ในภาษาของคอมพิวเตอร์ การกดแป้นพิมพ์ ‘Ctrl’ และ ‘R’ พร้อม ๆ กันอาจเป็นคีย์ลัดที่ช่วยให้เราสามารถ ‘รีเฟรช’ หน้าจอได้อย่างรวดเร็ว แต่สำหรับแวดวงสิ่งแวดล้อมและความคิดสร้างสรรค์ในประเทศไทยแล้ว ‘Ctrl+R’ คือชื่อของกลุ่มก้อนคนรุ่นใหม่ที่อยาก ‘รีเฟรช’ ความเข้าใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมแบบเดิม ๆ แล้วชวนเราไปเริ่มต้นบทสนทนาใหม่ ๆ เพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน 
.

ในภาษาของคอมพิวเตอร์ การกดแป้นพิมพ์ ‘Ctrl’ และ ‘R’ พร้อม ๆ กันอาจเป็นคีย์ลัดที่ช่วยให้เราสามารถ ‘รีเฟรช’ หน้าจอได้อย่างรวดเร็ว แต่สำหรับแวดวงสิ่งแวดล้อมและความคิดสร้างสรรค์ในประเทศไทยแล้ว ‘Ctrl+R’ คือชื่อของกลุ่มก้อนคนรุ่นใหม่ที่อยาก ‘รีเฟรช’ ความเข้าใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมแบบเดิม ๆ แล้วชวนเราไปเริ่มต้นบทสนทนาใหม่ ๆ เพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน .

Ctrl+R Collective กดปุ่ม ‘รีเฟรช’ ความเข้าใจแบบเดิม ๆ แล้วไปพูดคุยกับกลุ่มคนสร้างสรรค์ที่อยากเริ่มต้นบทสนทนาเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน

ในภาษาของคอมพิวเตอร์ การกดแป้นพิมพ์ ‘Ctrl’ และ ‘R’ พร้อม ๆ กันอาจเป็นคีย์ลัดที่ช่วยให้เราสามารถ ‘รีเฟรช’ หน้าจอได้อย่างรวดเร็ว แต่สำหรับแวดวงสิ่งแวดล้อมและความคิดสร้างสรรค์ในประเทศไทยแล้ว ‘Ctrl+R’ คือชื่อของกลุ่มก้อนคนรุ่นใหม่ที่อยาก ‘รีเฟรช’ ความเข้าใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมแบบเดิม ๆ แล้วชวนเราไปเริ่มต้นบทสนทนาใหม่ ๆ เพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน

Ctrl+R Collective ไม่ใช่การรวมตัวกันของผู้เชี่ยวชาญในสาขาใดสาขาหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นการทำงานข้ามศาสตร์ระหว่างคนทำงานจากหลากหลายสาขา ที่ตั้งใจมาร่วมคิดค้น เรียนรู้ สื่อสาร และสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนไปสู่อนาคตแห่งการฟื้นฟูสมดุลระหว่างมนุษย์และธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยสมาชิกในกลุ่มทั้งแปดคนก็มีผลงานและความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย ตั้งแต่สายออกแบบผลิตภัณฑ์ แฟชั่น สิ่งทอ สถาปัตยกรรม วัสดุศาสตร์ อาหารและเครื่องดื่ม ไปจนถึงจิตวิญญาณและความเป็นอยู่ที่ดี (wellness)

ถึงแม้เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567 หรือ Bangkok Design Week 2024 (BKKDW2024) จะปิดฉากลงไปหลายสัปดาห์แล้ว แต่งาน Regenerative Commodities: Exhibition and Experience ที่เปิดตัวมาพร้อม ๆ กันยังไม่จบง่าย ๆ แค่นั้น เพราะกิจกรรมดี ๆ ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการ เวิร์คช็อป เวทีเสวนา และตลาดป็อปอัพที่ชาว Ctrl+R Collective ได้รวบรวมมาให้พวกเขาได้เลือกเข้าร่วมจะมีไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ Slowcombo สามย่าน

