จุฬญาณนนท์ ศิริผล คือศิลปินและคนทำหนังที่เป็นที่รู้จักจากการรับบทบาทแสดงเป็นคุณหญิงกีรติจากนิยายเรื่อง ‘ข้างหลังภาพ’ ที่เขานำมาใช้วิพากษ์บทบาทของชนชั้นคุณหญิงในประวัติศาสตร์สังคมไทยช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองกับผลงานชุด ‘Forget Me Not’ ที่ และบทบาทอังศุมาลิน ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากนิยาย ‘คู่กรรม’ และความนิยมในวัฒนธรรมแบบไอดอล - เกิร์ลกรุ๊ป (Girl group) ซึ่งเขาใช้ร่างกายของตัวเองตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ และรื้อสร้างการแพร่กระจายของความคิดและวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่นไปทั่วโลกในผลงานชุด ‘ANG48’

จุฬญาณนนท์ ศิริผล คือศิลปินและคนทำหนังที่เป็นที่รู้จักจากการรับบทบาทแสดงเป็นคุณหญิงกีรติจากนิยายเรื่อง ‘ข้างหลังภาพ’ ที่เขานำมาใช้วิพากษ์บทบาทของชนชั้นคุณหญิงในประวัติศาสตร์สังคมไทยช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองกับผลงานชุด ‘Forget Me Not’ ที่ และบทบาทอังศุมาลิน ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากนิยาย ‘คู่กรรม’ และความนิยมในวัฒนธรรมแบบไอดอล - เกิร์ลกรุ๊ป (Girl group) ซึ่งเขาใช้ร่างกายของตัวเองตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ และรื้อสร้างการแพร่กระจายของความคิดและวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่นไปทั่วโลกในผลงานชุด ‘ANG48’

จุฬญาณนนท์ ศิริผล ถอนรากระบบนิเวศศิลปะไทย กับแบบร่างอนุสาวรีย์จากโศกนาฏกรรมชีวิตเจ้าหอยทากทอง

ยุคทองของศิลปะไทยได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว! …หรือเปล่านะ? ก็ตอนนี้เรามีหน่วยงานรัฐมาพัฒนาวงการศิลปะกันเป็นรูปเป็นร่างมากมายแล้ว ทั้งสำนักงานที่เป็นแม่งานจัดเทศกาลศิลปะ ‘ร่วมสมัย’ ‘นานาชาติ’ จนทำให้ชาวต่างชาติเดินทางมาไทยมากมาย แล้วเรากำลังจะมีอีกสำนักงาน จะมาใช้ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ เป็นเครื่องมือพลิกโฉมเศรษฐกิจไทยให้ประเทศมีรายได้สูงอีกด้วย! …แต่ศิลปินคนหนึ่ง ยังคงเผชิญหน้ากับกระบวนการเซนเซอร์ผลงานใน ‘โครงสร้างพื้นฐานของระบบนิเวศศิลปะร่วมสมัย’ นี้ และเขาใช้มันเป็นแรงบันดาลใจ มาประดิษฐ์โมเดลต้นแบบของโครงสร้างวงการศิลปะอีกรูปแบบหนึ่ง ด้วยแรงบันดาลใจจากอนุสรณ์แห่งองค์กรสากลนิยม คอมมิวนิสต์

จุฬญาณนนท์ ศิริผล คือศิลปินและคนทำหนังที่เป็นที่รู้จักจากการรับบทบาทแสดงเป็นคุณหญิงกีรติจากนิยายเรื่อง ‘ข้างหลังภาพ’ ที่เขานำมาใช้วิพากษ์บทบาทของชนชั้นคุณหญิงในประวัติศาสตร์สังคมไทยช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองกับผลงานชุด ‘Forget Me Not’ ที่ และบทบาทอังศุมาลิน ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากนิยาย ‘คู่กรรม’ และความนิยมในวัฒนธรรมแบบไอดอล - เกิร์ลกรุ๊ป (Girl group) ซึ่งเขาใช้ร่างกายของตัวเองตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ และรื้อสร้างการแพร่กระจายของความคิดและวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่นไปทั่วโลกในผลงานชุด ‘ANG48’

