Tom Go Bangkok Sequencity Photography Exhibition
นิทรรศการภาพถ่ายที่เล่าเรื่องราวของกรุงเทพฯผ่านเลนส์ของสองช่างภาพต่างอาชีพ

Tom Go Bangkok Sequencity Photography Exhibition นิทรรศการภาพถ่ายที่เล่าเรื่องราวของกรุงเทพฯผ่านเลนส์ของสองช่างภาพต่างอาชีพ

Bangkok Sequencity Photography Exhibition นิทรรศการภาพถ่ายที่เล่าเรื่องราวของกรุงเทพฯผ่านเลนส์ของสองช่างภาพต่างอาชีพ

หลังจากต้องหยุดการจัดแสดงไปเป็นเดือน ในที่สุดนิทรรศการ ‘Bangkok Sequencity Photography Exhibition’ ก็ได้ฤกษ์กลับมาเปิดให้เข้าชมกันอีกครั้งแล้ว!

GroundControl ไม่รอช้า ขอพุ่งตัวพาทุกคนไปชมงานพร้อมร่วมพูดคุยกับสองช่างภาพพระเอกของนิทรรศการอย่าง ‘คุณฮิโรทาโระ โซโนะ’ สถาปนิก ช่างภาพ และนักเขียนชาวญี่ปุ่น และ ‘คุณไมเคิล-ศิรชัช เจียรถาวร’ นักแสดงหนุ่มที่พ่วงด้วยตำแหน่งช่างภาพนิ่งประจำกองถ่าย โดยถึงแม้ทั้งคู่จะมีอาชีพแตกต่างกัน แต่ในครั้งนี้ก็มาร่วมจับมือกันออกเดินสำรวจตามซอกซอยในเมืองกรุงเทพฯที่เราหลายคนอาจมองข้าม พร้อมจับภาพบรรยากาศ อาคาร และบุคคลตามท้องถนนผ่านมุมมองที่แตกต่าง

แล้ว ‘กรุงเทพฯ’ ผ่านเลนส์ของทั้งคู่นั้นจะเป็นยังไง ไปดูการตีความและมุมมองของพวกเขาได้ที่งานนี้เลย

หลังจากปีนบันไดของอาคาร Bridge Art Space ขึ้นมาถึงชั้น 3 ในที่สุดเราก็มาถึงงานนิทรรศการ ‘Bangkok Sequencity Photography Exhibition’ นิทรรศการภาพถ่ายกรุงเทพเมืองเทพสร้างที่แม้จะมีขนาดไม่ใหญ่โตนัก แต่บรรยากาศก็อบอุ่นเป็นกันเองสุด ๆ แต่ไหน ๆ ก็ได้เจอตัวสองช่างภาพคนเก่งแล้ว เราเลยขอชวนคุยกันสักนิด

พอเราถามถึงจุดเริ่มต้นของนิทรรศการครั้งนี้ คุณฮิโระก็เลยเล่าย้อนกลับไปว่า เขาได้รู้จักกับคุณไมเคิลมา 4 ปีกว่าแล้ว และด้วยความที่ทั้งคู่มีความสนใจร่วมกันหลายอย่าง ทั้งการถ่ายภาพ ดนตรี อาหาร เลยทำให้สนิทกัน พอวันหนึ่งภรรยาของคุณฮิโระเสนอให้ลองจัดนิทรรศการภาพถ่ายดู คุณไมเคิลจึงเป็นคนแรกที่นึกถึง

“ฮิโระซังมาชวนถูกจังหวะพอดี เพราะตอนนั้นเราเพิ่งจบงานหนึ่งไปพอดี พอได้มาทำนิทรรศการนี้ เรามองว่ามันเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้คนมองเราในฐานะช่างภาพ เป็นเหมือนการตอกย้ำว่าเราจริงจังกับสิ่งนี้ เพราะส่วนใหญ่มักจะยังมองเป็นนักแสดงมากกว่า เพราะสำหรับเรา ถ้าต้องให้เลือกแค่อาชีพใดอาชีพหนึ่งก็คงเลือกอาชีพช่างภาพ” คุณไมเคิลเสริม

เชื่อว่าไม่ได้มีแค่เราคนเดียวแน่ ๆ ที่สงสัยว่าทำไมถึงต้องเป็นชื่อ ‘Bangkok Sequencity’ ทั้งสองเลยเล่าให้เราฟังว่า พอตัดสินใจจะทำนิทรรศการร่วมกัน ทั้งคู่ก็เลยมานั่งคิดคอนเซ็ปต์และหาจุดเชื่อมโยงที่มีร่วมกัน ก็เลยได้มาเป็นคีย์เวิร์ดคำว่า ‘Sequence’ ที่หมายถึงการเรียงลำดับต่อเนื่อง ซึ่งเป็นคำที่ถูกใช้เป็นปกติทั้งในสายอาชีพสถาปนิกและนักแสดง เมื่อนำมารวมกับคำว่า ‘Bangkok’ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ทั้งคู่สนใจ และคำว่า ‘City’ ที่หมายถึงความเป็นเมืองและผู้คน จึงเกิดเป็นไอเดียที่จะถ่ายทอดความเป็นเมืองกรุงเทพฯที่มีความต่อเนื่องและพิเศษในแบบของมันผ่านมุมมองที่แตกต่างกันของคนสองอาชีพนั่นเอง

