Franz Kafka นักเขียนโมเดิร์นนิสต์ผู้อยากทำลายงานตัวเอง แต่เพื่อน (และโลก) ไม่เห็นด้วย
ถ้าเพื่อนซี้ของฟรานซ์ คาฟคา (Franz Kafka) ทำตามคำขอก่อนเสียชีวิตของนักเขียนชื่อก้องโลกคนนี้สักหน่อย เราก็คงไม่ต้องเขียนบทความนี้เลยก็ได้
เพราะนิยายอย่างการไต่สวน (Der Process), อเมริคา (Der Verschollene), หรือปราสาท (Das Schloss) ที่เหล่าผู้สนใจขบวนการเคลื่อนไหวทางศิลปะ-วรรณกรรมยุคโมเดิร์นนิสม์ (Modernism) ต้องศึกษากันแบบเจาะลึก ล้วนแล้วแต่เป็นผลงานที่คาฟคาฝากฝังให้เพื่อนผู้ใกล้ชิดอย่าง มักซ์ โบรด (Max Brod) ทำลายต้นฉบับเสียให้หมดอย่าให้ใครได้อ่าน แต่โบรดกลับทำสิ่งตรงกันข้าม คือเผยแพร่ผลงานเหล่านั้น จนมันถูกแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ทั่วโลก และทำให้ทุกคนได้รู้จักการเล่าเรื่องที่แปลกใหม่ (หรือเรียกแปลกประหลาดอาจจะถูกกว่า) และสร้างแรงบันดาลใจให้นักเขียนรุ่นหลังมากมาย
ไม่ว่าจะเป็นการ์เบรียล การ์เซ มาร์เกส เจ้าของวรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์ ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว’ ที่เล่าประสบการณ์การอ่าน ‘กลาย’ หรือ เมตามอร์โฟสีส (Die Verwandlung) ว่า“บรรทัดแรกมันแทบจะถีบผมลงจากเตียงไปเลย ผมเซอไพรส์สุด ๆ มันเขียนว่า ‘มื่อเกรเกอร์ แซมซา ตื่นขึ้นจากฝันร้ายในเช้าวันหนึ่งก็พบว่าตนเองได้กลายร่างเป็นแมลงยักษ์อยู่บนเตียงไปเสียแล้ว’ [สำนวนแปลของ อาทิตย์ ศรีจันทร์] ตอนที่ผมอ่านบรรทัดนั้นผมคิดเลย ว่าผมไม่เคยรู้เลยว่าเราเขียนหนังสือแบบนี้ได้ด้วย ถ้าผมรู้มาก่อนผมคงจะเขียนหนังสือไปนานแล้ว แล้วผมก็เลยเริ่มเขียนเรื่องสั้นมันตั้งแต่ตอนนั้น”
เนื่องในวันเกิดของเขาในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ เราขอใช้พื้นที่คอลัมน์ The Art of Being An Artist เพื่อทำความเข้าใจชายผู้เปลี่ยนโฉมประวัติศาสตร์วรรณกรรมโลกคนนี้ ว่ามันเป็นความไม่มั่นใจในตัวเองหรืออะไรกันแน่ ที่ทำให้เขาตั้งท่าจะเผาผลงานทิ้งเสียหมด และเป็นโลกแบบไหนกัน ที่สร้างความรู้สึก “แปลกแยก” ให้กับคนคนหนึ่งได้ขนาดนี้
“พ่อไม่ต้องหยุดด่าทอผม ขอแค่เพียงตำหนิผมให้น้อยลงบ้างก็พอ”
กรุงปราก (ปัจจุบันอยู่ในสาธารณรัฐเช็ก) เมื่อปลายยุค 1800s เมืองที่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมโรมาเนส, โกธิก, เรเนซองส์ และบาโรก ราวกับอยู่ในเทพนิยายยุโรปสมัยก่อน เป็นบรรยากาศของโลกที่ฟรานซ์ คาฟคา (Franz Kafka) กำลังจะเกิดขึ้นมาพร้อมเผชิญ ในวันที่ 3 กรกฎาคม 1883 แต่อย่างที่เราจากโลกอนาคตรู้กันดี เขาไม่ได้มีสายตาที่ใสซื่อไว้เผชิญโลก ตรงกันข้ามเลยด้วยซ้ำ เด็กชายคนนี้กำลังจะมองโลกใบนั้นแล้วเห็นความแปลกประหลาดเต็มไปหมด
แฮร์มัน คาฟคา พ่อของเขา เป็นชายชาวยิวผู้สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาจากความลำบาก และนั่นอาจเป็นจุดกำเนิดหนึ่ง (ที่ไม่ค่อยน่าเลียนแบบนัก) ซึ่งนำมาสู่งานวรรณกรรมชั้นยอดชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในปี 1919 ของเขา ในรูปแบบของจดหมายถึงพ่อ ที่ไม่เพียงแค่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ส่วนตัวของเขา แต่ยังแสดงบรรยากาศครอบครัวแบบชายเป็นใหญ่ ที่คุณพ่อปากเสียคนหนึ่งทำให้โลกของลูกชายกลายเป็นประสบการณ์แห่งความหวาดกลัว และความสับสน ของคนที่ทำยังไงก็เหมือนจะยังไม่เป็น “ความภูมิใจของพ่อ” สักที
