แม้ว่าเสียงของของเหล่า ‘เฟียร์น็อท’ (ชื่อแฟนคลับของวง LE SSERAFIM) และเหล่าพี่สาวจะเทยจะแตกออกเป็นสองฝั่ง จะรักหรือชังน้อง Easy ที่เป็นเพลงใหม่ล่าสุดของวงเกิร์ลกรุ๊ปดื่มเนเจอร์กิ๊ฟ LE SSERAFIM แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนคงเห็นตรงกันก็คือความเปรี้ยวเย่วไหลปิ๊ดของสาว ๆ ทั้งห้าในเอ็มวีนี้

แม้ว่าเสียงของของเหล่า ‘เฟียร์น็อท’ (ชื่อแฟนคลับของวง LE SSERAFIM) และเหล่าพี่สาวจะเทยจะแตกออกเป็นสองฝั่ง จะรักหรือชังน้อง Easy ที่เป็นเพลงใหม่ล่าสุดของวงเกิร์ลกรุ๊ปดื่มเนเจอร์กิ๊ฟ LE SSERAFIM แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนคงเห็นตรงกันก็คือความเปรี้ยวเย่วไหลปิ๊ดของสาว ๆ ทั้งห้าในเอ็มวีนี้

ถอดสัญลักษณ์ทางศาสนาและศิลปะแห่งอิสตรี ในเอ็มวี Easy ของ LE SSERAFIM

แม้ว่าเสียงของของเหล่า ‘เฟียร์น็อท’ (ชื่อแฟนคลับของวง LE SSERAFIM) และเหล่าพี่สาวจะเทยจะแตกออกเป็นสองฝั่ง จะรักหรือชังน้อง Easy ที่เป็นเพลงใหม่ล่าสุดของวงเกิร์ลกรุ๊ปดื่มเนเจอร์กิ๊ฟ LE SSERAFIM แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนคงเห็นตรงกันก็คือความเปรี้ยวเย่วไหลปิ๊ดของสาว ๆ ทั้งห้าในเอ็มวีนี้

แต่สิ่งที่ทำให้ Easy เป็นเอ็มวีสุดเปรี้ยว ก็ไม่ใช่แค่เฉพาะความเลิศของสาว ๆ แต่ยังรวมไปถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่ในเอ็มวีที่ทำให้แมสเสจเรื่อง ‘พลังหญิงแกร่ง’ ซึ่งเป็นคอนเซปต์หลักของวงมาตลอดแข็งแรงขึ้น โดยเฉพาะในเอ็มวีนี้ที่เรื่องราวการประกาศพลังหญิงของสาว ๆ ดูจะขยับขึ้นไปอีกขั้น จากการที่สาว ๆ เหล่า ‘นางฟ้าบริวารของพระเจ้า’ (ชื่อวงมาจาก Seraph เทวทูตผู้เป็นบริวารของพระเจ้าในคัมภีร์ยูดาห์โบราณ) อหังการยึดโบสถ์ของพระผู้เป็นเจ้า และตั้งตัวเป็นพระเจ้าใหม่ในโลกใหม่ที่ผู้หญิงเป็นใหญ่!

สัญลักษณ์และงานศิลปะชิ้นใดที่ซ่อนอยู่ในเอ็มวีนี้ ไปดูกันเลย

Seraph บริวารแห่งสรวงสวรรค์ของพระผู้เป็นเจ้า

ก่อนที่จะไปถอดสัญลักษณ์ใด ๆ ในเอ็มวีนี้ เราต้องย้อนกลับไปที่ต้นเรื่องหรือที่มาที่ไปของชื่อวง LE SSERAFIM เสียก่อน เพราะเรื่องราวในเอ็มวี Easy ก็เป็นการขยายเรื่องต่อจากคอนเซปต์ตั้งต้นของวงนี่ล่ะ . ชื่อวง LE SSERAFIM ไม่เพียงเป็นการนำตัวอักษรในประโยคมอตโต้ประจำวงอย่าง ‘I’M FEARLESS’ มาสลับตำแหน่งแต่ยังมีที่มาจากเทวทูตในคัมภีร์ยูดาห์อย่าง ‘Seraphʼ ซึ่งหากอยู่ในรูปพหูพจน์จะเขียนว่า ‘Seraphim’ . แม้จะบอกว่าเป็นเทวทูต (Angel) แต่ Seraph หาได้มีรูปร่างหน้าตาเป็นนางฟ้าที่มาพร้อมปีกแสนสวยเหมือนที่เราคุ้นเคยกัน โดยคัมภีร์ทางศาสนาทั้งยิว คริสต์ และอิสลาม ต่างบรรยาย Seraph ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตแห่งสรวงสวรรค์ที่มีปีกหกปีกล้อมรอบดวงตาอันใหญ่ บินวนรอบบัลลังก์ที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าในแดนสวรรค์ คอยดูแลรักษาที่ประทับของพระอง์พร้อมเปล่งเสียงคำว่า ‘Holy! Holy! Holy!’