ย้อนไปเมื่อปี 2561 ภาพยนตร์จัดวาง ‘กำเนิดหอยทากทอง’ ของเขาได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมเทศกาลศิลปะร่วมสมัยระดับสากล Thailand Biennale Krabi 2018 ก่อนถูก สั่งให้แก้เพราะ “อาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทย” และเมื่อศิลปินไม่แก้ ทางการจึงยกเลิกสัญญาการจัดแสดงในท้ายที่สุด

เวลาล่วงเลยมาจาก “รัฐบาลอนุรักษ์นิยม” ขณะนั้น จนถึง “รัฐบาลยุคซอฟต์พาวเวอร์” ขณะนี้ ที่ดูเหมือนศิลปะจะกลายมาเป็นเครื่องมือเปลี่ยนรายได้ของประเทศครั้งใหญ่ในขณะนี้ จุฬญาณนนท์สร้างผลงานในชื่อโครงการ ‘เรารักภูมิพลังวัฒนธรรมละมุนละม่อมนุ่มนิ่ม’ ประกอบไปด้วยเอกสาร ‘คำสั่งแบน’, แผนผังที่อธิบายดีไซน์ ‘Monument to the Fourth International’ อนุสาวรีย์ที่จัดวางโครงสร้างพื้นฐานของระบบนิเวศศิลปะร่วมสมัยในอุดมคติใหม่ และประติมากรรมต้นแบบของมัน ทั้งหมดนี้ภายใต้การสนับสนุนจากทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี มหาวิทยาลัยศิลปากร

“ยุคก่อนหน้านี้เขาก็พยายามจะขายซอฟต์พาวเวอร์ แต่ด้วยความอนุรักษ์นิยม ก็จะขายความเป็นไทยในเชิงประเพณี ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่ามันจะขายได้อยู่ไหมนะ แต่พอมายุคปัจจุบัน เขาก็อาจจะนำแพลตฟอร์มเดิมตั้งแต่สมัย ‘โอท็อป’ หรือ ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ มาใช้ ซึ่งในฐานะศิลปินหรือคนทำงานสร้างสรรค์ เราคิดว่ากระบวนการขายมันเป็นปลายทาง มันต้องสร้างอะไรออกมาก่อน ไม่ใช่หยิบเอาการสร้างสรรค์ที่ศิลปินสร้างไปขายต่อ ซึ่งเราก็ต้องมีโครงสร้างในการพัฒนาตรงนั้นด้วย แต่รัฐไทยตั้งแต่ยุคก่อนหน้าจนถึงยุคนี้อาจจะยังมองไม่เห็นตรงนี้” เขาอธิบาย

“ศิลปะควรเป็นเรื่องสาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เราเลยมองไปที่อีกฝั่งหนึ่งของทุนนิยม” ผลงานของเขาเต็มไปด้วยกลิ่นอายของอุดมคติของการทำให้ศิลปะเป็นเรื่องสาธารณะสำหรับทุกคน (ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่าทำไมถึงเป็นอุดมคติที่ฟังดูเป็นไปได้ยากนัก) อย่างไรก็ตาม “มันเป็นแค่ภาพแทนของคอมมิสต์ เหมือนภาพของ เรอเน มากริต ที่จริง ๆ มันก็คือไปป์ แต่ในงานของเขามันเป็นแค่ภาพแทนของไปป์” ศิลปินอ้างอิงแนวคิดของเรอเน มากริต ว่าด้วยความเป็นจริง จริง ๆ และงานศิลปะที่เป็นภาพแทน แต่ก็เป็นภาพแทนแบบของจริงของแท้เหมือนกัน เพราะว่าภาพของไปป์ก็เป็นภาพของไปป์จริง ๆ

