“กาลครั้งหนึ่งในปารีส” ย้อนสำรวจ 6 สถานที่แข่งขัน Olympic Games Paris 2024 ผ่านสายตาของศิลปินดังแห่งฝรั่งเศส
ว่ากันว่าถ้าเราอยากรู้ว่าศิลปินมองเห็นอะไร เราคงต้องสำรวจลงไปในผลงานของพวกเขา และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คอนเซปต์หลักของคอลัมน์ Olympic Series วันนี้ คือการพาทุกคนเดินทางย้อนเวลากลับไปสำรวจสถานที่จัดการแข่งขันนอกสเตเดียมของ Olympic Games Paris 2024 กันอีกสักครั้ง ผ่านห้าภาพวาดจากสายตาของศิลปินดังแห่งฝรั่งเศส เพื่อตามหาไปด้วยกันว่า ก่อนสถานที่แต่ละแห่งจะกลายมาเป็นลานแข่งขันหลักในปีนี้ กาลครั้งหนึ่งในปารีส สถานที่เหล่านี้ยังมีประวัติศาสตร์และความน่าสนใจอะไรซ่อนอยู่อีกบ้างนะ ถ้าใครพร้อมแล้วก็มาเดินตามรอยพู่กัน แล้วสำรวจปารีสเมื่อครั้งอดีตไปพร้อมกันได้เลย
แม่น้ำแซน Le Pont-Neuf (1872) - Pierre-Auguste Renoir
แม่น้ำแซน คือแม่น้ำเก่าแก่ที่ไหลเวียนผ่านทั่วประเทศฝรั่งเศสมาอย่างยาวนาน จนเปรียบได้กับสายเลือดเส้นหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนฝรั่งเศส พร้อมกับเชื่อมโยงวิถีชีวิตของผู้คนเข้ากับสายน้ำ และในปี 2024 นี้ ทางการฝรั่งเศสก็ได้เลือกให้แม่น้ำแซนเป็นสถานที่จัดพิธีเปิดนอกสเตเดียมครั้งแรกในประวัติศาสตร์โอลิมปิก และยังใช้เป็นสนามแข่งขันกีฬาว่ายน้ำมาราธอน ตรง Pont Alexandre III หรือ สะพานอเล็กซานเดอร์ที่ 3 อีกด้วย
แม่น้ำแซน ยังเป็นบ่อเกิดแรงบันดาลใจสำคัญของศิลปินฝรั่งเศสหลาย ๆ คน หนึ่งในนั้นคือ ปิแอร์-โอกุสต์ เรอนัวร์ จิตรกรอิมเพรสชันนิสม์ชาวฝรั่งเศส ผู้โดดเด่นเรื่องการวาดภาพผู้คน เจ้าของผลงานระดับมาสเตอร์พีชหลายชิ้น เช่น Luncheon of the Boating Party (1881), Dance at Le Moulin de la Galette (1876) และ The Swing (1876) แต่ถึงแม้ว่าเรอนัวร์จะเชี่ยวชาญเรื่องการวาดภาพผู้คนเป็นหลัก ครั้งหนึ่งเขาก็เคยวาดภาพวิวทิวทัศน์ของแม่น้ำแซน ที่สะท้อนบรรยากาศความเป็นฝรั่งเศสในช่วงเวลาสำคัญเอาไว้ด้วย
ภาพที่ว่านั้นมีชื่อว่า Le Pont-Neuf (1872) ภาพบริเวณสะพานเนิฟ สะพานที่เก่าแก่ที่สุดของปารีส ที่ถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างมีชีวิตชีวา ผ่านเทคนิคการวาดแสงและเงาสไตล์ชาวอิมเพรสชันนิสม์ ที่เน้นการตวัดฝีแปรงหยาบ ๆ กับสีโทนสว่าง ๆ เพื่อทำให้ภาพที่ออกมาเลยมีความเป็นธรรมชาติ สีสันสดใส และลดทอนรายละเอียดปลีกย่อยลง เพื่อเน้นให้เห็นถึงความเยอะของผู้คนที่สัญจรไปมาภายในภาพ
เรอนัวร์วาดภาพนี้จากมุมมองชั้นบนของร้านกาแฟในละแวกนั้น โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของร้านให้ใช้พื้นที่เป็นเวลาหนึ่งวัน และถึงแม้ว่าภาพนี้จะเป็นภาพวิวทิวทัศน์ แต่ตัวเอกหลักที่ทำให้เขาวาดภาพนี้ขึ้นมาก็ยังคงเป็นบุคคล และคนคนนั้นก็คือ ‘เอดมอนด์ เรอนัวร์’ น้องชายของเขา ผู้สวมหมวกทรงสูงสีเหลือง ถือไม้เท้า และกำลังเดินมายังอาคารร้านกาแฟที่เรอนัวร์นั่งรออยู่
