กรกฤต อรุณานนท์ชัย บทสนทนาว่าด้วยการเป็นศิลปินนัก ‘ปลุกผี’ ร่างทรงนักปรัชญา การปฏิบัติสมาธิ และการเกิดใหม่
เขาคือศิลปินที่สื่อศิลปะ ArtReview ยกให้เป็นหนึ่งใน 100 ผู้ทรงอิทธิพลด้านศิลปะของโลก ผู้ทำให้ใครต่อใครขนลุกตลอดตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้านิทรรศการแสนรุนแรงของเขา เราเลยรู้สึกแปลก ๆ นิดหน่อยตอนทีศิลปิน กรกฤต อรุณานนท์ชัย พูดกับเราว่า “เราก็ไม่ได้เป็นคนที่ประสบการณ์เยอะนะ คือก็อ่าน ฟัง คุยกับคนนู้นคนนี้ ไม่ได้เป็นศิลปินที่มาจากสถานะแบบผู้รู้ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ก็คือเป็นคนที่ไม่รู้เหมือนกัน”
และเมื่อบทสนทนาครึ่งชั่วโมง (ที่กลายมาเป็นบทสัมภาษณ์เกือบสิบหน้าชิ้นนี้) จบลง เราก็แอบสรุปเองในใจ ว่าเขาคือนักคิดที่มีไอเดียสดใหม่แบบเฉพาะตัวที่สุดคนหนึ่งเลย แต่ในขณะเดียวกันเขาก็อ้างอิงถึงนักคิดผู้เป็นรากฐานของเขาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นไมเคิล มาร์เดอร์ (Michael Marder), เอดัวด์ กลิสซานต์ (Édouard Glissant), ซีโมน วายล์ (Simone Weil) รวมไปถึงการปฏิบัติทางสมาธิ ที่มีบทบาทในวิธีการคิดของเขาคนละแง่มุมกัน
นิทรรศการ ‘nostalgia for unity’ ของเขาซึ่งกำลังจัดแสดงอยู่ที่ Bangkok Kunsthalle เป็นจุดบรรจบกันพอดีของสิ่งที่เขาประมวลได้จาก ‘กรอบการทำงานที่ว่าด้วยผี’, จุดเช็กอินเสพย์งานศิลป์ที่ถ่ายรูปสวย และพื้นที่เสียดสีนายทุนใหญ่เมืองไทยที่เข้ามามีบทบาทในวงการศิลปะ
“ถ้ามองผีเป็นเจตจำนง (will) อย่างหนึ่ง หรือมองเป็นอุดมการณ์ — อย่างเช่นมาร์กซิสม์ ที่แดริดาเรียกว่าเป็นผีของมาร์กซ์ (Specters of Marx) — ความแค้น [ของผี] ก็เป็นเหมือนกับความผิดหวัง เป็นเรื่องของอนาคตที่ไม่สามารถมาถึง (Lost future) ที่รอคอยร่างกายใหม่ ๆ ให้มันมาสิง
“ในงานนี้การแสดง (performativity) ที่เกิดขึ้นคือแสง แล้วนักแสดงหลัก ๆ ของแสงก็คือพระอาทิตย์ ที่มันถูกกรองผ่านชั้นบรรยากาศ ผ่านหมอกที่เราสร้างขึ้น หรือว่าผ่านเมฆฝน หรือในช่วงเวลาที่ไร้การมีอยู่ของมัน นั่นก็คือตอนกลางคืน — เพราะว่าการจะรู้สึกถึงช่องว่าง หรือสิ่งที่เราคิดว่ามันมีอยู่ หรือกึ่งกลางระหว่างความมีอยู่กับไม่มีอยู่เนี่ย เรารู้สึกได้จากทางภาษา ทางวัฒนธรรม”