ตามความเชื่อของศาสนาคริสต์ Seraph เป็นเทวทูตที่มีสถานะสูงสุดในบรรดาเทวทูตทั้งหมด ในขณะที่ในศาสนายิวนั้น Seraph มีลำดับอยู่ที่ห้าจากบรรดาทูตสวรรค์ทั้งสิบ

Seraph ยังเป็นเทวทูตที่เกี่ยวข้องกับไฟและแสงสว่าง เพราะคำว่า Seraph ในภาษาฮีบรูมีความหมายว่า ‘ลุกไหม้’ ซึ่งก็ทำให้ภาพคอนเซปต์และโลโก้ของวงเกี่ยวข้องกับไฟและการมอดไหม้ด้วย

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการทางศาสนาบางส่วนยังตีความว่า คำว่า Seraph ที่ปรากฏในพระคัมภีร์เก่าอาจเชื่อมโยงกับ ‘งู’ (Serpent) เพราะคำว่า Seraph ที่มีความหมายว่าลุกไหม้นั้นอาจหมายถึงสีฉูดฉาดของงูพิษ หรืออาจหมายถึงฤทธิ์ความเจ็บปวดเหมือนโดนไฟไหม้ที่เกิดจากพิษงูก็ได้ แต่นั่นก็เป็นเพียงการตีความของนักวิชาการบางส่วนเท่านั้น แต่สิ่งที่ปรากฏตรงกันในคัมภีร์หลายเวอร์ชันก็คือการที่ Seraph เป็นบริวารของพระเจ้า และเทวทูตแห่งแสงสว่าง การรู้แจ้ง และการมองเห็นความงามที่แท้จริง ซึ่งก็มาจากสัญลักษณ์ดวงตาและแสงสว่างนั่นเอง

โบส์นี้ของพี่สาว!

ในภาพถ่ายคอนเซปต์ของวง LE SseRAFIM รวมไปถึ 'หลาย ๆ ฉากในเอ็มวีที่ผ่านมา สมาชิกสาว ๆ ทั้งห้ามักปรากฏตัวในลักษณะที่ทำให้ผู้ชมนึกถึง ‘นางไม้’, ‘ภูติพราย’ หรือ ‘เทพีแห่งแรงบันดาลใจ’ (Muses) ซึ่งล้วนมีสถานะเป็นนางบริวารของเทพในตำนานปกรณัมกรีก คล้ายกับเทวทูตรับใช้พระเจ้าตามความเชื่อศาสนายิวและคริสต์อย่าง Seraph ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า ‘ฟิมมี่’ หรือวง LE SSRAFIM ยังคงเล่นกับคอนเซปต์นางฟ้าหรือเทพธิดาผู้รับใช้พระเจ้าหรือสิ่งมีชีวิตเบื้องบนมาโดยตลอด

แต่ในเอ็มวี Easy ตั้งแต่ฉากแรกที่เราเห็นพืชพรรณที่ค่อย ๆ เลื้อยครอบคลุมพื้นที่โบสถ์อันศักสิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า ตามมาด้วยการเปิดตัวของห้าสาวที่เดินเข้ามาในโบสถ์ด้วยท่าทางสุด Swag แถมที่ยืนรอพวกเธออยู่ในโบสถ์ก็คือเหล่าแม่ชีผู้ถือไม้อาญาสิทธิ์ (Crosier) อันเป็นสัญลักษณ์ของผู้นำของโบสถ์คาทอลิกอย่างบิชอปหรือโป๊ป แต่สัญลักษณ์ที่อยู่บนไม้อาญาสิทธิ์เหล่านั้นหาใช่สัญลักษณ์ทางศาสนาทั่วไปอย่าง งู วงโค้ง หรือกางเขน แต่กลับเป็นสัญลักษณ์อักษรไขว้ประจำวง LE SSERAFIM ราวกับจะเป็นการประกาศการยึดครอง ‘บ้านของพระเจ้า’ โดยสาว ๆ ผู้เคยเป็นบริวารของพระเจ้ามาก่อน!