ภาพนี้ยังสะท้อนวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์เมืองปารีสครั้งสำคัญเอาไว้ด้วย เพราะในภาพนี้เราจะได้เห็นชาวฝรั่งเศสจากหลายชนชั้น ไม่ว่าจะเป็นคนธรรมดาตามท้องถนน ขุนนางบนรถม้า หรือแรงงานที่กำลังแบกของและเข็นรถเข็นไปตามถนน ความคึกคักในภาพนี้เลยสะท้อนให้เห็นถึงบรรยากาศการฟื้นตัวของเมืองฝรั่งเศสหลังสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย ปี 1870 ที่เพิ่งจบไปได้ปีกว่า ๆ ด้วย
ช็องเดอมาร์ส Champs de Mars: The Red Tower (1911 - 1923) - Robert Delaunay
Champ de Mars สวนสาธารณะถัดจากหอไอเฟล ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่สุดไอคอนิกของปารีสที่ถูกใช้เป็นสถานที่จัดการแข่งขันนอกสเตเดียมอย่างกีฬาวอลเลย์บอลชายหาด และถ้าเราจะพูดถึงศิลปินที่ถ่ายทอดมุมมองที่มีต่อพื้นที่แห่งนี้ได้อย่างน่าสนใจขึ้นมาสักคนหนึ่ง ภาพ Champs de Mars: The Red Tower (1911 - 1923) ของ โรเบิร์ต เดโลเนย์ ก็เป็นภาพแรก ๆ ที่ผุดขึ้นมาในใจเรา
เดโลเนย์ คือจิตรกรชาวฝรั่งเศสผู้เป็นเสาหลักของงานศิลปะแบบ ออร์ฟิก คิวบิสม์ (Orphic Cubism) หรือ ศิลปะที่ผสมผสานระหว่างคิวบิสม์ (Cubism) และฟอวิสม์ (Fauvism) เข้าด้วยกัน ทำให้ภาพวาดสไตล์นี้จะเน้นวาดภาพเทคโนโลยีในยุคโมเดิร์น ด้วยการใช้สีสันสดใสที่ตัดกันอย่างรุนแรงและรูปทรงเรขาคณิตเป็นองค์ประกอบหลัก เพื่อเชิญชวนให้ผู้ชมสัมผัสได้ถึงการเคลื่อนไหวและพลังงานมากมายที่เกิดขึ้นในภาพ ดังนั้นผลงานของ Delaunay จึงมักจะเป็นภาพที่แสดงถึงความทันสมัยในยุคนั้น เช่น หอไอเฟล เครื่องบิน หน้าต่าง และแสงสีแห่งกรุงปารีส
ในภาพ Champs de Mars: The Red Tower (1911 - 1923) เดโลเนย์ต้องการตีความหอไอเฟล ในฐานะสัญลักษณ์ของปารีส อันเป็นตัวแทนของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นเมืองและอุตสาหกรรม ด้วยมุมมองแบบโมเดิร์น ที่มักทดลองเทคนิคและวัสดุใหม่ ๆ ปฏิเสธกฎเกณฑ์และประเพณีเก่า ๆ และเน้นความเป็นนามธรรมมากกว่าการแสดงภาพที่สมจริง เพื่อสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคนั้น อันเนื่องมาจากการล่มสลายของระเบียบแบบเก่าของปารีส ที่เริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 20 หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สังเกตได้จากการใช้เทคนิคออร์ฟิก คิวบิสม์ ที่ไม่มีความสมจริง เป็นนามธรรม ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามของงานแบบอนุรักษนิยมที่เน้นความสมจริงเป็นหลัก
ปลัสเดอลากงกอร์ด Place de la Concorde (1875) - Edgar Degas
Place de la Concorde จัตุรัสที่ใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศส สถานที่สำคัญที่เป็นศูนย์กลางเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์มากมาย อย่างการทำหน้าที่เป็นลานประหารชีวิตหลุยส์ที่ 16, มารี อองตัวแนตต์ และแม็กซิมิเลียน โรบสเปียร์ ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส และใน Olympic Games Paris 2024 ครั้งนี้ จัตุรัสแห่งนี้ก็ได้ทำหน้าที่เป็นพื้นที่สำหรับการแข่งขัน Urban Sport อย่างบีเอ็มเอ็กซ์ แบรกแดนซ์ บาสเกตบอล และสเกตบอร์ด
