สนทนากับ ‘ยูโตะ ยาบูโมโตะ’ แห่ง ‘Production Zomia’ โปรเจกต์ศิลปะใน Thailand Biennale ที่ว่าด้วยการตามหา ‘โซเมีย’ กลุ่มชนที่ (ถูกทำ) ให้หายไป
‘The Art of Not Being Governed by Akha in Chiangrai – The Possibility of Zomia Arts’ คือบทความเชิงวิชาการที่ ‘ยูโตะ ยาบูโมโตะ’ กรรมการผู้จัดการผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์ทางกฎหมายจาก One Asia Lawyer ส่งมาให้เราอ่าน หลังจากได้พบกันครั้งแรกที่บ้านสิงหไคล หนึ่งในพาวิลเลียนแห่งสำคัญของ ‘Thailand Biennale, Chiang Rai 2023’ ที่ว่าด้วย ‘Zomia in the cloud’ โปรเจกต์ศิลปะสัญจร จาก ‘Production Zomia’ ที่พูดถึง ‘โซเมีย’ อันสาบสูญ
ในบทความที่ว่านั้น ยาบูโมโตะได้พูดถึง ‘โซเมีย’ ชื่อของพื้นที่ที่ถูกตั้งขึ้นตามแนวคิดทางภูมิศาสตร์ของ เจมส์ ซี. สกอตต์ (James C. Scott) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ที่สื่อถึงพื้นที่ภูเขาบนแผ่นดินใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย เมียนมาร์ ลาว จีนตะวันตกเฉียงใต้ และอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งในพื้นที่นี้จะมีชนชาติพันธุ์มากมายอาศัยอยู่ เช่น อาข่า ลาหู่ กะเหรี่ยง และม้ง ฯลฯ ที่เขาเรียกรวมกันว่า ‘ชาวโซเมียน’ กลุ่มชนผู้นับถือในวิญญาณนิยม (Animalism) ไม่มีตัวหนังสือเป็นของตัวเอง และมักตกอยู่ในสถานะของผู้พลัดถิ่นที่ต้องโยกย้ายอยู่เสมอ เขาจึงมองว่าคนกลุ่มนี้คือตัวอย่างของสังคมที่ไร้รัฐบาล และไม่เคยถูกปกครอง ที่เชื่อมโยงเข้ากับแนวคิดแบบ ‘อนาธิปไตย’ และนั่นคือสิ่งที่ทำให้ผลงานศิลปะเกี่ยวกับโซเมียผู้ไม่เคยถูกปกครองนั้นน่าจับตามอง
หลังจากที่เราได้อ่านทำความเข้าใจบทความที่เขาส่งมาอีกหลาย ๆ อันเพิ่มเติม เราก็พบว่าเรื่องราวของศิลปะแบบโซเมีย ที่โปรเจกต์ Zomia in the cloud หยิบขึ้นมาเล่านั้นมีมุมมองที่น่าพูดถึงในหลายระดับมากกว่าที่คิด เมื่อรวมเข้ากับวิธีการที่พวกเขานำมาบูรณาการเข้ากับคนทั่วไปในทุกพื้นที่จัดแสดง รวมถึงใน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ครั้งนี้ ก็ยิ่งทำให้เราอยากเจาะลึกเข้าไปในโปรเจกต์นี้ให้มากขึ้นกว่าเดิมอีก นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ช่วงบ่ายวันหนึ่งของกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา GroundControl ได้มีโอกาสพบกับยาบูโมโตะอีกครั้งที่สำนักงานของ One Asia Lawyer และบทสนทนาที่ว่าด้วยโซเมียอันสาบสูญ สังคมที่ถูกปกครอง และการเชื่อมโยงกันของโลกศิลปะที่อยากหนีออกจากอำนาจการควบคุมของรัฐก็ได้เริ่มต้นขึ้น…
