ที่มาของ ‘กีฬาโอลิมปิก' จากกีฬารวมชาติกรีกโบราณ สู่งานมหกรรมกีฬาระดับโลก
วันที่ 26 กรกฏาคมที่จะถึงนี้ งานมหกรรมกีฬาระดับโลกอย่าง ‘กีฬาโอลิมปิก’ ก็ได้ฤกษ์กลับมาจัดขึ้นอีกครั้ง ณ เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส แต่ก่อนที่จะได้ไปลุ้นตัวโก่งกับการเชียร์กีฬา เราก็อยากจะชวนทุกคนมาอุ่นเครื่องก่อนก้าวเข้าสู่ฤดูกาลแห่งการแข่งขันครั้งใหม่ ด้วยคอลัมน์ Olympic Series ที่ขอเปิดคอลัมน์แรกด้วยการพาทุกคนไปทำความรู้จักกับที่มาของกีฬาโอลิมปิก ผ่านเกร็ดประวัติศาสตร์และตัวอย่างผลงานศิลปะที่น่าสนใจตามสไตล์ของ GroundControl เพื่อหาคำตอบว่า อะไรกันที่เป็นจุดเริ่มต้นของกีฬาโอลิมปิก และเพราะเหตุใด จากเกมกีฬาบูชาเทพเจ้ายุคโบราณ ถึงกลายเป็นไวรัลและขึ้นแท่นเป็นมหกรรมกีฬาหนึ่งเดียวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่างทุกวันนี้ ตามมาหาคำตอบไปพร้อมกันเลย
📌อะไรคือความเป็นกรีก? ว่าด้วยแนวคิด Panhellenism ที่รวมคนกรีกเป็นหนึ่งเดียว
หากเรามองแผนที่กรีกโบราณ จะเห็นได้เลยว่านครรัฐแต่ละแห่งของกรีกมีความเป็นเอกเทศสูงและอยู่ห่างไกลกัน เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ของดินแดนกรีกโบราณเต็มไปด้วยภูเขาสูงใหญ่ มีเกาะแก่งมากมาย และยังกระจัดกระจายกันออกไปทั่วแทบทะเลอีเจียนจนถึงอินเดีย จึงยากที่พวกเขาจะอยู่รวมกันอย่างเป็นเอกภาพ แต่อะไรกันที่ทำให้คนกรีกเขารู้ว่าตัวเองเป็นคนกรีก?
สิ่งนั้นถูกเรียกว่าแนวคิด ‘ความเป็นกรีก’ หรือ ‘Panhellenism’ (แปลว่า กรีกทั้งผอง) ที่ระบุว่าคุณจะถูกนับรวมว่าเป็นคนกรีกได้ก็ต่อเมื่อมีคุณสมบัติสี่ประการหลัก ๆ ได้แก่ การพูดภาษาเดียวกัน มีวัฒนธรรมร่วมกันอย่างการนับถือเทพเจ้าแบบเดียวกัน และมีบรรพบุรุษเป็นชาวกรีกที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ครบถ้วนเป็นคนยืนยัน และเมื่อคุณมีทั้งสามคุณสมบัตินี้ครบถ้วน คุณจะสามารถปลดล็อกคุณสมบัติความเป็นกรีกข้อที่สี่ได้ นั่นก็คือการเข้าร่วม ‘แพนเฮลเลนิกเกมส์’ (Panhellenic Games) งานกีฬาที่ถูกจัดขึ้นมาเพื่อบูชาเทพเจ้าจากสี่เมืองใหญ่ของกรีก และมีเพียงชาวกรีกเท่านั้นที่จะเข้าร่วมได้ ซึ่ง ‘กีฬาโอลิมปิก’ ก็เป็นหนึ่งในสี่งานกีฬาที่อยู่ใต้ร่มแพนเฮลเลนิกเกมส์และเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นคนกรีก
📌 ‘โอลิมเปียด’ จุดเริ่มต้นของ ‘แพนเฮลเลนิกเกมส์’ ต้นแบบของกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่
