#Artเทอม Alter Ego ศิลปินตัวจริงอยู่ในร่างอื่น ที่เห็นคนอื่นไม่ใช่ศิลปินตัวจริง!?
บางคนชอบบอกให้ถอดหน้ากากก่อนแล้วทำตัวจริงใจ แต่จริง ๆ แล้วคนใส่หน้ากากอาจจะจริงใจกว่าทุกคนก็ได้ ดูอย่างพวกศิลปิน นักร้อง นักดนตรี ที่ชอบมี “อัลเตอร์อีโก” (Alter ego) เป็นตัวตนอีกคน (หรือไม่ใช่คน) แบบแอบ ๆ ไม่ค่อยอยากให้ใครรู้ แล้วก็ทำตัวประหลาดสุดเหวี่ยง บางคนเห็นเงียบ ๆ ก็กลายเป็นพูดมาก บางคนเห็นเท่ ๆ ก็กลายเป็นเท่มาก ๆ ยิ่งกว่าเดิม ทำให้ผู้คนสงสัยกันว่าไหนใครตัวจริงแล้วคนไหนเป็นตัวแสดง?
อัลเตอร์อีโก้ของบางคนก็หน้าตาพอเดาได้ว่าตัวจริงอีกตัวของเขาคือใคร อย่างเช่น ‘เมเจอร์ทอม’ ผู้พันผจญอวกาศ ที่ท้ายที่สุดติดต่อศูนย์ควบคุมอากาศยานหรือ ‘GroundControl’ ไม่สำเร็จ ซึ่งเป็นอีกร่างของนักดนตรีป๊อบเดวิด โบวี (David Bowie) ในช่วงที่โลกกำลังแข่งขันกันเดินทางไปอวกาศ และโบวีกำลังทะยานสู่ความเคว้งคว้างของวงการดนตรี แต่เราเชื่อว่ายังมีอัลเตอร์อีโก้อีกไม่น้อย ที่ให้มองหน้าแล้วมองหน้าอีกก็ยังนึกไม่ออกว่าที่จริงเขาคือใครกันแน่
อย่างล่าสุดเมื่อไม่กี่วันก่อน เรื่องช็อคของออฟฟิศ GroundControl คืออยู่ดี ๆ สล็อธเดินสองขาตัวสูงกว่าคน (ทั่วไป) ก็เดินเข้ามาหาเรา ทราบชื่อภายหลังว่าเขาคือ Paul Vibhavadi (พอล วิภาวดี?) “สล็อธสองภาษาที่เคลื่อนที่ได้เร็วที่สุดในโลก” ซึ่งน่าจะเป็นตัวนี้แหละที่หลุดมาจากป่าหิมพานต์ในเอ็มวี The Other Side ของภูมิ วิภูริศ ที่เขากลายไปเป็นเจ้าตัวที่ถูกเลือกและรับการบูชาจากชนเผ่าในนั้น กับคาถาประจำตัวว่า “Sabai Sabai สะบายๆ, Mai Pen Arai ไม่เป็นอะไร, Chill Chill Chill Chill ชิลๆๆๆ”
วันนี้เราเลยอยากมาทำความรู้จักสิ่งที่เรียกว่าอัลเตอร์อีโกนี้กัน ว่ามันคืออะไร มาจากไหนกันแน่ แล้วเขาทำกันทำไม ผ่านตัวอย่างร่างประหลาดของเหล่าศิลปินตั้งแต่อดีตจนถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งบางคนมีวีรกรรมมัน ๆ กว่าตัวจริง (?) เยอะเลย
อัลเตอร์อีโกคืออะไร? เพื่อนรู้ใจหรือใครอีกคนที่เราเหมือนจะรู้จัก
คำว่าอัลเตอร์อีโก (Alter ego) เป็นภาษาละตินที่แปลตรงตัวได้ว่า “ตัวฉันอีกแบบหนึ่ง” ซึ่งแตกต่างไปจากตัวฉันแบบเดิมแบบที่เป็นอยู่ ประวัติศาสตร์ที่มาของคำนี้มักจะย้อนไปที่ ซิเซอโร (Cicero) ซึ่งใช้คำนี้เรียก “เพื่อนที่ไว้ใจ” ของเขา ว่าเป็นเหมือนตัวเขาเลยแต่แค่อีกเวอร์ชั่นหนึ่ง (น่าจะด้วยนัยเชิงปรัชญามากกว่านัยแบบจิ้น)