สำหรับมุมมองจากสายตาศิลปินฝรั่งเศสที่เราอยากจะพูดถึงในบทความนี้ ก็คือภาพ Place de la Concorde (1875) ของ เอ็ดการ์ เดอกาส์ หนึ่งในภาพสำคัญที่ทำให้เราเห็นเอกลักษณ์ของภาพเขียนแบบอิมเพรสชันนิสม์ ที่มักจะทำการจับภาพช่วงเวลาสั้น ๆ เอาไว้แบบเร็ว ๆ อย่างในภาพนี้เดอกาส์ก็ได้ทำการขยายภาพออกไปในแนวนอนเพื่อเน้นความกว้างของพื้นที่สาธารณะ และถ่ายทอดชีวิตสมัยใหม่ด้วยการรวมเอาบุคคลหลาย ๆ คนมาไว้ในพื้นที่เดียว โดยทุกคนในภาพต่างก็จดจ่ออยู่กับกิจกรรมของตนเอง ซึ่งการที่เดอกาส์สามารถเก็บทุกอิริยาบถของแต่ละคนเอาไว้ได้ในม้วนเดียวแบบนี้ ก็เป็นแนวทางเฉพาะของขบวนการอิมเพรสชันนิสม์
ภาพนี้ยังบันทึกชีวิตของชนชั้นสูงในปารีสช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โดยเดอการ์ได้วาดภาพเพื่อนสนิทของเขา ลูโดวิช-นโปเลียน เลอปิก และนักเขียนบทละครชื่อดัง ลูโดวิช ฮาเลวี พร้อมกับนำเสนอช่วงเวลาหนึ่งของ Place de la Concorde รวมถึงอนุสาวรีย์และสถาปัตยกรรมอื่น ๆ โดยรอบเอาไว้ด้วย
อีกหนึ่งเกร็ดประวัติศาสตร์เล็ก ๆ ที่มาพร้อมกับภาพนี้ ก็คือเรื่องการหายสาบสูญไปนานถึง 40 ปี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเนื่องมาจากการขโมยผลงานศิลปะในช่วงนั้นเพื่อทำกำไร ก่อนจะกลับมาปรากฏตัวอีกครั้งในปี 1995 และจัดแสดงที่ พิพิธภัณฑ์ Hermitage ประเทศรัสเซีย ส่วนเหตุผลที่ต้องใช้เวลานานขนาดนั้น ดังนั้นนอกจากภาพนี้จะแสดงให้เห็นภาพ Place de la Concorde ในอดีต รวมถึงวิถีชีวิตผู้คน และพัฒนาการของเดอกาส์ ก็ยังสะท้อนประวัติศาสตร์โลกและผลกระทบของสงครามต่อวงการศิลปะ ที่ก่อให้เกิดคำถามสำคัญเกี่ยวกับการครอบครองงานศิลปะที่ถูกยึดมาในช่วงสงครามได้ด้วย
กร็องปาแล The Grand Palais, Paris (1916) - Luigi Loir
ภาพนี้คือภาพวาด Grand Palais หรือ Great Palace จากปลายพู่กันของ Luigi Loir จิตรกรภาพวิวทิวทัศน์ชาวฝรั่งเศสผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 และยังเป็นที่รู้จักในฐานะผู้บุกเบิกแนวทางศิลปะที่เรียกว่า ‘Parisianism’ และได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘จิตรกรแห่งปารีสโดยแท้’ จนเกิดเป็นเสียงล่ำลือว่า ไม่มีมุมไหน สถานที่ใด และการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในปารีสที่จะรอดเร้นสายตาของ Loir ไปได้ รวมถึงบทกวีที่กล่าวเปรียบเปรยว่า “‘ฌอง เบโรด์ วาดภาพชาวปารีสของเมืองปารีส และ ลุยจิ ลัวร์ นั้นวาดเมืองปารีสของชาวปารีส” ด้วย
