ล้อมวงฟัง 12 ศิลปินรุ่นใหม่เขาคุยกัน ว่าด้วยความฝันและความสำคัญของการสร้าง ‘พื้นที่’ เพื่อเติบโตในแบบของตัวเอง
เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา GroundControl ได้จัดนิทรรศการ ‘Artists on Our Radar’ ที่ทำให้เราได้มาเจอกับ 12 ศิลปินรุ่นใหม่ที่มาแรงสุด ๆ และเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมาก ๆ สำหรับพวกเราที่เฝ้าติดตามผลงานของพวกเขาผ่านหน้าจอมาตลอด
แต่สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้ผลงานของพวกเขาก็คือบทสนทนาในฐานะศิลปินรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ (และอาจแฝงด้วยน้ำตา) ของคนทำงานศิลปะรุ่นใหม่ ที่มีไฟ แต่พื้นที่ปล่อยของในสังคมมีจำกัดเหลือเกิน
นี่ไม่ใช่วงปรับทุกข์ ถึงแม้บางช่วงอาจจะฟังดูขมขื่นไปบ้าง แต่ก็คือมุมมองและประสบการณ์ ของศิลปินรุ่นใหม่ที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานของตัวเอง การค้นหาเส้นทางการพัฒนาคอนเซปต์ และการดูแลคาแรกเตอร์ที่พวกเขาสร้างขึ้นมา จนพัฒนาไปเป็นอะไรได้เกินกว่าที่คาดไว้
แม้จะมีบางช่วงที่ชีวิตการเป็นศิลปินจะไม่ง่ายดังฝัน แต่ก็อาจมีบางช่วงบางตอนของบทสนทนาที่อาจจะกระตุ้นแรงใจให้ใครหลายคนที่กำลังมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองเช่นกัน และเราหวังว่าบทสนทนานี้จะช่วยหล่อเลี้ยงความฝันให้ทุก ๆ คนยังตั้งใจทำงานในแบบของตัวเองต่อไป
ถ้าอ่านบทความนี้แล้วสนใจ ก็มาชมผลงานของทั้ง 12 คนได้ที่นิทรรศการ ‘Artists on Our Radar’ กันได้ ตั้งแต่วันนี้ - 17 มี.ค. 2567 ณ MMAD MASS GALLERY ชั้น 2 โซน MMAD, ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์
มาเจอกันที่นิทรรศการ ในวันที่งานศิลปะหาดูได้ทั่วไปในหน้าฟีด
ในยุคที่เราเปิดมือถือมาก็เห็นภาพผลงานของศิลปินต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย เรายังเชื่อมั่นในการสร้างพื้นที่ที่ไม่ใช่เพียงพาศิลปินมาเจอกับผู้ชมเท่านั้น แต่ยังพาศิลปินมาพบกัน และพาผลงานของศิลปินมาต่อบทสนทนากับผลงานของศิลปินอีกคน เช่นเดียวกับศิลปินทั้ง 12 คนนี้ ที่บางคนก็เพิ่งเคยจัดแสดงผลงานของตัวเองเป็นครั้งแรก
