กวีและนักเขียน เมย์รา ซานโตส เฟเบรส (Mayra Santos Febres) นำเสนอกลวิธีการเอาตัวรอดของศิลปะแอฟโฟร-โปรินเกน (Afro-Borinquen — ชาวเปอร์โตริกันเชื้อสายแอฟริกัน) ภายใต้โครงสร้างมรดกตกทอดทางความคิดของลัทธิอาณานิคมในเปอร์โตริโกและแคริบเบียน ด้วยการนำเสนอกระบวนการปลดแอกและการปฏิเสธที่จะถูก ‘ทำให้มองไม่เห็น’ โดยย้อนกลับไปเมื่อปี 2022 Protodispatch เคยเผยแพร่บทความที่สำรวจของการเอาตัวรอดทางวัฒนธรรมในเปอร์โตริโกภายใต้หัวข้อ [เรียนรู้ใหม่กับสิ่งโบราณ: หนทางสู่สิทธิในที่ดินของชนพื้นเมืองในโปริเกน โดยฆอร์เก กอนซาเลส และอังเจล่า บราวน์ (Jorge González and Angela Brown)

กวีและนักเขียน เมย์รา ซานโตส เฟเบรส (Mayra Santos Febres) นำเสนอกลวิธีการเอาตัวรอดของศิลปะแอฟโฟร-โปรินเกน (Afro-Borinquen — ชาวเปอร์โตริกันเชื้อสายแอฟริกัน) ภายใต้โครงสร้างมรดกตกทอดทางความคิดของลัทธิอาณานิคมในเปอร์โตริโกและแคริบเบียน ด้วยการนำเสนอกระบวนการปลดแอกและการปฏิเสธที่จะถูก ‘ทำให้มองไม่เห็น’ โดยย้อนกลับไปเมื่อปี 2022 Protodispatch เคยเผยแพร่บทความที่สำรวจของการเอาตัวรอดทางวัฒนธรรมในเปอร์โตริโกภายใต้หัวข้อ [เรียนรู้ใหม่กับสิ่งโบราณ: หนทางสู่สิทธิในที่ดินของชนพื้นเมืองในโปริเกน โดยฆอร์เก กอนซาเลส และอังเจล่า บราวน์ (Jorge González and Angela Brown)

การเหยียดเชื้อชาติแบบบูรณาการ และศิลปะร่วมสมัยเปอร์โตริโกในรุ่งอรุณแห่ง ‘Black Live Matters’

(บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมมือระหว่าง GroundControl และพันธมิตรสื่อทางศิลปะ Protocinema ผู้เผยแพร่สื่อดิจิทัลด้านศิลปะรายเดือน เพื่อนำเสนอมุมมองของศิลปินที่มีต่อสังคมร่วมสมัย การเมือง วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ โดยดำเนินการผ่าน Protodispatch ผู้เป็นตัวกลางเผยแพร่ข่าวสารประจำเดือนให้แก่พันธมิตรในเครือ โดย GroundControl ได้รับเกียรติให้เป็นพันธมิตรสื่อเพื่อเผยแพร่บทความในภาษาไทย ร่วมกับ Artnet.com จากนิวยอร์ก และ Argonotlar.com จากอิสตันบูล เพื่อร่วมกันสร้างโครงข่ายของระบบนิเวศน์ทางศิลปะที่เข้มแข็ง และเพื่อให้ผู้สนใจศิลปะชาวไทยสามารถเข้าถึงได้โดยปราศจากกำแพงด้านภาษา)

กวีและนักเขียน เมย์รา ซานโตส เฟเบรส (Mayra Santos Febres) นำเสนอกลวิธีการเอาตัวรอดของศิลปะแอฟโฟร-โปรินเกน (Afro-Borinquen — ชาวเปอร์โตริกันเชื้อสายแอฟริกัน) ภายใต้โครงสร้างมรดกตกทอดทางความคิดของลัทธิอาณานิคมในเปอร์โตริโกและแคริบเบียน ด้วยการนำเสนอกระบวนการปลดแอกและการปฏิเสธที่จะถูก ‘ทำให้มองไม่เห็น’ โดยย้อนกลับไปเมื่อปี 2022 Protodispatch เคยเผยแพร่บทความที่สำรวจของการเอาตัวรอดทางวัฒนธรรมในเปอร์โตริโกภายใต้หัวข้อ เรียนรู้ใหม่กับสิ่งโบราณ: หนทางสู่สิทธิในที่ดินของชนพื้นเมืองในโปริเกน โดยฆอร์เก กอนซาเลส และอังเจล่า บราวน์ (Jorge González and Angela Brown)

