หากให้ทุกคนลองเขียนชื่อตัวละครจากปกรณัมกรีกที่รู้จักมาสัก 10 ชื่อ เชื่อว่าในลิสต์ของทุกคนน่าจะต้องมีชื่อ ‘เมดูซา’ อมนุษย์สาวผู้มีผมเป็นงู ติดอยู่ในลิสต์ของทุกคนแน่ ๆ

หากให้ทุกคนลองเขียนชื่อตัวละครจากปกรณัมกรีกที่รู้จักมาสัก 10 ชื่อ เชื่อว่าในลิสต์ของทุกคนน่าจะต้องมีชื่อ ‘เมดูซา’ อมนุษย์สาวผู้มีผมเป็นงู ติดอยู่ในลิสต์ของทุกคนแน่ ๆ

ทำความรู้จัก Medusa ผ่านงานศิลปะแต่ละยุค

หากให้ทุกคนลองเขียนชื่อตัวละครจากปกรณัมกรีกที่รู้จักมาสัก 10 ชื่อ เชื่อว่าในลิสต์ของทุกคนน่าจะต้องมีชื่อ ‘เมดูซา’ อมนุษย์สาวผู้มีผมเป็นงู ติดอยู่ในลิสต์ของทุกคนแน่ ๆ

ความน่าสนใจก็คือ แม้ว่าเมดูซาจะเป็นตัวละครจากปกรณัมกรีก-โรมันที่คนทั่วไปรู้จัก และปรากฏตัวในป็อปคัลเจอร์มากที่สุด แต่จริง ๆ แล้วเรื่องราวของเธอที่ถูกบอกเล่าในปกรณัมแต่ละเวอร์ชัน กลับมีน้อยเท่าหยิบมือ ต่างจากเทพีหรือวีรบุรุษคนอื่น ๆ ที่มีเรื่องราวให้เล่าขานได้แบบยาว ๆ หรือแม้กระทั่งในเรื่องราวของเมดูซาเอง เธอก็ไม่ได้เป็นตัวเอกหรือมีวีรกรรมกล้าหาญใด ๆ แต่กลับเป็นเพียงตัวละครแวดล้อมหรือตัวประกอบในเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของวีรบุรุษอย่าง ‘เพอร์ซิอุส’ ที่ในตอนจบเธอก็รับบทบาทเป็นหนึ่งในภารกิจปราบอสุรกายเพื่อประกาศความเก่งกล้าแข็งแกร่งของเพอร์ซิอุสเท่านั้น

อะไรที่ทำให้เมดูซากลายเป็นตัวละครที่ยังคงถูกบอกเล่าผ่านสื่อในแต่ละยุคแม้เวลาจะผ่านมาแล้วเป็นพัน ๆ ปี หรือบทบาทของเธอที่เป็นทั้งปีศาจร้ายและเหยื่อผู้น่าสงสาร จะดึงดูดเหล่าศิลปินและนักเล่าเรื่องในแต่ละยุค ที่ต่างนำบทบาทสองด้านของเธอมาตีความตามบริบททางยุคสมัยของตน เพื่อนำเสนอเมสเสจที่ศิลปินและผู้เล่าเรื่องเหล่านั้นต้องการจะนำเสนอ

บทบาทของเมดูซาถูกบอกเล่าผ่านงานศิลปะแต่ละยุคอย่างไรบ้าง? เราไปดูกัน

หรือถ้าใครอยากฟังในรูปแบบของพอดแคสต์ ลองกดไปรับฟังเรื่องราวของเมดูซาใน Myth Universe ที่ GroundControl ได้รับเกียรติให้ส่งตัวแทนหมู่บ้านไปร่วมวงพูดคุยในรายการ แอบกระซิบว่า มีวันพีซโผล่มาด้วย เฮ้ย มาได้ไงเนี่ยย? ตื่นเต้นจน ‘ตัวแข็ง’ แล้ว!

Medusa (1597) Caravaggio

ความสยองขวัญ ความงาม และความชั่วคราวของชีวิต คือสามแนวคิดหลักที่ปรากฏอยู่ในภาพเมดูซาของคาราวัจโจ โดยแรกเริ่ม ภาพนี้ถูกสั่งทำขึ้นเพื่อเป็นของขวัญสำหรับเฟอร์ดินานโดที่ 1 เดอ เมดิชิ ดยุคใหญ่แห่งทัสคานี โดยคาราวัจโจวาดภาพนี้ลงบนโล่ไม้ทรงโค้ง ซึ่งเป็นธรรมเนียมในยุคนั้นที่มักใช้ภาพวาดเมดูซาบนตราประจำตระกูลหรือโล่ศึก เพื่อเป็นสัญลักษณ์คุ้มกันและข่มขวัญศัตรู