จุดเริ่มต้นของ Zomia in the cloud และความหมายของ ‘โซเมีย’
“Zomia in the cloud คือโครงการศิลปะภายใต้ Production Zomia ที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิ Aura Asia Art Project ที่คอยสนับสนุนการวิจัยและนำเสนอผลงานของศิลปินที่ต้องการสำรวจเกี่ยวกับเรื่องราวของโซเมีย อย่างในตอนนี้ผมเองก็มุ่งเน้นไปที่โครงการวิจัยระดับปริญญาเอก เพื่อเจาะลึกถึงอิทธิพลของโซเมียที่มีต่องานศิลปะเหมือนกันครับ” ยาบูโมโตะเล่าให้เราฟังคร่าว ๆ ถึงที่มาของโปรเจกต์นี้
“สำหรับคำว่า ‘โซเมีย’ นั้น เป็นคำที่หมายถึงพื้นที่ภูเขาของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนตอนใต้ ที่นิยามโดย James C. Scott ครับ โดยเขาได้บรรยายถึงพื้นที่ที่ผู้คน เช่น อาข่าและลาหู่ หลบเลี่ยงการควบคุมของรัฐ หลีกเลี่ยงสิ่งต่าง ๆ เช่น การจัดเก็บภาษี และการรับราชการทหาร ชุมชนเหล่านี้อาศัยอยู่ในสังคมที่ไม่ใช่รัฐซึ่งมีลำดับชั้นน้อยที่สุดและนับถือผี และการอาศัยโดยหลีกเลี่ยงระบบการปกครองของรัฐแบบนี้นี่แหละ ที่ทำให้พื้นที่นี้มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของอนาธิปไตยด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการต่อต้านอิทธิพลของรัฐ และเป็นจุดที่ทำให้เรามองเห็นความเป็นไปได้ของคอนเซปต์งานศิลปะที่ไม่เคยถูกรัฐปกครองฟอร์มขึ้นมา” ยาบูโมโตะกล่าวพลางเปิดสไลด์ที่เขาตั้งใจเตรียมมาให้เราชมภาพแผนที่ของโซเมียที่ครอบคลุมพื้นที่แถบเอเชียเกือบทั้งหมดให้เราชมไปด้วย
“กล่าวอย่างกว้าง ๆ ก็คือ ลัทธิวิญญาณนิยม หรือคนที่มีความเชื่อในวิญญาณหรือจิตวิญญาณในมนุษย์ ถือว่าเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญต่อการทำความเข้าใจว่า มนุษย์รับรู้ชีวิตนอกเหนือจากสภาพแวดล้อมทางกายภาพแบบที่เราเป็นในตอนนี้อย่างไร ซึ่งในปัจจุบันอาณาเขตของพวกเขากำลังถูกกัดเซาะทั้งจากการพัฒนาทางอำนาจของรัฐและการพัฒนาเศรษฐกิจโลก เป็นผลให้จำนวนชนกลุ่มน้อย ผู้ลี้ภัย รวมถึงคนอื่น ๆ จำต้องละทิ้งบ้านของตนและย้ายไปอยู่ที่ส่วนต่าง ๆ ของโลกเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นในแต่ละปี”
“เดิมทีพวกเราวางแผนที่จะรวบรวมงานศิลปะเหล่านี้ขึ้นมาสำหรับคอลเลกชันส่วนตัว แต่พอได้พูดคุยกับศิลปินแล้ว พวกเขากลับแสดงความเห็นว่าอยากจะจัดนิทรรศการสาธารณะมากกว่า สิ่งนี้เลยนำไปสู่การก่อตั้งมูลนิธิของเรา รวมถึงการจัดตั้งทีมภัณฑารักษ์ด้วย นั่นเลยทำให้เราสามารถทำตามความปรารถนาของพวกเขาและหยิบยกเรื่องราวเกี่ยวกับโซเมียขึ้นมาพูดให้ทุกคนรู้จักอย่างเหมาะสมได้ผ่านงานศิลปะ”
Zomia Art ศิลปะที่หมายถึงวิถีชีวิต