สำหรับคำว่า ‘Parisianism’ นั้น เป็นคำศัพท์ที่หมายถึง นิสัยหรือกิริยาท่าทาง (ตามคำพูด) ที่สังเกตได้ในชาวปารีสโดยเฉพาะ ซึ่งในที่นี้ก็ได้สื่อถึงภาพวาดของ Loir ที่มีความเป็นปารีสในตัวเองสูงมาก เพราะเขาจะเน้นถ่ายทอดบรรยากาศของกรุงปารีสเป็นหลัก ผ่านแง่มุมที่หลากหลาย ทั้งสถาปัตยกรรม ผู้คน และวิถีชีวิต โดยจะจับภาพช่วงเวลาสำคัญ ภาพการเปลี่ยนแปลงของเมือง และยังให้ความสำคัญกับรายละเอียดและความสมจริง รวมทั้งสะท้อนอารมณ์และบรรยากาศผ่านการใช้แสงและสีอย่างมีเอกลักษณ์ด้วย
ผลงานของ Loir มีความสำคัญต่อโลกศิลปะมาก เพราะงานของเขาได้ช่วยบันทึกภาพที่มีคุณค่าของปารีส อย่างภาพการเปลี่ยนผ่านยุคสมัย และยังมีอิทธิพลต่อศิลปินรุ่นหลังในการนำเสนอภาพเมืองและชีวิตเมือง อันสะท้อนอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของฝรั่งเศสในยุคสำคัญ นอกจากนี้ ยังเป็นแรงบันดาลใจทางสถาปัตยกรรมและการวางผังเมือง มีคุณค่าทางการศึกษาสำหรับนักประวัติศาสตร์และนักสังคมศาสตร์ และเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมที่ยังคงได้รับการชื่นชมและศึกษาในปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้ภาพวาดของ Loir กับสไตล์แบบ Parisianism จึงไม่เพียงแต่เป็นผลงานศิลปะที่งดงาม แต่ยังเป็นหน้าต่างสู่อดีตที่ช่วยให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการพัฒนาของปารีสและฝรั่งเศสได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น
พระราชวังแวร์ซาย The Palace of Versailles (1668) - Pierre Patel
เชื่อว่าทุกคนน่าจะเคยเห็นภาพพระราชวังแวร์ซายกันมาหลากหลายเวอร์ชันแล้ว แต่สำหรับเวอร์ชันที่เราอยากจะพาทุกคนมาทำความรู้จักในบทความนี้ คือพระราชวังแวร์ซายในช่วงที่มีการปรับปรุงครั้งแรกตามพระบัญชาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โดยสถาปนิก หลุยส์ เลอ โว ผู้ซึ่งได้เปลี่ยนบ้านพักสำหรับการล่าสัตว์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ให้เป็นอาคารที่ทันสมัยขึ้น ผ่านสายตาและปลายพู่กันของ ปิแอร์ ปาเตล จิตรกรชาวฝรั่งเศสผู้มีชีวิตอยู่ระหว่างปี 1605 - 1676 เขาเกิดในแคว้นปีการ์ดีและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการศิลปะ
ในภาพนี้ปาเตลได้วาดรายละเอียดสำคัญหลายอย่าง ที่เราสามารถสังเกตเห็นได้ เช่น บ่อน้ำในบริเวณสวน, หอคอยน้ำที่บดบังถ้ำเทพธิดาเธทิส, คลองใหญ่ที่ตัดผ่านสวน และรถม้าหลวงที่กำลังวิ่งเข้ามา นอกจากนี้ ศิลปินยังเน้นแนวแกนของสวนที่ต่อมากลายเป็น ‘Grand Perspective’ อันโด่งดังให้เราไก้เห็นกันชัด ๆ ผ่านการวาดเนินเขาสูงชันที่ด้านข้างเพื่อเพิ่มความยิ่งใหญ่ของทัศนียภาพของภาพวาดให้เด่นขึ้น
อย่างไรก็ตาม ภาพวาดนี้ไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงความงดงามของพระราชวังแวร์ซายในช่วงศตวรรษที่ 17 เท่านั้น แต่ยังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บันทึกช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของพระราชวังแวร์ซายเอาไว้ด้วย ซึ่งต่อมาพระราชวังแห่งนี้ก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจและความรุ่งเรืองของราชวงศ์ฝรั่งเศส และกำลังจะเป็นสถานที่จัดการแข่งขันนอกสเตเดียมเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โอลิมปิกในปีนี้ด้วย