“ก่อนหน้านี้ก็ไม่ค่อยมั่นใจเหมือนกัน พอได้นำผลงานของตัวเองมาจัดแสดงจริง ๆ ก็รู้สึกว่าไปต่อได้แบบมั่นคง ความมั่นใจมันเพิ่มขึ้นมาเยอะมาก” KAMEIS (ชนม์นิภา สีเหลือง) เจ้าของภาพแมวและลวดลายดอกไม้สไตล์เท่ เล่าถึงความรู้สึกของการจัดแสดงผลงานในพื้นที่ออนกราวด์ครั้งแรก ซึ่งแม้ว่าเธอจะเป็นนักวาดที่ทำงานมานาน แต่ก็ยอมรับว่าการมาจัดนิทรรศการเป็นเรื่องใหม่ที่มีต้องเรียนรู้ และขยายขอบเขตความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานศิลปะของตัวเองออกไปอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการกระบวนการพัฒนาคอนเซปต์ก่อนเริ่มลงมือทำงานจริง ไปจนถึงการทำงานกับโรงพิมพ์เพื่อเตรียมผลงานให้เข้ากับพื้นที่
เช่นเดียวกันกับ Sleepybeee (แก้วขวัญฟ้า โปร่งเจริญ) ศิลปินลายเส้นพริ้วไหว ที่เพิ่งเคยจัดแสดงผลงานในนิทรรศการเป็นครั้งแรกเช่นกัน ซึ่งก็เป็นการเปิดโอกาสให้เธอได้เข้ามาทดลองทำอะไรใหม่ ๆ แตกต่างออกไปจากเดิม “ปกติไม่เคยทำงานเกี่ยวกับพวกแกลเลอรีเลย พอเข้ามาเห็นก็รู้สึกตื่นเต้นมาก” เธอเล่า “คอลเลกชันนี้เป็นชิ้นแรกที่ไม่ใช่จิตรกรรม (painting) ก็เหมือนได้ลองอะไรใหม่ ๆ ให้กล้าทำมากขึ้น แล้วพอมาดูงานที่ติดตั้งร่วมกันมันก็เห็นความแตกต่างของแต่ละคน ซึ่งออกมาดูเข้ากัน ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการทำงาน ได้แรงบันดาลใจจากเพื่อน ๆ ว่าเขามีมุมมองในการทำงานศิลปะ ถ่ายทอดออกมายังไง แล้วก็ได้ปั่นงานช่วงปีใหม่ (หัวเราะ) สนุกดี เป็นประสบการณ์ที่ดี”
“ประทับใจงานของทุก ๆ คนเลย” JARB (มงคล ศรีธนาวิโรจน์) ผู้พาเราย้อนไปยุค 80 กับภาพวาดกลิ่นอายซิตีป็อป ก็เห็นด้วยในแบบเดียวกัน “ในแง่หนึ่งคือเราไม่ค่อยได้มาแสดงงานอะไรแบบนี้ด้วย ส่วนใหญ่จะลงทางโซเชียล ก็ถือว่าได้มาเจอศิลปินที่ดูใกล้ ๆ กัน แล้วก็รู้สึกว่าทุกคนเก่งมาก”
“ผมว่าคนที่เรียนศิลปะในไทยจะมีความรู้สึกคล้าย ๆ กันว่าระบบนิเวศน์ของศิลปะที่เราเรียนในมหาลัยว่ามันไม่ครบวงจร” Coma (ชยุตม์ งามเอกอุดมพงศ์) ศิลปินผู้ ‘เล่นกับไฟ’ ที่เพิ่งพ้นจากรั้วมหาวิทลัยมา กล่าวเสริม “บางทีเราทำงานออกมาแต่ว่ามันไม่มีสเปซให้นำเสนอผลงาน หรืออาจจะมีสเปซ แต่ก็ไม่ได้รับการจัดการที่ดี สิ่งที่มันก็ยังขาดอยู่ในทุกวันนี้ การที่ได้มาแสดงที่นี่เราก็ได้เห็นระบบนิเวศน์ที่มันค่อนข้างครบวงจรแล้วก็มีมาตรฐาน ก็เป็นเหมือนประสบการณ์ที่จะเซ็ตมาตรฐานของศิลปินด้วย เพราะศิลปินทุกคนต้องการสเปซ ต้องการการจัดการที่ดี”