ย้อนกลับไปเมื่อ 26 ปีก่อน ศิลปินและภัณฑารักษ์ เอดวิน เบลาสเกซ (Edwin Velázquez) ริเริ่มขบวนการที่จะเปลี่ยนภูมิทัศน์ของศิลปะทัศนศิลป์ในเปอร์โตริโก แผ้วทางให้การมาถึงของปฏิบัติการศิลปะเพื่อปลดปล่อยอาณานิคม ซึ่งสะท้อนและรับรองการดำรงอยู่ของลูกหลานเชื้อสายแอฟโฟร ทั้งที่อยู่ในพื้นที่แคริบเบียน และที่พลัดถิ่นไป

ในปี 1996 ที่ดูห่างไกลออกไปจากช่วงเวลาในปัจจุบัน เบลาสเกซจัดแสดงนิทรรศการ Paréntesis: Ocho Artistas negros (“แปดศิลปินผิวดำ”) ที่นำเสนอผลงานของ อาร์ลีน คาซาโนวา (Arleen Casanova), แดเนียล ลินด์-รามอส (Daniel Lind-Ramos), เกเดียล รีเวรา (Gadiel Rivera), เยซู คาร์โดนา (Jesús Cardona), ลุซ ดี. อามาเบิล (Luz D. Amable), อาวิลดา สเตอร์ลิง-ดูเปรย์ (Awilda Sterling-Duprey) และ ราโมน บูเลอริน (Ramón Bulerín) ศิลปินในนิทรรศการนี้ล้วนทำงานทัศนศิลป์ที่สะท้อนวัฒนธรรมแคริบเบียนแบบแอฟโฟรพลัดถิ่นมาเป็นเวลาสิบ ๆ ปี แล้ว หากแต่แวดวงศิลปะตามขนบ ทั้งแกลเลอรี พิพิธภัณฑ์ องค์กรผู้สนับสนุนทุนการทำงานของศิลปิน รวมไปถึงนักวิจารณ์ศิลปะ ทั้งในพื้นที่เกาะแคริเบียน และในสหรัฐอเมริกา ก็ยังคงหลับหูหลับตาทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นทและทำเป็นไม่รับรู้ถึงการมีอยู่ของผลงานของศิลปินเหล่านี้

การเหยียดเชื้อชาติ (racism) ต่อคนแอฟโฟรเปอร์โตริกัน และทัศนคติการมองโลกแบบมียุโรปเป็นศูนย์กลางยังคงฝังรากลึก และเสริมสร้างรากฐานของศิลปะนานาชาติ (ที่อยู่นอกเหนือยุโรป) ให้หยั่งรากเข้มแข็งขึ้นกว่าทุกที สวนทางกับทศวรรษแห่งการประท้วงเพื่อปลดปล่อยอาณานิคม การใช้คำว่า Latinx ในการเรียกเหล่าลูกหลานชาวละตินอเมริกาอพยพที่เกิดหรือเติบโตในสหรัฐอเมริกา ทำให้เห็นว่าการยืนยันที่จะไม่ประนีประนอมและไม่ยอมรับตัวตนของคนเหล่านี้ ยังคงไม่จางหายไปไหน การประกอบสร้างตัวตนคนนอกที่ได้ความชอบธรรมจากสังคมนี้กลับนี้ทำให้เกิด “การล่องหนสองชั้น” (double invisibility) แบบเดียวกับ “สำนึกรู้สองชั้น” (double consciousness) ที่ถูกอธิบายไว้โดยดูบัวส์ (W.E.B. Du Bois)

