เมื่อศิลปะเป็นงานวิจัย และงานวิจัยคือศิลปะ คุยกับ ‘จิตติ เกษมกิจวัฒนา’ ว่าด้วยการพาจักรวาลแห่งเวลามาพบกับประวัติศาสตร์เชียงแสนใน Thailand Biennale, Chiang Rai
ถึงเขาจะบอกเราว่าศิลปะไม่ใช่การสร้างสิ่งสวยงาม แต่ว่าภาพเคลื่อนไหวในหน้าจอเล็ก ๆ ที่เป็นลายเส้นรูปปั้นโบราณ แตกตัวออกเป็นจุดดังสะเก็ดดาว ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ก็ทำให้เราตกตะลึง จนพาไปนึกถึงการแหงนหน้ามองฟ้าของมนุษย์ยุคก่อน ว่าพวกเขาจะเห็น คิด และรู้สึกอะไรต่างจากเราแค่ไหนกัน
ซึ่งนั่นก็คงเป็นประสบการณ์ศิลปะ แบบที่จิตติ เกษมกิจวัฒนา หรือ ‘อาจารย์โจ’ ศิลปินผู้มีการวิจัยเป็นเครื่องมือในการสร้างศิลปะ มาเล่าให้เราฟังในบทสัมภาษณ์นี้
อาจารย์โจเป็นเจ้าของ ‘ร้อยกรองกาล’ งานศิลปะร่วมสมัยที่จัดแสดงร่วมกับโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์และโบราณสถานในวัดป่าสัก จังหวัดเชียงราย ในฐานะส่วนหนึ่งของงาน ‘ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023’ ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว เราได้ชมผลงาน ‘ร้อยกรองไกร’ ของเขาในนิทรรศการทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 22 ซึ่งก็ทำให้เราหัวหมุนมาแล้วกับการร้อยเรียงคอนเซ็ปต์ที่ลึกซึ้งจากต่างศาสตร์เข้ามาระเบิดสมองด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภูมิศาสตร์กายภาพ กลศาสตร์ควอนตัม จนไปถึงศาสนาพุทธและพราหมณ์ ซึ่งงานในครั้งนี้เขาก็ยังใช้เทคนิคทางศิลปะแบบเดิมที่เขาคล่องมาทำงาน ไม่ใช่การวาด ไม่ใช่การปั้น แต่เป็นการวิจัย
GroundControl พบเขาที่จังหวัดเชียงรายใน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ต้องยอมรับว่าบทสนทนานี้ก็ “เปิดโลก” ให้กับเรา เหมือนกับคอนเซ็ปต์งานเบียนนาเล่ งานศิลปะของเขาทำให้เราเห็นนัยยะที่หลากหลายของ “อสูรเทพ” โบราณ และบทสนทนาของเขาก็ทำให้เราเห็นความเป็นไปได้ของศิลปะ ที่ไม่จำเป็นต้องทำให้สวย (เท่านั้น) แต่ยังเป็นเครื่องมือที่องค์กรวิทยาศาสตร์เองต่างก็โอบรับ
ใครที่เคยคิดว่าศิลปะร่วมสมัยเข้าใจยาก เราอยากให้ลองเปิดใจฟังคำอธิบายของเขาดู หรือถ้าอ่านบทสัมภาษณ์นี้แล้วยังมีข้อสงสัย เราก็คิดว่าทุกคนสามารถเดินทางหาคำตอบในเส้นทางของตัวเองไปต่อได้ เพราะยังไง การนำเสนอระบบความคิดก็เป็นหน้าที่หนึ่งของงานศิลปะ (และงานเขียน) อยู่แล้ว
