สำรวจ #IdealSizeBeauty ในแต่ละยุคสมัยผ่านงานศิลปะเพราะเนื้อหนังมังสาคือพื้นที่ของความหมาย

สำรวจ #IdealSizeBeauty ในแต่ละยุคสมัยผ่านงานศิลปะเพราะเนื้อหนังมังสาคือพื้นที่ของความหมาย

สำรวจ #IdealSizeBeauty ในแต่ละยุคสมัยผ่านงานศิลปะเพราะเนื้อหนังมังสาคือพื้นที่ของความหมาย

วินาทีที่ สตีฟ ฮาร์วีย์ พิธีกรขาประจำของรายการประกวด Miss Universe ประกาศชื่อประเทศสุดท้ายที่ได้เข้าสู่รอบท็อป 16 คนสุดท้าย กองเชียร์นางงามฝั่งไทยที่รอลุ้น ‘มงสาม’ ก็ต้องพบกับความผิดหวัง และสิ่งที่ตามมาหลังจากความผิดหสังก็คือการย้อนกลับไปถกเถียงกันในประเด็นที่กองประกวดไทยเลือกเดิมพันแบบหมดหน้าตักด้วยการส่ง แอนชิลี สก็อตต์-เคมิสต์ นางงามหุ่นไม่พิมพ์นิยมผู้ชูแคมเปญ #RealSizeBeauty ไปเป็นตัวแทนในการประกวดในเวทีที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้กำหนดค่านิยมเรื่องมาตรฐานความงามของโลก

กองประกวดไทยคิดถูกหรือไม่ที่ตัดสินใจเลือกการ ‘แหกขนบ’ มาตรฐานความงามเป็นกลยุทธ์เพื่อหวังคว้ามสาม? การส่งแอนชิลีผู้ชูแคมเปญความสวยในทุกเรือนร่างไปแข่งในเวทีที่ขึ้นชื่อเรื่องการเคร่งครัดในวินัยเพื่อสร้างหุ่นสวยมาตรฐาน ถือเป็นการ ‘เอาเปรียบ’ ผู้เข้าแข่งขันที่ทำตามโจทยของการประกวดหรือไม่? นี่คือสิ่งที่กำลังเป็นประเด็นในการถกเถียงกันอยู่ ณ ขณะนี้ แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่น่าสนใจไปมากกว่าคำตอบว่าใครถูก ใครผิด ใครพลาด อาจเป็นการที่บทสนทนามี่กำลังปะทุอย่างดุเดือดนี้สะท้อนให้เห็นว่า ‘ร่างกาย’ ของมนุษย์ โดยเฉพาะผู้หญิงนั้น ไม่ใช่แค่เนื้อหนังมังสาที่ตาเห็น แต่ยังเป็นพื้นที่ของการช่วงชิงความหมายและการสร้างภาพแทนของคุณค่าที่คนในสังคม ณ ช่วงเวลานั้น ๆ กำลังยึดถือ

‘ร่างกาย’ ของผู้หญิง ไม่เคยเป็นแค่เนื้อหนังและชั้นไขมันห่อหุ้มกระดูก ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์มาแล้วที่มนุษย์เราได้สร้างกรอบคุณค่าเรื่อง ‘ร่างกายในอุดมคติ’ โดยที่ทุกความโค้ง เว้า คอด หรือผอมบาง ล้วนเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนค่านิยมบางประการที่สังคมในช่วงเวลานั้นกำลังให้คุณค่า ซึ่งแน่นอนว่าคุณค่าที่เปลี่ยนไปในแต่ละยุคสมัย ก็ทำให้ร่างกายของผู้หญิงในอุดมคตินั้นเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

แล้วแต่ละยุค แต่ละสมัย ค่านิยมของสังคมถูกสะท้อนผ่านเรือนร่างของผู้หญิงในอุดมคติอย่างไรกันบ้าง? GroundControl ขอชวนทุกคนไปสำรวจเรือนร่างของเพศหญิงที่ถูกสะท้อนในงานศิลปะแต่ละยุคร่วมกัน

