สถาปัตยกรรม 6 ตุลา
สถาปัตย์ฯ ในยุคแห่งความหวัง ก่อนวันฟ้าสาง

สถาปัตยกรรม 6 ตุลา สถาปัตย์ฯ ในยุคแห่งความหวัง ก่อนวันฟ้าสาง

สถาปัตยกรรม 6 ตุลา สถาปัตย์ฯ ในยุคแห่งความหวัง ก่อนวันฟ้าสาง

“ตื่นเถิดเสรีชน อย่ายอมทนก้มหน้าฝืน หอกดาบกระบอกปืน หรือทนคลื่นกระแสเรา"

สี่วรรคแรกของบทกวี ‘ตื่นเถิดเสรีชน’ โดย รวี โดมพระจันทร์ ที่เผยแพร่เพียงหนึ่งปีก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ไม่เพียงเป็นบทขับขานอมตะที่ยังสะท้อนเสียงก้องจนถึงทุกวันนี้ แต่สี่วรรคสั้น ๆ นี้ยังพาจิตวิญญาณของเสรีชนทุกคนย้อนกลับไปในวันที่อุดมการณ์แห่งเสรีภาพและพลังของประชาชนเบ่งบานเจิดจรัส ชาวนาและปัญญาชนจับมือกันต่อสู้กับนายทุนและทรราชผู้นำความอยุติธรรม …ในคืนวันที่พวกเขาต่างคิดว่า ชัยชนะของพวกเขาเหล่าประชาชนที่แลกมาด้วยชีวิตของวีรชนในวันนั้นจะอยู่ยั้งยืนยงไปตลอดกาล

บรรยากาศของอุดมการณ์ที่บานสะพรั่งนั้นยังคงทอดยาวต่อไปจนถึงยามฟ้าสางของวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ชัยชนะของประชาชนสิ้นสุดลงตรงนั้น ณ พื้นที่บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และรอบขอบสนามหลวง พร้อมกับความฝันถึงชีวิตที่ดีกว่าที่กลับมอดไหม้ลงพร้อมกับแสงแห่งชีวิตของวีรชนที่ถูกทำให้ดับมอดลงในวันนั้น

45 ปีต่อมาภายใต้เงาของเหตุการณ์บาดแผลที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาและ ‘แทบ’ จะถูกห้ามไม่ให้พูดถึง เยาวชนของประเทศแห่งความทรงจำที่ลืมไม่ได้ จำไม่ลงนี้ ไม่เคยถูกสอนให้มีศรัทธาในความฝัน ไม่มีความสามารถที่จะตั้งความหวังถึงชีวิตที่ดีกว่านี้ และไม่เคยถูกสอนให้รู้จักพลังแห่งวัยเยาว์ที่ซ่อนอยู่ในตัวเราซึ่งเป็นสิ่งที่ ‘พวกเขา’ กลัวจับใจ ราวกับว่าแสงของอุดมการณ์ที่ถูกดับลงในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นั้นถูกมือในเงามืดดับทิ้งไปตลอดกาล และไม่อาจจุดติดได้อีก

…กระทั่งวันนี้ ที่คนรุ่นใหม่กำลังเรียนรู้การใช้อาวุธที่เรียกว่า ‘อุดมการณ์’ และ ‘ความศรัทธา’ โดยไม่ต้องพึ่งพาพวกเขา เมื่อเหล่าเยาวชนคนรุ่นใหม่กำลังจุดไฟแห่งความหวังที่ถูกพวกเขาดับทิ้งครั้งแล้วครั้งเล่าตลอด 45 ปีที่ผ่านมา วันนี้คนรุ่นใหม่กำลังกลับไปสานต่อภารกิจเพื่อชีวิตและอนาคตที่ดีกว่าที่วีรชนและคนรักความก้าวหน้ารุ่นก่อน ๆ ได้ทิ้งไว้

"วันนี้โลกนี้เป็นของเธอ และเธอก็จะส่งต่อโลกนี้ให้ลูกหลานของเธอต่อไป โลกที่เธอใฝ่ฝันในวันนี้สวยงามกว่าโลกที่ฉันเคยฝันถึงมาก่อน...คนแต่ละรุ่นย่อมมีความฝัน ไม่มีใครฝันแทนกันได้...ขอจงเดินทางสู่ฝันของเธออย่างมีความสุข...และระหว่างเดินทางไปสู่ดวงดาว ขอเธออย่าละเลยดื่มด่ำความงดงามของแสงดาว...รักและยืนเคียงกันเสมอ"