ในฝั่งของศิลปิน “แอฟโฟร-ละติเน็กซ์” (Afro-Latinx) พวกเขาเผชิญหน้ากับ “การล่องหนสองชั้น” ที่ขีดเส้นแบ่งอัตลักษณ์ “ละติเน็กซ์” ออกจากอัตลักษณ์ “แอฟโฟร” และตั้งมั่นที่จะลบความดำออกจากละตินอเมริกา ในสถานการณ์นี้ “แอฟโฟร-ละติเน็กซ์” ไม่ได้รับทั้งการยอมรับและการทำความเข้าใจอย่างจริงจัง สถานการณ์นี้อยู่ในระดับที่รุนแรงไม่น้อย เมื่อมองว่าการบรรจบกันของอัตลักษณ์ที่ถูกยัดเยียดให้นี้ได้ดำรงอยู่มานานกว่า 400 ปีแล้ว และได้กลายมาเป็นรากฐานของของชาวละตินอเมริกาและผู้อพยพ และยังถูกนำเสนอให้เป็นเรื่องปกติธรรมดาในวัฒนธรรมกระแสหลัก

ผลตอบรับของ Paréntesis: Ocho Artistas Negros ก่อให้เกิดการโต้เถียงเถียงที่น่าสนใจ เปิดให้เห็นกลไกการเหยียดเชื้อชาติที่มีอยู่ทุกที่ ไม่ใช่แค่ในเปอร์โตริโก แต่รวมถึงในหลาย ๆ ชาติแถบแคริบเบียนและละตินอเมริกา หลังเปิดนิทรรศการได้ไม่นานนัก ก็มีจดหมายจากบรรณาธิการและบทความหนังสือพิมพ์ที่ตั้งคำถามถึง 'ความจำเป็น' ในการจัดตั้งกลุ่มศิลปินด้วยการชูอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติแบบเฉพาะ ในบรรดาเสียงวิจารณ์ที่มุ่งไปหางาน Paréntesis คือข้อโต้แย้งที่ว่า “ศิลปะเป็นสิ่งสากล” การจัดกลุ่มศิลปะโดยแบ่งตามเกณฑ์อื่นใดนอกเหนือไปจากคุณค่าทางศิลปะล้วนถูกมองว่าเป็น “การก่อความแตกแยก” และถูกแปะป้ายให้เป็น “การกีดกันแบบย้อนกลับ”

เราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าการเหยียดเชื้อชาติภายในพรมแดนแคริบเบียนและละตินอเมริกันของเรานั้นทำงานอย่างซึ่งหน้าผ่าน 'การปฏิเสธ' …การปฏิเสธที่จะยอมรับการมีอยู่ของคนกลุ่มนี้กลับยิ่งต่อชีวิตให้กับการเหยียดเชื้อชาติในละตินอเมริกาและแคริบเบียน ผลก็คือกระบวนการปฏิเสธดังกล่าวได้หยุดชะงักวาทกรรมใด ๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางเชื้อชาติ ยืดเยื้อสิ่งที่ฉันเรียกว่า “การบังคับเหยียดเชื้อชาติแบบบูรณาการ” (enforced integrationist racism) การเหยียดเชื้อชาติรูปแบบนี้ได้รับการส่งเสริมโดยภาครัฐที่ชูแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยทางเชื้อชาติ และเสนอหนทางเพียงหนึ่งเดียวในการแก้ปัญหาความตึงเครียดทางชาติพันธ์ุที่มีหลากหลายเฉดสี อันก่อให้เกิดอัตลักษณ์ละตินอเมริกันเพียงหนึ่งเดียวขึ้นมา เป็นเรื่องสำคัญที่จะเน้นว่า “การบังคับเหยียดเชื้อชาติแบบบูรณาการ” นี้มีความแตกต่างอย่างมากจาก “การบังคับเหยียดเชื้อชาติแบบแบ่งแยก” (forced segregationist racism) ซึ่งทำงานอยู่ในสหรัฐอเมริกา

