บ่ายวันหนึ่ง เรานัดคุยกับ ‘ปรีชา รักซ้อน’ ศิลปินสุพรรณเจ้าของแกลเลอรี่จากอาคารโรงสี ‘1984+1’ มาคุยกันเรื่องนิทรรศการใหม่ของเขา ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลา แต่เมื่อถึงเวลา เรากลับพบคุณแม่คนหนึ่งอุ้มเด็กทารกอยู่ในอ้อมกอดภายในห้องจัดแสดง แต่ก่อนที่เราจะทันได้ถามว่าบทบาทการเป็นพ่อของเขาส่งผลต่อชีวิตศิลปินที่เคยเป็นแค่ไหน เขาก็เฉลยกับเรา ว่าลูกน้อยคนนี้นี่แหละ คือหนึ่งในที่มา ของงานที่รุนแรงแต่ก็ “น่ารัก” งานนี้

บ่ายวันหนึ่ง เรานัดคุยกับ ‘ปรีชา รักซ้อน’ ศิลปินสุพรรณเจ้าของแกลเลอรี่จากอาคารโรงสี ‘1984+1’ มาคุยกันเรื่องนิทรรศการใหม่ของเขา ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลา แต่เมื่อถึงเวลา เรากลับพบคุณแม่คนหนึ่งอุ้มเด็กทารกอยู่ในอ้อมกอดภายในห้องจัดแสดง แต่ก่อนที่เราจะทันได้ถามว่าบทบาทการเป็นพ่อของเขาส่งผลต่อชีวิตศิลปินที่เคยเป็นแค่ไหน เขาก็เฉลยกับเรา ว่าลูกน้อยคนนี้นี่แหละ คือหนึ่งในที่มา ของงานที่รุนแรงแต่ก็ “น่ารัก” งานนี้

‘ปรีชา รักซ้อน’ วาดประวัติศาสตร์แสนโหดเหี้ยมเป็นการ์ตูนสดใส เพื่อตั้งคำถามต่อวิชาประวัติศาสตร์และศิลปะในโรงเรียน

บ่ายวันหนึ่ง เรานัดคุยกับ ‘ปรีชา รักซ้อน’ ศิลปินสุพรรณเจ้าของแกลเลอรี่จากอาคารโรงสี ‘1984+1’ มาคุยกันเรื่องนิทรรศการใหม่ของเขา ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลา แต่เมื่อถึงเวลา เรากลับพบคุณแม่คนหนึ่งอุ้มเด็กทารกอยู่ในอ้อมกอดภายในห้องจัดแสดง แต่ก่อนที่เราจะทันได้ถามว่าบทบาทการเป็นพ่อของเขาส่งผลต่อชีวิตศิลปินที่เคยเป็นแค่ไหน เขาก็เฉลยกับเรา ว่าลูกน้อยคนนี้นี่แหละ คือหนึ่งในที่มา ของงานที่รุนแรงแต่ก็ “น่ารัก” งานนี้

“การมีลูกทำให้เราเกิดความคิดว่า ถ้าลูกเราไม่สามารถจะอยู่ในประเทศนี้ได้อีกต่อไป เพราะประเทศมันเป็นแบบนี้ เขาอาจจะเป็นคนรุ่นที่ต้องไปเป็นผู้อพยพในประเทศอื่นจริง ๆ” เขากล่าว ซึ่งอาจตรงกับความรู้สึกร่วมของใครหลายคนที่หากอยู่ในวัยทำงาน ก็อาจเคยฝันถึงการย้ายประเทศ หรือถ้าเป็นวัยสร้างครอบครัวก็ อาจคิดหนักถึงการแต่งงานและมีทายาทสักคน และการมีลูกของศิลปินคนนี้ ก็ทำให้เขาต้องคิดจริงจังเกี่ยวกับอนาคตที่เขาจะสร้างและส่งต่อไปให้กับลูก ว่ามันจะยังเป็นสังคมแบบที่เราเป็นอยู่นี้หรือไม่… “คนรุ่นใหม่ก็คือคนที่จะต้องอยู่ในประเทศนี้ แล้วคุณก็เห็น ข่าวที่เขาฉีดน้ำกัน เด็กพวกนี้เขาชูสามนิ้วที่ม็อบ คนในข่าวคนนั้นที่มีภาพออกมาเขาก็ต้องไปอยู่ที่ประเทศอื่นแล้ว โดน 112 ไปแล้ว สุดท้ายไม่ได้ไปอยู่ในประเทศนี้”

