สถาปัตยกรรม ธรรมชาติ และศาสนา คือสามองค์ประกอบแห่งแรงบันดาลใจของเกาดี และผลงานการออกแบบโบสถ์สูงชะลูดกว่า 170 เมตร ที่เรียกว่า Basílica de la Sagrada Famíli ซึ่งสร้างภายใต้คอนเซปต์ ‘ป่าแห่งชีวิตและศรัทธา’ นี้ก็เป็นดังอนุสรณ์สถานแห่งเกาดีที่สะท้อนแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ทั้งสามของเขา

สถาปัตยกรรม ธรรมชาติ และศาสนา คือสามองค์ประกอบแห่งแรงบันดาลใจของเกาดี และผลงานการออกแบบโบสถ์สูงชะลูดกว่า 170 เมตร ที่เรียกว่า Basílica de la Sagrada Famíli ซึ่งสร้างภายใต้คอนเซปต์ ‘ป่าแห่งชีวิตและศรัทธา’ นี้ก็เป็นดังอนุสรณ์สถานแห่งเกาดีที่สะท้อนแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ทั้งสามของเขา

The God’s Architect: ย้อนดู 5 สถาปัตยกรรมในบาเซโลนาของ Antoni Gaudi ‘สถาปนิกของพระเจ้า’

คนที่ฝันจะทำงานสถาปัตยกรรมจะต้องเป็นผู้ที่มีปฏิภาณอันล้ำเลิศและวินัยที่กล้าแกร่ง สถาปนิกคือผู้ที่มองเห็นภาพจบในหัวชัดเจนตั้งแต่ตอนที่งานยังไม่เสร็จ

คือคำกล่าวของศิลปินผู้สร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมที่ถูกกล่าวขานว่า เป็นสิ่งก่อสร้างไม่อาจสร้างเสร็จได้ภายในหนึ่งชั่วอายุคน ซึ่งคำกล่าวนั้นก็ดูจะสอดคล้องกับชีวิตของผู้สร้างที่ไม่ได้อยู่ทันเห็นงานของเขาในวันที่มันเสร็จสมบูรณ์…

แต่ต่อให้มีชีวิตอยู่ยืนยาวมาถึงปัจจุบัน สถาปนิกชาวกาตาลัน อันตอนี เกาดี ก็ยังไ่ม่มีโอกาสได้เห็นภาพงานจริงสำเร็จเสร็จสิ้นเช่นภาพจบในหัวของเขาอยู่ดี เพราะ Basílica de la Sagrada Família มหาวิหารคอทอลิกอันเป็นผลงานที่เกาดีอุทิศชีวิตที่เหลือให้นั้นถูกออกแบบมาให้ต้องใช้เวลากว่า 140 ปีในการสร้าง หรือเกินกว่าหนึ่งชั่วอายุคน

สถาปัตยกรรม ธรรมชาติ และศาสนา คือสามองค์ประกอบแห่งแรงบันดาลใจของเกาดี และผลงานการออกแบบโบสถ์สูงชะลูดกว่า 170 เมตร ที่เรียกว่า Basílica de la Sagrada Famíli ซึ่งสร้างภายใต้คอนเซปต์ ‘ป่าแห่งชีวิตและศรัทธา’ นี้ก็เป็นดังอนุสรณ์สถานแห่งเกาดีที่สะท้อนแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ทั้งสามของเขา

และหากเราจะขอเติม ‘สำนึกรักบ้านเกิด’ เข้าไปเป็นแรงบันดาลใจแหล่งที่สี่ของเกาดี ก็เชื่อเหลือเกินว่าสถาปนิกผู้ล่วงลับคงไม่ว่าอะไรเรา เพราะตลอดอาชีพการเป็นสถาปนิกของเกาดี การสะท้อนภูมิปัญญาและความงดงามของอดีตแคว้นกาตาลุญญาคือหนึ่งในเป้าหมายที่กลายมาเป็นเอกลักษณ์สำคัญในผลงานของเกาดี ผลงานของเขาคือการแสวงหาหนทางในการผสานรูปทรงที่เป็นแก่นแท้ (Organic) ของธรรมชาติเข้ากับรูปทรงที่ถูกดัดแปลงจากการสร้างสรรค์ของมนุษย์ กลายเป็นสถาปัตยกรรมที่ผสานรูปแบบของธรรมชาติกับความศรัทธาของมนุษย์เข้าไว้ด้วยกัน

