ตรงระหว่างเรื่อยไปกับไม่มีวัน
“โอ เจ้าระยะทางที่ไร้รูปร่าง ช่างน่าตื่นตะลึง!” ‘ทะเลแหละหมอก’ , เอเทล แอดนาน (Etel Adnan)
“คุณ บางครั้งก็พบว่าตัวเองอยู่ในเครื่องบินที่ไม่ใช่เครื่องที่คุณตั้งใจจะไป” ‘เปลี่ยนเครื่อง’, เออร์ซูล่า เค. เลอ กวิน (Ursula K. Le Guin)
ฉันนึกถึงวันสักวันในอนาคตในตอนที่ฉันจะสามารถขึ้นเครื่องบินได้ เครื่องบินลำไหนก็ได้ ฉันคิดถึงวันสักวันในอนาคตที่ฉันจะสามารถเปลี่ยนเครื่องบินได้ เครื่องบินลำไหนก็ได้ แต่บางทีมันอาจจะเป็นรถไฟมากกว่าที่จะพาฉันเดินทางไป หรือรถยนต์ หรือจักรยาน หรือฉันอาจจะแค่เดินไปและค่อยดูว่าฉันจะไปได้ไกลแค่ไหน แล้วในที่สุดเท้าของฉันจะสัมผัสกับทราย แล้วฉันจะได้สัมผัสมหาสมุทร และบางทีฉันจะกระโจนเข้าไปและดูว่าฉันจะดันตัวเองออกไปได้ไกลแค่ไหน บางทีฉันอาจจะเดินต่อไปจนหัวของฉันหายไปในคลื่น หรือบางทีฉันจะว่ายน้ำจนกว่าแขนของฉันจะไม่สามารถรับตัวฉันได้อีกต่อไป น้ำเย็นจะโอบอุ้มฉันออกไปไกลขึ้น ๆ และพาฉันไปถึงจุดหมายปลายทาง โอ จินตนาการอันหวานชื่น
เออร์ซูล่า เค. เลอ กวิน (Ursula K. Le Guin) เขียนเปิดเล่ม ‘Changing Planes’ ชุดเรื่องสั้นของเธอ ด้วยเรื่องของตัวละครที่ชื่อ สิตา ดูลิป (Sita Dulip) ผู้ค้นพบวิธีการเปลี่ยนเครื่องบิน ท่ามกลางสนามบินธรรมดา ๆ ในขณะที่ความเบื่อหน่ายในการรอขึ้นเที่ยวบินถัดไปกำลังกลืนกินตัวเธอ สิตาพบว่าเธอสามารถย้ายไปยังเครื่องบินอีกลำที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิงได้ วิธีของเธอกลายเป็นที่นิยมขึ้นมา แล้วมันก็ทำได้ง่ายมากจนผู้คนต่างนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย โลกทั้งหลายที่แตกต่างกันทั้งหมดนี้อยู่ ๆ ก็เลยกลายเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้เสียอย่างนั้น พรมแดนและระยะห่างต่าง ๆ เลือนหายไปด้วยการเข้าถึงได้อย่างฉับพลัน ซึ่งมันทั้งน่าดึงดูดและน่าผลักไสไปพร้อมกัน ตลอดเรื่องเล่านั้น อารมณ์ของผู้เล่าเรื่องเปลี่ยนไปมาระหว่างความตื่นเต้นและความผิดหวัง จากการประสบพบความไม่สมบูรณ์แบบและความแตกต่างระหว่างเครื่องบินอื่น ๆ ถึงแม้ว่ารวมเรื่องสั้นชุดนี้จะถูกนิยามเป็นเรื่องราวของความท้าทายในการทำความเข้าใจวัฒนธรรม ภาษา และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไป ฉันกลับพบความหมายอีกอย่างหนึ่งสำหรับตัวฉันเอง ซึ่งพัวพันโดยตรงกับคำถามเกี่ยวกับพลวัตทางสังคมการเมืองระหว่างปัจเจกบุคคล กับส่วนรวม ประวัติศาสตร์ และเวลา คำบรรยายของเลอกวินเกี่ยวกับเครื่องบินลำต่าง ๆ งอกงามไปสู่เรื่องพลวัตภายในสภาพแวดล้อมที่ใกล้ชิดที่สุด ซึ่งถูกกระตุ้นโดยการก่อรูปทางสังคมที่เล็กที่สุด และอยู่ในทุกที่ที่สายตาไปถึง