ภาพเมดูซาของคาราวัจโจนำเสนอชั่ววินาทีที่เมดูซาตระหนักว่าศีรษะของเธอถูกแยกออกจากร่าง ดวงตาที่เบิกกว้างด้วยความกลัว ปากที่เปิดอ้าส่งเสียงอันว่างเปล่า เหล่านี้คือการถ่ายทอดทั้งความเป็นสัตว์ประหลาดและชะตากรรมอันน่าสลดของเธอในฐานะเหยื่อที่ถูกลงโทษจากเทพเจ้า

แต่ความสำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ใบหน้าของเมดูซาในภาพนี้คือใบหน้าของคาราวัจโจเอง จนกล่าวได้ว่านี่คือภาพ Self-portrait ของเขา โดยนักประวัติศาสตร์ศิลปะสันนิษฐานว่า คาราวัจโจอาจมองว่าการใช้ใบหน้าของตนเองเป็นแบบสำหรับเมดูซาทำให้เขาเป็นคนเดียวที่รอดพ้นจากสายตาต้องคำสาปของเมดูซา อีกทั้งในช่วงระหว่างการวาดใบหน้าที่ตัวเองที่เขาต้องมองดูเงาสะท้อนของตัวเองเพื่อวาดภาพนี้ออกมา ก็เป็นการย้อนรอยชั่วขณะที่เมดูซาเห็นเงาสะท้อนของตัวเองบนโล่ของเพอร์ซิอุสเพียงไม่กี่วินาทีก่อนที่จะถูกสังหาร

Medusa (1618) Peter Paul Rubens

ในอัตชีวประวัติของคอนสแตนติน ฮอยเกนส์ ผู้อุปถัมป์ศิลปะชาวดัตช์ ได้เล่าถึงประสบการณ์ครั้งแรกเมื่อเขาได้ชมภาพวาดหัวของเมดูซาที่วาดโดยปีเตอร์ พอล รูเบนส์ ในปี ค.ศ. 1617–1618 ไว้ว่า มันทำให้เขารู้สึกกระอักกระอ่วนด้วยความรู้สึกที่ผสมผสานระหว่างความกลัว ความปรารถนา ความหลงใหล และความสยองขวัญ

"ภาพที่ปรากฏต่อสายตาของข้าพเจ้า …มันคือภาพหัวของเมดูซาที่ถูกตัดออก ล้อมรอบไปด้วยเส้นผมที่เป็นงูของเธอ ในภาพวาดนี้ รูเบนส์ได้จัดวางภาพของผู้หญิงที่งดงามอย่างน่าอัศจรรย์ที่ยังคงดึงดูดสายตา แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดความพรั่นพรึง เพราะเห็นได้ชัดว่าความตายเพิ่งมาเยือนเธอ รวมไปถึงเหล่าอสรพิษที่ขู่ฟ่ออยู่รอบๆ หัวของเธอ ด้วยความประณีตละเอียดลอออย่างที่ไม่สามารถอธิบายได้ ผู้ชมรู้สึกได้ถึงความหวาดกลัวในทันทีที่ได้เห็นภาพนี้ เพราะโดยปกติแล้วภาพที่น่าสะพรึงกลัวเช่นนี้จะถูกปกปิดเอาไว้ แต่แม้ว่าภาพที่อยู่ตรงหน้าจะน่ากลัวเพียงใด ผู้ชมก็ยังรู้สึกชื่นชมผลงานชิ้นนี้ได้ เพราะมันเต็มไปด้วยชีวิตชีวาและความงดงาม"

ปีเตอร์ ปอล รูเบนส์ วาดภาพ Medusa เมื่อราวปี ค.ศ. 1618 โดยมุ่งเน้นไปที่การนำเสนอความงดงามและความน่าสะพรึงกลัวของเมดูซา ซึ่งเป็นสองคุณสมบัติที่แตกต่าง แต่กลับปรากฏอยู่ร่วมกันในเรื่องราวและภาพจำของอสูรกายสาวตนนี้