ในนิทรรศการ ‘Once Upon a Time at Sanamluang’ เขาใช้ภาษาภาพของการ์ตูน สมุดระบายสี รวมไปถึงการดีไซน์ห้องที่แผ่รังสีแห่งอำนาจออกมาผ่านโพเดียมที่ผู้อำนวยการใช้ยืนพูด เขาจินตนาการประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฉบับใหม่ จากเดิมที่เป็นเรื่องของการสังหารและทำร้ายศพผู้ชุมนุมที่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสนามหลวง เขา “เปลี่ยนตอนจบ” ในผลงานการ์ตูนสีสดของเขา และนำภาพถ่าย “ฟาดเก้าอี้” ของ นีล อูเลวิช ที่เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของเหตุการณ์ มาวาดใหม่ด้วยสีสันที่สดใสยิ่งขึ้นไปอีก รวมทั้งจัดทำ “บอร์ดแสดงงานศิลปะ” โชว์ผลงานระบายสีภาพฟาดเก้าอี้เดียวกันนี้ของเพื่อน ๆ ที่เขาส่งภาพโครงร่างไปให้ระบาย

ในบทสัมภาษณ์นี้ ปรีชา รักซ้อน จะมาคุยกับเราเรื่องประสบการณ์และมุมมองต่อโลกที่เปลี่ยนไปหลังจากมีลูก เรื่องการศึกษาประวัติศาสตร์ 6 ตุลาที่ยังค้างคาใจ และเรื่องการศึกษาศิลปะที่เต็มไปด้วยกำหนดกฎเกณฑ์ เรื่องทั้งหมดที่เริ่มต้นมาจากจินตนาการถึงชีวิตของลูกที่เกิดมาได้ไม่นานของเขา ซึ่งทำให้นิทรรศการที่มีความหมายอยู่แล้ว มีความหมายใหม่เพิ่มขึ้นไปกว่าเดิม

คำถามจากลูกเล็ก

“จริง ๆ สมัยเด็ก ๆ เราเรียนอยู่แถวท่าพระจันทร์ เวลาผ่านสนามหลวง เราก็ไม่ได้รู้สึกอะไร” คือคำตอบของปรีชา หลังเราถามถึงที่มาที่ทำให้สนใจประวัติศาสตร์ดำมืดนี้ของไทย “ก็เพราะมีลูกนั่นแหละ ถึงเริ่มคิด”

“การมีลูกทำให้เราคิดว่าถ้าลูกเราไม่สามารถจะอยู่ในประเทศนี้ได้อีกต่อไป เพราะประเทศมันเป็นแบบนี้ เขาอาจจะเป็นคนรุ่นที่ต้องไปเป็นผู้อพยพไปเป็นคนประเทศอื่นจริง ๆ เหมือนคนจีนอพยพมาอยู่ไทย แล้ววันหนึ่งเขาถ้าเขาอยู่ไม่ได้จะเกิดอะไรขึ้น มันคือสำนึกต่อประเทศชาติของเราว่า เราเริ่มมีลูกแล้ว แล้วลูกเราจะมีอนาคตอย่างไรในประเทศนี้ ก็เลยรู้สึกว่าอันนี้เป็นสิ่งที่เราอยากเล่ามากกว่า เพราะว่าจริง ๆ มันเป็นเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์ชาติ” เขาอธิบาย

“เราคิดในแง่ของเราว่า เราอยากทำเรื่องนี้เพื่อเล่าเหตุการณ์นี้ อยากให้เห็นว่าเหตุการณ์นี้มันต้องรู้ว่าประวัติศาสตร์มันมีหลากหลาย ว่าภาพที่วาดในงานนี้มันก็เป็นภาพแทนของอะไรบางอย่างได้ชัดเจนที่สุด ที่ทำให้เห็นว่ามนุษย์เราฆ่ากันได้ขนาดนี้ แล้วเกิดขึ้นที่ใจกลางกรุงเทพที่สนามหลวง