คือสารแห่งความหวังจาก ‘คนรุ่นฟ้าสาง’ คนหนึ่งถึงคนรุ่นฟ้าใหม่

ก่อนที่แสงแห่งความหวังจะถูกดับลงในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม จนส่งผลให้แม้กระทั่งเรารู้สึกราวกับว่า เราไม่เคยมีความฝัน และไม่สามารถฝันกันได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนรุ่นก่อนหน้าเรามากมายต่างฝัน และฝันของเขาคือการให้พวกเราเหล่าคนรุ่นหลานได้มีชีวิตที่ดีกว่าพวกเขา พวกเราถูกสร้างขึ้นมาจากความศรัทธาถึงชีวิตในโลกยุคใหม่ที่ดีกว่าโลกที่พวกเขาเคยอยู่ สิ่งก่อสร้างมากมายที่เราเห็นเป็นฉากหลังในภาพความโหดร้ายของเช้าวันนั้น คือหลักฐานสะท้อนความหวังของคนรุ่นเก่าก่อนที่คาดหวังถึงชีวิตที่ดีกว่าสำหรับลูกหลานของพวกเขา อิฐแต่ละก้อนสื่อความหมายถึงชีวิตแห่งเสรีภาพ เสาเข็มที่ตอกลงไปคือความเชื่อว่าที่แห่งนี้จะเป็นที่แห่งความผาสุก ไม่ว่าจะในยุคสมัยใด กระแสสำนึกแบบไหน มนุษย์บนผืนแผ่นดินนี้ต่างเฝ้าฝันถึงชีวิตที่ดี …ไม่ใช่ภาพความป่าเถื่อนอย่างที่เกิดขึ้นในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แน่นอน

เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ #5ตุลาตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง โครงการจาก บันทึก 6 ตุลา - Documentation of Oct 6 ที่อยากชวนทุกคนย้อนกลับไปพินิจรายละเอียดที่ประกอบสร้างเป็นความหวังอันโชติช่วงของคนเดือนตุลา ทั้งนักศึกษา แรงงาน เกษตรกร ฯลฯ ที่ทำให้พวกเขากล้าหวังถึงชีวิตและสังคมที่เจริญก้าวหน้าและเท่าเทียม GroundControl จึงจะขอพาทุกคนย้อนกลับไปดูความหมายและความหวังที่ซ่อนอยู่ในสิ่งก่อสร้างที่ปรากฏในภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เพื่อย้ำเตือนใจว่า แม้ครั้งหนึ่งที่นั่นจะเป็นสถานที่ที่อุดมการณ์และความหวังถูกดับแสง แต่เป้าหมายของสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นล้วนสร้างมาจากความหวังของคนไทยที่อยากจะมีชีวิตที่ดีกว่าทั้งสิ้น

ตึกบัญชี ม.ธรรมศาสตร์

‘สถาปนิกยุคโมเดิร์นผู้ถูกลืม’ และ ‘สถาปนิกเถื่อน’ คือสมญานามที่เป็นที่รู้จักกันของ อาจารย์อมร ศรีวงศ์ (2471 - 2555) ในหมู่แวดวงผู้สนใจประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทย แม้ว่าจะมีผลงานเป็นบรรดาอาคารเรียนที่กระจายตัวอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ แต่ชื่อของอาจารย์อมรก็ค่อย ๆ เลือนหายไปจากความทรงจำของสังคม เมื่อถึงช่วงหนึ่งที่มีการออกกฎหมายว่าผู้ที่จะทำการออกแบบอาคารสิ่งก่อสร้างจะต้องมีใบประกอบวิชาชีพสถาปนิกเท่านั้น อาจารย์อมรผู้เป็นสถาปนิกที่ไม่เคยเข้ารับการศึกษาในคณะสถาปัตยกรรมที่ไหน แต่อาศัยความสนใจและการเรียนรู้จากการลงไปทำงานก่อสร้างแบกอิฐถือปูนด้วยตนเอง ก็มีอันต้องวางมือจากงานออกแบบสถาปัตยกรรมไปในที่สุด