นอกจากการนำเสนอภาพศีรษะที่ถูกตัดของเมดูซา ซึ่งประดับด้วยงูที่เลื้อยพันที่กำลังขู่ฟ่อประกาศกร้าวความดุร้าย รูเบนส์ยังเลือกใช้เทคนิคไครอสคูโร (Chiaroscuro) ที่เน้นแสงและเงาอย่างเข้มข้นเพื่อเพิ่มความดรามาติกให้กับภาพ โดยเฉพาะการทำให้ใบหน้าซีดเผือดไร้ชีวิตของเมดูซาดูโดดเด่นขึ้นมาจากฉากหลังที่มืดมนและน่ากลัว โดยรูเบนส์ใช้เทคนิคดังกล่าวเพื่อนำเสนอการตีความเมดูซาในแบบของเขาที่ต่างออกไปจากแบบของคาราวัจโจ เพราะในขณะที่เมดูซาของคาราวัจโจเน้นนำเสนอชั่วขณะที่ศีรษะของเธอถูกตัดออก และเธอยังมีชีวิตอยู่นานพอที่จะถ่ายทอดความพรั่นพรึงของเธอไปยังผู้ชม รูเบนส์กลับนำเสนอภาพของเมดูซาหลังความตาย และเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้พิจารณาความงดงามเมดูซาในฐานะเหยื่ออย่างใกล้ชิด

Haupt der Medusa (1892) Franz von Stuck

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 อันเป็นช่วงเวลาที่วิทยาการต่าง ๆ เกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงศาสตร์ด้านจิตวิเคราะห์ที่มีผู้นำขบวนเป็นบิดาแห่งศาสตร์จิตวิเคราะห์อย่าง ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ในฟากฝั่งของศิลปะก็เกิดขบวนการศิลปะที่ผสานนำศาสตร์แห่งจิตวิเคราะห์และการตีความสัญลักษณ์ โดยเฉพาะในเรื่องเล่าเก่าแก่อย่างปกรณัม มานำเสนอในงานศิลปะ เพื่อเปิดทางให้ศิลปะได้กลายเป็นเครื่องมือที่ใช้วิเคราะและสะท้อนจิตใจของมนุษย์ ซึ่งขบวนการศิลปะที่ว่าก็คือ Art Nouveau ที่มีศูนย์กลางอยู่ในแถบเวียนนาและเยอรมนี

ฟรันซ์ ฟอน สตุ๊ก คือศิลปินชาวเยอรมันที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้นำขบวนการศิลปะ Art Nouveau แห่งเยอรมนี ผลงานของเขามักเป็นการนำเรื่องเล่าในปกรณัมมาตีความใหม่ หรือใช้ปกรณัมในฐานะสัญญะเพื่อนำเสนอสภาวะจิตใจของคน ซึ่งหนึ่งในผลงานที่โด่งดังของเขาก็คือภาพใบหน้าของเมดูซาที่พาผู้ชมไปประจันหน้ากับสายตาต้องคำสาปของเธอตรง ๆ

การตีความเมดูซาของสตุ๊กแตกต่างจากภาพศิลปะเมดูซาทั่วไป สิ่งที่เขาขับเน้นในภาพนี้ก็คือธรรมชาติสองด้านของเมดูซา ทั้งในฐานะปีศาจร้ายและพลังอันน่าดึงดูด ทั้งความน่ากลัวและความเย้ายวนในเวลาเดียวกัน

สตุ๊กใช้สีพาสเทลในการภาพที่ดูนุ่มนวลแต่ชวนให้ขนลุก ผิวของเมดูซาถูกสร้างให้เป็นสีเขียวอมฟ้าอย่างไม่เป็นธรรมชาติ เพื่อบ่งบอกถึงความตายหรือการเป็นสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติ งูเหลือมขนาดใหญ่ที่อยู่ล้อมรอบเธอไม่เพียงทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ระบุอัตลักษณ์ของเมดูซา แต่งูในที่นี้ยังเป็นสัญลักษณ์ของการล่อลวงให้ทำบาป ซึ่งสอดคล้องกับถ้อยคำ "Die Sünde" (บาป) ที่ปรากฏยู่ด้านล่างของภาพ เชื้อเชิญให้ผู้ชมตีความว่าบาปที่ว่านั้นคือตัวเมดูซาเอง หรือเป็นบาปจากการกระทำของเบื้องบนที่ทำให้เธอตกอยู่ในสภาพเช่นนี้

Medusa with the Head of Perseus (2008) Luciano Garbati

Medusa with the Head of Perseus คือชื่อผลงานประติมากรรมของ ลูเซียโน การ์บาตี ที่นำเสนอการตีความใหม่ของตำนานเมดูซาที่ชูประเด็นเรื่องการเรียกคืนอำนาจของเพศหญิง โดยอยู่ในรูปของประติมากรรมทองสัมฤทธิ์สูงเจ็ดฟุตที่นำเสนอภาพของเมดูซายืนอย่างมั่นคง มือข้างหนึ่งถือหัวที่ถูกตัดของเพอร์ซิอุส อีกมือหนึ่งถือดาบ สะท้อนถึงการพลิกกลับของเรื่องราวดั้งเดิม โดยเป็นการนำเสนอด้านกลับของประติมากรรมจากศตวรรษที่ 16 ของ เบนเวนูโต เชลลินีอย่าง Perseus with the head of Medusa ที่นำเสนอรูปของเพอร์ซิอุสถือหัวเมดูซา อันเป็นการประกาศความยิ่งใหญ่ในฐานะวีรบุรุษผู้ปราบปีศาจร้าย