“ฟังก์ชั่นการใช้งานของสนามหลวงก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ก็คงทำให้ไม่มีใครรู้หรอกว่าเกิดเหตุการณ์นี้ แต่ว่าถ้าเกิดเป็นคนที่เขาสนใจเขาให้ค่า เขาอาจจะไปสร้างอนุสาวรีย์เรื่องนี้ขึ้นมากลางสนามหลวงเลยก็ได้ เพื่อจะได้เรียนรู้ เหมือนกับเหตุการณ์กวางจูที่พูดถึงเหตุการณ์การเมือง แต่ว่าด้วยเงื่อนไขของชีวิตเรา เราก็ทำเท่าที่เราทำได้ เพราะว่ามีคนรุ่นต่อไปที่จะอยู่ต่อ เราเลยมานึกถึงลูกชายมากกว่า คือเราก็อยู่ของเราไปเรื่อย ๆ แต่สำนึกมันเกิดเพราะว่ามันมีคนรุ่นต่อ ๆ ไปมากกว่า”

สำหรับเขา ภาพอนาคตที่พร่ามัวอยู่หลังม่านหมอก เกี่ยวข้องอยู่กับภาพอดีตที่โหดร้ายอย่างชัดเจน โดยมีจุดเชื่อมโยงคือระบอบแห่งความรุนแรงที่ดูเหมือนว่าจะยังทำงานอยู่

“เหตุการณ์นี้มันสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ของประเทศเรา มันสมควรอยู่แล้วที่จะให้เห็นภาพของบ้านเราจริง ๆ ผมคิดว่าคนควรเห็นภาพนี้อย่างน้อยก็สักครั้งหนึ่ง จะได้รู้ว่าจริง ๆ แล้วบ้านเราเป็นยังไง แล้วคุณจะคิดอย่างไรก็แล้วแต่คุณ คุณไม่เดือดร้อนเพราะมันไม่ใช่เรื่องของคุณไง แต่ถ้ามันเป็นเรื่องของคุณคุณก็จะเดือดร้อน ผมเดือดร้อนเพราะว่าผมมีลูก ก็กังวลว่าเดี๋ยวเหตุการณ์แบบนี้จะวนกลับมาอีกหรือเปล่า แล้วจะเป็นลูกผมหรือเปล่า หรือจะเป็นรุ่นใหม่ ๆ หรือเปล่า เพราะว่าคนรุ่นใหม่ก็คือคนที่จะต้องอยู่ในประเทศนี้ แล้วคุณก็เห็นข่าวที่เขาฉีดน้ำกัน เด็กพวกนี้เขาชูสามนิ้วที่ม็อบ คนในข่าวคนนั้นที่มีภาพออกมาเขาก็ต้องไปอยู่ที่ประเทศอื่นแล้ว โดน 112 ไปแล้ว สุดท้ายไม่ได้ไปอยู่ในประเทศนี้”

“ประวัติศาสตร์ในหนังสือเรียนอาจจะพูดแค่ว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก มีความรุนแรง แต่ไม่บอกว่าภาพความรุนแรงเป็นอย่างไร เราคิดว่าเหตุการณ์นี้หรือภาพนี้มันควรจะต้องถูกมองเห็นหรือถูกให้ความสำคัญเพื่อปกป้องประวัติศาสตร์บ้าง และอยากพูดถึงเหตุการณ์นี้โดยใช้เรื่องของ “ศิลปะขั้นต้น” ที่เราเรียนรู้กันตอนเด็ก ๆ เช่นรูปประกวดระบายสีติดบอร์ด ชุดนี้ก็จะเป็นลักษณะเราเขียนเอาต์ไลน์เป็นเส้นโครงร่างภาพขึ้นมา แล้วก็ส่งให้เพื่อนฝูง อย่างเช่นนักศึกษา ทนายความ อดีตส.ส. เชฟ ฯลฯ ก็คือหลากหลายอาชีพ เพื่อทำการประกวดภาพกัน เหมือนกับวิชาศิลปะ”

