ลับแลที่ไทยแล้วมีที่ไหนอีกบ้าง? สำรวจเมืองลับแลจากทั่วโลก ที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวรรณกรรม
‘เมืองลับแล’ คือชื่อของเมืองสุดลึกลับในตำนานของไทย ที่ซ่อนเร้นตัวจากโลกภายนอก เต็มไปด้วยกฏเกณฑ์สุดเคร่งครัด และมาพร้อมกับทรัพย์สมบัติมหัศจรรย์อันยากจะหยั่งถึง และที่สำคัญ เมืองแห่งนี้ยังเต็มไปด้วยผู้หญิงสุดงดงาม ที่กระตุ้นให้เหล่าคนที่เชื่อเรื่องลึกลับพยายามออกตามหาเมืองแห่งนี้ เพื่อคว้าสมบัติและหัวใจของหญิงลับแลมาเป็นของตน จนเกิดเป็นเรื่องราวความรักอีกมากมายหลายเรื่อง ให้คนได้เล่าขานต่อมาอีกหลายเส้นเรื่องจนถึงปัจจุบัน ทั้งในงานศิลปะ วรรณกรรม และสื่อบันเทิงยุคใหม่
อย่างไรก็ตามตำนานเรื่อง ‘เมืองลับแล’ ไม่ได้ปรากฏขึ้นเพียงในเมืองไทยเท่านั้น แต่เรายังพบพล็อตเรื่องสไตล์นี้จากตำนานเมืองลึกลับมากมายทั่วโลก ผ่านประวัติศาสตร์ ศิลปะ และโลกแห่งวรรณกรรม เช่น ตำนานเผ่านักรบหญิงแอมะซอนของกรีก และอาณาจักรยามาไตที่สาบสูญ ซึ่งมักจะมาพร้อมกับพล็อตเกี่ยวกับผู้หญิงสุดเก่งกาจ พลังและสมบัติล้ำค่า และปริศนาท้าทายผู้คน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องลึกลับ
เนื่องในบรรยากาศแห่งฮาโลวีนที่กำลังใกล้เข้ามา GroundControl เลยขอเรียกน้ำย่อยทุกคน ด้วยการชวนมาปล่อยความคิดฟุ้ง ๆ แล้วตีความเรื่องนี้ไปด้วยกันว่า นอกเหนือจากความสนุกสนานตามสไตล์เรื่องลึกลับ เป็นไปได้ไหมว่า องค์ประกอบต่าง ๆ ที่ประกอบสร้างรวมกันจนกลายเป็นเรื่องราวเมืองลับแล ยังซ่อนแง่มุมที่น่าสนใจเกี่ยวกับเพศหญิงและอำนาจที่ซ่อนเร้นอื่น ๆ และอาจจะเป็นภาพสะท้อนความฝันและความปรารถนาของมนุษย์ด้วยก็เป็นได้ ถ้าใครพร้อมแล้ว ก็เลื่อนลงมาอ่านและสำรวจความลับนี้ไปพร้อมกันเลย!
📌เมืองลับแล โลกแห่งผู้หญิงเป็นใหญ่ กับการโต้กลับสังคมปิตาธิปไตยที่ซ่อนนัยอยู่ในเรื่องราว
ถ้าสังเกต เราจะพบเลยว่าพล็อตเรื่องเกี่ยวกับเมืองลับแลทั่วโลก ไม่ว่าจะเมืองลับแลของไทย ชนเผ่าแอมะซอนในตำนานของกรีก รวมถึงอาณาจักยามาไตในตำนานของญี่ปุ่น มักมีเซ็ตติ้งโลกเป็นเมืองที่ปกครองโดยระบบมาตาธิปไตย (matriarchy) เป็นหลัก โดยระบบนี้ คือแนวคิดทางสังคมวิทยาที่ได้รับการพูดถึงช่วงศตวรรษที่ 19 ที่ว่าด้วยสังคมที่มีผู้หญิงเป็นใหญ่ โดยเฉพาะแม่หรือผู้อาวุโส มักจะมีอำนาจสูงสุดในการปกครองครอบครัวหรือชุมชน
เมืองลับแลยังมาพร้อมกับกฏสุดเคร่งครัดที่ทำให้เรารู้สึกว่าคนในเมืองนี้มีความเหนือกว่าคนจากโลกความจริง เช่น เมืองลับแลของไทย จะมีกฏเรื่องการห้ามพูดโกหก และการห้ามขโมยของ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นคนมีศีลธรรม ที่คนทั่วไปยากจะทำได้ง่าย ๆ (เพราะจากพล็อตก็ชอบมีคนทำผิดกฏพวกนี้บ่อย ๆ) หรืออย่างชนเผ่าแอมะซอนก็จะโดดเด่นเรื่องการสู้รบและพละกำลังเหนือชั้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเหนือกว่าทางด้านทักษะและร่างกาย ส่วนอาณาจักรยามาไต ก็จะมีเจ้าหญิงฮิมิโกะเป็นผู้ปกครอง ซึ่งนอกจากเธอจะอยู่ในฐานะราชินี ตามตำนาน เธอยังอยู่ในฐานะชาแมนที่สามารถติดต่อกับพระเจ้าได้ และยังบันดาลความอุดมสมบูรณ์ให้ชาวเมืองได้ด้วย ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าเธอมีความพิเศษกว่าใคร
แล้วทำไมต้องเป็นมาตาธิปไตย? หากว่ากันในแง่ความสนุกของเรื่องราว การสร้างโลกลับแลให้เป็นโลกที่มีแต่ความมหัศจรรย์และผู้หญิงสุดพิเศษ แน่นอนว่าย่อมดึงดูดความสนใจของเหล่านักล่าสมบัติที่เป็นผู้ชายได้มากกว่าอยู่แล้ว และยังทำให้คนฟังเรื่องราวอย่างเรารู้สึกว่าโลกนี้ช่าง ‘เหนือจริง’ และหาได้ยากจริง ๆ เพราะการปกครองแบบมาตาธิปไตย คือขั้วตรงข้ามกับปิตาธิปไตยที่เป็นระบบการปกครองที่เกิดขึ้นจริงทั่วโลกมาตั้งแต่สมัยอดีต แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดเจน คือไม่ใช่แค่การปกครองแบบผู้หญิงเป็นใหญ่ แต่ในหลายตำนานยังมาพร้อมกับการ ‘รังเกียจ’ เพศชายด้วย
ในตำนานเมืองลับแลของไทยหลาย ๆ ตำนาน (ไม่ได้มีแค่ตำนานเมืองลับแลที่อุตรดิตถ์ แต่เรื่องราวนี้ยังมีการเล่าขานและแตกแขนงออกไปหลายเส้นเรื่อง) มักมีการพูดถึงกฎว่าห้ามผู้ชายเข้ามาในเมือง หรือในกรณีที่มีลูกชายก็ต้องเอาเด็กไปฝากเผ่าอื่นเลี้ยง หรือถ้าหาผู้ชายดี ๆ ไม่ได้ก็ยอมเป็นม่ายเสียดีกว่า หรือในตำนานของชนเผ่าแอมะซอน ก็มีการพูดถึงเรื่องพวกนี้เช่นกัน และอาจจะรุนแรงกว่าตำนานเมืองลับแลของไทยด้วย จะเห็นได้เลยว่าเมืองลับแลทั้งสองตำนานนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะสร้างพื้นที่แห่งอำนาจของเพศหญิง ที่เป็นอิสระจากการควบคุมของสังคมปิตาธิปไตย ผ่านการการแสดงออกถึงความเป็นอิสระ การไม่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้ชายเพื่อหาความสุขและความมั่นคงในชีวิต ทั้งในฐานะคู่ชีวิต และการได้รับการปกป้องจากเพศที่เข้มแข็งกว่า