776 ปีก่อนคริสตกาล ณ วิหารเทพเจ้าซุส ในเมืองโอลิมเปีย ที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของแหลมเพโลพอนนีสของประเทศกรีซ ได้มีการจัดงานที่เรียกว่า ‘โอลิมเปียด’ (Olympiad) (ชื่อดั้งเดิมก่อนจะถูกเรียกว่าโอลิมปิกในปัจจุบัน) ขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อบูชาเทพเจ้าซุส เทพเจ้าสูงสุดตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวกรีกโบราณ ซึ่งจุดประสงค์ของการจัดงานนี้ขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าซุส ฝึกฝนทักษะการล่าสัตว์ และที่สำคัญคือการเปิดโอกาสให้ชายชาวกรีกที่มีความเชื่อทางศาสนาเดียวกันและพูดภาษาเดียวกันได้มารวมตัวกันด้วย
โอลิมเปียดยังเป็นต้นกำเนิดของแพนเฮลเลนิกเกมส์ที่เป็นต้นแบบให้กับเมืองอื่น ๆ อีกสามเมือง ได้แก่ ‘ไพเธียนเกมส์’ จัดขึ้นที่เมืองเดลฟี เมืองแห่งการทำนายและบูชาอะพอลโล จัดขึ้นทุก ๆ สี่ปีเหมือนโอลิมเปียด แต่จะเน้นเรื่องการแข่งม้ามากกว่า ต่อด้วย ‘อิสธ์เมียนเกมส์’ ที่เมืองโครินธ์ จัดขึ้นที่วิหารของโพไซดอน เหมือนกับโอลิมเปียดทุกอย่างเช่นกัน แต่จะจัดขึ้นทุก ๆ สองปี โดยจุดเด่นของงานนี้คือการแข่งขันในด้านดนตรีและบทกวีด้วย และ ‘เนเมียนเกมส์’ ที่เมืองเนเมีย ซึ่งจัดขึ้นเพื่อบูชาซุสและมีรายละเอียดการแข่งขันเหมือนโอลิมเปียดและอิสธ์เมียนเกมส์ทุกประการ
สำหรับงานศิลปกรรมที่เกี่ยวกับกีฬามักจะปรากฏออกมาในรูปของงานประติมากรรม เช่น ประติมากรรม ‘The lancelotti Diskobolos’ แสดงภาพของชายที่กำลังทำท่าขว้างจักรซึ่งเป็นหนึ่งในเกมกีฬาที่จัดขึ้นจริงในโอลิมเปียดยังมีประติมากรรม ‘Boxer at Rest’ ที่เป็นชายคนหนึ่งกำลังพักเพื่อเตรียมตัวชกมวยในนัดต่อไป นอกจากประติมากรรมที่เป็นรูปปั้นแล้ว ก็ยังมีปรากฏในรูปแบบจิตรกรรมบนภาชนะต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน อย่างภาพ ‘Runners’ บนถ้วย amphora ซึ่งเป็นรูปนักวิ่งในการแข่งขันในงานกีฬา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เกมกีฬาของชาวกรีกไม่ได้มีขึ้นแค่สี่เมืองใหญ่นี้เท่านั้น แต่ยังกระจายออกไปอีกมากมายกว่า 150 เมืองเช่น งานพานาเทเนีย (Panathenaia) ของเมืองเอเธนส์ ก็เป็นงานกีฬาที่จัดขึ้นทุก ๆ สี่ปีเพื่อบูชาเทพีอาธีน่า และมีการแข่งขันเหมือนกับงานโอลิมเปียด แต่พานาเทเนียไม่ถือว่าเป็นแพนเฮลเลนิกเกมส์และต่อให้เข้าร่วมงานนี้ได้ก็ไม่ได้บ่งบอกว่าคุณเป็นกรีก เทียบเท่ากับเกมกีฬาในแพนเฮลเลนิกเกมส์ของจริงด้วย นั่นก็เพราะว่าพานาเทเนียจะมุ่งเน้นการเฉลิมฉลองทักษะของคนเอเธนส์ในด้านกีฬา วัฒนธรรม และสติปัญญา เท่านั้น แต่ไม่ได้เปิดกว้างยอมรับทุกคนให้เข้าแข่งขัน ต่างจากแพนเฮลเลนิกเกมส์ที่รวมคนจากทุกนครรัฐให้เข้าร่วมได้นั่นเอง
