The Tenebrous Spiral Staircase of the —
นิทรรศการอันว่าด้วย ‘ความทรงจำของประวัติศาสตร์’ ในประเทศที่ ‘ความสมัยใหม่’ ถูกทำให้หยุดชะงัก

The Tenebrous Spiral Staircase of the — นิทรรศการอันว่าด้วย ‘ความทรงจำของประวัติศาสตร์’ ในประเทศที่ ‘ความสมัยใหม่’ ถูกทำให้หยุดชะงัก

The Tenebrous Spiral Staircase of the — นิทรรศการอันว่าด้วย ‘ความทรงจำของประวัติศาสตร์’ ในประเทศที่ ‘ความสมัยใหม่’ ถูกทำให้หยุดชะงัก

‘ยุคสมัยใหม่’ หรือ ‘Modernity’ มีความหมายครอบคลุมถึงยุคสมัยทางประวัติศาสตร์และแบบแผนทางสังคมรูปแบบหนึ่ง กล่าวได้อีกแง่หนึ่งว่า คำว่า ‘สมัยใหม่’ นั้นเป็นได้ทั้งช่วงเวลาและรูปแบบทางความคิด

ในโลกตะวันตก ยุคสมัยใหม่มักถูกปักหมุดให้เริ่มต้นในช่วงศตวรรษที่ 17-18 อันเป็นยุคที่เรียกว่า ‘ยุคเรืองปัญญา’ (Age of Enlightenment) ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือเป็นยุคที่ปัญญาชนให้ความสำคัญกับการพินิจพิเคราะห์ความจริงผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ วิเคราะห์ตริตรองผ่านตรรกะและเหตุผลมากกว่าจะยึดหลักการการที่บัญญัติไว้ในไบเบิล และเหนือสิ่งอื่นใด เป็นยุคแห่งความเชื่อในเสรีภาพและการแสดงออกของมนุษย์

ในมุมมองของ จิตติ เกษมกิจวัฒนา ยุคสมัยใหม่ของสยามประเทศเริ่มเห็นเค้าลางในช่วงเวลาเดียวกับรุ่งอรุณของยุคสมัยใหม่แห่งโลกตะวันตก รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 คือแสงแรกแห่ง ‘ยุคเรืองปัญญา’ หรือยุคสมัยใหม่ของกรุงสยาม โดยมี ‘อักษรอริยกะ’ (แปลว่า อักษรของผู้เป็นอารยชน) ที่พระองค์ทรงประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้แทนอักษรขอมซึ่งถือเป็นอักษรศักดิ์สิทธิ์ในยุคนั้น และเพื่อปฏิรูปพระพุทธศาสนา เป็นเสมือนหมุดหมายแรกที่ปักเป็นหลักประกาศความเป็นยุคสมัยใหม่ในสยามประเทศ

ช่วงเวลากว่าสามศตวรรษดำเนินไป กระแสธารแห่งยุคสมัยใหม่ควรจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้าตามกาลเวลา แต่ในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ประวัติศาสตร์แห่งความเป็นสมัยใหม่ของไทยได้หยุดชะงักลงตรงนั้น ณ พื้นที่ใต้สถานีบีทีเอสสยาม การปะทะกันระหว่างอุดมการณ์ของคนรุ่นใหม่จากโลกยุคใหม่ กับอุดมการณ์ที่จะรั้งรักษาไว้ซึ่งค่านิยมของโลกเก่า ทำให้ประวัติศาสตร์ที่ควรเดินไปข้างหน้าตามครรลองถูกฉุดรั้งไว้

และในความเป็นจริงแล้ว นี่อาจไม่ใช่การฉุดรั้งครั้งแรกที่เกิดขึ้นในสายธารความสมัยใหม่ของบ้านเรา

และการยื้อยุดฉุดกระชากระหว่างสองฝั่งของขั้วความคิดก็คือพื้นที่ว่างระหว่างความเป็นไปที่ชวนผู้ชมอย่างเราลองเข้าไปสำรวจตรวจตราและใช้ประวัติศาสตร์ในความทรงจำของตัวเองเสาะหาที่มาที่ไป สกัดออกมาเป็น ‘ความจริง’ ในความคิดของเราเอง