ในบทสัมภาษณ์นี้ เราคุยกับเขายาว ๆ เรื่องบทบาทใหม่ในฐานะ ‘ศิลปินอาสาผู้ทำงานด้วยหัวใจ’, มุมมองของเขาต่อการตัดสินใจต่อสู้กับระบบจากภายนอก และการต่อสู้กับระบบเดิม ๆ ด้วยการเข้าไปทำงานภายในระบบเสียเอง รวมไปถึงเบื้องลึกเบื้องหลังในประสบการณ์การทำงานกับสถาบันศิลปะไทยของเขา

GC

จากเหตุการณ์คำสั่งห้ามฉายในเทศกาลศิลปะ กลายมาเป็นงานชุดนี้ได้อย่างไร มีอะไรในเบื้องหลังที่เรายังไม่รู้อีกบ้าง

จุฬญาณนนท์

ที่จริงแรงบันดาลใจสำหรับผลงานชิ้นนี้มีสองส่วน คือเหตุการณ์ที่งานศิลปะโดนแบน และกระแสเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ในช่วงที่ผ่านมา

เริ่มต้นจากมหกรรมศิลปะไทยแลนด์เบียนนาเล่เมื่อปี 2018 ผมส่งโครงการเข้าไปแล้วได้รับคัดเลือกให้ร่วมจัดแสดงด้วย ตอนนั้นผมเสนอว่าจะทำงานภาพยนตร์จัดแสดงในลักษณะเฉพาะสำหรับสถานที่ (site-specific) ที่ถ้ำแห่งหนึ่งในจังหวัดกระบี่ แต่พอทำงานออกมาแล้วคณะกรรมการงานเบียนนาเล่ในปีนั้นบอกว่าอยากให้แก้ไข แต่เราคิดในฐานะคนทำงานศิลปะว่างานมันสมบูรณ์ไปแล้ว เลยขอไม่ยอมแก้ไข แล้วพอไม่ยอมแก้ คณะกรรมการก็เลยเอาไปให้คนในพื้นที่ดู แล้วคนในพื้นที่ก็เหมือนตกลงกันว่ามันไม่สมควรฉาย เพราะมีฉากนู้ดที่อาจทำให้สังคมไม่พอใจ ส่วนศิลปินคนอื่นก็มีปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้าง เช่น เขาของานคืน แต่ว่าทางเบียนนาเล่ไม่ส่งคืนให้

ซึ่งสำหรับเรา ปัญหามันคือเรื่องสัญญาระหว่างศิลปินกับหน่วยงานรัฐ มันเป็นสัญญาจ้างทำของ แล้วก็เลยไม่ชัดเจนในเรื่องกรรมสิทธิ์ของผลงาน

สัญญามันควรจะเขียนว่าลิขสิทธิ์ในผลงานศิลปะ — ซึ่งอาจจะหมายถึงแนวความคิดของงาน — เป็นของศิลปิน แล้วก็ควรพูดถึงเรื่องสัญญาการขายว่าจะแบ่งเปอร์เซนต์กันอย่างไร ระหว่างแสดงงานและหลังจบงาน แต่สัญญาที่ทำตอนนั้นกลับไม่ใช่สัญญาสำหรับงานศิลปะ มันเหมือนการจ้างทำของมากกว่า สุดท้ายทางหน่วยงานรัฐก็เลยเป็นเจ้าของผลงานในฐานะผู้ว่าจ้าง แล้วเราเป็นแค่ลูกจ้างผลิตของให้ เขาก็เลยคิดว่าเขามีสิทธิในการปรับแก้ ซึ่งสำหรับเรามันไม่ให้เกียรติคนทำงานศิลปะ และไม่ให้เกียรติตัวงานด้วย

เราก็อยากตั้งคำถามกลับไปว่า แล้วทำไมเบียนนาเล่ถึงจะมีฉากนู้ดไม่ได้? เพราะนู้ดในงานศิลปะก็มีอยู่ทั่วไปอยู่แล้ว และการทำงานศิลปะร่วมสมัยในพื้นที่มันก็คือการสร้างบทสนทนาระหว่างคนในพื้นที่กับคนนอกหรือเปล่า? ด้วยความที่มันเป็นนานาชาติด้วย ไม่ใช่เทศกาลที่ชูความเป็นท้องถิ่น เป็นศิลปะแบบคนในพื้นที่ เราก็เลยต่อสู้มาเรื่อย ๆ