จากที่ยาบูโมโตะได้กล่าวไว้ในตอนต้นว่า การดำรงชีวิตของกลุ่มชนในพื้นที่ที่ถูกเรียกว่าโซเมียนั้น คือการหลีกเลี่ยงการถูกปกครองจากรัฐ ทำให้ศิลปะโซเมียคือรูปแบบของศิลปะที่ไม่เคยถูกอำนาจรัฐปกครองตามไปด้วย แต่ถึงอย่างนั้น คำว่า ‘ศิลปะ’ ที่ยาบูโมโตะสื่อถึง ก็ไม่ใช่งานศิลปะทั่วไปแบบที่เราเข้าใจกันจนเป็นภาพจำ แต่มันคือ ‘วิถีชีวิต’
“จริง ๆ แล้วแนวคิดเรื่องศิลปะของการไม่ถูกควบคุม ดังที่เห็นในโซเมียนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่ในรูปแบบของศิลปะตะวันตกแบบดั้งเดิมที่เราทุกคนคุ้นเคยกันเพียงอย่างเดียว แต่คำว่า ‘ศิลปะ’ ในบริบทนี้ยังหมายถึงเทคนิคและวิถีชีวิตของชาวโซเมียด้วย มันจึงกว้างมากขึ้นและไม่ถูกจำกัดเฉพาะการประมูลและการรับชมแบบที่ศิลปะในทุกวันนี้เป็น”
“นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมผมถึงสนใจเรื่องการสะสมงานศิลปะสไตล์ตะวันตกน้อยลง เพราะตอนนี้ผมมองว่างานศิลปะคือวิถีชีวิต เทคนิคในการดำเนินชีวิต และหันมารวบรวมบันทึก เอกสาร เพื่อเก็บเป็นคลังความรู้สำคัญที่ได้จากการเรียนรู้วัฒนธรรมที่หลากหลายมากขึ้นแทน เมื่อรวมเข้ากับการที่ผมทำงานในบริษัทกฎหมายและได้เห็นความผิดแปลกมามากมาย ผมจึงรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับสถานการณ์ในปัจจุบัน และอยากเรียนรู้กับโซเมียให้มากขึ้น ถึงวิธีการเอาตัวรอดบนโลกใบนี้’
Production Zomia กับแรงบันดาลใจจาก Utopia Station 2003
Production Zomia คือโปรเจกต์ศิลปะที่พูดถึง ‘โซเมีย’ ผ่านสายตาของศิลปินหลาย ๆ คนที่เข้าร่วมกับโครงการ โดยยาบูโมโตะได้บอกกับเราว่า Production Zomia นั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจาก สถานียูโทเปีย (Utopia Station 2003) ผลงานศิลปะจากสามคิวเรเตอร์อย่าง มอลลี่ เนสบิต, ฤกษ์ฤทธิ์ ติระวานิช และฮานส์ อุลริช โอบริสต์ ที่จัดทำขึ้นใน ‘เวนิส เบียนนาเล่ 2003’ โดยถูกออกแบบให้เป็นเหมือนกับจุดแวะพักให้ทุกคนมาหยุดมอง หยุดคุย และทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน โดยการแสดงต่าง ๆ จะจัดขึ้นใน เวนิส เบียนนาเล่ ปี 2003 และตามสถานที่ทั่วไป ในส่วนของภาพวาด ภาพถ่าย โปสเตอร์ หรือผลงานศิลปะที่จัดแสดง จะมาจากศิลปินกว่า 160 คน ทั่วโลกที่ส่งมาร่วมจัดแสดง