หลังจากการสังหาร จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ขบวนการแบล็กไลฟส์แมตเทอร์ (Black Lives Matter) ก็ลุกฮือทั่วโลก แต่ในอีกแง่หนึ่ง บทสนทนาในประเด็นที่เกี่ยวกับเชื้อชาติและการต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อคนดำยังคงถูกฉุดรั้งอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในสังคมละตินอเมริกาและแคริบเบียน นิทรรศการของศิลปินเปอร์โตริกันที่นิยามตัวเองว่าเป็นคนดำบนเกาะได้เติบโตมากขึ้น นับแต่ปี 2020 เป็นต้นมา มันต้องใช้เวลาถึง 26 ปีกว่าที่ขบวนการนี้จะเผยตัว เพื่อกรุยทางให้เกิดการผนวกรวมศิลปินละติเน็กซ์เชื้อสายแอฟโฟรเข้ามาอยู่ในพื้นที่พิพิธภัณฑ์และแกลเลอรี นำไปสู่การยอมรับศิลปินเหล่านี้มากขึ้น เปิดทางให้เหล่าศิลปินเหล่านี้เข้าถึงทุนการศึกษา ทำให้เหล่านักวิจารณ์หันมาเหลียวมอง ยังไม่รวมถึงการสนับสนุนทางเงินทุน เพื่อให้พวกเขาสามารถทำงานในแบบของตนเองต่อไปได้

ศิลปินที่ได้รับรางวัลนานาชาติ แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงการศิลปะของเปอร์โตริโกหรือสหรัฐอเมริกา กำลังเริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับการสนับสนุนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เปป็อง โอซาริโอ (Pepón Osorio) ดาเนียล ลินด์-ราโมส (Daniel Lind-Ramos), อวิลดา สเตอร์ลิง-ดูเปรย์ (Awilda Sterling-Duprey), เกเบรียล ริเวรา (Gadiel Rivera) และ เอ็ดวิน เวอลาซ์เกวซ (Edwin Velázquez) ล้วนได้รับการยอมรับทั้งจากผู้จัดนิทรรศการและในเวทีรางวัลจากสถาบันอันทรงเกียรติมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Whitney Museum of American Art, New York’s Museum of Modern Art, the Mellon Foundation, the MacArthur Prize และหน่วยงานหลักอื่น ๆ จากสหรัฐฯ กระแสดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่ศิลปินเหล่านี้ได้รับการยอมรับจากแวดวงศิลปะในวงกว้าง ทำให้พิพิธภัณฑ์และสถาบันจากประเทศหมู่เกาะเหล่านี้ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะเปิดใจยอมรับศิลปินแอฟโฟรโปริกัว เมืองขึ้นก็ต้องมีดีบ้างแหละน่า! แบล็กไลฟส์แมตเทอร์ได้สั่นคลอนรากฐานของบรรดาสถาบันทางศิลปะ ทั้งที่อยู่บนเกาะและที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่ และบังคับพวกเขาให้เปิดประตูต้อนรับศิลปินเหล่านี้ ผู้แกร่วรออยู่ที่ชายขอบโลกศิลปะมาเนิ่นนานแล้ว

เหล่าศิลปินผู้สร้างงานทัศนศิลป์แบบแอฟโฟรต่างก็เคยเผชิญหน้ากับอคติสุดคลาสสิกที่พบเจอได้บ่อย ๆ ในพื้นที่พิพิธภัณฑ์และแกลเลอรี พวกเขาเผชิญหน้ากับระบบนิยมชายเป็นใหญ่และทัศนคติการมองยุโรปเป็นศูนย์กลางแบบผูกขาด รวมไปถึงการต้องเผชิญหน้ากับผลงานที่ผลิตซ้ำวงจรเหล่านั้น ในผลงานหลาย ๆ ชิ้น พวกเขา (ทำเป็น) เชิดชูคนดำด้วยการมอบบทบาทการเป็นเครื่องเตือนใจถึงระบบทาสและการเหยียดเชื้อชาติอันแสนสยดสยอง แต่ศิลปะแอฟโฟรโปริกัวได้ก้าวเข้ามาจัดวางตำแหน่งใหม่ให้กับร่างกายของคนดำเหล่านั้น ด้วยการสร้างตำแหน่งแห่งที่ภายใต้ระบบการอ้างอิงเรื่องราวของตัวเอง ร่างกายเหล่านั้นจึงเป็นร่างกายที่ถูกใส่เข้าไปในพื้นที่แห่งปฏิสัมพันธ์ที่อยู่ในจักรวาลเรื่องราวของตัวเอง ชุมชนของตัวเอง และรากเหง้าของตัวเอง การจัดสรรพื้นที่ใหม่นี้ชวนผู้ชมเข้าไปอ่านประวัติศาสตร์ จริยศาสตร์ และสุนทรียศาสตร์ในเปอร์โตริโกในแง่มุมใหม่ ผ่านมุมมองจากประสบการณ์และความทรงจำของการเหยียดเชื้อชาติและการสร้างเชื้อชาติ (racialization) ในบริบทของวัฒนธรรมเปอร์โตริกัน