งาน Regenerative Commodities: Exhibition and Experience จัดแสดงผลงานของสมาชิกทั้งแปดคน ผ่านการออกแบบ ทดลอง และตั้งคำถามถึงสิ่งของรอบตัวในชีวิตประจำวัน ที่แม้จะดูธรรมดาสามัญ แต่ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มต้นได้ง่าย ๆ และใกล้ตัวพวกเรามากที่สุด

แต่ก่อนจะไปพูดคุยกันแบบลงลึก เราอยากชวนทุกคนไปทำความรู้จักกับแนวคิดและผลงานที่สมาชิกแต่ละคนนำเสนอภายในงาน Regenerative Commodities: Exhibition and Experience กันก่อน

เริ่มที่ เยล-อัญญา เมืองโคตร นักออกแบบที่แฟนตัวจริงของ GroundControl อาจจะรู้สึกคุ้นเคยกันมาบ้าง เพราะเราเคยพูดคุยกับเธอมาแล้วถึงสองครั้ง จากทั้ง Spirulina Society โปรเจกต์อาหารแห่งโลกอนาคตอย่างสาหร่ายสปิรูลิน่า ที่เธอนำเทคนิค 3D Printing เข้ามาสร้างสรรค์เป็นผลงานออกแบบหลากหลายรูปแบบการใช้งาน และ Regen Districts โปรเจกต์ที่ต่อยอดแนวคิดเรื่องวัสดุชีวภาพ (Biomaterial) จากเรื่องยากที่แค่ฟังก็ดูไกลตัวสุด ๆ มาสู่การเป็นเรื่องง่าย ๆ ใกล้ตัว ที่แม้แต่ขยะเศษอาหารในครัวหลังบ้านก็ทำได้

ในงานนี้ เยล-อัญญากลับมาพร้อมกับผลงานถึงสองชุดด้วยกัน ชุดแรกคือ SIP-SWIG-SWILL: Sipping Mindfully, Drinking Carelessly ชุดแก้วน้ำดื่มจากโปรเจกต์ Spirulina Society ของเธอที่คราวนี้นอกจากจะถูกนำมาจัดแสดงที่บริเวณส่วนนิทรรศการด้านบนชั้น 3 แล้ว ยังถูกนำไปใช้งานจริงใน Regenerative Bar ป็อปอัพบาร์โดย Wasteland ที่บริเวณชั้น 1 ด้วย

ผลงานอีกหนึ่งชุดที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ MYCELIUM UNITES!: Retrieve, Reconstruct, Regenerate ที่เธอและจีโน่-มาฆวีร์ สุขวัฒโน อีกหนึ่งสมาชิกของ Ctrl+R Collective ไปจับมือทำงานร่วมกับ Mush Composites จนเกิดเป็นนวัตกรรมวัสดุคอมโพสิตจากเส้นใยไมซีเลียมของเห็ด ซึ่งถือเป็นก้าวแรกในการพัฒนาวัสดุทางเลือก ที่ทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและพลังงานในการผลิต อีกทั้งยังมีน้ำหนักเบา ไม่ลามไฟ ทนน้ำ และสามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้โดยไม่ทิ้งสารพิษลงสู่สิ่งแวดล้อมรอบข้างด้วย

อีกหนึ่งนักออกแบบที่ให้ความสำคัญเรื่องวัสดุคือนักออกแบบที่มีพื้นฐานในด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบตกแต่งภายในอย่าง ฟ้าใส-หัสมา จันทรัตนา ที่คราวนี้มาพร้อมกับ SALVAGE SYSTEM A Manifesto, A Tactile Exploration, An Invitation ผลงานศิลปะจัดวางที่นำเศษขยะจากการก่อสร้างและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างมาผ่านกระบวนการแปรรูปที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ เปลี่ยนแปลงเศษฝุ่งผลที่ไร้ค่าให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

ส่วน บาส-จิระวุฒิ จันเกษม นักวัสดุศาสตร์ และ อัน-อภิสรา ห่อไพศาล นักออกแบบผลิตภัณฑ์ จาก MORE ก็ชวนเราไปหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ โดยทิ้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยสุด ใน EXTRUDE: Exploring the Possibility of Using Post-Consumer Recycled Plastic Pipe พวกเขาทดลองขึ้นรูปท่อจากพลาสติกรีไซเคิลด้วยเทคนิคต่าง ๆ จนได้ออกมาเป็นผลลัพธ์ที่หลากหลาย

นอกจากจะเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ที่ผ่านงานทั้งในไทยและต่างประเทศมาแล้ว อาย-ไอริณ ปุรสาชิต ยังทำร้านรับจัดดอกไม้กับเพื่อนด้วย นี่คือจุดเริ่มต้นของ Flower Matter โปรเจกต์ที่เธอตั้งใจทำขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาขยะในอุตสหกรรมดอกไม้ที่เธอได้พบเห็นมาอย่างยาวนาน เกิดเป็น FLOWERS / NON FLOWERS: A Collection of Unconventional Floral Containers from Flower Waste โปรเจกต์สร้างสรรค์ Bio-Floral Foam จากเศษดอกไม้เหลือทิ้ง 100% ที่จะเข้ามาแทนที่ ‘โฟมโอเอซิส’ แบบเดิม ๆ ที่ทิ้งเศษไมโครพลาสติกลงปนเปื้อนในธรรมชาติ

ไม่ใช่แค่ผลงาน Bio-Floral Foam เท่านั้น แต่งานนี้เธอยังไปจับมือกับทีม MORE ในการสร้างสรรค์แจกันจากเส้นพิมพ์ 3D Printing ผสมผงสีจากเศษดอกไม้ รวมไปถึง ก้อง-พิชชากร มีเดช นักออกแบบผู้ก่อตั้ง Pica Pen ที่มาช่วยสำรวจอีกแง่มุมของดอกไม้ผ่านรูปแบบงานฝีมือ

จากการเดินทางไปสัมผัสความร่มเย็นแต่แสนอบอุ่นของธรรมชาติ มาสู่แรงบันดาลใจที่ อุ้ง-กมลนาถ องค์วรรณดี นักออกแบบสิ่งทอ และนักเคลื่อนไหวด้านสโลว์แฟชั่นจาก Fashion Revolution Thailand ได้รับจากการเดินทางไปยังหุบเขา แม่น้ำน้ำขาน บ้านสบลาน ในปี 2563 ผลงาน MUTUAL BEING: Slow Down, Sit Still, Connect With the Land Where You Are พาเรากลับไปรับพลังแห่งการฟื้นฟู ปลอบโยน และเชื่อมโยงกับธรรมชาติอีกครั้ง ผ่านสีสันและเส้นใยของพืชและสมุนไพรท้องถิ่น

และนักสร้างสรรค์คนสุดท้ายอย่าง ท็อท-ธรัฐ หุ่นจำลอง จาก Wasteland ที่แม้จะไม่ได้มีพื้นเพมาจากแวดวงออกแบบ แต่ก็นำประสบการณ์ที่คลุกคลีอยู่ในวงการอาหารและเครื่องดื่มเชิงยั่งยืนอย่างยาวนานมาถ่ายทอดใน FOOD LID: A Public Exploration of Food Literacy, Hospitality, and Participatory ที่ชวนเรามาตั้งคำถามถึง ‘Regenerative Food’ และ ‘Regenerative Hospitality’ ว่าจะสามารถพาเราไปสู่อนาคตแห่งการฟื้นฟูได้อย่างไร ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และตอบแบบสอบถามในหัวข้อ ‘Food Literacy’

ด้วยพื้นฐานและความถนัดของสมาชิกแต่ละคนที่มีความหลากหลาย ตั้งแต่วงการออกแบบ ไปจนถึงอาหารและเครื่องดื่ม ทำให้ชาว Ctrl+R Collective ดูจะมีความแข็งแกร่งในการทำงานข้ามศาสตร์ที่ผสมผสานมุมมองจากหลากหลายแวดวงมาจุดประกายให้เกิดบทสนทนาใหม่ ๆ ต่อสิ่งของรอบตัวธรรมดา ๆ ที่เราเคยมองข้ามไป