การเลียนแบบสรรพสิ่งในธรรมชาติ, หลังคาโค้งในโครงสร้างแบบไฮเปอร์โบลิกพาราโบลอยด์ (Hyperbolic Paraboloid), การใช้โมเสกเซรามิกและกระจกสี ฯลฯ เหล่านี้คือองค์ประกอบที่เกาดีใช้ในการถ่ายทอดสุนทรียะสมัยใหม่แบบกาตาลัน (Catalan Modernism) กระแสความเคลื่อนไหวทางศิลปะในสเปนยุคสมัยใหม่ที่หวนกลับไปหารากเหง้าแห่งภูมิปัญญาของชนชาวกาตาลันที่เป็นรากฐานของวัฒนธรรมสเปนมาแต่โบราณ ซึ่งเกาดีได้ทิ้งไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ยังคงเห็นได้ในงานสถาปัตยกรรมของเขาที่กระจายตัวอยู่ทั่วเมืองบาเซโลนา

25 มิถุนายน คือวันคล้ายวันเกิดของ อันตอนี เกาดี ศิลปินผู้ได้รับการขนานนามว่า ‘สถาปนิกของพระเจ้า’ (God’s Architect) เราจึงขอพาผู้อ่าน GroundControl ออกไปท่องชม 5 สถาปัตยกรรมในเมืองบาเซโลนาที่สะท้อนสุนทรียะและความศรัทธาของเกาดีด้วยกัน

Park Güell

Park Guell คือสวนสาธารณะที่ตั้งอยู่บริเวณเนินเขา Carmel ในเมืองบาเซโลนา เริ่มก่อสร้างในปี 1900 และเสร็จสิ้นในปี 1914 สวนแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นผลงานที่สะท้อนเอกลักษณ์ของเกาดีในแง่ของความสนุกสนานและการใช้สีสันสดใสได้ชัดเจนที่สุด

ที่จริงแล้วจุดมุ่งหมายแรกของการสร้าง Park Guell คือการเป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัยขนาด 60 หลังคาเรือนที่เหมือนกับเป็นหมู่บ้านยูโทเปียจากจินตนาการของเกาดีและ ยูเซบี กูเอล (สวนแห่งนี้ตั้งชื่อตามนามสกุลของเขา) ขุนนางเจ้าของโครงการหมู่บ้านจัดสรรแห่งนี้

แม้ว่าจะตั้งใจทำเป็นโครงการหมู่บ้านจัดสรร แต่กลับมีบ้านเพียงสองหลังเท่านั้นที่สร้างเสร็จ แถมยังไม่มีใครสนใจซื้อบ้าน สุดท้ายแล้วเกาดีจึงได้ย้ายเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ และพำนักอยู่ที่นี่จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตในปี 1926 ในปีนั้นเองที่ Park Güell เปิดประตูต้อนรับผู้มาเยือนในฐานะพื้นที่สาธารณะ และบ้านที่เกาดีเคยอาศัยอยู่ก็ถูกดัดแปลงเป็น The Gaudi House Museum หรือพิพิธภัณฑ์ของเกาดี

Park Güell ยังเป็นผลงานการออกแบบที่สะท้อน Naturalist Phase อันช่วงเวลาที่เกาดีสนใจหลงใหลในการศึกษารูปทรงของสรรพสิ่งในธรรมชาติ ในช่วงนี้งานออกแบบของเขาก็คือผลลัพธ์ของการปล่อยจินตนาการให้เป็นอิสระ และปล่อยให้ความคิดสร้างสรรค์ของเขาหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ นำมาซึ่งการใช้เส้นโค้ง การใช้เสารูปต้นปาล์มที่กลายเป็นลายเซ็นของเกาดี การออกแบบโครงสร้างให้กลมกลืนไปกับธรรมชาติ หลังคาแบนเรียบที่ทอดยาวไปพร้อมกับม้านั่งที่ทำเป็นคลื่น

Park Güell จึงเป็นเหมือนสนามเด็กเล่าของเกาดีที่ให้เขาได้ทดลองนำจินตนาการของเขาออกมาสร้างเป็นสถาปัตยกรรมจริง และยังสะท้อนความคิดความเชื่อของเกาดีผ่านปูนปั้นประดับที่นำเสนอประติมานวิทยา ความเชื่อทางศาสนา ปกรณัม ปรัชญา และประวัติศาสตร์

Palau Güell

Palau Güell ได้ชื่อว่าเป็นอาคารที่หรูหราที่สุดในเมืองบาเซโลนา ซึ่งก็สมฐานะของเจ้าของอย่าง ยูเซบี กูเอล เจ้าของเมกาโปรเจกต์หมู่บ้านจัดสรร Park Güell โดยจุดประสงค์ของการสร้างบ้าน (ที่ดูราวกับพระราชวัง) หลังนี้นอกจากจะเป็นที่พักอาศัยของครอบครัวกูเอลแล้ว กูเอลยังตั้งใจที่จะใช้ที่นี่เป็นสถานที่พบปะของเหล่าผู้ดีในยุคนั้น โดยครอบครัวกูเอลอาศัยอยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี 1888-1945 ก่อนที่จะขายต่อให้กับเทศบาลเมืองบาร์เซโลนา ซึ่งได้ทำการปรับเปลี่ยนใหเป็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์จนถึงปัจจุบัน