แถมที่อยู่ ณ ใจกลางโบส์ก็หาใช่กางเขนหรือรูปพระเยซู แต่กลับเป็นรูป ‘ดวงตา’ ที่เป็นสัญลักษณ์ของเทวทูตอย่าง Seraph เหมือนเป็นการประกาศอย่างเป็นทางการว่า พวกเธอหาใช่บริวารของพระเจ้าอีกต่อไป และพระเจ้าองค์ใหม่ได้มาถึงแล้ว!

GOD IS A WOMAN

ที่เห็นชัด ๆ คือฉากที่น้องเร้ก ‘อึนแช’ ประคอง ‘ยุนจิน’ ในลักษณะที่ดูคล้ายกับท่า Pietà (ภาษาอิตาเลียนแปลว่า ความสงสาร) ที่ถอดแบบมาจากฉากพระแม่มารีย์ประคองร่างพระเยซูที่ถูกอัญเชิญลงจากกางเขน อันเป็นฉากและท่าทางที่เห็นได้ทั่วไปในงานศิลปะ แต่ความน่าสนใจของ Pietà แบบ LE SSARAFIM ก็คือ ผู้ที่ถูกประคองร่างไว้กลับเป็นพระแม่มารีย์

ฉากนี้อาจบอกเป็นนัยถึงการโฟกัสไปที่ผู้หญิงซึ่งเคยเป็นเพียงบทบาทรองในเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า พระแม่มารีย์ที่ถูกประคองโอบกอดไว้ก็อาจหมายถึงการที่เธอได้รับการปลอบประโลมโอบอุ้มจากผู้หญิงด้วยกัน รวมไปถึงการซาบซึ้งและเห็นคุณค่าในการเสียสละของเธอ ไม่ว่าจะเป็นการเป็นผู้ให้กำเนิดพระเยซูทั้งที่เป็นหญิงพรหมจรรย์ รวมไปถึงการต้องทนเห็นลูกของตัวเองถูกทรมานจนสิ้นใจบนกางเขน

พระแม่มารีย์ที่ถูกนำเสนอในฉากนี้ยังมีลักษณะเป็น ‘Weeping Mary’ หรือมารีย์ร่ำไห้ ซึ่งเป็นภาพที่ถูกนำเสนออยู่เสมอในศิลปะของฝั่งคาทอลิก และทางฝั่งตะวันตกก็ยังมีตำนานเมืองเรื่องรูปปั้นพระแม่มารีย์ที่มีน้ำตาไหลออกมา (คล้าย ๆ กับเสาตกน้ำมันบ้านเรา) ซึ่งน้ำตาของพระแม่มารีย์ก็มักถูกตีความว่าเป็นน้ำตาที่หลั่งให้กับบาปของมนุษยชาติ นอกจากนี้ในคัมภีร์ไบเบิลยังมีการระบุถึง The Seven Sorrows of Mary หรือ ‘ความโศกเศร้าเจ็ดประการของพระแม่มารีย์’ ซึ่งกล่าวถึงเจ็ดเหตุการณ์ในชีวิตบนโลกมนุษย์ที่ทำให้พระแม่มารีย์ต้องหลั่งน้ำตา โดยหนึ่งในนั้นคือเหตุการณ์ตรึงกางเขนของพระเยซู ทำให้พระแม่มารีย์มีอีกชื่อหนึ่งว่า ‘Our Lady of Sorrows’ หรือพระแม่แห่งความทุกข์

การโอบอุ้มพระแม่มารีย์ผู้โศกเศร้าในฉากนี้ ในแง่หนึ่ง จึงอาจสื่อถึงแมสเสจเรื่องเพื่อนหญิงพลังหญิงหรือ ‘Women Supporting Women’ เราเห็นถึงความทุกข์ของเพื่อนสาว และเราจะไม่ปล่อยให้เพื่อนสาว (ต่อให้เป็นถึงพระแม่มารีย์ก็ตาม) ต้องโศกเศร้าเพียงลำพัง

จับมือเหล่าเพื่อนสาว เพื่อนจะเทย เพื่อนแซฟฟิก สร้างโลกใหม่ที่ปลอดชายแทร่!