เยล-อัญญา: พอพวกเราทุกคนมาจากหลากหลายแวดวง สิ่งเหล่านี้มันก็เลยไม่ได้แสดงออกแค่ผ่านตัวงานที่เราเอามาจัดแสดงร่วมกันในนิทรรศการเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นภายในงานด้วย เราก็พยายามคัดสรรคนจากหลากหลายพื้นฐานที่มีมุมมองที่แตกต่างกันมาพูดคุยกัน ดังนั้น เรามองว่า ถ้าเรารวบรวมมาแค่คนที่ทำงานเหมือน ๆ กัน สุดท้ายแล้วประเด็นเหล่านี้มันก็จะไม่สามารถขยายขอบเขตไปได้ไกลกว่าที่เคย ๆ ถกเถียงกัน เราไม่อยากให้มันเป็น ‘echo chamber’ ที่สะท้อนแต่บทสนทนาแบบเดิม ๆ เรารู้สึกว่า การพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมมันก็ยิ่งใหญ่มาก จะให้วงการใดวงการหนึ่งมาขับเคลื่อนเพียงลำพังมันคงไม่พอ ทุกวงการต้องมาร่วมมือกันทำมันไปพร้อม ๆ กัน

อาย-ไอริณ: นอกจากความหลากหลายของแต่ละคนแล้ว กิจกรรมต่าง ๆ ที่เราตั้งใจเอามาลงในงานครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเวิร์คช็อปหรือการเสวนา ก็จะมีประเด็นที่ไปไกลมากกว่าแค่กรอบของงานออกแบบ เพราะเรามองว่า มันคืองานสร้างสรรค์ทุกอย่าง

“ภารกิจของเราคือการจุดประกายให้เกิดการสนทนาเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องการฟื้นฟู ซึ่งไปไกลนอกเหนือจากแค่การลดอันตราย ไปสู่การซ่อมแซมและให้ชีวิตใหม่กับสภาพแวดล้อมของเราอย่างจริงจัง” นี่คือคำมั่นที่ชาว Ctrl+R Collective ได้เขียนไว้บนหน้าเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของพวกเขา

อาย-ไอริณ: จริงๆคำว่า ‘Regenerative Design (การออกแบบเชิงฟื้นฟู)’ มันค่อนข้างใหม่และยังไม่ค่อยมีคนที่จะพูดมากนัก แม้แต่การแปลมาเป็นภาษาไทยก็ยังอธิบายได้ยากมาก อย่างที่บอกว่า สมาชิกในกลุ่มเราเองก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญขนาดนั้น เพราะฉะนั้น เป้าหมายของงานนี้มันเลยไม่ใช่การที่จะมาบอกว่า อนาคตของการฟื้นฟูเหล่านี้คืออะไร หรือต้องทำอย่างไร แต่มันคือการที่พวกเราทุกคนกำลังพยายามเดินไปหาอนาคตที่อาจจะต้องลองก้าวข้ามแค่แนวคิดการ ‘reduce, reuse, recycle’ ไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่ไม่ดีนะ จริง ๆ มันก็คือสับเซตหนึ่งของการจะก้าวไปหาอนาคตข้างหน้านี่แหละ แต่เราอยากเห็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เราได้มานั่งคุยกันร่วมกันถึงอนาคตที่จะมุ่งไปสู่การฟื้นฟูเลยจริง ๆ มันสามารถทำอะไรได้บ้าง แล้วตอนนี้มีใครกำลังทำงานแบบไหนที่จะพาเราไปสู่อนาคตแบบอยู่บ้าง

ท็อท-ธรัฐ: นอกจากเรื่องแนวคิดตรงนี้แล้ว เรามองว่า แม้แต่การทำงานในรูปแบบ collective แบบนี้เองก็ยังเป็นหนึ่งในวิถีและรูปแบบการทำงานที่จะพาเราไปสู่อนาคตของการฟื้นฟูอย่างแท้จริง เพราะมันคือการร่วมมือกันสร้างสรรค์ ไม่ใช่การแยกกันทำ ซึ่งคำว่า collective ในที่นี้ของเราอาจไม่ได้หมายถึงกลุ่มก้อนของบุคคลแบบเราที่มารวมตัวกันทำงานเท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงการรวมกลุ่มกันของภาคสังคมด้วย

