สำรวจ 3 ตำนานผีและปีศาจ ที่ (อาจ) ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องหลอน แต่สะท้อนความกลัวเรื่อง ‘ความเป็นอื่น’
กว่ายุโรปจะยกเลิกเรื่องการล่าแม่มดอย่างเป็นทางการ โลกของเราก็ก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 18 เรียบร้อยแล้ว และในระยะเวลายาวนานเกือบสามศตวรรษ ก็ได้มีผู้บริสุทธิ์นับหมื่นคนที่ต้องเสียชีวิตไปอย่างไร้ความเป็นธรรม หลงเหลือไว้เพียงประวัติศาสตร์ที่กลายเป็นตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เรามองเห็นวิธีการใช้ ‘ความกลัว’ เรื่องสิ่งลี้ลับเข้ามาควบคุมสังคม กำจัดคนเห็นต่าง และรักษาอุดมการณ์ทางความคิดของคนกลุ่มตนให้คงอยู่สืบไป
เนื่องจาก GroundControl ยังคงอินกับฮาโลวีน เลยขอหยิบเอาเรื่องผี ๆ และสิ่งลี้ลับมาพูดคุยกับทุกคนต่ออีกสักหน่อย พร้อมชวนทุกคนไปหาคำตอบด้วยกันว่า ท่ามกลางเรื่องหลอนมากมายจากทั่วโลก ยังมีเรื่องไหนบ้างที่ฟังดูทะแม่ง ๆ และไม่น่าจะเป็นแค่เรื่องหลอน เพราะถ้าการล่าแม่มดคือเรื่องปาหี่บทใหญ่ในประวัติศาสตร์โลก แล้วเรื่องราวของภูติ ผี ปีศาจตนอื่น ๆ บนโลกใบนี้ล่ะจะเป็นอย่างไร? พวกเขาชั่วร้ายจริง หรือเป็นเรื่องเล่าที่แฝงคำสอนหรือประวัติศาสตร์สังคมแบบใดไว้บ้างหรือเปล่า มาสำรวจเรื่องหลอนลี้ลับที่อาจจะแฝงไปด้วยการตั้งใจหลอกให้กลัวแบบเหลี่ยม ๆ บนโลกใบนี้ไปด้วยกันเถอะ!
🎃 ตำนานแวมไพร์จอมโหดกับชาวโรมาเนียผู้เป็นอื่น
ก่อนที่ใครหลาย ๆ คนจะตกหลุมรักคาแรกเตอร์ของพวกแวมไพร์จากหนังและนิยายในยุคนี้ ในอดีต แวมไพร์เคยเป็นหนึ่งในตำนานที่น่าหวาดหวั่นมากที่สุดเรื่องหนึ่งในวัฒนธรรมตะวันตก เช่น ในปี 2009 ได้มีการค้นพบซากโครงกระดูกที่เชื่อว่าเป็นแวมไพร์จากศตวรรษที่ 16 โดย มัตเตโอ บอร์รินี (Matteo Borrini) นักมานุษยวิทยาชาวอิตาลี โดยซากศพนั้นมีรูปลักษณ์เป็นผู้หญิงที่ถูกฝังพร้อมกับก้อนอิฐในปาก ซึ่งมีนักวิชาการคาดการณ์ว่า ผู้ฝังอาจจะทำขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เธอลุกขึ้นมากัดกินผู้รอดชีวิต สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อของคนในยุคนั้นที่หวาดกลัวเรื่องแวมไพร์อย่างแท้จริง
แต่นอกเหนือจากความหลอน ว่ากันว่าเรื่องราวของแวมไพร์ยังเกิดขึ้นมาจากความกลัวที่ชาวยุโรปตะวันตกมีต่อชาวยุโรปตะวันออกด้วย ยกตัวอย่างจากงานวิจัยของ โคเอน เวอร์เมียร์ (Koen Vermeir) ที่ศึกษาเกี่ยวกับ ‘Vampires as Creatures of the Imagination’ ได้วิเคราะห์ว่าตำนานแวมไพร์ไม่ใช่เพียงเรื่องของสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติที่หลอกหลอนมนุษย์ แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของความกลัวที่ฝังอยู่ในจิตใจของชาวยุโรปตะวันตกต่อผู้คนจากภูมิภาคยุโรปตะวันออก โดยผู้คนในภูมิภาคนี้ถูกมองว่าเป็น ‘คนอื่น’ หรือ ‘คนนอก’ เพราะยุโรปตะวันตกส่วนใหญ่เป็นคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ ในขณะที่ยุโรปตะวันออกมีศาสนาออร์โธดอกซ์เป็นหลัก ความแตกต่างทางศาสนานี้ทำให้ชาวยุโรปตะวันออกถูกมองว่ามีความเชื่อและแนวคิดที่แปลกประหลาด
นอกจากนี้ วัฒนธรรมยุโรปตะวันออกยังผสมผสานกับอิทธิพลจากอาณาจักรออตโตมัน (มุสลิม) และกลุ่มชนพื้นเมือง ทำให้มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ชาวยุโรปตะวันตกไม่เข้าใจจึงมองว่าเป็นสิ่งแปลกแยก เรื่องราวแวมไพร์เลยสะท้อนถึงความพยายามของสังคมในการกำหนดเส้นแบ่งระหว่างตะวันตกและตะวันออก รวมถึงอคติทางชาติพันธุ์ที่มีต่อประชากร