เรายังเห็นการโต้กลับของเพศหญิงในจักรวาลลับแล ที่เปลี่ยนบทบาทเพศชายให้กลายเป็นเครื่องมือขยายเผ่าพันธุ์ด้วย เพราะในตำนานลับแลของไทยและชนเผ่าแอมะซอน ผู้หญิงไม่ได้มองเพศชายในฐานะคู่ชีวิตหรือผู้นำ แต่เป็นเพียงเครื่องมือในการขยายเผ่าพันธุ์เท่านั้น โดยการขยายเผ่าพันธุ์ของผู้หญิงเหล่านี้จะไม่ได้ให้ความสำคัญกับการตกลงปลงใจหรือความรัก แต่เกิดจากการที่ผู้หญิงออกไปหาผู้ชายจากด้านนอกเพื่อสืบพันธุ์อย่างเดียว โดยไม่ยอมให้เพศชายมีอำนาจหรือบทบาทในสังคมของพวกเธอ สิ่งนี้จึงเป็นการท้าทายและตอบโต้สังคมในโลกแห่งความจริงหลาย ๆ แห่งบนโลกใบนี้ ที่ผู้หญิงมักถูกปฏิบัติในฐานะวัตถุทางเพศ หรือเครื่องผลิตลูกเท่านั้น
📌มองเมืองลับแล ในฐานะความฝันใฝ่อันสูงสุดของมนุษย์ ที่สะท้อนผ่านสมบัติ ความลึกลับ และการเข้าถึงยาก
เมืองลับแลยังเต็มไปด้วยความลึกลับ สมบัติจำนวนมาก และความหัศจรรย์ของสภาพแวดล้อมที่หาไม่ได้ในโลกความจริง ซึ่งจะมาพร้อมกับการเข้าถึงยาก ชนิดที่ว่ากว่าจะหาเจอ แต่ละคนจะต้องบุกป่า ฝ่าดง และผจญภัยกับภยันอันตรายมากมายจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด และต่อให้พบเมืองเหล่านี้แล้ว ก็ยังต้องสู้ต่อไปกว่าจะได้สิ่งที่ตัวเองหวัง ซึ่งนอกจากองค์ประกอบเหล่านี้จะทำให้เรื่องราวของความลับแลสนุกขึ้น มันยังทำให้เราตีความสิ่งเหล่านี้ในฐานะภาพแทนความฝันใฝ่อันสูงสุดของมนุษย์ได้ด้วย
เหมือนกับเรื่องราวการผจญภัยหลาย ๆ เรื่อง ความยากลำบากกว่าจะได้สมบัติมา เปรียบได้กับการต่อสู้ในชีวิตของมนุษย์จริง ๆ ที่การทำความฝันให้เป็นจริงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีความอดทน ฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ และบางครั้งยังต้องเสี่ยงชีวิตเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ เมืองลับแลจึงอาจจะเป็นภาพแทนของการเดินทางเพื่อหาความหมายและเป้าหมายที่แท้จริงในชีวิตที่ลึกลับ ยากลำบาก และเข้าถึงได้ยาก ที่บางครั้งก็ต้องใช้ความกล้าหาญและความเสียสละอย่างสูงสุด
ท้ายที่สุดแล้ว เมืองลับแลจึงไม่ได้เป็นเพียงภาพแทนของความฝันที่ยิ่งใหญ่ในทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องเตือนใจว่า การเดินทางและการพยายามเข้าใกล้ความฝันนั้นมีคุณค่าในตัวของมันเอง แม้ว่าผู้แสวงหาอาจไม่สามารถครอบครองสมบัติที่ปรารถนาได้ แต่สิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้จากการเดินทาง การผจญภัย และการทดสอบภายในนั้น เป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าตัวสมบัติเอง
📌อิทธิพลของเมืองลับแลหรือชนเผ่าแอมะซอน ที่ปรากฏในงานศิลปะ วรรณกรรม และป็อปคัลเจอร์