ตัดภาพมาในศตวรรษที่ 18 ความเข้าใจเรื่อง ‘อัลเตอร์อีโก’ ขยับขึ้นมาอีกขั้น โดยฟรานซ์ เอนตัน เมสเมอร์ (Franz Anton Mesmer) แพทย์ชาวออสเตรีย ผู้ใช้การสะกดจิต เผยตัวตนอีกแบบของคนออกมาจากตัวตนแบบปกติในภาวะที่รู้ตัว เหมือนกับว่าที่โผล่ออกมาใหม่นั้นคือคนอีกคนโดยสิ้นเชิงเลย แต่ว่าแสดงออกมาให้เห็นผ่านร่างเดิม
มาถึงยุคปัจจุบัน คำว่าอัลเตอร์อีโก้ในทางศิลปะอาจจะหมายถึงตัวตนอีกแบบหนึ่งของคาแรกเตอร์บางตัว หรืออาจจะเป็นวิธีการตีความผลงานของนักเขียน ที่ปลดปล่อยตัวตนของตัวเองอีกแบบออกมาผ่านเรื่องราวของตัวละครหลักในนิยาย ที่หลายทีก็มีบุคลิก หน้าตา ท่าทาง หรือเรื่องราวที่เหมือนกับผู้สร้างสรรค์เรื่องราวไม่มีผิด หรือบางที ก็อาจจะหมายถึงวิธีการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินเอง ที่สร้างตัวตนใหม่ขึ้นมา แล้วสวมบทบาทชีวิตอยู่ในตัวตนนั้น เพื่อหลบหนีจากตัวตนเดิม เพื่อค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ หรือเพื่อวิพากษ์วิจารณ์สังคม
ร่างที่ ‘จริงกว่า’ ของเหล่าศิลปิน
ในโลกของเรื่องแต่ง เรามีตัวละครอย่างไทเลอร์ เดอร์เดน (Tyler Durden) เป็นร่างแยกโหด ๆ ของพนักงานออฟฟิศจืด ๆ ในเรื่องไฟต์คลับ (Fight Club) ที่ออกไปทำเรื่องบ้า ๆ แบบที่ร่างพนักงานออฟฟิศของเขาก็คงไม่สามารถจินตนาการออก หลายคนตีความว่าไทเลอร์คือความเป็นชายที่ถูกบีบเค้น ผ่านการกดดัน จนปะทุออกมา กลายเป็นระเบิดต่อสังคม เป็นแรงขับแห่งการทำลายล้างตัวเอง (Death Drive) ที่พาเขาไปสู่หายนะแบบไม่รู้ตัวเลย และในอีกแง่หนึ่ง ตัวตนไทเลอร์นี้ก็เป็นตัวตนของเขาจริง ๆ ยิ่งกว่าตัวจริงของเขาที่เป็นพนักงานออฟฟิศเสียอีก ถ้าจะนับว่าหนุ่มจืดคนนั้นไม่ได้มีชื่อให้เราเรียกด้วยซ้ำ
หรือถ้าใครทันดูช่องดิสนีย์ ก็อาจจะรู้จักฮันนาห์ มอนทานา (Hannah Montana) นักร้องสาวสุดป๊อประดับโลกในซิตคอมชื่อเดียวกันกับเธอ ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นตัวตนอีกด้านของไมลีย์ สจ๊วต (Miley Stewart) เด็กสาววัยรุ่นธรรมดา โดยในขณะที่ฮันนาห์ใช้ชีวิตแบบดาวดังได้ แต่เป็นเด็กสาวธรรมดา