การแสดงของ อวิลดา สเตอร์ลิง-ดูเปรย์ ที่ชื่อว่า I am the reincarnation of an enslaved soul (2021-22) (2021-22) และ Maestra Sterling re-envisions Goyita (1953) ที่นำเสนอผลงานของ ราฟาเอล ตูฟิโน ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ผู้วาดภาพแม่ของตัวเองอย่าง เกรกอเรีย ฟิเกอโร สิ่งที่สเตอร์ลิง-ดูเปรย์ทำก็คือการโยนภาพวาดแม่ของตูฟิโนนี้เข้าไปในเงื่อนไขของสังคมเปอร์โตริโกร่วมสมัย เมื่อแบบแผนการพัฒนาที่ถูกยัดเยียดโดยอาณานิคมสหรัฐอเมริกากลับล้มเหลวลง ในการแสดงนี้ ตัวบท (narrative) ที่เป็นรากฐานให้ศิลปะแอฟโฟรโปริกัวได้ปรากฏตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้น เผยให้เห็นการทำงานของการเหยียดเชื้อชาติและการบังคับควบรวมอัตลักษณ์แอฟโฟร-ละติเน็กซ์เข้ากับโปริกัว และระบบความคิดที่ใช้ในการสถาปนาอาณานิคมเหนือคนเปอร์โตริกันและคนพลัดถิ่น การเผยตัวของสิ่งเหล่านี้ได้เปิดให้เห็นประเด็นใหญ่อันแสนสำคัญ นั่นก็คือ ความเป็นทาสไม่เคยจบลงหรือหายไปไหน

ประเด็นเหล่านี้ถูกหยิบยกขึ้นมานำเสนอเช่นกันในผลงานของ เบรนดา ตอร์เรส-ฟิเกอโร (Brenda Torres-Figueroa), เบรนดา ครูซ (Brenda Cruz), เดอยาเนรา ลูเซโร มัลดอนโด (Deyaneira Lucero Maldondo) และ ลาส นีเตส เดอ โนน (Las Nietas de Nonó) สิ่งที่เคยเป็นเพียงฉากหลังของตัวตนของศิลปินอย่าง บรรพบุรุษ/ชุมชน กลับถูกยกขึ้นมาถ่ายทอดเป็นฉากหน้า ผ่านการนำเสนอร่างของมายอเรสและมายอราส (Mayores and Mayoras) — ย่ายาย, ป้า, สหาย, แม่ทูนหัว, ผู้ปกครอง, และพ่อทูนหัว — ในรูปแบบที่จับต้องได้ พาพวกเขาเข้ามาอยู่ในร่างใหม่ ในรูปของประวัติศาสตร์ส่วนตัว/ส่วนครอบครัว และ/หรือในร่างกายของศิลปิน ในแง่นี้ พวกเขานำเสนอสายสัมพันธ์ของครอบครัว/ชุมชน ในฐานะรากฐานที่ร่วมกันประกอบสร้างตัวตนของปัจเจกชน (subject) ทำให้เกิดการกอบกู้อัตลักษณ์แอฟโฟรแคริบเบียนที่เคยถูกลบล้างไปโดยประวัติศาสตร์กระแสหลักและวาทกรรมแบบยุโรปเป็นศูนย์กลาง การนำเสนอการประกอบสร้างขึ้นของตัวตนในผลงานของสเตอร์ลิง- ดูเปรย์, ครูซ, ตอร์เรส- ฟิเกอโร, มูโลวายี, และมาเปนซี ได้สอดแทรกตัวเองเข้าไปใหม่ ในพื้นที่ของร่างกาย ประสบการณ์ และในความทรงจำ ทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์ การเมือง และเขื้อชาติ ที่ยังไม่ได้ “ปราชัย” ตามคำนิยามความหมายเรื่องเวลาและประวัติศาสตร์แบบสมัยใหม่ แต่ยังคงมีชีวิตอยู่ใน (และจาก) พื้นที่ของร่างกาย การนำเสนอตัวตนที่ถูกประกอบสร้างขึ้นนี้ได้เผยให้เห็นความสัมพันธ์ของปัจเจกชนกับสิ่งรายลอมซึ่งโยงใย แตกกระจาย ทวีคูณ และสร้างสรรค์ อีกทั้งยังนำเสนอการดำรงอยู่ของความทรงจำที่ถูกฝังเอาไว้ ซึ่งถูกปลุกขึ้นมาด้วยเสียง การเคลื่อนไหว และการทำให้เป็นภาพ (visualizing) ของงานศิลปะ