ฉันจำไม่ได้แล้วว่าครั้งแรกที่ฉันเปลี่ยนเครื่องแบบสิตา ดูลิป เป็นอย่างไร แต่ฉันจำได้ว่ามันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับกระบวนการทางกายภาพเลย (หรือถึงจะเกี่ยว แต่ลักษณะทางกายภาพก็ยังเป็นเรื่องรอง) แต่มันเป็นเรื่องของประสบการณ์ทางอารมณ์ที่รุนแรงผ่านเวลามากกว่า ฉันเชื่อว่า มาจนถึงทุกวันนี้ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนั้นยังคงอยู่ ความแตกต่างเพียงอย่างเดียวคือมันถูกซ้อนทับด้วยภาพการเปลี่ยนแปลงที่แตกกระจาย ทำให้มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะบอกว่าอะไรมาก่อนอะไรมาทีหลัง [1]
ฉันยืนอยู่ที่ทางเข้าขอเครื่องลำแรก; มันมีแต่ความเงียบและความว่างเปล่าเต็มไปหมดจนทำให้รู้สึกเหนียวเหนอะหนะไปหมด มันคงอยู่ อ้อยอิ่ง มันไม่อยากจากลา แต่ความไม่มีอยู่มันจะเหนียวและติดหนึบอย่างนั้นได้อย่างไร ในเมื่อเป้าหมายเดียวของมันคือการลดรูปหลงเหลือเพียงความว่างเปล่า ที่จะไม่มีอยู่ ฉันจะพูดชัด ๆ ฉันไม่ได้จะมาแสร้งทำรู้ดีว่าการสูญเสียคืออะไร บางทีฉันอาจจะรู้เกี่ยวกับมันบ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดแน่นอน แต่ฉันก็ไม่ได้จะมาปฏิเสธว่าฉันไม่ได้คิดถึงการสูญเสียอยู่ตลอดเวลาเหมือนกัน มันเป็นช่วงเวลาที่ยืดยื้อ การหยุดชะงัก ก่อนจะแยกออกจากกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจะเรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการสูญเสียและความเจ็บปวดอย่างถ่องแท้ก็ต่อเมื่อเราก้าวผ่านการใช้ชีวิตมาแล้ว และสิ่งที่เราเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ส่วนใหญ่ก็เกี่ยวพันอยู่กับประสบการณ์รอบตัวของการสูญเสียบางคนไป แล้วพยานที่เงียบงันแห่งความเจ็บปวดของการที่คนรักถูกพรากออก ระหว่างความปรารถนาที่จะอยู่ลำพังกับการเฝ้าดูของสังคม มันคืออะไรกัน?
ปัญหาการขาดแคลนของความเจ็บปวดไม่มีอยู่จริง เพราะว่ามันก็ไม่มีปัญหาการขาดแคลนของในเสี้ยนหนามเช่นเดียวกัน การเจ็บแปลบที่ตามหลังมาจากเสี้ยนแทงค้างอยู่ใต้ผิวหนังของเราอาจเป็นหนึ่งในความเจ็บปวดที่น่ารำคาญที่สุด บ่อยครั้งเราแทบจะไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำในตอนที่เสี้ยนแทงทะลุเนื้อ แต่การคงอยู่ที่ยาวนานของเจ้าวัตถุแปลกปลอมนี้ส่งผลให้เกิดการอักเสบและเนื้อเยื่อเสียหายได้; ร่างกายรับรู้ถึงลักษณะที่แปลกปลอมของวัตถุนั้นและพยายามขับไล่มันออกไป การต่อต้านของร่างกายในรูปแบบที่เรียบง่ายที่สุด ความเจ็บปวด การระคายเคือง และอาการคัน ทำหน้าที่เป็นตัวส่งสัญญาณว่ากำลังมีผู้บุรุกไม่น่าพึงประสงค์เข้ามาอยู่ เมื่อตอนเป็นเด็ก การถอนเสี้ยนด้วยมือเปล่าได้ให้ความรู้สึกเหมือนเราเอาชนะอะไรที่ยิ่งใหญ่สักอย่างได้ ในขณะที่แม่ของฉันค่อย ๆ ทำเช็ดแผลและเตรียมเข็มอย่างระมัดระวังเพื่อจะเอาเสี้ยนออกจากผิวของฉัน ความรู้สึกพึงใจเดียวของฉันคือการดำดิ่งลงไปโดยไม่มีการป้องกันใด ๆ ฉันหลงใหลในความกลวงเปล่าที่หลงเหลืออยู่หลังจากวัตถุแปลกปลอมนั้นถูกกำจัดออกไปสำเร็จ ความกลวงเปล่าเล็ก ๆ แต่ก็ใหญ่พอที่จะสัมผัสได้ แล้วพอฉันเข้าไปยังยานนี้ ฉันจึงตระหนักได้ถึงโพรงเสี้ยน; จำนวนที่ไม่มีที่สิ้นสุดของมันทำให้ร่างกายของฉันกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมต่อตัวมันเอง และเช่นเดียวกันกับเสี้ยน โครงสร้างอำนาจที่มีอยู่เจาะรูไว้รูแล้วรูเล่า จนกระทั่งถึงจุดที่มันแยกวัตถุออกจากกัน จนกว่าเราจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของตัวเอง
คุณอยากจะจินตนาการว่าตัวคุณเองอยู่ภายนอกมัน แต่คุณก็ต้องเผชิญหน้ากับความจริงที่ว่านี่เป็นภาพลวงตาส่วนตัวของคุณเองด้วย คุณบริโภค คุณละทิ้ง คุณหมกมุ่น คุณต่อต้านการทำมันซ้ำ ๆ แต่คุณก็ยังตกเข้าไปอยู่ในวงจรเดิมซ้ำ ๆ มันเกิดขึ้นทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกปี มันอยู่ในวันเกิดของคุณ หรือวันเกิดของคนที่คุณรัก หรืออาจจะเป็นงานศพก็ได้ถ้าคุณโชคไม่ดี บางอย่างที่มืดมนกว่า หนักหน่วงกว่า ปราศจากความสุข หรือล่อลวงความสุขมา ความเจิดจ้าของสถานะและเกียรติยศ ของการเลื่อนขั้นฐานะทางสังคม ความพิเศษ หรือออะไรที่ดีกว่า มันมีเครื่องที่บรรจุอะไรทั้งหมดเหล่านั้น และนั่นคือความเป็นจริงของเรา เราไม่จำเป็นต้องไปไหนเลยเพื่อที่จะมองเห็นมัน เพราะว่าเราใช้ชีวิตอยู่ข้างในตัวมัน พวกเราคือผู้รักษาซากศพอันเน่าเปื่อยแต่น่าดึงดูดของมันเอาไว้ ดังนั้น สิ่งที่พอเหลือคือการตะลุยผ่านกองกระดุก เนื้อ และเอ็น นี่คือคุณลักษณะของเครื่องที่สาม: อุดมสมบูรณ์แบบบิดเบี้ยว ลวงตา และโดนสาปด้วยเวลา
“บางครั้ง แค่การเรียนรู้ข้อเท็จจริง ก็เพียงพอที่จะทำให้รายละเอียดต่าง ๆ นา ๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยถูกสังเกตเห็น เข้าที่เข้าทางกัน” ตัวละครผู้เล่าเรื่องคิด หลังจากได้รับโทรศัพท์จากคาร์ลอส อาร์เจนติโน ในเรื่องสั้น "The Aleph" ของฮอร์เฮ หลุยส์ บอร์เฆส (Jorge Luis Borges) [2] แต่สภาพความเป็นจริงเป็นเหมือนกับเรื่องแต่งไหม โดยเฉพาะในรุ่งอรุณแห่งศตวรรษที่ 21 นี้? และการเข้าสู่เครื่องลำที่สี่ซึ่งเป็นลำระนาบสุดท้าย ก็คือการดิ้นรนผ่านความกลัวต่อสิ่งที่เราไม่รู้จักและไม่สามารถตรวจพบได้ เพื่อเอาชนะขีดจำกัดจินตนาการของเราเอง ในการวัดโลกนี้ด้วยมาตรฐานของสิ่งที่รู้จักและรับรู้ได้ง่ายสำหรับมนุษย์ เพื่อเดินทางไปกับแสงที่เหนือกว่าทุกสิ่งรอบตัวเรา ความอึดของมันปรากฏชัดแม้ในยามเผชิญหน้ากับผนังกำแพง ความว่างเปล่าลึก และมุมที่ฉีกตัวออกไป ระหว่างสภาวะไม่ปรากฏของแก่นโลกและความไม่มีที่สิ้นสุดของอวกาศภายนอก ความสัมพันธ์ของเรากับสิ่งที่มองไม่เห็นและเอื้อมไม่ถึงส่วนใหญ่ของเรา ขึ้นอยู่กับการยอมรับและความเชื่อมั่นในจินตนาการของเรา มิฉะนั้นทุกอย่างก็จะเป็นความมืด
การจะเปลี่ยนแปลงในชีวิตนี้ ครั้งหนึ่ง ขณะที่เขียนอะไรไปได้นิดหนึ่งสำหรับบทความนี้ ฉันได้รับโทรศัพท์จากแม่ เธอเล่าเรื่องต่าง ๆ จากทางบ้านโดยสื่อเป็นนัย ๆ ถึงความหงุดหงิดของเธอต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว “ทุกคนมีภาพของโลกในแบบของตัวเอง” ฉันได้ยินเธอพึมพำ เธออาศัยอยู่กับคนสามคนเดิมในอพาร์ตเมนต์เดิม ๆ มาเป็นเวลานับสิบปีแล้ว แต่การมีความสัมพันธ์แบบครอบครัวและมีกิจวัตรประจำวันที่สม่ำเสมอ ไม่ได้รับประกันความเข้าอกเข้าใจกันที่เราทุกคนปรารถนาอยู่ตลอดชีวิต “ฉันนึกขึ้นมาได้ทันทีว่าคุณไม่จำเป็นต้องมีระเบียบเพื่อมีชีวิตอยู่ มันไม่มีรูปแบบอะไรให้ทำตาม และตัวรูปแบบเองก็ไม่มีอยู่จริง: ฉันเพียงเกิดมา” คลาริซ ลิสเปกเตอร์ (Clari Lispector) ประกาศใน Água Viva [3] แต่ความรู้สึกว่าเราตกอยู่ในรูปแบบตลอดไปยังคงหลอกหลอนทุกย่างก้าวของเรา เมื่อเรารู้สึกว่าเครื่องแห่งการดำรงอยู่ของเราจำกัดและปิดล้อมเราไว้ ความสามารถในการเปลี่ยนเครื่อง การเชื่อมโยงกับเรื่องราวที่ไม่ใช่ของเราโดยตรง และการต่อต้านกระบวนการถอยกลับไปสู่ความโดดเดี่ยวของชุดความเชื่อที่ตายตัว คือสิ่งที่ช่วยให้เราทนทานต่อแรงกดดันของชีวิตไปพร้อมกัน
หมายเหตุ: บทความ Protodispatch ฉบับนี้ปรับปรุงมาจากฉบับก่อนหน้าที่เขียนขึ้นสำหรับ Protozine: Parable of the Planes ซึ่งตีพิมพ์ร่วมกับนิทรรศการ Parable of the Planes ของศิลปิน Aiza Ahmed, Jaimie An, Ashley Bergner, Suiyuan Jin, Christine Jung, Da eun Lee, Elena Bulet i Llopis, Julia Helen Murray, Lorena Park, Suiyuan Jin, Shori Sims ซึ่งเป็นนิทรรศการในซีรีส์ Protocinema Emerging Curator ร่วมกับภาควิชาประติมากรรม Rhode Island School of Design ขึ้นที่ NADA East Broadway นิวยอร์ก ระหว่างวันที่ 13-30 มิถุนายน 2567
อ้างอิง [1] ตรงนี้ฉันนึกถึงนิยายของคลาริส ลิสเปกเตอร์ (Clarice Lispector) ‘Agua Viva’ ที่เธอเขียนว่า “แต่ฉันเป็นแบบคาไลโดสโคป (กล้องสลับลาย): ฉันหลงใหลในประกายที่เปล่งปลั่งซึ่งฉันบันทึกไว้นี้แบบส่องสะท้อนแตกกระจาย” Clarice Lispector, Água Viva (New York: New Directions, 2012), 27. [2] Jorge Luis Borges, “The Aleph” in The Aleph and Other Stories (New York: Penguin Classics, 2004), 127. [3] Clarice Lispector, Água Viva, 31.