เชื่อว่าตอนนี้หลายคนคงเห็นภาพผลงานที่จัดแสดงกันแล้วและคงวางแผนเตรียมลุยดูงานกันอยู่ แต่ถ้าใครยังสงสัยว่างานนี้พิเศษอย่างไร? ธีมงานปีนี้หมายถึงอะไรกันแน่? และมีจุดไหนบ้างที่น่าสนใจ? เราเก็บถ้อยคำบางส่วนจากทีมภัณฑารักษ์ปีนี้ ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์, ดร.ไบรอัน เคอร์ติน, ดร.ปรมพร ศิริกุลชยานนท์ และคุณพอใจ อัครธนกุล มาฝากกัน อ่านแล้วน่าจะเห็นภาพเบื้องหลังการทำงานด้านแนวคิดและการจัดการที่โดดเด่นไม่น้อยเลย

เชื่อว่าตอนนี้หลายคนคงเห็นภาพผลงานที่จัดแสดงกันแล้วและคงวางแผนเตรียมลุยดูงานกันอยู่ แต่ถ้าใครยังสงสัยว่างานนี้พิเศษอย่างไร? ธีมงานปีนี้หมายถึงอะไรกันแน่? และมีจุดไหนบ้างที่น่าสนใจ? เราเก็บถ้อยคำบางส่วนจากทีมภัณฑารักษ์ปีนี้ ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์, ดร.ไบรอัน เคอร์ติน, ดร.ปรมพร ศิริกุลชยานนท์ และคุณพอใจ อัครธนกุล มาฝากกัน อ่านแล้วน่าจะเห็นภาพเบื้องหลังการทำงานด้านแนวคิดและการจัดการที่โดดเด่นไม่น้อยเลย

สร้างบทสนทนาระหว่างวัฒนธรรม ตั้งคำถามกับพิพิธภัณฑ์ เบื้องหลังการจัดเทศกาลศิลปะระดับโลกของทีมภัณฑารักษ์ BAB2024

📍ธีม Nurture Gaia ไม่ใช่แค่การรักษาสิ่งแวดล้อม

“คำว่า Nurture Gaia อาจจะฟังดูเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ภายในธีมนี้มันก็ย่อยลงมาอีกเยอะมาก เช่น เป็นเรื่องของการดูแลกัน อย่างศิลปินเกาหลี กิมฮงซก (Gimhongsok) ที่ผ่านมาเขาทำงานวิพากษ์สถาบันแบบต่าง ๆ ในโลกศิลปะหรือสถาบันอื่น ๆ แล้วงานที่เขาทำก็จะเกี่ยวกับเรื่องชนชั้น สิทธิแรงงาน ก็อาจจะตีความถึงธีม Nurture Gaia ในแง่การดูแล (Care) ของคนในระดับปัจเจกหรือชนชั้น เขาทำประติมากรรมในท่าทางการนอนหลับ ซึ่งก็เหมือนเป็นการประท้วงต่อตลาดด้วยการพักผ่อนเหมือนกัน” ดร.ปรมพรเล่า

📍การเลือกศิลปินจากแนวความคิด

“หลัก ๆ เราเลือกศิลปินที่เรารู้จักผลงานของเขา มีประเด็นเนื้อหาที่ร่วมสมัย มีศิลปินไทยเยอะมากที่มีชื่อเสียงในเมืองนอก แต่คนไทยอาจจะมีโอกาสได้ชมงานของพวกเขาน้อย ก็อยากจัดแสดงให้คนไทยได้ชมผลงาน แล้วก็มีศิลปินต่างชาติที่คนไทยไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็นงาน เราอยากนำจัดแสดงในสถานที่เดียวกันกับผลงานของศิลปินไทย มาสร้างบทสนทนากันให้ลึกขึ้น อาจจะมีทั้งงานที่ดูแล้วเข้าใจได้ทันที และงานที่ตีความได้ลึก ๆ ขึ้น” ดร.ปรมพร พูดต่อ

