The Art of being an Artist : Tony Cragg นักทดลองวัสดุ ประติมากรไร้รูปแบบ และศิลปินผู้สำรวจความเป็นไปได้ผ่านศิลปะ
“ศิลปะเปิดให้เราเห็นว่าเราเป็นใคร และกำลังยืนอยู่ ณ ที่แห่งใด ศิลปะทุกชนิด ไม่ว่ามันจะนามธรรมแค่ไหน ล้วนเกี่ยวพันและเชื่อมโยงกับรูปลักษณ์มนุษย์ และธรรมชาติของมนุษย์ด้วยกันทั้งสิ้น”
ข้อความดังกล่าวคือคำพูดของ โทนี แคร็กก์ ศิลปินผู้สร้างสรรค์ประติมากรรมและศิลปะจัดวางชื่อดังชาวอังกฤษ อันแสดงให้เห็นถึงมุมมองของการเป็น ‘ประติมากร’ ที่ไม่ได้สร้างเพียงประติมากรรม แต่ยังศึกษาอย่างลึกซึ้งจนถึงแก่นแท้ของวัสดุ ซึ่งไม่เพียงย้อนกลับมาสะท้อนและบอกเล่ามุมมองของตัวศิลปินผู้สร้าง แต่ยังชวนผู้ชมอย่างเรา ๆ ไปสำรวจตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองในจักรวาลแห่งการดำรงอยู่ของสรรพสิ่ง
การเป็นศิลปินนักทดลองของแคร็กก์ยังได้รับอิทธิพลมาจากความชื่นชอบในวิทยาศาสตร์ที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็ก ส่งผลให้เขาทดลองทำงานศิลปะมากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะจัดวาง ประติมากรรม ภาพวาด ภาพถ่าย และแลนด์อาร์ต ฯลฯ บนคอนเซปต์ที่เบลอเส้นแบ่งระหว่างนามธรรมกับความสมจริง งานประติมากรรมไร้รูปแบบของเขายังได้แรงบันดาลใจมาจากความชื่นชอบในวิทยาศาสตร์ รูปทรงธรรมชาติ และการสำรวจโครงสร้างภายในของร่างกายมนุษย์ ก่อนจะนำมาจัดเรียงเป็นหมวดหมู่เข้าด้วยกัน . นอกเหนือจากการสำรวจความเป็นไปได้ต่าง ๆ ทางศิลปะผ่านการทดลองทำงานกับวัสดุหลากหลายชนิด ตั้งแต่เหล็กกล้าไปจนถึงหิน และการทำงานศิลปะหลากหลายเทคนิคแบบไม่จำกัดตนเอง อีกหนึ่งภาพจำที่ทำให้แคร็กก์เป็นที่จดจำของทุกคน ก็คือการสร้าง ‘ประติมากรรมสาธารณะ’ (Public Art) ที่ติดตั้งอยู่ในสวนสาธารณะ อาคาร รวมถึงพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์มากมายทั่วยุโรป
Point of view (2007) คือหนึ่งในตัวอย่างงานประติมากรรมสาธารณะของแคร็กก์ ที่เป็นภาพจำของใครหลาย ๆ คน เพราะมันได้ถูกนำไปจัดแสดงยังหลายเมืองทั่วโลก และยังเป็นงานชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ในฐานะประติมากรผู้สร้างฟอร์มของประติมากรรมไร้รูปแบบ ไม่ยึดโยงกับรูปทรงใด ๆ เน้นความเป็นนามธรรม เชื่อมโยงกับรูปทรงธรรมชาติ และวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจน หากสังเกต เราจะรู้สึกเหมือนกำลังมองใบหน้าของผู้คนหลากหลายอารมณ์ที่ร้อยเรียงอยู่รวมกัน เป็นเหมือนมุมมองอันหลากหลายของผู้คน
นั่นเป็นเพียงตัวอย่างเดียวในบรรดางานทดลองอันมากมายของแคร็กก์ และแม้ว่าในปีนี้ เขาจะมีอายุ 75 ปี แล้ว แต่เขาก็ยังไม่หยุดสร้างสรรค์งานและความเป็นไปได้มากมายให้เกิดขึ้นผ่านงานศิลปะ