Palau Güell คือผลงานการออกแบบที่เป็นหมุดหมายแทนยุครุ่งเรืองสูงสุดของเกาดีในวัยหนุ่ม และยังเป็นหมุดหมายสำคัญของสถาปัตยกรรมยุโรป โดยเฉพาะความล้ำหน้าเรื่องการออกแบบพื้นที่และการใช้แสงภายใน และเมื่อมันถูกเผยโฉมต่อสายตาชาวโลกเป็นครั้งแรก มันก็ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งงานสถาปัตยกรรมที่เป็นรากฐานของขบวนการเคลื่อนไหวทางศิลปะนวศิลป์ (Art Nouveau)

จุดเด่นของผลงานชิ้นเอกของเกาดีชิ้นนี้ก็คือการประดับตกแต่งภายในอันที่เต็มไปด้วยรายละเอียดประดิดประดอยหรูหรา ไล่ตั้งแต่ประตูหน้าบ้านทำจากเหล็กกล้าและงานเหล็กดัดทำเป็นลวดลายสาหร่ายทะเลอันปราณีต เสาหินอ่อน ไปจนถึงเพดานที่ประดับด้วยงานไม้แกะสลัก และเฟอร์นิเจอร์ไม้ประดับมุก

Casa Mila

Casa Mila หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า La Pedrera (The Stone Quarry - เหมืองหิน) คือที่ผลงานการออกแบบที่อยู่อาศัยชิ้นสุดท้ายของเกาดี และถือเป็นบทสรุปของอาชีพสถาปนิกในช่วงวัยผู้ใหญ่ของเกาดี

Casa Mila ได้ชื่อว่าเป็นผลงานการออกแบบที่ ‘ล้ำ’ ที่สุดของเกาดี ทั้งในแง่ของการออกแบบโครงสร้างและการตกแต่ง โดยจุดเด่นของอาคารที่ดูราวกับภูเขาหิมะแห่งนี้ก็คือฟาซาดหรือส่วนด้านหน้าอาคารที่ทำจากหินและระเบียงที่เป็นหยักคลื่น เส้นโค้งหยักที่เป็นเอกลักษณ์ของ Casa Milà ไม่ได้ปรากฏอยู่แค่ด้านนอกตัวอาคารเท่านั้น แต่ยังปรากฏในพื้นที่ด้านใน ควบคู่ไปกับการใช้รูปทรงเรขาคณิตและรูปทรงที่พบในธรรมชาติ

Casa Mila มีทั้งหมดเก้าชั้นด้วยกัน แต่ละชั้นติดตั้งลิฟต์เพื่อที่จะให้ผู้อยู่อาศัยในแต่ละชั้นได้ทำความรู้จักเชื่อมสัมพันธ์และไปมาหาสู่กันได้ โดยจุดที่ทำให้ Casa Mila เป็นหนึ่งในเพชรยอดมงกุฎของผลงานการออกแบบโดยเกาดีก็คือพื้นที่โล่งโปร่งด้านบนที่ทำให้แสงธรรมชาติส่องลงมาภายในอาคาร รวมไปถึงสวนประติมากรรมบนหลังคาที่ดูกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร

และนอกจากจะมีความสำคัญในฐานะผลงานชิ้นเอกของเกาดีแล้ว Casa Mila ยังได้ชื่อว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่สะท้อนจิตวิญญาณของขบวนการเคลื่อนไหวยุคสมัยใหม่นิยมหรือ Modernism ไว้อย่างเต็มเปี่ยม ในแง่ที่มันสะท้อนให้เห็นความพยายามของศิลปินในการที่จะท้าทายและขยายขอบเขตความสร้างสรรค์ออกไปด้วยไอเดียแนวคิดใหม่ ๆ นั่นเอง

Casa Batlló

อีกหนึ่งผลงานมาสเตอร์พีซของศิลปินกาตาลันที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองบาเซโลนานี้ที่จริงแล้วเคยเป็นของ เอมิโล ซาลา กอร์เตส หนึ่งในอาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ให้กับเกาดี ก่อนที่อาคารหลังนี้จะถูกขายต่อให้กับ โจเซฟ บาตโล นักธุรกิจสิ่งทอผู้ร่ำรวย ผู้ว่าจ้างเกาดีให้มารีโนเวทบ้านหลังใหม่ให้เขา โดยให้อิสรภาพในการออกความคิดสร้างสรรค์เต็มที่