วาดตำราประวัติศาสตร์

“มันมีเหตุผลกลใดคุณถึงจะไม่พูดถึงเหตุการณ์นี้ ทั้งที่ก็พูดถึงเหตุการณ์อื่น” เราถามเขาว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาสำคัญอย่างไรกันแน่สำหรับเขา “คุณยกเรื่องพระเจ้าตากขึ้นมา เรื่องพระนเรศวรขึ้นมา แล้วทำให้มันเป็นประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่เชิดชูชาติ แต่ชาติแบบนี้ที่เป็นเรื่องความโหดร้าย มันเป็นอะไรที่ทำไมคุณถึงพยายามปกปิด” เขาตอบ

“นึกถึงอนุสาวรีย์ที่อยู่มาดี ๆ ก็มีใครไม่รู้ไปโละมันทิ้ง แล้วไม่รู้มันอยู่ไหนแล้วทุกวันนี้ อีกเดือน สองเดือน สามเดือน ความทรงจำของเรื่องนี้ก็หายไปได้เลยนะ แต่ถ้าเรามีหลักฐานหรือถ้าเรามีวัตถุ (object) ภาพมันก็ยังย้อนกลับมา เมื่อใดที่เราเห็นภาพนี้ ต่อให้เป็นของจริงหรือเป็นแค่ฟอร์ม มันก็อาจจะฉุกคิดขึ้นมา มันยังต้องคงอยู่ มันเป็นประวัติศาสตร์ สุดท้ายประวัติศาสตร์ของชาติเรามันต้องประกอบด้วยสิ่งเหล่านี้ด้วย”

แต่เราก็ยังสงสัยอยู่ว่ามันจำเป็นด้วยหรือที่จะต้องให้เด็กรับรู้เรื่องความโหดร้ายเหล่านี้?

“ทุกวันนี้สื่อมันรุนแรงกว่าเหตุการณ์นั้นมากแล้วเด็กรับรู้กันขนาดไหน เรื่องเหตุการณ์นี้จริง ๆ ก็ถกเถียงกันได้ว่าควรจะรับรู้ตอนอายุเท่าไหร่” เขาตอบ

“ประเด็นของผมก็คือ เหตุการณ์ในภาพฟาดเก้าอี้นี้ เมื่อคุณเห็นแล้ว คุณรู้สึกอย่างไร หรือคุณคิดว่าบ้านเมืองเราเป็นอย่างไร เรื่องความเกลียดชังหรือเรื่องอะไร มันก็ต้องมามองกันว่า สุดท้ายไม่ว่าคุณจะขัดแย้งกันอย่างไร คุณก็ฆ่ากันไม่ได้ หัวใจสำคัญคือเราเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อจะไม่ทำซ้ำในสิ่งที่เลวร้ายใช่ไหม ไม่อย่างนั้นพวกเยอรมันเขาจะรวบรวมประวัติศาสตร์ของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มาเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ทำไม เขาทำเพื่อไม่ให้มันวนกลับมาไง อย่างที่ฉีดน้ำม็อบช่วงคุณประยุทธ์นั่นยังไม่มีคนตาย แต่ถ้าพูดถึงเหตุการณ์เสื้อแดงมันก็มีคนตายนะ มันผ่านเหตุการณ์แบบ 6 ตุลาฯ มาแล้วมันก็ยังเกิดขึ้นซ้ำอยู่ดี คุณถกเถียงกันไปสิ จะแบ่งฝักแบ่งฝ่ายยังไง แต่คุณฆ่ากันไม่ได้ คุณสะใจกับความตายไม่ได้ คุณเห็นภาพเด็กยิ้มกับคนที่ถูกฆ่า คุณต้องคิดดูว่ามันไปถึงขั้นนั้นได้อย่างไร”