ความงามของมนุษย์ยุคหิน: ความอวบอิ่ม = ความอุดมสมบูรณ์

ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 30,000 ปีก่อน อันเป็นช่วงเวลาของยุคหินเก่า มนุษย์ยังอาศัยอยู่ในถ้ำ ล่าสัตว์เป็นอาหาร และภูมิปัญญาเดียวที่พวกเขารู้จักก็ยังเป็นแค่การทำเครื่องมือล่าสัตว์จากหินเท่านั้น มนุษย์ในยุคนี้ยังไม่มีความรู้เรื่องการเพาะปลูก ด้วยเหตุนี้ การเอาตัวรอดจากความอดอยากจึงเป็นอุดมคติสูงสุดของชีวิต

ความหิวโหยและความไม่แน่นอนของการได้มาซึ่งอาหารในแต่ละวันกลายเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่ออุดมคติเรื่องความงามของคนในโลกยุคโบราณ ตรงกันข้ามกับยุคปัจจุบัน ร่างกายที่เต็มไปด้วยเนื้อและไขมันกลับกลายเป็นรูปร่างของผู้หญิงในอุดมคติของคนในยุคนี้ เพราะแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์และสุขภาพที่ดีพร้อมสำหรับการให้กำเนิดลูกหลานสืบต่อไป ในช่วงเวลาที่การหาอาหารเป็นเรื่องไม่แน่นอน การล่าสัตว์ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จทุกวัน ร่างกายของผู้หญิงที่สามารถกักเก็บสารอาหารและเพิ่มมวลในร่างกายได้จึงเป็นรูปร่างในอุดมคติของผู้คนในยุคนั้น

หลักฐานที่สะท้อนภาพรูปร่างของผู้หญิงในอุดมคติของโลกยุคโบราณได้เป็นอย่างดีก็คือ ประติมากรรมขนาดเล็กความสูง 11 ซม. ที่มีชื่อว่า ‘Venus of Willendorf’ อายุเก่าแก่กว่า 29,500 ปีก่อน ถูกค้นพบในปี 1908 ที่แหล่งโบราณสถานของกรุงเวียนนา โดยรูปปั้นเทพีแห่ง Willendorf นี้เคยได้ชื่อว่าเป็นประติมากรรมรูปคนที่เก่าแก่ที่สุดที่ถูกค้นพบในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด

ประติมากรรมที่นำเสนอเรือนร่างของหญิงสาวในวัยเจริญพันธุ์นี้ถูกสกัดจากหินปูนและถูกเคลือบผิวด้วยสีชอล์กแดง ย้อนกลับไปในยุคหินเก่า สีแดงคือสัญลักษณ์ของชีวิต ความตาย และการกำเนิดใหม่ แม้ว่าเธอจะมีขนาดเล็กเพียงแค่ 11 ซม. แต่ช่างผู้ปั้นแต่งเธอก็ได้ใส่รายละเอียดลงไปอย่างประณีต เราสามารถเห็นรายละเอียดของของท่อนแขนที่พาดผ่านทรวงอกของเธอ รวมไปถึงรายละเอียดของทรงผม หรืออาจเป็นหมวกคลุมผมก็ได้ รูปร่างที่มีน้ำมีนวลของเธอก็ทำให้มีการสันนิษฐานว่า เธออาจจะเป็นสัญลักษณ์ของเทพธิดาแห่งความอุดมสมบูรณ์

คติความงามแบบกรีก: ไม่ใช่ ‘มาตรฐานความงาม’ แต่เป็น ‘ความงามสมมาตร’

ในยุคกรีก ร่างกายของผู้หญิงมักถูกปกปิดและไม่ค่อยปรากฏในงานศิลปะเท่ากับผู้ชาย เพราะในขณะที่กล้ามเนื้อและสัดส่วนของผู้ชายได้รับการยกย่องเชิดชูให้เป็นความงดงามที่เทพเจ้าปั้นแต่งมา ร่างกายของผู้หญิงกลับเป็นสิ่งที่งดงามแต่แฝงไว้ด้วยความชั่วร้ายที่หลอกล่อมนุษย์สู่ความเลวทราม ตามที่กวี Hesiod ได้ว่าไว้