ดังที่กล่าวไปแล้วว่าแมสเสจสำคัญของเอ็มวีนี้คือการประกาศความอหังการของเหล่านางฟ้าเซราฟิมผู้เป็นบริวารของพระเจ้า และการลุกขึ้นมายึดครองโลกที่พระเจ้าเพศชายเป็นใหญ่ สร้างศาสนาใหม่ที่ผู้หญิงเป็นพระเจ้าองค์ใหม่ หากแต่โลกใหม่ที่ผู้หญิงครอบครองนี้ก็ไม่ใช่แค่โลกของหญิงแท้ หญิงสเตรจ แต่ในโลกนี้ยังรวมคอมมูนิตี LGBTQ+ เข้ามาด้วย โดยเฉพาะเหล่าแซฟฟิกหรือเลสเบียนทั้งหลาย!

สัญลักษณ์แซฟฟิกหรือเลสเบียนปรากฏให้เห็นได้ทั่วไปในเอ็มวีนี้ ตั้งแค่พืชพรรณที่เลื้อยเข้าครอบครองพื้นที่โบสถ์ในตอนต้น ดังที่รู้กันดีว่าสัญลักษณ์สำคัญที่มักถูกใช้นำเสนอตัวตนหรือพื้นที่ของชาว LGBTQ+ ก็คือพื้นที่ป่าและธรรมชาติที่ห่างไกลจากสายตาจับจ้องจากกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของพื้นที่เมือง ดูได้จากหนังและวรรณกรรม LGBTQ+ หลายเรื่ิองที่มักใช้พื้นที่ป่าและธรรมชาติเป็นพื้นที่ฉากหลังในการเปิดเผยตัวตนของตัวละครเกย์และเลสเบียน เช่น Brokback Mountain, When Marnie Was there, Portrait of A Lady on Fire, Call Me By Your Name ฯลฯ

หรือแม้กระทั่งเทพีแห่งการล่าสัตว์อย่าง อะธีนา ก็ถูกมองว่าเป็นเทพีแห่งความเป็นหญิง เพื่อนหญิงพลังหญิง และอาจรวมถึงความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิงด้วย เพราะนอกจากจะเป็นเทพีแห่งพรหมจรรย์ที่ไม่ยอมแต่งงานมีคู่ครองแล้ว เธอยังมักท่องไปในป่าพร้อมกับบริวารและนางไม้แห่งพงไพรอย่างอิสรเสรี

ยังไม่รวมถึงฉากท้าทายระบบแซฟฟิกอย่างฉากการหวีผมของคู่ซากุระและคาซึฮะ ซึ่งแค่การหวีผมก็เป็นสัญลักษณ์สื่อนัยถึงความสัมพันธ์ของคู่หญิงรักหญิงอยู่แล้ว เพราะตั้งแค่อดีตมา การให้หวีเป็นของขวัญระหว่างเพื่อนหญิงไม่เพียงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความผูกพัน (bonding) ระหว่างผู้หญิงด้วยกัน แต่ในทางวรรณกรรม การปล่อยผมยังถูกตีความถึงเรื่องความเย้ายวนและการปลดปล่อยทางเพศ อีกทั้งการหวีผม (ไม่ว่าจะเป็นในคู่ชายหญิงหรือหญิงหญิง) ก็ยังสื่อถึงการการกระตุ้นเร้าทางเพศ ไปจนถึงการเล้าโลม (Foreplay) ด้วย