แต่นอกจากนักศึกษาศิลปะที่ยังหาพื้นที่แสดงงานอันคับแคบกันแล้ว ก็ยังมีผู้คนอีกไม่น้อยที่ต้องการแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์เหมือนกัน เหมือนดังความเชื่อที่ว่าศิลปะเป็นเรื่องของทุกคน “ผมไม่ได้เรียนด้านดีไซน์มาโดยตรง แต่จริง ๆ แล้วมาทางงานข่าว วรรณกรรม งานเขียน มนุษย์ สังคม อะไรอย่างนี้ ก็จะเริ่มจากการสนใจสิ่งที่มันแสดงให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์หรือสังคมออกมา แล้วก็เชื่อมโยงกับรูปแบบของงานวรรณกรรม เรื่องเล่า” Cerebrum_art.original (เมธัส แก้วดำ) ศิลปินคอลลาจหนึ่งเดียวในงานนี้ เล่า “พอเป็นเรื่องเล่าผมก็จะเริ่มจากการแต่งกวีก่อน แล้วก็เอาบทกวีเหล่านั้นมาทำเป็นงานคอลลาจ เราไม่สามารถทำงานคาแรกเตอร์ดีไซน์ได้ ก็เลยพยายามทำให้เป็นเรื่องราวที่ใช้ความละเอียดในภาพหลอกตาคน ทำให้รู้สึกว่าไม่เคยเห็นภาพนี้มาก่อน แต่เป็นการเอาภาพเดิมมาทำใหม่ เติมไปเรื่อย ๆ”
จากคอมมิชชันสู่แกลเลอรี่ พื้นที่แสดงออกของศิลปินแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
ศิลปะไม่ใช่วิชาชีพที่มีเส้นทางการเรียนและการสอบเพื่อประกอบอาชีพที่ชัดเจนเหมือนอย่างหมอหรือนักกฎหมาย นักเรียนศิลปะจำนวนไม่น้อยถึงแม้จะมีความมุ่งมั่นอยากนำงานไปจัดแสดง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะหาประตูทางเข้าแกลเลอรีเจอ เราจึงมักพบพวกเขาได้ในผลงานคอมมิชชันหรือการทำงานร่วมกับแบรนด์ต่าง ๆ ซึ่งแน่นอนว่าลักษณะการทำงานย่อมแตกต่างออกไปจากการทำนิทรรศการ
“ส่วนใหญ่งานที่ทำจะเป็นแบบคอมมิชชัน หรืออย่างร้านขนมเค้กที่ให้เราตีความคอนเซปต์ในแบบของตัวเองแล้วเสนอไอเดียไป หรือสำนักพิมพ์ที่ฮ่องกงก็เคยติดต่อมาขอเอางานไปลง เราก็ทำงานโพสต์งานไป ทำสิ่งที่เราชอบไปเรื่อย ๆ ไม่ได้คาดหวังว่าเขาจะมาเห็นหรือเปล่า” Lanmita (ลันมิตา พานสุวรรณ) นักวาดลายเส้นอ่อนหวานผู้มีแมวเป็นสิ่งเยียวยาหัวใจ เล่า
“เวลามีคนมาสนับสนุนเราก็ถามเขากลับเสมอว่าทำไมถึงเลือกเรา ส่วนใหญ่ทุกคนตอบตรงกันว่ามันยืนยันความเป็นตัวเองได้นานพอ แต่ว่าหลักสำคัญคือว่ามันจะหาเงินได้ด้วยไหม จะหาเงินมาทำได้ไหม ผมว่าอันนี้คือส่วนที่ยากที่สุด” Bouboy (พัชรพล สิงหประชา) นักวาดที่มีเอกลักษณ์เป็นเจ้าหน้ายิ้มแฝงสัญลักษณ์ ชวนคุยต่อเรื่องการหาจุดสมดุลย์ระหว่างตัวตนของตัวเองกับแบรนด์ที่ร่วมงาน
“เราจะเทรนด์กับลูกค้าก่อนว่าเขาต้องการความเป็นตัวเรามากน้อยแค่ไหน คือเขาก็จะมีความเป็นแบรนด์ของเขา เหมือนเราลองทำงานกับโจทย์มากกว่า ซึ่งช่วงแรก ๆ เราจะมีความเป็นตัวเองสัก 30 เปอร์เซนต์ มีความเป็นแบรนด์ของเขามากกว่า แต่หลัง ๆ มันเหมือนเราอยากจะนำเสนอตัวเองมากขึ้น ก็เลยรู้สึกว่าลูกค้าอยากได้ความเป็นเราด้วย” ศิลปินอารมณ์ดีผู้นำเสนอศิลปะแห่งการผ่อนคลายผ่านลายเส้น My Mayo (ณัฐกฤตา โคตรสมบัติ) เล่า