The Art of being an Artist คือคอลัมน์จาก GroundControl ที่จะชวนทุกคนไปสำรวจผลงานศิลปะผ่านชีวิต ตัวตน และแนวคิดของศิลปิน ในสัปดาห์นี้เราจะขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ โทนี แคร็กก์ ศิลปินและนักทดลอง ผู้ใช้งานประติมากรรมในการสำรวจ ‘แก่นสาร’ ของสรรพสิ่ง ซึ่งสุดท้ายแล้วกลับย้อนมาสะท้อนภาพของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง
วัยเด็กกับโลกวิทยาศาสตร์
แคร็กก์เติบโตขึ้นมาพร้อมกับพ่อที่เป็นวิศวกรไฟฟ้า ผู้ทำงานบนเครื่องบินคองคอร์ด และมีความฝันว่าอยากจะทำงานในฟาร์มของคุณปู่ หรือเป็นนักธรณีวิทยา ในวัยเด็ก แคร็กก์สนใจเกี่ยวกับกับธรณีวิทยามาก ๆ และใช้เวลาว่างไปกับการสำรวจพื้นที่ต่าง ๆ จนบังเอิญเก็บฟอสซิลชิ้นหนึ่งกลับมาบ้านตอนอายุเจ็ดขวบ และนั่นก็ทำให้เขาหลงใหลในวิทยาศาสตร์และการผจญภัยสุด ๆ
เมื่อย้ายมาอยู่หมู่บ้านจัดสรร แคร็กก์ก็ยังคงสนุกกับการออกสำรวจ เขาใช้เวลาว่างไปกับการทำงานที่ได้รับมอบหมายจากพ่อ อย่างการสร้างทางเดินด้วยก้อนกรวดพร้อมกับพี่ชาย และมีโอกาสได้ค้นพบสิ่งแปลกตามากมาย เช่น ฟอสซิลหอยเม่นทะเลที่อยู่ในหินเหล็กไฟรูปหัวใจ แต่แม้ว่าเขาจะคลุกคลีอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เติบโตมาเป็นนักวิทยาศาสตร์ช่างสงสัย และมีโอกาสได้เป็นผู้ช่วยนักวิจัยในห้องแล็บยางในช่วงอายุ 18 - 19 ปี ที่ National Rubber Producers Research Association แต่แคร็กก์กลับไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นนักวิทยาศาสตร์เลยสักครั้ง โดยในขณะที่แคร็กก์ทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัย เขาก็เริ่มสนใจในการวาดภาพและเริ่มให้ความสนใจกับมันมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งวันหนึ่ง มันก็ดึงความสนใจเขาได้มากกว่าการทดลองวิทยาศาสตร์
แคร็กก์เคยกล่าวว่า “ศิลปะแตกต่างจากวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์มีอิทธิพลต่อชีวิตของเรา กำหนดรูปแบบของวัสดุรอบตัวเรา แต่วิทยาศาสตร์จะไม่มีความหมายอะไรเลยหากปราศจากศิลปะ ศิลปะเป็นสิ่งที่มอบความหมายและคุณค่าให้กับทุกสิ่ง”
และหลังจากที่เขาเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของตัวเองอย่างชัดเจน แคร็กก์ก็ตัดสินใจเข้าเรียนศิลปะครั้งแรกที่ Wimbledon School of Art ในกรุงลอนดอน ที่เปิดโลกใบใหม่อันเต็มไปด้วยโอกาสและความตื่นเต้นให้กับเขาอย่างไร้ที่สิ้นสุด โดยหลังจากเรียนจบปริญญาตรีจากที่นี่ในปี 1973 แคร็กก์ก็ตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทด้านศิลปะอีกครั้งที่ Royal College of Art ในกรุงลอนดอน ก่อนจะได้รับโอกาสให้ไปทำงานเป็นศาสตราจารย์ที่ฝรั่งเศสถึงหนึ่งปีเต็ม ณ โรงเรียนศิลปะ L’Ecole des Beaux Arts de Metz ในเมืองเมซ ก่อนจะย้ายมาอยู่อาศัยถาวรที่เยอรมนี และที่นั่นเขาก็ได้กลายเป็นอาจารย์ที่ Kunstakademie Düsseldorf ได้เจอกับศิลปินรุ่นเก๋ามากมายอย่าง โจเซฟ บอยส์ และ เกฮาร์ด ริกเตอร์ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขาอยากพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ
จากความหลงใหลในวิทยาศาสตร์ รูปทรงธรรมชาติ และการจัดเรียง สู่คอนเซปต์หลักของงานศิลปะ
เมื่อก้าวเข้าสู่เส้นทางศิลปิน แคร็กก์ก็ได้ทดลองทำงานอย่างหลากหลายกับวัสดุจริง จนขึ้นชื่อว่าเป็นคนที่ทำงานหลายเทคนิคมาก ๆ แต่สำหรับคอนเซปต์การทำงาน แคร็กก์นั้นรู้ตัวดีว่าเขาหลงใหลในวิทยาศาสตร์ ชอบทำงานกับวัสดุ รวมถึงรูปทรงตามธรรมชาติด้วย และที่สำคัญไปกว่านั้น คือเขายังเป็นคนที่ชอบการจัดเรียง
จะเห็นได้จากการจัดหมวดหมู่ให้กับงานศิลปะ คล้ายกับการจัดกลุ่มของในบ้าน และเขาจะเรียกแต่ละกลุ่มว่า ‘ครอบครัว’ เพราะวัตถุแต่ละหมวดที่เขาจัดกลุ่มให้ล้วนมีลักษณะพิเศษของตัวเอง ราวกับครอบครัวที่เป็นปัจเจกจริง ๆ เช่น ครอบครัวของผลงานแบบ ‘Rational Beings’ ที่รวมกลุ่มผลงานที่มีใบหน้าคล้ายรูปหน้าคนเข้าด้วยกัน หรือครอบครัว ‘Hedges’ ซึ่งเป็นผลงานที่ได้ไอเดียมาจากความทรงจำตอนเด็ก ๆ ของเขา การจัดกลุ่มแบบนี้ช่วยให้แคร็กก์สามารถคิดและทำงานได้ลึกซึ้งขึ้น เหมือนกับเวลาเราทำการบ้านแล้วแยกวิชาออกเป็นกลุ่ม ทำให้เราจดจ่อกับแต่ละวิชาได้ดีขึ้น และพัฒนาวิธีการเรียนเฉพาะสำหรับแต่ละวิชาได้ ส่งผลให้งานของเขามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
รูปทรงธรรมชาติและการสำรวจโครงสร้างภายในของร่างกายมนุษย์คืออีกหนึ่งจุดเด่นในคอนเซปต์งานของเขา ทำให้ผลงานแต่ละชิ้นของเขาจะให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังมองธรรมชาติ สารอินทรีย์ต่าง ๆ ในรูปแบบที่เป็นนามธรรม รวมไปถึงเหล่ารูปทรงเรขาคณิตมากมายที่ได้แรงบันดาลใจมาจากโครงสร้างต่าง ๆ ของมนุษย์ตั้งแต่อวัยวะภายในไปจนถึงรูปร่างของเซลล์ที่เห็นได้ผ่านกล้องจุลทรรศน์
การเล่นกับโครงสร้างที่ซูมลึกถึงรายละเอียดแบบถึงแก่นเช่นนี้ ยังทำให้การมองงานประติมากรรมของแคร็กก์แบบภาพใหญ่ ๆ เป็นสิ่งที่น่าค้นหา และชวนให้เราสอดส่องลึกลงไปถึงภายในตามเขาไปแบบไม่รู้ตัว เมื่อประกอบกับรูปทรงที่ไร้รูปแบบและเหมือนกับเคลื่อนไหวได้ในทุกองศาที่เราปรับเปลี่ยนการมอง ก็ยังเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับผลงานมากขึ้น ผ่านการขยับที่ทางการเดิน และมองผลงานของเขาจากหลายมุมเสมอ เพื่อจะได้เข้าใจงานของเขาได้อย่างครบถ้วน
หลังจากที่ได้สำรวจคอนเซปต์งานของเขาแล้วแบบนี้ ต่อไปเราก็ขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับงานศิลปะของแคร็กก์กันให้มากขึ้น ผ่านไทม์ไลน์และพัฒนาการทำงาน ตามมาดูกัน
1970 ยุคสมัยของการทดลองและฟอร์มความคิดผ่านศิลปะไม่จำกัดเทคนิค