“งานนี้ไม่ใช่การโปรโมตให้คนมานั่งสมาธิ เพราะถ้าจะนั่งสมาธิ มันก็มีวัด มีศูนย์ปฏิบัติวิปัสสนา ศิลปินแค่ต้องสร้างอะไรที่น่าสนใจ ในพื้นที่ที่อาจจะไม่มีอะไรอย่างนั้นอยู่ ศิลปินเป็นคนเติมช่องว่าง ศิลปินไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่นักบำบัด ไม่ใช่หมอ มันดีที่สุดที่เราจะไปเติมช่องว่าง เพราะมันยังไม่มีอาชีพที่ทำหน้าที่นั้น ถ้าคุณเป็นพระ คุณก็ต้องทำเพื่อศาสนา แต่ศิลปินไม่ต้องทำเพื่อใครเลย ท้ายที่สุดแล้วมันคือการทำเพื่อตัวเอง แต่ตัวเองก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกเหมือนกัน”
“คือถ้านึกถึง Nostalgia For Unity ในประเทศที่มีแต่คนไว้ทุกข์ หลังจากที่ประสบกับเหตุการณ์เลวร้ายมา คนเหล่านี้ก็จะต้องการหรือโหยหาบางสิ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกลออกไป สิ่งที่เราทำก็คือการปล่อยให้พวกเขาไปแสวงหาสิ่งนั้น แต่อดีตมันเป็นพลังขับเคลื่อนมาโดยตลอด ถ้ามองแบบอนุรักษ์นิยม เขาก็จะพูดถึงเมื่อก่อนที่ยังดีกว่านี้ (good old days) ถ้ามองแบบตำนานก็เหมือนกับสมัยก่อนคนเราคุยกับพญานาคได้ แต่สมัยนี้เข้าไม่ถึงแล้ว มันมีบริบทตรงนี้ตลอด ต้องใช้อดีตเพื่อที่จะไปถึงอนาคต แต่ในขณะเดียวกันคนที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงโค่นล้มฝ่ายที่ชนะมันก็ใช้อะไรแบบนี้เหมือนกัน”
วิธีการคิดและการทำงานของเขามักจะเกี่ยวข้องกับผี แต่ก็ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของผี หรือที่จริงผีอาจจะเป็นแค่กรอบความคิดที่เขาใช้ทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ เลยก็ได้ ไม่ได้เป็นวัตถุที่เขาหยิบขึ้นมาเล่าเรื่องอะไร เช่นเดียวกับนิทรรศการนี้ ที่เริ่มต้นจากการล่มสลาย แล้วก็กลายมาเป็นความว่างเปล่า แต่ก็ยังเป็นความว่างเปล่าที่อาจจะสร้างความสะพรึงหรือความหวังก็ได้ ให้กับคนที่มาดู
หลายคนอาจจะพอคุ้นตากับนิทรรศการนี้แล้ว จากคอนเทนต์ถ่ายภาพเช็กอินจำนวนมากในโลกอินเตอร์เน็ต ซึ่งในประเด็นนี้ เขาก็แอบบอกเราแล้วด้วยเหมือนกัน ว่าเขาไม่อยากไปกำหนดกฎเกณฑ์วิธีการชมงานของคนอะไรมากนัก แต่ก็ไม่อยากให้ผู้ชมรู้สึกถูกรบกวนประสบการณ์กับงานนี้ เขาเลยตัดสินใจให้ทุกวันพุธเป็นวันงดถ่ายภาพ ตั้งแต่วันพุธที่ 26 มิถุนายนนี้เป็นต้นไป ซึ่งถือเป็นทางออกที่น่าสนใจมาก ๆ สำหรับนักชมงานศิลปะทุกรูปแบบเลย
แต่สำหรับตอนนี้ ถ้าอยากรู้แล้วว่ามันมีอะไรกันแน่อยู่เบื้องหลังนิทรรศการยอดฮิต เราอยากชวนมาอ่านบทสัมภาษณ์นี้ของเขากัน เพราะเราเชื่อว่ามันอ่านสนุกเหมือนนั่งฟังนักคิดสักคน พูดสิ่งที่เขาหลงใหลและทำงานกับมันมานาน
GroundControl [GC]
ผลงานที่ผ่านมาของคุณดูจะเต็มไปด้วยความโกลาหล แต่คราวนี้กลับเต็มไปด้วยความว่างเปล่า เกิดอะไรขึ้นกับคุณหรือเปล่าถึงเกิดความเปลี่ยนแปลงนี้?