“พื้นที่ที่ให้ผู้ชมได้ลองตีความและถอยหลังเพื่อกลับมาดูภาพรวม” คือจุดมุ่งหมายของศิลปินใน The Tenebrous Spiral Staircase of the — นิทรรศการที่นำเสนอโครงสร้างความคิดของศิลปินผู้วางตัวเป็นผู้สังเกตการณ์และเฝ้ามองประวัติศาสตร์ อันเป็นตำแหน่งแห่งที่ที่ไม่ต่างไปจากเราทุกคน หากแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการรับชมงานครั้งที่ประกอบไปด้วยเสี้ยวส่วนความทรงจำส่วนตัวของศิลปินมากมาย จนผู้ชมอย่างเราต้องตัดสินใจก่อนจะไปชมว่า เราจะลองให้ความทรงจำและจินตนาการของเราทำงาน โดยไม่ต้องศึกษาข้อมูลก่อนไปชม หรือเราจะลองเดินตามร่องรอยความทรงจำของตัวศิลปินผู้จัดแสดงงานชุดนี้ในลักษณะฉากตอนต่าง ๆ จากประวัติศาสตร์และความทรงจำของเจ้าตัวกันดี?

การเกริ่นเช่นนั้นคือการเตือนไว้กลาย ๆ ว่า หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้วอยากไปรับชมงานด้วยการนำทางของจินตนาการและความทรงจำของตัวเอง ก็ขอให้ข้ามบทความนี้ไปเสีย แต่หากอยากลองเดินตามรอยมุมมองและความทรงจำของศิลปินดู …การอ่านบทความที่สะท้อนคำอธิบายบางส่วนจากศิลปินและการตีความของเรานั้นก็อาจเป็นอีกหนทางหนึ่งให้เลือกเดิน

และหากตัดสินใจแน่วแน่แล้ว ก็ปิดบทความนี้ไปเสีย หรือไม่ก็คลิกหน้าถัดไปเพื่อร่วมเดินทางไปกับเราได้เลย

ความจริงที่เป็นจริงเพียงชั่วเวลาหนึ่ง

ชื่องาน The Tenebrous Spiral Staircase of the — มาจากช่วงเวลาที่ จิตติ เกษมกิจวัฒนา เริ่มสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นสมัยใหม่ในประเทศไทยและการทำงานศิลปะในแง่ของกระบวนการการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น จิตติได้ยินข้อเสนอของนักวิทยาศาสตร์ผู้หนึ่งที่นำเสนอว่า จักรวาลมีที่สิ้นสุด และไม่เพียงเท่านั้น จักรวาลยังมีโครงสร้างเป็นชั้น ๆ ซ้อนกัน 12 ชั้นดังที่นักปรัชญาโบราณชาวกรีกอย่าง เพลโต เคยเสนอไว้

การย้อนกลับไปสำรวจช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์ของจิตติกับการย้อนกลับไปยกโครงสร้างจักรวาลแบบเพลโตของนักวิทยาศาสตร์ผู้นั้นจึงมีความซ้อนทับและเกี่ยวโยงกันในแง่ที่ว่า จิตติกำลังกลับไปศึกษาชุดความจริงหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ขณะที่โครงสร้างจักรวาลที่เคยเป็น ‘ความจริง’ ในช่วงเวลาของเพลโตก็ถูกนำกลับมาศึกษาอีกครั้ง นำมาสู่การตั้งคำถามว่า ‘ความจริง’ นั้นเป็นความจริงเพราะบริบทในช่วงเวลาของมัน ความจริงในยุคก่อนอาจเป็นความไม่จริงในยุคนี้ และเช่นกันความจริงในยุคนี้ก็อาจเป็นความลวงในยุคต่อไป สถานะของความจริงที่ขึ้นอยู่กับบริบทรอบข้างจึงกลายเป็นดังแก่นหลักที่ใช้ในการเชื่อมโยงงานทั้งหมดในนิทรรศการครั้งนี้

