซ์คลูซีฟ พร้อมพบปะกับเหล่าทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังการผลิตระดับมืออาชีพกันแบบใกล้ชิดสุด ๆ
ผลงาน ‘บทสนทนากับดวงอาทิตย์’ หรือ ‘A Conversation with the Sun’ ของอภิชาติพงศ์นั้น คือผลงานชิ้นใหม่ที่นำโปรเจกต์เดิมมาต่อยอดร่วมกับศิลปินชาวญี่ปุ่นผู้ล่วงลับ ‘ริวอิจิ ซากาโมโตะ’ และ ‘คัตสึยะ ทานิกุจิ’ ศิลปินชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่น ในฐานะของกิจกรรมคู่ขนานที่จัดควบคู่ไปกับงาน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023
สำหรับจุดเริ่มต้นของแนวทางการจัดแสดงงานชิ้นนี้ มาจากเทศกาล ‘Aichi Triennale 2022’ ที่อภิชาติพงศ์ได้มีโอกาสร่วมงานกับศิลปินชาวญี่ปุ่น ที่จําลองภาพเสมือนจริงแบบ 360 องศา (Augmented Reality และ Virtual Reality) ในการนำเสนอผลงานศิลปะ เราจึงจะได้ชม ‘บทสนทนากับดวงอาทิตย์’ ในรูปแบบภาพยนตร์ ผ่านแว่น VR ที่เปิดโอกาสให้เราขยายขอบเขตของจินตนาการได้กว้างกว่าเดิม จนนําพาสิ่งที่เรามองไม่เห็น ไม่ได้ยิน หรือจับต้องไม่ได้มาอยู่ต่อหน้าเรา เมื่อประกอบเข้ากับเสียงเพลงที่ร้อยเรียงมาอย่างดีของริวอิจิ ก็ยิ่งทำให้เราสามารถสื่อสารกับมวลสารบางอย่างที่คล้ายกับวิญญาณในผลงานของอภิชาติพงศ์ได้อย่างชัดเจนและลึกซึ้งมากขึ้น ราวกับกำลังล่องลอยอยู่ในความฝันที่ความเป็นและความตายอยู่ร่วมกัน โดยในแต่ละรอบการแสดง จะเปิดให้เข้าชมได้ครั้งละ 15 คนเท่านั้น
แน่นอนว่าพอเป็นการจัดแสดงนอกสถานที่ที่ไม่ใช่โรงละครหรือโรงภาพยนตร์แบบนี้ ย่อมตามมาด้วยความท้าทายในการติดตั้งและการออกแบบพื้นที่ให้พอดีกับขนาดของงาน ส่งผลให้เหล่าทีมงานเบื้องหลังต้องตั้งใจออกแบบกันอย่างทุ่มสุดตัว โดยพวกเขาได้ทำการเปลี่ยนพื้นที่ของห้องประชุมคชสารอบจ.จังหวัดเชียงราย ให้กลายเป็นพื้นที่จัดแสดงงานแห่งใหม่ ที่ตอบโจทย์การเข้าชมงาน และล้อรับไปกับหน้าที่ดั้งเดิมของสถานที่แห่งนี้ที่เป็นเหมือนศูนย์รวมของคนในชุมชน ในการออกมาทำกิจกรรมร่วมกันอีกด้วย
และเมื่อทีม GroundControl มีโอกาสได้เข้ามาชมบรรยากาศการติดตั้งผลงาน นอกจากเราจะได้พูดคุยกับเจ้ย - อภิชาติพงศ์แล้ว เรายังได้พบกับ สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์ ผู้ช่วยครีเอทีฟคู่ใจ และ คัตสึยะ ทานิกุจิ VR Creator พร้อมทีมซัพพอร์ท Duck Unit ‘ต้น - เรืองฤทธิ์ สันติสุข’ และ ‘ฉิง - พรพรรณ อารยะวีรสิทธิ์’ นักออกแบบ Scene Design มาร่วมให้คำปรึกษาด้านเทคนิคและแสงให้กับโปรเจกต์ครั้งนี้โดยเฉพาะ นอกจากนั้นยังมีเอกรัฐ หอมละออ และทีมเก้าแปด โปรดักชัน แอนด์ ดีไซน์ ร่วมกับซุปเปอร์นอร์มอล สตูดิโอ ที่เข้ามาดูแลเรื่องออกแบบตกแต่งสถานที่ ทีมออกแบบเสียง โคอิชิ ชิมิสึ และ อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร รวมถึงทีมงานติดตั้งจากญี่ปุ่น และ จิอากิ โซมะ ผู้รับหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์และโปรดิวเซอร์ของงานนี้ด้วย