“Utopia Station คือโปรเจกต์ที่ดูแลโดยสามคิวเรเตอร์ครับ แล้วผมก็มีโอกาสได้คุยกับพวกเขาเกี่ยวกับโปรเจกต์นี้อยู่บ้าง คือว่าในช่วงปี 2000 ตอนนั้นโลกของเรากำลังพัฒนาไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วมาก ๆ แถมยังตื่นตัวกับปัญหาสงครามและการก่อการร้ายอยู่เสมอ แต่สิ่งที่ทำให้คนโกรธกันมาก ๆ รวมถึงตัวคิวเรเตอร์ด้วย ก็คือเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน หรือที่ทุกคนรู้จักกันในนาม 9/11 ซึ่งหลังจากนั้นโลกของเราก็มี Anti-war movement เกิดขึ้น เพื่อต่อต้านสงคราม และนั่นก็เป็นที่มาของ Utopia Station เหมือนกัน”
“ซึ่งผมมองว่าโลกของเราในตอนนี้ก็คล้าย ๆ กัน และยังแย่กว่าในตอนนั้นด้วย ผมคิดว่าถ้าตอนนั้นความหายนะของโลกเราเกิดจากกำลังทหาร สงคราม และการก่อการร้าย ปัญหาใหม่ของโลกเราในตอนนี้ ก็คือ ‘การล่าอาณานิคมสมัยใหม่’ ที่ใช้เศรษฐกิจ เงินตรา และอำนาจของสังคมทุนนิยมมาเป็นปัจจัยในการล่าแทน แบบที่อเมริกาหรือจีน กำลังแข่งขันกันล่าอยู่ในตอนนี้ รวมถึงยังมีการสร้างเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขึ้นมา ที่ดูเหมือนจะช่วยให้มนุษย์สะดวกสบายขึ้น แต่มันก็ควบคุมเราได้มากขึ้นด้วย”
“พอเห็นแบบนี้แล้ว มันก็ชวนให้ผมนึกถึงแนวคิด ‘Heterotopia’ ของมิเชล ฟูโกต์ เรื่องสังคมที่ถูกควบคุม และเป็นขั้วตรงข้ามกันกับแนวคิดเรื่องยูโทเปีย ผมมองว่าโซเมียก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน เหมือนกับว่าตอนนี้เรากำลังสร้างโลกของเราตามแบบ Heterotopia แต่ถ้าเราได้เรียนรู้คอนเซปต์ของโซเมีย เพื่อหลีกหนีจากแรงกดดันของอำนาจและบรรทัดฐานทางสังคม เปิดรับวิถีชีวิตที่แตกต่างและมีอิสระมากขึ้น เราอาจจะสร้างยูโทเปียขึ้นมาได้เหมือนกัน”
Production Zomia โปรเจกต์ที่สะท้อนภาพงานศิลปะจากโซเมียผู้สาบสูญ
หลังจากพูดคุยกันมาได้สักพัก คำตอบข้อต่อมาของยาบูโมโตะก็ทำให้เรารู้สึกตกใจอยู่ไม่น้อย เพราะถึงแม้ว่าพวกเราจะพูดคุยถึงโซเมียมานาน และเห็นภาพว่าคนที่อยู่ในพื้นที่นี้คือกลุ่มชนชาติพันธุ์ที่ยังมีตัวตนอยู่ ทว่ายาบูโมโตะกลับบอกเราว่าแท้จริงโซเมียได้สาบสูญไปแล้ว
“การเคลื่อนย้ายเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของโซเมีย พวกเขามักย้ายถิ่นที่อยู่อยู่เสมอ ผมคิดว่าคนทั่วไปก็แค่ทำตามอุดมการณ์ของชาติ อย่างคุณเองก็รู้ว่าตัวเองเป็นคนไทย ผมก็รู้ตัวว่าผมเป็นคนญี่ปุ่น แต่ชาวอาข่าบางส่วนกลับละเลยที่จะรักษาอัตลักษณ์ดั้งเดิมของตนไว้ นั่นเพราะพวกเขาไม่เคยถูกปกครองมาก่อนจนคิดว่าอัตลักษณ์พวกนี้มันสำคัญแบบที่เราคิด”
“ผมเลยคิดว่าในตอนนี้โซเมียได้สูญหายไปแล้วครับ จริง ๆ แล้วในบทความของสกอตต์ก็ได้มีการพูดถึงโซเมียไว้แค่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เท่านั้นเอง แต่หลังจากนั้นโซเมียก็ได้หายไปพร้อมกับสงครามโลกแล้ว” ยาบูโมโตะเริ่มอธิบาย