การเติบโตของเหล่าคาแรกเตอร์ และนักวาดของพวกเขา
เมื่อศิลปินเติบโตขึ้นผลงานของพวกเขาก็เติบโตตามไปด้วย เหมือนกับศิลปินหลายคนในนิทรรศการนี้ ที่เริ่มต้นจากการทดลองสร้างผลงานงานออกมาสะสมระหว่างทางมากมาย จนหาลายเส้นของตัวเองเจอ ซึ่งสำหรับคนดูอย่างเรา นิทรรศการ Artists on Our Radar นี้ก็เป็นโอกาสที่เราจะได้เห็นตัวตน แนวคิด และสไตล์การทำงานของศิลปินที่แสดงออกมาอย่างเป็นตัวของตัวเองสุด ๆ เพราะโจทย์สำคัญเพียงอย่างเดียวสำหรับศิลปินในการทำงานเพื่อจัดแสดงในนิทรรศการนี้ ก็คือการพัฒนาแนวคิดเพื่อนำเสนอเอกลักษณ์หรือศิลปะในแบบของตัวเองออกมา
“ในงานนี้เราได้แสดงความคิดเรา เหมือนเป็นงานแรกที่เปิดออกมา” CHET (สุเชษฐ์ อินอุทัย) นักวาดแนวสมจริงสุด ๆ (Hyperealism) กล่าว ซึ่งเขาก็เห็นด้วยว่า แม้ผู้ชมจะคุ้นตาลายเส้นสไตล์การวาดของเขา และศิลปินอีกหลายคน จากงานที่พวกเขาเคยโพสต์เองหรือเคยร่วมมือกับแบรนด์ต่าง ๆ แต่พื้นที่ของนิทรรศการแบบนี้ก็ช่วยเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ปล่อยของและนำเสนอความเป็นตัวเองออกมาจริง ๆ “หน้าที่หลักของงานออกแบบก็คือการสนองตามโจทย์ แต่งานแบบที่จัดในนิทรรศการนี้คืองานที่ทำให้เราได้สำรวจความคิดของตัวเอง”
เช่นเดียวกับ Canyouhearcloud (กีรติ เกตุคำ) นักวาดสายเสียดสีที่ผลงานมักจะโผล่มาในหน้าฟีดเสมอเมื่อมีข่าวตลกร้ายในสังคม “งานที่ทำลงในเพจทุกวันจะเป็นพวกอะไรที่ตอบสนองต่อข่าวเร็ว ๆ แต่จริง ๆ ก็อยากจะทำงานบางชุดที่มันมีคอนเซปต์แข็งแรง มีทิศทางที่สามารถทำเป็นงานในระยะยาวได้ ก็เลยพยายามหาพื้นที่จัดแสดง แล้วประจวบเหมาะกับที่มีการประกาศงาน Artists on Our Radar พอดี ก็เลยได้โอกาสปล่อยของที่นี่ อยากเล่าก่อนว่าผมชอบงานสไตล์ป็อบอาร์ต ซึ่งมีการสะท้อนสังคมเป็นวิธีคิดงานพื้นฐานของผมอยู่แล้ว แรกคาแรคเตอร์ตาดาวที่วาดก็มาจากตัวการ์ตูนของผู้หญิงคนหนึ่งที่ตาสวย แล้วมันไปเข้ากับการเมืองพอดีที่มีคำพูดว่าตาสว่าง เลยเป็นตัวแทนของคนที่เห็นถึงปัญหาในสังคม”
