คุยกับ ‘โลเล-ทวีศักดิ์ ศรีทองดี’ และ ‘แพร-นัดดา ศรีทองดี’ กับศิลปะที่ว่าด้วยการโคจรร่วมกันในครอบครัว และการเติบโตขึ้นภายใต้ความเป็นมนุษย์
‘พลูโต’ (Pluto) ชื่อของดาวเคราะห์อันห่างไกลที่เคยถูกนับให้เป็นหนึ่งในระบบสุริยะ แต่ด้วยขนาดและระยะทางจึงทำให้ถูกลดสถานะเป็นเพียงแค่ดาวเคราะห์แคระเท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้นดาวพลูโตก็ยังคงหลงเหลือความพิเศษสำหรับใครบางคน หนึ่งในนั้นคือครอบครัว ‘ศรีทองดี’ คู่รักศิลปินและนักดนตรี พร้อมกับลูกชายทั้งสองคน ที่ได้มอบความหมายอันงดงามให้กับดาวพลูโตผ่านงานศิลปะ เพื่อให้มันได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของความรักอันกว้างไกลที่เกิดขึ้นระหว่างสมาชิกในครอบครัว
สิ่งเหล่านี้จึงได้ถูกนำเสนอออกมาผ่านนิทรรศการที่ชื่อว่า ‘PLUTO NEPTUNE 7 10 40 54’ ที่กำลังจัดแสดงอยู่ที่ MMAD MASS GALLERY นี่คือนิทรรศการที่ว่าด้วยความแตกต่างกันของสมาชิกทั้งสี่คนของครอบครัวศรีทองดี แต่กลับมีบางอย่างร่วมกันอย่างน่าประหลาด เปรียบเสมือนดวงดาวที่เราคาดเดาไม่ได้ว่าในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยขนาดไหน
แต่ถึงอย่างนั้นทั้ง ‘โลเล-ทวีศักดิ์ ศรีทองดี’ และ ‘แพร-นัดดา ศรีทองดี’ ก็ยังเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ความบังเอิญ แต่เป็นการโคจรร่วมกันอย่างมีจังหวะกับสมาชิกในครอบครัว เป็นช่วงเวลานี้ที่ทั้งสี่คนยังคงแลกเปลี่ยนประสบการณ์แห่งความเป็นมนุษย์และศิลปะร่วมกันอยู่
เพื่อให้เข้าใจวงโคจรสายสัมพันธ์ของชีวิต ครอบครัวและการเติบโตของครับครัวศรีทองดีมากขึ้น GroundControl จึงชวนโลเลและแพรมาพูดคุยเกี่ยวกับนิทรรศการที่เกิดขึ้น พร้อมกับมุมมองด้านศิลปะที่เติบโตขึ้นพร้อมกับครอบครัว
ที่มาของนิทรรศการที่ชื่อว่า PLUTO NEPTUNE 7 10 40 54
“เริ่มมาจากตอนที่นินจากำลังเรียนเรื่องจักรวาล ตอนนั้นเขาชอบเล่าเรื่องดวงดาวให้ฟัง และเรื่องของดวงดาวมันบังเอิญไปเชื่อมโยงกับคำพูดในหนังสือที่เคยอ่าน ‘I love you to the moon and back’ ทำให้เวลาจะแทนคำว่ามากที่สุด เขาจะพูดคำว่าพลูโตเนปจูนแทน เพราะดาวที่ไกลที่สุดคือดาวพลูโต ไม่ใช่ดวงจันทร์” โลเลและแพรเล่าให้ฟังถึงที่มาของคำว่าพลูโตเนปจูน ซึ่งเป็นคำพูดที่ ‘นินจา’ ลูกชายคนเล็กของบ้านมักจะชอบใช้แทนความหมายสุดพิเศษของคำพูดบางอย่าง แต่สุดท้ายแล้วคำว่าพลูโตเนปจูนก็ค่อย ๆ เลือนหายไปตามช่วงเวลาที่ดาวเคราะห์ดวงเล็ก ๆ นี้ถูกนำออกจากระบบสุริยะจักรวาล นิทรรศการนี้จึงเป็นเหมือนเป็นสมุดบันทึกช่วงเวลาที่พลูโตเนปจูนยังมีความหมายกับครอบครัวศรีทองดี รวมไปถึงตัวเลขข้างหลังที่เป็นเหมือนช่วงอายุของคนในครอบครัว
สิ่งเหล่านี้ถูกพัฒนามาเป็นแนวคิดของนิทรรศการในครั้งนี้ ที่เริ่มต้นมาจากการทดลองสร้างผลงานโดยไม่จำกัดกรอบ เป็นผลงานที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของครอบครัว ผสมผสานกับทฤษฎีบิ๊กแบง (Big Bang Theory) ปรากฏการณ์การกำเนิดและวิวัฒนาการของดวงดาวที่เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของครอบครัวศรีทองดี
“เริ่มต้นมาจากพี่โลเลหนึ่งคนระเบิดออกมา แล้วก็มีพี่แพร ระเบิดออกเป็นลูกชายอีกสองคน เราก็เลยรู้สึกว่าบิ๊กแบงมันคล้ายกับชีวิตของพวกเรา เหมือนดาวสี่ดวงที่มันมีลักษณะเฉพาะ แตกต่างกัน แต่โคจรอยู่ด้วยกันได้” แพรเสริม
ด้วยความที่ผลงานแต่ละชิ้นค่อนข้างแตกต่างกันมาก มีวิธีการทำงานร่วมกันอย่างไร
“จริง ๆ แล้วตัวงานเรียกว่าเราไม่ได้วางแผนเลย” โลเลและแพรต่างยืนยันว่าผลงานทั้งหมดนิทรรศการล้วนเป็นผลงานที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว ไม่ได้มีการวางแผนว่าจะนำมาใช้ในนิทรรศการใด ๆ ตั้งแต่แรก แต่พอถึงเวลาที่ต้องนำมาใช้ในนิทรรศการครั้งนี้ การคัดเลือกผลงานเพื่อนำมาแสดงจึงเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยากสำหรับทั้งสี่คน
“ตอนแรกที่ทางแกลเลอรีติดต่อมา เรารู้ว่าระยะเวลาทำงานมันสั้นมาก แต่เราคิดว่าทางแกลเลอรีรู้อยู่แล้วว่าเราทำงานกันอยู่ตลอด เลยเป็นเรื่องของการคัดเลือกงานที่จะเข้ามาอยู่ด้วยกันได้มากกว่า พี่โลเลเลยต้องเลือกว่าชิ้นไหนของใครที่เหมาะสำหรับนำมาใช้ในช่วงเวลาหรือวงโคจรนี้ ซึ่งใช้เวลาประชุมกันน่าจะเป็นสัปดาห์เลย”
ภายในห้องนิทรรศการนั้นเต็มไปด้วยสีสันและความหลากหลายของผลงานแต่ละชิ้น ซึ่งถูกนำมาจัดวางอย่างมีนัยยะ ตรงกลางห้องเราจะพบกับของเล่นมากมายของทั้งโรมันและนินจาที่วางเรียงกันอยู่บนโต๊ะทั้งสอง รวมไปถึงกีต้าร์ที่เคยอยู่ในสตูดิโอของโลเลก็ได้ถูกนำมาแสดงที่นี่เช่นกัน ทำให้บรรยากาศในห้องเป็นเหมือนบ้านอีกหนึ่งหลังของครอบครัวศรีทองดี
“บางอย่างมันไม่ได้มีเหตุผลมาก่อนแต่เรารู้สึกว่ามันต้องมีเพราะว่ามันคือเรา” แพรได้สรุปว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นในนิทรรศการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความบังเอิญ แต่เป็นการทำให้ผู้เข้าชมนิทรรศการได้รู้สึกถึงความเป็นครอบครัวของเธอให้ได้มากที่สุด
มุมมองด้านศิลปะเปลี่ยนไปมากแค่ไหนหลังจากมีลูก
โลเลและแพรเล่าให้ฟังว่าทั้งสองต่างก็มีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดและการทำงานด้านศิลปะค่อนข้างมาก เป็นผลมาจากความสับสนและความวิตกที่เกิดขึ้นหลังจากการมีลูก แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเหล่านั้นกลับช่วยสร้างแรงบันดาลใจและมุมมองบางอย่างในการสร้างงานศิลปะให้กับทั้งสองคนได้อย่างไม่น่าเชื่อ
“ตอนแรกก็สับสนในใจเหมือนกัน แล้วก็วิตก คล้าย ๆ ว่ามาเห็นว่าวิถีการทำงานมันเปลี่ยนไป”
แพรเสริมว่า “ตอนมีโรมันเราเจอกับภาวะหลุมดำหนักมาก ช่วงสองปีแรกแพรทำอะไรไม่ได้เลย เพราะว่าโรมันกินนมทุกสองชั่วโมง อาบน้ำ ล้างอึ กินนม อยู่อย่างนี้วนไป ทีนี้พี่โลเลก็ต้องทำงาน แล้วเขาก็อยากจะเห็นการเติบโตของลูกด้วย เช่นวันนี้นั่งได้หรือวันนี้หัวเราะ ก็เลยต้องทำงานในบ้านที่มีลูกนอนอยู่ข้าง ๆ พอลูกเริ่มเดินได้ลูกก็จะเดินมาช่วยทำงาน มันก็กลายเป็นว่าเราก็ปรับตัวได้ในที่สุด”
โลเลเสริมว่า “หลังจากมีลูก เราก็ยังอยากคงการทำงานแบบเดิมไว้ แต่ว่าวิธีการมันไม่ได้ เราก็เลยเปลี่ยนมาทำอะไรให้มันเร็วขึ้น เช่น เรามีสมุดโน้ตประจำตัว ทำให้เราเขียนมากขึ้นโดยอัตโนมัติ มันทำให้เรามีความคิดและมีไอเดียเยอะ จนกระทั่งเราเริ่มรู้สึกว่ามันได้ผลเร็ว เป็นจังหวะที่ทำให้งานประเภทลายเส้นเกิดขึ้นมา”
นอกจากการทำงานด้านศิลปะที่เปลี่ยนไปแล้ว ทั้งสองคนยังได้รับไอเดียใหม่ ๆ จากลูกชายทั้งสองคนมากมาย จนเราสังเกตเห็นว่างานช่วงหลังของทั้งสองคนนั้นเต็มไปด้วยตัวตนของทั้งโรมันและนินจา
สำหรับครอบครัวศรีทองดี ศิลปะคืออะไร
“โรมันเคยถามว่าวาดรูปแล้วมันเป็นศิลปะเลยไหม? เราเรียนทฤษฎีศิลป์มาก็จะตอบว่าศิลปะคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่ถ้าถามว่าศิลปะมันควรจะมีอะไรมากกว่าสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เราคิดว่ามันควรจะมีความดีและความงามในตัวเอง อย่างไรก็ตามเราคิดว่าทั้งความดีและความงามควรจะเป็นสากลคือทุกคนควรต้องเห็นพร้อมกันว่ามันเป็นอย่างนั้น”
โลเลและแพรได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “การยอมรับศิลปะไม่ได้เริ่มต้นจากคนอื่น แต่เริ่มต้นจากตัวเองก่อน ยอมรับทุกอย่างว่างานนี้เราชอบแล้ว แต่คนอื่นชอบหรือไม่ชอบเราก็ยอมรับด้วย ศิลปะสำหรับเราจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ด้วยความอิสระและมีสุนทรียภาพตอนที่สร้าง”
นิทรรศการ ‘PLUTO NEPTUNE 7 10 40 54’ โดยครอบครัว ‘ศรีทองดี’ จัดแสดงที่ MMAD MASS GALLERY ตั้งแต่วันนี้ - 18 สิงหาคม 2024