“เมื่อปีที่แล้วผมได้มีโอกาสเข้าไปอาศัยอยู่ในหมู่บ้านของชาวอาข่าราว ๆ หนึ่งเดือนครับ และผมก็พบว่ามีชาวอาข่าหลายคนได้ย้ายออกไปอยู่ในเมืองกันแล้ว บางคนก็ไปเรียนต่อหรือทำงานที่ต่างประเทศ อย่างประเทศเกาหลี ไต้หวัน ออสเตรเลีย และอีกหลายแห่ง และหลังจากที่พวกเขาได้รับรู้ถึงโลกสมัยใหม่ พอมีโอกาสกลับมายังถิ่นฐานบ้านเกิด พวกเขาก็เริ่มสร้างบ้านตามแบบสมัยใหม่ อยู่อาศัยแบบคนสมัยใหม่ ไม่ใช่ในวิถีชีวิตดั้งเดิมของตัวเองอีกต่อไป และนี่แหละคือเหตุผลที่ผมคิดว่าโซเมียได้สูญหายไปแล้ว”
ยาบูโมโตะยังกล่าวต่ออีกว่า “การใช้ชีวิตสมัยใหม่นั้นง่ายต่อพวกเขามากจริง ๆ และถึงแม้ว่ามันจะทำให้วิถีชีวิตดั้งเดิม หรืออย่างที่บอกว่ามันคือศิลปะของพวกเขาจะหายไปด้วย แต่จากการวิจัยภาคสนามและการสัมภาษณ์ศิลปินของผม เช่น การได้พูดคุยกับ บู้ซือ อาจอ ศิลปินชาวอาข่าผู้เรียนรู้การสร้างงานด้วยตัวเอง ผมมองว่าพื้นที่ความเป็นโซเมียกำลังถูกสร้างขึ้นมาใหม่จากศิลปิน นั่นหมายความว่าในตัวศิลปินนั้นมีสิ่งที่เรียกว่าโซเมียอยู่ นี่ก็เลยเป็นสิ่งที่งานวิจัยระดับปริญญาเอกของผมกำลังหาคำตอบว่า เราจะสร้างพื้นที่โซเมียขึ้นมาได้อย่างไร”
“และเหตุผลที่เราพยายามสร้างโซเมียขึ้นมาอีกครั้ง ก็เพื่อหาวิธีการหนีออกไปจากมาตรฐานเดิมของโลกใบนี้ที่เป็นอยู่ หนีจากการล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจ อะไรแบบนั้น และนอกจากโซเมียแล้ว ผมคิดว่าบางทีศิลปินอาจจะรู้ก็ได้ว่าต้องทำอย่างไร เราเลยสามารถเรียนรู้จากศิลปินได้ว่าจะสร้างพื้นที่ของโซเมียขึ้นมาอย่างไร นี่ก็เลยเป็นจุดประสงค์ของเรา Production Zomia และโซเมียจะมาจากที่นี่แหละครับ”
‘ศิลปะ’ เครื่องมือสำคัญของการบอกต่อปัญหาของโซเมีย
ในฐานะที่ยาบูโมโตะทำงานด้านกฎหมายจนเชี่ยวชาญ และยังคลุกคลีกับแรงงานจากหลายประเทศมานาน การที่เขาเลือกใช้ศิลปะเพื่อพูดถึงโซเมีย มากกว่าการใช้กฎหมายเป็นหลัก นับว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เราเลยอยากทราบถึงมุมมองของเขาว่าเพราะอะไรถึงเชื่อมั่นในสิ่งนี้ว่าจะสามารถบอกเล่าสิ่งที่เขาต้องการพูดถึง และแก้ปัญหาได้ในที่สุด
ยาบูโมโตะตอบ “ผมอยากทำให้โลกมันนิ่มนวลขึ้นนะครับ แบบว่านะ คือจริงอยู่ที่กฎหมายและการเมืองนั้นคือสิ่งสำคัญที่เราจะใช้มันในการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในสังคม นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ผมทำงานบริษัทกฎหมายในตอนนี้ล่ะนะ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ต้องยอมรับว่ามันมีลิมิตบางอย่างที่ไม่อาจก้าวข้ามไปได้อยู่”