เพราะได้รับการหนุนหลังจากนายจ้างแบบเต็มกำลัง Casa Batlló จึงเป็นเหมือนพื้นที่ทดลองที่เกาดีสามารถปล่อยจินตนาการของเขาแบบไม่ยั้ง ทั้งการใช้กระเบื้องโมเสกที่ทำจากเซรามิกแตกมาประดับฟาซาดด้านหน้าอาคาร หรือการออกแบบหลังคาให้เป็นทรงโค้งจนดูราวกับเป็นสันหลังของมังกร ความล้ำในไอเดียทำให้ทุกอณูองค์ประกอบของบ้านหลังนี้ดูราวกับมีชีวิตเคลื่อนไหวได้ จนในที่สุดแล้วชาวบ้านในละแวกนั้นก็มอบชื่อ Casa dels ossos (House of Bones - บ้านกระดูก) ให้เป็นชื่อเล่นของสิ่งก่อสร้างหน้าตาเหนือจินตนาการนี้

เมื่อก้าวเท้าเข้าไปใน Casa Batlló ผู้เยี่ยมชมจะรู้สึกราวกับกำลังก้าวเข้าไปในร่างของสิ่งมีชีวิตในจินตนาการหรือนิทานปรัมปรา พื้นที่ด้านในถูกประดับตกแต่งด้วยช่องสกายไลท์ที่ทำจากกระจกสีที่ดูเหมือนเปลือกหอย ในขณะที่พื้นที่ที่ถือเป็นไฮไลท์ของที่นี่ก็คือพื้นที่หลักของอาคารที่ประดับด้วยคานทรงโค้งทาสีขาวกระจ่าง 60 ชิ้น ที่เมื่อผู้มาเยี่ยมชมเดินเข้าไปก็จะได้ความรู้สึกเหมือนกำลังเดินลอดโครงกระดูกของสัตว์ขนาดใหญ่อันน่าพิศวง

La Sagrada Familia

La Sagrada Familia คือผลงานการออกแบบชิ้นสุดท้ายที่เกาดีอุทิศชีวิตให้ นี่คือสิ่งก่อสร้างที่ใช้เวลาในการสร้างมาแล้วกว่า 140 ปี โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 1882 และจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่เสร็จ (คาดว่าน่าจะเสร็จในปี 2026 ซึ่งจะตรงกับวาระครบรอบ 100 ปีมรณกรรมของเกาดีพอดี) และเกาดีก็มีชีวิตอยู่เห็นมหาวิหารแห่งนี้สร้างเสร็จไปไม่ถึง 1ใน 4 ของแผนการที่วางไว้

เกาดีออกแบบมหาวิหารแห่งนี้โดยได้แรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมสไตล์ Gothic และ Art Nouveau ประกอบด้วยโบสถ์ย่อยเจ็ดหลัง และฟาซาดหรือส่วนประดับตกแต่งด้านหน้าสามด้าน แต่ละด้านบอกเล่าเรื่องราวของพระคริสต์ที่แตกต่างกัน ฝั่งตะวันออกเป็นฉาก Nativity หรือการประสูติของพระเยซู, ด้านตะวันตกเป็นฉาก Passion หรือฉากตรึงกางเขนพระเยซู และฉากที่อยู่ทางทิศใต้เป็นฉาก Glory ซึ่งนำเสนอภาพเส้นทางการไปสู่พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งฝั่งนี้จะเป็นฝั่งที่อลังการงานสร้างที่สุด และเพิ่งเริ่มดำเนินการสร้างเมื่อปี 2002 นี้เอง

สาเหตุที่ทำให้ La Sagrada Familia ใช้เวลาในการสร้างยาวนานกว่าหนึ่งชั่วอายุคนก็มาจากความละเอียดละออขององค์ประกอบและรายละเอียดที่อัดแน่นอยู่ในทุกตารางนิ้วของพื้นที่ ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ก็ล้วนมีความสำคัญในแง่ของการสะท้อนสัญญะทางศาสนาและความเชื่อของเกาดี นี่คือผลงานที่เกาดีตั้งใจจะมอบให้กับปุถุชนชาวคริสต์ในนามของพระเจ้า เพราะเงินที่ใช้ในการก่อสร้างล้วนมาจากการบริจาคของผู้มีจิตศรัทธา โดยเกาดีเคยกล่าวไว้ว่า “Sagrada Familia สร้างมาจากจิตศรัทธาของผู้คน และความศรัทธาของพวกเขาก็สะท้อนอยู่ในผลงานชิ้นนี้ นี่คือผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าและเจตจำนงค์อันมุ่งมั่นของศาสนิกชน”

และก็ว่ากันว่า เมื่อ La Sagrada Familia สร้างเสร็จเมื่อใด มันก็จะกลายเป็นสิ่งก่อสร้างทางศาสนาที่สะท้อนจินตนาการและการตีความของผู้สร้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมานับจากยุคกลาง