เมื่อเอ่ยถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ภาพเหตุการณ์สลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คงจะเป็นภาพเหตุการณ์แรก ๆ ที่ทุกคนนึกถึง แต่ถ้านั่นคือจุดพีกของเหตุการณ์ทั้งหมด ก็แสดงว่าต้องมีจุดเริ่มต้นด้วยเช่นกัน แล้วสถานที่เหล่านั้นอยู่ที่ไหน? ยังมีสถานที่ใดที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนี้นอกเหนือจากธรรมศาสตร์อีกบ้าง?

เมื่อเอ่ยถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ภาพเหตุการณ์สลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คงจะเป็นภาพเหตุการณ์แรก ๆ ที่ทุกคนนึกถึง แต่ถ้านั่นคือจุดพีกของเหตุการณ์ทั้งหมด ก็แสดงว่าต้องมีจุดเริ่มต้นด้วยเช่นกัน แล้วสถานที่เหล่านั้นอยู่ที่ไหน? ยังมีสถานที่ใดที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนี้นอกเหนือจากธรรมศาสตร์อีกบ้าง?

6 ตุลานอกรั้วธรรมศาสตร์ ชวนสำรวจประวัติศาสตร์ 6 ตุลาฯ ผ่านสถานที่อื่นนอกเหนือไปจากธรรมศาสตร์

เมื่อเอ่ยถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ภาพเหตุการณ์สลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คงจะเป็นภาพเหตุการณ์แรก ๆ ที่ทุกคนนึกถึง แต่ถ้านั่นคือจุดพีกของเหตุการณ์ทั้งหมด ก็แสดงว่าต้องมีจุดเริ่มต้นด้วยเช่นกัน แล้วสถานที่เหล่านั้นอยู่ที่ไหน? ยังมีสถานที่ใดที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ครั้งนี้นอกเหนือจากธรรมศาสตร์อีกบ้าง?

ในช่วงเวลาก่อนจะถึงวันครบรอบ 48 ปี ของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 ในปีนี้ GroundControl เลยอยากจะชวนทุกคนมาลากเส้นเชื่อมจุดประวัติศาสตร์จากระนาบนอก ด้วยการก้าวออกไปสำรวจเหตุการณ์ต่าง ๆ นอกรั้วธรรมศาสตร์ ผ่านการเดินทางไปยัง นครพนม นครปฐม อุดรธานี รวมถึงพื้นที่นามธรรมที่เรียกว่า ‘สื่อ’ เพื่อมองหาต้นสายที่ทำให้เกิดการบานปลายของเหตุ ที่จะช่วยชี้ให้เห็นว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในวันนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ถนนแห่งความรุนแรงทุกสาย บุกรุกเข้าไปในรั้วเหลืองแดงได้อย่างชอบธรรม (ในสายตาคนยุคนั้น)

มาเริ่มออกเดินทางกันเลย…

📌บ้านนาบัว นครพนม

บ้านนาบัว ต.เรณูนคร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม คือสถานที่เกิดเหตุการณ์ ‘วันเสียงปืนแตก’ ในปี 2508 หรือการปะทะกันระหว่างกองทัพไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) หลังจากที่กองทัพไทยไล่ปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์อย่างจริงจัง จนพคท.เลือกที่จะหยิบอาวุธขึ้นมาเพื่อต่อสู้กลับ โดยเหตุการณ์นี้ยังถือว่าเป็น ‘สงครามประชาชน’ ครั้งแรก ๆ ที่ประชาชนสร้างกองทัพติดอาวุธเพื่อต่อต้านรัฐบาล

เดิมทีพคท. ถือว่าเป็นพรรคที่ถูกกฎหมายไทย ก่อตั้งโดยชาวเวียดนามและสืบเจตนารมณ์ต่อโดยคนไทย และเคยมีส่วนร่วมในสภาของไทยมาก่อนในยุคสงครามเย็น (สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม) ก่อนจะถูกกดดันและปราบปรามถึงชีวิตในช่วงหลังการรัฐประหาร 2501 โดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พคท.จึงต้องถอยร่นไปตั้งหลักกันในชนบท เข้าป่า เริ่มสะสมกองกำลัง และกลายมาเป็นกองกำลังติดอาวุธเพื่อโต้กลับในที่สุด

สิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่นาบัวได้เชื่อมโยงมาถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 ด้วย เพราะหนึ่งในคำกล่าวหาสำคัญที่ทำให้ผู้คนกล้าบุกเข้าไปทำร้าย ปราบปราม และคร่าชีวิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็คือคำกล่าวหาที่ว่าพวกเขาเป็น ‘คอมมิวนิสต์’ เนื่องจากภาพลักษณ์ของคอมมิวนิสต์ในสายตาคนยุคนั้นดูเป็นสิ่งที่น่ากลัว และอยู่ขั้วตรงข้ามกับภาครัฐ ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 ก็มีนักศึกษาหลายคนตัดสินใจหนีเข้าป่าและเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ เพื่อหนีการจับกุมจากรัฐบาล โดยกลุ่มคอมมิวนิสต์ที่พวกเขาไปเข้าร่วมด้วยก็คือกลุ่ม กองทัพปลดแอกประชาชนไทย (ทปท.) ชื่อใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ที่เปลี่ยนแปลงในปี 2512

ในปัจจุบันเรื่องราวของพื้นที่นาบัวมักถูกบอกเล่าผ่านงานศิลปะร่วมสมัย โดยเฉพาะในงานของ เจ้ย - อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่มีการสอดแทรกเรื่องราวของบ้านนาบัวในผลงานบ่อยครั้ง เช่น นิทรรศการ ‘ยานอวกาศแห่งบ้านนาบัว’ ที่รวมวัตถุและความทรงจำจากภาพยนตร์และโครงการศิลปะของเขามาจัดแสดงในรูปแบบครอสจักรวาล ไม่ว่าจะเป็นผลงานจาก Primitive Project ลุงบุญมีระลึกชาติ และรักที่ขอนแก่น โดยเน้นความเชื่อมโยงระหว่างความทรงจำและวัตถุ

หนึ่งในผลงานไฮไลต์ที่แสดงความทรงจำของบ้านนาบัว คือ ยานอวกาศสีแดงที่ภายในยานมีลิงผีกับลุงบุญมีจากเรื่องลุงบุญมีระลึกชาตินอนอยู่ โดยยานอวกาศลำนี้ถูกสร้างโดยชาวบ้านจากหมู่บ้านนาบัว ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญในประวัติศาสตร์ไทย อภิชาติพงศ์ได้นำเรื่องราวเหล่านี้มาผสมผสานกับแนวคิดทางศิลปะและความทรงจำของตัวเอง โดยยานอวกาศเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการเดินทาง การหลบหนี และการค้นหาความทรงจำร่วมกัน นอกจากนี้การแสดงผลงานต่าง ๆ ด้วยแสงสีแดงในนิทรรศการ ยังสื่อความหมายถึงอดีตทางการเมือง โดยแสงสีแดงถูกเชื่อมโยงกับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ และการต่อสู้ในอดีต แต่ก็ยังสะท้อนถึงการเพิ่มความหมายให้สีแดงในบริบททางสังคมและการเมืองปัจจุบันด้วย

📌ประตูแดง นครปฐม

‘ประตูแดง’ คือสถานที่ที่พบร่าง ‘ชุมพร ทุมไมย’ และ ‘วิชัย เกศศรีพงษ์ศา’ สองพนักงานการไฟฟ้า อดีตนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสมาชิกแนวร่วมประชาชน ที่ถูกฆาตกรรมแบบหาตัวคนทำไม่ได้ และในปัจจุบันคดีของพวกเขาก็ได้หมดอายุความลงไปทั้ง ๆ ที่ยังไร้คำตอบ โดยก่อนหน้าที่พวกเขาจะเสียชีวิต พวกเขาได้ตระเวนติดโปสเตอร์ต่อต้านการกลับมาของ ถนอม กิตติขจร ผู้นำเผด็จการจากยุค 14 ตุลาฯ 16 ที่ในตอนนั้นต้องการกลับเข้าไทยในฐานะ ‘สามเณรถนอม’ (ในขณะนั้นถนอมมีอายุ 65 ปี) ซึ่งผู้ต้องสงสัยในคดีนี้คือคนจากทางการในเวลานั้น

การเสียชีวิตของพวกเขาทั้งสองคนได้เป็นแรงบันดาลใจให้นักศึกษาธรรมศาสตร์นำมาทำเป็นละครเวทีจำลองเหตุการณ์เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ในวันที่ 4 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นวันชุมนุมใหญ่ของนักศึกษา อันมีสาเหตุมาจากความไม่พอใจหลัง พล.อ.อ.กมล เดชะตุงคะ ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ว่าไม่มีมูลเพียงพอที่จะฟ้องสามผู้นำทหารในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้ออกมาเปิดเผยเรื่องคดีฆาตกรรมพนักการไฟฟ้าสองคนอย่างลึกลับ