“ในบางครั้ง เวลาเกิดปัญหากับผู้ลี้ภัย ถ้าเราแก้ปัญหาด้วยกระบวนการทางกฎหมายหรือการเมือง ผมคิดว่ามันจะมีแค่ทางเดียวที่ช่วยพวกเขาได้ ซึ่งผลที่ได้กลับมาก็จะมีแค่สองทางเลือกเท่านั้น ไม่เก็บพวกเขาไว้ ก็เตะพวกเขาออกนอกประเทศไป คือจัดการกันง่ายมากเลยครับ ทั้ง ๆ ที่ปัญหานี้มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น นี่เลยเป็นเหตุผลที่ศิลปะเข้ามามีบทบาทสำคัญ”
“สถานะของผู้ลี้ภัยถือว่าเลวร้ายมาก พวกเขาไม่สามารถแสดงออกทางการเมือง หรือทำงานศิลปะได้อย่างอิสระ อย่างในประเทศไทยเอง หากมีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ก็อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ร้ายแรง เช่น การติดคุก หรือการถูกไล่ออกนอกประเทศ ดังนั้น ศิลปะจึงกลายเป็นเครื่องมืออันทรงพลังสำหรับผู้ลี้ภัยในการถ่ายทอดเรื่องราวและการต่อสู้ดิ้นรนโดยไม่ต้องเผชิญการตอบโต้โดยตรง”
ยาบูโมโตะโชว์ภาพการทานอาหารของคนหลาย ๆ คนให้เราดู พร้อมกับกล่าวต่อว่า “ศิลปะทำให้เราสามารถดึงความสนใจไปที่การต่อสู้ของผู้ลี้ภัยและผู้อพยพได้อย่างละเอียดมากขึ้น ด้วยความพยายามของผม ผมได้บูรณาการศิลปะเข้ากับโครงการต่าง ๆ เช่น ในภาพนี้พวกเราก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชนชาวเวียดนาม เพื่อแบ่งปันอาหารและเรื่องราว นี่คือศิลปะในมุมมองของผม เพราะศิลปะก็คือวิธีที่เราใช้ชีวิตกันในทุกวันนี้ นี่แหละโซเมีย"
บทบาทของ Zomia in the cloud ใน Thailand biennale, Chiang Rai 2023
เมื่อเราทราบถึงความเป็นมาเป็นไปในการทำงานของ Production Zomia ที่จะมีการจัดและสร้างนิทรรศการสัญจรเกี่ยวกับโซเมียขึ้นมาเรื่อย ๆ จากการรวมตัวของศิลปินทั่วโลกเหมือนกับ Utopia Station 2003 เพื่อสร้างโลกที่ดีกว่าเดิมต่อทุกคน การมาถึงของ Zomia in the cloud ใน Thailand biennale, Chiang Rai 2023 ก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กันว่าเขามีกระบวนการทำงานอย่างไรกับการจัดแสดงครั้งนี้บ้าง รวมถึงผู้คนในจังหวัดเชียงรายด้วย
“จริง ๆ แล้วสิ่งที่พวกเรามาทำที่นี่คือการแชร์คอมมูนิตี้ครับ” ยาบูโมโตะเริ่มเล่าถึงนิทรรศการ Zomia in the cloud ใน Thailand biennale, Chiang Rai 2023 ที่ถึงแม้จะมีฐานหลักอยู่ที่บ้านสิงหไคล แต่ดูเหมือนว่าในสถานการณ์จริง เมฆของโซเมียก้อนนี้จะสามารถลอยไปได้ไกลกว่านั้น
“ในตอนนี้พวกเรามีงานศิลปะภายใต้ Production Zomia มากถึง 25 ชิ้นแล้ว โดยทุกคนสามารถเข้าไปดาวน์โหลดงานศิลปะเหล่านั้น หรือชมผ่านทางออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ของพวกเราได้เลย เราเลยคิดว่านี่มันตรงกับคอนเซปต์ ‘เปิดโลก’ ของ Thailand biennale, Chiang Rai 2023 มากทีเดียว เพราะใคร ๆ ก็สามารถเข้ามาดาวน์โหลดงานศิลปะได้”