หลังจากรับรู้ถึงความชอบและความต้องการของตัวเอง แคร็กก์ก็ได้เริ่มต้นเส้นทางศิลปินมาตั้งแต่ยุค 60 แล้วอย่างไรก็ตาม การทำงานประติมากรรมไม่ใช่ความตั้งใจแรกของเขา เพราะแม้ว่าเขาจะไม่ได้อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่ด้วยความที่เติบโตมากับความสนใจในธรณีวิทยา รักการสำรวจ และช่างสงสัย ก็ทำให้การทำงานศิลปะในยุคแรกของเขาเต็มไปด้วยร่องรอยของการทดลองกับการทำงานด้วยเทคนิคที่หลากหลาย
แคร็กก์กล่าว “ในตอนแรก การทำประติมากรรมไม่ใช่ความตั้งใจของผม ความตั้งใจของผมคือการดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น วัสดุจะทำอะไรกับผมได้บ้าง รูปร่าง สี และพื้นผิวสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดหรืออารมณ์ของผมได้อย่างไร ผมพบว่าการทำงานกับวัสดุนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด เป็นธรรมชาติ และเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีพลวัตเสมอ ผมมักพบว่าการมองธรรมชาติเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและสร้างแรงบันดาลใจ ตรงกันข้ามกับแนวคิดของประติมากรรมแบบยุโรป ที่ต้องลอกเลียนแบบรูปทรง ซึ่งในฐานะที่ผมต้องทำงานในโรงเรียนศิลปะและฝึกฝน สิ่งเหล่านั้นกลับไม่เกี่ยวข้องหรือมีความสำคัญสำหรับผมเลย”
ด้วยแนวคิดเช่นนี้ เมื่อเรามองไปที่ผลงานศิลปะของเขาตั้งแต่ 1969 - 1979 เราเลยจะพบกับผลงานที่เน้นไปที่รูปทรงเรขาคณิต วัตถุธรรมชาติ วัตถุประดิษฐ์ของมนุษย์ ตัวเลข แลนด์อาร์ต ภาพถ่าย รวมถึงการเล่นกับสีสันด้วย
ยกตัวอย่างเช่น Combination of found beach object (1970) ผลงานในยุคแรก ๆ ของแคร็กก์ที่ทำออกมาในลักษณะของแลนด์อาร์ต โดยนำเอาวัสดุหลายชิ้นที่ค้นพบบนชายหาตุมาวางเรียงกัน สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจในวัสดุ และชิ้นส่วนต่าง ๆ นอกจากนี้เรายังเห็นการเชื่อมโยงกับเรื่องรูปทรงเรขาคณิต ผ่านการตีช่องตารางสี่เหลี่ยม เพื่อเป็นกรอบในการวางวัตถุต่าง ๆ
Stack (1975)
Stack คือชุดผลงานสำคัญชุดหนึ่งในยุคเริ่มต้นของแคร็กก์ (1975 - 1985) ที่ทำเอาไว้หลายชิ้นมาก และยังส่งอิทธิพลต่อผลงานชิ้นอื่น ๆ ในอนาคตด้วย โดยรูปแบบของผลงานชุดนี้ประกอบไปด้วยวัสดุหลากหลายชนิด ที่นำมาอัดแน่นเป็นก้อนแข็งสี่เหลี่ยม วัตถุที่นำมาใช้ก็มีตั้งแต่วัสดุก่อสร้างต่าง ๆ ไปจนถึงนิตยสารเก่า ที่วางซ้อนกันไปเรื่อย ๆ คล้ายชั้นหินทางธรณีวิทยา โดยแคร็กก์เคยกล่าวว่า “ฟอสซิลคือกุญแจที่ไขอดีตสู่ปัจจุบันของเรา”
ผลงานชิ้นนี้ยังสะท้อนให้เห็นแนวคิดของแคร็กก์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ความเชื่อมโยงระหว่างส่วนย่อยกับภาพรวม ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากความรู้ด้านฟิสิกส์อนุภาค โดยแคร็กก์มองว่าศิลปะเป็นส่วนเสริมและขยายความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ได้ ปัจจุบัน หนึ่งในผลงานชุด Stack อย่าง Stack (1975) ได้เป็นส่วนหนึ่งของคอลเลกชันถาวรของ Tate Modern