นอกจากเจ้า ‘ตาดาว’ ที่ Canyouhearcloud เล่าแล้ว งานนี้เราจะได้เห็นเหล่าคาแรกเตอร์ที่คุ้นตา พากันมาแสดงตัว เป็นเวอร์ชั่นที่แตกต่างไปจากเดิม ไม่ต่างกับการเติบโตของศิลปินผู้วาดพวกเขา “GOTHBOY มันเป็นคาแรกเตอร์ที่สื่อสารออกมาได้เข้าใจง่าย ตัวการ์ตูนนี้มันไม่ต้องพูดเยอะ เน้นที่การกระทำ” GTB Gothboy (เสฏฐนันท์ ศรีเพ็ญ) ศิลปินผู้หลงใหลในหนังสือการ์ตูน เล่าถึงคาแรกเตอร์หนุ่มน้อยใต้หน้ากาก ที่อยากมาทำให้ทุกคนได้ปลดปล่อยความเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ “แต่คำว่า BOY ข้างหลัง มาคิดอีกทีก็กลัวว่ามันจะแคบไป ก็เลยคิดว่าจะพัฒนาคาแรกเตอร์ต่อไป อยากให้มันมีความหลากหลาย จะเป็นเทพหรือเป็นอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็น GOTHBOY นี้เท่านั้น แต่ตัวเองก็ยังใช้ชื่อ GOTHBOY อยู่นะครับ” เขาบอก
Bouboy (พัชรพล สิงหประชา) อีกหนึ่งศิลปินหนุ่มที่ใช้หน้ากากในการถ่ายทอดเรื่องราวของคาแรกเตอร์ เล่าที่มาของเจ้าหน้ายิ้มของตัวเองว่า “คนดูงานศิลปะแต่ละคนก็มีประสบการณ์การใช้ชีวิตแตกต่างกันไป บางคนเจองานแค่ชิ้นเดียวเขาก็อาจจะรู้สึกได้ จริง ๆ ก็ไม่อยากยัดเยียดสิ่งที่เราต้องการจะตั้งคำถามกับสังคม ปล่อยให้คนดูคิดตามไป ผมว่ามันง่ายสุดเลยกับการทำตัวหน้ากากขึ้นมา อาจจะมีความตลกร้ายหน่อย แล้วก็เข้าใจได้ง่าย ๆ เป็นคนที่คุยได้กับทุกคน”
วิธีการออกแบบคาแรกเตอร์ของแต่ละคนก็ดูจะสะท้อนประสบการณ์และความคิดของพวกเขาเองด้วย คาแรกเตอร์เด็กสาวของ Mariko Toey (มาริษา แย้มเสนาะ) ผู้มองอะไรก็เห็นเป็นกล่องดูน่ารัก ก็มีที่มาที่น่าสนใจไม่แพ้กัน “ตอนแรกเลยเราทำเป็นคอนเซปต์อาร์ตชิ้นหนึ่งออกมา เป็นกระดาษเอามาประกอบกันเป็นรูปศาลพระภูมิหรืออะไรที่เกี่ยวกับความเชื่อ แล้วก็มาพัฒนาเป็นงานวาด ให้เป็นภาพที่วาดอย่างง่าย สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ หรือว่าคนอื่นได้ ทำให้ตื่นมาวาดทุกวันได้ไม่เบื่อด้วย”
นอกจากการออกแบบคาแรกเตอร์แล้ว ศิลปิน ในโครงการ Artists on Our Radar ก็มีวิธีแสดงเอกลักษณ์ของตัวเองออกมาแตกต่างกันอีกมาก อย่าง Sleepybeee (แก้วขวัญฟ้า โปร่งเจริญ) ที่มีจุดเด่นที่การจัดองค์ประกอบภาพให้มีเส้นเคลื่อนไหว พริ้วไปมา ซึ่งก็ทำให้เธอถ่ายทอดประสบการณ์ของตัวเองออกมาได้น่าสนใจกว่าเดิม หรืออย่าง Lanmita ที่วาดมักจะถ่ายทอดความน่ารักของเจ้าแมวมาอยู่ในภาพเสมอ “ช่วงที่เรารู้สึกเครียด หรือซึมเศร้าหนัก ๆ ช่วงเรียนจบ มันดีขึ้นจากที่เราได้แมวมาเลี้ยง ก็เลยวาดแมวอยู่บ้านนี่แหละ ก็เลยวาดแมวเรื่อย ๆ มาจนถึงตอนนี้ คือการได้รักแมวมันทำให้เราได้ย้อนกลับมารักตัวเองด้วย” เธอพูดถึงผลงานล่าสุด