สมัยใหม่ที่หยุดชะงัก

เมื่อเดินเข้ามาในนิทรรศการ ผลงานชิ้นแรกที่เราจะได้พบก็คืองานสีอะคริลิคบนกระดาษชิ้นนี้และตัวอักษรที่ระบุถึงวันที่ 16 ตุลาคม 2020 พร้อมด้วยพิกัดซึ่งเป็นโลเกชั่นของสถานี BTS สยาม วันที่และสถานที่ที่ถูกเพนต์ด้วยสีขาบไทยโทน อันเป็นสีที่รัชกาลที่ 6 กำหนดให้ใช้เป็นสีแทนกษัตริย์ในธงไตรรงค์เป็นสัญลักษณ์สะท้อนถึงการหยุดชะงักลงของภาวะสมัยใหม่หรือ Modernity ของไทย เหตุการณ์สลายการชุมนุมใต้สถานี BTS สยาม คือสัญญาณแสดงว่า ฝ่ายอำนาจปฏิเสธการเจรจา และนั่นก็คือวันที่ความเป็นสมัยใหม่ของไทยถูกทำลายลง

สีฟ้าแสดงเส้นสายอันขยักหักเลี้ยวนั้นคือแผนที่แม่น้ำเจ้าพระยาที่วาดขึ้นโดยชาวตะวันตกในสมัยอยุธยา … ‘สีน้ำไหล’ คือชื่อของสีฟ้าที่ถูกใช้ในการวาดแผนที่แม่น้ำนี้ขึ้นมาใหม่ ยิ่งชวนให้ผู้ชมนึกถึงสภาวะการ ‘หยุดชะงัก’ ของสายธารแห่งประวัติศาสตร์ที่ถูกหยุดไว้ ณ วันนั้นที่ใต้บีทีเอสสยาม

เทวทูตแห่งประวัติศาสตร์จากความทรงจำของผู้เฝ้ามอง

“ผมได้เข้าไปดูการแสดงของเขาที่หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงปลายยุค 80 และจดจำใบหน้าของศิลปินคู่นี้มาตลอด เป็นภาพจำเกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัยของผม ศิลปินจะทาหน้าสีขาว และเขียนตาอีกสองคู่ที่หน้าผากด้วยสีดำ สำหรับผมแล้ว ผลงานชิ้นนี้คือเทวทูตแห่งประวัติศาสตร์ที่ไร้ปีกและไร้ร่างกาย เป็นเหมือนภูตผีที่ปรากฏขึ้น เฝ้ามองไปที่งานในนิทรรศการ”

ท่ามกลางชิ้นงานที่บอกเล่าเรื่องราวซึ่งเราอาจเรียกได้ว่าเป็น ‘ประวัติศาสตร์กระแสหลัก’ ศิลปินทำการ ‘ก่อกวน’ (disrupt) พื้นที่นั้นด้วยการใส่ร่องรอยของความทรงจำส่วนตัวลงไป คำอธิบายของศิลปินที่ว่าเทวทูตองค์นี้เป็นดังภูตผีทำให้เรานึกถึงตำแหน่งแห่งที่ของปัจเจกชนในกระแสธารของประวัติศาสตร์กระแสหลัก …เราทุกคนล้วนเป็นดังภูตผีไร้ตัวตนที่จ้องมองการเกิดขึ้นของสิ่งต่าง ๆ ในสังคมอย่างเงียบงัน ดวงตาที่เบิกกว้างและมากล้นเกินปกตินั้นคือการเน้นย้ำสถานะของเราในฐานะ ‘ผู้จ้องมอง’ ที่ไร้อำนาจในการจะทำหรือเปลี่ยนแปลงใด ๆ

หากแต่การจ้องมองนั้นกลับนำไปสู่การจดจำ และการจดจำเพื่อสร้างความทรงจำหรือประวัติศาสตร์ในรูปแบบของเราเองนั้นก็อาจเป็นวิธีการ ‘ขบถ’ อย่างหนึ่งที่ประชาชนอย่างเราพอจะพึงกระทำได้