ดังนั้นแพนเฮลเลนิกเกมส์จึงไม่ใช่เพียงงานกีฬา หรืองานที่มีขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าที่ชาวกรีกเคารพ แต่ต้องเป็นงานที่เปิดรับการรวมตัวระดับชาติและได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากทุกนครรัฐ ถึงจะเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของความเป็นกรีกที่ชาวกรีกทุกคนเห็นพ้องต้องกัน และเป็นหนึ่งในสี่คุณสมบัติหลัก ๆ ของความเป็นกรีก ที่แยกให้คนกรีกแตกต่างออกไปจากคนเถื่อน (Barbarian) ได้
📌 ‘แพนเฮลเลนิกเกมส์’ สี่งานกีฬารวมชาติกรีก ที่เป็นมากกว่าเทศกาลบูชาเทพ
โลกของชาวกรีกโบราณเต็มไปด้วยความซับซ้อนและความขัดแย้ง การที่นครรัฐของกรีกตั้งอยู่ห่างไกลกัน มีระบบการปกครองที่ต่างกันอย่างเป็นเอกเทศ ส่งผลให้สิ่งเดียวที่ยึดเหนี่ยวพวกเขาเอาไว้ร่วมกัน ก็คือ ‘วัฒนธรรม’ ที่เหมือนกัน แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็ไม่ได้อยู่ร่วมกันอย่างสงบมาตั้งแต่ต้น
ตั้งแต่ยุคไมซีเนียนจนถึงยุคโรมัน นครรัฐต่าง ๆ ของกรีกต่างมีการสู้รบกันเองมาโดยตลอด จนกระทั่งช่วงต้นศตวรรษที่ห้าก่อนคริสตกาล ชาวกรีกภายใต้การนำทัพของชาวสปาร์ตาและชาวเอเธนส์ได้ร่วมมือกันต่อสู้กับชาวเปอร์เซียน จากเหตุการณ์นั้น แม้ว่าจะไม่ได้นำไปสู่การรวมตัวทางการเมืองอย่างถาวร แต่ก็ช่วยเสริมสร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่ชาวกรีกให้เกิดขึ้นมาได้
แพนเฮลเลนิกเกมส์จึงไม่ใช่เพียงเทศกาลบูชาเทพเจ้า แต่ยังมีผลประโยชน์ทางการเมืองการปกครองในแง่ของการเชื่อมโยงชาวกรีกจากทั่วทุกมุมโลกให้รู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันผ่านการทำให้รู้สึกถึงความเป็นกรีกในตัวเอง เพราะมีกฏชัดเจนว่านักกีฬาที่จะเข้าร่วมงานนี้ได้ต้องมีคุณสมบัติ ‘ความเป็นกรีก’ ครบถ้วน และที่สำคัญในระหว่างที่มีการจัดการแข่งขัน นักกีฬาทุกคนยังได้รับการการันตีจากทุกนครรัฐว่าจะสามารถเดินทางไปยังสถานที่แข่งขันได้อย่างปลอดภัยแน่นอน
แนวคิด Panhellenism กับแพนเฮลเลนิกเกมส์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยยึดเหนี่ยวชาวกรีกโบราณเอาไว้ ให้สามารถแยกแยะได้ว่าใครคือ ‘พวกเขา’ และใครคือ ‘พวกเรา’ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ทำให้เมืองที่อยู่ห่างไกลกัน สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างเป็นปึกแผ่น
อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติทั้งสี่ข้อของแนวคิดแบบ Panhellenism ไม่ได้ตายตัวเสมอไป แต่สามารถปรับเปลี่ยนได้เมื่อปัจจัยทางสังคมเปลี่ยน ดังที่เห็นได้จากการปกครองสมัยจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์มหาราช ที่สามารถยึดครองพื้นที่ต่าง ๆ ได้มากมายไกลถึงอินเดีย ทำให้เกิดความแตกต่างทั้งวัฒนธรรม เทพเจ้า และภาษาอย่างชัดเจน ชาวกรีกที่เข้าไปตั้งรกรากก็ยังคงสร้างวิหาร พูดภาษากรีก และนับถือเทพเจ้าแบบเดิมของตนอยู่เหมือนเดิม แต่ก็ยังเปิดรับและผสมผสานวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่ตนเข้าไปยึดครองร่วมด้วย