ด้วยความที่ร่างกายของผู้ชายจะได้รับการเชิดชูมากกว่า จึงอาจกล่าวได้ว่าในยุคกรีกนั้น ภาระในการรักษาร่างกายให้เป็นไปตามมาตรฐานความงามของสังคมจึงไปตกที่ผู้ชายมากกว่า แต่ในขณะที่ร่างกายของผู้ชายจะเน้นเรื่องของความคมชัดของมัดกล้ามและความแข็งแกร่ง เรือนร่างของผู้หญิงในอุดมคติของยุคกรีกจะเน้นความสมมาตรในแง่ของความกลมกลึง ส่วนโค้งเว้า สะโพกกลมแน่น และหน้าอกเต็มอิ่ม ซึ่งก็ยังคงยึดกับอุดมคติความงามที่สัมพันธ์กับความอุดมสมบูรณ์ที่สืบทอดมาแต่ยุคโบราณ แต่ในสมัยกรีก ผู้หญิงที่มีรูปร่างอวบอิ่มยังแสดงถึงสถานะอันมั่งมีของครอบครัว ในขณะที่ผู้หญิงที่ผอมบางเป็นรูปร่างของผู้หญิงใช้แรงงาน หรือทาส

แต่นอกจากร่างกายในอุดมคติแล้ว สังคมยุคกรีกยังโดดเด่นในเรื่องของมาตรฐานความงามของใบหน้า โดยเป็นที่รู้กันดีว่าแนวคิดเรื่องสุนทรียศาสตร์ความงามตามแบบกรีกที่ทรงอิทธิพลที่สุดประการหนึ่งก็คือ ‘เรื่องของความสมมาตร’ อันเป็นแนวคิดที่เริ่มต้นมาจาก Plato ที่ได้นำเสนอแนวคิดเรื่อง ‘สัดส่วนทองคำ’ หรือ Golden Ratio ในฐานะการรับรู้ความงามที่มนุษย์ทุกคนสามารถรับรู้ร่วมกันได้

แม้ว่า Plato จะเป็นผู้คิดค้นสัดส่วนทองคำ แต่เป็นนักปรัชญาและนักคณิตศาสตร์คนสำคัญอีกคนหนึ่งอย่าง Pythagoras ที่ที่เป็นผู้คิดเรื่อง ‘สัดส่วนความงาม’ ที่ซ่อนอยู่ในทุกสิ่งในธรรมชาติ ไม่เว้นแม้แต่บนใบหน้าของมนุษย์ ซึ่ง Pythagoras ก็เคยอธิบายสัดส่วนความงามบนใบหน้าของผู้หญิงว่า จะต้องมีความกว้างสองในสามของความยาวของใบหน้า และใบหน้าทั้งสองข้างจะต้องสมมาตรเท่ากัน โดยมีจมูกเป็นเส้นแบ่งกึ่งกลางของใบหน้า โดยสัดส่วนความงามบนใบหน้าที่ Pythagoras คิดขึ้นมานี้ก็ยังคงส่งอิทธิพลต่อมุมมองเรื่องความงามของมนุษย์ยุคปัจจุบัน

Renaissance Body - เรือนร่างแห่งราคะและความเย้ายวน

ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของเรือนร่างในอุดมคติเกิดขึ้นอีกครั้งในยุคเรอเนซองส์ เมื่อศิลปินในยุคนี้ต้องการที่จะปลดแอกตัวเองและสังคมจากจารีตศิลปะที่มีรากมาจากช่วงยุคกลาง และการปลดแอกใดจะทรงอิทธิพลไปกว่าการปลดเปลื้องเสื้อผ้า ด้วยเหตุนี้ภาพของผู้หญิงในยุคเรอเนซองส์จึงมักถูกนำเสนอในร่างเปลือยเปล่า และถึงแม้ว่าเรือนร่างของผู้หญิงในอุดมคติของสังคมยุคเรอเนซองส์จะยังคงความอวบอิ่มซึ่งสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ แต่สัดส่วน โค้งเว้า โดยเฉพาะหน้าอกของพวกเธอยังถูกเน้นให้อวบอิ่มมากขึ้น เพื่อสะท้อนนัยทางเพศและความอุดมสมบูรณ์ เพื่อโต้กลับภาพของพระแม่มารีผู้บริสุทธิ์และเรือนร่างอันศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกซ่อนอยู่ใต้เสื้อผ้ามิดชิด อันเป็นภาพผู้หญิงในอุดมคติของยุคกลาง

Raphael เป็นหนึ่งในศิลปินที่มักนำเสนอภาพผู้หญิงอวบอิ่ม ผิวขาวกระจ่าง และแก้มสีกุหลาบ โดย Raphael ก็เคยยอมรับว่าผู้หญิงในงานจิตรกรรมของเขานักวาดมาจากจินตนาการอันเย้ายวนถึงเรือนร่างของผู้หญิงในฝันที่เขาปรารถนา จึงเป็นที่แน่ชัดว่าในยุคแห่งการฟื้นฟูศิลปวิทยาการนี้ ความหมายของเรือนร่างผู้หญิงในอุดมคติได้เคลื่อนจากความเอิบอิ่มอันสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ ไปสู่ความอวบอิ่มที่สะท้อนกามารมณ์และเรื่องทางเพศ