ผลงานของการ์บาตีท้าทายการนำเสนอเมดูซาแบบดั้งเดิมที่มักถูกมองว่าเป็นเพียงเหยื่อหรือปีศาจ เมดูซาในผลงานนี้กลับกลายเป็นผู้มีชัย กลายเป็นผู้คุมอำนาจและควบคุมชะตากรรมของตนเอง จนทำให้งานศิลปะชิ้นนี้ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของขบวนการเคลื่อนไหว #MeToo ที่เชื้อชวนให้เหล่าผู้หญิงที่เคยตกเป็นผู้กระทำทางเพศ ได้ออกมาเปล่งเสียงเพื่อบอกเล่าความอยุติธรรมที่ตัวเองได้รับ และเรียกคืนสถานะในฐานะผู้ทวงความยุติธรรม

ประติมากรรมนี้ตั้งคำถามต่อเรื่องราวความเป็นฮีโร่ของเพอร์ซิอุสที่มักได้รับการยกย่องจากการเอาชนะเมดูซา ด้วยการแสดงให้เห็นว่าเมดูซาเป็นผู้ชนะ การ์บาตีได้เชิญชวนให้ผู้ชมพิจารณาใหม่ว่าใครคือผู้ที่ถือครองอำนาจที่แท้จริงในตำนาน จุดเด่นของประติมากรรมชิ้นนี้ยังอยู่ที่สายตาของเมดูซาที่ไม่ใช่สายตาของปีศาจร้ายที่สะกดคนให้กลายเป็นหิน แต่กลับเป็นสายตาที่แสดงออกถึงอำนาจและการไม่ยอมจำนน

ประติมากรรมนี้ได้รับความสนใจอย่างมากในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะหลังจากถูกติดตั้งใกล้ศาลอาญาแมนฮัตตัน ซึ่งเป็นศาลที่ใช้ตัดสินคดีความ ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน เจ้าพ่อแห่งวงการฮอลลีวูดผู้เป็นจำเลยในคดีล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงในวงการฮอลลีวูดมากมาย

Boa Hancock One Piece

สำหรับแฟน ๆ มังงะขึ้นหิ้งอย่าง One Piece เมื่อพูดถึงตำนานเมดูซาแล้ว เชื่อว่าร้อยทั้งร้อยต้องเชื่อมโยงตำนานนี้กับตัวละครหญิงเจ้าแห่งโจรสลัดอย่าง โบอา แฮนค็อก หนึ่งในสามพี่ร้องกอร์กอนผู้เป็นหวานใจ (?) ของพระเอกอย่างลูกพี่ลูฟี่นั่นเอง

ความเชื่อมโยงแรกที่เห็นได้ชัดระหว่างตัวละครสองตัวนี้ ก็คือการที่ทั้งเมดูซาและแฮนค็อกถูกพรรณนาว่าเป็นหญิงสาวผู้งดงาม แต่ความงามของพวกเธอผสมผสานด้วยความอันตราย และสุดท้ายความงามนั้นก็กลับกลายเป็นคำสาป ในขณะที่คำสาปของเมดูซาทำให้เธอกลายเป็นสัตว์ประหลาดที่มีพลังในการทำให้คนกลายเป็นหิน โบอา แฮนค็อก ก็มีพลังในการทำให้ผู้ชายที่ต้องในความงามของเธอกลายเป็นหินเช่นกัน

นอกจากนี้ เรื่องราวเบื้องหลังของโบอา แฮนค็อก ยังอยู่ที่การที่เธอถูกขายไปเป็นทาสและถูกกระทำทารุณให้กับเผ่ามังกรฟ้า ซึ่งคล้ายคลึงกับตำนานของเมดูซาที่ถูกกระทำโดยเทพเจ้าอย่างโพไซดอนและเอธีนา แต่ความแตกต่างซึ่งนับเป็นความชาญฉลาดของผู้ให้กำเนิด One Piece อย่างอาจารย์เออิจิโระ โอดะ ก็คือบทบาทการเรียกคืนอำนาจของตัวเองของโบอา ในขณะที่เมดูซามักถูกนำเสนอว่าเป็นเหยื่อผู้น่าสงสารที่ถูกพิชิตโดยเพอร์ซีอุส โบอา แฮนค็อก กลับไม่ยอมหยุดอยู่ที่การเป็นเหยื่อ เธอใช้พลังและความอุตสาหะในการพาตัวเองขึ้นไปสู่ตำแหน่งราชินีโจรสลัด