ดังนั้น ตำนานแวมไพร์จึงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องเล่าสยองขวัญหรือเรื่องเหนือธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นภาพสะท้อนของสังคมที่เต็มไปด้วยความกลัว ความไม่แน่นอน และอคติทางวัฒนธรรมที่ยังคงหลอกหลอนจิตใจของผู้คน มันสะท้อนถึงความพยายามในการควบคุมสิ่งที่ไม่รู้และการกดขี่ ‘คนอื่น’ ที่ถูกมองว่าอยู่นอกกรอบของอำนาจด้วย
🎃 ลิลิธ ปีศาจตนแรกกับการต่อต้านกรอบสังคม
ลิลิธ คือปีศาจที่มีต้นกำเนิดมาจากเรื่องเล่าของชาวสุเมเรียน อคาเดียน และบาบิโลเนีย ก่อนจะถูกนำมาผสมกับตำนานของชาวยิวและวัฒนธรรมอื่น ๆ โดยในตำนานชาวยิว ลิลิธถูกกล่าวถึงว่าเป็นภรรยาคนแรกของอดัม ซึ่งถูกสร้างขึ้นจากดินเช่นเดียวกับเขา สำหรับความโหดร้ายของลิลิธมักจะเกี่ยวข้องกับการทำร้ายเด็กและการล่อลวงชายหนุ่ม ในบางเรื่องกล่าวว่าเธอจะทำให้เด็กทารกป่วยหรือตาย
ลิลิธถูกเรียกว่าเป็นปีศาจตัวแรกของโลกเลยก็ว่าได้ แต่เมื่อเราสำรวจย้อนกลับไปยังจุดกำเนิดของปีศาจตัวนี้ก็จะพบว่า เธอกลายเป็นปีศาจเพราะแสวงหาเสรีภาพ กล่าวคือ ตามตำนาน ในฐานะภรรยาคนแรกของอดัม ลิลิธต้องการอยู่ร่วมกับอดัมอย่างเท่าเทียม แต่ไม่สามารถเป็นไปได้ เธอเลยเลือกเสรีภาพและไม่ยอมอยู่ใต้การควบคุมของอดัมหรือพระเจ้า และเมื่อต่อต้านพระเจ้า ก็เท่ากับต่อต้านขนบสังคม การผลักไสให้ลิลิธผู้ต่อต้านพระเจ้ากลายเป็นปีศาจจึงเป็นเหมือนตัวอย่างที่แสดงให้ทุกคนเห็นว่า ไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง
ในงานวิจัยยุคใหม่ ลิลิธจึงมักจะถูกนำมาตีความใหม่ในมุมมองแบบสตรีนิยม เช่น ในงานวิจัยของ จัสติน วิลเลียมสัน (Justin Williamson) เรื่อง The Evolution of Lilith: The World's First Feminist ก็ได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของตัวละครลิลิธจากวรรณกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรม โดยมุ่งวิเคราะห์วิวัฒนาการของตัวละครนี้ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันที่แสดงให้เห็นว่า ลิลิธค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงบทบาทจากปีศาจในตำนาน มาสู่การเป็นสัญลักษณ์สำคัญในขบวนการเคลื่อนไหวสตรีนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานเขียนของ จูดิธ พลาสโคว์ (Judith Plaskow) นักเทววิทยาและนักเขียนคนสำคัญชาวอเมริกันเชื้อสายยิว ที่นำเสนอภาพลักษณ์ใหม่ของลิลิธ ด้วยการตัดทอนลักษณะด้านลบแบบดั้งเดิมออกไป และสร้างภาพของตัวละครที่มีพลังและเป็นแบบอย่างในเชิงบวก
เขายังวิเคราะห์อีกว่า พลังอำนาจอย่าง ‘การบิน’ ของลิลิธ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์สำคัญที่แสดงถึงการต่อต้านระบบกดขี่และการปฏิเสธที่จะยอมจำนนต่ออำนาจของผู้ชาย นอกจากนี้ การที่ลิลิธเลือกที่จะรักษาอิสรภาพของตนเองแทนที่จะยอมรับบทบาทของการเป็นมารดา ยังแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับตัวละครอีฟที่ยอมรับบทบาทของตนแต่โดยดี งานวิจัยนี้จึงไม่เพียงแต่นำเสนอการเปลี่ยนแปลงของตัวละครในวรรณกรรมเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในการตีความทางศาสนาและมุมมองทางสังคมที่มีต่อบทบาทของผู้หญิงอีกด้วย
ตำนานของลิลิธจึงเป็นอีกหนึ่งตำนานที่แสดงให้เห็นถึงเบื้องหลังเรื่องน่ากลัว ที่แฝงไปด้วยแนวคิดทางสังคมในอดีต ให้เราได้ตามศึกษากัน