“มันไม่มีข้อเท็จจริงใดที่แน่นอนเป็นหนึ่งเดียวหรอก มันมีแต่ความเห็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่พูดถึงเหตุการณ์นี้ในรูปแบบใดเท่านั้น เพราะว่าเหตุการณ์นี้มันมีหลายฝ่าย เหมือนพวกสามก๊กทำอะไรแล้วเหตุการณ์มันชุลมุนพาไปจุดไหน ทำไมทหารลงมาตรงนี้ ทำไมตอนนั้นมีคอมมิวนิสต์ ฯลฯ แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือภาพแทนความโหดร้ายที่มันถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นอะไรสักอย่าง แล้วสุดท้ายก็เกิดการฆ่ากัน ภาพลักษณ์ของเหตุการณ์มันทรงพลังในฐานะภาพบางอย่างสำหรับเรามากกว่า ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องเล่าที่เรารู้สึกว่าเป็นแบบนี้แหละ สุดท้ายก็ไม่เปลี่ยนอยู่ดี”

วิชาการ์ตูน

แต่จากภาพถ่ายที่อัดแน่นไปด้วยความรุนแรงอย่างสมจริง ทำไมเขาถึงเลือกถ่ายทอดมันใหม่ในศิลปะแบบเด็ก ๆ? “งานชุดนี้มันเริ่มมาจากคำถามว่า ภาพเหล่านี้ ถ้าเราเอามาทำให้มันเป็นการ์ตูน หรือถ้ามันถูกสร้างขึ้นมาด้วยรูปแบบอื่น ความรุนแรงของมัน หรือศิลปะที่มันเป็น มันจะยังอยู่ไหม ความรุนแรงจะลดลงหรือจะมากขึ้น หรือจะเกิดไอเดียอะไรมากขึ้น”

“เราได้แรงบันดาลใจมาจากพวกการ์ตูนสมัยเด็ก แล้วก็พวกหนังสือเราเรียนแก้วกล้า มันก็จะเป็นศิลปะลายเส้นแบบน่ารัก ๆ แต่มันทำให้รุนแรงขึ้น หรือว่าน้อยลง หรือมันหนักขึ้นกว่าเดิมอีก ความน่ารักนี้มันช่วยอะไรกับความรุนแรงไหม”

“เวลาคุณไปดูอะไรสำหรับเด็ก ๆ มันจะมีความสดใส มันจะมีแต่สิ่งที่สว่างจ้า มันจะไม่มีการโดนเบรกสี มันจะเป็นไม่ใช่การออกแบบให้มันคุมโทน สีมันต้องสดตลอด” เขาชี้ไปที่ภาพที่ใหญ่ที่สุดด้านหลังห้อง ซึ่งมีโทนสีแทบจะตรงข้ามกับภาพถ่ายต้นฉบับของนีล อูเลวิช

“มันพูดถึงในแง่ของการมองย้อนกลับไปว่าลายเส้นสมัยเด็กหรือรูปแบบที่เด็กสื่อสาร มันสื่อสารให้ฟังด้วยการ์ตูนหรือสิ่งที่น่ารัก เพราะว่าตอนเด็ก ๆ ป. 2 - 3 เราไม่ชอบความเหมือนจริงนะ เราชอบโดเรม่อน ชอบโนบิตะ มันอาจจะเป็นเรื่องของจิตวิทยาหรือเรื่องของการเติบโตจนมองอะไรที่เป็นความเป็นจริงมากขึ้น เราก็เอาความทรงจำจากสิ่งที่เรียกว่าศิลปะหรือสิ่งที่ชอบในวัยเด็กมาอธิบาย”

“ในความคิดของคนดูก็อาจจะหลากหลาย ภาพเหมือนจริงมันพาเราไปสู่อารมณ์แบบหนึ่ง แต่ความเป็นการ์ตูนหรือความเป็นภาพประกอบมันก็มีเงื่อนไขของมันที่จะพาเราไปสู่เงื่อนไขอย่างหนึ่ง อย่างเช่นชุดนี้เราก็นึกถึงแผ่นพับคู่มือใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ บนเครื่องบิน” เขาพูดถึงการ์ตูนช่องที่จินตนาการประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ ขึ้นมาใหม่ “การ์ตูนมันเล่าได้ตั้งเยอะ แล้วมันก็เป็นภาพนิ่งด้วยเราสามารถใช้เล่าได้ทั้งอัน ศาสตร์ของการ์ตูนมันคือช่องว่างระหว่างภาพสองภาพ ทำให้คนอ่านจินตนาการลงไปในพื้นที่นั้นเองได้”