เกาะตาฮีติ Fatata te Miti (1892) - Paul Gauguin
ขอพาทุกคนออกนอกธีมกาลครั้งหนึ่งในปารีส แล้วมาเยือน ‘เกาะตาฮีติ’ กันเป็นแห่งสุดท้าย เพราะที่นี่ก็เป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คสำคัญที่การแข่งขันโอลิมปิกเขาพากันไปปักหลักในปีนี้ ซึ่งจุดที่ถูกเลือกให้เป็นพื้นที่การแข่งขันก็คือ Teahupo'o หมู่บ้านบนชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ สถานที่จัดการแข่งขันโต้คลื่นระดับโลกมานานกว่า 20 ปี โดยเฉพาะในรายการ Tahiti Pro . และถ้าเราจะพูดถึงศิลปินฝรั่งเศสสักคนหนึ่งที่มีมุมมองมากมายเกี่ยวกับเกาะตาฮีติ ก็ต้องนึกถึง ‘ปอล โกแกง’ จิตรกรชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ผู้มีบทบาทสำคัญในกลุ่มศิลปะยุคหลังอิมเพรสชันนิสม์ และเป็นผู้พัฒนาแนวทางการวาดภาพแบบ Synthetism ซึ่งเน้นการใช้สีสันสดใส รูปทรงแบนราบ และการสื่อความหมายเชิงสัญลักษณ์
โกแกงยังชื่นชอบการวาดภาพชาวพื้นเมืองในลักษณะแบบอุดมคติ และมองว่าวิถีชีวิตของพวกเขาดีกว่าสังคมเมืองที่เจริญทางวัตถุเพียงอย่างเดียว ดังที่เห็นได้ในภาพ ‘Fatata te Miti (1892) หนึ่งในผลงานที่โกแกงวาดเอาไว้ในระหว่างการเดินทางไปเยือนเกาะตาฮีตีเป็นครั้งแรก ภาพนี้แสดงให้เห็นผู้หญิงชาวตาฮีตีสองคนกำลังกระโดดลงทะเล และไกลออกไปอีกหน่อยก็มีชาวประมงคนหนึ่งกำลังจับปลาด้วยฉมวกอยู่ในฉากหลัง ภาพนี้สะท้อนให้เห็นถึง มุมมองตามอุดมคติที่โกแกงมีต่อชาวตาฮีตี ผ่านการวาดถึงชีวิตที่เรียบง่าย ใกล้ชิดธรรมชาติ ไร้กฎเกณฑ์ที่ยุ่งยาก และมีอิสระทางเพศของชาวตาฮีติ ซึ่งสะท้อนจินตนาการและความรู้สึกที่เขามีต่อวัฒนธรรมพื้นเมือง
โกแกงใช้เทคนิคการวาดที่เรียกว่า ‘cloisonnism’ หรือ ‘คตินิยมเส้นกั้นสี’ ที่พัฒนาขึ้นในช่วงหลังอิมเพรสชันนิสม์ โดยจะเน้นการใช้สีบริสุทธิ์ (ไม่ผสม) มาทาให้เป็นรูปทรงที่เด่นชัดและแบนราบ อย่างในภาพนี้ โกแกงก็ได้ใช้สีสันเข้ม ๆ แบบเมืองเขตร้อน อย่าง สีชมพูและม่วงสำหรับผืนทราย แม้ว่าในความเป็นจริง หาดทรายแห่งนี้จะเป็นสีน้ำตาลจากภูเขาไฟก็ตาม
เช่นเดียวกับศิลปินในยุคเดียวกันอีกหลาย ๆ คน โกแกงก็เป็นคนที่ขายงานไม่ค่อยได้เช่นกัน และเพิ่งได้รับความสนใจหลังจากเสียชีวิตไปแล้ว และส่งอิทธิพลต่อศิลปินสมัยใหม่คนอื่น ๆ อีกหลายคน เช่น ปาโบล ปิกัสโซ และ อองรี มาติส เป็นต้น
อ้างอิง
Auguste Renoir Pont Neuf, Paris, 1872
Masterpiece Story: The Red Tower by Robert Delaunay
Place de la Concorde, 1875 by Edgar Degas
War and “Place de la Concorde” by Degas
Luigi LOIR The Grand Palais, Paris
The Grand Palais, Paris Luigi Loir
Luigi LOIR (1845-1916) - Presumed view of Petit-andely
View of the palace and gardens of Versailles, seen from the avenue de Paris