และในช่วงปีที่แล้ว ประเด็นเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ เรื่องศิลปะวัฒนธรรมต่าง ๆ เป็นที่สนใจขึ้นมา ทำให้มีการตั้งคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติขึ้นมาด้วย เลยเป็นอีกแรงบันดาลใจหนึ่งของเรา

เราเห็นว่าวิธีการการจัดการของคณะกรรมการฯ ในสาขาศิลปะ — ถ้าพูดตรง ๆ — คือมีลักษณะที่คับแคบไปหน่อย คือดึงคนในวงการมาประมาณเจ็ดคน แล้วก็สร้างนโยบายขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยที่ยังมีคนในวงการศิลปะอีกมากมายที่อยากแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายรัฐ แต่พอมันมีคนทำอยู่แค่นั้น เราก็เลยคิดว่า เราอยากช่วย (หัวเราะ)

เราอยากช่วยรับฟังความคิดเห็น เหมือนกับทำงานประชาพิจารณ์ ให้คนในวงการมามีสิทธิมีเสียงพูดมากขึ้นว่าเขาต้องการอะไรจริง ๆ ไม่ใช่ได้เป็นนโยบายมาจากแค่คนไม่กี่คน

งานนี้ก็เลยเป็นการจินตนาการว่า ถ้าโครงสร้างพื้นฐานของวงการศิลปะที่มันเข้มแข็งมากกว่านี้ งานเราก็อาจจะไม่ได้ถูกเซ็นเซอร์หรือถูกแบน เราเสนอโครงการขึ้นมาเพื่อที่จะสำรวจความคิดคนในวงการศิลปะว่ามันมีปัญหาตรงจุดไหนบ้างในเชิงโครงสร้าง

เราคิดว่าคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ฯ เขามองเรื่องมูลค่าของงานศิลปะมากกว่าคุณค่า มองแต่ว่ามันจะสร้างรายได้อย่างไรบ้าง หรือเน้นขายอย่างเดียว แต่ศิลปะร่วมสมัยมันไม่ใช่แค่การเอาไปขายได้อย่างเดียว แต่เป็นเรื่ององค์ความรู้ด้วย ถ้าไม่พูดเรื่องการสร้างองค์ความรู้แล้วจะเอาอะไรไปขาย

GroundControl

ศิลปะไทยในสายตาของรัฐ จากยุคคสช. ที่งานโดนแบน มาจนถึงยุคคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ มองเห็นความต่อเนื่องหรือความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง?

จุฬญาณนนท์

ยุคก่อนหน้านี้เขาก็พยายามจะขายซอฟต์พาวเวอร์ แต่ด้วยความอนุรักษ์นิยมก็จะขายความเป็นไทยในเชิงประเพณี ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่ามันจะขายได้อยู่ไหมนะ แต่พอมายุคปัจจุบันเขาก็อาจจะนำแพล็ตฟอร์มเดิมตั้งแต่สมัย ‘โอท็อป’ หรือ ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ มาใช้ ซึ่งในฐานะศิลปินหรือคนทำงานสร้างสรรค์ เราคิดว่าการนำมาขายมันเป็นปลายทาง มันต้องสร้างอะไรออกมาก่อน ไม่ใช่หยิบเอาการสร้างสรรค์ที่ศิลปินสร้างไปขายต่อ ซึ่งเราก็ต้องมีโครงสร้างในการพัฒนาตรงนั้นด้วย แต่รัฐไทยตั้งแต่ยุคก่อนหน้าจนถึงยุคนี้อาจจะยังมองไม่เห็นตรงนี้