เชียงแสนที่ “ประหลาด” มาตั้งแต่สมัยนั้น
ภาพของอสูรเทพ ‘หน้ากาล’ และประติมากรรมโบราณทั้งหลายอาจทำให้คิดไปว่านี่เป็นงานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของช่วงเวลาที่ไกลตัวเราเหลือเกิน แต่ที่จริงแล้วอาจารย์โจก็เป็นเหมือนศิลปินหลาย ๆ คน ที่เริ่มต้นกระบวนการศิลปะด้วยเหตุผลส่วนตัว
“จริง ๆ แล้วตอนที่พี่เจี๊ยบ (กฤติยา กาวีวงศ์, ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023) กับ แอ๊ะ (มนุพร เหลืองอร่าม หนึ่งในทีมภัณฑารักษ์ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023) ชวนมาทำเบียนนาเล่ ก็คุยกันก่อนที่จะลงพื้นที่ว่าเราอยากอยู่เชียงแสน เพราะรู้สึกผูกพันตั้งแต่เด็กมาเรื่อย ๆ” เขาเล่า
“ผมมาที่นี่ครั้งแรกตั้งแต่ยังไม่ถึง 10 ขวบ มันเป็นภาพที่ต่างไปจากทุกวันนี้ แหล่งโบราณคดียังไม่ได้ขุดแต่งอะไรเยอะ เราเลยได้เห็นสภาพของพื้นที่อีกแบบหนึ่ง แต่รู้สึกเหมือนหลงใหล มันเป็นภาพความทรงจำ
“ช่วงที่ผมบวช ก็มาแถวนี้ เราชอบตอนที่ไม่มีคนเลย เมื่อหลายสิบปีก่อนมันยังไม่มีการท่องเที่ยวเหมือนสมัยนี้ พอเราเข้ามามันเหมือนอยู่อีกโลกหนึ่ง เลยเป็นภาพจำฝังเอาไว้ในใจ สุดท้ายตอนลงพื้นที่ก็เลยมาที่วัดป่าสัก แล้วเราก็เห็นพระพุทธรูปปางเปิดโลก ก็จับจุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นของงาน”
ข้อมูลจากเว็บไซต์ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 ระบุว่าพระพุทธรูปปางเปิดโลกที่ประดิษฐานในซุ้มจระนำ วัดป่าสัก เป็นปางที่แสดงให้เห็นถึงปัญญาและการตื่นรู้ โดยสื่อถึงเรื่องราวการเสด็จลงจากสวรรค์มาเปิดโลกทั้งสาม คือ เทวโลก ยมโลก และมนุษยโลก ให้สามารถมองเห็นกันและกันได้ทั้งหมด และเป็นที่มาของคอนเซ็ปต์ ‘เปิดโลก’ ของไทยแลนด์เบียนนาเล่ในปีนี้
“ขณะที่เราลงพื้นที่ พี่เจี๊ยบยังไม่ได้เล่าเรื่องธีมงานให้ฟังว่าคือ ‘เปิดโลก’ มันก็เหมือนทำงานควบคู่กันไป อย่างพี่เจี๊ยบเป็นคนเชียงแสน มาคราวนี้มันก็มีความสำคัญสำหรับเขา เพราะเหมือนเป็นการกลับมาบ้านเกิดหลังไปมาแล้วทั่วโลก ในแง่ของพื้นที่ วัดป่าสักก็มีความสำคัญ มันเป็นแหล่งอารยธรรมตั้งแต่จุดเริ่มต้นสมัยรัชกาลที่ 3 ราชวงศ์มังราย ซึ่งเป็นช่วงต้น มีรายละเอียดบางอย่างที่ทำให้เห็นอยู่ว่าในช่วงเริ่มต้น วัฒนธรรมหรืออารยธรรมต่าง ๆ มันขมวดกันเข้ามาได้อย่างไร เพราะฉะนั้นตรงองค์พระเจดีย์จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เราเห็นศิลปะแบบพุกาม เราเห็นหริภุญชัย เราเห็นขอมโบราณ เห็นความหลากหลาย แล้วพอมันมาประกบรวมกันมันคือล้านนาตอนต้น”