“ของเล่นมันก็คืออุตสาหกรรมอย่างหนึ่ง ที่มีระบบของตัวเอง” Coma (ชยุตม์ งามเอกอุดมพงศ์) นักวาดเจ้าของภาพเปลวไฟสุดร้อนแรง เล่า งานของเขามักจะโดดเด่นด้วยเปลวไฟที่ร้อนแรง และการเล่นกับของเล่น ที่วิพากษ์สังคมที่เราอยู่ทุกวันนี้ไปด้วยในตัว “มันมีความบริโภคนิยมสูงมาก เช่นการ์ตูนเราเข้าใจว่ามีมาก่อนแล้วพอดังก็ทำของเล่นออกมา แต่ที่จริงคือเขาทำมาเพื่อจะขายของเล่น มันเป็นอะไรที่เราไม่รู้และไม่ได้ตั้งคำถาม ตอนเด็กเราก็แค่รู้สึกสนุก แต่โตขึ้นก็ย้อนไปตั้งคำถามกับเรื่องราววัยเด็กว่าเบื้องหลังของสิ่งที่เราโตมาด้วยมันมีอะไรอยู่บ้าง ก็เลยทำออกมาเป็นภาพที่มีขอเล่นด้วยกับไฟที่เป็นการตั้งคำถามถึงแง่ดีหรือแง่ร้ายของมันกับผู้ชมอีกทีหนึ่ง”
ย้อนวัยศิลปิน ไปสะท้อนโลกการเรียนการสอนศิลปะ
“ส่วนใหญ่คนที่เรียนศิลปะก็จบมาไม่เกินห้าเปอร์เซนต์ที่ได้ทำงานศิลปะเพระว่าบ้านเรามันไม่ได้ให้ความสำคัญขนาดนั้น ส่วนใหญ่จบไปก็ไปทำกราฟฟิค โปรดักชันต่ออะไรอย่างนี้” Coma เผยความในใจที่คงจะตรงกับเพื่อนศิลปินและนักศึกษาศิลปะอีกมาก ทั้งที่นั่งอยู่ด้วยกันในนิทรรศการนี้ และที่นั่งอ่านบทความนี้อยู่ที่บ้าน “ผมอยากให้การเป็นศิลปินเป็นอาชีพที่ใช้เลี้ยงชีพได้จริง ๆ ตอนนี้ศิลปินมันกลายเป็นแค่งานอดิเรกที่เราต้องทำ แยกย่อยมาจากงานประจำจริง ๆ แล้วผมเชื่อว่าทุกคนเก่ง คนไทยเก่งมากหลายคนแล้วก็ มันควรที่จะต้องเลี้ยงชีวิตเขาได้ ผมไม่อยากให้คนทำอาชีพศิลปินได้จริงเป็นแค่คนส่วนน้อย มันเป็นความโชคดีอยากให้ทุกคนเข้าถึงสิ่งนั้นด้วย”
ในแง่หนึ่งสังคมตอนนี้ก็ยังต้องการการพัฒนาอีกมากเพื่อรองรับคนทำงานศิลปะ แต่ในขณะเดียวกัน Goth Boy ก็เห็นว่าตอนนี้คนทำงานสร้างสรรค์เองก็กำลังเติบโตจากจุดของตัวเองอยู่เหมือนกัน “ตอนนี้มันค่อนข้างจะเปิดกว้างมากขึ้นแล้ว เรื่องวัฒนธรรมกลุ่มต่าง ๆ ก็เริ่มเป็นตัวของตัวเองขึ้น ทุกคนเริ่มมีซีน (Scene) ของตัวเอง ส่วนตัวก็อยากให้เป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะซีนของดนตรี ศิลปะ หรืองานที่พวกเราทำอะไรอย่างนี้ ผมอยากให้มันอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องเป็นธุรกิจเต็มตัวก็ได้ แต่ก็อยากให้เขาผลักดันกันในแต่ละชุมชนไปเรื่อย ๆ”