กรกฤต อรุณานนท์ชัย [KA]
“จริง ๆ ถ้าดูงานที่ผ่านมาเรื่อย ๆ จะเข้าใจว่าผมทำงานกับสื่อ (medium) หรือสิ่งเปรียบเปรย (metaphor) ที่เรียกว่า ‘Ghost’ (ผี) มาตลอด คือผีเนี่ยเป็นทั้งวัฒนธรรม วัตถุ ประเพณี และภาษา แล้วก็อาจเป็นแค่คำคำหนึ่งที่เราสร้างความหมายขึ้นมา ถ้ามองในมุมนี้ ผีก็จะเป็นทั้งสิ่งที่มีรูปกายภาพ และสิ่งที่จับต้องไม่ได้
“พอดีว่าช่วงโควิด เราได้ทำนิทรรศการ ‘PRAY’ ที่ Bangkok Citycity Gallery ซึ่งตอนนั้นจะทำเพอร์ฟอร์แมนซ์ด้วย สิ่งที่คิดอยู่ตลอดในช่วงเวลานั้นคือคำว่า Ghost Layers (ชั้นที่ซ้อนกันอยู่ของผี) ตอนแรกเรามองเห็นภาพมันเป็นความมืด เป็นงานที่เล่นกับการควบคุมแสง แต่พอโควิดมา เราทำเพอร์ฟอร์แมนซ์ไม่ได้ เลยกลับมาคิดเรื่อง ‘ภาวะการแสดง’ ของงานแทน (performative) มันก็เป็นการแสดงเหมือนกัน เพียงแต่เป็นการเพอร์ฟอร์มที่ไม่ได้ใช้ร่างกายคน สุดท้ายจึงกลายมาเป็น Nostalgia For Unity ที่เพอร์ฟอร์แมนซ์ที่เกิดขึ้นนั้นมาจากแสง แล้วนักแสดงหลัก ๆ ของแสงก็คือพระอาทิตย์ ที่มันถูกกรองผ่านชั้นบรรยากาศ ผ่านหมอกที่เราสร้างขึ้น หรือผ่านเมฆฝน หรือในช่วงเวลาที่ไร้การมีอยู่ของมันอย่างตอนกลางคืน เพราะว่าการจะรู้สึกถึงช่องว่าง หรือสิ่งที่เราคิดว่ามันมีอยู่ หรือกึ่งกลางระหว่างความมีอยู่กับไม่มีอยู่ เรารู้สึกได้จากทางภาษา ทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไร้กายภาพ
“ผมเคยเขียนไว้ในวิดีโอเมื่อก่อนว่า ‘Word makes world’ ภาษาสร้างวัฒนธรรม สร้างโลก มันทำให้เราเชื่อ ถ้าเราเข้าไปในที่ที่คนเชื่อพญานาค เราก็จะเชื่อพญานาค แต่เพื่อที่จะไปจับสิ่งที่มันจับต้องไม่ได้พวกนี้ เราต้องทำให้มันเงียบ ให้มันนิ่ง เราต้องจับช่องว่างตรงนี้ให้ได้
“เมื่อก่อน เวลาเราเอาไฟมาอยู่ในงาน มันเป็นเพราะตัวงานมันไม่มีไฟ แต่ตอนที่เราได้ไปทำงานที่วัดร่องขุ่น จังหวะดีมาก เราได้คุยกับศิลปิน เออร์เนสโต [เนโต] แล้วก็ตกผลึกได้ว่าวัดร่องขุ่นมันเป็นไฟในตัวมันอยู่แล้ว เป็นไฟสีขาวอยู่ ภาพของวัดนี้มันเป็น Freeze Frame (ภาพที่หยุดนิ่งจากภาพเคลื่อนไหว) ของไฟ สิ่งที่ผมสนใจที่สุดและคิดถึงอยู่ตลอดก็คือเรื่องพื้นดินกับท้องฟ้า เรื่องพญานาค พญาครุฑ พอได้มาทำงานที่วัดก็รู้สึกว่าไม่เคยคิดเรื่องนี้มาก่อนเลย คิดแบบเด็ก ๆ ว่าจะทำงานภาพวาด ก็เลยทำฟรอยด์สีทอง ‘Burn it away to create it again’ (เผามันไปเพื่อสร้างมันใหม่) พอมาตอนนี้ เราเห็นแล้วว่าวัดทุกวัดคือไฟที่ถูกสร้างขึ้น ไม่ว่าจะวัดหรือโบสถ์ ดีไซน์มันเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว เรานึกว่าเราจะไปสร้างอะไรใหม่ แต่จริง ๆ แล้ว ไฟมันอยู่ตรงนั้นของมันอยู่แล้ว