“อย่างที่เห็นอยู่ตอนนี้” ยาบูโมโตะโชว์ภาพของเด็ก ๆ ผู้พิการในเชียงรายให้เราชม ก่อนจะกล่าวต่อว่า “พวกเขาก็ได้ทำการดาวน์โหลดภาพจากโปรเจกต์ของเรา แล้วนำมาติดตามผนัง และสร้างโชว์ศิลปะของตัวเองขึ้นมา อย่างโลโก้ Thailand Biennale อันนี้พวกเขาก็ก๊อปปี้กันมาเอง ผมรู้สึกเซอร์ไพรส์มาก ๆ และคิดว่านี่มันดีมากจริง ๆ พวกเขายังมีการนำงานไปแปะกับไม้ไผ่ด้วย บอกเลยว่าเหล่ามืออาชีพทั้งหลายคงไม่มีทางคิดอะไรแบบนี้แน่นอน”
“ดังนั้นในแง่นี้ ผมเลยรู้สึกเคารพในความสมัครใจที่จะทำอะไรแบบนี้อย่างอิสระของพวกเขามาก ๆ โดยส่วนตัวแล้วผมรู้สึกว่าผมไม่ได้เข้าไปช่วยอะไรกับโชว์เหล่านี้เลย แต่ผมทำเพียงแบ่งปันเท่านั้น มันเป็นเหมือนของขวัญให้พวกเขานำไปทำอะไร ๆ ต่อเอง” เขากล่าวยิ้ม ๆ
“อีกสิ่งหนึ่งที่ผมมองเห็นคือ ไม่ใช่ทุกคนในเชียงรายที่จะมีโอกาสไปดูงานศิลปะ หรือ Thailand biennale, Chiang Rai 2023 อย่างเด็ก ๆ ในภาพเหล่านี้ นอกจากพวกเขาจะเป็นผู้พิการแล้ว พวกเขายังไม่มีเชื้อชาติหรือบัตรประจำตัวประชาชนด้วย ดังนั้นพวกเขาจึงไม่สามารถออกนอกพื้นที่ที่กำหนดได้ จึงไม่สามารถไปดูงานศิลปะที่จัดอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ของเชียงรายได้อย่างอิสระ แต่ว่านะ ศิลปะมันควรจะเป็นของทุกคนไม่ใช่หรือครับ”
“ในภาพนี้ พวกเขาสร้างงาน บริหารจัดการ และจัดการโชว์เหล่านี้ขึ้นมาเอง เพราะพวกเขาไม่สามารถเข้าร่วม Thailand biennale, Chiang Rai 2023 เชียงรายได้ การแบ่งปันแบบนี้ก็เป็นสิ่งที่ Utopia Station 2003 ทำไว้เหมือนกัน เพราะแนวคิดของ Utopia Station คือใคร ๆ ก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้ ผ่านการแชร์โปสเตอร์ Production Zomia ก็เลยทำแบบนี้ด้วย จากนั้นพื้นที่นั้นก็จะกลายเป็นพื้นที่จัดแสดงงานของใครก็ได้ เราแค่ก๊อป วาง จากฐานข้อมูลต่าง ๆ ที่เปิดไว้ให้ทุกคนเข้าไปใช้งานเท่านั้นเอง”
“อีกจุดประสงค์หนึ่งของการแบ่งปัน ยังนำไปสู่การตั้งคำถามถึงการทำลายบทบาทของการจัดการศิลปะด้วย เพราะมีหลายครั้งมาก ๆ ที่ผมมักถูกร้องขอให้ทำโชว์ในพื้นที่ให้พวกเขาหน่อย ด้วยเหตุผลที่ว่าพวกเขาไม่ใช่มืออาชีพในการจัดการงานศิลปะ”
ยาบูโมโตะเล่าต่อ “พวกเขามักจะบอกผมว่า พวกเขาไม่สามารถคิวเรตสิ่งใดได้ พวกเขาไม่อยากทำ งานคิวเรตมันต้องเป็นหน้าที่ของคนอื่น เป็นหน้าที่ของคนมีการศึกษา คนรวย เหมือนกับว่างานคิวเรตนั้นเป็นเรื่องของแฟชั่น ดังนั้นพวกเขาจึงไม่ชอบงานคิวเรต เพราะการคิวเรตงานศิลปะมันเป็นเรื่องของพวกคุณ”