ๆ ไม่ได้ ไมลีย์ก็ใช้ชีวิตแบบเด็กสาวธรรมดาได้ แต่ใช้ชีวิตป๊อปสตาร์ไม่ได้เหมือนกัน เธอทั้งสองคนเป็นทั้งช่องทางหลบหนี (Escapism) จากชีวิตเดิม ๆ และก็เป็นเขตแดนระหว่างพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะของเธอได้อย่างชัดเจน และทำให้เธอได้ค้นหาเส้นทางที่เธอเองพอใจจากเส้นทางทั้งสองด้วย
หรือถ้าใครทันดูช่องดิสนีย์ ก็อาจจะรู้จักฮันนาห์ มอนทานา (Hannah Montana) นักร้องสาวสุดป๊อประดับโลกในซิตคอมชื่อเดียวกันกับเธอ ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นตัวตนอีกด้านของไมลีย์ สจ๊วต (Miley Stewart) เด็กสาววัยรุ่นธรรมดา โดยในขณะที่ฮันนาห์ใช้ชีวิตแบบดาวดังได้ แต่เป็นเด็กสาวธรรมดา ๆ ไม่ได้ ไมลีย์ก็ใช้ชีวิตแบบเด็กสาวธรรมดาได้ แต่ใช้ชีวิตป๊อปสตาร์ไม่ได้เหมือนกัน เธอทั้งสองคนเป็นทั้งช่องทางหลบหนี (Escapism) จากชีวิตเดิม ๆ และก็เป็นเขตแดนระหว่างพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะของเธอได้อย่างชัดเจน และทำให้เธอได้ค้นหาเส้นทางที่เธอเองพอใจจากเส้นทางทั้งสองด้วย
นอกจักรวาลของเรื่องแต่ง ศิลปินทั้งไทยและต่างประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ต่างก็สร้างอัลเตอร์อีโกขึ้นมาให้ตัวเอง เราบอกแล้วจะตกใจ ว่าสาวแอรอส เซลาวี (Rrose Sélavy) ที่เป็นตัวแม่ติดแกลมสุด ๆ ในชุดขนเฟอร์และอายแชโดวเข้ม ๆ นี้ เป็นอีกร่างของศิลปินคอนเส็ปชวลตัวพ่ออย่างมาร์แซล ดูว์ช็อง (Marcel Duchamp) เจ้าของงานศิลปะโถฉี่ที่โด่งดัง ใครที่พอรู้ภาษาฝรั่งเศสหน่อย ฟังแค่ชื่อเธอก็อาจจะพอเดาได้แล้วว่าเธอคนนี้มาเพื่อประกาศว่า “รัก/เซ็กส์ นั่นแหละชีวิต!” (Eros, C'est la Vie) ซึ่งฟังดูเป็นแนวคิดแบบดาดามาก ๆ และก็ดูเป็นวิธีกวนเท้าตามฉบับดูชอมอีกเหมือนกัน เหมือนที่เขาหยิบวัตถุธรรมดามาพลิกความหมาย แต่กลายเป็นการหยิบร่างกายตัวเองมาแสดงให้เห็นว่า ก็มีความย้อนแย้งในตัว และมีศักยภาพจะ ‘แปลง’ ไปเป็นสิ่งอื่นอยู่ในความปรารถนาแบบอื่นได้เหมือนกัน