GC
ทำไมถึงใช้นกฟีนิกซ์มาเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งทางการเมือง สังคม หรือในแง่ประวัติศาสตร์ รวมทั้งอาคารไทยวัฒนาพานิชเดิมแห่งนี้
KA
“งานนี้เราเอาเรื่องของนกฟีนิกซ์มา เริ่มจากการอ่านหนังสือเกี่ยวกับ Psychoanalysis of Fire ก่อนแล้วก็มีหนังสือสองเล่มที่ใช้ทำงานนี้คือ The Phoenix Complex แล้วก็ Pyropolitics (ทั้งสองเล่มโดยไมเคิล มาร์เดอร์)
“ใน Pyropolitics เขามองนกฟีนิกซ์กับเรื่องของปฏิบัติการทางการเมือง คือถ้ามองไปทุกครั้งที่มีการปฏิวัติ ทุกครั้งที่ประวัติศาสตร์ถูกเขียนขึ้น มันจะมีคนแพ้ที่มอดไหม้ไป เขาจึงชวนย้อนกลับมามองว่า ทำไมผีถึงมีความแค้น
“ถ้ามองผีเป็นเจตจำนง (will) อย่างหนึ่ง หรือมองเป็นอุดมการณ์ อย่างเช่นลัทธิมาร์กซิสม์ ที่แดริดาเรียกว่าเป็นผีของมาร์กซ์ (Specters of Marx) ความแค้นของผี ก็เป็นเหมือนกับความผิดหวัง เป็นเรื่องของอนาคตที่มาไม่ถึง เป็นสิ่งที่รอคอยร่างกายใหม่ ๆ ให้มันมาสิง
“ฟีนิกซ์ก็เหมือนกัน การมอดไหม้ของมันคือการหมดพลัง กลายเป็นเถ้าถ่าน การที่มันจะกลับมาเกิดใหม่ได้ มันต้องการคนภาวนา แล้วทุกทีที่มันไหม้ มันเผาทั้งรังของมันและตัวมันเองด้วย การจะได้ชีวิตใหม่ขึ้นมา มันต้องสูญเสียก่อน เป็น ‘The promise of an eternal return’ (คำมั่นแห่งการกลับคืนชั่วนิรันดร์)
“ส่วนเล่ม Phoenix Complex เขาจะมองเป็นเรื่องธรรมชาติ มองเป็นเรื่องยุคมนุษยสมัย (anthropocene) ว่าธรรมชาติจะไม่ย้อนกลับมาเป็นเหมือนเดิม แต่นัยหนึ่งการจะกลับมาของธรรมชาติมันก็เกี่ยวกับการเผาผลาญวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นร่างกายหรือการเป็นอยู่ของมนุษย์ไปด้วย มันมีความสวยงาม แต่ก็มีความรุนแรง
“ถ้ามองว่าโลกอยู่ในจุดมนุษยสมัย ตอนนี้ก็อยู่ในจุดที่มันเป็นเกลียววนลงอยู่ ไม่ได้เป็นวงเวียนซ้ำเหมือนเดิม คือโลกของเรามีกฎอย่างหนึ่งที่เรียกว่าเอนโทรปี ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อเวลาผ่านไป ทุกอย่างจะกลายเป็นขี้เถ้า กลายเป็นคาร์บอน เป็นอณูที่มันเท่ากัน สิ่งที่ทำให้แตกต่างกันก็คือพลังงานความร้อน เพราะฉะนั้นถ้าเอาความร้อนออกไป ทุกอย่างสั่นไหวน้อยลง มันก็เป็นสิ่งเดียวกัน แล้วในสิ่งเดียวกันนี้ก็คือความมืดมิดที่ไม่มีปัจเจกบุคคล ไม่มีอะไรเลย ไม่มีความแตกต่าง อันนี้อาจจะฟังดูศาสนามาก แต่นี่คือกฎของจักรวาล มันเหมือนกับว่าตอนนี้เราอยู่ในเกลียวที่วนลง เราเผชิญกับการสูญเสียมากมาย น้ำท่วม แผ่นดินไหว แล้วธรรมชาติมันใหญ่กว่าเรานะ การเกิดใหม่ของมันอาจจะไม่ได้รวมเราอยู่ด้วย หรืออาจจะรวมก็ได้ หรืออาจจะรวมกับเวอร์ชั่นอื่นของประวัติศาสตร์ของเราที่ถูกทิ้งไปแล้วก็ได้