GroundControl

ที่ผ่านมาคุณจะทำงานเกี่ยวกับศิลปะโดยหยิบวรรณกรรมเก่า ๆ หรือตัวละครเก่า ๆ มารื้อถอนและประกอบสร้างใหม่ เพื่อวิพากษ์แนวความคิดที่อยู่เบื้องหลัง ทำไมงานนี้ถึงมาทำเกี่ยวกับศิลปะในมิติขององค์กรหรือสถาบัน

จุฬญาณนนท์

เราใช้วรรณกรรมหรือภาพยนตร์ที่อยู่ในประวัติศาสตร์มารื้อสร้างโดยใช้ร่างกายของตัวเองเข้าไปศึกษา แล้วก็มีส่วนร่วมกับการรื้อสร้างตรงนั้นด้วย ซึ่งเรามองว่าการเป็นศิลปินที่ไปรื้อสร้างประวัติศาสตร์ศิลปะหรือภาพยนตร์ มันทำในฐานะแรงงานศิลปะคนหนึ่ง แต่พอทำมาสัก 10 ปีได้ เราก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ศิลปินแค่คนเดียวที่จะเป็นฮีโร่อยู่ในแสงไฟ แล้วมารื้อสร้างมัน แต่มันมีคนอื่น ๆ ในโครงสร้างเดียวกันนี้ที่กำลังทำงานอยู่รอบตัว เลยทำให้กลับมาสำรวจโครงสร้างของวงการศิลปะด้วย มากกว่าจะเป็นแค่การหยิบยืมวรรณกรรมหรือภาพยนตร์เรื่องไหนมา

แต่จริง ๆ มันก็มีคาแรกเตอร์ในเรื่องนี้ด้วยนะ คือเป็นศิลปินอาสา ศิลปินอาสาจะต้องทำงานด้วยหัวใจ — คือปัญหาหลายอย่างมันหาทางแก้ได้ยาก เราก็เริ่มจากตัวเราก่อน แล้วก็เสนอข้อเสนอสู่สังคม สังคมก็อาจจะตอบกลับมาเป็นทุน หรือเป็นกำลังใจ หรือเป็นความคิดเห็นอะไรบางอย่าง สำหรับทำงานต่อไป ศิลปินมันเลยกลายเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่คล้ายกับจิตอาสา คือไม่มีใครจ้าง แต่ทำงานด้วยหัวใจ เราแปลงตัวเองไปเป็นคุณหญิงกีรติ หรืออังศุมาลิน หรือตอนนี้มีอีกงานไปเป็นนักมวยชื่ออินทรีแดง เราก็ใช้ร่างกายตัวเองเพื่อไปสำรวจประวัติศาสตร์ของสื่อหรือประวัติศาสตร์ทางการเมือง ในฐานะ “แรงงานศิลปะร่วมสมัย”

GroundControl

คุณมาทำงานที่ท้าทายระบบขนาดนี้ในสถาบันที่ลงหลักปักฐานแห่งหนึ่งของไทยอย่างมหาวิทยาลัยศิลปากรได้อย่างไร

จุฬญาณนนท์

ภาพของศิลปากรสำหรับคนนอกก็อาจจะมองว่ามันมีความเป็นสถาบันที่เข้มแข็ง ทั้งในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและสุนทรียศาสตร์ที่มาจากที่นี่ แต่จากประสบการณ์ของเราที่จบภาพยนตร์มา แต่สนใจภาพยนตร์ทางเลือกมากกว่าภาพยนตร์กระแสหลัก พอมาเรียนปริญญาโทที่นี่ (ภาควิชาสื่อผสม คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) ก็คิดว่าค่อนข้างเปิดกว้างมาก ๆ แล้ว อาจจะเรียกว่ากำลังเป็นจุดเปลี่ยน ทั้งในแง่บุคลากรและสุนทรียศาสตร์