เอกลักษณ์ในงานออกแบบของอาจารย์อมรก็คือการยึดแนวคิดของความมีเหตุผล โดยปล่อยให้รูปทรงหรือองค์ประกอบทางกายภาพของสถาปัตยกรรมนั้นทำหน้าที่ของมัน และมีความใส่ใจในคุณภาพของการใช้งานพื้นที่ตามพฤติกรรมของผู้ใช้งานจริง โดยอาจารย์อมรเริ่มเข้ามามีส่วนสำคัญในการออกแบบอาคารในสถาบันอุดมศึกษาและสถานที่ราชการในยุคการประกาศใช้นโยบายการ ‘พัฒนา’ ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นช่วงของการขยายตัวทางการศึกษาขนานใหญ่ในประเทศไทย มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลกเข้ามาให้คำปรึกษาเพื่อจัดทำแผนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และได้ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับแรกเมื่อ พ.ศ. 2504-2509 แล้ว และมีการผลักดันแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2503 ขึ้นใช้เป็นครั้งแรก รวมถึงการตั้งเป้าหมายเพื่อผลิตบัณฑิตระดับสูง เช่น แพทย์ วิศวกร และนักวิทยาศาสตร์แขนงต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ

รูปแบบสถาปัตยกรรมที่อาจารย์อมรนิยมใช้ในยุคนั้นยังสอดคล้องกับกระแสสถาปัตยกรรมโลกที่นิยมสไตล์โมเดิร์น ซึ่งถือเป็นความ ‘ล้ำ’ จากมาตรฐานการสร้างมหาวิทยาลัยไทย งานออกแบบของอาจารย์อมรเป็นการก้าวข้ามจารีตและรูปแบบ (Form) ของสถาปัตยกรรมไทยก่อนหน้านี้ที่ยึดติดกับการประดับประดาเพื่อแสดงออกถึงความชั้นสูง และเน้นประโยชน์ใช้สอยเป็นสำคัญ

หนึ่งในผลงานโดดเด่นของของอาจารย์อมรก็คือ อาคารเรียนคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือที่ในเวลาต่อมาเรียกว่า ‘ตึกตู้ปลา’ โดยได้แรงบันดาลใจในการออกแบบโครงสร้างมาจาก ‘ชะลอม’ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของอาจารย์อมรที่จะให้อาคารแห่งนี้มีความแข็งแรง ยืดหยุ่นสูง แต่ละส่วนจะยึดเชื่อมกันเป็นตาข่าย หากส่วนใดส่วนหนึ่งเสียหาย โครงสร้างส่วนอื่น ๆ ก็ยังคงรักษาตัวอาคารให้ดำรงอยู่ได้ โดยอาจารย์อมรมองว่า ธรรมศาสตร์มักเป็นสถานที่ที่เกิดกิจกรรมทางการเมือง ทำให้ธรรมศาสตร์เป็นเป้าโจมตีด้วยอาวุธสงครามของกองทัพจากภายนอกมหาวิทยาลัย โครงสร้างของอาคารจึงเป็นเหมือนกำแพงที่มีความแข็งแรง สามารถปกป้องผู้คนภายในได้ โดยอาจารย์เคยพูดทีเล่นทีจริงว่า ตั้งใจออกแบบอาคารแห่งนี้มาเพื่อกันลูกระเบิดและกระสุนปืน โดยไม่ได้คาดคิดว่าฟังก์ชั่นนี้จะได้ใช้จริง ๆ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ศาลพระแม่ธรณีบีบมวยผม

“จากคำบอกเล่าของคนในเหตุการณ์บอกว่าการเผามีขึ้นที่ หน้าศาลอาญา, หน้าแม่พระธรณีบีบมวยผม, ระหว่างธรรมศาสตร์และสนามหลวง แต่เราจะเห็นแค่ภาพที่หน้าแม่พระธรณีบีบมวยผม เพียงจุดเดียว”

ที่ริมคลองหลอดข้างอาคารศาลฎีกาจะพบกับอนุสาวรีย์แห่งหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่าศาลพระแม่ธรณีบีบมวยผม หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า อุทกทาน ชื่อนี้อาจไม่คุ้นหูคนปัจจุบัน แต่มีความเกี่ยวพันกับประวัติที่มาของสิ่งก่อสร้างแห่งนี้ และที่มาที่ไปและจุดประสงค์ในการสร้างสิ่งนี้ช่างขัดแย้งกับการเป็นสถานที่ซึ่งถูกใช้เป็นจุดเผาร่างไร้ชีวิตของวีรชนผู้เสียชีวิตในวันที่ 6 ตุลา ยิ่งนัก