Spectrum (1979)
และอีกหนึ่งชิ้นงานในยุคเริ่มต้นที่เล่นกับสีสันสุด ๆ ก็คือผลงานชุด Spectrum ที่แคร็กก์ได้ทำต่อเนื่องยาวนานหลายรูปแบบไปจนถึงยุค 80 ผลงานชุดนี้ได้แสดงให้เห็นถึงการเล่นกับวัสดุที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น รวมถึงการเล่นกับสีสันแบบสายรุ้ง
สำหรับกระบวนการทำงานของผลงานชุด Spectrum แคร็กก์ได้นำขยะพลาสติกที่พบตามชายหาดมาจัดวางใหม่ให้เป็นรูปทรงต่าง ๆ ทั้งรูปทรงจากสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติอย่างพระจันทร์ ผู้คน รวมไปถึงรูปร่างของวัตถุอื่น ๆ อย่างเก้าอี้ เพื่อเปลี่ยนขยะที่คนมองว่าไร้ค่า ให้กลายเป็นสิ่งใหม่ และนอกจากเรื่องการเพิ่มคุณค่าใหม่ให้กับขยะ แคร็กก์ยังตั้งใจสร้างความตระหนักถึงปัญหาขยะในสังคม ด้วยการหยิบเอาวัตถุที่ถูกทิ้ง ถูกลืม อย่างไร้ความรับผิดชอบ กลับขึ้นมาโชว์ต่อผู้คนอีกครั้งด้วย
1980 ยุคทองของประติมากรรมเรขาคณิต
"คนที่เขียนหนังสือจะเข้าใจความหมายของสิ่งนี้ พวกเขาอาจคิดว่า 'ฉันจะเปลี่ยนคำนั้น' หรือ 'ตรงนี้ต้องการตอนจบใหม่' และในที่สุด พวกเขาก็จะเขียนบางสิ่งที่ทรงพลังกว่าความคิดดั้งเดิมของพวกเขาออกมา หากคุณสร้างบางสิ่งด้วยมือของคุณ ทุกการเปลี่ยนแปลงในเส้น ปริมาตร พื้นผิว เงาร่าง จะให้ความคิดหรืออารมณ์ที่แตกต่างกันแก่คุณ หลังจากหลาย ๆ การเคลื่อนไหว คุณจะพบว่าตัวเองอยู่ในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย แม้ว่าผมจะเปลี่ยนแปลงวัสดุด้วยมือของผมเอง แต่ตัววัสดุก็เปลี่ยนแปลงจิตใจของผมด้วยเช่นกัน มันเป็นการสนทนาที่วัสดุมักจะเป็นฝ่ายพูดคำพูดสุดท้ายออกมาเสมอ"
เช่นเดียวกับที่แคร็กก์ได้กล่าวไว้ข้างต้น การลงมือทำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ย่อท้อ และทดลองสิ่งใหม่ไปเรื่อย ๆ นำพาให้เขาเริ่มมองเห็นเส้นทางบางอย่าง เพราะพอเข้าสู่ยุค 80 จากผลงานที่หลากหลายและกระจัดกระจาย แคร็กก์ก็เริ่มเน้นไปที่งานศิลปะจัดวางและงานประติมากรรมรูปทรงเรขาคณิตมากขึ้น พร้อมกับรวมเอาจุดเด่นทุกอย่างที่เขาค้นพบในช่วงยุค 70 มาใช้ทั้งหมด ทั้งเรื่องสีสัน การวาด รูปทรง วัสดุ มาทำเป็นผลงานอย่างเป็นเอกลักษณ์ ยกตัวอย่างเช่น Echo (1984) งานประติมากรรมแบบจัดวางที่มีลักษณะเป็นรูปทรงเรขาคณิตเป็นหลัก ยังมีการนำวัสดุหลากหลายชนิดมาสร้างปะปนกัน มีการเพิ่มลูกเล่นด้วยสีสัน และร่องรอยการวาดลายเส้นมากมายบนพื้นผิวของประติมากรรมทุกชิ้น
Condensor (1989)
อีกหนึ่งผลงานที่ทำให้เราเห็นรูปแบบการพัฒนาการที่เด่นชัดของแคร็กก์ ที่จะนำไปสู่การเป็นประติมากรรมไร้รูปแบบและนามธรรม ก็คือชิ้นงาน Condensor (1989) ที่ออกจากกรอบรูปทรงเรขาคณิตไปสู่รูปทรงแบบอื่น ๆ ที่มีความคดเคี้ยวมากขึ้น คาดเดาได้ยากมากขึ้น แต่ก็ยังคงคอนเซปต์รูปลักษณ์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากวัตถุต่าง ๆ ที่ก้ำกึ่งระหว่างรูปทรงจากสิ่งไม่มีชีวิตกับสิ่งมีชีวิต ขึ้นอยู่กับการตีความของผู้ชม