เมื่อเคลื่อนเข้าสู่ยุคบาโรก ความนวลนางของเรือนร่างสตรีในฝันก็ยิ่งชัดเจนมากขึ้น โดยมี Peter Paul Rubens เป็นแกนนำของกลุ่มคนนิยมสาวเจ้าเนื้อ โดยมีภาพ The Judgement of Paris (1636) เป็นหลักฐานยืนยันค่านิยมสาวอวบเจ้าเสน่ห์ โดยในภาพที่นำเสนอเหตุการณ์สามเทพีแย่งชิงแอปเปิลทองคำที่นำมาสู่มหากาพย์สงครามกรุงทรอยนี้ Rubens ได้วาดให้เทพีผู้มีชื่อเลื่องลือในความงามทั้งสามคือ เฮรา, อธีนา และ อโฟรไดต์ มีรูปร่างอวบอัดสมบูรณ์ สะโพกผายกว้าง และเห็นหน้าท้องชัดเจน หรือในภาพ Venus in Front of the Mirror (1614-15) Rubens ก็วาดวีนัสผู้เป็นเทพีแห่งความรักผู้ขึ้นชื่อเรื่องความงามให้มีส่วนเว้าโค้งกลมกลึง ซึ่งก็เป็นเครื่องยืนยันว่าอุดมคติความงามในยุคนั้นคือความอวบอัดเย้ายวน

ศตวรรษที่ 19 ยุคสมัยของหญิงผอมบางและช้างเท้าหลัง

รูปร่างเย้ายวนอวบอัดยังคงเป็นรูปร่างของผู้หญิงในอุดมคติที่ถูกนำเสนอผ่านงานศิลปะเรื่อยมา กระทั่งในช่วงยุกวิกตอเรียนที่สังคมตะวันตกกลับมามีความเคร่งครัดในศาสนาและศีลธรรมจรรยามากขึ้น เรือนร่างของผู้หญิงในงานศิลปะที่มักถูกนำเสนอให้เป็นวัตถุแห่งการกระตุ้นกำหนัดและปรารถนาจึงถูกปกปิดภายใต้เสื้อผ้าอาภรณ์มิดชิด

กระทั่งเมื่อศิลปินกลุ่มลัทธิประทับใจหรือ Impressionists ผู้ขึ้นชื่อเรื่องการเป็นไม้เบื่อไม้เมากับสถาบันศิลปะชั้นสูงได้พากันแหกขนบอีกครั้งด้วยการกลับมาวาดภาพนู้ดอีกครั้ง โดยมี Olympia (1863) ของ Edouard Manet เป็นหัวขบวนการสั่นสะเทือนวงการศิลปะ เรือนร่างเปลือยเปล่าของผู้หญิงก็ถูกสำรวจและนำเสนอผ่านงานศิลปะอีกครั้ง แต่ด้วยความที่ชาว Impressionist ซึ่งเป็นหัวขบวนของศิลปะยุคนี้นิยมนำถ่ายทอดภาพที่ตาเห็นอย่างเป็นธรรมชาติ ภาพหญิงเปลือยของพวกเขาจึงไม่ได้สะท้อนอุดมคติของเรือนร่างในฝัน แต่นำเสนอร่างของนางแบบตามความเป็นจริง ด้วยเหตุนี้เราจึงได้เห็นเรือนร่างของสาวผอมบางที่ไม่ใช่สุดยอดหุ่นในฝันของผู้ชายยุคนั้นถูกนำเสนอในงานศิลปะยุคนี้อยู่บ้าง เช่น ภาพวาดที่นำเสนอชีวิตประจำวันของผู้หญิงในหอนางโลมของ Henri de Toulouse-Lautrec เป็นต้น