แล้วพอมาเสนอโครงการนี้ เราเล่นกับพื้นที่ของหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากรด้วยในฐานะสถาบันทางศิลปะ เพื่อพูดถึงนโยบายเกี่ยวกับศิลปะ ก็อาจจะกลายเป็น Institutional Critique หรือการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันศิลปะ โดยใช้สถาบันนั้นเองเป็นเครื่องมือในการวิจารณ์ ซึ่งมันก็เป็นความกล้าหาญประมาณหนึ่งของตัวคณะกรรมการที่คัดเลือกงานเราด้วย แต่เราก็ไม่ได้วิพากษ์โครงสร้างศิลปะไทยโดยตรงเท่านั้น เพื่อนเราจากต่างประเทศมาดูเขาก็คิดว่าอยากทำองค์กรแบบนี้ในประเทศของเขาเหมือนกัน เราก็ดีใจว่างานมันไม่ได้ยึดติดกับพื้นที่ แต่มันเชื่อมโยงผู้คนในโลกศิลปะร่วมสมัยเข้าด้วยกัน

GroundControl

ประเด็นร้อนอย่างหนึ่งสำหรับการวิพากษ์สถาบันก็คือ ทำไมต้องเข้ามาวิพากษ์ในตัวสถาบันเอง ทำไมไม่วิพากษ์จากข้างนอก การเข้ามาในระบบสถาบันจะเป็นการฟอกขาวสถาบันนั้นนั้นไหม ไม่ว่าจะเป็นสถาบันศิลปะภาครัฐหรือภาคนายทุน

จุฬญาณนนท์

เราว่ามันมีหลายวิธีที่จะแสดงออกได้ การปฏิเสธสถาบันศิลปะหลัก ๆ ไปเลยแล้วไปสร้างพื้นที่ของตัวเองก็เป็นหนทางที่กล้าหาญ แต่อาจจะต้องใช้เวลาในการต่อสู้ทั้งกับคนอื่นและการต่อสู้เพื่อให้อยู่รอดได้ด้วยตัวเอง แต่ก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะถ้ามองย้อนไปยุคก่อน พื้นที่แบบ Project 304 [พื้นที่ศิลปะทางเลือกไทยช่วงปลาย 1990s โดยกฤติยา กาวีวงศ์ ซึ่งตั้งอยู่ในห้องพักของเธอเอง] ซึ่งจัดแสดงศิลปะร่วมสมัยแบบเป็นอิสระมันก็เป็นความกล้าหาญของคนศิลปะในยุคนั้นเหมือนกัน ที่จะบอกว่าเราต้องมีสถาบันศิลปะที่เป็นอิสระ เพื่อให้ศิลปินได้นำเสนอความคิด ไม่ใช่มีแต่สถาบันศิลปะจัดตั้งของรัฐอย่างเดียว

แต่ในขณะเดียวกันเราก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์สถาบันศิลปะ โดยใช้สถาบันที่มีอำนาจอยู่แล้วเป็นเครื่องมือก็ได้ แต่ก็ต้องตระหนักรู้ ว่าอำนาจเหล่านั้นมันมีความอันตรายอยู่ แล้วเราจะบริหารจัดการความอันตรายนั้นอย่างไร

การทำงานกับสถาบันมันไม่จำเป็นต้องไปอวยเขาว่าสถาบันคุณดีมาก สุดยอด ถูกต้องตลอดเวลา แต่เราต้องสามารถบอกในสิ่งที่มันไม่ถูกต้องได้ ถึงแม้เราจะไปเข้าร่วมกับเขา

เราอาจจะมีบางอย่างที่ไม่เห็นด้วยกับสถาบันศฺลปะ แต่ว่าประเด็นที่เราพูดในงานศิลปะมันก็พูดถึงผลกระทบขององค์กรขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อคนตัวเล็กตัวน้อยก็ได้ คนอาจจะมองมันเป็นการฟอกขาวก็ได้ แต่ตัวผลงานมันก็แสดงจุดยืนของตัวเองระดับหนึ่ง

เราคิดว่าเราสามารถเข้าร่วมกับสถาบันใหญ่ ๆ ได้ แต่ว่าต้องเข้าใจตัวเองด้วยว่าเราอยู่ในสถานะแบบไหน เหมือนเป็นสายลับก็ได้มั้ง ทำงานให้องค์กรลับ

GroundControl

ศิลปินอาสา?