ในปี พ.ศ. 2460 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินี (พระมารดาของรัชกาลที่ 6) ได้โปรดให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ดำเนินการก่อสร้างอนุสาวรีย์รูปพระแม่ธณีบีบมวยผมนี้ขึ้น โดยประสงค์จะให้เป็นแหล่งแจกจ่ายน้ำประปาสาธารณะ ตัวรูปพระแม่ธรณีกล่าวกันว่าเป็นผลงานออกแบบของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และมีช่างปั้นชื่อว่า ครูเริน จากบ้านช่างหล่อ เหตุผลที่ต้องเป็นรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผมเนื้องมาจากพระราชดำริของร.6 ที่เห็นว่า นำ้คือสิ่งชำระล้างมลทินทั้งปวงมาแต่โบราณ ในพุทธประวัติ เมื่อพระพุทธเจ้าผจญมารก็ใช้น้ำจากมวยผมพระแม่ธรณีชำระล้างออกไป ซึ่งเปรียบว่าการประปานี้ก็เป็นสิ่งที่ใช้ชำระล้างโรคภัยต่าง ๆ เฉกเช่นเดียวกัน ฉะนั้นสัญลักษณ์ของการประปาจึงเป็นรูปพระแม่ธรณีจากพระราชดำรินี้ด้วยเช่นกัน

การสร้างอุทกทานนี้เป็นการรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาใช้ ดังเช่นที่มีการตั้งน้ำพุสาธารณะในยุโรป ซึ่งประวัติความเป็นมาย้อนกลับไปได้ถึงยุคกรีก-โรมัน ในช่วงเวลาที่สยามทำการปฏิรูปประเทศให้เป็นสากลจึงได้นำแนวคิดอย่างตะวันตกเข้ามาใช้โดยผสานเข้ากับคติแบบไทยๆ จนกลายเป็นอนุสาวรีย์พระแม่ธรณีบีบมวยผม แม้ว่าในแนวคิดเบื้องต้นที่แห่งนี้คือน้ำพุสาธารนะ แต่เมื่อเวลาผ่านไปสถานที่แห่งนี้กลับได้รับการเคารพกราบไหว้จากประชาชนมากกว่าการเป็นน้ำพุสาธารณะเมื่อแรกสร้าง

ความหมายของการเป็นจุดแจกจ่ายน้ำซึ่งเป็น ‘ต้นกำเนิดของชีวิต’ และความหมายของตัวพระแม่ธรณีบีบมวยผมเองที่เป็นสิ่งชำระล้างความชั่วร้าย จึงช่างขัดกันเหลือเกินกับเหตุการณ์ในอีกหลายปีต่อมาที่เกิดขึ้น ณ บริเวณนี้…

ตึกโดม

ตึกโดม หรือ ‘แม่โดม’ ของชาวธรรมศาสตร์ เป็นอาคารที่ได้รับการออกแบบโดย นายจิตรเสน (หมิว) อภัยวงศ์ โดยเริ่มจากการเชื่อมต่ออาคารทั้งสี่หลัง ซึ่งเป็นของกองพันทหารราบที่ 4 เดิมให้เข้าเป็นตึกเดียวกัน มีจุดเด่นอยู่ที่จุดเชื่อมตรงกลางระหว่างอาคารที่ 2 และ 3 ที่ได้รับ ‘บรีฟ’ จากศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ที่ต้องการจะให้เป็นสถาปัตยกรรมของอาคารแห่งนี้มีลักษณะที่โดดเด่น แต่ไม่ได้ลอกแบบมาจากชนชาติอื่น

ผลของการออกแบบจึงได้เป็นตัวหลังคาตึกโดมที่เป็นรูปทรงกรวยยอดแหลมสองชั้น โดยอธิบายกันในภายหลังว่า นำรูปแบบมาจากดินสอแปดเหลี่ยมที่เหลาจนแหลมคม เพื่อแสดงถึงภูมิปัญญาที่สูงส่งของการจัดการศึกษา นอกจากนี้ ลักษณะยอดแหลม ยังหมายถึง การบรรลุความปรารถนาสูงสุด ส่วนอาคารสองปีกด้านท่าพระจันทร์และด้านท่าพระอาทิตย์ หมายถึงการศึกษาที่แผ่ขยายวงกว้างในหมู่ราษฎร แต่อีกนัยหนึ่ง โดม ก็ให้ความหมายถึง ดินสอเขียนฟ้า ทำให้โดม มีลักษณะเป็นสัญลักษณ์เชิงอุปมาอุปไมย เปรียบประดุจดินสอ ที่ใช้จดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ลงบนท้องฟ้านั่นเอง