“ผมขออย่างเดียวเท่านั้นคือ ความสงบสุข พ่อไม่ต้องหยุดด่าทอผม ขอแค่เพียงตำหนิผมให้น้อยลงบ้างก็พอ” (จากจดหมายถึงพ่อของคาฟคา สำนวนแปลโดยถนอมนวล โอเจริญ)
ถ้าให้เดาก็คงจะเดากันถูก ว่าลูกชายจากบ้านแบบนี้ โตมาก็เข้าเรียนวิชากฎหมาย และเรียนได้จนจบปริญญาเอกเสียด้วยในปี 1904 ซึ่งในระหว่างที่เรียนนั้นเขาก็เขียนนู่นเขียนนี่นิดหน่อย ซึ่งบ่อยครั้งชะตากรรมของงานเขียนเหล่านั้นก็จบลงที่กองไฟ แต่ประเด็นสำคัญหนึ่งจากช่วงชีวิตนี้คือ คาฟคาได้พบกับ มักซ์ โบรด (Max Brod) เพื่อนสนิท ผู้ที่เขาไว้ใจให้จัดการงานเขียนทั้งหมดของเขาได้ (แต่ท้ายที่สุดกลับทำตรงข้ามกับที่คาฟคาต้องการ)
ชีวิตหลังจบการศึกษาของเขาก็คล้ายกับเราหลาย ๆ คน; ตอนกลางวันเป็นพนักงานออฟฟิศในบริษัทด้านการประกันอุบัติเหตุ แต่นอกจากนั้นเขาก็ยังอุตส่าห์ใช้เวลาที่ว่างจากงาน (?) มาสร้างงานเขียนส่วนตัว (ไม่รู้เอาแรงมาจากไหน)
จากจดหมายรักถึงแมลงยักษ์บนเตียงนอน
ช่วงชีวิตที่สำคัญของคาฟคามาถึงในช่วงปี 1912 - 1915 ทั้งในแง่ผลงานที่ผลิต และชีวิตส่วนตัว
ปลายปี 1912 คาฟคาได้พบกับ เฟลิเซ บาวแวร์ (Felice Bauer) ญาติห่าง ๆ ของโบรดเพื่อนซี้ นี่คือเฟลิเซเดียวกับใน ‘จดหมายถึงเฟลิเซ’ ที่เป็นอีกหนึ่งวรรณกรรมจดหมายที่สำคัญของเขา แต่ที่จริงแล้ว การพบกับบาวแวร์ก็ทำให้เกิดงานอีกมากมายตามมาทันที อย่างเช่น ‘การพิพากษา’ (Das Urteil) ที่เขาเขียนในคืนเดียวไม่นานหลังพบเธอ และเป็นช่วงนี้เองที่เขาเขียน ‘อเมริคา (ชายผู้สาบสูญ)’ (AMERIKA (Der Verschollene)) และ ‘กลาย / เมตามอร์โฟสีส’ (Die Verwandlung) ซึ่งทำให้เขาเป็นที่จับตามองในฐานะดาวรุ่งพุ่งแรงแห่งวงการวรรณกรรมแห่งยุค และถูกบรรจุชื่ออยู่ในประวัติศาสตร์นักเขียนโมเดิร์นนิสต์คนสำคัญของโลกหลายต่อหลายเล่มในที่สุด
วันหนึ่งคุณตื่นขึ้นมาแล้วกลายเป็นแมลงยักษ์; พล็อตเรื่อง ‘กลาย’ เริ่มต้นง่าย ๆ แค่นั้น แต่ก็เป็นดังศักราชใหม่แห่งสำนึกคิดของชาวโมเดิร์นนิสต์ ที่มองเห็นและถ่ายทอดความไร้สาระ (absurd) ของโลก ที่แสนจะไร้ซึ่งเหตุผล และความรู้สึกแปลกแยก (alienation) จากความเป็นจริงของผู้อื่นหรือของสังคม และองค์ประกอบเหล่านี้ก็จะกลายมาเป็นเอกลักษณ์ในงานเขียนของเขาในที่สุด (ยังไม่นับเรื่องแมลงอะไรอีกก็ไม่รู้เยอะแยะที่เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์งานเขียนของเขาเหมือนกัน)
เช่นเดียวกันกับ ‘อเมริคา’ (ที่ทราบกันภายหลังจากตีพิมพ์ไปแล้วว่าที่จริงคาฟคาตั้งชื่อนิยายเรื่องนี้ว่า ‘ชายผู้สาบสูญ’) ที่เป็นเรื่องของเด็กหนุ่มชาวยุโรป ผู้ย้ายถิ่นไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา แต่ก็ต้องพบกับความแปลกแยก โดดเดี่ยว และสับสน จากสังคมที่กลับหันหลังให้กับเขา
คาฟคาเอสก์: โลกของวงกตแห่งความเหนือจริงในสายตาคาฟคา
พนักงานแบ็งค์คนหนึ่งถูกจับแต่ไม่รู้ว่าทำไม, ชายคนหนึ่งไปโผล่กลางปราสาทที่รันโดยระบบ(ข้า)ราชการบ้า ๆ บอ ๆ
พล็อตของนิยาย ‘คดีความ’ (Der Process) และ ‘ปราสาท’ (Das Schloss) ที่ฟังแล้วเป็นเอกลักษณ์ที่แสนจะคาฟก๊าคาฟก้า จนมีคำเรียกกันว่า ‘คาฟคาเอสก์’ (Kafkaesque) ซึ่งยิ่งเวลาผ่านไป งานเขียนของเขาก็ยิ่งแสดงโลกแบบนี้ออกมาเด่นชัดขึ้น
คาฟคาเอสก์ คือแกนความคิดและวิธีการเล่นเรื่องแบบคาฟคา ที่มักจะมีเรื่องของระบบบริหารราชการที่ใช้อำนาจบาตรใหญ่มากลืนกินคน บรรยากาศแบบเซอร์เรียลที่สับสน มึนงง ไปจนถึงสิ้นหวัง ดังกับอยู่ในเขาวงกต
ทำลายทิ้งให้หมดอย่าให้เหลือ!
