A Million Little Odd Things, the Last Promise, and One Big Picture นิทรรศการที่พาเราไปสำรวจห้องจัดเก็บ เพื่อจัดการกับความสูญเสีย
ความรักคือพลัง แม้เมื่อยามคนรักจากไป ความรักก็ยังสร้างสรรค์ผลงานที่ทรงพลังออกมาได้อยู่ ซึ่งบางทีก็มาในรูปแบบตลาดศิลปะเสียด้วย
‘นัทส์ โซไซตี้’ (Nuts Society) คือตลาดศิลปะที่มีจุดเริ่มต้นขึ้นย้อนกลับไปในปี 2541 ในฐานะ ‘กิจกรรมทางศิลปะ’ ด้วยตัวมันเอง จากความต้องการรวบรวมผู้คนเข้ามาด้วยกันเพื่อปั่นป่วนโลกศิลปะ โดยสองศิลปิน ‘นพไชย อังควัฒนะพงษ์’ และ ‘ปิยลักษณ์ เบญจดล’ ซึ่งถึงแม้วันนี้ปิยลักษณ์จะหมดลมหายใจไปแล้ว แต่นัทส์ โซไซตี้กลับถือกำเนิดขึ้นอีกครั้ง ดังคำประกาศว่าหัวใจที่บรรจุความรักของพวกเขาไว้ ยังทำงานดีอยู่
ซึ่งครั้งนี้ นัทส์ โซไซตี้กลับมาเกิดขึ้นในอาคารแรกของหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร ในนิทรรศการ ‘A Million Little Odd Things, the Last Promise, and One Big Picture’ ซึ่งเป็นเหมือนโลกส่วนตัวอันอบอวลไปด้วยความรักของสองศิลปินรุ่นใหญ่ ที่นพไชยสร้างขึ้นมาให้พวกเราเข้าไปสำรวจความทรงจำ ความสะเทือนใจ และการดำเนินต่อไปของชีวิต ที่ส่งพลังมาถึงตัวเราและทุก ๆ คนต่อด้วย
ในนัทส์ โซไซตี้ อติ กองสุข, Baannoorg Storage, กรกฤช เจียรพินิจนันท์, มิติ เรืองกฤตยา, ประทีป สุธาทองไทย, ปริณต คุณากรวงศ์, ธนวัฒน์ นุ่มเจริญ และศิลปินชื่อดังอื่น ๆ อีกมาก นำผลงานของพวกเขา มาโชว์และเปิดให้ช็อปกันในบรรยากาศแบบสบาย ๆ แปลกตาไปจากนิทรรศการอื่น ๆ ที่เรารู้สึกถึงความเป็น “ผู้ชม” ผู้เดินดูได้อย่างเดียว แต่ไม่สามารถหยิบจับผลงานชิ้นใดกลับบ้านไปได้แบบนักสะสมทั้งหลาย ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเพราะข้าวของเครื่องใช้จากบ้านของนพไชยที่เขาเอามากอง มาวาง หรือเอามาแขวนไว้ทั่วงาน ซึ่งก็กระตุ้นให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว-ความเป็นสาธารณะ และเรื่องคุณค่า-มูลค่าของศิลปะ ว่าโลกศิลปะตอนนี้โอเคแล้วใช่ไหม? หรือควรเปลี่ยนไปเป็นอย่างไรได้บ้าง?
ถัดจากนั้นในอีกอาคารหนึ่งของหอศิลป์ฯ จะเป็นส่วนของ The cabinet of curiosities ที่ให้ความรู้สึกปนกันระหว่างความหนักหน่วงและเบาหวิวแบบน่าประหลาดใจ เพราะในแง่หนึ่งมันก็เป็นห้องที่นำข้าวของเครื่องใช้ของศิลปินคู่รักคู่นี้มาจัดแสดงแบบสมจริง จนได้กลิ่นและได้สัมผัสความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาที่สิ่งของเหล่านี้กักเก็บไว้ จากช่วงเวลาที่ผ่านพ้นไปแล้วจริง ๆ แต่อีกแง่หนึ่ง เราก็ยังได้ยินเสียงของปิยลักษณ์ เล่าเรื่องราวที่เธอหลงใหลสนใจศึกษาให้เราฟังอยู่ อย่างการวิเคราะห์ความหมายเชิงสัญญะของตัวอักษร ‘ญ’ (ที่ไม่ได้อ่านว่าญอหญิง และไม่ได้หมายความถึงแค่ผู้หญิง) และก็ยังได้เห็นชุดเครื่องแต่งกายของเธอ แขวนไว้แบบรอใช้งานอยู่ (ซึ่งนพไชยก็นำไปใช้งานจริง ๆ ให้ดูแล้วด้วยการสวมใส่เสื้อของเธอเพื่อรับความรู้สึกว่า “เธอโอบกอดผมผ่านเสื้อผ้าอาภรณ์ของเธอ”)
งานจัดแสดงทั้งหมดนี้ — รวมไปถึงตลาดศิลปะที่มีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง — เป็นสิ่งที่เรียบง่ายและใกล้ตัวสุด ๆ เพราะเราเองก็คงเก็บสิ่งของต่าง ๆ ที่เราใช้งานในชีวิตประจำวันร่วมกับคนรักอยู่แล้ว แต่นิทรรศการนี้ก็ตั้งคำถามที่น่าคิดเหมือนกัน ว่าแล้วเราจะ “จัดเก็บ” อย่างไร เมื่อการสูญเสียเดินทางมาถึง และการจัดการ/จัดแสดง จะส่งผลอย่างไรต่อชีวิตที่ล่วงเลยไปแล้วและชีวิตที่กำลังเกิดขึ้นและดำเนินต่อไป
‘A Million Little Odd Things, the Last Promise, and One Big Picture’ โดย นพไชย (ต้อย) อังควัฒนะพงษ์ และ ปิยลักษณ์ เบญจดล นพไชย (ต้อย) อังควัฒนะพงษ์ : 578 days (transformation) ปิยลักษณ์ เบญจดล : The cabinet of curiosities นัทส์ โซไซตี้ : Quality 1st, 2nd hand (Art), and swap market ภัณฑารักษ์ - กฤษฎา ดุษฎีวนิช จัดแสดงที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) ตั้งแต่วันนี้ - 31 สิงหาคม 2567 วันจันทร์ - เสาร์ เวลา 9.00 น. - 18.00 น. (ยกเว้นวันอาทิตย์และวันหยุดราชการ)