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่า นอกจากความหมายที่สื่อถึงดินสอแล้ว การสร้างโดมในลักษณะนี้ยังมีเค้าโครงมาจากแนวคิดของ ปรีดี พนมยงค์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และหนึ่งในคณะราษฎร ที่ได้ให้แนวคิดแก่นายหมิวในการออกแบบว่า ตึกที่จะสร้างนี้สะท้อนอุดมการณ์ของคณะราษฎร โดยเฉพาะหลักข้อที่ 5 ใน ‘หลักหกประการ’ ของคณะราษฎรที่ระบุว่า ‘จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร’

จากความคิดของนายปรีดี จึงได้นำมาสู่การออกแบบรูปทรงกรวยยอดแหลม 2 ชั้น โดยที่ฐานของทรงกรวย ออกแบบเป็นหกเหลี่ยม สื่อความหมายถึงหลักหกประการของคณะราษฎร ยอดแหลมหมายถึงการบรรลุความปรารถนาสูงสุด และอาคารปีกสองปีกด้านท่าพระจันทร์และท่าพระอาทิตย์ที่เป็นอาคารเดิมของค่ายทหาร น่าจะหมายถึงการศึกษาที่แผ่ขยายวงกว้างในหมู่ราษฎร ดังคำกล่าวรายงานของนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันเปิดตึกโดมอย่างเป็นทางการว่า “มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎรผู้สมัครแสวงหาความรู้อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา”

การเป็นสัญลักษณ์ของปัญญาและรุ่งอรุณแห่งความก้าวหน้าในความรู้ของสยามประเทศ ทำให้ชะตากรรมของแม่โดมที่ทั้งขึ้นและลง ไม่ต่างจากผู้ริเริ่มสร้างอย่าง ปรีดี พนมยงค์ ที่เคยเป็นทั้งผู้จุดประกายความรู้และความเจริญในประเทศไทย และก็เคยเป็น ‘ปีศาจทางการเมือง’ และจำเลยของสังคม จากการถูกกล่าวหาว่ามีส่วนสำคัญในกรณีสวรรคตและการเผยแพร่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ทำให้แม่โดมถูกด้อยค่าและเคยถูกรื้อปีกทั้งสองข้างลง จนกระทั่งชื่อเสียงของปรีดีได้รับการยกย่องอีกครั้ง พร้อมกับมีการตั้ง ‘อนุสรณ์สถานผู้ประศาสน์การปรีดีพนมยงค์’ ชื่อของแม่โดมจึงได้กลับมาเป็นสง่าราศีแก่ชาวธรรมศาสตร์อีกครั้ง

โรงแรมรอยัล (ปัจจุบันคือ โรงแรมรัตนโกสินทร์)

โรงแรมรัตนโกสินทร์ หรือ รอยัลรัตนโกสินทร์ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2485 ออกแบบโดย พระสาโรชรัตนนิมมานก์ ผู้ได้รับทุนเล่าเรียนหลวงจากกระทรวงธรรมการให้ไปเรียนวิชาสถาปัตยกรรมที่ประเทศอังกฤษ และเมื่อกลับมาก็ได้ฝากผลงานเป็นบรรดาอาคารสถาปัตยกรรมสไตล์ Art Deco ที่ในเวลาต่อมาได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งรุ่งอรุณของความสมัยใหม่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น อาคารที่ทำการกรมไปรษณีย์โทรเลข (อาคารไปรษณีย์กลาง) บางรัก, วังวาริชเวสม์, หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรีฑาสถานแห่งชาติ (สนามศุภชลาศัย) กลุ่มอาคารที่ทำการกระทรวงยุติธรรม รวมไปถึงอาคารเรียนหลายหลังในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โรงพยาบาลศิริราช