GC
ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณของคุณส่งผลอย่างไรบ้างในการทำงานนี้
KA
“คือเราโตมาโดยรู้สึกว่าเรื่องทางจิตวิญญาณ (spirituality) เป็นเหมือนการถามตอบ เหมือนถ้าขออะไรแล้ว ถ้ามันเป็นจริงก็คือสิ่งเหล่านั้นมีอยู่จริง ทีนี้ก็ได้อ่านหนังสือที่เอามาใช้ตั้งแต่งานเก่า ๆ จากนักเขียนที่ชื่อเอดัวด์ กลิสซานต์ (Édouard Glissant) กับอีกคนคือซีโมน วายล์ (Simone Weil) ตัวซีโมน วายล์ แม้ว่าเขาเป็นนักเคลื่อนไหว แต่เขายังมีพื้นที่ว่างให้กับความเชื่อ ให้กับพระเจ้าของเขา แต่เขาเก็บมันเป็นพื้นที่ว่างจริง ๆ ไม่ได้เอาอะไรมาใส่ จริง ๆ เขาอาจจะไม่ชอบศาสนาคริสต์ด้วยซ้ำ หรืออย่างกลิสซานต์เอง พระเจ้าของเขาก็สร้างขึ้นมาจากเกาะ ในพื้นที่ที่เขาถูกล่าอาณานิคม
“เราว่าท้ายที่สุดแล้ว เรื่องทางจิตวิญญาณที่พูดถึงกัน มันก็คือ ‘ความว่างเปล่า’ ในการขอพร มันเป็นมิติทางจิตวิญญาณที่อยู่กับการรักษาพื้นที่ว่าง (negative space) เอาไว้ ในฐานะศิลปิน เราก็ต้องต่อสู้กับสัญชาตญาณเก่า ๆ ของตัวเองที่อยากจะใส่อะไรเข้าไปในงาน แล้วก็เอาออกอย่างพอดีที่สุด ให้มันเป็นของขวัญสำหรับคนดูได้ เพราะงานศิลปะมันคือพื้นที่ทดลองทางจิตวิญญาณรูปแบบต่าง ๆ โดยที่ไม่ต้องผูกมัดกับมัน
“ตอนทำงานวิดีโอที่ชื่อ Songs For Dying คุณตาเสียพอดี แล้วก็ได้ไปนั่งสมาธิที่มูลนิธิหนึ่ง มีเพื่อนที่ทำ Nova Contemporary ชวนไป ก็มีพระมานำทำสติ ทำมรณานุสติ เขาเองก็เคยเป็นแกนนำนักศึกษาธรรมศาสตร์ประท้วง แล้วคนที่มาด้วยกันก็น่าสนใจ มีศิลปิน พี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) ก็มาด้วย แล้วทุกคนก็เอาเรื่องของตัวเองไปเข้ากระบวนการ คือผมรู้สึกว่าได้จากตรงนั้นมากกว่าการไปวัด คือผมชอบไปวัดนะ ชอบดูสถาปัตยกรรม แต่ถ้าพูดถึงพุทธศาสนาในภาคปฏิบัติจริง ๆ ผมรู้สึกว่าผมได้อะไรจากการไปมรณานุสติ 4-5 วันครั้งนั้นมากกว่า ตอนที่ไปที่นั่น เขาก็พูดถึงสัตว์โลกทั้งหลายว่าไม่ใช่มนุษย์ ส่วนตัวผมเชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์นะ แต่เขาพูดถึงบริบทจริง ๆ ว่าเป็นพระป่า เข้าไปอยู่ป่าคนเดียว นั่งฟังเสียงสัตว์ แล้วเป็นมนุษย์ก็กลัวสัตว์ อยู่ตอนกลางคืนก็กลัวผี กลัวสิงโต กลัวเสือ เขาพูดถึงตรงนั้น