อภิชาติพงศ์ได้ให้สัมภาษณ์กับเรา เมื่อเข้าไปเยี่ยมชมเบื้องหลังการติดตั้งว่า “จริง ๆ แล้วงานชุดนี้จะมีสองชิ้น แต่ชิ้นแรกมีขนาดใหญ่มากจึงต้องฉายในโรงละครเท่านั้น เลยเหลืออีกชิ้นหนึ่งซึ่งคิดว่ามันจะเป็นไปได้ไหมที่จะนำมาจัดแสดงนอกกรุงเทพและโรงละคร มันเลยท้าทายมาก ๆ ที่เราต้องปรับขนาดของงานนี้ให้พอดีกับพื้นที่ งานชิ้นนี้เลยพิเศษตรงที่เราไม่ได้คิดว่ามันคืองานของเราคนเดียว แต่เป็นงานที่เกิดจากการร่วมมือกันของทุกคนเลย”
“มันเลยให้ประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากการจัดแสดงงานในต่างประเทศ เพราะที่นี่เราทุกคนร่วมมือกันหมด ทั้งทีมงานเชียงราย เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ญี่ปุ่น เรียกได้ว่างานนี้เป็นพื้นที่ที่คนดีไซน์มารวมตัวกัน จนไม่แบ่งเลยว่างานใครเป็นแบบไหน อะไรเป็นศิลปะไหม เพราะรวมตัวคนจากหลายวงการมาก ๆ จนเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว”
“การนำงานชิ้นนี้มาร่วมกับ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ครั้งนี้ เราไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย เราแค่มาทำอย่างที่เราทำตามปกติ โดยไม่แบ่งเลยว่าผู้ชมจะเป็นใคร เพราะเรานึกถึงตัวเองตอนเด็ก เวลาเราเจออะไรที่ไม่เข้าใจมันท้าทายดี มันคืออิสรภาพในการเสพงาน และมันเป็นโอกาสที่ดี ที่พื้นที่ในการเสพงานศิลป์มันกว้างขึ้น ไม่ต้องอยู่ในมิวเซียมก็ได้”
“และตามชื่อธีมของ Thailand Biennale ที่พูดถึงการ ‘Open World’ หรือเปิดโลก เราก็เลยมองว่างานนี้เป็นการรวมตัวกันจากทั้งฝั่งผู้ผลิตและผู้ชม รวมถึงตัวห้องประชุมคชสารแห่งนี้ ก็เป็นพื้นที่ของอบจ.จังหวัดเชียงราย หน้าที่ดั้งเดิมของมันเลยเป็นเหมือนศูนย์รวมของคนในชุมชน เป็นพื้นที่เปิด ใกล้โรงเรียน และเป็นที่จัดกิจกรรมทั้งหมดของคนในชุมชน เราก็เลยคิดว่างั้นทำไมถึงจะมีการแสดงแบบนี้เพิ่มเข้าไปด้วยไม่ได้ เป็นการเพิ่มความทรงจำให้กับพื้นที่แห่งนี้เข้าไปอีกเรื่องหนึ่ง” เขาเสริมถึงที่มาของการเลือกห้องประชุมคชสาร เป็นพื้นที่ฉาย ‘บทสนทนากับดวงอาทิตย์’ ในครั้งนี้
อภิชาติพงศ์ยังทิ้งท้ายถึงความพิเศษของห้องประชุมคชสารให้เราลองสังเกตตามด้วยว่า “จริง ๆ เราชอบเพดานของอาคารแห่งนี้มากเลยนะ เพราะมันดูคล้ายยานอวกาศ”
พอได้มาเห็นภาพเบื้องหลังการทำงานแบบนี้แล้ว ก็รู้สึกว่าเป็นโอกาสพิเศษมาก ๆ สำหรับชาวเชียงราย ที่จะได้ชมผลงานศิลปะจากศิลปินชื่อดังระดับโลกกันแบบใกล้ ๆ ดังนั้นถ้าใครกำลังรอคอยงานนี้ หรือกำลังวางแพลนจะมาเที่ยวเชียงรายช่วงนี้อยู่พอดี วันที่ 25 - 29 มกราคมนี้ ก็อย่าลืมปักหมุดห้องประชุมคชสาร จังหวัดเชียงรายเอาไว้ในลิสต์ แล้วมาชม ‘บทสนทนากับดวงอาทิตย์’ ไปพร้อมกัน! . เข้าชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถจองตั๋วล่วงหน้าได้ที่: Ticket Melon . หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจ Kick The Machine