นอกจากนี้พระสาโรชรัตนนิมมานก์ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้วางรากฐานการศึกษาศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย และยังเป็นผู้สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือ คอร์ราโด เฟโรจี (ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี) ในการก่อตั้งสถาบันสอนศิลปะแห่งแรกในประเทศไทย นั่นก็คือ โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ของกรมศิลปากร (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยศิลปากร) โดยท่านตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาการเรียนการสอนศิลปะในประเทศไทยให้มีความทันสมัย ทัดเทียมศิลปะสากล และเพื่อสร้างงานศิลปะของไทยที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมโลก

สำหรับการออกแบบโรงแรมรัตนโกสินทร์ พระสาโรชรัตนนิมมานก์ใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบทันสมัย วางผังของอาคารให้ตีโค้งไปกับโค้งของหัวมุมถนน เน้นการใช้รูปทรงเรขาคณิตพื้นฐาน สี่เหลี่ยม และวงกลม นำมาผสมผสานกันอย่างลงตัว

จุดประสงค์ในการก่อสร้างโรงแรมแห่งนี้ก็เพื่อที่จะเป็นโรงแรม 5 ดาว ที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีความตั้งใจที่จะให้เป็นโรงแรมตัวอย่างของสยามประเทศ เป็นหน้าเป็นตาแก่คนไทย และเป็นที่พักรับรองบุคคลระดับสูงจากต่างประเทศ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการปรับภูมิทัศน์สองฝั่งถนนราชดำเนินให้เป็น ‘ชองส์-เอลิเซ่ แห่งเมืองไทย’ ซึ่งในยุคนั้นได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางความทันสมัยของกรุงปารีส และโลกตะวันตก

โรงแรมรัตนโกสินทร์เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2486 โดยมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นประธานเปิด และเมื่อเปิดทำการ ก็ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในโรงแรมที่สวยที่สุดและทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของยุคนั้น

วัดพระแก้ว

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้วสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 พร้อมๆ กับพระบรมมหาราชวังเพื่อใช้ประดิษฐานพระแก้วมรกตที่อัญเชิญมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี พระแก้วนี้นอกจากจะถือว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองแล้วยังนับถือเป็นหนึ่งในรัตนะของพระจักรพรรดิราชด้วย ด้วยคติความเชื่อและความสำคัญในฐานะแก้วมณีของพระจักรพรรดิ วัดพระแก้วจึงเป็นสถานที่สำคัญของพระราชอาณาจักรตามไปด้วย นอกจากนี้การสร้างวัดในวังหลวงเช่นนี้ยังเป็นการเลียนแบบวัดพระศรีสรรเพชญในพระราชวังหลวงสมัยอยุธยามาด้วย วัดพระแก้วจึงมีสถานะเทียบได้กับวัดประจำพระราชวัง ซึ่งรัชกาลที่ 1 ประสงค์ที่จะฟื้นคืนอยุธยาขึ้นมาอีกครั้ง ดังสำนวน “เมื่อครั้งบ้านเมืองยังดี”

รูปแบบสถาปัตยกรรมในรัชสมัยนี้ล้วนแต่สืบทอดมาจากสมัยอยุธยาตอนปลาย เช่น การสร้างพระอุโบสถเป็นศูนย์กลางของวัด มีเจดีย์ขนาดเล็กทั้งเจดีย์ทรงปรางค์และเจดีย์ทรงเครื่องซึ่งนิยมกันในสมัยอยุธยาตอนปลาย ฯลฯ นั้นจึงทำให้เห็นภาพว่าในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีความพยายามสร้างบ้านแปงเมืองให้กลับเป็นเหมือนอยุธยาอันเป็นบ้านเมืองในอุดมคติของคนสมัยนั้น วัดพระแก้วจึงเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของการรื้อฟื้นอยุธยานั้นเอง นอกจากนี้วัดพระแก้วยังเป็นที่ประดิษฐานพระเชษฐบิดรซึ่งถือว่าเป็นรูปแทนของบูรพกษัตริย์ วัดพระแก้วจึงเป็นสถานที่รวมไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ทั้งในมิติของพุทธ พราหมณ์ ผี วัดพระแก้วและองค์พระแก้วมรกตจึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านเมืองมาทุกยุคทุกสมัย จะเห็นได้ว่ากษัตริย์ทุกพระองค์จะต้องทำนุบำรุงวัดแห่งนี้มาตลอดจนถึงปัจจุบัน