และจากจุดนี้ เขาก็เริ่มพาเราออกเดินทาง จากประสบการณ์ส่วนตัว ไปหาอาณาจักรโบราณ จากแม่น้ำโขง สู่ประวัติศาสตร์ความคิดตะวันตก
“ผมสนใจประเด็นที่ว่า วัฒนธรรมทุกวัฒนธรรมไม่ได้เกิดขึ้นมาจากในห้องแล็บ เราปลูกขึ้นมา มันคือการเรียนรู้ การเคลื่อนตัวของหลาย ๆ สิ่ง แล้วมาเจอกันที่จุดจุดหนึ่ง นั่นคือโครงสร้างที่นำมาเป็นคอนเซ็ปต์ของงาน” เขาสรุป
ท่องไปในสายธารแห่งนัยยะ ของอสูรเทพแห่งกาลเวลา
“ผมสนใจหน้ากาลเพราะเราเคยอ่านวอลเตอร์ เบนยามิน” อาจารย์โจพูดถึงผลงาน ‘ร้อยกรองกาล : Kala Ensemble’ ในส่วนที่จัดแสดงบริเวณวัดป่าสัก ซึ่งเป็นศิลปะแบบจัดวางกลางแจ้ง ประกอบไปด้วยประติมากรรมรูปทรงกลมคล้าย ‘หน้ากลอง’ สะบัดชัย ตั้งอยู่บนเสา 12 ต้น และจารึกภาพของ ‘หน้ากาล’ อสูรเทพผู้ทำหน้าที่เป็นผู้เฝ้าศาสนสถาน ซึ่งมีความหมายเป็นสัญลักษณ์ของเวลาด้วย
วอลเตอร์ เบนยามิน (Walter Benjamin) นักปราชญ์ชาวเยอรมัน เขาเขียนถึง เทวทูตแห่งประวัติศาสตร์ (Angel of History) ในหนังสือ “Theses on the Philosophy of History” (1942) ที่พูดถึงผลงานภาพพิมพ์ Angelus Novus (New Angel/เทวทูตองค์ใหม่) ของศิลปิน พอล คลี (Paul Klee) ที่เขาซื้อมา และตีความผลงานชิ้นนี้ โดยพูดถึงความหมายของประวัติศาสตร์ เวลา และความเปลี่ยนแปลง ถ้าเคยเห็นภาพก็จะเป็นลักษณะเน้นส่วนหัว สายตาของเทวทูตเบิกโตจ้องเขม็ง เพราะว่าเขาต้องเพ่งมองอดีต พอผมมาเห็นหน้ากาล ก็คิดว่าในวัฒนธรรมเรามันต้องมีอะไรอย่างนี้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าเรายังไม่จับมาพูดถึง หน้ากาลมีสองนัยยะ
"นัยที่หนึ่ง ไปตรงกับตำนานของพราหมณ์ฮินดู เป็นเรื่องของอสูรเทพ ผู้ดูแลปกปักรักษาสถานที่ มันมีตำนานที่ผูกกันอยู่ จริง ๆ แล้วหน้ากาลนี้มีอีกชื่อหนึ่งคือเกียรติมุข เขามีร่างกายเต็มตัว แล้วมีวันหนึ่งเขาพลังเยอะมากแล้วเขาหิวตลอดเวลา เวลาเขาโมโห เขาก็กินเข้าไป แล้วมีวันหนึ่ง มีคนมาห้ามไม่ให้เขาทำร้ายคนอื่น แต่ด้วยความหิว เขาก็เลยกินตัวเอง เอามือจับเท้าแล้วกลืนกินตัวเองจนเหลือแต่ริมฝีปากบนไม่มีริมฝีปากล่าง นัยทางสัญลักษณ์ (Symbolic) หนึ่งที่ผมเล่าให้ฟังไปนี้คือเป็นผู้เฝ้าศาสนสถาน