อิทธิพลของเมืองลับแลหรือชนเผ่าแอมะซอน ไม่ได้ปรากฏแค่ในรูปแบบของเรื่องเล่าและมุขปาฐะเท่านั้น แต่ยังถูกนำไปสร้างเป็นงานศิลปะอยู่บ่อยครั้ง หากเป็นตำนานลับแลของไทยก็มักจะปรากฏในรูปแบบของละคร ซึ่งมักจะมีการดัดแปลงกันไปตามแนวทางของผู้จัดแต่ละคน แต่หากเป็นเรื่องราวของชนเผ่าแอมะซอนนั้น นอกจากจะปรากฏในภาพยนตร์และป๊อปคัลเจอร์จากสื่อมากมายทั่วโลก ในแง่ของผลงานศิลปะ เรื่องราวของพวกเธอก็มีปรากฏมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยกรีกโบราณแล้ว ซึ่งตัวอย่างในบทความนี้จะขอโฟกัสไปที่เรื่องราวของชนเผ่าแอมะซอนในงานศิลปะ วรรณกรรม และป็อปคัลเจอร์ เป็นหลัก
ในงานศิลปะกรีกโบราณ ชนเผ่าแอมะซอนมักปรากฏในรูปแบบของประติมากรรมและจิตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฉากการต่อสู้ที่รู้จักกันในชื่อ ‘Amazonomachy’ ซึ่งแสดงการปะทะระหว่างนักรบแอมะซอนและนักรบกรีก ภาพเหล่านี้มักถูกนำเสนอร่วมกับการต่อสู้ระหว่างกรีกและเซนทอร์ เพื่อสื่อถึงการต่อสู้ระหว่างความศิวิไลซ์และความป่าเถื่อน การนำเสนอแอมะซอนเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงการรับมือกับ ‘คนอื่น’ ที่แตกต่างจากกรีก ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของนักรบหญิงที่แสดงความเป็นชาย หรือชนเผ่าป่าเถื่อนจากดินแดนห่างไกล (เพราะสังคมกรีกให้ความสำคัญกับความเป็นชายมากที่สุด แอมะซอนที่เน้นความเป็นหญิงจึงถือว่าขั้วตรงข้าม)
ในช่วงแรก แอมะซอนในศิลปะกรีกมักถูกวาดให้คล้ายกับนักรบกรีกเพศชาย โดยมีการสวมเกราะ หมวกเหล็ก และถืออาวุธแบบเดียวกันกับนักรบกรีก เช่น หอกและโล่แบบฮอปไลต์ แต่แอมะซอนจะถูกทาสีขาว ซึ่งเป็นวิธีการที่ศิลปินกรีกใช้แยกแยะเพศหญิงจากเพศชายในจิตรกรรมบนแจกันสมัยนั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการติดต่อทางวัฒนธรรมกับชาวไซเธียน ชนเผ่านักรบจากทุ่งหญ้าสต็ปป์ (Steppes) ซึ่งเป็นพื้นที่ในแถบทะเลดำ ที่มีวัฒนธรรมและการแต่งกายที่แตกต่างจากชาวกรีก ภาพลักษณ์ของแอมะซอนในศิลปะก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยนักรบหญิงแอมะซอนเริ่มถูกวาดให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับชาวไซเธียนมากขึ้น ทั้งในด้านการแต่งกาย เช่น การสวมหมวกแหลม กางเกงยาวที่ปักประดับด้วยทองคำ และการถือธนู ซึ่งเป็นอาวุธสำคัญของชาวไซเธียน
ในช่วงหลังสงครามกรีก-เปอร์เซีย ภาพลักษณ์ของแอมะซอนในศิลปะกรีกก็มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดยเริ่มมีการวาดให้พวกเธอสวมใส่เสื้อผ้าที่ยาวและบางเบา คล้ายกับเทพีอาร์เทมิส ซึ่งเป็นเทพีแห่งการล่าสัตว์ ความเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนถึงการมองแอมะซอนในฐานะศัตรูจากดินแดนตะวันออกที่มีความเป็น ‘คนอื่น’ หรือ ‘คนป่าเถื่อน’ มากขึ้น นอกจากการต่อสู้แล้ว แอมะซอนยังถูกวาดในฉากอื่น ๆ เช่น การล่าสัตว์ และยังมีตำนานที่เชื่อมโยงพวกเธอกับการก่อตั้งเมืองหรือวิหารสำคัญในโลกกรีกโบราณ รวมถึงการเป็นผู้คิดค้นการรบด้วยทหารม้า ซึ่งสอดคล้องกับทักษะการขี่ม้าของชาวไซเธียน