เรือนร่างผอมบางของผู้หญิงเริ่มมีที่หยัดยืนในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ภาพของผู้หญิงชนชั้นสูง ใส่เสื้อผ้าปิดมิดชิด อันเป็นลักษณะของผู้หญิงที่ถูกเรียกว่า ‘steel-engraving lady’ ที่เรียกตามเทคนิคการพิมพ์ด้วยการกัดแม่พิมพ์ลงบนแผ่นเหล็ก ซึ่งเป็นเทคนิคหลักในการพิมพ์ปกนิตยสาร ได้กลายมาสู่ความเป็นหญิงในอุดมคติที่สังคมเชิดชู ซึ่งความนิยมของภาพลักษณ์ผู้หญิงในลักษณะนี้ก็มาจากการที่ภาพของพวกเธอมักปรากฏอยู่บนปกนิตยสารซึ่งเป็นสื่อที่กำลังเฟื่องฟูในยุคนั้น

ไม่เพียงเท่านั้น การนำเสนอผู้หญิงเรือนร่างผอมบาง สำรวม สงบเสงี่ยมเรียบร้อย ยังเกี่ยวข้องกับอุดมการณ์สังคมชายเป็นใหญ่ในยุคนั้น เพราะภาพของผู้หญิงบอบบางร่างเล็กนี้ยังสัมพันธ์กับภาพสามีผู้แข็งแกร่งทั้งในด้านร่างกายและสติปัญญา ทั้งยังสอดคล้องกับภาพ Gender Role ในยุคนั้น ในขณะที่ผู้ชายออกไปทำงานและพบปะสังคมนอกบ้าน ผู้หญิง steel-engraving lady ที่ตัวเล็ก ผอมบาง เอวคอด มือเท้าเล็ก ก็ทำหน้าที่ดูแลลูกน้อยและบ้านช่อง และคอยแต่งตัวสวย ๆ รอต้อนรับแขกของสามีเท่านั้น

1990s ความอ้วน = ทาสบริโภค

ร่างผอมบางกลายมาเป็นคุณลักษณะความเป็นหญิงในอุดมคติของสังคม กระแสสตรีนิยมที่เริ่มผลิบานในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งถูกจุดเชื้อไฟด้วยการเรียกร้องความเท่าเทียมในเรื่องสิทธิ์การออกไปทำงานนอกบ้าน รวมไปถึงสิทธิ์ในร่างกาย การปลดแอกจากกรอบเครื่องแต่งกาย การสวมกางเกง การโนบรา และการไม่ยอมเป็นเพียงวัตถุทางเพศของผู้ชายอีกต่อไป ยิ่งขับเน้นสถานะของให้ร่างผอมบางเป็นขั้วตรงข้ามของร่างอวบอัดอันเป็นรูปร่างสาวในฝันของบรรดาท่านชาย

เมื่อถึงยุค 60-70s ปรากฏการณ์ Twiggy ฟีเวอร์ ที่นางแบบชาวอังกฤษหน้าตอบร่างบางกรอบผู้นี้ได้กลายมาเป็นอิทเกิร์ลสุดไอคอนิกแห่งยุค ความผอมบางดูทะมัดทะแมงที่ดูไม่แยแสว่าผู้ชายจะน้ำลายหกหรือไม่ ก็ได้กลายมาเป็นรูปร่างในฝันของสาว ๆ แทนความ ‘เซ็กซ์บอมบ์’ อกใหญ่ สะโพกกลมกลึง ที่เคยต้องตาชาย

กระทั่งเมื่อถึงยุค 1990s ความอวบอัดที่เคยเป็นรูปร่างพิมพ์นิยมของผู้หญิงก็เสื่อมความนิยมลงไปอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อภาพของผู้หญิงอวบอ้วนที่ปรากฏในสื่อมักถูกนำเสนอในฐานะของการเป็นตัวตลก ไม่ฉลาด และที่สำคัญคือความตะกละตะกลามและการตกเป็นทาสของลัทธิบริโภคนิยม ยิ่งเมื่อองค์การอนามัยโลกได้ออกมารณรงค์เรื่องภัยของโรคอ้วนอย่างจริงจังในช่วงยุคนี้ ภาพของผู้หญิงอวบอ้วนก็ยิ่งผูกติดกับแง่ลบ ร่างอวบอัดไม่ได้สื่อความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์อีกต่อไป แต่พวกเธอถูกยึดโยงเข้ากับความไร้วินัย การตกเป็นทาสของลัทธิการบริโภคอย่างไม่บันยะบันยัง และความอ่อนแอทางจิตใจในการที่ไม่สามารถควบคุมทั้งร่างกายและความอยากของตัวเองได้

อ้างอิง: Women in unity: re-imaging the female body in art, A History of Female Nude Paintings, Does My Bum Look Big in This? The Female Body in Art