“แต่ที่พูดถึงยักษ์ในงานนี้ คือเราคิดมาตลอดตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ เช่นเวลาไปหัวหินก็จะผ่านเขาเจ้าลาย ก็จะมีเรื่องเล่าถึงยักษ์ ตกหลุมรักกับเจ้าหญิง แล้วพอโดนทิ้ง ก็โดนฉีกร่าง ขากระเด็นไปอยู่ที่กระบี่ ตัวกระเด็นมาอยู่ที่เพชรบุรี นึกออกไหม มันจะเป็นอะไรแบบนี้ตลอด เรื่องรักข้ามสายพันธุ์ คนกับอะไรที่มันใหญ่กว่าคน ไม่ว่าจะเป็นผี เป็นพระเจ้า หรืออะไรก็แล้วแต่ มันเป็นความรู้สึกลบที่สุดที่คนจะมีได้ ความโกรธ ความผิดหวัง หรืออะไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้มันถูกเก็บไว้ในช่องว่าง (Void) ที่เราเรียกว่าธรรมชาติ เรียกว่าความมืด ว่าผี คือจริง ๆ แล้วสิ่งที่ทำให้ผีมีตัวตนขึ้นมาอาจจะเป็นคนก็ได้ เพราะคนเรานี่แหละที่มอบพลังให้กับสิ่งเหล่านี้ผ่านเรื่องเล่า
“เวลาเราพูดคำว่า God ขึ้นมา เราก็ปลุกทั้งพื้นที่ว่าง (negative space) และพื้นที่ที่มีอะไรอยู่ (positive space) ขึ้นมาด้วย แต่ท้ายที่สุด เวลาเราพูดถึงอะไรขึ้นมา มันก็ทั้งสิ่งที่มีอยู่และไม่มีอยู่ ซึ่งการวิปัสสนาหรือนั่งสมาธิอะไรแบบนี้มันก็เป็นการไปรับประสบการณ์ (experience) ในพื้นที่ว่างตรงนี้แหละ
“แต่เราก็ไม่ได้เป็นคนที่ประสบการณ์เยอะนะ คือก็อ่าน ฟัง คุยกับคนนู้นคนนี้ ไม่ได้เป็นศิลปินที่มาจากสถานะแบบผู้รู้ ไม่ใช่ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ไปผ่านประสบการณ์ศิลปะต่างประเทศ ไปอ่านหนังสือมาแล้วรู้ ก็คือไม่รู้เหมือนกัน สิ่งที่ศิลปินสร้างมันเป็นแค่เครื่องจักรที่ให้ประสบการณ์กับเรา ซึ่งเราก็ไม่จำเป็นต้องไปทำความเข้าใจหรือถอดรหัสมันให้ได้
“งานใน Nostalgia For Unity จึงไม่ใช่งานโปรโมตให้คนมานั่งสมาธิ คือถ้าจะนั่งสมาธิ มันก็มีวัด มีศูนย์ปฏิบัติวิปัสสนา ศิลปินแค่ต้องสร้างอะไรที่น่าสนใจในพื้นที่ที่อาจจะไม่มีอะไรอย่างนั้นอยู่ ศิลปินเป็นคนเติมช่องว่าง ศิลปินไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่นักบำบัด ไม่ใช่หมอ มันดีที่สุดที่เราจะไปเติมช่องว่าง เพราะมันยังไม่มีอาชีพที่ทำหน้าที่นั้น ถ้าคุณเป็นพระ คุณก็ต้องทำเพื่อศาสนา แต่ศิลปินไม่ต้องทำเพื่อใครเลย ท้ายที่สุดแล้วมันคือการทำเพื่อตัวเอง แต่ตัวเองก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกเหมือนกัน เราว่าวัดในแบบไทยส่วนใหญ่ก็เหมือนงาน Installation Art ที่เล่าเรื่องว่าตายแล้วไปไหน แต่เป็นวัฏจักรแบบวงเวียน”
GC
ทำไมคุณถึง “โหยหาความสามัคคี” (nostalgia for unity)
KA
คำที่ว่า Nostalgia For Unity มันมาจากหนังสือชื่อ Sun of Consciousness จาก กลิสซานต์เป็นเหมือนประโยคจบของหนังสือ
“เราว่ามันเป็นการสร้างโลกด้วยการ… ไม่ใช่เรียกว่าทำลาย แต่คือการสร้างใหม่ (decreation) คือตรงข้ามกับการสร้าง (creation) แต่ไม่ใช่การทำลาย เหมือนกับถ้าเราก่อสร้างตึกขึ้นมา เสร็จแล้วเราก็เอาชิ้นส่วนออกทีละชิ้น เพื่อที่จะสร้างใหม่ ถ้าทำลายคือหายไปเลย แต่ตอนที่ฟีนิกซ์ไหม้หมดแล้วกลายไปเป็นเถ้าถ่าน มันไม่ได้ทำลายตัวเองหรือหายไป แต่มันเกิดใหม่ มัน decreate ตัวเอง