ในอีกแง่หนึ่งถ้าพูดถึงลูซี ชวอบ (Lucy Schwob) คนอาจจะทำหน้างงว่าเขาเป็นใคร แต่ถ้าพูดถึงคลอด คาฮุน (Claude Cahun) หลายคนคงรู้จักเขาดีว่าเป็นศิลปินเซอร์เรียลที่โด่งดัง (กว่าตัวลูซีแน่ ๆ) กับผลงานภาพถ่ายที่เขาใช้เป็นเครื่องมือค้นหาตัวตน พร้อมกับแสดงออกถึงตัวตนของตัวเองไปด้วย โดยที่เขามักจะแต่งหน้าและแต่งกายแบบที่บ่งบอกได้ยากว่านั่นคือเพศหญิงหรือเพศชาย (Androgyne) เขามักจะแต่งตัวคล้ายนักแสดงละคร หรือนักกีฬา (?) ซึ่งล้อไปกับกรอบที่แข็งแกร่งของความเป็นชายและหญิงในสังคม ที่ผู้ชายต้องมีร่างกายแบบนี้เท่านั้น หรือพื้นที่สำหรับกิจกรรมเหล่านี้เป็นของผู้ชายเท่านั้น แต่เขากลับดูทั้งไม่ได้เป็นผู้ชายขนาดนั้น แล้วก็ยังทำกิจกรรมเหล่านั้นไปเรื่อยอีกด้วย
แต่ผลงานที่แสบสันที่สุดของเขาคงเป็น ‘การก่อกวนแบบดาดา’ ที่เขาจงใจกวนเท้าเหล่าทหารเยอรมัน (หรือเรียกอีกอย่างว่านาซี) โดยเอากระดาษเขียนข้อความว่าด้วยความไร้สาระของสงคราม แอบเอาไปใส่ในกระเป๋าเสื้อในชุดทหาร ขณะกำลังปลอมตัวเป็นผู้ชาย
หรือถ้าพูดถึงศิลปินไทย เรานึกถึงตอนที่จุฬญาณนนท์ ศิริผล เปิดให้หม่อมราชวงศ์กีรติ แห่ง ‘ข้างหลังภาพ’ วรรณกรรมยุคสยามเปลี่ยนแปลงการปกครอง เข้าครอบครองร่างกายของเขา และทำให้ตัวละครกีรติมีชีวิตต่อไป ตัดข้ามยุคสมัยระหว่างอดีตกับปัจจุบัน และที่เหนือไปอีกขั้นคือจุฬญาณนนท์ก็ให้นพพร คนรักต่างชนชั้นของหม่อมฯ กีรติ มาใช้ชีวิตผ่านร่างของเขาเหมือนกันอีกด้วย (พร้อมแสดงบทรักอย่างหวานซึ้งสุด ๆ) ทำให้ร่างกายของเขาเป็นเหมือนดินแดนที่ตัวตนแบบต่าง ๆ มาแย่งชิงกันเพื่อควบคุม เพื่อให้ตัวตนของพวกเขาเหล่านั้นได้มีชีวิตต่อไป ไม่กลายเป็นวิญญาณที่ถูกแช่แข็งอยู่ในอดีต
อัลเตอร์อีโกของศิลปินเหล่านี้ ทิ้งตัวตนเดิมของพวกเขาไว้กับช่วงเวลาและสถานที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่แบบเดิม เดินทางออกไปสู่เขตแดนใหม่ ๆ ซึ่งหลายครั้งก็ทำให้ตัวตนเหล่านั้นปะทะเข้าอย่างจังกับโลกต่าง ๆ ที่เดินทางไปเจอ แต่ถึงแม้อัลเตอร์อีโกจะเป็นอีกคนที่ดูต่างจากตัวศิลปินมากเท่าไร ความเป็นตัวเองของพวกเขาก็อาจจะยังไม่ได้หายไป หรืออาจจะยังเข้มข้นขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ ลองนึกภาพศิลปินคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตเชื่องช้า สบาย ๆ วันหนึ่งเราอาจจะเห็นเขาเป็นสลอธตาหวาน แล้วอาจจะต้องพูดออกมาเลยว่า นี่แหละ ตัวตนที่แท้จริงของเขาชัด ๆ
อ้างอิง
- Artnet
- Faroutmagazine
- Anothermag [1] [2]