ก่อตัวหรือล่มสลาย

The Raft of the Medusa (1818-19) คือผลงานจิตรกรรมที่ได้ชื่อว่าเป็นตัวแทนแห่งยุคจินตนิยมฝรั่งเศส (French Romanticism) ของมาสเตอร์คนสำคัญของฝรั่งเศสอย่าง ทีโอเดอร์ เกอริโก เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 1816 อันส่งผลให้ลูกเรือ 147 คนต้องเอาชีวิตรอดบนแพที่ทำมาจากซากเรือ จนสุดท้ายแล้วมีผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์นี้เพียง 15 คนเท่านั้น แต่สิ่งที่ทำให้สังคมฝรั่งเศสแตกตื่นเป็นอย่างมากก็คือการค้นพบว่าลูกเรือที่รอดชีวิตนั้นต่างต้องกินซากศพของเพื่อนร่วมแพเป็นอาหารประทังชีวิต ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็กลายเป็นเรื่องสะเทือนขวัญและสั่นคลอนศีลธรรมของผู้คนเป็นอย่างมาก

The Raft of the Medusa ได้กลายเป็นผลงานที่เป็นรากฐานของศิลปะโรแมนติกในฝรั่งเศส และผลงานชิ้นนี้ก็ส่งอิทธิพลต่อศิลปินฝรั่งเศสยุคหลัง ๆ อย่างมาก

แล้วผ้าใบสีขาวที่ถูกขึงไว้ด้วยสลิงสามเส้นนี้เกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงอย่างไรกับภาพวาดขึ้นหิ้งของฝรั่งเศสชิ้นนี้?

นอกจากการเป็นภาพวาดที่นำเสนอความขัดแย้งทางศีลธรรมในสังคมแล้ว อีกแง่หนึ่ง The Raft of the Medusa ยังเป็นภาพสะท้อนช่วงรอยต่อในประวัติศาสตร์ระหว่างหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสจนถึงช่วงเวลาที่ราชวงศ์ฝรั่งเศสพยายามกลับมาเรืองอำนาจอีกครั้ง ภาพความกระเสือกกระสนเพื่อเอาตัวรอด และการเกาะเกี่ยวแพที่กำลังจะผุพังนั้นจึงสอดคล้องและซ้อนทับกับบรรยากาศที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างน่าประหลาด ผ้าใบสีขาวที่ศิลปินตั้งใจทำให้มีขนาดเท่ากับภาพวาดตัวจริงของ The Raft of the Medusa จึงสะท้อนเค้าโครงของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ครั้งอดีตจากอีกฟากโลกที่กำลังคล้ายกับว่าจะก่อตัวขึ้นไม่ใกล้ไม่ไกลเรานี้ สลิงที่ดึงผืนผ้าใบให้เกิดเป็นรูปรอยการก่อตัวของบางสิ่งไม่เพียงชวนให้นึกถึงเค้าโครงของผ้าใบเรือ แต่ยังทำให้เราจินตนาการพร้อมตั้งคำถามต่อว่า รูปทรงตรงหน้านี้แสดงเค้าโครงของการก่อตัว หรือมันกำลังจะล่มสลายลงกันแน่? สีขาวของผ้าใบที่ถูกทิ้งไว้ ปราศจากร่องรอยของฝีแปรงหรือสีสัน ก็ราวกับจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้ชมได้ลองจินตนาการถึงเรื่องราวในภายภาคหน้าที่กำลังจะเกิดขึ้น และจะถูกบันทึกไว้เป็นภาพประวัติศาสตร์ต่อไป

ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว (?)

ถัดมาจากพื้นที่จัดแสดงหลักที่เต็มไปด้วยหลักฐานของเสี้ยวส่วนประวัติศาสตร์และความทรงจำของศิลปิน ห้องสีเขียวเจิดจ้าที่ตรงกลางคือเสื้อโคตที่ดูราวกับเป็นร่างของคนกำลังลอยละล่องอยู่ในอากาศ คือพื้นที่ที่คล้ายกับกำลังเชื้อชวนให้ผู้ชมได้เข้ามาลองเติมแต่งจินตนาการและประวัติศาสตร์จากความทรงจำของตัวเอง

เสื้อคลุมสีดำที่ถูกแขวนไว้กลางห้องนั้นชวนให้ผู้ชมลองนึกถึงจินตนาการความเป็นไปได้ต่าง ๆ จากความทรงจำของตัวเอง เราจะเปิดโอกาสให้ความทรงจำของเราเองสร้างจินตนาการถึงสิ่งที่น่าจะเป็นเสื้อคลุมนั้น หรือจะลองมองจากความทรงจำของศิลปินที่แขวนเสื้อคลุมนี้ไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงการมาถึงของเทวทูตจากประวัติศาสตร์ในหนังเรื่อง Farway, So Close! (1993) ของผู้กำกับ วิม เวนเดอร์ส ก็ได้