1990 - ปัจจุบัน การกำเนิดของประติมากรรมไร้รูปแบบ
หากถามว่าแคร็กก์เริ่มโฟกัสกับการทำงานประติมากรรมไร้รูปแบบตอนไหน ยุค 90 คือช่วงเวลาที่ว่านั้นเลย จริงอยู่ที่แคร็กก์ให้ความสนใจเกี่ยวกับประติมากรรมมานานแล้ว แต่ทั้งหมดเหมือนอยู่ในช่วงทดลอง ก่อนจะมาระเบิดฟอร์มคอนเซปต์ที่กระจัดกระจายทั้งหมดให้มารวมอยู่ในรูปแบบงานประติมากรรม กล่าวคือ วัตถุธรรมชาติ วัตถุประดิษฐ์ของมนุษย์ ตัวเลข รวมถึงการเล่นกับสีสัน ที่เขาทดลองทำมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม ไม่ได้หายไป เพียงแต่มาอัดแน่นและรวมอยู่ในรูปแบบของงานประติมากรรม ยกเว้นรูปทรงเรขาคณิตที่ถูกลดทอนลงไปอย่างเห็นได้ชัด ดังที่เห็นได้จากการมาถึงของผลงานชุด Early forms ที่แคร็กก์ทำไว้หลายชิ้นมาก ๆ ในยุค 90 ที่ละลายรูปทรงพื้นฐานทิ้งทั้งหมดแล้วโฟกัสมาที่ความเป็นนามธรรม และเน้นนำเสนอรูปทรงที่ดูลื่นไหลและมีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น
Point of view (2007)
Point of view (2007) ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานเด่นของแคร็กก์ ที่แสดงให้เห็นถึงฟอร์มของประติมากรรมไร้รูปแบบ ไม่ยึดโยงกับรูปทรงใด ๆ เน้นความเป็นนามธรรมมากขึ้น เชื่อมโยงกับธรรมชาติและวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจน หากสังเกต เราจะรู้สึกเหมือนกำลังมองใบหน้าของผู้คนหลากหลายอารมณ์ที่ร้อยเรียงอยู่รวมกัน เป็นเหมือนมุมมองอันหลากหลายของผู้คน งานชิ้นนี้ต่อยอดมาจากผลงาน ‘Early Forms’ ของแคร็กก์ในยุค 90 และถูกจัดเป็นส่วนหนึ่งของงานในกลุ่ม ‘Rational Beings’ ที่เน้นโครงสร้างแกนที่เคลื่อนไหว
Industrial Nature (2015)
ประติมากรรมของแคร็กก์ยังโดดเด่นในเรื่องคอนเซปต์ที่เบลอเส้นแบ่งระหว่างนามธรรมกับความเป็นจริง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความชอบในวัยเด็กที่ผูกพันอยู่กับวิทยาศาสตร์ ดังนั้นมุมมองและรูปร่างที่เขานำมาทำเป็นงานประติมากรรมจึงมักจะได้แรงบรรดาลใจมาจากสารอินทรีย์ทั้งหลาย รวมถึงสิ่งมีชีวิตในระดับเซลล์ ที่มองไปมองมาก็คล้ายกับรูปร่างที่เราเห็นในกล้องจุลทรรศน์ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเป็นนามธรรมที่เต็มไปด้วยไดนามิกของการเคลื่อนไหว ทำให้จากงานประติมากรรมที่ตั้งอยู่นิ่ง ๆ ให้ความรู้สึกราวกับมันกำลังเคลื่อนไหวอยู่