ว่ากันว่าตลอดชีวิตของเขา คาฟคาเผาผลงานไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมด ถึงแม้ว่ามันจะเป็นผลลัพธ์จากการแหกตาทำงานตอนดึกดื่นก็ตาม ด้วยความไม่มั่นใจในตัวเอง และที่จริงแล้ว นิยายหลาย ๆ เรื่องของเขาที่เราเล่าไปก่อนหน้าก็เป็นงานที่เขาเขียนไม่จบด้วยซ้ำ แต่เสียชีวิตไปเสียก่อน
จริง ๆ แล้วเราไม่น่าจะไปอ่านงาน 10 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือเหล่านี้ด้วยซ้ำ ถ้าเพื่อนของเขาทำตามคำขอของเขาสักหน่อย
ไม่ว่าจะเป็นการไต่สวน, อเมริคา, หรือปราสาท คาฟคาได้ “ขอ” ให้มักซ์ โบรดทำลายผลงานที่ยังเขียนไม่เสร็จเหล่านั้นของเขาทั้งหมด ดังเป็นคำสั่งเสียก่อนเขาเสียชีวิตเมื่อปี 1924 ด้วยวัยเพียง 40 ปี แต่ก็อย่างที่เรารู้กัน มักซ์เลือกจะเอางานเขียนของเพื่อนรักมาเผยแพร่ จนกระทั่งมันแพร่กระจายไปทั่วโลก และถูกแปลเป็นภาษามากมายรวมไปทั้งภาษาไทย ที่งานเขียนของเขาก็เป็นที่นิยมอยู่ไม่น้อย
เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมเขาถึงได้ไม่มั่นใจในตัวเองนัก (หรือจริง ๆ แล้วคำตอบก็ซ่อนอยู่ที่ไหนสักแห่งในบทความนี้มาก่อนแล้ว?) แต่ปัจจุบันนี้ คาฟคาเป็นซุปเปอร์สตาร์ ผู้เขียนหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์วรรณกรรมโมเดิร์นได้อย่างโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ แถมยังส่งอิทธิพลต่อคนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการ์เบรียล การ์เซ มาร์เกส ยักษ์ใหญ่แห่งวรรณกรรมสัจนิยมมหัศจรรย์ละตินอเมริกา, อัลแบร์ กามูส์และฌอง ปอล ซาร์ตส์ นักปรัชญาอัตถิภาวนิยมชาวฝรั่งเศส มาจนถึงฮารุกิ มุราคามิ นักเขียนญี่ปุ่นขวัญใจชาวเศร้าเหงาหว่อง ที่อุทิศชื่อตัวละครนำของนิยาย ‘คาฟคา วิฬาร์ นาคาตะ’ (Kafka on the Shore) ให้กับเขา
จินตนาการอันพิลึกพิลั่นของเขา ทำให้โลกได้รู้ว่าวรรณกรรมก็เขียนแบบนี้ได้ด้วย และยังเป็นพื้นที่แห่งการสำรวจปรัชญาว่าด้วยการดำรงอยู่ของมนุษย์ ที่ทรงอิทธิพลข้ามกาลเวลา ข้ามภาษาและวัฒนธรรมที่เขาอยู่ แต่พออ่านประวัติเขาอย่างนี้แล้ว เราก็อดสงสัยไม่ได้จริง ๆ ว่าคาฟคาจะรู้สึกอย่างไรบ้าง ที่งานเขียนของเขาถูกเผยแพร่จนหมดเปลือก ไม่เว้นกระทั่งไดอารี่ส่วนตัว ที่กลายเป็นมีมอยู่ทั่วอินเตอร์เน็ตเลย…