“แล้วนัยยะที่สอง คนก็มาพูดถึงกันว่า หน้ากาลเป็นตัวแทนของเวลา ส่วนมากที่บอกว่าเป็นตัวแทนเวลามักมาผนวกกับความคิดแบบพุทธ ว่าเวลากลืนกินทุกอย่างแม้กระทั่งตัวมันเอง”
“ถ้าสมมุติว่าย้อนกลับไปที่ตำนาน (mythology) ตรงนี้ บางคนก็บอกว่าหน้ากาลคือความมืดสีดำ มันคือหลุมดำ กลืนกินทุกอย่างเข้าไป เพราะฉะนั้นผมเลยคิดว่า ถ้าเราอยากจะเรียนรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เราต้องมาเรียนรู้เรื่องนี้ เพราะว่าเขาเป็นคนเฝ้า แล้วอยู่คู่กันมา เพราะฉะนั้นเขาต้องอยู่เหนือกาลเวลาสิ เลยทำงานในลักษณะวงกลม แล้วมีรูปหน้ากาลอยู่ คนสามารถผลักรูปออกไปได้ เหมือนไปกระตุ้นให้เขาตื่น ให้เขาหมุนไป แต่ว่ารูปทรงนี้จริง ๆ แล้วอ้างอิงเหมือนเป็นกระจกแห่งอดีต แต่รูปทรงจริง ๆ เอามาจากหน้ากลองสะบัดชัย เพราะกลองสะบัดชัยมีความน่าสนใจคือการสะบัด ไม่ใช่การตี แต่คือการเคลื่อนไป เคลื่อนสลัดให้สิ่งไม่ดีออกไปแล้วมีชัยชนะขึ้นมา มันก็คือการจับอะไรหลาย ๆ อย่างในวัฒนธรรมล้านนามาผนวกกันเป็นงาน”
“ส่วนตัวบทความบนชิ้นงานที่แกะด้วยเลเซอร์ ก็ได้แรงบันดาลใจจากพระพุทธรูปปางเปิดโลก ซึ่งบทความส่วนใหญ่จะพูดถึงโลกธาตุ หรือจักรวาลวิทยาในแนวดิ่ง คือสวรรค์ภูมิ โลกภูมิ แล้วก็นรกภูมิ มันคือแนวดิ่ง บทที่ผมคัดลอกมาจากพระไตรปิฎกอันนี้พูดถึงโลกธาตุหรือจักรวาลแนวราบ มันบอกขนาดว่ามีเท่าไร เอามาจากจูฬนิกาสูตร พระสูตรที่ว่าด้วยโลกธาตุขนาดเล็ก เป็นตอนที่พระอานนท์ถามว่าเสียงของพระพุทธเจ้าเวลาเปล่งออกมาดังไปกี่โลกธาตุ พระพุทธเจ้าเลยอธิบายว่าโลกธาตุแต่ละขนาด เล็ก กลาง ใหญ่ มีขนาดเท่าไหร่ บ้าง ผมก็เลยเอาตรงมาใช้
“ถ้าพูดถึงโลกของเรา ในกรอบใหญ่เรามักจะพูดถึงแค่ ‘ล้านนา’ แต่ในความจริงแล้ว เราไม่สามารถที่จะมองข้ามว่าในทุก ๆ พื้นที่ทางวัฒนธรรมมันมีความหลากหลาย มันมีไทลื้อ ไทเขิน แล้วก็อีกมากมายที่เคยอยู่ในบริเวณพื้นที่เชียงราย เชียงแสน แล้วก็สองฝั่งแม่น้ำโขง รวมถึงเพื่อนบ้านด้วย ผมก็เลยตัดสินใจว่าเวลาเราจารึกหรือเขียนตัวอักษรจะใช้อักษรของเพื่อนบ้านหรือชาติพันธุ์ที่อยู่ในบริเวณนี้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นบางคนบอก[ในงาน]ไม่เห็นมีภาษาไทยภาคกลางเลย ก็ไม่เป็นไร เพราะว่าพื้นที่ตรงนี้มันควรจะให้คนอื่นบ้าง”
‘ภาพของระบบความคิด’ ที่เปลี่ยนไปตามยุค