แคร็กก์เคยพูดถึงมุมมองที่เขามีต่องานประติมากรรมว่า “ประติมากรรมได้ขยายตัวออกไป มันทำให้เราตระหนักว่าเรามีอารมณ์ความรู้สึกเกี่ยวกับทุกสิ่งรอบตัวเรา นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณถึงคิดเกี่ยวกับสิ่งที่คุณจะใส่ในตอนเช้า สิ่งที่คุณจะกินเป็นอาหารเช้า สภาพอพาร์ตเมนต์ของคุณ คนที่คุณจะไปพบเจอ และที่ที่คุณจะไปในระหว่างวัน มีพื้นฐานทางเหตุผลต่อการตัดสินใจทั้งหมดเหล่านี้ แต่ก็มีส่วนประกอบทางสุนทรียะที่ขับเคลื่อนการตัดสินใจทางการดำรงชีวิตของคุณด้วย มันผูกพันอยู่ในวัสดุ ประติมากรรมได้กลายเป็นการศึกษาโลกความเป็นจริงของเรา ทว่าไม่ใช่ในแนวทางที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ศึกษา แต่เป็นการบอกเราว่ามันมีความหมายอย่างไรและเรารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับมัน และสิ่งเหล่านี้เป็นแง่มุมที่สำคัญของการดำรงอยู่ของเรา”
“ประติมากรรมมีหน้าที่”
แม้เราจะเห็นแคร็กจัดแสดงงานในแกลเลอรีและเทศกาลศิลปะมากมายอย่าง Venice Biennale ในปี 1986, 1988 และ 1993 และงาน Documenta 8 ในคาสเซล ปี 1987 ฯลฯ แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ยังเป็นศิลปินตัวพ่อด้านการจัดแสดงงานแบบ Public Art ด้วย นั่นหมายความว่า เมื่อคุณไปเยือนยุโรป คุณอาจจะได้พบกับงานประติมากรรมของเขาโดยบังเอิญได้ตามสวนสาธารณะ สถานที่ในประวัติศาสตร์ รวมถึงแลนด์มาร์คสำคัญก็ได้ เช่น ที่ Central Station ในนิวยอร์ก, St. Agnes Church ในเมืองโคโลญ, Houghton Hall และ Boboli Gardens ในกรุงฟลอเรนซ์ ฯลฯ
ด้านรางวัล แคร็กก์ยังได้รับรางวัลมากมายจากวงการศิลปะ เช่น รางวัลเชกสเปียร์ จากสมาคมอัลเฟรด โทปเฟอร์ แห่งเมืองฮัมบูร์ก เยอรมนี , รางวัลสุดยอดประติมากรรมแห่งปี 2002 (พีเพนบร็อก ไพรซ์) และ รางวัลสุดยอดประติมากรรมจาก Praemium Imperiale ทั้งนี้ เขายังได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งจักรวรรดิอังกฤษชั้น OBE (Officer of the Most Excellent Order of the British Empire) ในปี 1999 และได้เลื่อนชั้นเป็น CBE (Commander of the Most Excellent Order of the British Empire) ในปี 2002 พร้อมกับมีคำนำหน้าว่า ‘Sir’ แบบอัศวินด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างความสำเร็จบางส่วนในชีวิตของแคร็กก์เท่านั้น เพราะในปัจจุบัน (ปี 2024) แม้แคร็กก์จะมีอายุ 75 ปี แล้ว แต่เขาก็ยังไม่หยุดสร้างสรรค์งานและความเป็นไปได้มากมายให้เกิดขึ้นผ่านงานศิลปะ ราวกับยังมีเรื่องอีกหลายอย่างให้ทดลองไม่หยุดหย่อน และในขณะเดียวกัน เขาก็ยังมองเห็นความหวังและความเป็นไปได้อื่น ๆ ในโลกแห่งประติมากรรม เพราะบนโลกใบนี้ยังเหลือพื้นที่อีกมากมาย ให้ใครต่อใครเข้ามาเติมเต็มและสร้างสรรค์มัน ดังที่เขาเคยกล่าวว่า “ประติมากรรมมีหน้าที่ของมัน แต่ถ้าคุณมองให้ทั่วโลกของเรา คุณจะเห็นเลยว่า โลกของเรายังมีประติมากรรมอยู่น้อยมาก”
อ้างอิง
Tony Cragg Master of Materials
Tony Cragg: "sculpture is a vital sign"
British artist Tony Cragg is one of the most acclaimed artists of his generation.