“มันทำให้ผมเห็นจริง ๆ ว่า ศิลปะร่วมสมัยนั้นยังห่างไกลจากคนทั่วไปมาก ๆ เลยครับ” ยาบูโมโตะเอ่ยอย่างเสียดาย
“ผมคิดว่าแนวคิดที่ทำให้ศิลปะและงานภัณฑารักษ์มันห่างไกลจากผู้คนแบบนี้ถือว่าเป็นเรื่องน่ากังวล ผมจึงอยากทำลายแนวคิดแบบนี้ให้หายไป” ยาบูโมโตะสรุปถึงความมุ่งหวังที่จะทำให้ศิลปะและเรื่องของการจัดการศิลปะเข้าถึงผู้คนได้ง่ายขึ้น เหมือนกับเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน แบบที่ Zomia in the cloud ได้ทำให้เกิดขึ้นใน Thailand biennale, Chiang Rai 2023 และพื้นที่อื่น ๆ ที่ Production Zomia เคยไปเยือนมาก่อนหน้านี้และในอนาคต
อนาคตของ Production Zomia และ โปรเจกต์ Zomia in the cloud
เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นนิทรรศการสัญจร แน่นอนว่า ‘Zomia in the cloud’ ย่อมไม่ได้หยุดอยู่แค่ใน Thailand biennale, Chiang Rai 2023 รวมถึงตัว Production Zomia เองก็ยังเตรียมที่จะจัดนิทรรศการอื่น ๆ ขึ้นมาอีกเรื่อย ๆ เพื่อทำตามเป้าหมายที่จะค้นหาความเป็นโซเมียในตัวศิลปินให้เกิดขึ้น ซึ่งยาบูโมโตะก็ได้เล่าถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้เราฟังไว้ด้วยเช่นกัน
“จริง ๆ แล้วพวกเราตั้งใจที่จะสานต่อโปรเจกต์นี้ต่อไป และต้องการจัดแสดงในอีกหลาย ๆ ที่ ทั้งงานมหกรรม เทศกาล อีเวนต์ ฯลฯ ไม่ใช่แค่ในเมืองไทยเท่านั้น สำหรับการมาจัดแสดงที่เมืองไทยนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ๆ เพราะจังหวัดเชียงรายเองก็รวมอยู่ในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของโซเมียด้วยเหมือนกัน พวกเราเลยมีไอเดียที่จะเข้ามาจัดแสดงที่นี่ แต่อย่างที่ผมเคยบอกไว้ว่าความเป็นโซเมียนั้นอยู่ในตัวศิลปินทุกคน ผมเลยคิดที่จะสานต่อโปรเจกต์นี้ต่อไปให้ไกลขึ้นอีก ไม่ใช่แค่ในเอเชียเท่านั้น แต่รวมถึงนอกเอเชียด้วย แต่ถ้าพูดถึงที่ต่อไป คงจะเป็นประเทศอินเดีย และผมยังอยากทำงานให้มากกว่านี้ สร้างคอมมูนิตี้ให้มากกว่านี้ อาจจะเป็นอีก 3 - 5 ปีต่อจากนี้ก็ได้ แต่ผมหวังว่าจะสามารถแชร์เรื่องราวความเป็นโซเมีย ให้กระจายออกไปทั่วโลกผ่านโปรเจกต์นี้ให้ได้”
ยาบูโมโตะยังกล่าวทิ้งท้ายกับเราไว้อีกว่า “พวกเราสามารถสร้างโลกของเราให้เป็นพื้นที่แบบโซเมียได้ โลกที่อยู่นอกเหนือการปกครองและกฎระเบียบที่กักขังเรา”
นิทรรศการ Zomia in the cloud ยังคงจัดแสดงให้ทุกคนเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้ - 28 กุมภาพันธ์ 2567 ณ บ้านสิงหไคล จ.เชียงราย ในงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023