แต่เมืองในประเทศไทยก็มีตั้งเยอะแยะ ทำไมทั้งคู่ถึงเลือกจะเล่าเรื่องราวของกรุงเทพฯกัน ทั้ง ๆ ที่มันก็เป็นเมืองที่เราใช้ชีวิตและคุ้นชินกันอยู่แล้ว

ในฐานะที่เป็นคนไทย คุณไมเคิลเลยขอตอบก่อน “กรุงเทพฯเป็นเมืองที่น่าสนใจมากสำหรับเรา เพราะถึงแม้เราเกิดและเติบโตวนเวียนอยู่ที่เมืองแห่งนี้ แต่ทุกวันนี้เราก็ยังค้นพบซอกมุมที่ไม่เคยเห็นมาก่อนอีกเยอะมาก มันเป็นเมืองที่ยังมีเซอร์ไพรส์และอะไรที่น่าสนใจให้ได้ตามหาอีกมาก ซึ่งถ้าเราเปรียบความหลากหลายของมันเป็นอาหาร ก็คงเป็นอาหารที่มีหลายรสชาติในจานเดียว”

คุณฮิโระขอเสริมในมุมมองชาวต่างชาติอีกนิด “นอกจากมันจะเป็นเมืองที่เราคุ้นเคยที่สุดแล้ว ในมุมมองของสถาปนิก กรุงเทพฯเป็นเมืองที่น่าสนใจมาก ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ สังคม และการวางผังเมือง มันมีความขัดแย้งขององค์ประกอบหลายอย่างมาก ซึ่งความไม่เป็นระเบียบบางอย่างหรือสเปซที่ไม่ได้ออกแบบโดยสถาปนิกตรงนี้เองก็ยิ่งทำให้เมืองมันน่าสนใจ เพราะสำหรับชาวต่างชาติแล้ว สิ่งพวกนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศอื่นแน่ ๆ มันทำให้เราสงสัยถึงที่มาและเรี่องราวเบื้องหลังของมัน ซึ่งเวลาเราถ่ายรูปก็จะสังเกตและวิเคราะห์ไปด้วย มันให้แรงบันดาลใจบางอย่างกับเรากลับไป”

เราชวนทั้งคู่คุยต่อถึงได้รู้ว่า ในนิทรรศการครั้งนี้ทั้งคู่ไม่ได้แยกกันทำงาน ต่างคนต่างถ่าย แต่ลงไปเดินสำรวจเมืองด้วยกัน เข้าไปค้นหาซอกซอยและมุมเล็กมุมน้อยที่บางครั้งเราก็มองข้ามไป แต่ถึงจะลงไปเดินสำรวจด้วยกัน แต่รูปที่ได้กลับสะท้อนสไตล์และตัวตนที่แตกต่างกันมาก

“จริง ๆ แล้วสไตล์การถ่ายรูปของเราสองคนต่างกันมาก เรามักจะโฟกัสที่สเปซ อาคาร ความเป็นเมือง ดังนั้น เราจึงใช้ความคิดและตรรกะในการถ่ายรูปเยอะ แต่ไมเคิลเขามักจะโฟกัสที่อารมณ์และความเป็นมนุษย์มากกว่า พอเราลงไปเดินถ่ายรูปกับเขาถึงเห็นว่าเขาจะไม่ถ่ายรูปเลยทันที แต่จะเดินสำรวจและรู้สึกถึงบรรยากาศรอบตัวก่อน เขาค่อนข้างใช้อารมณ์และประสาทสัมผัสในตัวเองในการถ่ายรูปมากกว่า” คุณฮิโระขยายความ

ไม่ใช่แค่คุณฮิโระที่คิดว่ารูปถ่ายของทั้งคู่มีสไตล์ที่แตกต่าง แต่คุณไมเคิลเองก็เห็นด้วยเหมือนกัน “บางครั้งเราไปที่เดียวกัน เวลาเดียวกัน แต่เทคนิคและมุมมองกลับต่างกันอย่างเห็นได้ชัด บางสถานที่เราก็ไปด้วยกันและเห็นเหมือนกัน ตัวเรามองไม่เห็นถึงความน่าสนใจของสิ่งนั้น แต่ฮิโระซังกลับเห็น ซึ่งสุดท้ายแล้ว ถึงสไตล์จะไม่เหมือนกัน แต่เรามองว่าความแตกต่างตรงนี้แหละที่จะมาช่วยสนับสนุนซึ่งกันและกันให้นิทรรศการมันน่าสนใจมากขึ้น”

คุยกันมาถึงตรงนี้แล้วเราก็น่าจะได้เห็นตัวตนและวิธีคิดของทั้งสองไปไม่น้อย เชื่อว่าน่าจะมีหลาย ๆ คนที่อยากเห็นด้านที่แปลกใหม่ของกรุงเทพฯผ่านมุมมองที่แตกต่างของทั้งคู่แน่ ๆ แต่งานนี้คงต้องรีบกันสักนิด เพราะนิทรรศการจะถูกจัดไปจนถึงวันที่ 22 มิถุนายนที่จะถึงนี้เท่านั้น งานดี ๆ แบบนี้ไม่อยากให้พลาดกันเลย ลองแวะไปเข้าเยี่ยมชมกันได้ เดินทางง่ายนิดเดียว

Bangkok Sequencity Photography Exhibition

16 - 22 มิถุนายน 2564 Bridge Art Space (เปิดให้เข้าชมวันอังคาร - อาทิตย์ 12:00-20:00)

ไม่เสียค่าเข้าชม

Facebook: Bangkok Sequencity Exhibition

Instagram: bangkok_sequencity