จุฬญาณนนท์

ใช่

GroundControl

ผมชอบงานนี้ตรงที่มันเป็นทั้งการวิจารณ์โครงสร้างวงการศิลปะที่หนักแน่น เพราะมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมให้เลยด้วย ว่าถ้าที่เป็นอยู่นี้ไม่ดีแล้วเราควรเปลี่ยนแปลงมันอย่างไร แต่ที่สงสัยก็คือ ทำไมโครงการใหม่ที่เสนอมาถึงได้มีอ้างอิงโครงการของคอมมิวนิสต์

จุฬญาณนนท์

ถ้ากลับไปที่คำว่า (นโยบาย) ซอฟต์พาวเวอร์ มันคือการมองว่าศิลปะเป็นกลไกการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมาก ๆ แต่เรามองว่าศิลปะควรเป็นเรื่องสาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เราเลยมองไปที่อีกฝั่งหนึ่งของทุนนิยม

โลกในอุดมคติแบบคอมมิวนิสต์คือการแชร์ทรัพยากรด้วยกัน เราเชื่อว่าศิลปะก็ควรเป็นรัฐสวัสดิการอย่างหนึ่งเหมือนกัน ก็เลยมองไปที่การสร้างภาพ (visual) ตามอุดมคติในช่วงเริ่มของคอมมิวนิสต์ ช่วง 1920s ที่รัสเซีย ในขบวนการเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบศิลปะแบบคอนสตรัคติวิสม์ (Constructivism) เป็นประติมากรรมของวลาดิมีร์ ทัตลิน (Vladimir Tatlin) ชื่อ Monument to the Third International ซึ่งเป็นรูปแบบเกลียวพุ่งขึ้น สื่อถึงแรงขับเคลื่อนในการปฏิวัติคอมมิวนิสต์โลก แต่มันยังไม่ถูกสร้างขึ้นจริง เป็นโลกในอุดมคติ แต่มันตั้งใจจะสร้างในเมืองแบบเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก ซึ่งโครงสร้างแต่ละชั้นของมันก็จะมีการใช้งานอยู่ เราก็เลยเอาฟังก์ชันของมันมาใช้กับงานชิ้นนี้ ตั้งชื่อว่าเป็น Monument to the Fourth International เหมือนเป็นการหยิบยืมแพลตฟอร์มของเขามาพูดถึงต่อ ว่าอีกร้อยปีถัดมาศิลปะร่วมสมัยมันจะทำงานอย่างไร

GroundControl

คอมมิวนิสต์ในงานนี้เป็นคอมมิวนิสต์แบบแอบ ๆ ไหม เอาไอเดียคอมมิวนิสต์มาใช้แต่ไม่ได้พูดตรง ๆ หรือพูดก็พูดคำว่าคอมมิวนิสต์ในภาษาฝรั่งเศส

จุฬญาณนนท์

งานนี้มันหยิบยกศิลปะหลายชิ้นเข้ามาผสมกัน คือมีอ้างอิงถึงงานของเรอเน มากริต (René Magritte) ที่เขาวาดไปป์แล้วก็บอกว่านี่ไม่ใช่ไปป์ (Ceci n'est pas une pipe) แต่เราเขียนว่านี่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ คือในแง่หนึ่งการนำเสนอประเด็นเหล่านี้ในประเทศนี้มันจะมีความสุ่มเสี่ยงนิดหนึ่งว่ามันเป็นคอมมิวนิสต์หรอ แบบที่เราก็เห็นกันกับคดีค้อนเคียว กับข้อกล่าวหาคอมมิวนิสต์อะไรเหล่านั้น คนดูก็อาจจะเห็นว่าอันนี้มันเป็นรูปแบบของคอมมิวนิสต์ แต่เราเขียนไว้ข้างล่างว่ามันไม่ใช่คอมมิวนิสต์ มันเป็นแค่ภาพแทนของคอมมิสต์ เหมือนภาพของมากริตที่จริง ๆ มันก็คือไปป์ แต่ในงานของเขามันเป็นแค่ภาพแทนของไปป์