สถานที่ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของปฐมบทแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นสิ่งก่อสร้างคู่แผ่นดินใหม่ที่สะท้อนความหวังถึงบ้านเมืองที่เจริญเรืองรองพ้นพาลภัย… เมื่อต้องมาปรากฏอยู่ในภาพที่ผู้คนกำลังรุมล้อมร่างไร้ชีวิตที่ถูกแขวนคออยู่บนต้นมะขาม… จึงเป็นภาพที่ขัดแย้งและชวนให้เรานึกสงสัยว่า ช่วงเวลาใดในประวัติศาสตร์บ้านเราที่เป็นสมัย ‘บ้านเมืองยังดี’

ศาลฎีกา

กลุ่มอาคารขนาดใหญ่ที่ตั้งขนานอยู่กับท้องสนามหลวงนี้ ถูกสร้างขึ้นมาในสมัยที่คณะราษฎรได้ทำการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัย สะท้อนผ่านการออกแบบด้วยงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ซึ่งออกแบบโดยพระสาโรชรัตนนิมมานก์

กลุ่มอาคารศาลฎีกาถูกสร้างขึ้นมาสืบเนื่องจากการที่ประเทศไทยได้รับเอกราชทางการศาลคืนอย่างสมบูรณ์ หลังสูญเสียไปนับตั้งแต่สนธิสัญญาเบาว์ริงสมัยร.4 ความคิดริเริ่มในการสร้างกลุ่มอาคารนี้มาจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อเป็นเกีรติแก่ประเทศชาติในขณะนั้น

“…ครั้นต่อมาในสมัยรัฐบาลปัจจุบันนี้ บ้านเมืองได้รับการปรับปรุงและทนุบำรุงให้ก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้น ประกอบด้วยประเทศไทยได้เอกราชทางการศาลสมบูรณ์แล้ว ท่านนายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ดำริเห็นสมควรที่จะให้มีที่ทำการกระทรวงและศาลใหม่ให้เป็นที่เทอดเกียรติประเทศชาติและสง่างามสมภาคภูมิกับที่เป็นที่สถิตย์แห่งความยุติธรรม…”

การออกแบบสถาปัตยกรรมหลังนี้สะท้อนแนวความคิดทางการเมืองของคณะราษฎรที่มีลักษณะต่อต้าน แข่งขัน และแย่งชิงความชอบธรรมกับกลุ่มอำนาจเก่า การเลือกใช้รูปแบบโมเดิร์นจึงสะท้อนถึงท่าทีดังกล่าวของคณะราษฎร นอกจากนี้การออกแบบให้มีเสา 6 ต้นบนทางเข้าหลักด้านหน้าของอาคารก็สะท้อนถึงหลัก 6 ประการที่คณะราษฎรได้ประกาศเอาไว้ คือ เอกราช ความปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา อาคารศาลฎีกาในสมัยคณะราษฎรจึงไม่ใช่เป็นเพียงอาคารที่ทำการของศาลยุติธรรม แต่ยังสะท้อนไปถึงแนวความคิดทางการเมืองของกลุ่มคณะราษฎรที่แฝงอยู่ในนั้น…

…และนั่นอาจเป็นเหตุผลว่าเหตุใด ศาลฎีกาที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้จึงมีรูปร่างหน้าตาที่เปลี่ยนไป ทั้งการเพิ่มหลังคาชั้นทรงไทยที่แสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ ‘ชั้นสูง’ รวมไปถึงการหายไปของเสา 6 ต้นที่ครั้งหนึ่งเคยยืนหยัดสื่อความหมายถึง เอกราช ความปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา

อ้างอิง: เปิดคลังเอกสาร อมร ศรีวงศ์ โดย พินัย สิริเกียรติกุล, บันทึก 6 ตุลา - Documentation of Oct 6, คณะราษฎร และมรดกทางสถาปัตยกรรมที่ซ่อนนัยแห่งการเมือง, เรื่องเล่า “รัตนโกสินทร์” โรงแรมคู่ประวัติศาสตร์ “พระราชพิธี-การเมือง”-, หนังสือจาก 14 ถึง 6 ตุลา, สรุปวงเสวนา ‘ความรู้และความไม่รู้ ว่าด้วย 6 ตุลา 2519’ 40 ปีที่ยังหาคำตอบไม่ได้