“เช่น ส้ม ศุภปริญญา เป็นศิลปินที่ทำงานเชิงวิจัยซึ่งเป็นศิลปินที่ทำงานกับสื่อวิดีโอ มีกระบวนการลงพื้นที่นาน ๆ ก็เลยมีนิทรรศการในเมืองไทยไม่เยอะ แล้วสิ่งที่เขาพูดมันน่าสนใจ เขาไม่ได้รณรงค์ออกมาตรง ๆ แต่เขาตั้งคำถามกับการเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศที่เกิดจากการตัดสินใจทางการเมืองหรือธุรกิจบางอย่างซึ่งส่งผลกระทบกลับมาที่คน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมทั้งหมด”

📍สร้างบทสนทนาระหว่างวัฒนธรรม

“ศิลปินแต่ละคนก็พูดคนละอย่างอยู่แล้ว วัตถุแต่ละชิ้นก็เล่าเรื่องต่างไปเหมือนกัน แต่เรื่องราวมันก็เชื่อมโยงกันได้ มีเส้นที่ร้อยเรียงสื่อสารกัน อาจจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เช่นงานของ หลุยส์ บูร์ชัวส์ (Louise Bourgeois) ทำงานพูดถึงเรื่องความเป็นแม่ มาจัดแสดงในที่เดียวกับ โศภิรัตน์ ม่วงคํา ที่ถ่ายภาพนู้ด พอมาแสดงคู่กันก็เชื่อมโยงกัน เปิดให้คนดูคิดว่ามาเจอกันได้อย่างไร หรืออย่าง ราวินเดอร์ เรดดี (Ravinder Reddy) ก็ทำประติมากรรมผู้หญิงอินเดีย ซึ่งพูดถึงความเป็นหญิงในอีกวัฒนธรรม แต่ก็มีอะไรบางอย่างมาแชร์กันด้วย” คุณพอใจเล่า

📍ตั้งคำถามกับนิยามของพิพิธภัณฑ์

ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ ตอบคำถามเกี่ยวกับที่มาและแนวคิดในการทำงานกับพิพิธภัณฑ์ว่า “ปัจจุบันคำว่าพิพิธภัณฑ์หรือ Museum มันมีความท้าทายอยู่มากทั่วโลก โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ที่จัดเก็บรักษางานมาจากสมัยล่าอาณานิคม ที่ไปกวาดมาไปตัดมา เอามาแสดงถึงอำนาจ อิทธิพลของการครอบงำ แต่เรามองว่าการเอาวัตถุต่าง ๆ จากคลังกลางของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมาร่วมจัดแสดงในงานนี้ คือการที่เรากำลังพูดถึงความหมายที่เปลี่ยนไปของงานชิ้นหนึ่ง

“ดินธรรมดาก็เป็นแค่วัสดุ ปั้นขึ้นมาเป็นเทวรูป เป็นพระ แล้วก็ทำพิธีกรรมเปิดเนตร ความหมายของงานก็เปลี่ยนไปแล้ว ไปอยู่ในวัดวาให้คนมากราบไหว้บูชา แล้ววันหนึ่งคนมาตัดเศียร เอาไปอยู่ในที่ที่มีคนซื้อ ไปอยู่ในบ้านคน วันดีคืนดีก็เอาไปประมูล ไปบริจาคก็ได้ความสำคัญของตัวเองอีก ชีวิตของงานศิลปะมันวนกลับมา ในการนำงานศิลปะไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์และเอางานจากพิพิธภัณฑ์มาจัดแสดง เราก็กำลังตั้งคำถามแบบนี้ต่องานพิพิธภัณฑ์เหมือนกัน

“เราเอาโยเซฟ บอยส์ (Joseph Beuys) มาแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กับงานโบราณวัตถุ มาอยู่กับงานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยบ้านเชียง เพราะงานของเขาพูดถึงเรื่องของกวาง พูดถึงเรื่องของสัตว์โบราณ พอมาจัดอยู่ในบริบทของโบราณวัตถุก็เป็นการสร้างบทสนทนาบางอย่างเหมือนกัน”