“เราเห็นหน้ากาลอยู่ข้างหน้า มันไม่ได้สร้างมาจากความว่างเปล่า สร้างมาแบบโดดเดี่ยว” อาจารย์โจเล่าที่มาของอีกส่วนหนึ่งของงาน ซึ่งติดตั้งอยู่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน “มันคือวัฒนธรรม คือการถ่ายทอดเคลื่อนที่อะไรไปมา ผมก็จะมีเทาเที่ย (Taotie รูปอสูรเทาเที่ย) หน้ากาล เกียรติมุข แล้วก็มีพระมหากาลจากธิเบตไปด้วย มีรวมทั้งหมด 9 แบบ เพื่อที่จะให้เห็นว่าตรงนี้มันพาเราไปไหนบ้าง สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสิ่งใดบ้าง”
ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เขาสร้างภาพแอนิเมชันเคลื่อนไหว ติดตั้งไว้ในหน้าจอขนาดเล็กสองจอ เคียงข้างอยู่กับประติมากรรมหุ่นปูนปั้นหน้ากาลและพระพุทธรูปปางเปิดโลก ซึ่งในจอหนึ่งจะแสดงให้เห็นหน้ากาล ที่แปรเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ 9 แบบ
“เหมือนกับเวลาเราเข้าไปในพิพิธภัณฑ์แล้วเราดู ก็ชื่นชมของชิ้นนี้ แต่ผมอยากให้ไปไกลกว่าพิพิธภัณฑ์ อยากใช้ของที่อยู่ในนั้นเป็นจุดเริ่มต้น แล้วพาเราไปที่อื่นได้”
“อีกจอหนึ่งจะเป็นภาพหน้ากาลค่อย ๆ เปลี่ยนไป ข้างล่างมีเขียนว่าพระเจ้าเปิดโลก คือคำว่าพระเจ้าเปิดโลกเป็นภาษาโบราณ อันนี้ก็ปรึกษา อ.พอพล สุกใส เหมือนกันว่าจะเอายังไงดี อาจารย์บอกว่าให้ใช้คำโบราณเอาไว้ก่อน เพราะไม่อย่างนั้นคนรุ่นต่อไปก็จะไม่เข้าใจ พอได้ยินว่า ‘พระเจ้าเปิดโลก’ ก็จะไปนึกถึงพระเจ้าแบบ God ก่อน แต่คำว่าพระเจ้าคือคำไทยเดิม เวลาเราเรียกพระพุทธเจ้าในอดีตเราเรียกว่าพระเจ้า คำว่าพระเจ้าเปิดโลกแปลเป็นภาษาประมาณ 18 ภาษา ภาษาของชาติพันธุ์ต่าง ๆ ย่อยไปมากกว่าที่วัดป่าสัก ไทน้อย ไทใหญ่ ไทเขิน เต็มไปหมดเลย รวมถึงภาษาจีน ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ก็อยู่ข้าง ๆ พระพุทธรูปปางเปิดโลก แล้วพอจุดหนึ่งพอมันขึ้นทุกภาษาแล้ว หน้ากาลกับภาษานี้ รูปภาพมันก็จะแตก แล้วรวมตัวกันเป็นภาพจักรวาลที่ดัดแปลงมาจากภาพนิ่งแสดงรูปของจักรวาลที่สังเกตได้ (Observable universe) ของศิลปิน Pablo Carlos Budassi ซึ่งถือกันว่าเป็นรูปที่แสดงสันฐานของจักรวาลได้อย่างใกล้เคียงที่สุดในปัจจุบัน”
ในยุคสมัยแห่งอินโฟกราฟิกและการจัดระเบียบสมองด้วยการคิดเป็นภาพ งานศิลปะของอาจารย์โจดูจะยิ่งเกี่ยวข้องกับโลกปัจจุบันขึ้นไปอีกได้อย่างคาดไม่ถึง “ความตั้งใจของผมคือเราเปรียบเทียบภาษา ระบบความคิดในอดีตกับปัจจุบันมันมีก้ำกึ่ง กระโดดกันไปมาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน เราก็เลยเอามาให้เห็น แล้วก็มีแผ่นทองเหลืองแผ่นหนึ่งอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งผมก็ประสานระหว่างจักรวาล คติจักรวาลแบบพุทธแบบฮินดู แล้วก็ควอนตัมฟิสิกส์อยู่ในนั้นด้วย
“งานในมิวเซียมเป็นตัวอ้างอิงองค์ประกอบต่าง ๆ ที่มันอยู่ในวัดป่าสัก แต่งานอินสตอลเลชันหลักจะอยู่ในวัดป่าสัก เป็นสถานที่สำคัญ ที่ไม่ใช่แค่จุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมล้านนา เพราะในสมัยพญาแสนภู (แสนพู) ผู้สร้างเมืองเชียงแสน รัชกาลที่ 3 ของราชวงศ์มังราย คือช่วงต้นมาก นักประวัติศาสตร์หลายคนก็บอกว่าวัดป่าสักอยู่ใกล้กับประตูเมืองเชียงแสน อยู่นอกเมือง ซึ่งในอดีตผู้คนจากทุกสารทิศจะใช้ประตูนี้ พื้นที่บริเวณวัดป่าสักทั้งหมดมันคือที่พักหยุดตั้งคาราวานของพ่อค้าและผู้คนที่มาเยือนเชียงแสน มีญาติโยมมาเยอะ
“การทำงานนี้ทำให้ผมพยายามไปขุดออกมาให้ได้ว่า มันมีหลักฐานอะไรที่ใช้บ่งบอกประวัติศาสตร์ตอนนั้นได้บ้าง เพราะอย่างเช่นเรื่องเมืองโยนกที่ล่มไป มันไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์เลย มีแต่ประวัติศาสตร์บอกเล่า เรื่องตำนาน จะหาสักหนึ่งอย่างหาไม่ได้เลย เลยทำให้เราค้นไปเรื่อย ๆ”
ศิลปะคือความสวย? ศิลปะคือศาสตร์!
“จริง ๆ แล้วไม่ใช่ว่าศิลปะพาเราไปหาประวัติศาสตร์ แต่ศิลปะเป็นหนึ่งในเครื่องมือประกอบการเรียนรู้ประวัติศาสตร์มากกว่า”
ในฐานะศิลปินที่ทำงานผ่านการวิจัยเป็นหลักหรือ ‘Research-based Artist’ เราเชื่อว่าหนึ่งในข้อหา (หรือคำถาม) ที่เขามักจะถูกถามบ่อย ๆ คงไม่พ้นเรื่องความ “ดูยาก” แถมยังดูจะไม่รื่นรมย์สบายตาเหมือนงานศิลปะแขนงอื่น ๆ ซึ่งเขาก็ตอบเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า
“ในยุคสมัยปัจจุบัน มีคนมากมายที่เอาศาสตร์เกี่ยวกับศิลปะหรือภาษาทางศิลปะมาประยุกต์ใช้ในศาสตร์อื่น ๆ แม้กระทั่ง CERN ซึ่งเป็นองค์กรทางวิทยาศาสตร์ เขาก็เปิด Artist Residency (ศิลปินในพำนัก) เขาเอาศิลปินเข้าไปก็เพราะว่า ถ้าเราใช้กระบวนการบางอย่างทางศิลปะเข้าไปอยู่ในการวิจัย เราอาจจะเจอบางสิ่ง เพราะเราใช้สายตาอีกแบบหนึ่งในการมองสิ่งสิ่งนั้น