นอกจากกิจกรรม Live Painting & Printmaking Activity with Colors from Waste ที่พวกเราชาว GroundControl ไปจับมือกับชาว Ctrl+R Collective และ Pineapple Print Press Studio และชักชวนศิลปินรุ่นใหม่จากโครงการ Artist on Our Radar อย่าง My Mayo มาวาดภาพจากสี Biomaterial กันแบบสด ๆ ในวันที่ 27 - 28 มกราคมที่ผ่านมาแล้ว ภายในงาน Regenerative Commodities: Exhibition and Experience ยังมีอีกหลากหลายสปอนเซอร์และพาร์ทเนอร์จากภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันไปสู่อนาคตแห่งการฟื้นฟูในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น Practika, Sivatel, Central, Creative Economy Agency (CEA), Soho House Bangkok, MORE, Dot Print Studio รวมไปถึงสถานที่จัดงาน Slowcombo เอง

แม้จะเป็นเพียงก้าวเล็ก ๆ ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น แต่สิ่งเหล่านี้ก็ถือเป็นสัญญาณดี ที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของภาคเอกชนที่เริ่มเห็นความสำคัญของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่หลงลืมสภาพแวดล้อมในระยะยาวด้วย

ท็อท-ธรัฐ: ในแวดวงสิ่งแวดล้อมเนี่ย ส่วนใหญ่ถ้าไม่เนิร์ดจัดไปเลย เขาก็จะแอบแบ่งแยกกลายเป็นคนดีกับคนไม่ดี เรามองว่า ทัศนคติแบบนี้มันถึงดึงคนเข้ามาไม่ได้สักที ยิ่งภาพของการรักษ์โลกที่คนส่วนให ญ่เข้าใจยังถูกผูกอยู่กับภาพลักษณ์แบบฮิปปี้ คือถ้าเป็นคนรักษ์โลกก็ไม่พ้นลุคประมาณนี้ ซึ่งในความจริงแล้วมันไม่ใช่เลย อย่างในแง่ของงานออกแบบมันไม่จำเป็นต้องเป็นถุงกระดาษสีน้ำตาลเสมอไปก็ได้ มันสามารถเป็นกระดาษที่ดูสวยงามแล้วก็ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กันได้

เยล-อัญญา: ในการทำงานในแวดวงออกแบบ เราก็ยอมรับว่า เวลาเราจะสื่อสารกับคนอื่นมันก็ต้องเริ่มจากสุนทรียะที่สวยงามก่อน ซึ่งมันก็มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เรารู้สึกล้มเหลวเหมือนกันนะ ตอนนั้นเราตั้งคำถามว่า ทำไมคนถึงมองหาแต่ความสวยงามอย่างเดียว แต่สุดท้ายแล้ว ตอนนี้เราก็เข้าใจว่า สิ่งเหล่านี้มันเป็นเรื่องปกติมาก ๆ ในฐานะนักออกแบบ เราเองก็สามารถจะดึงดูดผู้คนด้วยความสวยงามก่อน แล้วค่อยพาเขาไปเรียนรู้ทีหลังว่า ของแต่ละชิ้นพวกนี้มันมีเรื่องราวและกระบวนการเบื้องหลังอย่างไรบ้างได้เช่นกัน เราไม่อยากจะเดินไปบอกเขาว่า “ฉัน ‘กรีน’ ซื้อฉันสิ!” เราไม่อยากจะเข้าถึงผู้คนส่วนใหญ่ในรูปแบบนั้น

ฟังดูแล้วพันธกิจของ Ctrl+R Collective อาจจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วเหมือนกับการกดรีเฟรชบนแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ที่แค่กดคีย์ลัดแปบ ๆ ทุกสิ่งก็ถูกดาวน์โหลดขึ้นมาใหม่อย่างง่ายดาย แต่ที่แน่ ๆ มันคือก้าวสำคัญของกลุ่มคนตัวเล็ก ๆ ที่เชื่อว่า เราทุกคนเองก็สามารถสร้างอนาคตแห่งความเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ๆ แม้จะเริ่มต้นจากจุดที่เล็กที่สุดก็ตาม

📍 Regenerative Commodities: Exhibition and Experience วันนี้ - วันอาทิตย์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 Slowcombo สามย่าน

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม: https://ctrlr.cc/ https://www.instagram.com/ctrlr.collective/ https://www.facebook.com/ctrlr.collective