“กลับมาที่หนังสือ คือคนเขียนเขาพูดถึงฉากที่ไม่มีมนุษย์ ไม่มีปัจเจกบุคคล มีแค่คนกลุ่มหนึ่ง ฉันเป็นแค่เสียง คือตอนนั้นอ่านแล้วก็คิดถึงการปฏิวัติ การประท้วง คิดถึงเรื่องจิตวิญญาณ แล้วก็คิดถึงธรรมเนียมสมัยก่อน คือถ้านึกถึง Nostalgia For Unity ในประเทศที่มีแต่คนไว้ทุกข์ หลังจากที่ประสบกับเหตุการณ์เลวร้ายมา คนเหล่านี้ก็จะต้องการหรือโหยหาบางสิ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกลออกไป สิ่งที่เราทำก็คือการปล่อยให้พวกเขาไปแสวงหาสิ่งสิ่งนั้น
“Nostalgia For Unity มันเหมือนกับอดีต แต่อดีตมันเป็นพลังขับเคลื่อน ถ้ามองในมุมอนุรักษ์นิยม เขาก็จะพูดถึงเมื่อก่อนที่ยังดีกว่านี้ (good old days) ถ้ามองแบบตำนาน ก็เหมือนกับสมัยก่อนคนเราคุยกับพญานาคได้ แต่สมัยนี้เข้าไม่ถึงแล้ว มันมีบริบทตรงนี้ตลอด ต้องใช้อดีตเพื่อที่จะไปถึงอนาคต แต่ในขณะเดียวกัน คนที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงโค่นล้มฝ่ายที่ชนะมันก็ใช้อะไรแบบนี้เหมือนกัน
“มันดูเศร้า ๆ นะ แต่ก็เหมือนกับที่บอก ว่าเรื่องจิตวิญญาณคือการเก็บช่องว่าง (negative space) ตรงนี้เอาไว้ มันก็เหมือนกัน ในสิ่งที่กลิสซานต์เขียน มันเหมือนกับเห็นคนกลุ่มหนึ่งอยู่ในหมอก พระอาทิตย์กำลังจะขึ้น คือเขาเชื่อว่าพระอาทิตย์กำลังจะขึ้น แล้วคุณในฐานะคนอ่านที่อยู่กับคนเล่า คุณก็รู้สึกว่าพระอาทิตย์มันอาจจะไม่ขึ้นก็ได้ คงไม่ขึ้นหรอก แต่ก็ปล่อยเขาไปเถอะ”
ปัจจุบันเราอาจเห็นศิลปินมากมายพยายามอธิบายยุคสมัยปัจจุบันของโลกที่พวกเรากำลังใช้ชีวิตอยู่นี้ ในขณะที่ศิลปินอีกมากก็ทำความเข้าใจประสบการณ์ชีวิตของตัวเอง ถึงแม้ว่าเขาจะยืนยันว่าไม่ได้เป็นศิลปินผู้รู้อะไร แต่จากบทสัมภาษณ์นี้เราก็อดสนใจไม่ได้ ว่ากรกฤต อรุณานนท์ชัย เป็นศิลปินไทยที่ไปไกลกว่าการทำงานด้วยสื่อเดิม ๆ แบบใด และไปไกลกว่าการอธิบายตัวตนว่าเป็นคนทำงานศิลปะแบบไม่จำกัดสื่อ แต่ศิลปะแห่งการเป็นศิลปินของเขา คือการพยายามอธิบายยุคสมัยแห่งความปั่นป่วนที่เราทุกคนเจออยู่นี้ โดยจัดวางไว้ในวงเกลียวแห่งประวัติศาสตร์ที่วนซ้ำแต่ไม่ได้ย่ำอยู่ที่เดิม ผ่านแหล่งอ้างอิงจำนวนมากที่เขาไปสัมผัส
แนวคิดและประสบการณ์ของเขาจึงดูเหมือนจะเป็นสิ่งเดียวกันที่ไม่สามารถถูกแยกออกได้ เช่นเดียวกับนิทรรศการศิลปะของเขา ที่จะสื่อความครบถ้วนได้ก็คงต้องไปสัมผัสมันด้วยตัวเอง และถ้าอยากวิพากษ์วิจารณ์อะไร เราก็เชื่อว่าจะเป็นการต่อยอดทางความคิดที่ก่อให้เกิดอะไรใหม่ ๆ แน่นอน อย่างน้อยก็คงมีอะไรให้ได้คิดกันสนุก ๆ บ้าง ต่อจากการเข้าไปเช็กอิน