GroundControl

ซึ่งทำให้ปัจจุบันคนเปิดรับไอเดียแบบนี้มากขึ้นไหม กับเรื่องแบบรัฐสวัสดิการ

จุฬญาณนนท์

เราคิดว่ามันเป็นกระแสโลกด้วย ว่าอุดมคติแบบคอมมิวนิสต์มันจบไปแล้วตั้งแต่ต้น 1990s แล้วหลังจากนั้นมาจนถึงปัจจุบันมันกลายเป็นนีโอคอมมิวนิสต์หรือโพสต์คอมมิวนิสต์ ที่พัฒนาต่อจากแนวคิดเดิม ไปสู่โครงสร้างทางสังคมแบบอื่น ซึ่งอาจจะไม่ได้มีการรวมอำนาจแบบเดิมแล้ว เพราะเราก็เห็นกันแล้วว่ามันมีข้อเสียอย่างไร ก็เลยคิดว่าอาจจะพอเรียกงานนี้เป็นโพสต์คอมมิวนิสต์ก็ได้

แล้วพอเราเริ่มจากงานหอยทากทอง เราก็เห็นเห็นว่ารูปแบบในงานของทัตลินมันมีความเป็นคอนสตรัคติวิสต์ซึ่งเป็นเหมือนก้นหอยที่พุ่งขึ้นฟ้า เป็นรูปทรงในอุดมคติของการก้าวไปข้างหน้าโดยไม่มีที่สิ้นสุด ก็เลยคิดว่าฟอร์มหอยทากที่โดนแบนมันพูดถึงโลกในอุดมคติไปในตัวด้วย

GroundControl

ความเป็นสากลนิยมของมันจะกลายไปเป็นจักรวรรดินิยมแบบรัสเซียหรือญี่ปุ่นสมัยก่อนไหม

จุฬญาณนนท์

เราไม่ได้รู้สึกว่าอุดมคติแบบคอมมิวนิสต์มันจะมาครอบงำ มันเหมือนเป็นทางเลือกมากกว่า เป็นตัวแบบที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ สมมุติศิลปินในพื้นที่หนึ่งหรือคนทำงานศิลปะจากต่างประเทศ อยากจะทำโครงสร้างศิลปะขึ้นมาใหม่ เราว่านี่ก็เป็นโครงสร้างที่สามารถหยิบไปประยุกต์ใช้ได้เลย ความเป็นสากลนิยมมันคือการเชื่อมโยงกันได้โดยไม่ได้มีเขตแดนมากั้น มันคือการกระจายอำนาจ มากกว่าการรวบอำนาจหรือการครอบงำแบบจักรวรรดินิยม

ผลงานชุด ‘เรารักภูมิพลังวัฒนธรรมละมุนละม่อมนุ่มนิ่ม’ จัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 23 ซึ่งประกอบไปด้วยผลงานของกรกฤช เจียรพินิจนันท์, กิตติ แสงแก้ว, จุฬญาณนนท์ ศิริผล, ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์, นวรัตน์ แววพลอยงาม, ปิยะรัศมิ์ ปิยะพงศ์วิวัฒน์, และ รุ่งเรือง สิทธิฤกษ์ นิทรรศการจัดแสดงตั้งแต่วันนี้ – 23 พฤศจิกายน 2567 เปิดให้เข้าชมในวันจันทร์ - เสาร์ เวลา 09.00 – 18.00 น. (ยกเว้นวันอาทิตย์และวันหยุดราชการ)

‘กำเนิดหอยทากทอง’ ภาพยนตร์ที่ถูกสั่งตัดและห้ามฉายของจุฬญาณนนท์ ศิริผล กำลังฉายอยู่ในโปรแกรมภาพยนตร์ 'Infringes' ที่ Bangkok Kunsthalle ตั้งแต่วันนี้ - 22 ธันวาคม 2567