เช่น การสร้าง The rosetta stone จารึกที่บันทึกภาษาเอาไว้สามภาษา ได้แก่ อียิปต์ กรีก และเดโมติก ที่แสดงให้เห็นว่าเริ่มมีการใช้ภาษาอื่นในชุมชนชาวกรีก และเปิดโอกาสให้คนพื้นถิ่นเรียนภาษากรีกเป็นหลักด้วย หรือการผสมเทพเจ้ากรีกเข้ากับเทพพื้นเมือง เพื่อกลืนกินวัฒนธรรมดั้งเดิม (หรืออาจจะเป็นฝ่ายถูกกลืน?) อย่างการนำเฮอคิวลิสเข้ามาเป็นส่วนประกอบของงานประติมากรรมพระพุทธเจ้า โดยมาแทนตำแหน่งของพระวัชระปาณี เป็นต้น
📌การมาถึงของศาสนาคริสต์และจุดจบของโอลิมเปียดยุคกรีกโบราณ
โอลิมเปียด และ แพนเฮลเลนิกเกมส์ สิ้นสุดลง หลังจากที่จักรพรรดิเทออดอซิอุสมหาราชขึ้นปกครอง เนื่องจากในช่วงเวลานั้น ศาสนาคริสต์ได้กลายเป็นศาสนาหลักประจำจักรวรรดิโรมัน และตัวจักรพรรดิเทออดอซิอุสมหาราชเองก็เป็นคริสเตียนที่เคร่งมาก ประกอบกับชาวกรีกมีวัฒนธรรมการแก้ผ้าในการแข่งขันกีฬา (สิ่งนี้ก็ถือว่าเป็น Panhellenism เช่นกัน) ซึ่งทางฝั่งโรมันมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่งาม ในช่วงหลังคริสตศตวรรษที่ 393 เขาก็ออกคำสั่งห้ามจัดการแข่งขันกีฬาทั้งหมด เพราะพื้นฐานเดิมของงานเหล่านี้จัดขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าดั้งเดิมของชาวกรีก จัดในวิหารกรีก ซึ่งเป็นศาสนานอกรีตในสายตาของคริสเตียน
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันทั้งหมดไม่ได้ยุติลงในทันที และยังมีการแอบจัดการแข่งขันอยู่เป็นระยะ ๆ จนในสมัยจักรพรรดิเทออดอซิอุสที่ 2 ที่สืบทอดบัลลังก์ต่อมาจากจักรพรรดิเทออดอซิอุสมหาราช ต้องทำการออกคำสั่งอีกครั้ง ทั้งนี้ทั้งนั้น กิจกรรมทุกอย่างยังคงลากยาวต่อมาจนถึงหลังคริสตศตวรรษที่ 520 ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิจัสตินที่ 1 (เปลี่ยนเป็นอาณาจักรไบแซนไทน์แล้ว) กิจกรรมทางศาสนาเพแกน (Pagans) ทั้งหมดจึงถูกขจัดหมดไปจริง ๆ รวมถึงโอลิมเปียดและแพนเฮลเลนิกเกมส์ทั้งหมดด้วย
📌ฝรั่งเศส และ ปิแอร์ เดอ กูแบร์แตง ผู้คืนชีพ ‘โอลิมเปียด’ ให้กลายเป็น ‘โอลิมปิก’ มหกรรมกีฬาระดับสากล
หลังจากหยุดจัดไปนานถึง 1,503 ปี เรื่องราวของโอลิมเปียดก็เริ่มกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งโดย ปิแอร์ เดอ กูแบร์แตง ขุนนางชั้นบารอนชาวฝรั่งเศสก็มีความคิดริเริ่มอยากนำโอลิมเปียดกลับมาจัดอีกครั้ง โดยได้ไอเดียมาจาก วิลเลียม เพนนี บรูกส์ นักวิชาการชาวอังกฤษผู้ให้ความสนใจเรื่องกีฬาโอลิมเปียดยุคโบราณ และเขายังเคยจัดงานกีฬาคล้ายกับโอลิมเปียดขึ้นหลายครั้งในประเทศอังกฤษด้วย