🎃 ผีปอบกับการผลักไสคนที่แตกต่างออกจากสังคม
มาถึงคราวของผีใกล้ตัวคนไทยอย่าง ‘ผีปอบ’ กันบ้าง โดยผีปอบคือผีในความเชื่อพื้นบ้านของไทย โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เชื่อว่าเป็นวิญญาณร้ายที่เข้าสิงในร่างคน หรือสามารถสิงในตัวคนได้ มักหิวกระหายในเครื่องในและของสด ๆ บางครั้งเชื่อว่าผีปอบเกิดจากการฝึกไสยศาสตร์หรือคุณไสยที่ผิดพลาด หรืออาจเป็นเพราะกรรมจากการทำผิดในอดีต ทำให้ต้องรับสภาพเป็นผีปอบ
แต่ไม่ว่าปอบจะมีจริงหรือไม่ อย่างน้อย ๆ ก็มีคนหลายคนที่ถูกกีดกันออกจากสังคมเพราะถูกตราหน้าว่าเป็นปอบอยู่จริง ดังที่เห็นได้จากงานวิจัยของ กมเลศ โพธิกนิษฐ ที่ศึกษาเรื่อง ‘การทำให้เป็น “ผีปอบ” และการกีดกันทางสังคมในมุมมองของการบริหารความขัดแย้ง’ ที่อธิบายถึงการนำเสนอปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยที่เกิดจากการไม่ยอมรับในความคิดที่แตกต่าง ซึ่งก่อให้เกิดความเครียดและการแบ่งฝักฝ่าย โดยมีการนำแนวคิดเรื่อง ‘ผีปอบ’ มาเป็นสัญลักษณ์แทนการกีดกันทางสังคม ที่ตีตราผู้ที่มีความคิดต่างออกไปด้วยกระบวนการ ‘สร้างความเป็นอื่น’ โดยใช้ความกลัวเป็นพลังขับเคลื่อนที่บีบคั้นให้ผู้คนปฏิบัติตามกระแสหลัก ส่งผลให้เกิดกระบวนการ ‘ไล่ล่าผีปอบ’ ทั้งในเชิงสัญลักษณ์และความรุนแรงจริงในสังคม
ดังนั้น เบื้องหลังความเชื่อเรื่องผีปอบเลยสะท้อนให้เห็นถึงการใช้ความกลัวและความไม่มั่นคงภายในสังคม มาใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมและจำกัดการแสดงออกของผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่าง ทำให้ผู้ที่เห็นต่างถูกแยกออกจากชุมชนทางสังคมและสื่อสารออกไปว่า การแปลกแยกคือภัยที่ต้องถูกกำจัด ความเชื่อเกี่ยวกับผีปอบจึงไม่ได้เป็นเพียงตำนานหรือความเชื่อพื้นบ้านเท่านั้น หากแต่สะท้อนกระบวนการของการทำให้เกิดความขัดแย้ง การแยกแยะ ‘คนอื่น’ และการทำให้กลุ่มที่มีความเห็นต่างต้องเป็นผู้เสียเปรียบในสังคมอย่างลึกซึ้ง
อ้างอิง
Russell JB. Witch hunt | Definition, History, & Examples. Encyclopedia Britannica. Published June 2, 2023. Accessed October 30, 2024. https://www.britannica.com/topic/witch-hunt
Vermeir K. Diseases of the Imagination and Imaginary Disease in the Early Modern Period. Brepols Publisher. Published July 18, 2011. Accessed October 30, 2024. https://shs.hal.science/halshs-00609387/file/Vermeir_-_Vampires_as_creatures_of_the_imagination.pdf
News A. “Vampire” Skeleton Unearthed in Venice. ABC News. Published March 6, 2009. Accessed October 30, 2024. https://abcnews.go.com/Technology/story?id=7022975&page=1 Justin W. The Evolution of Lilith: The World's First Feminist. EDIS. December 14, 2020. Accessed October 30, 2024. https://www.towson.edu/cla/scholarships/documents/williamson_justin_original_paper_05_24_2021.pdf
กมเลศ โพธิกนิษฐ. การทำให้เป็น “ผีปอบ” และการกีดกันทางสังคมในมุมมองของการบริหารความขัดแย้ง. สถาบันพระปกเกล้า. ตีพิมพ์ พฤษภาคม - สิงหาคม 2555. เข้าถึงเมื่อ 30 ตุลาคม 2567. https://kpi-lib.com/multim/Journal%20Index/%E0%B8%9B%E0%B8%B5%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%8810%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%882/b17991.pdf