จะเห็นได้เลยว่า การวาดภาพแอมะซอนในศิลปะกรีกไม่ได้เป็นเพียงการบอกเล่าตำนานของนักรบหญิงเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้เพื่อสะท้อนถึงแนวคิดทางสังคมและวัฒนธรรมของกรีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความแตกต่างระหว่างเพศและอำนาจทางสังคม ซึ่งแอมะซอนถูกใช้เป็นเครื่องมือทางศิลปะในการแสดงถึงความกลัวและการต่อต้านต่อความเปลี่ยนแปลงของบทบาทผู้หญิงในสังคมกรีกโบราณ
ในวงการวรรณกรรม เรื่องราวของชนเผ่าแอมะซอนได้รับความสนใจและกลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้กับผลงานของนักเขียนหลายคน หนึ่งในนั้นคือ ‘A Midsummer Night's Dream' บทละครชื่อดังของวิลเลียม เชคสเปียร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับการนำตำนานแอมะซอนมาใช้ในวรรณกรรม โดยในบทละครนี้ เชคสเปียร์ได้กล่าวถึงเธเซอุส (Theseus) ซึ่งเป็นวีรบุรุษในตำนานกรีก ผู้ที่เคยต่อสู้และเอาชนะชนเผ่าแอมะซอน และเขายังได้แต่งงานกับไฮโปลิตา (Hippolyta) ราชินีแห่งชนเผ่าแอมะซอน
การแต่งงานของทั้งคู่เป็นภาพสะท้อนถึงการรวมตัวของสองวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ระหว่างอำนาจของชาย (ตัวแทนของกรีก) และอำนาจของหญิง (ตัวแทนของแอมะซอน) และแสดงให้เห็นถึงแนวทางการสำรวจแนวคิดเกี่ยวกับอำนาจ ความรัก และความสัมพันธ์ระหว่างเพศในบริบทของสังคมยุคเรเนสซองส์ของเชคสเปียร์
หรือในป๊อปคัลเจอร์ที่ใกล้ตัวเราที่สุดก็คือเรื่องราวของ ‘Wonder Women’ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเผ่าแอมะซอนเช่นกัน ดังนั้น การนำเสนอชนเผ่าแอมะซอนในงานศิลปะตลอดหลายยุคสมัยนี้ ไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองทางวัฒนธรรมที่มีต่อสตรีนักรบ แต่ยังแสดงให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างตำนาน ประวัติศาสตร์ และจินตนาการในการสร้างสรรค์งานศิลปะอีกด้วย
อ้างอิง
- Arcane A. Amazons in Greek Art: Why Do They Look Like Scythians? TheCollector. Published March 30, 2023. Accessed October 15, 2024. https://www.thecollector.com/amazons-scythians-greek-art/
- View. Who were the Amazons? Women’n Art. Published May 15, 2019. Accessed October 15, 2024. https://womennart.com/2019/05/15/who-were-the-amazons/ 3. เมืองลับแล เรื่องรักต้องห้ามสู่การแย่งชิงอำนาจ ของดีที่ไม่อยากให้พลาด. THE STANDARD. Published September 16, 2024. Accessed October 15, 2024. https://thestandard.co/laplae-the-hidden-town/