ในขณะที่เทวทูตของเวนเดอร์สจาก Farway, So Close! คือเทวทูตผู้เฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของกรุงเบอร์ลินในยุคหลังที่กำแพงเบอร์ลินได้ถูกทลายลง เทวทูตที่ถูกรายล้อมด้วยกำแพงสีเขียวในห้องจัดแสดงเล็ก ๆ นี้กลับให้ความรู้สึกเหมือนกำลังเฝ้ามองบางอย่างที่ ‘กำลังจะ’ ถูกสร้างขึ้น ศิลปินอธิบายอย่างตรงไปตรงมาว่าสีเขียวที่เห็นในห้องนี้ก็คือตัวแทนของฉากกรีนสกรีนอย่างที่เราคุ้นเคยกันดี เทวทูตที่ลงมาเพื่อเป็นสักขีพยานของสิ่งที่จะถูกเติมลงไปบนพื้นที่กรีนสกรีนนี้จึงชวนให้เรานึกถึงความจริงในยุคสมัยปัจจุบันที่ถูกสร้างขึ้นด้วยอำนาจของสื่อและเทคโนโลยี ความจริงในยุคสมัยของเราดูจะเป็นความจริงที่ไม่จีรังและถูกสร้างขึ้นมาด้วยน้ำมือของผู้กุมอำนาจสื่อ คำถามที่เราต้องถามกันต่อไปก็คือ ความจริงในปัจจุบันนั้นตัดสินด้วยสิ่งใด? ความจริงในวันนี้จะเป็นความจริงในวันพรุ่งนี้หรือไม่? และเทวทูตผู้เฝ้ามองความเป็นจริงผู้นั้นคือใคร? หรือภายใต้เสื้อโคตนั้นก็คือเราเองนั่นล่ะผู้รับหน้าที่เฝ้ามองความเป็นไปของประวัติศาสตร์โดยไม่สามารถทำอะไรได้

ประวัติศาสตร์สะท้อนอนาคต

ในนิทรรศการนี้ยังมีผลงานอีกหนึ่งชิ้นที่เชื่อมโยงถึงรุ่งอรุณของความสมัยใหม่ (Modernity) ในประวัติศาสตร์ไทย นั่นก็คือผลงานที่นำเสนอตัวอักษรอริยกะที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยรัชกาลที่ 4 อันเป็นหลักฐานที่สะท้อนถึงความพยายามของพระองค์ในการที่จะ ‘ปฏิรูป’ คณะสงฆ์และการศึกษาพระพุทธศาสนาในสยามประเทศ

‘ปฏิรูป’ คือคำที่ศิลปินใช้อักษรอริยกะมาถ่ายทอด เพื่อชวนให้ผู้ชมหวนนึกถึงความผันผวนของยุคสมัยใหม่ในสยามประเทศ เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ณ ขณะนี้ และหนทางที่ทอดยาวต่อไปในกาลเวลาข้างหน้า สำหรับเราแล้ว ผลงาน ‘‘ปฏิรูป’ ในอักษรอริยกะจึงเป็นเหมือนชิ้นงานที่เชื่อมโยงงานทั้งหมดในนิทรรศการครั้งนี้เข้าด้วยกัน …กระจกวงกลมที่สะท้อนภาพผืนผ้าใบในเค้าโครงของภาพ The Raft of Medusa นั้นเป็นดังการชวนเรามองไปยังอนาคตข้างหน้าโดยมีคำว่า ‘ปฏิรูป’ ถูกทดไว้อยู่ในใจ …เรากำลังจะล่มสลาย หรือกำลังจะก่อร่างสร้างสิ่งใหม่ คำตอบอาจขึ้นอยู่กับคำว่า ‘ปฏิรูป’ นี้

นิทรรศการ The Tenebrous Spiral Staircase of the —

จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ - 6 พฤศจิกายน 2564 ที่ Gallery VER ซ.นราธิวาสราชนครินทร์ 22

วันพุธ - อาทิตย์ เวลา 12:00 - 18:00 น.