หลังจากที่พวกเขาพบกัน และมีความเห็นตรงกัน ในปี 1894 กูแบร์แตงก็ได้นำไอเดียนี้มาสานฝันให้เป็นจริง ด้วยการจัดการประชุม ‘Union des Sports Athlétiques’ ขึ้นที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ในกรุงปารีส ซึ่งการประชุมนี้เป็นการประชุมครั้งสำคัญที่วางรากฐานสำหรับการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในอนาคต
ในคราวแรก กูแบร์แตงและคณะอยากจัดกีฬาโอลิมเปียดสมัยใหม่ขึ้นอีกครั้ง ภายใต้ชื่อโอลิมปิก ในปี 1900 ณ ประเทศฝรั่งเศส แต่หลังจากผ่านที่ประชุม พวกเขาก็ขยับเวลามาจัดให้เร็วขึ้น และตัดสินใจจัดการแข่งขันครั้งแรกอย่างเป็นทางการที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ในปี 1896 ในสนามกีฬาพานาธิเนอิกที่ได้รับการบูรณะใหม่ เพื่อรองรับผู้ชมและนักกีฬาจำนวนมาก โดยในครั้งนั้นมีผู้เข้าชมรวมประมาณ 80,000 คน และมีนักกีฬาจาก 13 ประเทศเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 43 รายการ
หลังจากผ่านพ้นครั้งแรกไปแล้ว กีฬาโอลิมปิกก็จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุก ๆ สี่ปีจนถึงปัจจุบัน และยังมีการแบ่งออกเป็นโอลิมปิกฤดูร้อนและฤดูหนาวในปี 1924 ด้วย
สำหรับโอลิมปิกในปี 2024 นี้ ถือว่าเป็นครั้งที่ 33 แล้ว ที่ฝรั่งเศสได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพ และมาพร้อมกับความแปลกใหม่มากมายให้เราคอยติดตาม ทั้งการไม่จัดแข่งขันในสนามกีฬา แต่พาออกไปนอกสถานที่อย่าง แม่น้ำแซนด์ มีการนำกีฬาประเภทใหม่ ๆ อย่างการเต้นเบรคแดนซ์ให้เข้าร่วมการแข่งขันด้วย
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของกีฬาโอลิมปิกและแพนเฮลเลนิกเกมส์ ที่ GroundControl รวบรวมมาฝากทุกคน ซึ่งในอนาคตก็ยังมีประเด็นมากมายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศิลปะ งานดีไซน์ และเรื่องน่ารู้มากมายเกี่ยวกับโอลิมปิกที่เราตั้งใจจะนำมาเล่าให้ฟังตลอดฤดูกาล แล้วเจอกันใหม่ในคอลัมน์หน้าของ Olympic Series
อ้างอิง
หนังสือ
จันทร์ฉาย ภัคอธิคม. ประวัติศาสตร์อารยธรรมกรีกและโรมัน. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2552.
เอกสุดา สิงห์ลำพอง. ประวัติศาสตร์ศิลปะกรีก. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ ภาพพิมพ์, 2566.
เว็บไซต์ The Penn Museum. The Games
Cydney Contreras. The History of the Olympic Games, From Ancient Greece to the Modern Era. NBC
Sofie Remijsen and Willy Clarysse. Panhellenism. Ancient Olypic
Anna Gustafsson. What Were The Four Panhellenic Games of Ancient Greece?. The Collector