“เพราะฉะนั้นศิลปะจึงไม่ใช่การสร้างสิ่งสวยงาม สร้างสุนทรียศาสตร์ aesthetics แบบใดแบบหนึ่ง แต่มันมีภาษา และมีกระบวนการ วิธีการของมัน มีประโยชน์สามารถนำไปใช้งานได้จริง หลาย ๆ ที่ในโลกตอนนี้ก็เชิญศิลปินไป เพื่อใช้เครื่องมือที่ศิลปินมีไปประกอบองค์ความรู้ว่าอย่างอื่นมันก็มีอยู่ ผมอยากเรียนตรงนี้เพราะเราไม่มีการพูดถึงตรงนี้ แม้กระทั่งฝ่ายรัฐก็ไม่เห็น ก็จะมองว่าศิลปินสร้างศิลปะเป็นสินค้า แต่จริง ๆ แล้วมันคือศาสตร์ที่สามารถเอาไปประยุกต์ใช้กับอย่างอื่นได้ แม้กระทั่งเรื่องที่ลึกซึ้งที่สุด
“สมมุตินักวิจัยและนักวิชาการทำงานวิจัยของเขา เขาก็จะมีกระบวนการความคิด มีระเบียบวิธีของเขา คราวนี้ถ้าศิลปินไปทำงานวิจัยก็จะมีระเบียบวิธีอีกแบบหนึ่ง มีความเป็นกวี (Poetic) อาจจะไม่เป็นเหตุเป็นผลในเชิงวิทยาศาสตร์ แต่อะไรคือวิทยาศาสตร์? อะไรคือหลักการ? สมมุติว่า เราใช้มุมมองที่มีความเป็นกวีเข้าไปใช้ในกระบวนการทำงานวิจัย มันก็อาจจะไปเปิดขั้วใหม่เข้ามา ทำให้งานวิจัยนั้นมีสโคปที่กว้างขึ้น มีมิติที่กว้างขึ้น
“อย่างงานที่พิพิธภัณฑ์ที่นี่ คนทั่วไปก็อาจจะดูจากภาพที่มันเกิดขึ้น มองภาพเดี่ยว ๆ แต่ละภาพ แต่เคยมีศิลปินจากอเมริกามาดู เขาก็อ่านเป็นโครงสร้างเลย ไม่ได้อ่านจากภาพหน้ากาลจากภาพที่หนึ่งเปลี่ยนเป็นสอง แต่อ่านจากระบบที่ผมวางโครงขึ้นมาด้วยวิธีการบางอย่าง แล้วมันเป็นภาษาที่ควบไปกับควอนตัมฟิสิกส์ ในวิธีการที่ผมใช้ พอมีคนเห็นเราก็ดีใจ
“งานนี้เราพูดถึงระดับอนุภาค เพราะฉะนั้นเราจะก่อโครงสร้างภาพของเราต้องใช้ Point Cloud Animation คือการเข้าไปในรายละเอียดของพิกเซลให้มันมีลักษณะเหมือนกับอนุภาค ด้วยลักษณะภาพ (visual) ที่เราใช้ ถ้าคนไทยมองก็อาจจะเห็นเป็นความสุนทรีย์ของรูปแบบของสไตล์ เรามองทุกอย่างเป็นสไตล์ แต่ไม่เคยเจาะลึกว่าสไตล์นี้เป็นโครงสร้างของอะไร แต่คนที่เขาทำงานกับเทคโนโลยีใหม่ ภาษาเขาเป็นภาพหมดแล้ว โครงสร้างการรับรู้ของเขาเขาก็ดูอีกแบบ
“แต่ว่ามันก็สนุกเพราะว่าไม่ได้มีแค่ด้านนี้ด้านเดียว หนึ่งในศิลปินในเบียนนาเล่นี้อย่าง จิตรา ซาสมิตา เขามาจากบาหลี ก็ได้อิทธิพลของตันตระ วัชรญาณเยอะ เขามองงานนี้แล้วรู้สึกว่าเหมือนมหากาล เขาพูดว่ามันคือหลุมดำ (black hole) ในทางวิทยาศาสตร์ คือเรามองด้วยความที่มันเป็นสหศาสตร์ ข้ามศาสตร์ เราก็เชื่อมต่อ สร้างบทสนทนาจากอดีตของเราในวัฒนธรรมของเราได้ แล้วมันกลายมาเป็นปัจจุบันได้ มันไม่มีว่านี่เราอยู่อดีตนะเป็นเรื่องของอดีตนะ แต่ทุกอย่างอยู่ในชั้น (layer) เดียวกัน ในระนาบเดียวกันหมด เพียงแต่ว่าคุณจะเชื่อมกับอะไร”