และละครเวทีเรื่องนี้นี่เองที่กลายมาเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการสลายการชุมนุมในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ในเวลาต่อมา เพราะมีการกระจายข่าวออกไปว่าละครเวทีเรื่องนี้ตั้งใจหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากการชุมนุมเพื่อขับไล่เผด็จการ เลยถูกกลุ่มที่กำลังหวาดกลัวคอมมิวนิสต์มองว่าเป็นการชุมนุมเพื่อล้มล้างสถาบัน จนนำไปสู่การกระทำทารุณกรรมนักศึกษาตามที่ปรากฎในหน้าประวัติศาสตร์

📌ค่ายรามสูร อุดรธานี

ค่ายรามสูร คือค่ายทหารในจังหวัดอุดรธานีที่เคยเป็นฐานทัพของสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น และเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญระหว่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ด้วย เพราะหลังการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการในปี 2516 สำเร็จ กระแสต่อต้านการมีอยู่ของทหารอเมริกันในไทยก็ทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ค่ายรามสูร ซึ่งถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของการแทรกแซงจากต่างชาติ แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามยืนยันว่าไม่มีอุปกรณ์สอดแนมของอเมริกันในค่ายแล้ว แต่ความไม่ไว้วางใจก็ยังคงดำรงอยู่

ต่อมาเมื่อความขัดแย้งทางความคิดระหว่างกลุ่มนักศึกษาและฝ่ายอนุรักษนิยมทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ฝ่ายขวาก็เริ่มกล่าวหากลุ่มนักศึกษาที่ต่อต้านทหารอเมริกันว่าเป็น ‘สมุนเวียดนาม’ และ ‘ไม่รักชาติ’ จนนำไปสู่ข้อกล่าวหาที่ว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ ไปจนถึงมีสายลับเวียดนามซ่อนอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทำให้กลายเป็นข้ออ้างในการปราบปรามนักศึกษาอย่างรุนแรง ค่ายรามสูรจึงเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 มาก ๆ

📌พื้นที่สื่อในประเทศไทย

อีกหนึ่งพื้นที่ที่มีบทบาทสำคัญมากที่สุดของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 ก็คือพื้นที่สื่อของไทยในยุคนั้น ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ นิตยสาร ฯลฯ โดยเฉพาะบนหนังสือพิมพ์ ‘ดาวสยาม’ และ ‘วิทยุยานเกราะ’ ที่มีการให้ข้อมูลที่บิดเบือนจากความจริง และทำให้เกิดความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชน ทั้งการบิดเบือนว่าละครเวทีของนักศึกษาเป็นละครเวทีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน การบอกว่าคนในมหาวิทยาลัยไม่ใช่คนไทย แต่เป็นคอมมิวนิสต์จากเวียดนาม รวมถึงการปลุกระดมกระแสปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพื่อชวนให้คนออกมาชุมนุมต้านกับนักศึกษา เป็นต้น

นอกจากนี้ก็ยังมีสื่ออื่น ๆ อย่าง นิตยสารจตุรัส ฉบับวันที่ 29 มิถุนายน 2519 ที่เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของ กิตติวุฑโฒ ภิกขุ ที่กล่าวว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” จนกลายเป็นวาทกรรมปลุกระดมสำคัญที่ทำให้คนกล้าบุกเข้าไปร่วมทำร้ายนักศึกษา และเปลี่ยนลานในมหาวิทยาลัยให้กลายเป็นทุ่งสังหารที่คร่าชีวิตบุตรหลานของผู้อื่นอย่างตั้งใจ เพราะมองว่าพวกเขาไม่ใช่คนแบบเดียวกันอีกต่อไป

สามารถตามไปอ่านประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 รวมถึงหลักฐานภาพถ่ายและหนังสือพิมพ์เก่าอย่างละเอียดได้ที่เว็บไซต์ ‘บันทึก 6 ตุลา’ ตามลิงก์นี้ https://doct6.com/

อ้างอิง

บันทึก 6 ตุลา

6 ตุลาคม 2519: เจ้าหน้าที่รัฐ “สังหารหมู่” นักศึกษากลางธรรมศาสตร์, ทหารฉวยโอกาสยึดอำนาจ... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่. ศิลปวัฒนธรรม

6 บทเรียน จาก 6 ตุลา ต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองในไทย. The 101.World

6 ตุลา “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”. ประชาไท

"รามสูร" ฐานลับทรมานศัตรูอเมริกาในไทย. Post Today

จาก “วันเสียงปืนแตก” สู่ภารกิจ “ดับเสียงปืนแตก” การต่อสู้ครั้งสุดท้ายของ พคท. ศิลปวัฒนธรรม

นิทรรศการยานอวกาศแห่งบ้านนาบัว. หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)