ในแง่นี้ งานศิลปะจึงทำหน้าที่เสมือนประตูสู่ประสบการณ์ กลวิธีการเล่าเรื่องในรูปแบบของงานศิลปะจึงก่อให้เกิดการเชื่อมโยงที่ลึกซึ้งของประวัติศาสตร์และตัวตนที่ทบทวีคูณ …แม้จะมีสภาวะชั่วคราว แต่ก็เปี่ยมด้วยความหมาย การประกอบสร้างนี้ได้ทุบแนวคิดเดิม ๆ เกี่ยวกับศิลปะในฐานะวัตถุสำหรับซื้อขายที่ต้องการการรับรองโดยพิพิธภัณฑ์และแกลเลอรีให้แตกเป็นเสี่ยง ๆ และนิยามทัศนศิลป์แอฟโฟรในสถานะใหม่ ในฐานะกระบวนการที่เป็นทั้งเรื่องของชุมชนและครอบครัว ในความสัมพันธ์กับประสบการณ์ของคนอื่น รวมทั้งแผ่นดินในฐานะพื้นที่แห่งการมอบคำนิยามใหม่ให้การดำรงอยู่และอัตลักษณ์

ชุดแนวคิดภายใต้ประเด็นดังกล่าวยังเป็นแก่นของงานศิลปะและงานจัดแสดงอันหลากหลายโดยศิลปินอย่าง เปป็อง โอโซริโอ (Pepón Osorio), ดิโอจิเนส บัลเลสเตอร์ (Diógenes Ballester), อิมนา อาร์โรโย (Imna Arroyo), เซลโซ กอนซาเลซ (Celso González), โฮเซ อาร์ตูโร (José Arturo), บัลเลสเตอร์ พาเนล ( Ballester Panell) รวมถึงผลงานภาพวาดและภาพฝาผนังของนูโยริกัน, ศิลปินกราฟิตี ฮวน ซานเชซ (Juan Sánchez), หน้ากากของ ฮวน ปาโบล วิซเคโน (Juan Pablo Vizcaíno) และ ประติมากรรมสื่อผสมของ ดาเนียล ลินด์-รามอส (Daniel Lind-Ramos) จุดร่วมกันของงานเหล่านี้คือการยึดครองพื้นที่ (ไม่ว่าจะเป็นที่สาธารณะ พื้นที่ทางเลือก หรือในพิพิธภัณฑ์) ด้วยการนำเสนอแนวทางทางศิลปะ พวกเขานำเสนอทัศนศิลป์ในเปอร์โตริโกในฐานะหนทางสู่การกลับไปเชื่อมต่อกับสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ และความทรงจำ ซึ่งทั้งหมดนี้คือองค์ประกอบที่เลือนหายไปภายใต้กระบวนการสร้างเชื้อชาติ ปฏิบัติการเหล่านี้ต่อต้านความเป็นสองมิติของภาพถ่ายหรือภาพวาด การใช้วัสดุจากธรรมชาติที่พบเจอได้ทั่วไปและไม่คงทน คือการยืนยันถึงความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะกับชีวิตและชุมชน การใช้วัสดุเหล่านี้ทำให้ศิลปินมองเห็นเกาะ-หมู่เกาะ เพื่อนบ้าน และชานเมืองของพวกเขา และจากตรงนั้นจึงนำมาสู่การก่อร่างสุนทรียศาสตร์แอฟโฟรโปริกัวใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างวัตถุเพื่อใช้ในการสืบทอดตัวตน