“ผมเองช่วงนี้เพิ่งเรียนจบมาได้ไม่นาน ก็อยากพูดถึงเรื่องการศึกษาด้านศิลปะด้วย” Coma เสริม “เมื่อสองปีก่อนได้ไปแลกเปลี่ยนที่เยอรมนี ได้เห็นความแตกต่างเรื่องระบบนิเวศน์ เหมือนการศึกษาในมหาลัยไทยแต่ละที่ไม่ได้มีจุดยืนของตัวเองครับ มันกลายเป็นว่าเราไม่มีความแข็งแรงพอในศิลปะด้านนั้น ๆ เช่นสมมุติว่าเราอยากเรียนศิลปะที่เป็นอนุรักษนิยมเลย หรืออยากเรียนศิลปะที่เป็นเสรีนิยมเลย แต่ในไทยมันเหมือน ๆ กันไปหมด แต่ละสถานศึกษามันไม่มีจุดยืนที่แข็งแรงพอให้สร้างศิลปิน แล้วอาจารย์เองก็ไม่ได้คอนเนคชันในสายศิลปะนั้น ที่มั่นคงพอที่จะส่งต่อไปยังนักเรียนได้ มันก็เป็นเรื่องที่แก้ยาก แต่เป็นเรื่องใหญ่จริง ๆ คนไทยเรามีสกิลที่ดีมาก แต่มันไม่มีระบบนิเวศน์ ตอนนี้เราก็เริ่มเห็นกลุ่มก้อนของศิลปินที่มีแนวต่างกัน แล้วแต่ละกลุ่มก้อนมันมีความแข็งแรงขึ้นมา แต่น่าจะดีกว่าถ้าเราผลักดันให้มันแข็งแรงได้มากกว่านี้”
“การเรียนศิลปะในระบบการศึกษาที่เราเรียนมา เรารู้สึกว่าบุคลากรที่สอนนั้นมีน้อย และเขามั่นใจในระบบงานของเขามากจนกดงานเราอย่างนี้ค่ะ” KAMEIS เสริมในเรื่องของการเรียนศิลปะในมหาวิทยาลัยไทย “อย่างเช่นงานอันนี้ถ้าเป็นอาจารย์ตรวจ เราก็คงโดนด่าเละเทะแล้ว เขาก็สอนในความคิดของเขา เขายึดติดกับสิ่งที่เป็นระบบของเขามา เหมือนเขาบอกทำไมไม่ทำแบบนี้ เขาไม่ได้เสริม อยากให้เขาพัฒนาลากไปยาว ๆ”
“ผมโฟกัสมันมากกว่าระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนมัธยมด้วยซ้ำ” CHET เสริม “ในประเทศที่เจริญแล้ว คนจะเข้าใจความหมายหรือคุณค่าของงานสร้างสรรค์ตั้งแต่เด็กเลย และไม่ใช่แค่นั้น หลังจากเรียนจบจนถึงวัยเกษียณเลย การมาดูงาน เหมือนการมาที่นี่มันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเขาเลย มันควรเริ่มตั้งแต่ระบบการศึกษายันนโยบายภาครัฐว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่จำเป็นต้องเป็นคนในวงการ ถ้าวันหนึ่งมีพ่อแม่เป็นครู เป็นวิศวกร แล้วลูกอยากจะซื้องานชิ้นนี้เขาก็ต้องรู้สึกว่ามันเมคเซนส์ สมเหตุสมผลที่จะซื้อ เราจะเข้าใจกันว่าคนที่สนับสนุนวงการเป็นศิลปินหรือเป็นนักสร้างสรรค์ถูกไหม แต่ผมรู้สึกว่าทุก ๆ คนควรจะเข้าใจสิ่งนี้ด้วย” เขาสรุป
จากศิลปิน ถึงตลาดศิลปะ
“พอทุกคนเห็นคุณค่าแล้วทุกคนก็จะตั้งคำถาม มันก็จะมาสู่ระบบการศึกษาที่มีคนทำงานกันได้มากขึ้น คนรุ่นใหม่หรือรุ่นเก่าหรือใครก็ตามก็จะมีความคิดเห็นที่หลากหลายมากขึ้นจากการมองเห็นตรงนี้” Lanmita เสนอต่อ เพราะระบบนิเวศศิลปะที่ดีคงไม่สามารถสร้างได้จากแค่สถาบันการศึกษาเพียงเท่านั้น แต่ยังต้องมองให้เห็นความเชื่อมโยงกับทุก ๆ ส่วนในสังคมที่ส่งผลกระทบกันและกันทั้งนั้น อย่างเช่น “ตลาดศิลปะ”
