Asao Tokolo นักออกแบบแพทเทิร์นผู้สร้างโลโก้ Tokyo Olympics 2020 จากลายผ้าญี่ปุ่น
ก่อนที่คณะกรรมการ Tokyo Olympics 2020 จะเผยโฉมโลโก้ที่ได้รับการคัดเลือกให้ใช้เป็นตราสัญลักษณ์ประจำการแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งมวลมนุษยชาติ ชื่อของ อาซาโอะ โทโคโระ อาจจะไม่คุ้นหูเราเท่าไหร่ แต่เมื่อผลงานการออกแบบโลโก้ “Harmonized Chequered Emblem” ของเขากลายเป็นผู้ชนะจากบรรดาผลงานที่ส่งเข้ามาถึง 14,599 แบบ ชื่อของดีไซเนอร์วัย 52 ปีจากโตเกียวผู้นี้ก็ปรากฏในทุกสื่อแทบจะทุกวันในวันที
โทโคโระบอกว่าเขาไม่ใช่กราฟิกดีไซเนอร์ แต่เขาคือนักออกแบบแพทเทิร์นหรือลวดลายของสิ่งต่าง ๆ ซึ่งแม้ว่าชื่อของเขาจะไม่ค่อยคุ้นหูเรา แต่ในญี่ปุ่น ชื่อของโทโคโระก็นับว่าเป็นบิ๊กเนมของคนในวงการ เพราะเขาเป็นนักออกแบบแพทเทิร์นที่ไปสร้างลวดลายลงบนงานออกแบบหลากหลายสิ่ง หนึ่งในนั้นคือการคอลแลบฯ กับแบรนด์กระเป๋าไฮสตรีตสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง BAO BAO ISSEY MIYAKE ในปี 2008 และ 2015 ที่เขานำลายเซ็นของตัวเอง คือ tsunageru ที่หมายถึง ‘การเชื่อมต่อ’ ไปสร้างเส้นสายความสนุกให้กับกระเป๋าสุดฮิตแบรนด์นี้ ซึ่งเส้นสายอันเป็นเอกลักษณ์นี้ก็รู้จักกันในชื่อว่า Tokolo Patterns ที่เป็นเส้นซึ่งสามารถต่อกันจนสร้างเป็นลวดลายต่อกันได้ไม่รู้จบ
เอกลักษณ์เด่นในงานออกแบบลวดลายของโทโคโระก็คือการนำลวดลายโบราณในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมาสร้างเป็นแพทเทิร์นแสนโมเดิร์น อย่างเช่น Tokolo Patterns ของเขาก็เป็นการย้อนกลับไปนำลวดลายที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างญี่ปุ่นกับโลกตะวันตกในช่วงที่เส้นทางการค้าขายเครื่องเทศหรือที่เรียกว่า Spice Route รุ่งเรืองมาใช้ (ประมาณศตวรรษที่ 7)
และสำหรับโลโก้ Tokyo Olympics 2020 ที่เราคุ้นตากันนี้ โทโคโระก็ได้สร้างโลโก้ที่ประกอบขึ้นจากลวดลายที่เป็นที่แพร่หลายในยุคเอโดะมาใช้กับสีน้ำเงินเข้ม ซึ่งเป็นสีหมึกโบราณกันน้ำที่ใช้กันในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ทั้งยังสื่อความหมายถึงความสง่างามและรุ่มรวยที่ใช้เป็นสีเครื่องแบบของซามูไรในช่วงเอโดะด้วย
โลโก้ที่โทโคโระออกแบบมานั้นมีชื่อว่า "kumi ichimatsu mon" ที่เป็นการนำรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าความกว้างยาวแตกต่างกันสามแบบมาประกอบกัน เพื่อสื่อถึงความหลากหลายที่มารวมกันเป็นหนึ่ง และการที่หนึ่งคนจากแต่ละสถานที่ต่างมารวมใจกัน ณ การแข่งขันครั้งนี้
โลโก้ Tokyo Olynpics 2020 ที่โทโคโระออกแบบสำหรับงานโอลิมปิกและพาราลิมปิกนั้นยังเชื่อมโยงกัน โดยโลโก้ทั้งสองสามารถคลี่คลายออกมาเป็นรูปของกันและกันกลับไปกลับมาได้ เพื่อเป็นการสื่อแมสเสจเรื่องการเชื่อมต่อรวมใจกันเป็นหนึ่งเดียวในการแข่งขันกีฬาที่สะท้อนความหลากหลายของมนุษย์ครั้งนี้
นอกจากการเชิดชูวัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่นและการสดุดีให้กับความแตกต่างหลากหลายที่มารวมกันเป็นหนึ่งแล้ว โทโคโระยังออกแบบโลโก้นี้โดยอ้างอิงจากกระบวนการออกแบบของดีไซเนอร์ที่ออกแบบกราฟิกในงาน Tokyo Olympics 1964 ด้วย โดยเขาได้กลับไปรื้อดูวิชวลไกด์ไลน์ซึ่งเป็นคู่มือสำหรับการใช้งานกราฟิกของงานโอลิมปิกในครั้งนั้น พร้อมทั้งศึกษาการขึ้นเส้นและวิธีการสร้างรูปทรงต่าง ๆ ของเหล่านักออกแบบที่ทำงานใน Tokyo Olympics 1964
“ผมสร้างดีไซน์นี้ขึ้นมาโดยย้อนกลับไปสดุดีให้เหล่านักออกแบบที่ทำงานใน Tokyo Olympics 1964 ซึ่งย้อนกลับไปในเวลานั้น พวกเขาใช้แค่ไม้บรรทัดและวงเวียนในการสร้างผลงานเหล่านี้ขึ้นมา โดยที่มองไปถึงอนาคตด้วยว่านักออกแบบรุ่นต่อไปจะใช้อุปกรณ์อะไรในการสร้างสรรค์งานกันบ้าง ด้วยเหตุนี้ ผมจึงทำแบบร่างของโลโก้นี้ขึ้นมาด้วยมือ โดยศึกษาวิธีการวาดเส้นจากวิชวลไกด์ไลน์ที่พวกเขาทิ้งไว้”
อ้างอิง : Who is Asao Tokolo? | the designer behind Tokyo’s 2020 Olympic Emblem