ผลงานที่สร้างจากวัสดุเหล่านี้ได้โยนความหมายใหม่เข้ามาในการเล่าเรื่องของศิลปินเหล่านี้ และให้คำนิยามใหม่ในประเด็นเรื่องความงาม วัตถุเหล่าที่ใช้ในงานเหล่านี้กลับเปล่งเสียงบอกเล่าเรื่องราวใหม่ ไม่ว่าจะเป็น เก้าอี้ตัดผม ใบไม้ เม็ดสี ใยธรรมชาติ พวกมันถูกนำมาใช้ไม่ใช่แค่ในฐานะของ ‘ยารักษา’ แต่ยังเป็นกระบวนการเยียวยาฟื้นฟูภายหลังกระบวนการสร้างเชื้อชาติและการกีดกันทางสังคมอีกด้วย

นอกจากนี้ การใช้ภาพถ่ายครอบครัว จดหมาย วิดีโอ และสิ่งของจากชีวิตส่วนตัวและรากที่มาของศิลปิน ยังเป็นสัญลักษณ์แทน “พวกพ้องของฉันจากที่ที่ฉันเติบโตมา” ซึ่งแทนที่จะรับเอาแนวคิดแบบมานุษยวิทยาหรือสังคมวิทยา ซึ่งเป็นแนวคิดที่มองจากข้างนอกมาใช้ ศิลปินกลับสร้างมุมมองใหม่ที่เป็นการมองจากภายใน ปั่นป่วนกระบวนทัศน์ของคนนอกที่มองคนเหล่านี้ด้วยภาพลักษณ์แบบ 'คนเถื่อน' มุมมองในลักษณะดังกล่าวทำให้เกิดการหลีกหนีจากการโรแมนติไซส์ความหมายของธรรมชาติแบบที่เป็นผืนดินเปล่า ๆ แล้วไปยึดโยงกับมุมมองอันศักดิ์สิทธิ์ของทุกสิ่งมีชีวิตที่โยงใยกัน ในทางตรงกันข้าม มุมมองจากภายในนี้กลับพยายามที่จะนิยามความเป็นมนุษย์ในแบบใหม่ ไม่ใช่แค่ในฐานะผู้นำการพัฒนาเท่านั้น แต่ในฐานะพลังทางธรรมชาติ ที่ผสานกลมเกลียวอยู่กับทุก ๆ สิ่ง

ประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ การทำความเข้าใจว่าสุนทรียศาสตร์แอฟโฟร-โปริกัวในปัจจุบันถูกถักทอขึ้นมาด้วยสามองค์ประกอบด้วยกัน นั่นก็คือ ร่างกายและการหาพื้นที่ดำรงใหม่ ภาษาของจิตวิญญาณแบบแอฟโฟรและธรรมชาติ และภาษาที่ถือกำเนิดขึ้นจากการอพยพของชาวแอฟโฟร-โปริกัวไปยังตอนเหนือของสหรัฐฯ สามองค์ประกอบนี้ เมื่อรวมเข้ากับการปะทะกับสังคมร่วมสมัย ได้ก่อให้เกิดความหมายของการเยียวยาที่เป็นไปได้ นี่คือขบวนการทางความคิดที่ไม่มีสิ่งใดมาฉุดรั้งได้ ทางเลือกใหม่ของความสร้างสรรค์ทางศิลปะที่ทำให้เรามองเห็นโลกในมุมใหม่ ท่ามกลางข้อจำกัดจากการสร้างเชื้อชาติของวงการศิลปะดั้งเดิมทั้งบนเกาะและนอกเกาะ มันคือความเป็นจริงอีกรูปแบบหนึ่งที่กำลังเบียดแทรกตัวเองขึ้นมา ซึ่งในสุดท้ายจะประสบความสำเร็จ และจะขยายโลกแห่งการมองเห็น (visual world) ในโลกของเรา เพื่อจะโอบรับโลกอื่น ๆ อีกมากมาย