การจัดองค์ประกอบในฉากของซากุระกับคาซึฮะ รวมไปถึงฉากเล่นผ้าและฉากโล้ชิงช้าของน้องอึนแช ยังทำให้นึกถึงภาพวาดของเหล่านางไม้และนางพราย (nymph) ซึ่งก็เป็นกลุ่มผู้หญิงที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในป่าและธรรมชาติ อีกทั้งยังชวนให้นึกถึงบรรดาภาพวาดเหล่าหญิงสาวบนเกาะเลสบอส (Lesbos) ที่เหล่าจิตรกรยุค Pre-Raphaelite ถ่ายทอดผ่านการจินตนาการถึงชุมชนบนเกาะห่างไกล ที่ผู้หญิงในยุคกรีกโบราณได้มาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน โดยศิลปินในยุคนั้นก็ได้แรงบันดาลใจในการวาดภาพเหล่านั้นมาจากบทกวีของ ‘แซฟโฟแห่งเกาะเลบอส’ (Sappho Of Lesbos) กวีหญิงยุคกรีกโบราณผู้แต่งบทกวีพรรณาความงามของสตรี รวมไปถึงการนำเสนอภาพชีวิตประจำวันของสาว ๆ บนเกาะ และการแสดงออกถึงความรักที่เธอมีให้กับพวกนาง เช่น ในบทกวี ‘Ode to Aphrodite’ ที่เธอเล่าถึงเรื่องราวของหญิงสาวนางหนึ่งผู้กำลังอ้อนวอนขอพรต่อเทพีอโฟรไดที เพื่อให้พระนางช่วยดลบันดาลให้เธอสมหวังในความรักกับหญิงสาวที่เธอหลงใหล (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://groundcontrolth.com/blogs/sappho-of-lesbos)

ในฉากท้าย ๆ ที่อึนแชนั่งอยู่บนชิงช้าดอกกุหลาบ และถูกหนามกุหลาบบาดมืดจนเลือดไหล ยังทำให้นึกถึงตำนานเกี่ยวกับเลือดและดอกกุหลาบในปกรณัมกรีก นั่นก็คือตำนานความรักระหว่างเทพบุตร อะโดนิส และเทพีแห่งความรักอย่างอะโฟรไดที เมื่ออะโดนิสถูกหมูป่าขวิดจนถึงแก่ชีวิตและสิ้นใจในอ้อมแขนของอะโฟรไดที เลือดของเทพบุตรรูปงามและน้ำตาของเทพีแห่งความรักได้ตกลงสู่พื้นและก่อเกิดเป็นดอกกุหลาบสีแดง ซึ่งกวีที่แต่งเรื่องราวเกี่ยวกับอะโดนิสและอะโฟรไดทีก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากแซฟโฟแห่งเกาะเลสบอส จนทำให้อะโฟรไดทีถือเป็นเทพีแห่งชาวเควียร์ด้วย

และหากมองว่าฉากอึนแชบนชิงช้านี้ได้แรงบันดาลใจมาจากหนึ่งในภาพวาดที่ดังที่สุดในโลกอย่าง The Swing (Fragonard) โดย Jean-Honoré Fragonard ฉากนี้ก็อาจสื่อนัยถึงการที่ศาสนาใหม่ที่สาว ๆ LE SSERAFIM นำมาเผยแพร่นั้นก็คือ ‘อิสระแห่งใจปรารถนา’ เพราะภาพ The Swing มักถูกหยิบยกมาตีความหมายเรื่องความปรารถนาและอิสระทางเพศ เนื่องจากหญิงสาวในภาพกำลังปล่อยตัวปล่อยใจให้กับความสนุกสนานจนไม่สนว่ารองเท้าจะหลุด ซึ่งการที่หญิงสาวเผยข้อเท้าถือเป็นเรื่องที่ฉาวโฉ่มากในยุคนั้น

ในฉากสุดท้ายที่สาว ๆ เต้นอยู่ในซากโบสถ์ที่มีหิมะโปรยปราย โดยที่ข้างบนคือท้องฟ้าดำทะมึนและสายฟ้าฟาด นี่อาจเป็นฉากที่บ่งบอกถึงบทสรุปการทำลายโลกเก่าเพื่อสร้างโลกใหม่ …โลกที่ชายแท้ไม่ใช่พระเจ้าอีกต่อไป โลกที่พระเจ้าองค์ใหม่คือผู้หญิง

และหากจะมองว่า ฉากนี้คือฉากวันสิ้นโลกและฉากวันพิพากษาลงทัณฑ์จากพระเจ้า สาว ๆ ที่กำลังวาดลวดลายหลังทำลายโบสถ์ของพระเจ้าไปแล้วก็ดูจะหาแคร์ไม่ เพราะไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ต่อให้ต้องเผชิญหน้ากับความพิโรธของพระเจ้า เราก็ไม่หวั่น เพราะ “Damn, I really make it look easy”