“อย่างโครงการนี้ก็คิดว่าตัวเองจะไม่ได้ คิดว่าคนมีชื่อเสียงจะถูกเลือกก่อนค่ะ ก็เลยเซอร์ไพรส์เหมือนกันว่ามันน่าสนใจ ดูกว้างขึ้นจากเมื่อก่อน ที่งานศิลปะต้องมีเท่านี้และเป็นคนกลุ่มนี้เท่านั้น ก็คิดว่ามันไปต่ออีกได้” Lanmita พูดขำ ๆ
“สำหรับแก้ว การทำงานศิลปะในไทยมันมีหลายส่วน เป็นแกลเลอรีหรืออะไรแบบนี้ แต่สำหรับนักวาดตัวเล็ก ๆ ที่อยากจะขายของตัวเองก็จะเริ่มจาก Art Market ก่อน ซึ่งมีเยอะ แต่จัดโดยเอกชน เป็นการไปขายแล้วก็จบแค่นั้น ไม่ได้มีการสนับสนุนจากภาครัฐ” Sleepybeee พูดถึงประสบการณ์ที่เธอทำผลิตภัณฑ์ไปงานต่าง ๆ มา
“ที่ผ่านมาแก้วไปงานแฟร์ที่เกาหลีใหญ่มาก 800 บูธได้ คือเขาให้โอกาสทุกคนเพราะเหมือนทางโซลเองก็มีทุนสนับสนุนให้ ซึ่งมันดีมาก ๆ แล้วมันไม่ได้แค่ขายแล้วก็จบ กลับมา แต่เป็นตลาดที่หางานสำหรับนักวาดโดยตรง มีแบรนด์ต่าง ๆ มาขอติดต่อ ขอจ้างงาน สำหรับสายภาพประกอบการมีพื้นที่ให้นายจ้างกับนักวาดมาเจอกันมันเป็นอะไรที่สำคัญมาก ซึ่งไม่รู้ว่าที่ไทยมีพื้นที่ตรงนี้มากน้อยแค่ไหน เวลาจ้างงานก็ไม่รู้ว่าเขาไปรับงานกันยังไง เมื่อไรจะมีพื้นที่ให้นักวาดหน้าใหม่มากขึ้น”
“ส่วนตัวก็ยังคิดว่าแบรนด์ต่าง ๆ เขาใช้ศิลปินกลุ่มเดิม ๆ อยู่ วันนี้มาก็คิดว่าโปรเจกต์แบบนี้มันดีที่ศิลปินรุ่นใหม่ ๆ กลุ่มใหม่ ๆ ได้มามีคอนเนคชั่นไปต่อ แบรนด์ได้มองเห็นมากขึ้น แล้วมีงานที่หลากหลายมากขึ้นด้วย” Mariko Toey เสริม
“ผมดีใจที่เห็นสเปซแบบนี้เยอะขึ้นเรื่อย ๆ เพราะผมรู้สึกว่าที่ผ่านมาเวทีสำหรับนักวาดมีน้อยมาก ๆ ต้องรองานใหญ่ ๆ อย่างเดียวด้วยซ้ำ แล้วแต่ละคนก็มีความหลากหลายมากขึ้น เวทีใหญ่ ๆ บางทีก็อาจจะตกหล่นหลาย ๆ แบบไป ที่เราควรจะได้เห็น ผมดีใจมากที่มีโครงการแบบนี้ทำให้คนเหล่านั้นรู้สึกว่าการถูกตกหล่นจากรายการใด ๆ เขายังมีไฟและรู้สึกว่ามันไม่ได้มีแค่ที่เดียวที่แสงจะฉายมาที่เราได้ จริง ๆ แค่ที่หรือทางเลือกมันเยอะขึ้น ทุก ๆ คนไม่ว่าจะสไตล์ไหน ก็อาจจะไม่ต้องตามเทรนด์ขนาดนั้นก็ได้ แค่มั่นใจแล้วอยากเล่าถึงตัวเขา ผมว่าแค่มีพื้นที่ให้คนเหล่านั้นก็สำเร็จแล้ว” JARB ปิดท้าย
การแลกเปลี่ยนความเห็นของพวกเขาทั้ง 12 คนคงไม่สามารถเป็นตัวแทนของเพิ่อน ๆ นักวาดทั้งประเทศได้ แต่อย่างน้อย เราเชื่อว่าทุกคนคงสัมผัสได้ถึงความรู้สึกของคนทำงานศิลปะ ที่โครงสร้างคงยังดีกว่านี้ได้ แต่ใจก็รักที่จะสร้างสรรค์ต่อไป