นอกจากงานการ์ตูนช่องและภาพวาดขนาดใหญ่ของเขาแล้ว ที่กำแพงด้านขวาของห้องก็เป็น ‘บอร์ด’ ประกวดภาพที่เขาให้เพื่อน ๆ ระบายสีภาพ 6 ตุลาณ ภาพเดียวกันนี้ใหม่เอง จากที่เขาวาดกรอบเอาไว้ให้ “เราทำเพื่อวิพากษ์การศึกษาหรือวิพากษ์สิ่งที่ครูสอนศิลปะหรือทุกคนในสมัยเด็กสอนว่าศิลปะมันคืออะไร เราใช้สมุดระบายสี ใช้ทุกอย่างที่โอบล้อมมาตั้งแต่วัยเด็ก เพื่ออธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น ว่าสำหรับครูศิลปะ เธอเขียนอย่างนี้คือเก่ง เธอระบายต้นไม้ไม่ใช่สีเขียวไม่ได้นะ เธอระบายสีอื่น หรือใส่สีรุ้งในต้นไม้ไม่ได้นะ มันไม่ใช่ มันเป็นคนละเงื่อนไขกัน เราก็เอาเงื่อนไขนั้นแหละสิ่งที่ถูกสอนมามาปลูกฝังเป็นเรา มาถ่ายทอดกันมาอีกทีหนึ่ง เอาวิธีการที่เคยบอกตอนเด็ก ๆ มาใช้อธิบายเรื่องนี้ ว่ามันเบาลงหรือเปล่า”

“บางอย่างมันฝังกับตัวเราแล้วว่าสกิลที่เรามีกับตัว เราจะพยายามจะทำงานเป็นหน้าตาแบบนึง เราก็พยายามที่จะคิดหรือพลิกออกจากตรงนั้น อย่างน้อย ๆ พยายามที่จะก้าวเดินไปตามเส้นทางที่เรามองแบบนี้ เราใช้วิธีการแบบนี้ก็ได้ ไม่ได้พยายามจะยึดติดกับทักษะ”

ได้ยินอย่างนี้แล้วก็สงสัย ว่ามีผลงานของเพื่อนชิ้นไหนสักชิ้นไหมที่เขาจะให้คะแนนเต็ม “จริง ๆ พอเป็นชุดนี้ เราตั้งเงื่อนไขไว้ว่าเราจะไม่ ‘ตัดเกรด’ ใครเลย เราคิดว่าไม่ควรจะไปบอกว่าภาพอันนี้ดีกว่าอันนี้ มันคือการแสดงออก แล้วเราคิดว่าขั้นต้นของการที่คนเราจะสร้างสรรค์ก็คือปล่อยให้เขาไปทำสิ่งนั้น แค่มาถกกันเฉย ๆ ว่าคุณคิดอย่างนี้เพราะอะไร มันไม่ควรจะถูกตัดสิทธิ์จากแค่ไอเดียของใครสักคน ไม่ได้คิดถึงเงื่อนไขว่าอันนี้ดีกว่าอันนี้ แค่คิดว่าอันนี้น่าสนใจในมุมนี้ อันนี้ตัวคนเป็นครูตีความแบบนี้ คนยุคสมัยนี้คือตีความแบบนี้มากกว่า”

“อย่างน้อย ๆ มันก็เป็นที่ให้ระบายนะ ส่วนตัวได้สื่อสารความเห็นของเราในวิชาชีพ เรามีเครื่องมืออะไรบ้างก็ทำแบบนั้น เราก็เอาสิ่งที่เราคิดมาคุยเรื่องนี้ด้วยวิธีการแบบนี้ได้” เขาทิ้งท้ายแบบที่เราไม่แน่ใจนักว่าสิ้นหวังหรือเต็มไปด้วยความหวัง “ก็เชิญชวนนะ เชิญชวนให้มา แล้วก็ดูว่ารู้สึกกับมันอย่างไร”